Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2552
“หมอหวาน” ...สืบตำนานคุณค่าแห่งยาหอมไทย             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ ยาหอมหมอหวาน

   
search resources

Pharmaceuticals
ภาสินี ญาโณทัย
บำรุงชาติสาสนายาไทย




"...ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหายหาฤาหาไม่ หมอไทยควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้าหาฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าว่าส่วนตัวฉันเอง ยังสมัครกินยาไทยแล วางใจหาฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเย็นเหมือนเห็นอื่น..." เป็นพระราชดำริในรัชกาลที่ 5 แสดงความเป็นห่วงวงการแพทย์แผนไทย ดูเหมือนว่าจะยังไม่ล้าสมัยจวบจนวันนี้

"แม้เป็นลมหน้ามืดวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียนเป็นการใหญ่ จุกเสียดอ่อนเพลียละเหี่ยใจ ทิ้งเอาไว้มีหวังม้วยมอด..." เสียงเพลงโฆษณาสนุกๆ ทางวิทยุของยาหอมตราปรางค์สามยอด คงเป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีของผู้คนที่เกิดก่อนยุค 80 แต่สำหรับคนรุ่นหลังคงทำได้เพียงค้นหาฟังเอาจากอินเทอร์เน็ต เพราะทางวิทยุคงหาฟังไม่ได้อีกแล้ว

ไม่ใช่แค่เพียงการจากไปของโฆษณายาหอมทางหน้าปัดวิทยุหรือหน้าจอโทรทัศน์ แต่ดูเหมือนอีกสิ่งที่เริ่มหายไปจากสังคมไทยด้วย นั่นก็คือวัฒนธรรมการใช้ยาหอม อันจะนำไปสู่การล้มหายตายจากของผู้ผลิตยาหอมรายย่อยและสูตรยาหอมตำรับโบราณของไทย

ยาหอมเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่าสามศตวรรษ ว่ากันว่าตำรับยาหอมเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคเริ่มต้น ยาหอมถือว่าเป็นของสูง เป็นของหายากที่ใช้กันในหมู่เจ้านายที่มีทรัพย์และมีอำนาจวาสนา เพราะเครื่องยาหลายตัวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังต้องมีบริวารมากพอจะมาบดมาร่อน มาปรุงให้ได้ยาหอมคุณภาพดี

เมื่อบวกกับคุณค่าความหมายของ "วัง" ยาหอมยุคนั้นจึงกลายเป็นของที่มีคุณค่า คุณภาพ และมีราคาแพงจนชาวบ้านทั่วไปแทบไม่รู้จักและไม่มีโอกาสได้ใช้

จนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงปรารภให้กระจายยาดีๆ ไปตามหัวเมืองทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรที่อยู่ห่างไกลที่หายาแก้โรคภัยได้ยาก ภายใต้ชื่อ "ยาโอสถสภา" (ยาสามัญประจำบ้าน) และจัดตั้งตำรับยาตำราหลวงขึ้น ซึ่งมียาหอมเป็นหนึ่งในนั้น

ยาหอมมีสรรพคุณในการปรับสมดุลของธาตุลม และ "ลม" ยังหมายถึงการไหลเวียนของระบบโลหิต ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาท ตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทย เลือดลมจึงมีความหมายต่อสุขภาพค่อนข้างกว้าง จนมีคำกล่าวว่า "โรคเลือดลมมี 500 จำพวก" เมื่อเลือดลมเป็นปกติก็ย่อมดีต่อหัวใจและสมอง ด้วยสรรพคุณเช่นนี้ ในอดีตยาหอมจึงไม่ได้เป็นเพียงยาประจำเชี่ยนหมากของคุณย่าคุณยาย แต่เป็นยาประจำแทบทุกบ้านและนิยมใช้กันทุกเพศทุกวัย

