Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2531
อาณาจักรคุรุสภา เหมืองทอง "เงินผ่อน"ที่ฮอนด้าตีแตกเข้าเต็มเปา!             
โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
โฮมเพจ กระทรวงศึกษาธิการ

   
search resources

สยามยามาฮ่า
กระทรวงศึกษาธิการ
องค์การค้าคุรุสภา
ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย), บจก.
Motorcycle




คุรุสภาคงคาดไม่ถึงเสียด้วยซ้ำสำหรับยอดตัวเลขครูที่สั่งจองมอเตอร์ไซค์ซึ่งมากมายมหาศาลเช่นนี้ และตัวเอ.พี. ฮอนด้าที่ขายรถให้คุรุสภาก็คงยิ้มแก้มแทบปริเมื่อยอดขายโดยรวมทั้งหมด ฮอนด้าพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1….อะไรๆ มันก็ดูดีไปหมด ดีเสียจนมีโครงการอื่นๆ ตามมาเป็นทิวแถว

ถ้าจะถามว่า "คุรุสภา" คืออะไร ก็อาจจะได้คำตอบที่ชวนงงอยู่ไม่น้อย เพราะคุรุสภาไม่ใช่หน่วยราชการ ไม่ใช่ธุรกิจเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ แต่ที่ระบุได้คือ คุรุสภาเป็นนิติบุคคล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติครู 2488

หน้าที่โดยหลักของคุรุสภาคือให้คำปรึกษาและความคิดเห็นแก่กระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนโยบายการศึกษาทั่วไป ส่งเสริมฐานะของครูในทางความรู้ ความประพฤติความเป็นอยู่ของครู และรักษาประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครูให้มั่นคง

ที่น่าสนใจคือ ครูทุกคนไม่ว่าในภาครัฐบาล ภาคเอกชน ขึ้นชื่อว่าครูแล้ว ต้องเป็นสมาชิกคุรุสภา ต้องเสียค่าบำรุงคนละ 50 บาทต่อปีหรือคนละ 500 บาทตลอดชีพ

จำนวนสมาชิกคุรุสภาเท่าที่สำรวจล่าสุดประเมินว่าราวๆ 790,000 คน แม้ว่าในตัวเลขเกือบ 8 แสนคนนี้จะไม่ใช่ครูเสียทั้งหมดเพราะมีสมาชิกสมทบ ซึ่งอาจจะเป็นเพียงผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่กับวิชาชีพครูอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าข้าราชการครูเป็นกลุ่มข้าราชการกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือประมาณครึ่งหนึ่งของข้าราชการทั้งประเทศ

ภาระหน้าที่ของคุรุสภาจึงดูยิ่งใหญ่เหลือคณาเอาเสียจริงๆ!

หน้าที่ประการหนึ่งที่คุรุสภาจัดทำต่อเนื่องมาและได้รับความสนใจจากครูอย่างดียิ่ง เห็นจะได้แก่ การจัดสวัสดิการครูนอกเหนือจากเงินเดือนและสวัสดิการที่รัฐให้แก่ครูเป็นปกติอยู่แล้ว บริการด้านนี้ของคุรุสภามีอยู่ด้วยกันหลายประการ เช่น ร้านค้าในเครือเพื่อบริการสมาชิกคุรุสภา ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 100 แห่ง, การจัดสวัสดิการเคหะสงเคราะห์ หรือโครงการจัดสรรบ้านพร้อมที่ดินนั่นเอง, โครงการบัวหลวงเพื่อครูเพื่อซื้อและปลูกบ้าน, การช่วยเหลือสมาชิกและครอบครัวของสมาชิกที่ถึงแก่กรรม, สถานพยาบาลของคุรุสภา, หอพักคุรุสภา, โครงการสินค้าสวัสดิการเพื่อสมาชิก เป็นต้น

โดยเฉพาะโครงการสินค้าสวัสดิการเพื่อสมาชิกนี่เองที่จัดทำมาหลายโครงการแล้ว ขายสินค้าสารพัดชนิด ตั้งแต่ จักรเย็บผ้า, เครื่องออกกำลังกาย, เครื่องกรองน้ำ, เครื่องดนตรี, รถจักรยาน 2 ล้อ, เครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้ว เป็นต้น

แต่ที่บูมเปรี้ยงปร้างมาจนเดี๋ยวนี้ เห็นจะไม่พ้นโครงการขายรถมอเตอร์ไซค์ที่ดำเนินมาถึงโครงการที่ 5 เข้าไปแล้ว

