จีน
สป.จีนเตรียมตั้งกองทุนความร่วมมือการลงทุน 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเตรียมเสนอปล่อยกู้ 15,000 เหรียญสหรัฐ ให้แก่กลุ่มชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป้าหมายของการจัดตั้งกองทุนจีนครั้งนี้ มุ่งส่งเสริมการลงทุนภาคโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างจีนกับกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ สำหรับแผนเสนอสินเชื่อนั้น จะปล่อยระหว่างช่วง 3-5 ปี โดยปีนี้จีนได้ลงนามข้อตกลงสวอปเงินตราต่างประเทศกับอินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย เพื่อช่วยกระเตื้องอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยเหลือการลงทุนและการค้าระดับทวิภาคี
นอกไปจากนี้จีนยังมีแผนช่วยเหลือ 270 ล้านหยวน (39.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) สำหรับช่วยเหลือประเทศกัมพูชา ลาว และพม่า และยังบริจาคข้าว 3 แสนตัน ให้แก่คลังสำรองข้าวฉุกเฉินเอเชียตะวันออกอีกด้วย เพื่อช่วยส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหาร
พม่า
พล.อ.เต็งเส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า กล่าวระหว่างปราศรัยต่อที่ประชุมสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า เมื่อต้นเดือนเมษายน ว่าปีงบประมาณ 2551-2552 ที่เพิ่งผ่านไป ดุลการค้าของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าการค้ากับต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่ม 4% จาก 9,800 ล้านดอลลาร์ ในปีงบประมาณ 2550-2551 โดยมูลค่าส่งออกในปีงบประมาณที่สิ้นสุดลงนี้เพิ่มขึ้นกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 465 ล้านดอลลาร์ สินค้าออกของพม่าส่วนใหญ่ยังเป็นวัตถุดิบ สินค้าการเกษตร และสินค้าปฐมภูมิต่างๆ แต่รายได้หลักยังคงมาจากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่ไทย
กระทรวงพาณิชย์พม่าเปิดเผยเมื่อปลายเดือนมีนาคมว่า 11 เดือนแรกของปีงบประมาณเดียวกันนี้ การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่าถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ โดยจีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุด คิดเป็นประมาณ 70% ของทั้งหมด
ลาว
ธนาคารลาวพัฒนา ซึ่งเป็นธนาคารของทางการ สปป.ลาว และธนาคารการเกษตรของรัฐบาลจีน สาขามณฑลหยุนหนัน ได้เซ็นความตกลงระหว่างกันเมื่อปลายเดือนมีนาคม เพื่อสนับสนุนการค้าขายตามถนนสาย R3a ซึ่งเชื่อมระหว่างแขวงบ่อแก้ว แขวงหลวงน้ำทาของลาว กับเมืองโม่หานของจีน ข้อตกลงดังกล่าวมี 3 ฉบับ ประกอบด้วย การจัดตั้งผู้แทน การเปิดบัญชีร่วมกัน และการชำระราคาสินค้าผ่านแดนด้วยระบบออนไลน์
ก่อนหน้านี้ธนาคารของทางการลาวได้มีความตกลงคล้ายกันนี้กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่อชำระค่าสินค้าตามด่านชายแดนที่ด่านช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ด่านมิตรภาพมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และที่ชายแดนด้านเมืองท่าแขก-นครพนม รวมทั้งเมื่อต้นเดือนมีนาคม ธนาคารพงสะหวันของลาว ซึ่งเอกชนถือหุ้น 100% ได้เซ็นความตกลงกับธนาคารเพื่อการเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม เกี่ยวกับการชำระสินค้าที่ผ่านด่านชายแดนหลักของ 2 ประเทศ
กัมพูชา
หนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชาได้สำรวจความนิยมสินค้าของคนกัมพูชา เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่าในปี 2551 ชาวกัมพูชาซื้อสินค้าเวียดนามเป็นมูลค่า 988 ล้านดอลลาร์ สินค้าจีน 784 ล้านดอลลาร์ และสินค้าไทยเป็นอันดับ 3 มูลค่า 674 ล้านดอลลาร์
เวียดนามส่งสินค้าไปกัมพูชาหลายรายการ ทั้งยารักษาโรค เครื่องสำอาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อาหารปรุงแต่ง ผลไม้ แม้กระทั่งผักสด ผลการสำรวจครั้งนี้ถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันที่สินค้าเวียดนามครองตลาดในกัมพูชา
ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจในกัมพูชากล่าวว่าเวียดนามมีความได้เปรียบตรงที่การคมนาคมสะดวก สินค้าเวียดนามจึงมีโอกาสสูงที่จะครองตลาดต่อไปถ้าหากผลิตสินค้าหลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนประเทศไทยซึ่งความสัมพันธ์กับกัมพูชาเสื่อมลงหลังเกิดความตึงเครียดที่ชายแดนด้านเขาพระวิหาร ทำให้เกิดขบวนการต่อต้านสินค้าไทยขึ้น แต่สินค้าบางชนิดก็ยังได้รับความนิยมในตลาด
เวียดนาม
ทางการเวียดนามได้ออกใบอนุญาตแก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4 ราย เพื่อให้บริการระบบ 3G โดยมีอายุสัญญา 15 ปี ประกอบด้วยโมบิโฟน (MobiPhone) กับวินาโฟน (Vinaphone) ซึ่งมีเจ้าของเดียวกันคือรัฐวิสาหกิจไปรษณีย์และโทรคมนาคม รายที่ 3 คือ เวียตเทล (Viettel) ของกองทัพประชาชน รายที่ 4 เป็นการรวมกลุ่มกันระหว่างฮานอยเทเลคอมกับอีวีเอ็นเทเลคอม (EVN Telecom) ซึ่งรายหลังนี้เป็นของรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าเวียดนาม ทั้ง 4 ราย ให้คำมั่นกับทางการว่าจะลงทุนรายละไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาระบบและขยายเครือข่ายภายใน 3 ปี
ปัจจุบันเวียดนามมีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสิ้น 6 ราย มีผู้ใช้โทรศัพท์รวมกันกว่า 70 ล้านคน โดยเวียตเทลเป็นอันดับ 1 มีจำนวนผู้ใช้ 26 ล้านคน เท่าๆ กับโมบิเทล อันดับ 3 ได้แก่ วินาโฟนซึ่งมีผู้ใช้บริการราว 20 ล้านคน
|