สำหรับผู้หญิงวัย 57 กับยศชั้น EXECUTIVE VICE PRESIDENT อาจจะเป็นการให้เป็นของขวัญสำหรับความซื่อสัตย์ที่ภักดีมากับองค์กรกว่าสามทศวรรษ
แต่กับจินดา จรุงเจริญเวชช์แล้วไม่ใช่เพราะเหตุนี้
ถึงอีกสามปีจินดาอาจจะต้องไปนั่งเลี้ยงหลานที่บ้านแล้วแต่ไฟในตัวของเธอก็ยังคุโชนอยู่ทุกเมื่อ
สมกับความที่เธอเป็นบัญชีจุฬาคนเดียวที่เล็ดลอดมานั่งแป้นใหญ่โตในแบงก์บัวหลวงตราบกระทั่งทุกวันนี้
จินดานั้นการได้รับยศ EVP ทำให้เธอต้องดูแลสายงานไพรเวทแบงกิ้งเพิ่มขึ้นมาอีกสายหนึ่ง
นอกจากเดิมต้องคุมด้านฝ่ายบริการโอนและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว เธอยังต้องบัญชางานที่ศูนย์หักบัญชีและเงินโอนอีกต่างหาก
การได้รับมอบหมายจากชาตรีให้ดูแลด้านไพรเวทแบงกิ้งหรือธนบดีธนกิจนั้นเนื่องเพราะการมองการณ์ไกลของเธอ
จินดามองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่จะสามารถแทรกตัวเข้าไปสู่ยุทธจักรไพรเวทแบงกิ้งอย่างเต็มตัวได้
เพราะธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธนาคารใดให้ความสนใจอย่างจริงจังกระทั่งแยกตัวออกเป็นหน่วยงานโดด
ๆ ทำนองตั้งเป็นศูนย์กำไร (PROFIT CENTER)
อีกประการหนึ่งแบงก์กรุงเทพเองก็มีลูกค้ามากมาย และมีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับลูกค้าระดับใหญ่มากรายอีกทั้งเป็นธนาคารที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด
ถ้าตั้งสายงานนี้ขึ้นมาอย่างจริง ๆ จัง ๆ ก็น่าจะทำเงินให้กับธนาคารเป็นกอบเป็นกำ
ชาตรีเองเมื่อได้รับข้อเสนอนี้จากจินดาก็เห็นด้วย อาจจะเป็นเพราะเขาเองก็สนใจงานด้านนี้มาแล้วก็ได้
หรืออาจจะเป็นเพราะบรรดาดอกเตอร์ที่แวดล้อมเขาเห็นดีเห็นงามว่าอนาคตน่าจะไปได้รุ่ง
ชาตรีก็ตกปากรับคำจินดา
วันที่ 19 กรกฎาคม ชั้น 20 ธนาคารกรุงเทพจึงได้รับงบประมาณจากชาตรีเกือบ
6 ล้านบาทเพื่อแปลงโฉมห้องธนบดีธนกิจให้หรูหราสมฐานะลูกค้า
วันที่ชาตรีมาเยี่ยมชมห้องธนบดีธนกิจนั้น ชาตรีก็แกล้งกระเซ้าจินดาว่า
"งานนี้สำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นกับคน ๆ นี้แหละ" พร้อม ๆ กันนั้นก็บ่นว่าค่าตกแต่งห้องแพงเหลือเกิน
(เกินงบไป 3 แสนบาท)
นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ไพรเวทแบงกิ้งของจินดาก็มีลูกค้าทยอยกันเข้ามาใช้บริการมูลค่าเหยียบพันล้านบาทเข้าแล้ว
คงจะพอค่าตกแต่งห้องแล้วกระมังสำหรับค่าบริการ 0.125-1%
ไพรเวทแบงกิ้งของแบงก์กรุงเทพนั้นจะเน้นจับลูกค้าระดับมีสินทรัพย์ 50 ล้านหรือมีบัญชีเงินฝาก
10 ล้านบาทขึ้นไป
บริการต่าง ๆ ของไพรเวทแบงกิ้งเรียกว่ามีครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษาด้านลู่ทางการลงทุนทุกประเภท
นอกจากนั้นยังอำนวยความสะดวกในด้านการจัดหาแหล่งเงินทุนและการจัดสรรสินเชื่อให้อีกด้วย
บริการที่ถือว่าเป็น VALUE ADDED ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของบริการด้านนี้ก็คลุมตั้งแต่แนะนำด้านการศึกษา