โครงการนี้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2526 เมื่อคุรุสภาต้องการช่วยเหลือครูที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างโรงเรียนกับที่พัก โดยเฉพาะครูในท้องถิ่นทุรกันดาร คุรุสภาจึงจะจัดหามอเตอร์ไซค์ให้ครูซื้อในราคาถูกกว่าท้องตลาด หรือถ้าผ่อนก็ต้องผ่อนถูกกว่าที่อื่นๆ

คุรุสภาโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมสวัสดิการของคุรุสภาได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทผู้ประกอบและจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ทุกเจ้า แต่ก็ได้รับคำตอบมาเพียงรายเดียวคือบริษัทสยามยามาฮ่า จำกัด

"เข้าใจว่าตอนนั้นบริษัทผู้จำหน่ายมอเตอร์ไซค์อื่นๆ ยังไม่มีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ช่วงนั้นเราได้รับความช่วยเหลือมากจากคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ที่เข้าใจและเห็นใจเรื่องความเดือดร้อนของครู" เจ้าหน้าที่ของคุรุสภากล่าว

สยามยามาฮ่าให้ความร่วมมือโดยขายมอเตอร์ไซค์รุ่น Y 80 MATE ให้ครูผ่านคุรุสภาในราคาเพียง 14,800 บาท ในขณะที่ราคาท้องตลาดยืนอยู่ที่ 18,000 บาท

จำนวนรถที่คุรุสภาตั้งเป้าไว้คือ 5,000 คัน จำนวนรถที่มากเช่นนี้ทำให้ราคารถต่ำกว่าราคาท้องตลาด อีกทั้งเป็นราคาที่ตั้งโดยผู้ผลิตโดยตรง ส่วนเรื่องเงินเชื่อที่จะให้ทางครูผ่อนชำระนั้น ทางคุรุสภาได้ขอความช่วยเหลือไปยังสถาบันการเงินเกือบทุกแห่งแต่ก็มาลงเอยที่ธนาคารทหารไทย ซึ่งให้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดคือ 16.5% ไม่มีเงินดาวน์ ให้ผ่อนชำระเดือนละ 790 บาท เป็นเวลา 24 เดือน รวมเงินผ่อนทั้งหมด 18,960 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ทางธนาคารทหารไทยยังได้กำหนดให้ผู้กู้ซื้อรถต้องทำประกันด้วย คุรุสภาก็ได้รับความร่วมมือจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด โดยคิดเบี้ยประกันเพียงรายละ 200 บาท ให้ความคุ้มครองชีวิตเป็นเวลา 24 เดือน หรือตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระนั่นเอง

ด้วยข้อเสนอและเงื่อนไขที่ค่อนข้างดีมากๆ เช่นนี้ จากจำนวนรถที่ตั้งเป้าไว้เพียง 5,000 คัน ยอดสั่งจองกลับพุ่งไปที่ 30,000 คัน

"เราก็คาดไม่ถึงว่าจำนวนความต้องการของครูจะมากมายถึงขนาดนี้ เพราะเราเพิ่งจัดทำเพียงโครงการแรก เราก็ได้แต่สนองความต้องการเท่าที่เราได้ตกลงกับทางสยามยามาฮ่าคือ 5,000 คันเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็ต้องรอไปโครงการต่อไป" วิลาวัลย์ มาคุ้ม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการ เท้าความถึงอดีต

โครงการที่ 2 ดำเนินไปเช่นโครงการแรก บริษัทและธนาคารยังเป็นเจ้าเดิม เนื่องจากเสนอเงื่อนไขเป็นที่พอใจแก่คุรุสภา มีเพียงตัวเลขเท่านั้นที่แปรเปลี่ยนตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น ราคารถที่ขึ้นไป ทำให้ธนาคารทหารไทยต้องตั้งวงเงินกู้เพิ่มเป็น 17,500 บาท กำหนดผ่อนชำระ 865 บาท 24 งวด ในอัตราดอกเบี้ย 16.5%

โครงการที่ 2 ตั้งเป้าไว้ 8,000 คัน แต่เอาเข้าจริง ทางสยามยามาฮ่าก็ต้องเอื้อเฟื้อให้คุรุสภาไปถึง 10,000 คัน

