ชุมทางการค้า เส้นทางแห่งการสงครามในอดีตอย่าง "เมียวดี" ณ วันนี้ กำลังถูกจับแต่งให้เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญในเชิงยุทธศาสตร์สำหรับชายแดนตะวันออกของพม่ากับแนวรบด้านตะวันตกของไทย รวมถึงอาเซียน แน่นอน! การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ย่อมมีผลต่อไทยไม่น้อย
"Myawadi; เมียวดี" ถือเป็นเมืองสุดชายแดนตะวันออกของพม่า ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเมย หรือที่พม่าเรียกว่า แม่น้ำต่องยิน อยู่ในเขตรัฐกะเหรี่ยง ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนหน้านี้ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยงสูงด้านความมั่นคง เนื่องจากชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงคริสต์ (KNU) ของนายพลโบเมี๊ยะทรงอิทธิพลอยู่
แต่วันนี้เมียวดีเปลี่ยนไปแล้ว
ความเป็นเมืองชุมทางการค้า ช่องทางการถ่ายเททางวัฒนธรรม รวมถึงเส้นทางแห่งการสงครามในอดีต กำลังจะเปล่ง รัศมีเพิ่มขึ้นทุกขณะ
ด้วยภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูด่านแรกด้านตะวันออกสำหรับการค้าของพม่า ที่มีเส้นทางเชื่อมโยงไปถึงมะละแหม่ง ที่อังกฤษพัฒนาให้เป็นเมืองท่าสำคัญทางทะเลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2359 (ค.ศ.1852) ในยุคล่าอาณานิคมฯ และต่อมาสาธารณรัฐประชาชน (สป.) จีน ได้เข้ามาให้การช่วยเหลือในการสร้างสะพาน-เส้นทางรถไฟรองรับ ตลอดจนเมียวดียังเป็นจุดเชื่อมต่อของพม่าเข้ากับ "ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก" หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) ที่เชื่อมโยงออกสู่ท่าเรือดานัง ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 พิเศษ และเส้นทางหมายเลข 9 (อ่านเรื่อง "East-West Corridor ประตูฝั่งตะวันตกที่รอการเปิด" นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2551 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ขณะนี้รัฐบาลพม่ากำลังเร่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี (Myawadi Border Trade Zone) ขึ้นมา เพิ่มขีดความสามารถของเมืองหน้าด่านชายแดนตะวันออกแห่งนี้อีกทางหนึ่ง
โดยใช้พื้นที่บริเวณ 2 ฝั่งถนนเมียวดี-กอกะเร็ก-ย่างกุ้ง เนื้อที่รวมประมาณ 600-700 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,500-1,750 ไร่ ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี ซึ่งอยู่ลึกจากริมฝั่งแม่น้ำเมย เข้าไปประมาณ 11.5 กม. ผ่านตลาดเมียวดี ไปตามเส้นทางถนนลาดยาง 2 เลน ที่รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือด้านงบประมาณ แบบให้เปล่าในการปรับปรุงช่วงแรก 17.35 กม.วงเงิน 119 ล้านบาท ก็จะเข้าสู่ "เขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี" (Myawadi Border Trade Zone)
เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างพม่ากับไทย และจัดระเบียบการค้าให้เป็นไปตามหลักสากลเพื่อสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลพม่า ตลอดจนเป็นการรองรับการขยายตัวของเส้นทาง เศรษฐกิจ EWEC
ติ่นตินเมี๊ยะ หรือที่เรียกขานกันว่า "มะติ่นติน" (แปลว่าพี่ติ่นติน) ประธานหอการค้าเมียวดี ซึ่งเป็นนักธุรกิจชั้นแนวหน้าของเมียวดี ที่มีกิจการทั้งนำเข้า-ส่งออก และขนส่ง ฯลฯ บอกกับคณะกรรมการ เพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ที่ยกทีมนักธุรกิจภาคเหนือเข้าไปสำรวจพื้นที่การค้า การลงทุน ผ่าน "ปณิธิ ตั้งผาติ" ที่ปรึกษา หอการค้าตาก ซึ่งทำหน้าที่ล่ามกิตติมศักดิ์ ว่า เขตเศรษฐกิจเมียวดีเป็นเขตเศรษฐกิจชายแดนแห่งที่ 2 ของพม่าที่เปิดขึ้น หลังจากที่เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ ชายแดน พม่า-จีน เมื่อปี 2549 คู่กับเขตเศรษฐกิจชายแดนเจียก้าว เมืองรุ่ยลี่ เขตปกครองตนเองชนชาติไต-จิงโพ่ แห่งเต๋อหง มณฑล หยุนหนัน สป.จีน