การเดินทาง หรือแม้กระทั่งการจัดเตรียมเลขาส่วนตัว เนื่องในโอกาสพิเศษ เพราะมันหมายถึงเงินค่าบริการที่จะได้รับทั้งนั้น
ล่าสุดไพรเวทแบงกิ้งรุกคืบเข้าสู่ตลาดต่างจังหวัดตามการขยายตัวของธุรกิจ
โดยมุ่งจับเถ้าแก่เรือประมงทางใต้ที่เข้าไปหาปลาในน่านน้ำแถบอินโดนีเซีย
ซึ่งในแต่ละปีบรรดาเจ้าของเรือต่าง ๆ ต้องเสียเงินค่าธรรมเนียมจำนวนมหาศาลให้บรรดานายหน้าที่ติดต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย
ธนบดีธนกิจอาสาเข้าช่วยเหลือบรรดาเจ้าของเรือโดยเสนอราคาค่านายหน้าต่ำกว่าเป็นจุดขาย
การเข้าไปทำธุรกิจครั้งนี้ก็โดยการใช้สาขาจาร์กาต้าเป็นตัวประสานงานกับสถานทูตไทยในอินโดนีเซียให้ช่วยเจรจากับทางรัฐบาลอินโดนีเซีย
การเปิดตัวไพรเวทแบงกิ้งของแบงก์กรุงเทพครั้งนี้ว่าที่จริงไม่ใช่ของใหม่
ครั้งแรกที่แบงก์กรุงเทพจะเข้าไปศึกษาไพรเวทแบงกิ้งของซิตี้แบงก์นั้น คำตอบที่ได้มาก็คือ
"ผมเองก็ศึกษามาจากคุณ"
ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์ของแบงก์กรุงเทพเองก็เติบโตมาจากไพรเวทแบงกิ้งอย่างที่ซิตี้แบงก์กล่าวมา
เพียงแต่มันซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานอื่น ๆ
"ไพรเวทแบงกิ้งนั้นกุญแจความสำเร็จของการหาลูกค้านั้นอยู่ที่สายสัมพันธ์และความเชื่อถือ"
นักการตลาดท่านหนึ่งให้ข้อสังเกต
ในอดีตชิน โสภณพนิชมีปัจจัยทั้งสองประการครบถ้วนเขามีเพื่อนพ้องเป็นพ่อค้ามากมายและคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต่างก็เป็นลูกค้าของธนาคารแทบทั้งสิ้น
คนเหล่านี้ต่างก็ให้ความเชื่อถือในตัวชินอย่างมาก ๆ เมื่อเขาคิดจะลงทุนเขาก็เดินเข้าไปหาชิน
จุดนี้เองที่ชนรุ่นหลังนายห้างชินในแบงก์นี้ต่างก็ได้รับผลพวงที่นายห้างชินสร้างไว้
สมัยก่อนว่ากันไปแล้วไม่เพียงแบงก์กรุงเทพเท่านั้นที่มีการทำไพรเวทแบงกิ้งอย่างไม่เป็นทางการ
แบงก์อื่น ๆ เกือบทั้งหมดต่างก็ดำเนินตามแนวนี้เช่นกัน อย่างเช่น แบงก์นครธนหรือในชื่อเดิมว่าหวั่งหลี
แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นธนาคารของตระกูลซึ่งแบงก์หวั่งหลีเองก็ทำหน้าที่ด้านการเงินให้ตระกูลและเพื่อนฝูงเครือญาติสนิท
หรืออย่างธนาคารเอเชียทรัสต์ก็เช่นกัน
มันเป็นปัจจัยในการสร้างความเติบโตให้กับธนาคารพาณิชย์ไทยปัจจัยหนึ่งในอดีต
แต่ธนาคารพาณิชย์ไทยเองก็ปล่อยให้มันแฝงอยู่ในหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป ไม่มีใครคิดแยกออกมาอย่างจริงจัง
ตกมาในยุคปัจจุบันแบงก์กรุงเทพเป็นแห่งแรกที่มีความคิดที่จะแยกออกมาเป็นสายงานที่ทำกำไรอย่างชัดเจน
หลังจากที่ชาตรีเองสยายปีกไปสู่อุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี หรือการทอดเงื้อมเงาไปหาผาแดง
กระทั่งการแผ่อิทธิพลไปสู่เพื่อนเก่าอย่างสว่าง เลาหทัย ชาตรีเองก็หันกลับมาดูบริการใหม่ของธนาคาร
เรียกว่าสวมบทบาท INNOVATIVE IMMITATION ตามแบงก์ต่างประเทศ ว่างั้นเถอะ!