โครงการที่ 3 ก็ยังเหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง แต่ตัวเลขจำนวนรถที่ขายผ่านคุรุสภาลดไปที่ 8,000 คัน

แล้วก็มาถึงโครงการที่ 4 ในปี 2531 เมื่อ เอ.พี.ฮอนด้าเข้าเสนอเงื่อนไขแก่คุรุสภาด้วยหลังจากที่สยามยามาฮ่ากวาดไปแล้ว 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 23,000 คัน

เอ.พี.ฮอนด้าได้รับการคัดเลือกจากคุรุสภาให้เป็นผู้จำหน่ายรถผ่านคุรุสภาในโครงการที่ 4 นี่เอง

"เราไม่ได้ผูกมัดว่า เราจะต้องร่วมโครงการกับสยามยามาฮ่าตลอดไป เราไม่ได้ผูกพันกับใครเลย ทุกโครงการเราจะทำจดหมายถึงทุกบริษัทผู้ประกอบ และผู้จำหน่ายเพื่อเชื้อเชิญให้เขาเห็นความสำคัญของโครงการและเสนอเงื่อนไข เราจะเป็นผู้คัดเลือกโดยพิจารณาเงื่อนไขที่ดีที่สุด และให้ประโยชน์แก่ครูมากที่สุด" เสน่ห์ ท่าตะเคียน ผู้อำนวยการกองสวัสดิการคุรุสภาเล่ารายละเอียด

"เราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะช่วยเหลือสังคม เราทำธุรกิจในเมืองไทยมาเป็นเวลานาน เราก็ต้องการคืนผลกำไรให้แก่สังคมบ้างและกลุ่มครูก็เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมากใน 3 โครงการแรกที่เราไม่เสนอเงื่อนไขต่อคุรุสภาเลยนั้น เพราะเราไม่พร้อมในหลายด้านๆ" สุรพล ตรีวิทยา ผู้จัดการฝ่ายขายบริษัทเอ. พี. ฮอนด้ากล่าว

ในโครงการที่ 4 เอ.พี.ฮอนด้าเสนอฮอนด้า ดรีม 100 ในราคา 20,950 บาท สำหรับธนาคารก็เปลี่ยนจากธนาคารทหารไทยมาเป็นกสิกรไทย ซึ่งให้เงื่อนไขดีมากๆ คือ วงเงินกู้ 22,000 บาท ไม่มีเงินดาวน์ ผ่อนชำระ 36 งวดๆ ละ 720 บาทในอัตราดอกเบี้ย 11%

วงเงินกู้ที่เพิ่มมานั้นคือค่าดำเนินการด้านต่างๆ ที่เป็นค่าใช้จริงของคุรุสภา ซึ่งทั้งหมดคุรุสภายืนยันว่า ไม่ได้กำไรอะไรทั้งสิ้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวประกอบด้วย ค่าดำเนินการส่วนกลาง 50 บาท, ค่าดำเนินการของจังหวัด 50 บาท, ค่าหักเงินเดือน ณ ที่จ่าย 50 บาท, ค่าประกันชีวิต 230 บาท, ค่าจดทะเบียนยานพาหนะ 360 บาท ซึ่งรวมแล้วครูจะต้องจ่ายเพื่อซื้อรถในราคาเงินสดทั้งสิ้น 21,690 บาท ส่วนเงินผ่อนที่ครูต้องผ่อนกับกสิกรไทย รวมแล้วคือ 25,920 บาท

ขณะที่ราคาฮอนด้าดรีมในท้องตลาดคือ 27,000 ถึง 28,000 บาท ราคาเงินผ่อนคือดาวน์ 5,000 บาท ผ่อน 24 งวดๆ ละ 1,435 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 39,440 บาท

เห็นตัวเลขต่างกันขนาดนี้ ใครเล่าจะไม่สนใจโครงการของคุรุสภา

ความต้องการของครูที่ทั้งคุรุสภาและเอ.พี.ฮอนด้าประเมินว่า น่าจะตกราวๆ 10,000 คัน แต่เมื่อสรุปโครงการแล้ว ตัวเลขมอเตอร์ไซค์ที่ขายผ่านคุรุสภาหยุดที่ 49,836 คัน!

