|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะใช้คำว่าวิกฤติ "โลก" แต่ความจริงประเทศที่เจอวิกฤติจนเศรษฐกิจต้องติดลบคือ
ประเทศตะวันตก หาใช่ตะวันออกไม่
นายกรัฐมนตรี Wen Jiabao ของจีนกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า เขารู้สึก "วิตกเล็กน้อย" แต่สิ่งที่เขาวิตกหาใช่เศรษฐกิจของจีน หากแต่เกี่ยวกับสหรัฐฯ Wen กล่าวว่า จีนได้ให้สหรัฐฯ กู้เงินจำนวนมหาศาล เพราะฉะนั้นจีนจึงต้องวิตก และ "เตือน" สหรัฐฯ ให้รักษาคำพูด และรับประกันความปลอดภัยให้แก่สินทรัพย์ของจีนที่อยู่ในสหรัฐฯ แปลคำพูดของนายกฯ จีนอีกทีก็คือ บรรดาสถาบันการเงินใน Wall Street ได้ทำทุกอย่างพังจนป่นปี้ และจีนเชื่อว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอาจตกฮวบ จึงทำให้จีนต้องวิตกว่า พันธบัตรคลังสหรัฐฯ จำนวน 2 ล้านล้านดอลลาร์ที่จีนซื้อไว้จะต้องพลอยมีมูลค่าลดลงตามไปด้วย
นับเป็นภาพที่กลับกันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือกับเมื่อ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาที่คำ "เตือน" ทั้งหลายมักจะมาจากชาติร่ำรวยอย่างเช่นสหรัฐฯ แต่ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียงไม่กี่ปีหรือกระทั่งไม่กี่วัน ชาติกำลังพัฒนายักษ์ใหญ่อย่างจีนกลับแข็งแรงขึ้น เก่งกล้าสามารถทางเศรษฐกิจมากขึ้นและร่ำรวยขึ้น ความเชื่อมั่นก็เพิ่มขึ้นตาม แม้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้จะถูกเรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ "โลก" ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 70 ปี แต่ความจริงแล้วมันไม่ใช่วิกฤติ "โลก" เพราะประเทศที่ต้องเจอกับเศรษฐกิจติดลบคือประเทศร่ำรวยเท่านั้น ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาระดับมหาอำนาจอย่างเช่นจีน เพียงแต่ชะลอตัวลง คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ และยุโรปจะติดลบ 3% ในปีนี้และ 6% ในญี่ปุ่น แต่จีนกับอินเดียกลับคาดว่าจะเติบโต 7% และ 5% ตามลำดับ
ช่องว่างของการเติบโตดังกล่าวจะเปลี่ยนแปลงอนาคตทางเศรษฐกิจของโลก Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ประเทศมหาอำนาจตลาดเกิดใหม่คือบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งเรียกรวมกันว่ากลุ่ม BRIC อาจมี GDP โตแซงหน้า GDP ของชาติ G7 ทั้งหมดรวมกันภายในปี 2027 หรือเร็วกว่าที่เคยคาดไว้เดิมถึงเกือบ 10 ปี
ไม่เพียงผู้นำจีนที่กล้า "เตือน" สหรัฐฯ ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองที่แก่กล้าขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี Manmohan Singh ของอินเดียก็เพิ่งกล่าวโทษรัฐบาล "ชาติพัฒนาแล้ว" ว่า "ล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง" แต่ยังเกรงใจไม่ออกชื่อสหรัฐฯ ตรงๆ แต่ไม่ใช่สำหรับนายกรัฐมนตรี Vladimir Putin แห่งรัสเซียและประธานาธิบดี Luiz Inacio Lula da Silva แห่งบราซิล 2 มหาอำนาจชาติกำลังพัฒนาที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจหนักกว่าอินเดียและจีน ซึ่งประณามระบบที่ไม่รับผิดชอบของสหรัฐฯ ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้นำ และระบุว่า สหรัฐฯ จะต้องแบกรับความรับผิดชอบที่เป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจและจะต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาด้วย
Goldman Sachs คาดการณ์ว่า ในช่วงระหว่างปี 2011-2050 รัสเซียจะเติบโต 2.8% บราซิล 4.3% จีน 5.2% และอินเดีย 6.3% ซึ่งหากเป็นจริงก็จะหมายความว่า 3 ใน 4 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก คือ จีน สหรัฐฯ อินเดีย และญี่ปุ่น จะเป็นชาติที่อยู่ในเอเชีย ภายในอีกเพียง 2 ทศวรรษข้างหน้าเท่านั้น "ศตวรรษแห่งเอเชีย" กำลังใกล้จะเป็นจริงเข้าไปทุกทีแล้ว
การบริโภคที่ซบเซา การว่างงาน และความรู้สึกถูกปัญหารุมเร้าทุกด้าน ที่กำลังครอบงำชาติตะวันตกอยู่ในขณะนี้ ไม่ปรากฏว่าเกิดขึ้นกับเอเชียเลย ในจีนและอินเดียยอดขายรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ยังคงมียอดขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและรวดเร็วของจีนและอินเดีย ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคมามากพอ นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ยอดซื้อสินค้าทุนและเครื่องจักรเติบโตด้วยเลข 2 หลักในอินเดีย และยอดขายปูนซีเมนต์ในจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ชาวอเมริกันจำต้องยกบทนักชอปที่ฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลกให้แก่ชาวจีนและอินเดียไปเสียแล้ว ยอดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในจีนเดือนธันวาคมปีที่แล้วพุ่งขึ้นถึง 1,000% เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อน ขณะที่รัฐบาลจีนยังประกาศลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับออกมาตรการปลุกตลาดอสังหาริมทรัพย์
