|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อกล่าวถึงเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ (North-South Economic Corridor) ที่เชื่อมต่อไทย ลาว และจีนตอนใต้เข้าด้วยกัน หรือเส้นทาง R3a นั้น หลายคนมักนึกถึงเมืองหน้าด่านตามจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชียงของในไทย ห้วยทรายในลาว และยาวไปจนถึงเมืองบ่อหานติดกับชายแดนจีน
บนเส้นทาง R3a นี้ ยังมีอีกแขวงหนึ่งที่อยู่กั้นกลางระหว่างเส้นทาง ซึ่งคนทั่วไปให้ความสำคัญน้อยมาก
หลวงน้ำทา เป็นทั้งชื่อแขวงและชื่อเมือง เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวแบกเป้กันมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่รัฐบาล สปป. ลาวเข้าร่วมโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศขององค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ. 1999 ด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์และองค์กร International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นแขนขาของธนาคารโลก (World Bank)
ปัจจุบันเสน่ห์ของหลวงน้ำทายังคงไม่จางหาย ไม่ว่าจะเป็นความเงียบสงบของเมืองเล็กๆ ที่ผู้คนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยพลุกพล่านและธรรมชาติแห่งขุนเขาที่ห่างจากตัวเมืองไปเพียงไม่กี่สิบกิโล
ผู้เขียนตั้งใจแน่วแน่ที่จะแบกเป้เดินป่าขึ้นเขาไปเยี่ยมชมธรรมชาติของหลวงน้ำทา หลังจากได้อ่านรายงานเรื่องโครงการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติของหลวงน้ำทาขององค์การยูเนสโก
โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 1999 มีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ทรัพยากรธรรมชาติของหลวงน้ำทาให้เป็นประโยชน์ โดยพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ชุมชนในละแวกนั้นได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย หรือที่เรียกว่า community-based eco-tourism โดยโครงการดังกล่าวสนับสนุนการพัฒนาคนในท้องถิ่นให้เป็นไกด์นำเที่ยว นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ยังได้รับการดูแลจากคนในท้องถิ่นด้วยข้อตกลงที่ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวจะได้รับการแบ่งสรรระหว่างรัฐกับชุมชน แต่ชุมชนจะต้องช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้คงสภาพเดิม
ซึ่งวัตถุประสงค์ดังกล่าวของโครงการ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ปี 2006-2020 ที่ต้องการพัฒนาให้ลาวเป็น "แหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่มุ่งเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน...อันเป็นประโยชน์ต่อการรักษาไว้ซึ่งธรรมชาติ ประเพณีและมรดกของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนท้องถิ่น และทำให้โลกรู้จักถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศลาว"
นับเป็นจุดยืนของลาวที่น่าชื่นชม เน้นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ผิดกับนโยบายการท่องเที่ยวของไทยและกัมพูชาที่นับวันจะเจริญรอยตามไทยมากขึ้นทุกวัน โดยทั้งสองเน้นการลงทุนขนาดใหญ่ในธุรกิจท่องเที่ยว สร้างสาธารณูปโภคเพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งจะปลุกจิตสำนึกของคนในประเทศ ให้หันมาดูแลรักษาวัฒนธรรมและธรรมชาติในประเทศของตน