"เรื่องการสำรวจความต้องการของคนไทยนี่เป็นเรื่องยากมาก แต่แรกเราสำรวจครูไปทั่วประเทศ ได้ตัวเลขมาหมื่นคัน บวกลบไม่เกิน 10% พอเราลงมือทำจริง ครูก็สั่งเพิ่มมาเรื่อยๆ เราก็เพิ่มยอดกับฮอนด้าเขาเรื่อย จนบริษัทเขาบอกไม่ไหวแล้วนะ นั่นแหละเราถึงหยุดที่เกือบ 5 หมื่นคัน" ถนอม ทัฬหพงษ์ รองเลขาธิการคุรุสภาเล่า

รวมยอดขายมอเตอร์ไซค์ที่ขายผ่านคุรุสภาทั้ง 4 โครงการประมาณ 73,000 คัน ซึ่งเป็นยอดขายที่ไม่น้อยเลย และภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ครูที่สั่งจองจะได้รับมอบรถครบทั้งหมด

ถ้ามองจากตัวเลขจำนวนรถที่ขายผ่านคุรุสภาพอจะสรุปได้ว่า ทั้ง 4 โครงการที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จมากทีเดียว เพราะหนึ่ง-ครูได้รถ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการ สอง-ครูได้ซื้อรถในราคาถูกมากและยังได้ผ่อนแบบสบายๆ สาม-รถที่ครูได้รับจัดได้ว่าเป็นสินค้าดี

"อย่างเช่นรุ่นดรีมที่ฮอนด้าเขาเอามาขายจัดได้ว่าเป็นที่ต้องการของตลาดมากทีเดียว ช่วงหนึ่งเคยมีคนวางเงินดาวน์รถรุ่นนี้แล้วก็เผ่นไปเลย เอาไปแยกชิ้นส่วนแล้วลักลอบไปขายที่เขมร ที่โน่นนิยมมากเพราะประหยัดน้ำมัน แต่เดี๋ยวนี้ถูกปราบจนซาไปแล้ว" เจ้าของร้านขายมอเตอร์ไซค์เจ้าหนึ่งเล่า

สำหรับคุรุสภาเอง คุรุสภายืนยันหนักแน่นว่า คุรุสภาไม่ใช่นักธุรกิจ ไม่ใช่พ่อค้า และไม่ใช่นายหน้า โครงการทั้งหมดทำตามนโยบายของคุรุสภาที่ต้องจัดสวัสดิการและยกระดับความเป็นอยู่ของครูให้สะดวกสบายขึ้น ค่าดำเนินการทั้งหมดที่คุรุสภาบวกเข้าไปในการสั่งซื้อของครูก็เป็นค่าใช้จ่ายจริงที่ไม่ได้พึ่งงบประมาณของคุรุสภาเลย

"เรื่องที่ทางเอ.พี.ฮอนด้าจะมอบเงินให้ 1 ล้านบาททุกๆ ยอดขาย 1 หมื่นคันก็เป็นเรื่องการช่วยเหลือของฮอนด้าที่ญี่ปุ่นไม่เกี่ยวกับการเสนอเงื่อนไขต่อโครงการ เราไม่ได้รับมาพิจารณาด้วย ให้หรือไม่ให้ก็ไม่เกี่ยวกับโครงการหรือราคารถ และเงินจำนวนนี้ก็เป็นการบริจาคเข้ามูลนิธิช่วยเหลือครูที่คุรุสภาจัดตั้งซึ่งมีทั้งหมด 5 มูลนิธิ" เสน่ห์ชี้แจงถึงข่าวเรื่องเงินๆ ทองๆ

ส่วนเอ.พี.ฮอนด้าผู้ป้อนรถให้กับคุรุสภาเกือบ 5 หมื่นคันในช่วง 1 ปีนั้น ความลำบากของเอ.พี.ฮอนด้าอยู่ที่กำลังการผลิตที่ผลิตได้เดือนละ 15,000 ค้น แต่ต้องป้อนดีลเลอร์ทั่วประเทศ และผลิตหลายรุ่นหลายแบบ ไม่ใช่รุ่นดรีมเท่านั้น อีกทั้งตลาดทั้งปี 2531 มีการปรับราคารถไปถึง 3 ครั้ง แต่กับคุรุสภา เอ.พี.ฮอนด้ายืนราคาที่เสนอไว้แต่แรกมาตลอด

แต่ยอดขายเกือบ 50,000 คันที่เอ.พี.ฮอนด้าขายให้คุรุสภา เป็นตัวเลขที่สวยงามมาก เพราะตัวเลขตรงนี้มากพอที่จะทำให้ฮอนด้าก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในยุทธจักรค้ามอเตอร์ไซค์เลยทีเดียว (โปรดดูตารางยอดขายมอเตอร์ไซค์)

