ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีสกู๊ปชิ้นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ที่สร้างความฮือฮา โดยมีคนเข้าไปอ่านทั้งผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์จำนวนมาก จนขึ้นสู่อันดับหนึ่งของข่าวที่เป็นที่น่าสนใจที่สุดของไฟแนนเชียลไทม์ช่วงนั้นๆ ไฟแนนเชียลไทม์นำเสนอสกู๊ปเกี่ยวกับเบื้องหลังของโครม (Chrome) ซึ่งเป็นบราวเซอร์ของกูเกิ้ลที่ต้องการจะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกับอินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ หรือไออี (IE) ของค่ายไมโครซอฟท์ รวมถึงไฟร์ฟ็อกซ์ (Firefox) นั่นเอง
จริงๆ แล้วผมหาโอกาสจะพูดถึงการทำงานของกลไกเบื้องหลังการทำงานของโครมมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสเสียที ฉบับนี้เลยขอลงรายละเอียดถึงกลไกของโครมที่เรียกว่า V8 รวมถึงความเป็นไปของสงครามบราวเซอร์ไปพร้อมๆ กันด้วย
สำหรับสงครามบราวเซอร์นั้น จริงๆ แล้วมีบราวเซอร์เกิดขึ้นในโลกนี้นับแต่การถือกำเนิดของอินเทอร์เน็ตอยู่มากมาย แต่โดยมากจะมีอายุสั้นๆ สำหรับบราวเซอร์ที่โดดเด่นจริงๆ ในช่วงที่ผ่านมามีอยู่สี่ตัว ได้แก่ เนทสเคป เนวิเกเตอร์ (Netscape Navigator), อินเทอร์เน็ตเอ็กซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) หรือ ไออี (IE) จากค่ายไมโครซอฟท์, ไฟร์ฟ็อกซ์ ของโมซิลล่า (Mozilla) และโครมของกูเกิ้ล
เนทสเคป เนวิเกเตอร์เป็นบราวเซอร์ตัวแรกๆ ในโลกที่ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูง ในช่วงแรกๆ ทุกคนใช้เนทสเคป เนวิเกเตอร์กันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นเพราะในเวลานั้นยังไม่มีคู่แข่งอย่างชัดเจน นอกจากนี้เนทสเคป เนวิเกเตอร์ก็สามารถทำงานได้อย่างดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด นอกจากนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าในเวลานั้น ลูกเล่นต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตยังมีไม่มากมายนัก การเปลี่ยนแปลงพิเศษๆ สำหรับบราวเซอร์ จึงไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก
จากนั้นก็เป็นการก้าวเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มตัวของไออีของไมโครซอฟท์ ซึ่งในช่วงแรกไออีถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ด้วยยุทธศาสตร์การครอบตลาดโลกอินเทอร์เน็ตของไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การเติบโตของการใช้ไออีเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพียงในปี 1998 ไออีซึ่งเพิ่งเข้าสู่ตลาดอินเทอร์เน็ตไม่นานนักก็ได้เข้ามาแทนที่เนทสเคป เนวิเกเตอร์ในแง่จำนวนผู้ใช้งานไปได้สำเร็จ
แม้ไมโครซอฟท์จะถูกฟ้องในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด แต่ ณ เวลานั้นมันสายไปแล้ว ไออีได้เข้ามามีส่วนแบ่งตลาดบราวเซอร์มากถึง 90% และจนถึงทุกวันนี้ไออีก็กลายเป็นบราวเซอร์มาตรฐานสำหรับการติดตั้งไว้ในเครื่องพีซีเครื่องใหม่ส่วนใหญ่ของโลก หลังจากนั้น AOL ก็ได้มาซื้อเนทสเคป เนวิเกเตอร์ ซึ่งเนทสเคป เนวิเกเตอร์เองก็ไม่ได้รับการพัฒนาอีกต่อไปนับจากปี 2007 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนเรื่องของสงครามบราวเซอร์น่าจะจบลงแบบเศร้าๆ และไออีก็น่าจะกลายเป็นบราวเซอร์เดียวของโลกอินเทอร์เน็ตถ้าไม่มีชุมชนโอเพ่นซอร์ส (Open-source) เกิดขึ้นในโลกใบนี้