การไปหลวงน้ำทาครั้งนี้ ผู้เขียนเลือกทริปเดินป่าขึ้นเขาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านภูหวาน ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาด 500 หลังคาเรือนของชาวอาข่า หรืออีก้อ ซึ่งอาศัยอยู่บนยอดดอย และตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำหา (Nam Ha) อันเป็นชื่อของแม่น้ำหาที่ไหลผ่านแขวงหลวงน้ำทานี้
"ท้าวคุมแสง" (ท้าว ในภาษาลาวคือ "นาย") ไกด์หนุ่มวัย 24 ปีของผู้เขียน เป็นชาวเผ่าไทลื้อและสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เขาเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 2-3 ปีก่อนเขาสอบชิงทุนไปเรียนด้านวิศวกรรมที่นครหลวงเวียงจันทน์ได้ แต่ทางบ้านไม่มีเงินส่งเสียค่าอยู่ค่ากินในเมืองหลวงให้แก่เขา เนื่องจากเงินทุกบาททุกสตางค์ของครอบครัว ได้ส่งให้น้องสาวอีกคนซึ่งชิงทุนไปเรียนพยาบาลที่เวียงจันทน์ได้เช่นกัน เขาจึงต้องเสียสละอยู่ที่บ้านแทน และสมัครเรียนเป็นมัคคุเทศก์ในวิทยาลัยแถวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เรียนแต่ภาษาอังกฤษ น่าแปลกใจที่เวลาเพียง 2 ปีจะทำให้เขาสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้คล่องขนาดนี้
"ท้าวคุมแสง" ก็แปลกใจที่เห็นลูกทัวร์เป็นคนไทย เขาบอกว่าตั้งแต่ทำงานเป็นไกด์มา เพิ่งเห็นคนไทยมาซื้อทัวร์เดินป่าที่นี่เป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะคนไทยไม่ชอบเที่ยวแบบลำบาก หรือไม่ก็เป็นเพราะคนไทยมักคิดว่าสภาพภูมิประเทศของลาวกับไทยก็เหมือนๆ กัน แล้วจะซื้อทัวร์มาเดินป่าที่หลวงน้ำทาไปทำไม
แม้หลวงน้ำทาจะโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแต่กลับขาดแคลนไกด์ ในตัวเมืองมีบริษัททัวร์อยู่ 4-5 ราย ทั้งที่เป็นกิจการของเอกชน และนำเสนอทัวร์เดินป่าราคาแพง แต่บริการเป็นเลิศอย่าง Green Discovery รวมทั้งบริษัททัวร์ของรัฐซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการ Eco-tourism ขององค์การยูเนสโก สำหรับบริษัทของรัฐนั้น เจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิศหน้าตาบึ้งตึงไม่ค่อยรับแขก และไม่ยินดียินร้ายที่จะให้ข้อมูลหรือขายทัวร์ให้แก่นักท่องเที่ยว ทุกบริษัทนำเสนอโปรแกรมคล้ายๆ กัน คือเดินป่า ปั่นจักรยานวิบากขึ้นเขา พายเรือคายัก หรือล่องแพยาง และทุกที่จะอาศัยไกด์กลุ่มเดียวกัน ด้วยเหตุที่ไกด์ขาดแคลน ไกด์ของผู้เขียนจึงต้องเดินขึ้นลงดอยที่มีความสูงกว่า 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล เกือบทุกวัน โดยเดินวันละ 5-6 ชั่วโมง และหากเป็นทริปที่โหดหน่อยก็จะต้องเดินถึง 8-9 ชั่วโมงต่อวัน โดยไกด์จะรับงานจากทุกบริษัททัวร์ในเมือง