คำถามที่ใหญ่ที่สุดของจีนในขณะนี้คือ จะสามารถสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการส่งออกไปยังตลาดตะวันตก แต่ให้ขึ้นอยู่กับการบริโภคภายในประเทศได้หรือไม่ นักวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์ Jones Lang LaSalle เชื่อว่าจีนกำลังพยายามทำเช่นนั้น เห็นได้จากการเติบโตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่สูงที่สุดในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่รองรับผู้ส่งออกแต่ไปอยู่ในเมืองเล็กกว่าที่รองรับตลาดในประเทศ ซึ่งไม่ต่างจากในบราซิลที่ชนชั้นกลางเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุด รวมทั้งในอินเดียซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภค มีสัดส่วนถึง 60% ของ GDP เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤติเศรษฐกิจ
แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคของกลุ่ม BRIC จะสามารถช่วยกู้โลกให้พ้นจากวิกฤติการเงินได้ เพราะอำนาจซื้อของพวกเขายังคงน้อยกว่าชาติร่ำรวยอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจของ BRIC เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อำนาจซื้อของพวกเขาก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และอีกไม่นานผู้บริโภคในชาติ BRIC จะดึงดูดการลงทุนด้าน R&D ของบริษัทยักษ์ใหญ่ เส้นทางบินของสายการบินทุกสายจะมุ่งตรงไปที่นั่น รวมทั้งแผนรณรงค์การตลาดของบรรดาบริษัทข้ามชาติด้วย
BRIC ยังอยู่ในฐานะที่พร้อมจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าชาติร่ำรวย เพราะมีการควบคุมเงินเฟ้อที่ดีกว่า ขาดดุลน้อยกว่า มีประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น มีโครงการทางสังคมมากกว่าและมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงกว่า ทำให้มหาอำนาจชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้มีช่องว่างที่จะผิดพลาดได้มากกว่า ในยามที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคในชาติร่ำรวยกำลังตกต่ำลงอยู่ในขณะนี้ แม้แต่บราซิลกับรัสเซียซึ่งได้รับผลกระทบหนักกว่าจีนกับอินเดีย ก็ยังมีเงินมากพอที่จะสร้างกันชนวิกฤติเศรษฐกิจ จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา เนื่องจากราคาน้ำมันและก๊าซรวมทั้งถั่วเหลืองและแร่เหล็กซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของรัสเซียและบราซิลตามลำดับ มีราคาแพงขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น รัสเซียได้ทุ่มเงินไปแล้วมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปกป้องค่าเงินรูเบิลของตน และยังคงมีเงินเหลืออยู่อีกมากในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ ส่วนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงถึง 2 แสน 8 พันล้านดอลลาร์ของบราซิล ยังไม่ถูกแตะต้องเลยด้วยซ้ำ
BRIC ยังเรียนรู้จากความผิดพลาดของชาติตะวันตก ผลจากการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ทำให้ภาคการเงินของจีนกับอินเดียแทบไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนใดๆ จากวิกฤติสินเชื่อเลย ครึ่งปีแรกของปี 2008 ธนาคารในจีนกำลังไล่ซื้อธนาคารคู่แข่งจากต่างชาติและกำลังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดการเงินโลกอยู่ ถ้าหากว่าการไล่ซื้อดังกล่าวของจีนไม่สะดุดหยุดชะงักลงเสียก่อนเพราะวิกฤติเศรษฐกิจ รายงานของ Deutsche Bank ฉบับล่าสุดระบุว่า จีนอาจกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ครอบครองตลาดการเงินโลก ภายในปี 2018 เคียงข้างสหรัฐฯ และยุโรป รวมทั้งจะครองส่วนแบ่งตลาด 13% ในตลาดพันธบัตรโลก 40% ในตลาดหุ้นและ 18% ในตลาดการเงินการธนาคารโลก
การส่งออกของจีนคงจะดีขึ้นในอีกไม่ช้า ผลสำรวจคำสั่งซื้อของลูกค้าในต่างประเทศในจีนปรากฏว่าเพิ่มขึ้นมา 3 เดือนแล้ว โรงงานหลายแห่งในจีนกำลังเร่งผลิตเสื้อผ้าตามคำสั่งซื้อด่วนจากเชนร้านเสื้อผ้าในชาติตะวันตก ซึ่งก่อนหน้านี้ตื่นตระหนก เกินกว่าเหตุและลดคำสั่งซื้อมากเกินไป นักเศรษฐศาสตร์บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Wal-Mart effect และคาดว่าผู้บริโภคตะวันตกที่กำลังรัดเข็มขัด คงจะสนใจที่จะซื้อทุกสิ่งทุกอย่างที่มีราคาถูก ซึ่งจะช่วยทำให้การส่งออกของจีนฟื้นตัว และไม่เพียงแต่จีน แต่สินค้าและบริการทุกชนิดที่ผลิตโดยชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตั้งแต่ปูนซีเมนต์ในเม็กซิโกไปจนถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมในอินเดียซึ่งมีราคาถูก คงจะได้รับอานิสงส์กันถ้วนหน้า เมื่อผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มกลับมาซื้อสินค้าอีกครั้ง ดูเหมือนว่าพวกเขาคงจะเลือกซื้อจากประเทศในกลุ่ม BRIC
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 30 มีนาคม 2552
|
|
|
|
|