กลุ่มที่เรียกว่าโอเพ่นซอร์สนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างแท้จริงของไมโครซอฟท์ ซอฟต์แวร์ใดๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยเหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ในกลุ่มโอเพ่นซอร์สนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาทำโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ ทำให้ไร้ซึ่งแรงกดดันในการทำ นั่นทำให้ผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คนกลุ่มนี้พัฒนาขึ้นมาจะแจกจ่ายให้คนอื่นได้ใช้ฟรีๆ ด้วยเช่นกัน เมื่อบวกกับความหมั่นไส้ในผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ ก็ยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้เหนียวแน่นกันมากขึ้น ในปี 1998 เนทสเคปก็ได้เปิดเผยโค้ดของเนทสเคปเองโดยตั้งเป็นโครงการโอเพ่นซอร์สขึ้นมาซึ่งเรียกว่าโมซิลล่า และนั่นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของไฟร์ฟ็อกซ์ซึ่งเป็นผู้เล่นรายสำคัญอีกรายหนึ่งของสงครามบราวเซอร์ และถือเป็นการจู่โจมฐานที่มั่นของไออีเป็นสำคัญ
ไฟร์ฟ็อกซ์เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของไออีมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน โดยคุณสมบัติหลายๆ อย่างของไฟร์ฟ็อกซ์ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งหน้าการใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็นแท็บ (tab) หรือการเซตค่าในการใช้งานต่างๆ ซึ่งถึงแม้ว่าฟังก์ชันต่างๆ เหล่านี้จะมีอยู่ในบราวเซอร์อื่นๆ มาก่อน แต่ด้วยการขยายจำนวนการ ใช้งานแบบปากต่อปาก, การทำการตลาดที่ดีมากๆ และลักษณะของไฟร์ฟ็อกซ์ที่เป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักพัฒนา โดยเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบทางด้านเทคนิค ซึ่งการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญของไฟร์ฟ็อกซ์นี้ทำให้พวกเขากลายเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไออี จุดสำคัญคือไฟร์ฟ็อกซ์เป็นบราวเซอร์แบบโอเพ่นซอร์ส ซึ่งเปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนาโปรแกรมอิสระทั้งหลายสามารถเพิ่มเติมศักยภาพของไฟร์ฟ็อกซ์ได้มากเท่าที่ต้องการ ซึ่งทำให้ไฟร์ฟ็อกซ์ยิ่งมีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ
ณ เวลานั้น ตลาดบราวเซอร์ดูจะเป็นการแข่งขันของสองยักษ์ใหญ่อย่างไออีและไฟร์ฟ็อกซ์เท่านั้น โดยมีซาฟารี (Safari) ซึ่งเป็นบราวเซอร์อีกตัวหนึ่งของค่ายแอปเปิล (Apple) คอยสร้างสีสันเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม นับจากปี 2008 เป็นต้นมา กูเกิ้ลก็ได้นำโครมเข้ามาสู่ตลาด ซึ่งถือเป็นการจุดไฟสงครามบราวเซอร์ที่คุกรุ่นให้ร้อนแรงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