สิ่งที่แปลกตาแปลกใจสำหรับผู้เขียน คือภูเขาอันกว้างใหญ่ที่ยังคงเขียวชอุ่มอยู่ทั่วไปในหลวงน้ำทา แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า โครงการปลูกยางของรัฐบาลจีนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ กำลังจะค่อยๆกลืนภูเขาหลายต่อหลายลูกที่เขียวขจี รวมทั้งพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ดินปลูกข้าวของชาวอาข่าและชาวเขากลุ่มอื่นในละแวกนั้นให้กลายเป็นภูเขาหัวโกร๋นไปพอสมควรแล้วก็ตาม ตามนโยบายการเคลียร์พื้นที่ป่า ให้เป็นพื้นที่ปลูกยาง ป้ายปักในตัวเมืองหลวงน้ำทาเขียนไว้ว่าโครงการปลูกยางในละแวกนี้เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับ สปป.ลาวที่ต้องการปลูกต้นยางแทนฝิ่น ไกด์ของผู้เขียนเล่าว่า ทุกเดือนจะมีรถบรรทุกจากจีนมารอรับน้ำยางที่เก็บได้ เพื่อขนส่งไปประเทศจีนต่อไป โดยจีนจะแบ่งรายได้จากการปลูกยางให้กับชาวเขาในพื้นที่ ในอัตราส่วนประมาณ 40 (ชาวเขา) : 60 (จีน)
ข่าวจากหนังสือพิมพ์ Asia Times เมื่อปี 2550 กล่าวว่า การส่งออกยางกำลังจะกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของลาว โดยมีการปลูกยางกันอยู่ทุกแขวงของประเทศ ยกเว้นแขวงหัวพันในภาคอีสาน และเชียงขวางในภาคใต้เท่านั้นที่ไม่ได้ปลูก และส่วนใหญ่เป็นการปลูกเพื่อส่งออกไปจีน มีการคาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ.2020 จีนจะเป็นประเทศที่มีปริมาณการใช้ยางถึง 30% ของปริมาณการผลิตยางทั่วโลก โดยตามหลังสหรัฐฯ และยางส่วนใหญ่ก็ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่รุ่งโรจน์ในจีนเมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในลาวมากที่สุด แซงหน้าไทยและเวียดนาม และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านธุรกิจการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสวนยาง
ชาวเขาก็ยินดีที่จะหันไปปลูกยาง เพราะรายได้ที่สูงกว่าการปลูกข้าวมาก "ท้าวคุมแสง" ไกด์ของผู้เขียนเล่าว่าชาวเขาขายน้ำยางได้ในราคา 10,000 กีบต่อกิโลกรัม เทียบกับราคาข้าวที่ตกอยู่ที่ประมาณเพียง 2,000 กีบต่อกิโลเท่านั้น ข่าวจาก Asia Times รายงานอีกว่า แม้ผลผลิตของยางอาจไม่สูงเท่ากับข้าว คือพื้นที่ 1 เฮกตาร์ ได้น้ำยางประมาณ 1,360 กิโลกรัม เทียบกับข้าวซึ่งอยู่ที่ 1,500 กิโลกรัม แต่ราคายางที่สูงกว่าข้าวอย่างเทียบไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านมีกำไรจากการปลูกยางถึง 880 ดอลลาร์สหรัฐเทียบกับ ข้าวซึ่งให้กำไรเพียง 146 ดอลลาร์เท่านั้น สามารถทำรายได้ให้ชาวบ้านได้มากกว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเสียอีก
ก่อนเริ่มเดินขึ้นเขาไปเยี่ยมชมบ้านภูหวานบนยอดดอยนั้น เราแวะรับผู้ช่วยไกด์ อีกรายจากหมู่บ้านเจริญสุข ซึ่งเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ที่อยู่ในโครงการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน้ำหา ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) จากการสังเกตการณ์เบื้องต้น ผู้เขียนเห็นถึงอานิสงส์จากการเข้าร่วมโครงการ Eco-Tourism ที่มีต่อหมู่บ้านแห่งนี้ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่ริมถนนใหญ่ สะดวกต่อการเดินทางและอยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงน้ำทาเพียง 20 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีทั้งสถานพยาบาลเล็กๆ และโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ชาวบ้านดูมีความเป็นอยู่ที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายได้ที่หมู่บ้านได้รับจากการที่นักท่องเที่ยวแวะจอดที่หมู่บ้าน และค่าโฮมสเตย์ นอกจากนี้หนุ่มๆ ในหมู่บ้านหลายคนยังมีรายได้เพิ่มจากการเป็นผู้ช่วยไกด์ ขนข้าวปลาอาหารขึ้นเขาไปพร้อมกับคณะเดินป่า นับเป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ตกถึงรากหญ้าอย่างแท้จริง