ต่อมาเมื่อเครื่องยาหอมหาได้ง่ายขึ้น และมีการนำตำรายาดีๆ ออกเผยแพร่ให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ ตำรับยาหอมจึงถูกดัดแปลงสูตรยาหอมเป็นตำรับเฉพาะของตนมาผลิตขายยาหอมจึงมีหลากหลายตำรับและแพร่หลายไปสู่สามัญชนในกว้าง จนเชื่อกันว่ายาหอมคงได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคนี้ และแม้ว่ายาหอมจะเข้าถึงได้ง่าย แต่ความหมายและสถานภาพของยาหอมก็ยังคงคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรมจึงมักถูกใช้เป็นของขวัญของฝากในยุคนั้น

เมื่อบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ยาฝรั่งและการรักษาโรคแบบตะวันตกเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย ประกอบกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศตามแบบตะวันตก วิถีการดูแลสุขภาพแบบตะวันตกที่ต้องมีผลรองรับทางวิทยาศาสตร์ มีสรรพคุณชัดเจนและจับต้องได้ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นสิ่งดีงาม มีคุณค่า และน่าเชื่อถือกว่าองค์ความรู้ดั้งเดิมของคนไทย

ทั้งที่สรรพคุณของยาหอมจะเข้าไปปรับสมดุลธาตุในร่างกาย ยาหอมจึงไม่ได้เป็นแค่การรักษาแต่ยังเป็นวิธีดูแลสุขภาพอย่างอ่อนโยนที่สุด เพราะไม่มีผลข้างเคียง แต่ด้วยอำนาจแฝงของวาทกรรม ตะวันตกทำให้ยาฝรั่งที่เน้นออกฤทธิ์แรงและได้ผลเร็วเหมาะกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบ กลายเป็นสิ่งที่คนเรานึกถึงอันดับต้น ส่วนแพทย์แผนโบราณเป็นเพียงทางเลือกที่ถูกหลงลืมและถูกเมิน ซึ่งถูกตอกย้ำด้วยทัศนคติของคนรุ่นใหม่ต่อยาหอม ที่ถูกทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่เชย ล้าสมัย และไม่ได้มาตรฐาน

ส่งผลให้ชุดคำอธิบายว่าด้วยความ ผิดปกติของธาตุลมหรือ "โรคเลือดลม 500 จำพวก" เริ่มไม่ได้รับความยอมรับและไม่มีพื้นที่ในวิถีการดูแลสุขภาพของคนไทยรุ่นหลังเฉกเช่นในอดีต เหมือนกับที่คุณค่าและความนิยมของยาหอมไทยก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีพื้นที่ทางสังคมและวัฒนธรรมอีกต่อไป

เหลือเพียงแต่สำนวนเกี่ยวกับยาหอม ไม่ว่าจะเป็น "โปรยยาหอม" หรือ "ยาหอม" เฉยๆ ที่ยังคงเป็นที่นิยมพูดกันมาอย่างแพร่หลายจนปัจจุบัน

"ก่อนนี้มีลูกค้าเพียงไม่เกิน 20 ราย และแทบจะไม่มีเพิ่ม คนเก่าแก่ที่กินยาหอมโบราณของเราก็คงจะอยู่เห็นหน้าซื้อหากันได้อีกไม่กี่มากน้อยเพราะต่างก็อายุมากแล้ว

เราเลยมาคิดว่า ถ้าคนรุ่นนี้หมดไปจะทำยังไง จะปล่อยให้ยาหอมของบรรพบุรุษตายต่อหน้าเราหรือ?" ภาสินี ญาโณทัย สะท้อนภาพปัจจุบันของยาหอมตำรับโบราณที่มีชื่อว่า "หมอหวาน" ในฐานะทายาทรุ่น 4

แม้จะไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ายาหอมแบรนด์ "หมอหวาน" นี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่ภาสินีเชื่อว่ายาหอมตำรับของตระกูลเธอน่าจะมีอายุมากกว่า 100 ปี เพราะหมอหวาน รอดม่วง คุณทวด ผู้เป็นเจ้าของสูตรยาหอมตำรับนี้ เกิดในปี พ.ศ.2411 และเริ่มเป็นแพทย์แผนโบราณ มาตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 5