ซึ่งรัฐบาลพม่าได้ให้สัมปทาน 5 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ของพม่าเข้ามาลงทุนในระยะเวลา 30 ปี ประกอบด้วยบริษัท Asia Wealth, บริษัท Eden Construction, บริษัท Ngwe Sin Construction, บริษัท Shwe Nagar Min Construction และบริษัท Lah Construction
โดยบริษัท Asia Wealth ได้รับสัมปทานก่อสร้างอาคารของส่วนราชการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจฯ ทั้งหมด, Eden Construction ได้สัมปทานก่อสร้างอาคารพาณิชย์ คลังสินค้านำเข้า-ส่งออก, Ngwe Sin Construction รับสัมปทานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย, Hall แสดงสินค้า โรงแรม ห้องเย็น คลังสินค้าบางส่วน และ Shwe Nagar Min Construction รับสัมปทานก่อสร้างที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับบริษัท Lah Construction
"ทั้งหมดนี้จะเป็นเขตปลอดภาษี รวมเนื้อที่ 466 เอเคอร์ หรือ 1,165 ไร่ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาดูพื้นที่และสนใจที่จะเข้ามาลงทุนมาก ส่วนอาคารพาณิชย์ที่เห็นเกือบทั้งหมด มีการจับจองเกือบทุกยูนิตแล้วเช่นกัน ในราคาประมาณ 1 ล้านบาทเศษต่อยูนิต"
Myawadi Border Trade Zone เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 2 ของพม่า รองจากเขตเศรษฐกิจพิเศษมูเซ (ชายแดนพม่า-จีน) ที่รัฐบาลพม่าตั้งขึ้นมารองรับเขตเศรษฐกิจเจียก้าวของมณฑลหยุนหนัน สป.จีน (อ่านเรื่อง "เต๋อหง ช่องทางสินค้าจีนที่ไทยไม่อาจมองข้าม" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
นอกจากนี้พม่ายังเปิดเขตเศรษฐกิจ เมืองทะวิน ติดชายแดนบังกลาเทศ และเขตเศรษฐกิจชายแดนทามูติดกับชายแดนอินเดียอีก 2 แห่งด้วย
ภายในพื้นที่โครงการจะมีศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออกครบวงจร (One Stop Service) รวมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งตรวจคนเข้าเมือง, ศุลกากร, ตำรวจ และพาณิชย์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยนำรูปแบบการ ทำงานของเขตการค้ามูเซที่ใช้เขตเศรษฐกิจ พิเศษของจีนเป็นต้นแบบ มีการก่อสร้างอาคาร 2 ข้าง ให้รองรับสินค้าขาออกและ ขาเข้าได้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนมีระบบกล้องวงจรปิดออนไลน์ให้ง่ายต่อการตรวจสอบของรัฐบาลพม่าด้วย
หลังจากเขตเศรษฐกิจฯ เมียวดีเปิดใช้อย่างเป็นทางการ สินค้านำเข้า-ส่งออกผ่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดีจะต้องเข้าสู่ระบบทั้งหมด
แผนงานต่อไปยังจะมีการก่อสร้างคลังสินค้าหลายแห่ง, โรงแรมระดับ 5 ดาว 2 แห่งและศูนย์แสดงสินค้าในบริเวณเดียวกัน หลังจากนั้นจะเตรียมเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมเบา
โดยคาดหมายกันว่า เขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะทำให้ยอดการค้าผ่านพรมแดนเมียวดี เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากที่ผ่านมาตัวเลขในมือของทางการพม่า มียอดการค้าเพียง 150 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือประมาณปีละ 5,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น
ซึ่งแตกต่างจากยอดการค้าที่ปรากฏ ในระบบฐานข้อมูลของรัฐบาลไทย