ต้องยอมรับว่าหลวงน้ำทาเป็นการท่องเที่ยวที่รักษาธรรมชาติอย่างแท้จริง ไกด์ทุกคนจะถูกปลูกฝังให้รักษาธรรมชาติ และคอยเตือนไม่ให้นักท่องเที่ยวทิ้งขยะระหว่างเดินป่า ขวดน้ำที่ดื่มหมดแล้ว จะต้องเก็บไว้กับตัวเพื่อนำลงมาทิ้งในเมืองทีหลัง หรือแม้กระทั่งการใช้ใบไม้ขนาดใหญ่และใบตองสดๆ ที่หาได้ระหว่างทาง แทนจานข้าวสำหรับมื้อกลางวันของเรา โดยที่ไม่มีช้อนส้อมให้ แต่ให้นักท่องเที่ยวใช้มือเปิบข้าวเหนียวจิ้มแจ่วหมากเลน (แจ่วมะเขือเทศตำกับกระเทียม พริกและเกลือ) แจ่วหวาย (แจ่วที่ทำจากต้นหวาย ตำกับกระเทียมและเกลือเช่นกัน) แจ่วดอกกล้วย และเนื้อผัดซีอิ๊วที่ซื้อหามาจากตลาด กินกันเองอย่างเอร็ดอร่อย เมื่อรับประทานเสร็จก็สามารถโยน "จานข้าว" นั้นทิ้งไปในป่า เพื่อเป็นอาหารให้สัตว์ต่างๆต่อไป โดยไม่เปลืองน้ำล้างจานหรือทิ้งขยะ ย่อยสลายยากไว้เบื้องหลัง
หลังจากเดินป่ามาประมาณ 6 ชั่วโมง ท้าวคุมแสงพาผู้เขียนมาถึงหมู่บ้านภูหวานในที่สุด ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวอาข่า ชาวบ้านที่นี่ยังคงดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงไก่ หมู และแพะ รวมทั้งปลูกข้าวบนดอยเป็นอาหาร สิ่งที่น่าสนใจคือ หมู่บ้านกว่า 500 หลังคาเรือนของชาวอาข่าแห่งนี้มีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดเล็ก ติดบนหลังคาบ้านเกือบจะทุกหลัง แม้จะมีกำลังพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้สำหรับหลอดไฟเพียง 1 ดวงในบ้านเท่านั้นก็ตาม เมื่อถามไกด์ก็ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลลาวเป็นผู้สร้างให้ รวมทั้งการสร้างระบบน้ำประปาให้กับหมู่บ้านโดยสร้างคันโยกปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำที่เก็บกักไว้ที่ใดที่หนึ่ง ตั้งไว้อยู่ใจกลางหมู่บ้านให้ชาวบ้านมาอาบน้ำ ซักผ้า ล้างผักกันที่นี่ ช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องเดินลงจาก ดอยไปหาบน้ำมาคนละ 3-4 เที่ยวทุกวัน (โดยหน้าที่หาบน้ำตกเป็นของผู้หญิง)
การสร้างสาธารณูปโภคให้นั้น ก็เพราะรัฐบาลลาวต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในละแวกนี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวมักตั้งใจ มาดูวัฒนธรรมของชนเผ่า รัฐจึง (บังคับกลายๆ) ให้ชาวบ้านปักหลักปักฐาน และห้ามย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ ปัจจุบัน ชาวอาข่าที่หมู่บ้านภูหวาน และอีกหลายหมู่บ้านในเขตหลวงน้ำทา จึงเลิกราที่จะย้ายถิ่น โดยต้องอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก
บ้านภูหวานจัดเรือนไม้ไผ่ขนาดใหญ่ไว้เป็นที่พักแรมสำหรับนักท่องเที่ยว โดยไกด์จะจ่ายเงินส่วนหนึ่งจากค่านำเที่ยวที่เก็บมาจากนักท่องเที่ยวแล้ว ให้แก่หัวหน้าหมู่บ้าน นอกจากนี้หลังอาหารเย็น สาวๆจากในหมู่บ้านจะเข้ามาบริการนวดแผนโบราณให้แก่นักท่องเที่ยวถึงในเรือนพัก และจะได้รับค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆจากไกด์เมื่อนวดเสร็จ
