|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

"วิธีคิดพวกนี้ไม่เคยเปลี่ยนกี่ปีกี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่วิธีคิดก็ยังคงเดิม คือจะทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้ได้ข้อมูลมาและนำข้อมูลนั้นไปใช้ทำบัตรปลอม เพื่อนำไปประกอบอาชญากรรมอีกต่อหนึ่ง" พงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการป้องกันการทุจริต ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีประสบการณ์อยู่กับการไล่ตามอาชญากรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาเกือบ 20 ปี บอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ เมื่อไม่กี่เดือนมานี้
สื่อในเครือ "ผู้จัดการ" ถือเป็นสื่อที่ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการประกอบอาชญากรรมทางอิเล็ก ทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นโจรกรรมข้อมูลและการปลอมบัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 20 ปีมาแล้ว
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัตรเครดิตเป็นฉบับแรก โดยในฉบับประจำวันที่ 16-22 มีนาคม 2530 ผู้จัดการรายสัปดาห์ ได้นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง โดยใช้พาดหัวข่าวว่า "คนไทยทำงามหน้า ติดอันดับ 1 ในโลก กลโกงบัตรเครดิต"
พร้อมกับพาดหัวรองว่า "ปี 2529 โกงไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท"
เนื้อหาในข่าวนี้เป็นการเปิดเผยของแอนนัสทัสซี่ รัพทอปโพลอส ผู้จัดการใหญ่ของบริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ในขณะนั้น ซึ่งกำลังวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาแก๊งโจรกรรมข้อมูลบัตรเครดิต และนำบัตรเครดิตปลอมมาใช้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ถึงขนาดที่แอนนัสทัสซี่ต้องขอเข้าพบกับจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลด้านการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันให้รัฐบาลจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แอนนัสทัสซี่ระบุตัวเลขความเสียหายจากการโกงบัตรเครดิตในประเทศไทย เฉพาะปี 2529 เพียงปีเดียวสูงถึงกว่า 500 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณเกือบ 10% ของยอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของทุกธนาคารผู้ออกบัตรในประเทศไทย ที่ในขณะนั้นตกปีละ 7,000-7,300 ล้านบาท
สำหรับรูปแบบการโกงบัตรเครดิตตามข่าวที่นำเสนอนั้น เกิดขึ้นจาก 2 ฝ่าย
ฝ่ายแรกคือ แก๊งอาชญากรที่โจรกรรมบัตรและข้อมูลในบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ อาทิ จีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมกับคนไทยอีกบางส่วน โดยมีเหยื่อเป็นนักท่องเที่ยว หรือนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
แก๊งพวกนี้จะขโมยบัตรเครดิตของคนเหล่านั้นไปใช้โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการนำบัตรเครดิตจริงไปลบเลขหมายจริงออก แล้วตีเลขหมายปลอมใส่เข้าไปแทน รวมถึงการทำบัตรปลอมที่เลียนแบบบัตรจริงแล้วนำไปใช้รูดซื้อสินค้า
การรูดบัตรเครดิตในระยะนั้น ยังใช้เครื่องรูดแบบ zip-zap ที่ยังไม่มีการเชื่อมต่อสายโทรศัพท์เหมือนเครื่อง EDC ในสมัยนี้ ดังนั้น หากแคชเชียร์ของร้านเกิดความไม่มั่นใจในบัตรเครดิตที่ลูกค้านำมารูด ต้องโทรศัพท์สอบถามจากสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเป็นรายๆ ไป ว่าบัตรดังกล่าวถูกอายัดไว้แล้วหรือไม่ หรือวงเงินที่เหลืออยู่ในบัตรมีเพียงพอหรือเปล่า
