Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2552
ความท้าทายของผู้นำรุ่นที่ 5 (ตอนที่ 1)             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

Political and Government




นับจากที่บารัค โอบามา วัย 47 ปี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ทิศทางการผลัดใบ-ถ่ายเลือดจาก "นักการเมืองรุ่นเก่า" ไปสู่ "นักการเมืองรุ่นใหม่" ในหลายประเทศทั่วโลกก็ดูเหมือนจะมุ่งไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำสูงสุดของภูฏานที่ชาวไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอย่างสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเคเซอร์ นัมเกล วังชุก วัย 29 พรรษา ดมิทรี เมดเวเดฟ ประธานาธิบดีรัสเซีย วัย 43 ปี (รับตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2551) รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีอายุเพียง 44 ปี

ภายใต้กระแสการเปลี่ยนถ่ายเลือดของผู้นำรุ่นใหม่ของหลายประเทศทั่วโลกเช่นนี้ ก็มีหลายคนถามผมบ่อยครั้งว่า แล้วประเทศจีนล่ะเป็นอย่างไรบ้าง? นับตั้งแต่จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ.2492 (ค.ศ. 1949) จนถึงปัจจุบัน หากอธิบายอย่างคร่าวๆ ประเทศจีนเปลี่ยนผู้นำสูงสุดมาแล้วทั้งสิ้น 4 รุ่น ประกอบไปด้วยเหมา เจ๋อตง (ผู้นำรุ่นที่ 1) เติ้งเสี่ยวผิง (รุ่นที่ 2) และเจียง เจ๋อหมิน (รุ่นที่ 3) และหู จิ่นเทา (รุ่นที่ 4)

โดยปัจจุบันรุ่นที่ 4 มีผู้ที่กุมอำนาจอยู่ในแกนกลาง 3 คน ประกอบไปด้วยหู จิ่นเทา ประธานาธิบดี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานคณะกรรมการการทหารกลาง เวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรี และอู๋ ปังกั๋ว ประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน

ขณะที่มีสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (Standing Committee of the Political Bureau of the Central Committee) จำนวน 9 คน (โดยหู เวิน และอู๋ถูกรวมอยู่ในจำนวน 9 คนนี้ด้วย) เป็นแกนหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งกุมอำนาจในการปกครองประเทศอีกต่อ

ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงผู้นำโลกในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ภายใต้เงื่อนไขพิเศษคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองครั้งสำคัญ อย่างเช่นในสหรัฐฯ โอบามา ใช้คำว่า Change เพื่อให้คำจำกัดความในภาพใหญ่ว่านับแต่ นี้ต่อไปนโยบายทั้งของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแปลงหมด เพราะที่ผ่านมานโยบายของผู้นำสหรัฐฯ รุ่นก่อนๆ ได้ก่อปัญหาให้กับชาวอเมริกันและชาวโลกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาผู้ก่อการร้าย ปัญหาการต่างประเทศ ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 80 ปี ขณะที่ประเทศภูฏานเองกษัตริย์พระองค์ใหม่ก็มีพระราชดำริว่าประเทศจะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ส่วนประเทศไทย นายกฯ อภิสิทธิ์เองก็ตกอยู่ภายใต้วังวนของวิกฤติทางการเมืองซึ่งกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบการเมืองเก่าไปสู่การเมืองเก่า อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระที่สำคัญคือ การแก้ไขปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากซีกโลกตะวันตก

ในส่วนของการบริหารประเทศจีน นับตั้งแต่ผู้นำรุ่นที่ 4 คือ หู จิ่นเทา และเวิน เจียเป่า เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรี ต่อจากผู้นำรุ่นที่ 3 คือ เจียง เจ๋อหมิน และจู หรงจี ในปี 2546 (ค.ศ.2003) ภารกิจหลักของหูและเวิน ก็คือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการพัฒนาเศรษฐกิจช่วง 25 ปี ภายใต้การบริหารประเทศของผู้นำรุ่นที่ 2 และผู้นำรุ่นที่ 3 ที่มุ่งผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตในระดับราวร้อยละ 10 ต่อปีมาตลอด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา หูและเวินต้องพยายามผลักดันให้ใช้ทฤษฎีการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และการสร้างสังคมกลมกลืน เข้ามาลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาความแตกต่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนและลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้เองถือเป็นปัจจัยที่ทำให้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนแตกต่างกับประเทศอื่นๆ ในโลก กล่าวคือ ในขณะที่ผู้นำประเทศอื่นๆ มีภารกิจในการใส่ยากระตุ้นแล้วกระตุ้นอีกให้เศรษฐกิจเติบโตให้ได้ แต่ผู้นำจีนกลับมีภารกิจในการทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจฝ่อลง ให้เศรษฐกิจเติบโตอยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน

ด้วยทิศทางเศรษฐกิจและสังคมของจีนที่สวนทางกับทิศทางโลกเช่นนี้นี่เองที่ทำให้สภาพทางการเมืองภายในของจีนในยุคของหูและเวิน ปราศจากความวุ่นวายและแรงกระเพื่อมใดๆ อันจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่

อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วง 5 ปีแรกของการทำงานของหูและเวิน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะยังไม่ลดความร้อนแรงลงก็ตาม กระนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ภายหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าอาจจะประสบกับภาวะถดถอยที่ว่ากันว่าร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ ค.ศ.1930 เป็นต้นมา หูและเวินก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ

กล่าวคือด้วยภาวะความผันผวนทางเศรษฐกิจ โลกที่ส่งผลกระทบมายังประเทศจีน ผู้นำรุ่นที่ 4 ของจีนมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์และนโยบายให้เกิดความเท่าทันกับภาวะวิกฤติของโลก รักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี เพื่อไม่ให้อัตราการว่างงานเลวร้ายลง อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพของสังคมและการเมืองในภาพรวม ก่อนที่สุดท้ายแล้วในช่วงปี พ.ศ.2555-2556 จะได้ส่งต่อประเทศไปสู่มือผู้นำรุ่นที่ 5 ได้อย่างราบรื่น

ทั้งนี้หากจะกล่าวถึงภูมิหลังของผู้นำตั้งแต่รุ่นที่ 3 ถึงรุ่นที่ 4 ของจีนแล้ว เราสามารถสังเกตได้ว่า พื้นเพของผู้นำมีนัยสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น เจียง เจ๋อหมิน ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 นั้น ถือเป็นนักเทคโนแครตที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยคมนาคมแห่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่และมีชื่อเสียงของเซี่ยงไฮ้ นอกจากนี้เจียงยังมีโอกาสได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะกลับมาทำงานเป็นวิศวกรในโรงงานรถยนต์ที่เมืองฉางชุนและเข้าสู่เส้นทางทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรม เป็นพ่อเมืองและเลขาธิการพรรคประจำเมืองเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีอันเป็นจุดสูงสุดทางการเมือง

ในส่วนของหู จิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 และประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หูเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจนในมณฑลเจียงซู มารดาก็เสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กแถมบิดายังถูกใส่ร้ายทำลายชื่อเสียงในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ทว่าด้วยความเฉลียวฉลาดและขวนขวายส่งผลให้หูสามารถสอบเข้าเรียนทางด้านวิศวกรรมทางน้ำในมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยระดับหัวแถวของประเทศจีนได้ ในส่วนของเส้นทางการทำงาน ชีวิตทำงานของหูถือว่าขรุขระพอๆ กับชีวิตวัยเด็ก กล่าวคือ ถูกส่งไปทำงานในเขตพื้นที่แร้นแค้นโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นมณฑล กานซู่ กุ้ยโจว ก่อนที่จะไปสร้างชื่อเสียงด้วยการปราบการจลาจลในทิเบต ซึ่งผลงานที่ทิเบตนี้เองที่ถือเป็นใบผ่านทางสำคัญที่ส่งให้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 14 เมื่อปี พ.ศ.2535 (ค.ศ.1992) หูมีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่วงโคจรอำนาจของคณะผู้นำสูงสุดด้วยการเป็น 1 ใน 7 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง โดยในเวลานั้นหูถือเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยไม่ถึง 50 ปีดี

ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่าเส้นทางการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของเจียงและหูนั้นมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย ขณะที่เจียงเป็นเทคโนแครตหัวก้าวหน้า มีประสบการณ์ในต่างประเทศ พูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาทั้งอังกฤษ รัสเซีย โรมาเนีย มีโอกาสได้เป็นพ่อเมืองมหานครใหญ่ๆ อย่างเซี่ยงไฮ้ หูกลับเป็นนักพัฒนาที่เข้าใจภาคชนบท เข้าถึงคนจน คุ้นเคยกับความขัดแย้งและความแตกต่าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เขาสามารถประสานรอยร้าวและสร้างความประนีประนอมระหว่างชนชั้น อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้ดี

ความแตกต่างนี้ว่ากันว่าเป็นการออกแบบของเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำรุ่นที่ 2 ที่มองเห็นล่วงหน้าว่า ผู้นำประเทศในรุ่นที่ 3 และ 4 ควรจะต้องมีบุคลิกและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันเพื่อสร้างความสมดุลให้กับการพัฒนาประเทศจีนในระยะยาว อย่างไรก็ตาม เติ้ง เสี่ยวผิง ก็มิอาจดำรงชีวิตยืนยาวพอที่จะออกแบบผู้นำในรุ่นที่ 5 ทิ้งเอาไว้

สำหรับผู้นำรุ่นที่ 5 ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีการวางตัวผู้นำรุ่นที่ 5 เอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบไปด้วยแคนดิเดตหลัก 2 คน คือ สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง โดยทั้งสองคนถูกเลือกจากสมาชิกกรมการเมืองจำนวน 25 คนให้เป็น 1 ใน 9 สมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง (4 ใน 9 คนเป็นสมาชิกใหม่)

ทั้งนี้แวดวงของนักวิเคราะห์การเมืองจีน (ในภาษาอังกฤษคือ China Watcher หรือ Pekingologist) ระดับโลกต่างทราบดีและคาดหมายตรงกันว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2555 (ค.ศ.2012) ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ สมัยที่ 18 สี จิ้นผิง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี และหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีนั้นคงจะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยสี จิ้นผิง น่าจะรับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากหู จิ่นเทา ส่วนหลี่ เค่อเฉียง น่าจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากเวิน เจียเป่า

แน่นอนว่า ทั้งสองคนจะต้องเป็นผู้รับไม้ในการบริหารประเทศต่อจากหูและเวิน ทว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่ทั้งสองคน แม้จะถูกวางตัวเป็นทายาทและผู้นำทางการเมืองรุ่นที่ 5 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่จะต้องทำงานร่วมกันในการบริหารประเทศต่อ แต่แท้จริงแล้วทั้งคู่กลับมาจากคนละกลุ่ม/แก๊งในพรรค อีกทั้งยังมีพื้นเพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

คำถามที่สำคัญที่สุดก็คือภายใต้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจโลกที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายดุลอำนาจของโลกจากตะวันตกมายังตะวันออก ดังเช่นปัจจุบัน ด้วยเงื่อนไขความขัดแย้งภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนเช่นนี้ จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศหรือไม่? และเศรษฐกิจจีนจะถูกกำหนดทิศให้มุ่งไปในทางใด?   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us