|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ชาวมุสลิมในเยอรมนีมักถูกตัดขาดจากสังคม แต่โรงเรียนอิหม่ามที่เพิ่งเปิดขึ้นใหม่ตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์นั้น
ช่องว่างระหว่างชาวมุสลิม 16 ล้านคนในยุโรปกับสังคมยุโรป มักเป็นชนวนของความไม่เข้าใจกัน ความขุ่นเคืองกัน ไปจนกระทั่งถึงความรุนแรง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวมุสลิมไม่สามารถ เข้ากับสังคมของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) ได้ เป็นเพราะการที่ต้องเชิญนักบวชมาจากต่างประเทศคือตุรกีหรือจากโลกอาหรับ ซึ่งไม่มีทักษะการพูดภาษาในยุโรปและขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมของชาติยุโรปนั้นๆ ทำให้ยากที่จะช่วยชาวมุสลิมให้ปรับตัวเข้ากับสังคมในยุโรปได้
แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเปิดโรงเรียนอิหม่ามทดลองแห่งใหม่ขึ้นในเขตตะวันตกของกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงเยอรมนี ซึ่งจะเป็นโรงเรียนต้นแบบที่จะช่วยชาวมุสลิมในยุโรปให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคม ภารกิจที่หนักหนาของโรงเรียนอิหม่ามแห่งใหม่นี้ รวมทั้งโรงเรียนอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันนี้อีกไม่กี่แห่งในยุโรป คือการตอบสนองความต้องการของชาวมุสลิมในยุโรป รวมทั้งช่วยเป็นตัวกลางเชื่อมวัฒนธรรมอิสลามกับวัฒนธรรมตะวันตก นักศึกษา 29 คนของโรงเรียนอิหม่ามแห่งใหม่ในเยอรมนีดังกล่าว เป็นชาวมุสลิมที่เกิดหรือเติบโตในยุโรปทั้งหมด และเป็นชายล้วน พวกเขาจะได้เรียนภาษาอาหรับ เทววิทยาของมุสลิม พร้อมไปกับการเรียนภาษาเยอรมัน และหน้าที่พลเมือง นั่นคือ พวกเขาจะได้รับการศึกษาที่ผสมผสานกัน ระหว่างหลักการของอิสลามกับวัฒนธรรมร่วมสมัยของยุโรป แน่นอน รวมถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วย
โรงเรียนอิหม่ามแห่งใหม่นี้มีชื่อว่า Buhara Institute ก่อตั้งโดยสมาชิก 300 คนของมัสยิดในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งมีความเชื่อม โยงกับกลุ่มแนวคิดซูฟีของอิสลาม สมาชิกส่วนใหญ่ของมัสยิดนี้คือ ชาวตุรกีที่อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในเยอรมนีตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งมีชาวตุรกีนับแสนคนที่อพยพเข้าไปในเยอรมนีในช่วงนั้น อันเป็นช่วงที่เยอรมนีกำลังขาดแคลนแรงงาน ตั้งแต่นั้นมาชาวตุรกีในเยอรมนีก็ลงหลักปักฐานไปทั่วฝั่งตะวันตกของเยอรมนี แต่พวกเขาเพิ่งจะประจักษ์ว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง อิหม่ามรุ่นใหม่ที่สามารถพูดภาษาเยอรมันได้ Alexander Weiger ผู้อำนวยการโรงเรียนอิหม่ามแห่งใหม่ดังกล่าว ซึ่งเป็นชาวบาวาเรีย ที่เปลี่ยนมานับถืออิสลาม กล่าวว่า ทางโรงเรียนต้องการจะสร้างอิหม่าม รุ่นใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นี่ อิหม่ามรุ่นใหม่ควรสามารถพูดจากับ โบสถ์คริสต์ รัฐบาล และส่วนอื่นๆ ของสังคมเยอรมันได้