การขโมยบัตรหรือทำบัตรปลอมไปรูดซื้อสินค้าจากร้านค้า จึงเป็นอาชญากรรมที่ทำได้โดยง่าย ไม่ยุ่งยากเหมือนสมัยนั้น
ฝ่ายที่ 2 คือร้านค้าทำเอง หรือร้านค้าทำร่วมกับแก๊งอาชญากร โดยคนร้ายนำบัตรเครดิตปลอม ไม่ว่าจะถูกขโมยมาหรือทำขึ้นมาใหม่ไปใช้รูดซื้อสินค้า แต่ไม่ได้รับสินค้าไปจริง โดยที่ร้านค้ารู้เห็นเป็นใจ ส่งสลิปไปเก็บเงินจากสถาบันการเงินผู้ออกบัตร แล้วแบ่งผลประโยชน์กับแก๊งอาชญากร
นอกจากนี้ยังมีกรณีของร้านค้าที่เมื่อรับบัตรเครดิตจริงจากลูกค้าตัวจริงที่เข้ามาซื้อสินค้า แต่นำบัตรเครดิตดังกล่าวไปรูดซ้ำหลายๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดสลิปหลายๆ ใบ ทั้งๆ ที่ซื้อสินค้าเพียงชิ้นเดียว ซึ่งในกรณีนี้มีทั้งที่เจ้าของร้านค้ารู้เห็นเป็นใจด้วย หรือกรณีที่เจ้าของร้านไม่รู้แต่เป็นการกระทำของลูกจ้างในร้านค้าเองที่รับบัตรเครดิตของลูกค้ามาแล้วนำมารูดหลายๆ ครั้ง และทำเรื่องส่งสลิปไปเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินผู้ออกบัตรแล้วเก็บเงินสดเอาไว้เอง
หรือกรณีที่ร้านค้าเมื่อรับบัตรเครดิต แล้วนำเอกสารที่ลูกค้าใช้ประกอบกับบัตร เช่น พาสปอร์ตไปถ่ายเอกสารแล้วนำไปใช้กับบัตรเครดิตปลอมที่ทำขึ้นมาใหม่ โดยใช้ข้อมูลจากเอกสารดังกล่าว
รวมถึงกรณีที่ร้านค้านำบัตรเครดิตเปล่าที่ทำปลอมขึ้นมาเองมารูดกับเครื่องรูดบัตร ทำทีว่ามีลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าในร้าน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่มี หลังจากนั้น จึงนำสลิปเหล่านั้นไปเรียกเก็บเงินจากสถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิต
แอนนัสทัสซี่เปิดเผยว่า ปี 2529 เป็นปีที่ตัวเลขการโกงปรากฏขึ้นมากที่สุด โดยเริ่มตั้งแต่การโกงเล็กๆ น้อยๆ ในเดือนเมษายนและค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม จนอเมริกันเอ็กซ์เพรสทนไม่ได้ต้องพยายามหามาตรการป้องกันมาใช้ ตามต่อด้วยการเข้าพบกับหน่วยงานภาครัฐดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบในขณะนั้นคือแม้ว่าเจ้าหน้าที่สามารถจับแก๊งอาชญากรปลอมแปลงบัตรเครดิตบางรายได้ แต่เนื่องจากตัวเลขการประกอบอาชญากรรมแต่ละครั้งไม่สูงมาก คือประมาณรายการละ 10,000-20,000 บาท แก๊งอาชญากรเหล่านี้จึงสามารถประกันตัวออกไปได้และเมื่อได้ประกันแล้ว ก็หลบหนีเพื่อไปประกอบอาชญากรรมยังท้องที่อื่นหรือประเทศอื่น
หลังจากการนำเสนอข่าวดังกล่าวไปแล้วยังไม่มีกระแสตอบรับจากบุคคลที่มีส่วนรับผิดชอบในภาครัฐมาเท่าที่ควร อีกประมาณ 2 เดือนต่อมา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2530 จึงได้นำเสนอเป็นพาดหัวข่าวหน้า 1 อีกครั้งหนึ่งว่า "โกงบัตรเครดิตขยายวง ตร.-อัยการร่วมกันโซ้ย เล่นกันอลึ่งฉึ่ง"
โดยเนื้อหาในข่าวนี้ได้นำสำนวนการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ต้องพบกับอุปสรรค เพราะแก๊งโจรกรรมข้อมูลและปลอมแปลงบัตรเครดิต ซึ่งมีทั้งผู้ต้องหาชาวต่างประเทศและคนไทยอยู่ในแก๊งด้วยนั้นได้มีการแบ่งผลประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งฝ่ายตำรวจและอัยการ
ทำให้แต่ละคดีที่แม้ตำรวจสามารถจับผู้ต้องหาได้ ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็จะลอยนวลไปได้ในภายหลัง
ตามมาด้วยในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 มิถุนายน ซึ่งได้ตามติดเรื่องนี้และนำขึ้นเป็นข่าวพาดหัวหน้า 1 อีกครั้งหนึ่งว่า "นายกฯ สั่งการด่วน ล้างพวกโกงบัตร ตร.-อัยการก็โดน"
พร้อมกับพาดหัวรองว่า "ทส.จิ๋วสวนอัยการ ชอบอ้างสนิท ผบ.ทบ."
