|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

4 มหาอำนาจตลาดเกิดใหม่ BRIC เปลี่ยนไปบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจของพวกเขาจะเจริญรุ่งเรืองต่อไป แม้ตลาดส่งออกอย่างสหรัฐฯ จะยังไม่ฟื้นตัว
ยอดเกินดุลการค้าเดือนกุมภาพันธ์ของจีนตกต่ำลง ผลผลิตอุตสาหกรรมก็ตกลงต่ำสุดทำลายสถิติ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวจีนหลายล้านคนต้องอพยพออกจาก Shenzhen และเมืองอื่นๆ ในภาคตะวันออกของจีน หลังจากโรงงานพากันปิดกิจการ ทำให้ Jim O'Neill หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ถูกกระหน่ำด้วยอีเมลจากลูกค้าที่ต่างรุมถามว่า 4 ประเทศ BRIC ซึ่งเป็นศัพท์ที่ Goldman Sachs คิดขึ้นใน ปี 2001 เพื่อให้หมายถึงบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน 4 ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กำลังกลายเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกกำลังจะถึงจุดจบแห่งความฝันเสียแล้วหรือ
คำตอบชัดๆ จากหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman คือ "ไม่" ตรงกันข้าม O'Neill กลับคิดว่า เศรษฐกิจของกลุ่ม BRIC จะเติบโตแซงหน้ากลุ่ม G7 ได้ภายในปี 2027 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิมที่เขาเคยคาดการณ์ไว้ภายในปี 2035 ถึงเกือบ 10 ปี
หากดูการเติบโตของยอดค้าปลีกในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในกลุ่ม BRIC จะพบว่า ยอดค้าปลีกเดือนกุมภาพันธ์เติบโตถึง 15% ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลงอย่างมาก ทำให้รายได้ที่แท้จริงของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจีนกำลังกระตุ้นความต้องการบริโภค ผ่านการเพิ่มงบประมาณก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและยังประกาศเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพครั้งใหญ่ ซึ่งอาจเป็นการปลดปล่อยเงินออมจำนวนมหาศาลของจีนครั้งมโหฬาร ตลาดหุ้นระดับ A-share ของจีน ซึ่งดิ่งลงมากกว่า 60% ในปี 2008 ได้ถึงจุดต่ำสุด ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่วันนั้นเป็นวันที่จีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 ล้านล้านหยวน ตั้งแต่นั้นมาตลาดหุ้นของจีนก็พุ่งขึ้นมากกว่า 30% แซงหน้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกือบ 50%
O'Neill ไม่เห็นด้วยที่มีคนบอกว่าแนวคิด decouple ตายแล้ว decouple คือแนวคิดที่บอกว่า การที่ BRIC เริ่มหันไปพึ่งพิงความต้องการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นจะทำให้เศรษฐกิจของ BRIC สามารถจะเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าตลาดส่งออกสำคัญที่สุดอย่างสหรัฐฯ จะถดถอยก็ตาม แนวคิดนี้ถูกโจมตีเมื่อปีก่อน ในช่วงที่การล่มสลายของตลาดสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศ BRIC
Goldman คาดว่า ในระยะยาวการเติบโตของจีนจะอยู่ที่ 5.8% ระหว่างปี 2001-2050 โดยจะชะลอตัวลงเหลือ 5.2% ระหว่าง ปี 2011-2050 แต่ก่อนหน้านี้จีนยังคงเติบโตมากกว่าสองเท่าของการคาดการณ์ดังกล่าว ส่วนในปีนี้คาดกันว่าจีนคงจะเติบโต 7% ในขณะที่การคาดการณ์ของ Goldman ยังต่ำกว่านั้นคือ 6% ส่วนปีหน้าคาดว่าจีนจะเติบโตมากกว่า 8% ในขณะที่รัสเซียซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม BRIC ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก คาดว่าจะเติบโต 2.8% ในระหว่างปี 2011-2050 ส่วนอินเดียซึ่งประชากรเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม BRIC คาดว่าจะเติบโต 6.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ในปีนี้กลุ่ม BRIC จะโตเฉลี่ยประมาณ 4% ซึ่งดีกว่าส่วนอื่นๆ ของโลก ในขณะที่ GDP ทั่วโลกสำหรับปีนี้จะติดลบประมาณ 1.1% สหรัฐฯ ติดลบ 3.2% เขตยูโรลบ 3.6% ญี่ปุ่นลบ 6.1% แต่ในปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเกือบ 3% โดยจีนจะกลับมาเติบโตที่ 9% และอินเดีย 6.6%
ประชาชนนักชอปในประเทศ BRIC กำลังมีส่วนมากขึ้นในการทำให้การบริโภคของโลกเติบโต ตัวเลขยอดขายปลีกตั้งแต่ปี 2004-2008 ชี้ว่านักชอปชาวยุโรปและญี่ปุ่นแทบจะไม่มีส่วนช่วยในการเติบโตของการบริโภคทั่วโลกเลย ส่วนนักชอปอเมริกันก็มีส่วนน้อยลงในปี 2007 ก่อนจะรูดซิปปิดกระเป๋าสตางค์อย่างแน่นหนาในปี 2008 แต่นักชอปในประเทศ BRIC กลับทำให้การบริโภคของโลกเติบโตขึ้นในปี 2008 จะเติบโตต่อไปอีก แนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ผู้บริโภคในประเทศ BRIC กำลังมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้นและแนวคิด decouple ก็จะยังคงอยู่ต่อไป
ประเทศในกลุ่ม BRIC ที่มีความสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงอำนาจของผู้บริโภคในครั้งนี้คือจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เท่ากับอีก 3 ประเทศ BRIC รวมกัน และสิ่งที่เกิดกับจีนย่อมมีความสำคัญต่อกลุ่ม BRIC และต่อโลกด้วย เมื่อดูจากการที่รัฐบาลจีนประกาศจะให้หลักประกันสุขภาพแก่ชาวจีน 90% ในชนบท และบรรดาอภิมหาโครงการยักษ์ที่จีนจะลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมไปถึงการที่จีนได้ผ่อนคลายเงื่อนไขด้านการเงินอย่างขนานใหญ่ คำถามเพียงอย่างเดียวที่เหลืออยู่ในตอนนี้ จึงไม่ใช่จีนจะกลับมาเติบโตได้อีกหรือไม่ หากแต่เป็นจีนจะกลับมาเติบโต "มากกว่า" 8% ได้เร็วเพียงใด
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552
|
|
 |
|
|