Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2552
กาแฟดอยช้าง-อีโก้ของชาวอีก้อ             
โดย วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท กาแฟดอยช้าง

   
search resources

Coffee
กาแฟดอยช้าง
วิชา พรหมยงค์




ชื่อ "กาแฟดอยช้าง" แม้จะไม่เป็นที่คุ้นหูนักสำหรับนักจิบกาแฟชาวไทยทั่วไป แต่ในแวดวงคอกาแฟในต่างประเทศแล้ว "กาแฟดอยช้าง" ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของคนไทยและเป็น "อีโก้" (ในที่นี้ ขอหมายถึงความภาคภูมิใจ) ของชาวอีก้อกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งในจังหวัดเหนือสุดของประเทศ ผู้ร่วมกันรังสรรค์กาแฟรสเลิศประดับเวทีกาแฟโลกไว้ได้เป็นผลสำเร็จ

ภูเขาดอยช้าง อยู่ห่างจากตัวเมืองของจังหวัดเชียงรายไปประมาณ 40 นาที และจากเชิงเขาขึ้นดอย หากไปทางลัดจะใช้เวลาอีกเพียง 1 ชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น แม้หนทางไต่ขึ้นดอยจะค่อนข้างขรุขระอยู่สักหน่อย ในวันที่คณะของผู้เขียนเดินทางไปสัมภาษณ์กาแฟดอยช้างนั้น "อาเดล" หนึ่งในผู้ก่อตั้งกิจการได้ให้ความอนุเคราะห์เดินทางมารับพวกเราขึ้นดอย จากร้านกาแฟดอยช้างเล็กๆ ในตัวเมือง ซึ่งได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามเป็นธรรมชาติ จากฝีมือและไอเดียของสมาชิกผู้ปลูกกาแฟดอยช้างเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสถาปนิกให้สิ้นเปลือง

กว่า 2 ชั่วโมงในรถกระบะระหว่างทางขึ้นดอย อาเดลเล่าถึงความเป็นมาของกาแฟดอยช้าง รวมทั้งการฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ร่วมกันของชาวอาข่าหรืออีก้อบนดอย ซึ่งรวมถึงอาเดลเอง กว่าจะมาเป็นกาแฟดอยช้างที่ทำชื่อเสียงระดับโลกให้แก่ชุมชนชาวอีก้อและประเทศไทยในปัจจุบัน

"ชาวดอยช้างเริ่มปลูกกาแฟมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2526 ก็ปลูกกันมาเรื่อยๆ แล้วขายให้พ่อค้าคนกลาง แม้ราคา ไม่สู้จะดีนัก แต่ก็ทำๆ กันไป แต่เมื่อกว่า 8 ปีที่แล้ว ชาวบ้านถูกพ่อค้าที่มารับซื้อกาแฟถึงบนดอยกดราคาอย่างหนัก กิโลหนึ่งให้ราคาแค่ 17-20 บาท ชาวบ้านต้องทนขายขาดทุน"

"ชาวบ้านเองซึ่งเป็นชาวเขาเผ่าอีก้อ และไม่มีบัตรประชาชนในขณะนั้น ไม่สามารถจะลงจากดอยมาขายกาแฟเองได้ เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับในฐานที่ไม่มีบัตร (ประชาชน) เพราะถูกมองว่าไม่ใช่คนไทย ผมเองในฐานะผู้ใหญ่บ้านจึงลงจากดอยมาหาพี่วิชา เพื่อปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดีกับไร่กาแฟของชาวบ้านเกือบ 600 ไร่บนดอย และทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้"

"พี่วิชา" หรือวิชา พรหมยงค์ ชายร่างเล็ก ผมเปียท้ายทอย คือประธานบริษัทกาแฟดอยช้าง และเป็นหนึ่งในผู้ร่วม บุกเบิกก่อตั้งกิจการกาแฟดอยช้างมาตั้งแต่แรกเริ่ม วิชารอต้อนรับคณะของผู้เขียนอยู่บนดอย พร้อมกับ "มิกะ" หรือ "หมี่ก๊า" สาวอีก้อหน้าตาใจดี น้องสาวของอาเดล ผู้ซึ่งผู้เขียนเริ่มติดต่อด้วยเพื่อขอสัมภาษณ์เรื่องกิจการของกาแฟดอยช้างและโครงการ แฟร์เทรดที่ทางบริษัทกำลังสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกอยู่

