"น้ำเมย หรือแม่น้ำต่องยิน" นอกจากจะเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างชายแดนตะวันออกของพม่ากับแนวชายแดนตะวันตกของไทย ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีความยาว 327 กม. มีต้นน้ำอยู่ที่บ้านมอเกอ ต.พบพระ อ.พบพระ และไหลย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือ ผ่าน อ.ท่าสองยาง ไปถึงแม่ฮ่องสอน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินแล้ว
แม่น้ำสายนี้ยังเป็นช่องทางผ่านของสินค้าเข้า-ออกระหว่าง ไทยกับพม่าที่มีมูลค่าสูงกว่า 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปี ผ่านกระบวนการขนส่งลำเลียงแบบดั้งเดิมที่ทั้งใช้คนขนข้าม เรือเล็ก หรือแม้แต่ยางในรถยนต์ขนาดใหญ่ที่เพียงแค่ใช้ไม้กระดานพาดทับ ก็สามารถบรรทุกของถ่อข้ามน้ำเมยได้ แทบจะไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีใดๆ เข้ามาช่วย
โดยบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเมยทั้งทางด้านเหนือ-ใต้ สะพานมิตรภาพไทย-พม่าฯ ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.ของทุกวัน จะคลาคล่ำไปด้วยกรรมกรชาวพม่า ทำหน้าที่คอยแบกและขนสินค้า จากฝั่งไทยลงเรือไปพม่า หรือจากพม่าลงเรือข้ามมาส่งให้กับผู้ซื้อในฝั่งไทยต่อเนื่องไม่มีหยุด
รวมถึงบางครั้งหลัง 18.00 น.ไปแล้ว ก็อาจจะมีกองทัพมดคอยขนสินค้าข้ามฝั่งเกิดขึ้นได้เช่นกัน
เฉพาะฝั่งไทย การขนสินค้าเข้าออกจะขนผ่าน 19 ท่าข้าม ที่ได้รับอนุมัติเป็นคลังสินค้าชั่วคราวตามกฎหมายศุลกากร (ดูแผนผังคลังสินค้า-ท่าข้ามริมแม่น้ำเมยประกอบ) ซึ่งเป็นการขนสารพัดสินค้าที่ผ่านพิธีการทางศุลกากรของไทยแล้ว แต่บางประเภท ก็จำเป็นต้องขนส่งผ่านท่าข้าม เพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีของพม่า ที่ตั้งไว้สูงลิบเพราะระบุไว้เป็นสินค้าห้ามนำเข้า
โดยเฉพาะสินค้า 15 รายการที่กระทรวงพาณิชย์พม่าประกาศห้ามนำเข้าตามประกาศฉบับที่ 9/99 คือ
ผงชูรส, น้ำหวาน เครื่องดื่ม, ขนมปังกรอบทุกชนิด, หมากฝรั่ง, ขนมเค้ก, ขนมเวเฟอร์, ช็อกโกแลต, อาหารกระป๋อง, เส้นหมี่ทุกชนิด, เหล้า, บุหรี่, เบียร์, ผลไม้สดทุกชนิด, ผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งที่ใช้ในครัวเรือนและใช้ส่วนตัวทุกชนิด รวมถึงสินค้าควบคุมการนำเข้าโดยกฎหมายที่มีอยู่แล้ว
บางประเภทตั้งกำแพงภาษีสูงกว่า 80% หรือเกิน 100%
นอกจากนี้ยังเป็นการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดของพม่า ที่อนุมัติให้นำเข้าสินค้าตามมูลค่าที่ส่งออกเท่านั้น ซึ่งแม้ในระยะนี้จะผ่อนคลายกฎระเบียบผ่านช่องทางกำหนดพิกัดภาษี ด้วยการกำหนดให้เสียภาษี 2 ระดับ คือสินค้านำเข้าตามมูลค่า ส่งออกที่ให้เสียภาษีในระดับต่ำกับสินค้านำเข้าที่ไม่มีการส่งออก ให้เสียภาษีสูงก็ตาม กอปรกับสะพานมิตรภาพไทย-พม่าฯ ยังมีปัญหาการห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่ง เนื่องจากตัวสะพานชำรุดอีกด้วย
ทำให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งสินค้าผ่านท่าข้ามต่างๆ มากขึ้น โดยมีท่าข้ามริมแม่น้ำเมยฝั่งพม่า ที่ชนกลุ่มน้อยในพม่าดูแลอยู่ ได้แก่ กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ที่แยกตัวออกมาจากกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU) รองรับก่อนลำเลียงขึ้นรถบรรทุกส่งต่อเข้าพื้นที่ชั้นในของพม่าต่อไป
เป็นผลให้แม่น้ำเมยมีชีวิตตลอด 24 ชั่วโมง
|