ภายใต้อาคารสไตล์ "ชิโน-บริติช" อายุร่วม 85 ปี ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเล็กๆ ซ่อนตัวบนถนนบำรุงเมือง ไม่ห่างจากเสาชิงช้า เป็นที่ตั้งของ "บ้านหมอหวาน" ซึ่งเคยถูกใช้เป็นคลินิกรักษาโรคและสถานที่ปรุงยาที่มีชื่อ "บำรุงชาติสาสนายาไทย" โดยเดิมทีบ้านหมอหวานมีตำรับยาหลากหลายขนาน ทั้งยาเด็ก ยาถ่าย ยาแก้ไข้ ยาหอม ยาลม ยากวาดคอ ฯลฯ แต่คงเหลือเพียงยาหอม 4 ตำรับที่ตกทอดมาจนปัจจุบัน

ขวดโหลบรรจุสมุนไพรติดป้ายชื่อตำรับยาหลากหลายวางเรียงรายในตู้กระจกสูงเกือบ จรดเพดานริมผนังสองด้าน กลางบ้านเป็นตู้เก็บอุปกรณ์สำหรับร้านยา เช่น ตาชั่งทองเหลือง โกร่งบดยาอันเล็กๆ จอกกระเบื้องเคลือบวางเป็นชุด เป็นเพียงไม่กี่สิ่งที่ยังเหลือเป็นเค้าลางบ่งบอกว่าที่นี่เคยเป็นคลินิกรักษาโรคและสถานปรุงยาแผนไทยมาก่อน

จากที่เคยมีคนไข้มาให้รักษา มาขอซื้อยาไม่ขาดสาย แต่วันนี้มีเพียงเสียงเครื่องบดยาที่ดังสนั่นกลบความเงียบเป็นครั้งคราว กับหญิงชราวัย 79 ปี ที่มักจะนั่งบรรจงพิมพ์เม็ดยาหอมด้วยสองมือและใบหน้าที่สดใส แม้ว่าร่างกายท่อนล่างจะเคลื่อนไหวไม่สะดวกนัก เนื่องจากโรคข้อกระดูกอักเสบและเคยผ่านการผ่าตัดกระดูกสะโพกมาก่อน "ป้าออระ" เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของหมอหวาน

หลายคนอาจคุ้นตากับยาหอมแบบผง แต่ยาหอมหมอหวานเป็นแบบเม็ด ยาหอมเม็ดกลมปิดด้วยแผ่นทองคำบริสุทธิ์สุกสดใสเป็นตำรับ "ยาหอมสุรามฤทธิ์" ส่วนยาหอมอีก 3 ตำรับ ได้แก่ "ยาหอมอินทรโอสถ" "ยาหอมประจักร์" และ "ยาหอมสว่างภพ" อยู่ในรูปแบบเม็ดกลมแบนแปะด้วยทองคำเปลวบริสุทธิ์ เพราะสรรพคุณทางยาของทองคำบริสุทธิ์มีรสเย็น จึงช่วยลดไข้และทำให้ผิวพรรณชุ่มชื่น

สำหรับนักพิมพ์ยามือฉมังอย่างป้าออระ ทองคำเปลวหนึ่งแผ่นราคาร่วม 5 บาท เธอปิดได้ 2 เม็ด เมื่อยิ่งบวกกับตัวยาหลักที่ใช้ในการปรุงยาหอมทั้ง 4 ตำรับของหมอหวาน หลายตัวเป็นวัตถุดิบหายากและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ยาหอมหมอหวานจะราคาสูงกว่าที่อื่น