จำนวนรถ 49,836 คัน คูณกับราคารถคันละ 20,950 บาท เท่ากับ 1,044,064,200 บาท หรือพันกว่าล้านคือยอดเงินที่เอ.พี.ฮอนด้าได้รับ

ถ้าสมมติว่าสิ้นปีนี้ ยอดขายฮอนด้าคือ 120,000 คัน จำนวนรถที่เอ.พี.ฮอนด้าส่งมอบให้คุรุสภาเฉพาะในปี 2531 ตีเสียว่า 40,000 คันต่อ 120,000 คัน เท่ากับ 1/3 ของยอดขายทั้งปีของเอ.พี.ฮอนด้า แม้ว่าทางเอ.พี.ฮอนด้าจะกล่าวว่ายอดขายผ่านคุรุสภาจะเป็นเพียงตัวเลขบวก เป็นตลาดที่เพิ่มขึ้นมาเพียงชั่วคราวและฮอนด้าก็มีลูกค้ากลุ่มใหญ่กลุ่มอื่นๆ เหมือนกัน แต่สำหรับปีนี้ ปี 2531 ตัวเลขทั้งหมดก็คือความสำเร็จของฮอนด้าที่ทำเอาค่ายอื่นค้อนได้เหมือนกัน

"เราไม่ได้ตั้งใจที่จะก่อผลสะเทือนอะไรให้กับตลาด เพียงแต่ว่าโครงการรถมอเตอร์ไซค์ตรงกับความต้องการของครูมากที่สุดเท่านั้น" เสน่ห์และวิลาวัลย์ช่วยกันแถลง

เกือบจะเป็นที่ยอมรับไปแล้วว่า รถเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับชีวิต แม้จะไม่ได้รถเก๋ง ได้รถมอเตอร์ไซค์ไว้ก่อนก็ยังดี ทั้งราคาก็ถูกกว่าตามดีลเลอร์ตั้งมากมาย ใครจะอดใจไหวแถมเมื่อกสิกรไทยยืดเวลาการผ่อนชำระออกไปอีก แทนที่จะเป็น 24 เดือนดัง 3 โครงการแรกเป็น 36 เดือน ความต้องการซื้อก็เพิ่มขึ้น

"ระยะเวลาก็มีส่วนมาก คุณอย่าลืมว่ายามาฮ่าปูพื้นฐานมาตั้ง 3 โครงการเป็นเวลา 3 ปี โครงการหลังก็ได้ผลพวงไปด้วย ครูคนใหม่เห็นครูคนเก่ามี เขาก็อยากมีบ้างเป็นธรรมดา" ครูคนหนึ่งเล่า

แต่สำหรับสุรพล ตรีวิทยา ผู้จัดการฝ่ายขายเอ.พี.ฮอนด้ากล่าวว่า "มอเตอร์ไซค์รุ่นดรีม 100 ที่เราเสนอไป เป็นรุ่นที่ดีที่สุดของเรารุ่นหนึ่ง ตอนแรกครูก็เกรงกันว่า ราคาถูกกว่าดีลเลอร์อาจจะเป็นรถตกรุ่นบ้าง รถที่ไม่สมบูรณ์หรือรถที่ลดทอนชิ้นส่วนบ้าง แต่พอรถรุ่นแรกส่งมอบออกไป เราก็พิสูจน์ว่า รถของเราดี ไม่ใช่รถตกรุ่น ปากต่อปากทำให้เราได้รับออร์เดอร์จนเราตกใจไปเหมือนกัน"

ที่แตกต่างจากปีก่อนมากๆ คือ ทุกคนยอมรับว่าปีนี้เป็น "ปีทองของมอเตอร์ไซค์" โดยแท้ เพราะเป็นปีที่รถมอเตอร์ไซค์ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะในต่างจังหวัดจากยอดขายตกปีละ 200,000-250,000 คัน มาปีนี้คาดว่าจะขึ้นไปถึง 400,000 คัน ด้วยสาเหตุที่ว่า เศรษฐกิจดี กำลังการซื้อสูง