พงศ์เทพ บัวทรัพย์ นายด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก บอกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2552) การค้าชายแดนโดยเฉพาะสินค้าส่งออกจากไทยไปพม่ามีมูลค่ามากกว่าเดือนละ 1,400-1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20-30% จากเดิมที่เคยมีการค้าเฉลี่ยประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาทต่อเดือน คาดว่าในปี 2552 จะมียอดการค้ามากกว่า 20,000 ล้านบาท อันจะเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์
"ยอดสินค้าหลายรายการเพิ่มขึ้นทั้งวัสดุก่อสร้าง-น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมียอดสั่งเพิ่มขึ้นกว่าวันละ 2-3 ล้านลิตร รวมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคและอุปกรณ์การเกษตร ฯลฯ"
แสดงให้เห็นว่าพม่ากำลังมีการพัฒนาประเทศในทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังมีการสั่งนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่นทั้งรถยนต์ส่วนตัว ทั้งรถเก๋ง รถปิกอัพ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ และรถทัวร์โดยสารจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและระบบโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในกรณีถนนจากเมียวดี-กอกะเร็ก-มะละแหม่ง-ท่าตอน-พะอัน-ย่างกุ้ง ที่เพิ่งได้รับการพัฒนาช่วงแรก 18 กม. จากการช่วยเหลือของรัฐบาลไทย วงเงิน 119 ล้านบาทนั้น ล่าสุดคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เตรียมที่จะให้ความช่วยเหลือพัฒนาถนนช่วงที่ 2 จากเชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก ที่ตามแนวเส้นทางเดิมมีระยะทาง 42 กม. แต่กรมทางหลวงได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนสำรวจใหม่ สามารถร่นระยะทางให้เหลือเพียง 27 กม. ใช้งบประมาณราว 800 กว่า ล้านบาท และได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมานี้เอง
หากการพัฒนาเส้นทางช่วงนี้แล้วเสร็จก็จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าจากชายแดนแม่สอด-เมียวดีถึงกรุงย่างกุ้ง ระยะทางประมาณ 400 กว่า กม. จากเดิมที่ใช้เวลามากกว่า 1 วัน เหลือเพียง 4-5 ชั่วโมงได้ เพราะจากกอกะเร็ก- พะอัน-ท่าตอน-ย่างกุ้ง มีถนนคอนกรีตเดิม ที่พร้อมขยายอยู่แล้ว
หลังจากนี้ก็ต้องมีการพัฒนาระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า การสื่อสาร และการคมนาคม รองรับการอยู่อาศัย และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติเท่าใดนัก
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการต่างๆ ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็ทำให้ราคาที่ดินเมียวดีขยับขึ้นหลายเท่าตัวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา เช่นอาคารพาณิชย์จากราคาไม่ถึงล้านบาทต่อยูนิต ก็ปรับเป็น 1.5-2 ล้านบาทต่อยูนิต ที่ดินบางแปลงจาก 2-3 แสนบาท ก็ขยับเป็น 5 แสนบาทขึ้นไป
บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้า จ.ตาก มองว่าจากนี้ไป มีความเป็นไปได้ว่านักลงทุนไทยน่าจะเข้าไปตั้งคลังสินค้าในเขตการค้าเมียวดีมากขึ้น นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องแรงงานที่มีรองรับอยู่แล้ว แต่ก็ต้องดูด้วยว่าสิทธิประโยชน์ที่จะได้มากน้อยแค่ไหน
ซึ่งปัจจุบันพม่ามีข้อตกลงที่เอื้อต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศอยู่บ้าง แต่ยังไม่เต็มที่ ทั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน, ข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ, ปฏิญญาพุกาม การอำนวยความสะดวกทางการค้า ภายใต้กรอบ Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy (ACMECS) และความร่วมมือทางการค้าในกรอบ BIMSTEC ฯลฯ
นับเป็นปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลงของหน้าด่านสุดชายแดนตะวันออกของพม่าแห่งนี้ที่น่าจับตายิ่ง
|