คำถามสำคัญคือ ทั้งๆ ที่ตัวบราวเซอร์ไม่ได้สร้างรายได้อะไรให้กับผู้พัฒนาขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบราวเซอร์ยี่ห้อใดก็ตาม แล้วทำไมโครมจึงสำคัญมากๆ สำหรับกูเกิ้ลล่ะ ทำไมพวกเขาต้องลงทุนทั้งเงินและแรงกายแรงใจไปกับโปรเจ็กต์ที่ดูเหมือนจะไม่ได้อะไรกลับมาเป็นเม็ดเงินชัดเจนล่ะ คำตอบไม่ได้อยู่ที่ตัวบราวเซอร์ แต่เป็นสิ่งที่บราวเซอร์สามารถเข้าถึงได้ต่างหาก นั่นคือแอพพลิเคชั่นบนเว็บทั้งหลาย ซึ่งเว็บแอพพลิเคชั่นเหล่านี้คือแหล่ง รายได้ที่สำคัญของกูเกิ้ลนั่นเอง โดยกูเกิ้ลตั้งความหวังไว้ค่อนข้างสูงกับแอพพลิเคชั่นแนวออฟฟิศบนเว็บ เช่น Google Docs ซึ่งจำลองโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศของไมโครซอฟท์มาใช้งานบนอินเทอร์เน็ตแทน
กูเกิ้ลพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ๆ ของเว็บแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ไว้มากมาย แต่ปัญหาคือบราวเซอร์ในท้องตลาดไม่สามารถซัปพอร์ตการทำงานของเว็บแอพพลิเคชั่นของพวกเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม โดยเฉพาะโค้ดภาษาใหม่ๆ ซึ่งต้องการบราวเซอร์ที่สนับสนุนการทำงานได้มากขึ้นและดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่บราวเซอร์ปัจจุบันอาจจะใช้งานกับแอพพลิเคชั่นง่ายๆ ได้ที่ไม่มีลูกเล่นอะไรมากมายนัก แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าของเว็บแอพพลิเคชั่นได้ไปไกลเกินกว่าการเคลื่อนไหวของบราวเซอร์มาก และนี่คืออุปสรรคขวางกั้นความก้าวหน้าของเว็บแอพพลิเคชั่นที่พวกเขาตั้งความหวังไว้มากนั่นเอง
Cloud computing ที่ผมเริ่มพูดถึงเรื่อยๆ ในช่วงหลังคือ เป้าหมายของกูเกิ้ลที่ต้องการทำให้เครื่องคอม พิวเตอร์ทั่วโลกที่เข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้สามารถเข้าถึงเว็บแอพพลิเคชั่นที่ซับซ้อนมากขึ้นได้นั่นเอง ซึ่งไม่เพียงแต่กูเกิ้ลที่มองตรงจุดนั้น ไมโครซอฟท์เองก็มองถึงการเข้าสู่ Cloud นี้เช่นกัน โดยพวกเขาเตรียม Windows Cloud ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการเพื่ออินเทอร์เน็ตนั่นเอง แต่การจะได้ Cloud Computing ที่ทรงพลานุภาพ เราก็ต้องการบราวเซอร์ที่ดีเยี่ยมเสียก่อน โดยเฉพาะสิ่งที่เราต้องการสำหรับอนาคตของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้งานบนอินเทอร์เน็ตคือ ความเร็ว เสถียรภาพ และความปลอดภัย โดยมีบราวเซอร์เป็นประตูสู่โลกอินเทอร์เน็ตที่สำคัญนั่นเอง
แม้ถึงปัจจุบันโครมอาจจะยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดบราวเซอร์เพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเฉพาะ 100 วันแรกที่มีคนใช้ถึง 10 ล้านคนทั่วโลก แต่ถือว่ายังมีอัตราการเติบโตอีกมากในอนาคต โดยเฉพาะกลไก V8 ซึ่ง Lars Bak เป็นคนพัฒนาขึ้น ซึ่งทำให้โครมสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ ตัวโครมเองใช้งานโค้ดแบบโอเพ่นซอร์สและมาตรฐานแบบเปิดจำนวนมากมาย ซึ่งโครมเองก็ได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ เช่น การให้แต่ละแท็บของโครม ทำงานเป็นอิสระจากแท็บอื่นๆ ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญมากและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ปกติแล้วการใช้งานแอพพลิเคชั่นผ่านบราวเซอร์หลายๆ แอพพลิเคชั่นในเวลาเดียวกันนั้นจะส่งผลให้บราวเซอร์หยุดทำงานและปิดตัวเองไปได้ และเมื่อแท็บใดๆ ของบราวเซอร์นั้นหยุดทำงาน ก็จะส่งผลให้โปรแกรมบราวเซอร์ทั้งโปรแกรมปิดไปด้วย นั่นทำให้การทำงานหรือการใช้งานใดๆ ที่ทำงานในแท็บอื่นๆ ต้องสูญเสียข้อมูลที่ทำค้างอยู่ไปด้วย นั่นเป็นปัญหาของบราวเซอร์โดยทั่วๆ ไปที่แม้จะสามารถเปิดได้หลายๆ แท็บในเวลาเดียวกัน แต่แต่ละแท็บจะเชื่อมโยงถึงกันในฐานะที่ทำงานอยู่บนบราวเซอร์อันเดียวกัน เมื่อแท็บใดแท็บหนึ่งหยุดทำงานก็จะส่งผลต่อบราวเซอร์ทั้งหมด
สำหรับโครมนั้นแต่ละแท็บจะทำงานแยกจากกัน นั่นคือ ไม่ว่าเราจะใช้แอพพลิเคชั่นบนเว็บหรือเปิดเว็บหน้าไหนก็ตามในแต่ละแท็บนั้น ถ้าแท็บหนึ่งหยุดทำงานไป ก็จะไม่ส่งผลต่อแท็บอื่นๆ เราสามารถปิดเแท็บนั้นและทำงานต่อไปได้ตามปกติ การออกแบบให้บราวเซอร์ทำงานแบบนี้ เหมือนว่าบราวเซอร์นั้นเป็นเดสก์ทอปหรือคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง แท็บแต่ละแท็บก็เหมือนการรันแอพพลิเคชั่นแต่ละตัว ซึ่งทำงานไม่ขึ้นกับแต่ละแท็บนั่นเอง กลไกนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีผลต่อการพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นในอนาคตนี้อย่างแน่นอน
นอกจากกลไกที่ช่วยในการทำงานนี้แล้ว ยังมีเรื่องของความเร็วในการทำงานของโครมอีกด้วยที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะกับการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนเว็บที่กำลังกลายเป็นแนวโน้มใหม่ของโลกอินเทอร์เน็ต โดยเว็บแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ต้องการการทำงานของบราวเซอร์ที่รวดเร็วเป็นสำคัญ
เดือนธันวาคมปีกลาย กูเกิ้ลได้ประกาศว่า โครมของพวกเขาพร้อมจะติดตั้งเป็นบราวเซอร์มาตรฐานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ใหม่ทั่วโลกแล้ว บราวเซอร์ของพวกเขาไม่ใช่รุ่นเบต้าหรือรุ่นทดลองใช้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไออีและไฟร์ฟ็อกซ์ก็ไม่ได้นิ่งเฉย IE8 ของไมโครซอฟท์และกลไก TraceMonkey ของไฟร์ฟ็อกซ์ก็กำลังจะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในตลาดบราวเซอร์
ซึ่งเราต้องติดตามต่อไป เพราะโลกไอทีและอินเทอร์เน็ตไม่เคยหยุดนิ่งรอใคร
อ่านเพิ่มเติม :
1. v8 Google Code, http://code.google.com/p/v8/
2. Minto, R. (2009), -The genius behind Google's web browser,' http://www.ft.com/cms/s/2/03775904-177c-11de-8c9d-0000779fd2ac.html
3. Alexander Jr., G. P. (2008), -Chrome's V8 Javascript Engine is fast and furious,' http://it.toolbox.com/blogs/programming-life/chromes-v8-javascript-engine-is-fast-and-furious-26985
4. ChromeMan (2009), -With V8, Chrome leading the pack-and an introduction,' http://www.googlechromefans.com/with-v8-chrome-leading-the-pack-and-an-introduction/
5. TraceMonkey, http://ejohn.org/blog/tracemonkey/
6. JavaScript: TraceMonkey, https://wiki.mozilla.org/JavaScript:TraceMonkey
|