Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2531
ดร. จ่าง นักวิทยาศาสตร์หัวละร้อยเดียว!!!             
โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
 


   
search resources

สยามเฆมี
จ่าง รัตนะรัต
Chemicals and Plastics




ว่ากันว่าการเตรียมตัวก่อนครบกำหนดเกษียณอายุข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศไทย ถ้าไม่คิดจะหันหน้าเข้าวัดฟังธรรม ปลูกต้นไม้ เลี้ยงนก เลี้ยงปลา อยู่ในบ้าน ก็มีแต่เตรียมจะขยับขยายหาช่องทางให้ได้ "รับเชิญ" ไปเป็นประธานฯ กรรมการฯ หรือที่ปรึกษาของบริษัทที่ "รักใคร่นับถือกัน" โดยมักจะต้องมีสร้อยคำว่า "กิตติมศักดิ์" ต่อท้ายด้วยเสมอ น้อยคนนักที่จะได้นำความรู้ความสามารถตลอดจนประสบการณ์ชีวิต ที่สะสมมายาวนานของตนมาหาลู่ทางบุกเบิกสร้างงานเตรียมไว้ให้กับตนเอง (ในลักษณะที่ได้ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์แก่ประเทศชาติ) เหมือน ดร. จ่าง รัตนะรัต

มิหนำซ้ำยังประคองนาวาบริษัทฝ่าคลื่นลมมรสุมเศรษฐกิจมาหย่อนเล็กน้อยก็จะครบ 30 ปี และจากทุนจดทะเบียน 12 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2502 ของบริษัทสยามเฆมี บริษัทหนุ่มวัยฉกรรจ์วันนี้มีทรัพย์สินที่ตีราคาไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว!!!

ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเศรษฐีเมืองไทยที่ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นด้วยการมีเงินมากๆ ก่อนจะมีคำว่า ดร. วิ่งมาประดับหน้าชื่อ แต่ในกรณีของดร. จ่างนั้นคือภาพด้านกลับโดยแท้ คำพังเพยว่า "ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด" คงจะใช้กับเขาไม่ได้ เพราะอาจจะกล่าวได้ว่าทุนเริ่มต้นก่อนตั้งบริษัทสยามเฆมีจริงๆ ก็คือวิชาความรู้ทั้งหมดที่ดร. จ่างมี ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นคนเรียนหนังสือเก่งเอามากๆ ของเขาแท้ๆ

ดร. จ่างมีพ่อเป็นคนจีนแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งลงเรือสำเภามาจากเมืองไฮนานเมื่ออายุได้ประมาณ 30 ปี แล้วมาแต่งงานกับผู้หญิงไทยคนหนึ่งชื่อเลื่อน เขาเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2447 ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ดร. จ่างเป็นนักเรียนทุนของกระทรวงธรรมการ ไปศึกษาต่อที่เยอรมันในสาขาเคมีจนได้ถึงปริญญาดุษฎีบัณฑิต (DOCTORIS PHILOSOPHEAE NATURALIS) เกียรตินิยมและได้ทำงานที่สถาบันวิจัยโลหะ (KAISER WILHELM INSTITUT FIIR MCTALFORSCHING) ที่เมือง STUTTGART 1 ปีก่อนจะกลับประเทศไทย

การได้ไปใช้ชีวิตอยู่เยอรมันถึง 8 ปีนี้ เป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากสำหรับดร. จ่าง เพราะไม่เพียงแต่ได้ร่ำเรียนมีวิชาความรู้ติดตัวในสาขาที่น้อยคนนักจะสนใจหรือคิดถึงว่าจะเอามาทำธุรกิจได้ในขณะนั้น ความประทับใจที่มีต่อคนเยอรมัน ซึ่งดร. จ่างเห็นว่าเป็นคนที่มีระเบียบวินัย ทำงานจริงจัง รู้จักเล่นเป็นเวลา ก็กลายมาเป็นนิสัยในการทำงานที่เขาพยายามปลูกฝังให้กับลูกๆ ด้วย และตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ซึ่งดร. จ่างมีโอกาสไปเมืองนอกเกือบทุกปี ได้รู้จักทำงานกับคนเกือบทุกชาติทุกภาษา ชาวญี่ปุ่นจะเป็นอีกชาติหนึ่งที่เขายกย่องชื่นชมในความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา ขยัน สปอร์ต และรู้จักตอบแทน

