Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2531
ประยูร จินดาประดิษฐ์ ชีวิตบั้นปลายที่ไม่เหงา             
 


   
search resources

ทักษิณ ชินวัตร
ประยูร จินดาประดิษฐ์
เซฟตี้ ออเดอร์ ซิสเต็ม, บจก.




ชื่อของประยูร จินดาประดิษฐ์ยังไม่ตกหายไปจากเวทีธุรกิจเมืองไทยง่าย ๆ แม้ว่าจะขอเกษียณจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยก่อนเป็นเวลา 1 ปีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานขึ้นมาเป็นบ้างก็ตาม

ทั้งนี้ก็เพราะประยูรได้ร่วมทุนกับหุ้นส่วนคือทักษิณ ชินวัตรลูกค้ารายสำคัญของธนาคารทหารไทยและคนอื่น ๆ จัดตั้งบริษัทเซฟตี้ ออเดอร์ ซิสเต็ม จำกัด เพื่อขายเครื่องแจ้งสัญญาณเหตุฉุกเฉิน สินค้าเพียงตัวเดียวของบริษัทและเป็นประเภทไฮเทคตามความถนัดของทักษิณ

ที่มาของการสร้างงานรองรับชีวิตหลังเกษียณครั้งนี้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้านานแล้วตั้งแต่ครั้งที่ประยูรยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง โดยตัวประยูรและทักษิณนั้นมีความสนิทชิดชอบกันเป็นพิเศษ "ผมเองสนิทกับ ดร. ทักษิณเหลือเกิน และเขาก็เคารพนับถือผมอย่างมาก พอผมจะเกษียณ เขาเห็นว่าผมน่าจะมีงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาดูแล ผมเองเห็นว่ามันเป็นงานที่ช่วยสังคมได้ทางอ้อม จึงรับมาทำ" ประยูรกล่าว เหตุนี้ประยูรก็เลยเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด ด้วยโดยปริยาย

ต่างฝ่ายต่างชื่นชมในความสามารถที่แต่ละคนมี ทักษิณนั้นชำนาญในเรื่องไฮ-เทคอย่างหาตัวจับยาก ส่วนประยูร ชีวิตการทำงานในฐานะนายธนาคารที่ผ่านมาจนขึ้นสู่ตำแหน่งสุดยอดในวงการก็เป็นเครื่องประกันคุณภาพได้เป็นอย่างดี

ธุรกิจหลังเกษียณของประยูรก็เลยมีที่ทาจากแรงดลใจในค่านิยมแบบไทย ๆ โดยแท้!

หลังจากที่ทักษิณออกไอเดียเรื่องระบบส่งสัญญาณฉุกเฉินแบบไร้สาย และวิศวกรไทยสามารถผลิตเครื่องมือออกมาได้สำเร็จโดยใช้การส่งสัญญาณวิทยุเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว เขาและประยูรก็ริเริ่มที่จะผลิตเครื่องมือนี้ออกสู่ท้องตลาดเพื่อขาย

ลูกค้าปีแรกของเอสโอซิสเต็มก็คือคนรู้จัก เพื่อนฝูงในแวดวงของประยูรและทักษิณ โดยในปีแรกขายได้ไม่ถึงร้อยเครื่อง เมื่อสินค้าขายได้น้อย บริษัทก็ต้องขาดทุนอย่างไม่มีปัญหา

ในปีต่อมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงแผนการตลาดโดยดึงเอาบริษัท ที. ซี. อัลฟา จิบเสน จำกัด และธีรศักดิ์ กาญจนศักดิ์ชัย กรรมการผู้จัดการของบริษัทเข้ามารับเป็นผู้แทนจำหน่ายและประกันการจำหน่าย

ที. ซี. จิบเสน เป็นบริษัทมีชื่อทางด้านการนำเข้า โดยเฉพาะสตีม โคล, ปิค ไอออน, เฟอโร ซิลิคอน และการส่งออกก็คือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องยนต์มิตซูบิชิแก่เกษตรกร โดยใช้กลยุทธ์การขายผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม ที. ซี. จึงมารับจำหน่ายเครื่องเอสโอซิสเต็มได้ในเมื่อประยูร จินดาประดิษฐ์ นั่งแป้นเป็นประธานกรรมการของทั้งสองบริษัท และเซฟตี้ ออเดอร์ ซิสเต็มกับ ที. ซี. ต่างเข้าถือหุ้นซึ่งกันและกัน