"พิมเสนเกล็ด" เป็นน้ำค้างที่แข็งในปล้องไม้ไผ่ผสมเยื่อไม้ ซึ่งมีกลิ่นและสรรพคุณดีกว่าพิมเสนสังเคราะห์ ต้องนำเข้าจากจีน "ชะมดเช็ด" สารฟิโลโมนที่ขับออกทางผิวหนังของชะมด ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในประเทศไทยมีคนเลี้ยงน้อยราย จึงมีราคาแพง น้ำหนักสาร 15 กรัม ราคา 2 พันบาท สรรพคุณบำรุงหัวใจและทำให้กลิ่นหอมแรง "เห็ดนมเสือ" เป็นเห็ดที่เกิด จากน้ำนมเสือโคร่งแม่ลูกอ่อนทำน้ำนมหกตามพื้นดิน แล้วเกิดเป็นเห็ดดอกเล็กสีขาว น้ำนม แข็งเหมือนหิน สรรพคุณช่วยบำรุงกำลัง และ "หญ้าฝรั่น" เกสรดอกไม้ ซึ่ง 1 ดอกมีเพียง 3 เส้น ต้องเก็บอย่างเบา มือเพื่อไม่ให้ขาด นำเข้าจากสเปนและแถบ อาหรับ นับเป็นเครื่องเทศที่มีราคาแพงที่สุดในโลก น้ำหนัก 45 กรัมราคาร่วม 1 หมื่นบาท เป็นต้น

การปรุงยาหอมไทยนับเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เพราะยาหอมแต่ละตำรับ จะปรุงจากเครื่องยาตั้งแต่ 10-59 ชนิดรวมกัน โดยตัวยาแต่ละอย่างในตำรับทำหน้าที่แตกต่างกันไป มีทั้งที่เป็นตัวยาหลัก, ตัวยารองซึ่งทำหน้าที่เสริมฤทธิ์หรือลดความเป็นพิษของตัวยาหลัก, ตัวยาคุมป้องกันอาการแทรกซ้อน และยังมีตัวยาช่วยปรุงแต่งสีรสและกลิ่น ผสมผสานกันจนเกิดสรรพคุณที่สมดุลเพื่อรักษาโรคตามที่ต้องการ ยาหอมไทยจึงถือเป็นภูมิปัญญา ล้ำค่าของคนไทย

"แม้ยาหอมและแพทย์แผนไทยจะไม่มีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็ผ่านการทดลองจากมนุษย์มาแล้วหลายชั่วอายุคน ผ่านการพิสูจน์มานับร้อยปี ถือเป็นภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ของหมอยาโบราณที่คิดสูตรได้ขนาดนี้ แล้วจำเป็นหรือที่เรายังต้องไปแยกส่วนดูอะไรกันอีก" ทายาททั้งสองรุ่นเห็นตรงกัน

จากที่เคยขายมีกำไรพอเลี้ยงตัวได้ แต่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา เครื่องยาหลายตัวราคาถีบตัวสูงขึ้น จนต้องแบกภาระขาดทุน ในการขายยาหอมบางตำรับติดต่อกันมานาน ทว่าป้าออระก็ยังคงสืบทอดสูตรและสัดส่วนดั้งเดิมกว่า 100 ปี หลายครั้งเคยคิดจะเลิกผลิต แต่พอแจ้งกับลูกค้าประจำก็กลับถูกขอร้องให้ทำต่อ เธอจึงต้องยอมนำรายได้จากการทำงานประจำในตำแหน่ง เลขานุการคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาจุนเจือภาวะขาดทุนของกิจการครอบครัว

"หลายคนถามว่าคิดดีแล้วหรือที่ออกจากงานมาขายยาหอมที่คนแทบไม่กินกันแล้ว ทำไมไม่ทำเป็นงานอดิเรก แต่คิดว่าการจะฟื้นฟูความนิยมยาหอมไทยมันไม่ง่าย ถ้าเราไม่ทำเต็มที่ อีกไม่นานยาหอม ของเราก็คงค่อยๆ หายไป ก็เหมือนไม่รับผิดชอบต่อบรรพบุรุษ เพราะสิ่งนี้เป็นมรดก ตกทอดจากบรรพบุรุษและเราเป็นทายาท" ทายาทรุ่นเหลนวัย 34 ปีกล่าว

ภาสินีเรียนจบทางด้านกฎหมายทั้งปริญญาตรีและโทจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ทำงานในฝ่ายวางแผนและพัฒนาของเครือเจริญโภคภัณฑ์อยู่ 6 ปี แล้วจึงร่วมทำงานกับ TCDC ในฝ่ายนโยบายและพัฒนา เป็นเวลาร่วม 4 ปี ก่อนจะลาออกจากงานประจำเพื่อมาประคับประคองกิจการร่วมกับป้า โดยเริ่มต้นจากการเพิ่มพูนความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรไทยด้วยการลงเรียนเภสัชแผนไทยที่วัดโพธิ์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับยาหอมและยาแผนไทยให้ลึกซึ้งมากขึ้น และที่สำคัญคือศึกษาถึงอุปสรรคของยาหอมไทย