โดยเนื้อหาในข่าวนี้ระบุว่าแอนนัสทัสซี่ได้ไปร้องเรียนเรื่องนี้อีกครั้ง คราวนี้ได้ไปพบกับ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เลขานุการ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเมื่อ น.ต.ประสงค์ได้รับการร้องเรียนแล้ว ได้นำเรื่องเสนอต่อ พล.อ.เปรม
พล.อ.เปรมจึงได้มีการสั่งการด่วนลงมาถึง พล.ต.ท.เภา สารสิน (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจกรรมพิเศษให้เข้ามารับผิดชอบคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ
กลางเดือนมิถุนายน 2530 นิตยสารผู้จัดการได้นำเสนอเรื่องราวการโจรกรรมข้อมูลและปลอมแปลงบัตรเครดิตเป็นเรื่องจากปก โดยใช้คำพาดบนปกว่า "โกงไปแล้ว พันล้าน?!?"
เนื้อหาเป็นการให้ข้อมูลภาพรวมของกระบวนการโจรกรรมและปลอมแปลงบัตรเครดิตที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2524-2526 จนมารุนแรงที่สุดในปี 2529-2530 พร้อมระบุขั้นตอนการประกอบอาชญากรรม รายชื่อของผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโกงบัตรเครดิตดังกล่าวโดยละเอียดอย่างเป็นระบบ
หลังจากนั้นกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องของการโกงบัตรเครดิตก็เงียบหายไปพักใหญ่
(รายละเอียดเรื่องจากปกของนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมิถุนายน 2530 สามารถหาอ่านได้ใน www.gotomanager.com)
ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการปลอมแปลงบัตรเอทีเอ็มนั้น หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 มิถุนายน 2530 ก็ได้เริ่มเปิดประเด็นขึ้นมาก่อนอีกเช่นกัน โดยเป็นข่าวไม่ใหญ่มากในหน้า 8 ส่วนการเงินการลงทุนต่างประเทศ โดยพาดหัวว่า "แบงก์อัดอั้นตันใจ "โกงเอทีเอ็ม" ว่าถ้ายิ่งพูดมาก จะโกงกันหนักขึ้น"
เนื้อหาของข่าวนี้เป็นการนำเสนอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ต้องหาที่ชื่อว่าโรเบิร์ต โพสต์ อายุ 35 ปี ที่ใช้บัตรพลาสติกเปล่าสีขาวที่มีแถบแม่เหล็กแผ่นหนึ่ง ประกอบกับเครื่องมืออ่านข้อมูลในแถบแม่เหล็กชิ้นเล็กๆ ที่ซื้อมาด้วยเงิน 1,800 ดอลลาร์ สามารถทำบัตรเอทีเอ็มปลอมและกดเงินจากตู้เอทีเอ็มไปได้หลายครั้งเป็นวงเงินรวมสูงถึง 86,000 ดอลลาร์
วิธีการโกงของโรเบิร์ต โพสต์ เริ่มต้นด้วยการไปต่อแถวที่เครื่องเอทีเอ็ม โดยเขาจะแอบมองข้ามไหล่ของลูกค้าธนาคารที่กดเงินอยู่ก่อนหน้า เพื่อแอบดูรหัสของบัตรและเมื่อลูกค้าคนดังกล่าวกดเงินเสร็จ มีใบบันทึกรายการออกมาจากเครื่อง แต่ลูกค้าไม่ได้นำใบรายการติดตัวไปด้วย เขาจะเก็บใบบันทึกรายการของลูกค้าคนนั้นเอาไว้และนำข้อมูลที่อยู่ในใบบันทึกรายการดังกล่าวไปใช้ทำบัตรเอทีเอ็มปลอม โดยใช้เครื่องมือกรอกข้อมูลลงในบัตรพลาสติกเปล่าที่มีอยู่และนำไปใช้ร่วมกับรหัสบัตรเอทีเอ็มที่เขาแอบดูมา
ก่อนจะถูกจับได้ โพสต์ได้ตระเวนกดเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารหลายแห่ง โดยใช้บัตรเอทีเอ็มปลอมที่ทำขึ้นจากการขโมยข้อมูลและแอบดูรหัสของลูกค้า แต่เขาถูกจับได้ เพราะไปชะล่าใจ ใช้เวลายืนโอ้เอ้อยู่หน้าตู้เอทีเอ็มแห่งหนึ่งนานเกินไปเพียง 1 นาที ทำให้ตำรวจที่ตรวจสอบติดตามข้อมูลรายการกดเงินที่ผิดปกติสามารถจับตัวเขาได้คาตู้เอทีเอ็ม