งานนี้ชาตรีต้องเลือกคนที่มีสายสัมพันธ์กว้างและลึกและมีเครดิตพอสมควร
จินดา จรุงเจริญเวชช์ เป็นคนที่ชาตรีเลือกให้มารับงานนี้เพราะความเก่าแก่ของจินดา
ซึ่งนับว่าเลือกถูกเพราะปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการทั้งจากใน และต่างประเทศมากมายที่มีทั้งประเภทลูกค้าวิ่งเข้ามาหาและที่ทีมงานของจินดาออกไปหามา
ที่ไม่น่าเชื่อก็คือลูกค้าจากต่างประเทศนั้นมีทั้งจากรัสเซียและจีนแดงด้วย
ผลพวงความสำเร็จต้องยกเครดิตให้จินดาและทีมงานทั้งฝ่ายที่ปรึกษาและฝ่ายชำนาญการ
ที่สำคัญคือฝ่ายการตลาดหรือที่เรียกว่าทีมงานบริหารลูกค้าซึ่งมีทั้งหมด
8 คน
ทั้ง 8 คนนี้ถือเป็นหัวหอกในการหาลูกค้าและบริหารลูกค้าเลยทีเดียว "พวกนี้ต้องมีสายสัมพันธ์ดี"
จินดาว่า
เท่าที่ "ผู้จัดการ" ทราบ ทีมงานต่าง ๆ นั้นจินดาจะเป็นคนเลือกด้วยตัวเองเลย
เฉพาะทีมบริหารลูกค้าเท่าที่ทราบ "มีคนนามสกุลอิศรางกูร ณ อยุธยาและสุจริตกุลด้วย"
แหล่งข่าวกล่าว
เรียกว่างานนี้จะสำเร็จลงได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยที่ชินเคยมีในอดีต กระทั่งปัจจุบันก็ยังต้องอาศัยอยู่
ไพรเวทแบงกิ้งของบัวหลวงเปิดมาได้เกือบ 4 เดือนแล้ว ถือว่าเป็นความล้ำหน้าอีกประการของแบงก์กรุงเทพ
ยักษ์ใหญ่ที่ยังคงเป็นยักษ์ใหญ่ต่อไป ทำอะไรก็ยังคงล้ำหน้าเขาอยู่เสมอ
หรือถ้ามาทีหลังก็ดังกว่า
ขณะที่แบงก์กรุงเทพเริ่มก้าวมาไกลพอสมควรแล้ว แบงก์อื่น ๆ ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพราะไพรเวทแบงกิ้งยังซุกปีกอยู่กับหน่วยงานอื่นต่อไป
ไม่มีลักษณะเป็นบริการที่มีตัวตนมีระบบการให้บริการที่ชัดเจน
เหตุนี้อาจเป็นเพราะผู้บริหารแบงก์อื่นยังเห็นว่าบริการอย่างนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะแยกออกมาจัดทำเป็นบริการที่สามารถทำกำไรให้กับแบงก์ก็เป็นได้