กระบวนการทำมาค้าขายแล้ว ญี่ปุ่นถือว่าเป็นยอดไม่แพ้ใคร ที่รุ่งเรืองอยู่ได้ทุกวันนี้ก็เพราะเรื่องขายเก่งนี่เป็นส่วนหนึ่ง
และของที่ขายก็เป็นของดีอีกส่วนหนึ่งด้วย
เมื่อกลางเดือนที่แล้ว คณะผู้แทนของท่าเรือนครโตเกียวเดินทางมาเปิดการแนะนำท่าเรือของตนที่กรุงเทพฯ
จุดมุ่งหมายก็เพื่อชักชวนให้ผู้ส่งออกและสายการเดินเรือที่วิ่งระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไปใช้บริการที่ท่าแห่งนี้
กรุงเทพฯ เป็นจุดสุดท้ายของขบวนการขายท่าเรือคณะนี้ หลังจากได้ไปที่กลุ่มประเทศในยุโรปตอนใต้มาแล้วด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน
"เมืองไทยประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมาก ปริมาณการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี
เราถือว่าที่นี่เป็นตลาดที่น่าสนใจ" Shunryu Takahashi อธิการบดีท่าเรือโตเกียวซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกล่าวสั้น
ๆ ถึงเหตุที่มาแวะที่กรุงเทพฯ
ปีที่แล้วสินค้าจากไทยที่ผ่านท่าแห่งนี้ทั้งขาออกขาเข้ามีจำนวน 9,000 กว่าตัน
ถึงแม้ว่าจะไม่ถึงครึ่งเปอร์เซนต์ของปริมาณสินค้าต่างประเทศ 22 ล้านตันที่มาขนถ่ายกันที่นี่
แต่ Takahashi เชื่อว่า ในอนาคตปริมาณสินค้าจะมากขึ้น เพราะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
และการหลั่งไหลเข้ามาลงทุนอย่างมากมายของญี่ปุ่นในขณะนี้
"ส่วนใหญ่แล้วบ้านเราจะไปใช้ที่ท่าโยโกฮามาและโกเบซึ่งอยู่ใกล้กว่า
แต่ปริมาณสินค้าจริง ๆ ของทั้งสามท่านี่ก็ไม่แตกต่างกันมากเท่าไรนัก"
เจ้าหน้าที่ของสายการเดินเรือแห่งหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ท่าเรือโตเกียวจึงอยู่ในภาวะที่ต้องแข่งขันกับอีกสองท่าดังกล่าวเพื่อช่วงชิงลูกค้าให้มาใช้บริการให้มากที่สุด
การปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริการจึงถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารท่าเรือแห่งนี้
ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 530 ปีที่แล้ว และในปัจจุบันได้ชื่อว่า เป็นท่าเรือที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
และเป็นท่าเรือที่มีอัตราการเพิ่มของตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้าที่สูงที่สุดของญี่ปุ่น
เรือสินค้าจากต่างประเทศ 2,177 ลำได้เข้ามาเทียบท่าแห่งนี้ เมื่อปีที่แล้วโดยบรรทุกสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกรวมกันเป็นจำนวน
22.72 ล้านตัน เป็นสินค้าส่งออก 8.26 ล้านตันและสินค้านำเข้า 14.46 ล้านตัน
ส่วนใหญ่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ถึง 73%
ปัจจุบันท่าเรือโตเกียวมีท่าขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ต่างประเทศอยู่สองท่าคือ
ท่า Ohi-Container Terminal ซึ่งมีท่าเทียบเรืออยู่แปดท่า มีความยาวรวมกันเกือบสองกิโลเมตรครึ่ง
รับเรือที่มีระวางสูงสุดได้ 40,000 ตัน และท่า Aomi Container Terminal ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี
2528 อยู่ตรงข้ามกับท่าแรกบนฝั่งตะวันออกของอ่าวโตเกียว ขณะนี้มีท่าเทียบเรือท่าเดียว