ยังมีโรงเรียนอิหม่ามอื่นๆ ในยุโรปที่ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้ อันเป็น ความพยายามที่จะสร้าง "แบรนด์ อิสลามแห่งยุโรป" เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ Union of Islamic Cultural Centers ในเมืองโคโลญจน์ของเยอรมนี ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างอิหม่ามรุ่นแล้วรุ่นเล่า ส่วน The Muslim Academy ในกรุงเบอร์ลิน สอนภาษาเยอรมันและ วิชาอื่นๆ ให้แก่นักเทศน์ชาวมุสลิมรวมทั้งสตรีมุสลิมด้วย โดยได้รับเงินอุดหนุนจากทางการกรุงเบอร์ลิน ฝรั่งเศสเป็นที่ตั้งของโรงเรียนอิหม่ามแห่งแรกในยุโรปตะวันตก ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2004 และขณะนี้เริ่มรับนักเรียนหญิงด้วย เมื่อก่อนเคยต้องรับเงิน อุดหนุนจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย แต่ขณะนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งในฝรั่งเศสยังสอนวิชาอื่นๆ ให้แก่อิหม่ามที่เกิดในฝรั่งเศส ทั้งภาษาฝรั่งเศส วิชากฎหมายและวัฒนธรรม
อย่างไรก็ตาม สำหรับ Buhara Institute ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากโรงเรียนอิหม่ามอื่นๆ ที่ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้ในยุโรป เพราะเป็นการริเริ่มโดยเอกชนและชาวมุสลิมในท้องถิ่นเป็นผู้ออก ทุนเอง ไม่ใช่เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งโดยรัฐหรือได้รับเงินทุนสนับสนุน จากรัฐบาลมุสลิมต่างชาติ
นักการเมืองในยุโรปต่างยินดีกับความริเริ่มใหม่นี้ EU มองเห็นจุดเริ่มต้นที่อิสลามจะมีความเปิดกว้างมากขึ้น และเชื่อว่า การเปิดโรงเรียนอิหม่ามเป็นวิธีที่ดีในการเผชิญหน้ากับความสุดโต่ง ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศสสนับสนุนการอุดหนุน งบประมาณเพื่อให้การศึกษาแก่อิหม่าม ส่วนทางการกรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนีต้อนรับการเกิดขึ้นของ Buhara Institute อย่างอบอุ่น อย่างไรก็ตาม สังคมมุสลิมที่อนุรักษนิยมกลับรู้สึกยินดีน้อยกว่า และเห็นว่า Buhara Institute และโรงเรียนอิหม่ามอื่นๆ ที่คล้าย คลึงกับยุโรป มีความเบี่ยงเบนไปจากคำสอนของอิสลาม Union for Religion ของชาวตุรกีในเยอรมนี ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ยังคงยอมรับเฉพาะอิหม่ามที่ได้รับการศึกษา จากในตุรกีเท่านั้น
ผลการศึกษาล่าสุดในออสเตรียพบว่า 1 ใน 4 ของครูสอน ศาสนาอิสลามในออสเตรียเชื่อว่า สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ไม่สอดคล้องกับหลักการอิสลาม 28% กล่าวว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างการเป็นชาวยุโรปกับการเป็นชาวมุสลิม Eberhard Seidel แห่ง Berlin NGO Schools Without Racism ชี้ว่าปัญหา ทำนองนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในออสเตรีย ถ้าหากเกี่ยวกับทัศนคติของอิสลามที่มีต่อประชาธิปไตยและพหุนิยม ผลการศึกษาเมื่อปีกลายในเยอรมนีก็พบปัญหานี้เช่นเดียวกัน โดย 1 ใน 5 ของอิหม่ามที่มาจากต่างประเทศ ยังคงยึดมั่นในอิสลามแบบเคร่งจารีต ดั้งเดิมและอนุรักษนิยมอย่างมาก โดยบางคนมาจากกลุ่มที่สุดโต่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนับสนุนอิสลามแบบยุโรป ซึ่งมี Tariq Ramadan นักวิชาการมุสลิมชาวสวิสเป็นรายแรกๆ ต่างหวังว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์ข้างต้นได้ โดยพวกเขายืนยันว่า ชาวมุสลิมในยุโรปควรจะเข้าร่วมกับชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่และควรจะปลีกตัวออกห่างจากความเคร่งจารีต ซึ่งโรงเรียนอย่าง Buhara อาจช่วยได้ และในขณะเดียวกันก็ยังจะช่วยให้ชาวยุโรปเลิกมองอิสลามว่าเป็นอุดมคติที่อันตราย แต่ให้เห็นว่าอิสลามก็เป็นศาสนาหนึ่งในยุโรปเช่นกัน
|
|
|
|
|