วิชาเล่าว่า หลังจากที่อาเดลเข้ามาปรึกษาให้ช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ในเรื่องการถูกกดราคารับซื้อกาแฟแล้ว ตนได้ใช้เวลากว่า 7 เดือนในการศึกษาเรื่องกาแฟ จนได้ข้อสรุปว่า การจะหลีกเลี่ยงการถูกกดราคานั้น ชาวบ้านต้องเพิ่มกำลังผลิตเป็นสองถึงสามพันไร่ เพื่อสร้างปริมาณของกาแฟให้มากพอที่จะมีอำนาจไปต่อรองกับพ่อค้า นอกจากนี้คุณภาพของกาแฟก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นกระบวน การปรับเปลี่ยนการผลิตและควบคุมคุณภาพของเมล็ดกาแฟ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวบ้านและชุมชนดอยช้าง จึงได้เริ่มขึ้น

เริ่มแรก ชุมชนดอยช้างเป็นที่ลงหลักปักฐานของชาวม้ง แต่หลังจากที่ชาวม้งย้ายออกไป ชาวมูเซอและลีซูก็ย้ายเข้ามาอาศัยในพื้นที่ตามลำดับ ก่อนที่ชาวอีก้อ จะย้ายเข้ามาแทนที่และบุกเบิกพื้นที่ จน ปัจจุบันประชากรชาวอีก้อมีจำนวนคิดเป็น 80% ของประชากรทั้งหมด 800 หลังคาเรือนบนดอยช้าง นอกนั้นเป็นชาวลีซูและชาวจีน

เมื่อก่อนที่บริเวณนี้เป็นแหล่งปลูกฝิ่น แม้ว่าจะมีการปลูกกาแฟอย่างประ ปรายบ้างก็ตาม จนเมื่อโครงการหลวงเข้ามาในพื้นที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และแจกจ่ายต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าให้แก่ชาวบ้านเพื่อปลูกทดแทนฝิ่น การปลูกกาแฟบนดอยจึงเริ่มขึ้น แต่ผลผลิตที่ได้กลับไม่ดีเท่าที่ควร กอปรกับการถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้ชาวบ้านหลายรายล้มเลิกการปลูกกาแฟ จนเมื่ออาเดลและวิชาร่วมมือกันรวมกลุ่มชาวบ้าน และพัฒนาสายพันธุ์กาแฟให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น รวมทั้งดูแลระบบการผลิตกาแฟให้ครบวงจร จึงทำให้ชาวบ้านพอจะลืมตาอ้าปากได้

ปัจจุบันชาวบ้านกว่า 70% ในพื้นที่ เป็นสมาชิกผู้ปลูกกาแฟดอยช้าง ครอบคลุม พื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดเกือบ 30,000 ไร่ ทางบริษัทรับซื้อเมล็ดกาแฟสด (cherry) จากชาวบ้านในราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม และกาแฟกะลา (parchment coffee beans หรือกาแฟที่ยังไม่ได้ขัดสี เช่นเดียว กับข้าวเปลือก) ที่ราคารับซื้อถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ทำให้พ่อค้าในละแวกนั้นต้องปรับราคารับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านให้สูงขึ้นตามไปด้วย

วิชาเล่าว่าปัจจุบันชาวบ้านมีรายได้ เรือนแสนบาทต่อปี ชาวบ้านคนไหนที่มีพื้นที่ปลูกกาแฟสัก 20 ไร่ จะมีรายได้เกือบถึง 1 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะราคารับซื้อของบริษัทที่ตั้งไว้สูงกว่าราคาตลาดแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเทคนิคและระบบการควบคุมคุณภาพผลผลิตของบริษัท ซึ่งสมาชิกของบริษัทร่วมล้มลุกคลุกคลานพัฒนาขึ้นมาด้วยกัน ทำให้ผลผลิตต่อไร่ของชาวบ้านเพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณ 100 กว่ากิโลกรัมในสมัยก่อน กลายเป็น 300-400 กิโลกรัมต่อไร่ในปัจจุบัน นับว่าเป็นผลผลิตที่สูงมากพอควร เมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในคอสตาริกา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 350 กิโลกรัม