ผลพลอยได้ที่เอ.พี.ฮอนด้าได้รับก็คือ ฐานะของครูเป็นที่ยอมรับมากในหมู่ชาวบ้านต่างจังหวัด เมื่อครูใช้สินค้าตัวใด ยี่ห้อใด ก็ย่อมได้รับความสนใจและยอมรับไปด้วย กลายเป็นงานประชาสัมพันธ์ที่เอ.พี.ฮอนด้าบอกว่า "ได้ผลค่อนข้างมาก" เรียกได้ว่า งานนี้เอ.พี.ฮอนด้าขายรถได้แล้ว ยังได้ผลข้างเคียงที่เสริมภาพพจน์ได้อย่างวิเศษอีกด้วย

มีเรื่องเดียวที่เอ.พี.ฮอนด้าต้องมานั่งตระหนักในภายหลังก็คือ เสียงสะท้อนจากบรรดาดีลเลอร์ทั้งหลาย

เสียงส่วนหนึ่งของดีลเลอร์ฮอนด้าบ่นว่า หนึ่ง-เอ.พี.ฮอนด้าขายรถตัดราคาดีลเลอร์ สอง-เอ.พี.ฮอนด้ามาแย่งตลาดลูกค้าที่สำคัญไป เพราะกลุ่มครูก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง สาม-ดีลเลอร์เกรงว่า เมื่อมีโครงการที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ย่อมจะมีโครงการอื่นๆ กับกลุ่มอาชีพอื่นได้ ซึ่งเวลานั้นดีลเลอร์จะเดือดร้อนมาก

"แล้วแบบนี้จะมีดีลเลอร์ไปทำไม" ดีลเลอร์เจ้าหนึ่งบ่น

เสียงสะท้อนนี้ถึงกับขึ้นเป็นข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง แต่เมื่อ "ผู้จัดการ" ตรวจสอบกับดีลเลอร์เจ้าหนึ่งในภาคอีสาน ก็ได้มาเพียงว่าเป็นการเปรยเป็นการส่วนตัวเท่านั้น

"ดีลเลอร์ขายมอเตอร์ไซด์ 17 จังหวัดภาคอีสานมีการประชุมกันจริง แต่เป็นการประชุมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องรถข้ามเขตเพื่อไปขายจังหวัดอื่น ทำให้ไปแย่งยอดขายดีลเลอร์ในจังหวัดนั้น เรามาปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร เรื่องขายรถคุรุสภานั้นเป็นเพียงการคุยส่วนตัว เพราะจริงๆ แล้วดีลเลอร์ตั้งมากมายที่เขาเฉยๆ กับเรื่องนี้" ดีลเลอร์เจ้าเดิมกล่าว

เรื่องนี้ เอ.พี.ฮอนด้ายืนยันว่า ได้มีการพูดคุยกับดีลเลอร์ในเรื่องนี้อย่างชัดเจนแล้ว และชี้ให้ดีลเลอร์เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้แก่ดีลเลอร์หลายประการ คือ

หนึ่ง-เอ.พี.ฮอนด้าทำหน้าที่ปกป้องตลาดโดยรวมไว้ เพราะถึงไม่ทำ บริษัทอื่นก็ต้องแย่งไปจนได้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อตลาดทั้งหมด และจะไปห้ามคุรุสภาทำโครงการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องถูกต้อง

สอง-เอ.พี.ฮอนด้ายืนยันว่า ยอดขายของแต่ละจังหวัดไม่ตกลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้นในราว 20% เพราะการช่วยประชาสัมพันธ์ส่วนหนึ่ง ซึ่งในกลุ่มครูนี้แม้เอ.พี.ฮอนด้าจะไปแย่งลูกค้าในส่วนนี้ประมาณ 5-10% แต่เอ.พี.ฮอนด้าก็ไปเพิ่มลูกค้าในกลุ่มอื่นให้ด้วยซ้ำ อีกทั้งเป็นการเพิ่มกำลังการซื้อให้ครูมากกว่า เพราะครูส่วนใหญ่ประมาณ 90% ซื้อรถในโครงการนี้ด้วยเงินผ่อน

สาม-เอ.พี.ฮอนด้าไม่ได้ทอดทิ้งดีลเลอร์การส่งมอบรถให้ครู เอ.พี.ฮอนด้าจะส่งมอบผ่านดีลเลอร์ในแต่ละจังหวัด โดยให้ค่าส่งมอบคันละ 200 บาท ซึ่งตรงนี้เองจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ดีลเลอร์ไปด้วย เมื่อครูมารับรถก็ได้ทำความรู้จักกัน จะซ่อมรถ เปลี่ยนอะไหล่ก็ย่อมมาใช้บริการกับดีลเลอร์เจ้าเดิม