ในความตอนหนึ่งจากงานวิจัยเรื่อง "วัฒนธรรมการใช้ยาหอมในสังคมไทย" ระบุว่า... การเสื่อมถอยลงของความนิยมใช้ยาหอม ไม่ได้เป็นเพราะยาหอมคุณภาพแย่ลง หรือไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยอีกต่อไป แต่เป็นเพราะยาหอมเป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดของคนยุคนี้และสภาพของสังคมปัจจุบัน ยาหอมจึงไม่มีพื้นที่ทางสังคมที่จะดำรงอยู่ดังเช่นในอดีต...

สำหรับภาสินี เธอเชื่อว่า การจะทำให้ยาหอมกลับมาสู่ความนิยมอีกครั้ง คงไม่มีทางไหนอีกแล้วนอกจากการมองยาหอมในเชิงผลผลิตทางวัฒนธรรม เพราะการพยายาม ทำให้ยาหอมบรรลุเป้าหมายตามแนวทางของยาแผนปัจจุบัน ท้ายสุดยาหอมก็ไม่เหลือจิตวิญญาณของยาแผนโบราณ หรือบางทีอาจไม่เหลือกระทั่งความเป็นยาแผนไทย

"สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือปรับความเข้าใจและทัศนคติของคนรุ่นใหม่ว่า ยาหอมไม่ได้ เป็นยาสำหรับคนแก่ แต่เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่มีความเป็นมาและมีคุณค่า นอกจากสรรพคุณของยาหอม เรายังต้องเล่าว่าตัวยาที่ใช้ในการปรุงแต่ละตัวพิเศษยังไง เล่าแม้แต่บริบทรอบตัว เพื่อสร้างความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย อันจะเป็นทางรอดอย่างยั่งยืนของยาหอมและยาแผนโบราณ"

ถุงผ้าใบน้อยปักชื่อหมอหวาน ภายในมีขวดแก้วขนาดเล็กคล้ายโหลยาไทย โบราณย่อส่วนกลายเป็นบรรจุภัณฑ์เก๋ไก๋ ภายในบรรจุยาหอมสุรามฤทธิ์ราคาเม็ดละ 30 บาท แม้จะแพงแต่ก็เป็นตัวท็อป ขณะที่อีก 3 ตำรับ สนนราคาตั้งแต่เม็ดละ 5-7 บาท บุ๊กเล็ตเล่มจิ๋วบอกวิธีใช้โดยมีลายมือของหมอหวานเป็นฟอนต์ และใช้เทคนิคตะกั่วเรียงพิมพ์ เป็นเสน่ห์ความโบราณที่เพิ่มมูลค่าให้กับยาหอม อีกแพ็กเกจเป็นกล่องดัดแปลงจากกล่องเครื่องประดับจารึก คำขอบคุณมาให้หมอหวานจากพระองค์เจ้าพิจิตรจิราภา ธิดาในสมเด็จกรมพระยา เทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศคนแรกของสยาม 1 กล่อง มี 4 ขวด เซตละ 750 บาท ไว้สำหรับเป็นของขวัญของฝากในวาระพิเศษ

ดีไซน์แพ็กเกจจากเครื่องใช้โบราณที่มีอยู่ภายในบ้าน เป็นอีกหนึ่งความสร้างสรรค์ในการพัฒนาแบรนด์หมอหวานให้มีเรื่องราว ผ่านการหยิบใช้สิ่งที่มีอยู่มาช่วยเพิ่มความคลาสสิกให้กับยาโบราณ พร้อมกับฟื้นคืนคุณค่าของยาหอมในฐานะของขวัญของฝากเฉกเช่นในอดีต ให้กลับมาอีกครั้ง