ใบประกาศและใบรับรองที่เรียงรายตามผนังห้องรับแขกของบริษัทกาแฟดอยช้าง เป็นเครื่องการันตีถึงคุณภาพอันล้ำเลิศของเมล็ดกาแฟจากยอดดอยแห่งนี้ ผู้บริหารของบริษัทได้ส่งเมล็ดกาแฟเข้ารับการประเมินคุณภาพจาก Coffee Review (www.coffeereview.com) มาเป็นเวลาหลายปีและได้รับคะแนนประเมินคุณภาพกาแฟสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก 89 คะแนนเมื่อเดือนมีนาคม 2007 มาเป็น 93 คะแนนในปี 2008 ถือเป็นคะแนนสูงสุดในปีนั้น โดยได้ครองความเป็นหนึ่งร่วมกับอีก 8 สายพันธุ์กาแฟจากทั่วโลก ทั้งจากปานามา เคนยา คอสตาริกา เอธิโอเปีย และโคลอมเบีย โดยที่ประเทศหลังสุดนี้มีสายพันธุ์กาแฟถึงสามสายพันธุ์ที่ได้รับคะแนน 93 แต้ม

นอกจากใบประกาศเกียรติคุณด้านคุณภาพของเมล็ดกาแฟที่ได้รับแล้ว บริษัทยังยื่นสมัครขอใบรับรองทางด้านอื่นๆ จากหน่วยงานต่างๆ เช่นใบรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าแฟร์เทรด จาก Bioagricert ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนรับรองคุณภาพสินค้าจากประเทศอิตาลี รวมทั้งตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งหมดเป็นหลักฐานยืนยันถึงคุณภาพของกาแฟแต่ละเม็ดที่มาจากหยาดเหงื่อแรงงานและความทุ่มเทของชาวบ้านดอยช้าง

ความสำเร็จของกาแฟดอยช้างเป็นความภาคภูมิใจของสมาชิกในชุมชน ถึงขนาดที่บริษัทได้ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ของผลิตภัณฑ์กาแฟอีกไลน์หนึ่งของตนว่า "อีโก้" (Ego) ซึ่งหมายถึงความภาคภูมิใจและความหยิ่งทะนงในความเป็นชาวอีก้อของตนนั่นเอง

ปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จของ กาแฟดอยช้าง คือความต้องการที่จะลบคำปรามาสจากชาวต่างชาติที่ว่าเมืองไทยไม่มีวันที่จะผลิตกาแฟคุณภาพดีได้สำเร็จ รวมทั้งความเข้าใจผิดของหน่วยงานรัฐและการดูถูกจากคนไทยด้วยกันเองที่มักมองว่าชาวเขาโง่ ไม่มีความสามารถ ทำได้ แต่เพียงปลูกฝิ่นและตัดไม้ทำลายป่าเท่านั้น ปัจจุบันดอยช้างได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ชาวเขาเองสามารถยืนบนลำแข้งของตนเอง จนมีธุรกิจที่ทำเงินให้แก่ประเทศ เป็นพันล้านบาทต่อปีได้สำเร็จ

แต่กุญแจอีกดอกหนึ่งของความสำเร็จของกาแฟดอยช้างคือ การมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจที่ดี

แม้จะมีนักธุรกิจหลากหลายสัญชาติเข้ามาเจรจาเพื่อขอร่วมทุนกับบริษัท แต่วิชาบอกว่าส่วนใหญ่มักจะมาในลักษณะชุบมือเปิบ คือขอเข้ามาร่วมทุนในการผลิตในช่วงที่บริษัทมีเสถียรภาพทางธุรกิจและมีชื่อเสียงแล้วในระดับหนึ่ง ข้อเสนอของนักธุรกิจเหล่านั้นจึงไม่น่าสนใจ แต่สำหรับหุ้นส่วนชาวแคนาดานั้น มอบความจริงใจให้แก่ชาวดอยช้าง โดยไม่ขอร่วมทุนในด้านการผลิต แต่ตกลงที่จะร่วมเปิดบริษัทใหม่ในประเทศแคนาดาแทน แล้วรับซื้อกาแฟดอยช้างในราคาต้นทุนเพื่อไปทำการคั่วและขายปลีก-ส่งที่นั่น กำไรที่ได้มาจะแบ่งกันคนละครึ่ง ความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ ทำให้กาแฟดอยช้างมีโอกาสเปิดตัวในตลาดต่างประเทศ และเป็นการทำธุรกิจบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรม

แม้ปัจจุบัน ธุรกิจของกาแฟดอยช้างจะเติบโตจนทำเม็ดเงินจำนวนมหาศาลให้กับประเทศได้แล้วก็ตาม แต่ที่ผ่านมา พนักงานของบริษัททุกคนทำงานแบบไม่มีเงินเดือนมาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะ การตั้งบริษัทเป็นเพียงการจดทะเบียนในนามเพื่อให้การติดต่อกับหน่วยงานภายนอกเป็นไปด้วยความสะดวกเท่านั้น แต่การทำงานที่แท้จริงของบริษัทกาแฟดอยช้าง เป็นการอาศัยแรงกายและจิตอาสาจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกผู้ผลิตกาแฟให้กับบริษัท ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของบริษัททั้งนั้น โดยหลังจากที่ดูแลไร่กาแฟของตนเรียบร้อยในแต่ละวันแล้ว ชาวบ้านจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วยงานในบริษัท และถือโอกาสเข้ามานั่งพักดื่มกาแฟ พูดคุยหยอกล้อ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันที่ซุ้มพักผ่อนของบริษัทกาแฟดอยช้าง ซึ่งจะมีกาแฟสดกลิ่นหอมเย้ายวนไว้คอยบริการให้สมาชิก ดื่มฟรีเสมอ

วิชากล่าวว่า "ชาวบ้านทั่วไปที่ปลูก กาแฟ ส่วนใหญ่ไม่เคยได้ดื่มกาแฟคุณภาพ ดีที่ตัวเองปลูกเลย มีแต่จะส่งออกหรือไม่ก็ขายให้พ่อค้าไป แต่ที่ดอยช้างนี้ เราถือว่ากาแฟเป็นของชาวบ้านเอง ทุกคนมีสิทธิเข้ามานั่งพักเหนื่อย เข้ามาดื่มมาชิมกาแฟของตัวเอง บริษัทจึงเป็นเสมือนที่พักของชาวบ้าน ทุกคนสามารถเข้ามานั่งเล่นพักผ่อนที่นี่ได้เท่าเทียมกันหมด"

ความกล้าได้กล้าเสียและกล้าที่จะฝันของวิชา เป็นตัวผลักดันให้ธุรกิจเล็กๆของชาวอีก้อแห่งนี้มองการณ์ไกล และกล้าลงทุน เครื่องจักรแต่ละตัวในบริษัท ส่วนใหญ่เป็นเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ละตัวราคากว่าสิบล้านบาท วิชาวาดหวังไว้อีกว่าต่อไปบริษัทจะต้องขยายฐานการผลิตให้ครบวงจรมากขึ้น โดยจะสร้างโกดังเก็บกาแฟเพิ่มขึ้นอีก 5 โรง รวมทั้งโรงงาน freeze and dry เพื่อรักษาคุณภาพของเมล็ดกาแฟให้เก็บได้ยาวนานขึ้น และจะซื้อที่ดินในละแวกนั้นเพิ่มเติมเพื่อนำมาสร้างโรงเรียนประจำชุมชน

นอกจากนี้วิชายังมีโครงการที่จะตั้งมูลนิธิกาแฟดอยช้าง เพื่อดูแลชาวบ้านบนดอยให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากแผนการสร้างโรงเรียนแล้ว บริษัทกาแฟดอยช้างยังมีแผนที่จะสร้างสถานพยาบาล และสาธารณูปโภคต่างๆ ให้กับชุมชน มีการตั้งทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศ มีการพาสมาชิกผู้ปลูกกาแฟดอยช้างไปดูงานในต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้แต่ละคน รวมทั้งสนับสนุนให้เด็กรุ่นใหม่เข้าร่วมประชุมในเวทีต่างๆ เพื่อฝึกความกล้าในการพูดและแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ

ทั้งนี้ 60% ของกำไรจากธุรกิจกาแฟจะนำกลับไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ส่วนอีก 30% ของกำไรจะนำเข้ามูลนิธิ และอีก 10% ที่เหลือจะนำไปจัดตั้งกองทุน กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สมาชิกผู้ปลูกกาแฟ เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่ชุมชน

แต่ความสำเร็จของกาแฟดอยช้าง ก็ทำให้บริษัทต้องเผชิญกับปัญหาการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของตนในหลายประเทศ กรณีหนึ่งคือคดีการจดเครื่องหมายการค้าดอยช้างในประเทศเกาหลี โดยนักธุรกิจเกาหลีใต้ที่ได้มาเข้าร่วมฝึกอบรมการผลิตกาแฟที่ Doichaang Coffee Academy อยู่ระยะหนึ่ง แต่กลับนำเครื่องหมายการค้าของดอยช้างไปจดเป็นชื่อธุรกิจของตัวเองในประเทศเกาหลี ซึ่งปัจจุบันบริษัทกาแฟดอยช้างกำลังยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีดังกล่าวในเกาหลี เพื่อให้ศาลถอดถอนเครื่องหมายการค้าที่นักธุรกิจชาวเกาหลีได้ยื่นจดทะเบียนไปแล้ว ปัญหาดังกล่าวทำให้บริษัทต้องยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากาแฟดอยช้างในหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน และสหรัฐอเมริกา เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตน

อีกปัญหาหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะหนักหน่วงกว่าปัญหาการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ และเป็นปัญหาที่กำลังสร้างความปวดหัวให้แก่ชาวดอยช้าง คือการยื่นขอตราประทับ สินค้าแฟร์เทรดจากองค์กร Fairtrade Labellinig Organisation: FLO ในเยอรมนี ให้กับสินค้ากาแฟประเภทต่างๆ ของตน ทั้งนี้ เพราะสินค้าแฟร์เทรดกำลังเป็นที่นิยมทั้งในยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกา) และในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหมู่คนวัยทำงาน รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา ที่หันมาสนใจในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม และความเป็นอยู่ของผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ลูกค้าของกาแฟดอยช้างในต่างประเทศไม่อาจซื้อสินค้าของดอยช้างที่ไม่มีตรา Fairtrade ของ FLO ได้ และถึงแม้ว่าดอยช้างจะได้รับการรับรองว่าเป็นสินค้าแฟร์เทรดจากบริษัท Bioagricert ของ อิตาลีแล้วก็ตาม แต่ตราแฟร์เทรดของ Bioagricert ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงไม่มีผลช่วยให้บริษัทกาแฟดอยช้างสามารถ ส่งออกสินค้าของตนได้เหมือนเดิม

ซึ่งปัญหาเรื่องแฟร์เทรดที่กาแฟดอยช้างเผชิญอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ของแฟร์เทรดกับบริษัทกาแฟดอยช้าง ทั้งระยะเวลาในการติดต่อจากแฟร์เทรดแต่ละครั้งที่ทิ้งช่วงนาน และมาตรฐานของแฟร์เทรดในเรื่องการจ้างงานที่เป็นธรรม ที่ไม่สามารถนำมาใช้กับดอยช้างได้ เพราะ บริษัทกาแฟดอยช้างไม่มีการจ้างพนักงาน และคนที่ทำงานให้แก่บริษัทก็เป็นลูกหลานในชุมชนที่อาสาเข้ามาช่วยงานของบริษัท และเป็นครอบครัวที่จำหน่ายเมล็ดกาแฟสดให้บริษัทนำมาคั่วก่อนแพ็กขาย ดังนั้นแต่ละคนจึงไม่มีเงินเดือน และไม่มีชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน แต่ผลตอบ แทนที่แต่ละคนจะได้รับคือการเติบโตของบริษัท ซึ่งจะผันแปรมาเป็นผลกำไรให้แก่สมาชิกกาแฟดอยช้างทุกคน ในรูปแบบของราคารับซื้อกาแฟที่สูงขึ้นในที่สุด

