|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ประวัติศาสตร์บอกเราว่า วิกฤติการเงินครั้งนี้จะไม่จบลงง่ายๆ
ข่าวดีคือ จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเกิดวิกฤติการเงินโลกตลอด 8 ศตวรรษที่ผ่านมา วิกฤติการเงินทั้งหมดที่เคยเกิดขึ้นมาในโลกนี้ล้วนมีวันสิ้นสุดและครั้งนี้ก็คงเช่นเดียวกัน เพียงแต่อาจจะไม่สิ้นสุดลงในเร็ววัน อย่างที่บรรดานักการเมืองทั่วโลกพยายามจะเป่าหูเราด้วยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจที่สวยหรู อย่างเช่นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะกลับมาเติบโตอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้และจะเติบโตถึง 4% ต่อไปอีกหลายปี มาดูกันว่า นี่เป็นการพยากรณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง หรือว่าเป็นเพียงแค่ความหวัง
Carmen Reinhart และ Kenneth Rogoff 2 ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัย Maryland และ Harvard ตามลำดับ ผู้เขียนหนังสือ This Time Is Different: Eight Centuries of Financial Folly ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์การเกิดวิกฤติการเงินตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมาชี้ว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ มักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มักจะกินเวลายืดเยื้อยาวนานกว่าเศรษฐกิจขาลงตามปกติ รวมถึงมักจะสร้างความเสียหายมากกว่าปกติด้วย
หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงนี้ก็คาดว่า กว่าที่ผลผลิตของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวิกฤติครั้งนี้จะกลับฟื้นคืนมาเท่ากับระดับเดิมในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ อาจจะต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี และการว่างงานก็จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปอีก 3 ปี โดยอัตราว่างงานในสหรัฐฯ จะสูงถึง 11-12% ในปี 2011
ขณะนี้ราคาหุ้นในสหรัฐฯ ได้ร่วงลง 55% ซึ่งเป็นการตกต่ำของราคาที่ยังไม่ถือว่าผิดปกติไปจากช่วงเศรษฐกิจขาลงเท่าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ส่วนราคาบ้านในสหรัฐฯ ตกลง 30% ในขณะที่ราคาบ้านในช่วงเศรษฐกิจขาลงมักจะตกลงถึง 36% แต่ข่าวร้ายก็คือ วงจรขาลงของราคาหุ้นและราคาบ้านมักจะกินเวลานานหลายปีและถึงแม้ว่าทั้งตลาดหุ้นและตลาดบ้านของสหรัฐฯ จะตกต่ำลงไปมากแล้ว แต่ยังคงไม่ถึงจุดต่ำสุด ซึ่งกว่าจะมาถึงคงจะเป็นช่วงสิ้นปี 2010
ผลการศึกษาของ Reinhart กับ Rogoff ยังพบว่า ตรงข้ามกับความเชื่อของคนทั่วไป วิกฤติการเงินมีโอกาสจะเกิดขึ้นกับประเทศร่ำรวยได้พอๆ กับประเทศยากจน ใครที่คิดว่าประเทศร่ำรวยมีภูมิคุ้มกันมากกว่า เพราะมีระบบการเงินที่แข็งแกร่งกว่าและมีการควบคุมที่ดีกว่า เป็นความเชื่อที่ผิด หากวิกฤติการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ขณะนี้ เดินซ้ำรอยวิกฤติการเงินครั้งก่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้นในสเปน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โคลัมเบีย อาร์เจนตินา และไทย ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ก็น่าจะเป็นการพุ่งขึ้นอย่างน่ากลัวของหนี้สาธารณะ
จากการศึกษาวิกฤติการเงินครั้งก่อนๆ พบว่า หนี้สาธารณะมักจะพุ่งสูงลิ่วหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงิน คาดว่าหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายใน 3 ปีนี้ หรือมากกว่า 50% ของรายได้ประชาชาติของสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลอเมริกันเองก็คาดการณ์แล้วว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ คงจะพุ่งกระฉูด เนื่องจากรัฐบาลทุ่มงบประมาณมหาศาลเข้าอุ้มธนาคาร สถาบันการเงิน และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งยังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลัง แต่สาเหตุใหญ่ที่สุดที่จะทำให้หนี้สาธารณะพุ่งขึ้น คือการที่รัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ทุกครั้งที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย
ใช่แต่สหรัฐฯ ที่มองโลกในแง่ดี บรรดาชาติในกลุ่ม G20 ต่างก็ยังสมัครใจที่จะเชื่อว่า การเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนจะกลับมาอีกครั้งอย่างรวดเร็วภายในสิ้นปีนี้ จริงอยู่ที่นโยบายทั้งด้านการคลังและการเงินในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพดีกว่าเมื่อครั้งที่โลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือ Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930 แต่อย่าลืมว่า วิกฤติในครั้งนี้ขยายใหญ่ไปทั่วโลก และหนักหน่วงกว่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 80 ปีที่แล้ว และแม้แต่ในครั้งนั้นประเทศต่างๆ ยังต้องใช้เวลาถึง 10 ปี กว่าจะสามารถกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
วิกฤติการเงินจะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่วิกฤติการเงินครั้งนี้อาจจะยืดเยื้อนานกว่าที่ควร หากผู้กำหนดนโยบายยังไม่เริ่มหาวิธีแก้ไขบนพื้นฐานของการประเมินภาวะเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของความจริง และรู้ว่าเรากำลังยืนอยู่ที่จุดใด และจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นตามมาอีก
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552
|
|
|
|
|