ในอนาคต ภาสินียังอาจจะนำบ้านเก่าหลังนี้มาช่วยเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม ให้กับยาหอมเพิ่มขึ้น ผ่านการเปิดบ้านให้ชมสาธิตการปรุงยาหอมตำรับหมอหวาน และเปิดมุมนั่งจิบยาหอมพร้อมสอนวิธีดื่มยาหอมด้วยความละเมียดละไม ซึ่งกิจกรรม สร้างประสบการณ์อันดีในการใช้ยาหอมเป็นอีกวิธีในการเพิ่มมูลค่าที่เธอได้สั่งสมแนวคิดมาจากการทำงานที่ TCDC

"ผู้ผลิตยาหอมบางรายทำเป็นผงใส่ขวดกั๊กแล้วขายแบกะดิน ทำให้คนรู้สึกว่ากินแล้วจะเป็นอะไรไหม เราก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เพราะจริงๆ ยาหอมมีคุณค่าและมีสรรพคุณที่ดี เราเลยอยากทำให้คนรู้สึกว่ายาหอมช่างแสนจะมีค่า ทุกรายละเอียดมีเรื่องเล่าหมด ก็ทำให้คนอยากซื้อ จะซื้อไปเก็บหรือไปกินก็แล้วแต่" ภาสินีเล่าถึงแนวคิดการฟื้นคืนและส่งต่อคุณค่ายาหอมไทย

ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากภาสินีเข้ามาดูแลยาหอมหมอหวานเต็มตัว เธอสามารถสร้างลูกค้าประจำวัยหนุ่มสาวเพิ่มมาได้เกือบ 10 คน

ไม่เพียงปัญหาด้านทัศนคติที่เป็นปัญหาหนัก ยังมีอุปสรรคสำคัญอีก 2 ประการที่ทำให้ความตั้งใจสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไม่ง่าย นั่นคือ วัตถุดิบหายากขึ้นและมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยแนวทางใช้คือการรวมตัวกับสมาคมผู้ผลิตยาสมุนไพร และการต่อรองทำ contract farming กับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องยา

ปัญหาใหญ่อีกด้านคือ กฎหมายและมาตรฐานกำกับดูแลการผลิตที่เข้มงวด โดยเฉพาะการปรับปรุงสถานที่ปรุงยาแผนโบราณให้เป็นไปตาม GMP (Good Manufacturing Practice) ซึ่งสำหรับผู้ผลิตรายย่อยย่อมเป็นต้นทุนสูงทีเดียว หรือการขอ อ.ย. (ใบอนุญาต อาหารและยา) ค่อนข้างซับซ้อนในแง่ระเบียบเรื่องการระบุสรรพคุณ รวมทั้งระเบียบกฎเกณฑ์ที่ออกมาอีกจำนวนมากซึ่งล้วนเป็นข้อจำกัดในการผลิตของรายย่อย จึงทำให้คนรุ่นหลังถอดใจไม่สืบสานมรดกภูมิปัญญาของครอบครัวต่อไป

"ระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะออกมากำกับดูแลยาหอมหรือยาแผนโบราณ นอกจากต้องปิดช่องไม่ให้มีการหลอกลวงผู้บริโภคได้แล้ว ขณะเดียวกันก็ควรเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ของรูปแบบยาหอมดั้งเดิมที่หลากหลาย ไม่ใช่มุ่งขจัดความหลากหลายออกไปให้เหลือเพียงมาตรฐานเดียว" ภาสินีฝากภาครัฐ

สำหรับความฝันอันสูงสุดของภาสินี เธอหวังเพียงว่า ยาหอมหมอหวานจะมีส่วนทำให้ยอดขายโดยรวมของยาหอมเพิ่มขึ้น เพียงเพราะคนในสังคมเริ่มรู้จัก เห็นคุณค่า ยอมรับ และรู้สึกดีต่อยาหอมไทยมากขึ้น จนในที่สุดยาหอมกลับเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่ทุกบ้านมีติดบ้าน ทุกคนทุกเพศทุกวัยต้องมีพกติดตัวเอาไว้ สมกับที่ยาหอมเป็นมรดกอันทรงคุณค่าและอยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us