ผู้เฒ่าประจำหมู่บ้าน ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าหมู่บ้านมาถึง 3 สมัยกล่าวว่า ปัจจุบันชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นกว่าเดิมมาก จากแต่ก่อนที่ต้องเดินขึ้นลงเขาเกือบทุกวัน วันละหลายครั้ง เพื่อไปหาบน้ำหรือหาของป่ามาเป็นอาหารเนื่อง จากชาวบ้านไม่มีรายได้ทางอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องหามคนป่วยขึ้นแคร่ลงเขาเพื่อพาไปโรงพยาบาลในเมือง ซึ่งใช้เวลาเป็นวันๆ กว่าจะถึง เนื่องจากไม่มีถนนตัดผ่านหมู่บ้าน แต่หลังจากที่รัฐบาลตัดถนนขึ้นเขาเพื่อเป็นเส้นทางสัญจรให้แก่ชาวบ้านแล้ว การเดินทางก็ไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน
นอกจากนี้ภายในหมู่บ้านยังมีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ซึ่งทางการของลาวได้ส่งครูจากในเมืองมาสอนเด็กๆ ถึงบนยอดดอยประมาณ 2 คน แต่โรงเรียนดังกล่าวสอนถึงระดับประถม 2 เท่านั้น ผู้เฒ่าบอกว่าในปีต่อๆ ไปคงจะสามารถเพิ่มการสอนได้หลายระดับมากขึ้นทุกปี หนึ่งในวิชาที่เปิดสอนคือภาษาลาว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ในหมู่บ้านยังคงพูดภาษาลาว ไม่ได้การสอนภาษาลาวจึงถือเป็นนโยบายของรัฐที่สำคัญ เพราะเป็นการรวมชนกลุ่มน้อยในประเทศลาวที่มีมากกว่า 47 ชนเผ่า ไว้ด้วยกัน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาทางการเมือง จากการแตกแยกของชนเผ่าภายในประเทศมากขึ้น
แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่ชาวเขากำลังเผชิญคือ การเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เมื่อชาวบ้านเริ่มเดินทางลงจากเขา หรือย้ายถิ่นฐานไปตั้งรกรากอยู่ในที่ลุ่มเชิงเขา ซึ่งมีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมากกว่า หรือในเมืองที่มีโอกาสทางการค้าและการทำมาหาเลี้ยงชีพมากกว่าชีวิตบนดอย การเจ็บป่วยดังกล่าว ผู้เฒ่าเล่าว่า เป็นเพราะบนยอดดอยที่สูงกว่า 1,200 เมตร นั้น ไม่มียุงและแมลงต่างๆ อันเป็นพาหะนำโรค ต่างจากพื้นที่ข้างล่างที่ยุงและแมลงชุมนัก ดังนั้น ชาวอาข่าและชาวเขาเผ่าอื่นๆ หลายรายที่ย้ายจากดอยลงไปใช้ชีวิตอยู่ข้างล่าง ต้องเสียชีวิตลงเพราะโรคภัยต่างๆ ที่ตนไม่คุ้นเคยมาก่อน
แต่โรคภัยเหล่านี้กลับไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับหนุ่มสาวชาวอาข่ารุ่นใหม่ที่ต้องการใช้ชีวิตอยู่ในเมือง เพราะโอกาสในการดำรงชีวิตที่มากกว่าบนดอย ปัญหาการย้ายถิ่นฐานลงจากดอยของชาวอาข่านี้ กำลังเป็นปัญหาสำคัญของชนเผ่า ไม่เฉพาะในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติน้ำหาแห่งนี้ แต่ในอีกหลายเมืองของแขวงหลวงน้ำทา รวมทั้งเมืองสิง ซึ่งห่างจากตัวเมืองหลวงน้ำทาไปประมาณ 2 ชั่วโมง ก็กำลังประสบกับปัญหาชาวอาข่าอพยพลงจากดอยกันทั้งหมู่บ้าน เพราะความจนและการขาดโอกาสในการยังชีพ ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่าวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวอาข่ากำลังจะหมดไป หากไม่มีใครทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสในการดำรงชีวิตได้มากกว่าปัจจุบัน
แม้จะมีโครงการ Eco-Tourism ในแขวงหลวงน้ำทา มาช่วยสร้างรายได้เสริมให้ชาวบ้านแล้วก็ตาม
|
|
|
|
|