ดีลเลอร์เจ้าหนึ่งที่พิษณุโลกรับส่งมอบรถให้กับครูงวดหนึ่งหลายร้อยคัน ชั่วปีเดียวดีลเลอร์เจ้านี้ได้รับค่าส่งมอบเป็นเงินแสนซึ่งเจ้าตัวบอกว่า สมน้ำสมเนื้อกว่าขายรถเป็นรายคันเสียอีก เพราะไม่ต้องลงทุนอะไรแล้วยังได้ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ในภายหลังอีกด้วย

"แต่การส่งมอบรถ เราจะส่งมอบเฉพาะดีลเลอร์ที่สมบูรณ์และครบวงจรเท่านั้น คือต้องมีโชว์รูม บริการซ่อมและมีสต็อกอะไหล่ ตรงนี้เองที่อาจจะมีเสียงบ่นมาจากดีลเลอร์เจ้าเล็กๆ" สุรพลกล่าวเสียงสะท้อนด้านลบ

"ดีลเลอร์จะต้องพยายามเข้าใจ ต้องคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว จะคิดแต่ประโยชน์ไม่ได้ ไม่มีคุรุสภาหรือเราก็ต้องมีหน่วยงานอื่น บริษัทอื่นทำจนได้ มันต้องมีการเสียสละกันบ้าง" สุรพลกล่าวตบท้าย

คุรุสภากำลังจะเริ่มโครงการมอเตอร์ไซค์โครงการที่ 5 ในเดือนมกราคม 2532 เอ.พี.ฮอนด้าเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ขายรถแก่คุรุสภาอีกครั้ง รถที่เอ.พี.ฮอนด้าเสนอเข้าไปคือรถรุ่นดรีม 100 ราคา 26,200 บาท ขณะที่ราคาตามดีลเลอร์คือ 28,800 บาท

ราคาผ่อนส่งของบริษัทเช่าซื้อรถเจ้าหนึ่งคือ ดาวน์ 9,100 บาท ผ่อน 24 งวดๆ ละ 1,275 บาท เอาไว้เทียบกับตอนที่คุรุสภาประกาศตัวเลขออกมาบ้าง เพราะขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ทางคุรุสภายังอยู่ในขั้นเจรจรกับทางธนาคารเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย จึงยังไม่มีรายละเอียดและการแจ้งยอดจากครู แต่ถึงกระนั้นทางเอ.พี.ฮอนด้าก็ประเมินว่ายอดผู้สั่งจองน่าจะอยู่ในราว 30,000 คัน

อีกโครงการหนึ่งที่ดูเหมือนจะคึกคักตามมาด้วยก็คือ โครงการรถกระบะ ซึ่งความจริงจัดมาแล้ว 3 โครงการและกำลังจัดทำโครงการที่ 4 ใน 3 โครงการที่ผ่านมามีทั้งมิตซูบิชิ, โตโยต้า, นิสสัน เข้าร่วมขายได้รวมประมาณ 1,500 คัน

โครงการใหม่ที่จะออกเก๋ไก๋อยู่สักหน่อยคือ โครงการขายรถเก๋ง นัยว่าเพื่อรองรับกับคุณภาพชีวิตของครูที่สูงขึ้น

โครงการรถกระบะมีผู้สนใจเข้าร่วมเสนอเงื่อนไขโครงการที่ 4 แล้ว คือโตโยต้ากับนิสสัน ซึ่งในโครงการนี้คุรุสภาตั้งเป้าไว้ 200 คัน ส่วนโครงการรถเก๋งมีเรย์โนลด์กับนิสสันเสนอเงื่อนไข โครงการนี้คุรุสภาตั้งเป้าไว้แค่ 50 คัน แต่ทั้งสองโครงการยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาโดยเฉพาะทางคุรุสภากำลังดูทิศทางลมเรื่องนโยบายราคารถยนต์ของรัฐบาล

เสน่ห์ ท่าตะเคียนยืนยันว่าโครงการเหล่านี้จะเป็นสวัสดิการสำหรับสมาชิกเท่านั้น ไม่อนุญาตให้สมาชิกสมทบหรือบุคคลภายนอกเข้ามาใช้บริการได้ เพราะถ้าเป็นดังนั้นจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการปฏิบัติและอาจเกิดผู้สนใจจากภายนอกจนไม่ใช่เป็นการจัดสวัสดิการเพื่อครู