แต่ก็มีโครงการที่จะสร้างให้ครบสี่ท่า เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น
"เราวางแผนล่วงหน้าไปจนถึงปี 2538" แผนที่กล่าวก็คือ แผนการปรับปรุงและขยายการบริการที่ทำกันมาตลอดเวลาจนเข้าแผนที่ห้าแล้วในปัจจุบันแต่ละแผนมองกันไกล
ๆ ถึงสิบปี
ระบบขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์นั้นหัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ท่าเทียบเรือแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ต้องมีพื้นที่สำหรับบรรจุและนำเข้าสินค้าออกจากตู้ด้วยที่เรียกกันว่า
สถานีบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งแต่ละท่าจะมีพื้นที่นี้และโรงเก็บสินค้าอยู่อย่างเพียงพอ
ทำให้การขนถ่ายเป็นไปอย่างรวดเร็ว
หัวใจสำคัญที่จะทำให้การขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพนอกจากตัวท่าเทียบเรือแล้ว
ยังต้องมีเครื่องมือทุ่นแรงอย่างเพียงพอ และมีพื้นที่หลังท่าสำหรับสถานีบรรจุสินค้านำเข้าและสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์
รวมทั้งโกดังเก็บสินค้าด้วย
ท่าเรือโตเกียวมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้อยู่อย่างพร้อมเพรียง และมีเครือข่ายคมนาคมที่เชื่อมท่าเรือนี้กับตัวเมืองโตเกียวและเมืองอื่น
ๆ ทั้งทางบกและทางน้ำ
นโยบายในการให้บริการคือ รวดเร็ว เชื่อถือได้ ประหยัด และมีประสิทธิภาพ
จึงเป็นจริงได้
ความสำเร็จนั้นอยู่ที่ระบบการบริหารงานที่มีการแบ่งงานกันทำระหว่างรัฐและเอกชน
เทศบาลนครโตเกียวเป็นเจ้าของท่าเรือนี้ มีอธิการบดีท่าเรือเป็นผู้บริหารท่าเรือ
โดยตั้งองค์กรขึ้นมาบริหารในรูปบริษัทชื่อ Tokyo Port Service Corporation
บริษัทนี้มีหน้าที่ในการวางแผนปรับปรุงและขยายท่าเรือ ก่อสร้างท่าเรือ
และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานอื่น ๆ และจัดเตรียมพื้นฐานอื่น ๆ และจัดเตรียมพื้นที่สำหรับสร้างสถานีคอนเทนเนอร์และโกดังสินค้า
การปฏิบัติงานในท่าเรือเป็นหน้าที่ของฝ่ายเอกชน ซึ่งเข้ามาดำเนินการโดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับเทศบาลโตเกียวเป็นค่าเช่าและค่าธรรมเนียม
และใช้วิธีแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ ตามลักษณะงานให้เอกชนหลาย ๆ รายเข้ามารับผิดชอบภายในท่าเทียบเรือแต่ละท่า
เช่น งานที่เกี่ยวกับการขนถ่ายตู้ลงและขึ้นเรือ การบรรจุและนำสินค้าออกจากตู้
โกดังเก็บสินค้า การสร้างและบริหารสถานีคอนเทนเนอร์
ค่าภาระและค่าธรรมเนียมสำหรับการบริการต่าง ๆ นั้นกำหนดขึ้นโดย Tokyo Port
Service Corporation และเอกชนที่เข้ามาให้บริการจะรวมตัวกันในรูปของสมาคมเพื่อประสานงานและแก้ไขปัญหาระหว่างกันเอง
"นโยบายของเราคือ เรามีหน้าที่สร้าง ปรับปรุงท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น
ๆ ส่วนการปฏิบัติงานจริง ๆ นั้น เราไม่มีกำลังคนและไม่มีความชำนาญพอ จึงให้เอกชนเข้ามา
พวกเขาจะแข่งขันและควบคุมกันเอง" เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งในคณะผู้แทนกล่าว
ดู ๆ ไปแล้วก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่ทำไมบ้านเราถึงทำอย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่รู้?