วิชากล่าวว่า "บริษัทกาแฟดอยช้าง เป็นเพียงสิ่งที่พวกเราอุปโลกน์ขึ้นมา เพื่อช่วยให้เราติดต่อทางธุรกิจกับโลกภายนอกได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ทุกคนไม่มีเงินเดือน แม้แต่ผมซึ่งเป็นประธานบริษัทก็ไม่มี พวกเรามาช่วยกันทำงานด้วยใจ เพื่อพัฒนาชุมชนของเราและกาแฟของเราให้ดี ยิ่งๆ ขึ้นไป ก็เท่านั้น"

ระบบการทำงานดังกล่าวของดอยช้าง อาจเป็นสิ่งที่องค์กรแฟร์เทรดยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้ เนื่องจากไม่ตรง ตามมาตรฐานที่ทางแฟร์เทรดตั้งไว้ ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานของแฟร์เทรดคือ การจ้างงานอย่างเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนงานในระดับที่ยุติธรรม การมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ที่ไม่นานจนเกินไปและไม่เกินกว่าจำนวนชั่วโมง ที่ทางองค์กรแฟร์เทรดกำหนดไว้ รวมทั้ง การมีสวัสดิการที่ดีพอให้แก่คนงาน แต่มาตรฐานดังกล่าวอาจไม่สามารถใช้ได้ในกรณีของกาแฟดอยช้างที่มีระบบการทำงาน ของตนเองที่แตกต่างไปจากระบบทั่วไป

วิชากล่าวเสริมว่า "แฟร์เทรดมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ผลิตที่ยังอ่อนแอและถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง แต่สำหรับชุมชนที่เข้มแข็งและมีระบบการจัดการธุรกิจของชุมชนที่ดีอย่างกาแฟดอยช้างแล้ว มาตรฐานของแฟร์เทรดอาจนำมาใช้ตัดสินเราได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่เรากำลังทำ ได้ไปไกลกว่ามาตรฐานแฟร์เทรดเยอะแล้ว" แต่ถึงกระนั้น กาแฟดอยช้างยังคงต้องพยายามสมัครขอรับตราประทับจากองค์กร Fairtrade Labellinig Organisation หรือ FLO ต่อไป เพราะหากไม่ได้รับการรับรองจาก FLO แล้ว โอกาสในการส่งออกกาแฟประเภท specialty coffee ไปยังต่างประเทศในปัจจุบันนั้น แทบจะเป็นศูนย์

ความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างชาวอาข่าในหมู่บ้านภูหวานในแขวงหลวงน้ำทาของ สปป.ลาว กับพี่น้องชาวอาข่าหรืออีก้อในหมู่บ้านดอยช้างของไทยนั้น เป็นเครื่องบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าชาวดอยช้างได้เดินมาถูกทาง และได้ก้าวมาไกลเพียงใดแล้ว

หมี่ก๊าสาวชาวอีก้อผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคนหนึ่งของบริษัทกาแฟดอยช้าง กล่าวว่าแม้ปัจจุบันตนและพี่น้องอีก้อส่วนใหญ่ในดอยช้างจะไม่สวมใส่ชุดประจำเผ่าแล้วก็ตาม แต่ทุกคนยังคงรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวอีก้อไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม นอกจากนี้กิจกรรมคืนกำไรสู่สังคมอีกกิจกรรมหนึ่งของกาแฟดอยช้าง ก็คือการจัดประชุมชาวอีก้อจากหลากหลายชุมชน รวมทั้งชาวอีก้อในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ และสปป.ลาว เพื่อสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมอีก้อที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นและภูมิประเทศ

กาแฟดอยช้างถือเป็นตัวอย่างและเกียรติประวัติของชาวเขากลุ่มเล็กๆ ที่ต่อสู้กับระบบการเมืองและอคติทางสังคมที่มีต่อชุมชนชาวเขาของตนได้เป็นผลสำเร็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวดอยช้าง สมกับคำว่า "อีโก้" หรือชื่อผลิตภัณฑ์กาแฟอีกยี่ห้อหนึ่งของตน   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us