ทุกวันนี้ ประยูรใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับธุรกิจนี้ โดยหวังว่าสักวันหนึ่งในอนาคตจะสำเร็จเหมือนกับที่เขาเคยได้รับมาแล้วในสมัยลงจากแบงก์ทหารไทยที่มีแต่คนแซ่ซ้องสรรเสริญ

นอกเหนือจากการดูแลธุรกิจไฮ-เทคอย่างเซฟตี้ ออเดอร์ ซิสเต็มที่มีต่างชาติสนใจขอซื้อโนว์ฮาวแล้ว ประยูรยังมีงานด้านการศึกษา ซึ่งเจ้าตัวบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่านี่คืองานที่จะใช้ชีวิตในบั้นปลายอุทิศให้

ประยูรได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี 2521 และยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านพาณิชยศาสตร์, บริหารธุรกิจ และเศรษฐศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย

ตำแหน่งการศึกษาที่รับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันมีทั้งการสอน และการดูแลนโยบายบริหารของมหาวิทยาลัย ได้แก่ ตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง กับกำลังโปรดเกล้าเป็นกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ส่วนการสอนมีปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์จุฬาฯ ปริญญาโทภาควิชาบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาตรีและโทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งสถาบันจิตวิทยาเพื่อความมั่นคงของกองบัญชาการทหารสูงสุด นอกจากนี้ยังเป็นประธานมูลนิธิด้านการศึกษาต่าง ๆ อีกมาก เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยเอกชนอีก 3-4 แห่ง

ดูตามรายชื่อที่กล่าวมาและที่ยังไม่ได้เอ่ยถึงอีกมากมายแล้ว ก็เชื่อได้ตามคำพูดของเขาที่ว่า "ผมรับผิดชอบแทบทุกมหาวิทยาลัยอยู่แล้วในตอนนี้"

ประยูรกล่าวด้วยว่ามูลเหตุที่ทำให้สนใจอุทิศชีวิตบั้นปลายเพื่อการศึกษามาจากความประจักษ์กับตัวเองซึ่ง "ได้ดีเพราะตะเกียกตะกายทางการศึกษา"

ในแต่ละวันของชีวิตหลังเกษียณ ประยูรไม่ได้ใช้เวลาพักผ่อนอย่างคนเกษียณงานทั่วไป เขาจะมีตารางการนัดหมายประจำวันในแต่ละอาทิตย์ใส่ไว้ในกระเป๋า และชีวิตก็เดินไปตามตารางนั้น ไม่มีวันหยุด ส่วนเวลาว่างเขาจะ "สนุกกับเพื่อน ๆ เฮกัน คุยกัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาทานเลี้ยงก็หมดแล้ว"

ทุกวันนี้แม้จะเกษียณงานบริหารจากธนาคารทหารไทย แต่ประยูรยังยุ่งเกี่ยวด้วยในตำแหน่งกรรมการและที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร ยังมีรายการที่จะต้องร่วมประชุมตัดสินใจ และกำหนดทิศทางของธนาคารแห่งนี้ ซึ่งเขาฝากฝีไม้ลายมือการบริหารชั้นยอดไว้ถึง 8 ปีเต็ม

ในวัยเริ่มต้นของเลขหกวันนี้ หลายคนอาจจะใช้ชีวิตพักผ่อนอยู่กับครอบครัวและงานอดิเรกตามประสาแต่สำหรับประยูร จินดาประดิษฐ์แล้ว เขายังใช้ชีวิตให้มีประโยชน์ได้อีกมาก อย่างที่ไม่ทำให้เกิดความเหงาเหมือนคนแก่ทั่วไป และนี่คือรางวัลชีวิตที่ประยูรได้รับหลังเกษียณจากเพื่อนพ้องและสังคม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us