อีกโครงการที่เกี่ยวพันตามกันมาคือโครงการจำหน่ายสินค้าสวัสดิการเพื่อสมาชิกคุรุสภาด้วยเงินผ่อน แต่ดำเนินการโดยองค์การค้าของคุรุสภา แต่องค์การค้าฯ ใช้วิธีที่แตกต่างจากคุรุสภาคือ ขายสินค้าสารพัดชนิดและไม่ผูกพันว่าจะเป็นยี่ห้อใด มีตั้งแต่เครื่องพิมพ์ดีด กระติกน้ำร้อนเครื่องใช้ไฟฟ้า จนถึงรถกระบะ รวมแล้วหลายร้อยรายการ

ทุกรายการครูจะติดต่อซื้อกับองค์การค้าฯ โดยตรง ไม่มีตัวแทนขาย ไม่มีการสั่งจอง องค์การค้าฯ จะเป็นสถาบันการเงินด้วยตัวเอง ราคาเงินผ่อนย่อมถูกกว่าบริษัทเงินผ่อนโดยทั่วไป เพราะองค์การค้าฯ ติดต่อกับบริษัทผู้จำหน่ายโดยตรง

อาจจะเป็นโครงการที่น่าสนใจมากๆ เพียงแต่ผลกระทบต่อตลาดอาจจะไม่สูงเท่าโครงการรถมอเตอร์ไซค์ เพราะสินค้ามากมายหลายรายการ ย่อมกระจายความต้องการของครูออกไป ที่กระเทือนบ้างคือบริษัทธุรกิจเช่าซื้อนั่นแหละ แต่ก็ต้องดูไปอีกระยะเพราะโครงการนี้เพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่กี่เดือน

โครงการที่เหมือนกับโครงการของคุรุสภาอย่างชัดเจนคือ โครงการสวัสดิการด้านยานพาหนะให้พนักงานระดับล่างของธนาคารกสิกรไทย ซึ่งก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกับคุรุสภาเกือบทุกอย่าง รวมถึงยี่ห้อรถมอเตอร์ไซค์ด้วย คือฮอนด้าดรีม ยกเว้นราคาที่เขยิบไปตามฐานะคนแบงก์คือ 25,050 บาท โครงการที่เพิ่งสิ้นสุดไปเอ.พี.ฮอนด้าขายไปได้ประมาณ 5,000 คัน และกำลังเริ่มโครงการที่ 2 ต่อไป

ดูเหมือนว่าความนิยมในโครงการของคุรุสภาจะเป็นที่สนใจของบรรดาหน่วยงานราชการอื่นๆ เป็นทิวแถว เพราะทางคุรุสภาเองก็ได้รับการติดต่อขอข้อมูลไปศึกษา ทั้งทางเอ.พี.ฮอนด้าและสยามยามาฮ่าก็ยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากหลายหน่วยงานเช่นกัน แต่เกือบทุกโครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเป็นไปได้ รวมถึงกำลังการผลิตเพื่อป้อนโครงการของบริษัทผู้ประกอบรถ

แต่อย่างไรก็ตาม โอกาสที่หน่วยงานอื่นจะประสบความสำเร็จได้ดังเช่นคุรุสภา ก็ต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ มากมาย เช่น หนึ่ง-กลุ่มเป้าหมายที่ต้องมีจำนวนมากเพียงพอ สอง-หน่วยงานกลางที่จะต้องมีระบบการจัดการและความเชื่อถือที่มากพอ สาม-ตัวสินค้าที่มีคุณภาพและทันสมัย สี่-ราคาที่เหมาะสม ถูกกว่าท้องตลาดและระยะเวลาการผ่อนชำระดอกเบี้ยต่ำ และห้า-ภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อ เป็นต้น

ดังนั้นความหมายที่ว่า "เหมืองทองเงินผ่อน" จะเกิดขึ้นได้เพียงเพราะการนำระบบไปใช้ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว แต่สิ่งที่คุรุสภาได้กระทำไว้อาจเป็นบทเรียนในอีกหลายกรณีสำหรับหลายโครงการที่กำลังจะดำเนินต่อไป

"เหมืองทองเงินผ่อน" ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ก็ได้เกิดมาแล้ว ถามเอ.พี.ฮอนด้าคงจะตอบได้ดีที่สุดกระมัง!?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us