ภายหลังที่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์นำเสนอข่าวนี้ไปไม่นานปรากฏว่า มีผู้อ่านท่านหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของบริษัทคอมพิวเตอร์แห่งหนึ่งในไทย ได้อ่านข่าวนี้และเกิดสงสัยในระบบความปลอดภัยของการใช้บัตรเอทีเอ็มในประเทศไทย จึงได้ทดลองใช้บัตรพลาสติกเปล่าที่มีแถบแม่เหล็กกับเครื่องอ่านข้อมูลในแถบแม่เหล็ก ซึ่งขณะนั้นยังมีขายกันเป็นการทั่วไปได้และลองใช้วิธีการเดียวกันกับที่โรเบิร์ต โพสต์ใช้ที่สหรัฐอเมริกา
โดยการนำใบบันทึกรายการจากตู้เอทีเอ็มของตนเองมาดูข้อมูลและนำข้อมูลดังกล่าวกรอกลงไปในบัตรเปล่า ซึ่งปรากฏว่าการลงบันทึกข้อมูลของเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารของไทยในช่วงนั้นหละหลวมอย่างมาก ไม่ได้มีการเข้ารหัสของข้อมูลเอาไว้แต่อย่างใด เมื่อมีการบันทึกข้อมูลจากใบบันทึกรายการลงไปในบัตรเปล่าและใช้รหัสส่วนตัวของผู้อ่านรายนี้ร่วมด้วยนั้น บัตรเอทีเอ็มเทียมใบนั้นสามารถนำไปใช้กดเงินออกจากตู้ได้เสมือนบัตรเอทีเอ็มของจริง
ด้วยความเป็นห่วงว่าวิธีการดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อระบบการเงินของไทยและเปิดช่องทางให้กับผู้ทุจริต ผู้อ่านท่านนี้จึงติดต่อมายังกองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ เพื่อเปิดโปงเรื่องดังกล่าวซึ่งเมื่อกองบรรณาธิการได้รับทราบ พร้อมกับลองสาธิตการทำบัตรปลอม โดยการนำข้อมูลจากบัตรบันทึกรายการของผู้สื่อข่าวคนหนึ่งที่อาสาสมัครมาทดลองทำเป็นบัตรใหม่และได้ไปทดสอบกดเงินจากตู้เอทีเอ็ม ปรากฏว่าสามารถกดเงินออกมาได้จริง กองบรรณาธิการจึงได้วางแผนนำเสนอเรื่องนี้ต่อสาธารณชน
ด้วยความเป็นห่วงว่า เมื่อข่าวนี้ปรากฏออกไป มิจฉาชีพที่ได้อ่านและอาจมีความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์อยู่บ้างจะนำวิธีการไปใช้หาประโยชน์ จึงได้ประสานงานกับฝ่ายตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งฝ่ายคอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อให้เข้ารหัสข้อมูลที่จะถูกบันทึกลงในใบบันทึกรายการจากตู้เอทีเอ็มเสียก่อน ก่อนที่ข่าวจะถูกตีพิมพ์ออกไป ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเป็นอย่างดี
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 มกราคม 2531 จึงได้นำเสนอข่าวพาดหัวหน้า 1 ว่า "เผยรหัสลับเอทีเอ็มรั่ว 6 ธนาคารผวาบัตรปลอม รื้อระบบด่วน"
ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่มีเครื่องเอทีเอ็มไว้บริการ จำเป็นต้องออกมาให้ความรู้กับลูกค้าว่าไม่ควรทิ้งใบบันทึกรายการเอาไว้และต้องระวังคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับตู้เอทีเอ็มจะแอบดูรหัสขณะกด
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ธนาคารเหล่านี้ไม่เคยมีการให้ข้อมูลกับลูกค้าเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
|
|
 |
|
|