ดร. จ่างกลับเมืองไทยใน พ.ศ. 2479 เข้ารับราชการที่กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กระทรวงกลาโหม ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา เนื่องจากระทรวงกลาโหมขอตัวมาจากกระทรวงธรรมการทำงานอยู่ที่นี่ 5 ปี ก่อนจะถูกจอมพล ป. ย้ายไปประจำอยู่ บ. ปูนซิเมนต์ไทยเพื่อค้นคว้าทดลองเรื่องการถลุงเหล็กใช้ได้เองเป็นร่วมกับนาย JESPERSEN จนประเทศไทยสามารถถลุงเหล็กใช้ได้เองเป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวกันว่าดร. จ่างเป็นผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการบุกเบิกบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ดังจะเห็นว่าดร. จ่างเป็นกรรมการมาตลอด เพิ่งจะลาออกเพื่อเปิดโอกาสแก่คนหนุ่มสาวเมื่อไม่นานมานี้

ในปี พ.ศ. 2487 ได้รับการเสนอชื่อและแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กระทรวงอุตสาหกรรม ขณะนั้นดร. จ่างอายุ 40 ปีเท่านั้น จึงนับเป็นอธิบดีหนุ่มที่มีอนาคตสดใสรุ่งโรจน์คนหนึ่งของกระทรวงซึ่งก็เป็นความจริงเพราะอีก 4 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. ก็มีมติแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ดร. จ่างปฏิเสธไม่ยอมรับตำแหน่ง และเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์อยู่ต่อมาถึง 18 ปี โดยเห็นว่า "เป็นช่วงเวลาที่สนุกกับงานมากที่สุด เพราะได้ทำงานที่อยากทำได้เต็มที่" จนกระทั่ง พ.ศ. 2506 เมื่อคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรียืนยันให้แต่งตั้งดร. จ่างเป็นปลัดกระทรวงอีกครั้งจึงยอมรับ

แม้ว่าเราจะไม่ทราบว่าเมื่อ 50 ปีก่อน ดร. จ่างจะถูกมองว่า "ร้อนวิชา" มากแค่ไหน แต่เมื่อฟังจากคำบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติการทำงานราชการจากคนใกล้ชิดแล้ว จะเห็นได้ว่าดร. จ่างเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองและความรู้ที่เรียนมาสูง กล้าที่จะยืนยันสิ่งที่ตัวเองรู้ตัวเองเชื่อ ชนิดที่ไม่ยอม "ไว้หน้า" เจ้ากรมฯ ซึ่งเป็นเจ้าคนนายคนแรกหลังจากกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ เอาทีเดียว ด้วยความที่มีเรื่องขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา ครั้งหนึ่งเมื่อเจ้ากรมฯ ฟ้องต่อจอมพล ป. และจอมพล ป. เข้าข้างเจ้ากรมฯ ดร. จ่างเสียใจมากจนล้มเจ็บต้องพักรักษาตัวอยู่ถึงปีเศษ แต่ภายหลังดร. จ่างกับจอมพล ป. ก็นับว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอด กับจอมพลสฤษดิ์เอง ดร. จ่างก็มีความเห็นว่า "เป็นคนที่รู้จักฟังเหตุผลและไวต่อการเข้าใจหลักการต่างๆ"

ลักษณะเด่นอีกประการของดร. จ่าง คือความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ ชนิดที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ก็จะต้องช่วยปราบ "คอร์รัปชั่น" คือนอกจากจะไม่รับสินบนแล้วยังต้องตัดที่ต้นเหตุ คือไม่ให้ใครมา "ติดสินบน" อีกด้วย (แต่เมื่อมาเป็นพ่อค้าเองแล้วปรากฏว่าดร. จ่างก็เคยต้องยอม "ติดสินบน" ข้าราชการเพื่อความอยู่รอดของบริษัทสยามเฆมีด้วยเช่นกัน) และความตั้งใจทำงานในหน้าที่ที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ

ผลงานเด่นที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนอกจากผลักดันการจัดตั้งสภาวิจัยแห่งชาติขึ้นได้สำเร็จ และได้เป็นเลขาธิการสภาวิจัยคนแรกแล้ว ก็คือการเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมี เพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ที่สำคัญและจำเป็นขึ้นใช้เองภายในประเทศ สืบเนื่องมาจากบทเรียนที่ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งตัวเองได้เลยเมื่อขาดการติดต่อกับโลกภายนอกในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และคณะกรรมการพิจารณางานอุตสาหกรรมของรัฐบาลในขณะนั้น มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมีตามที่เสนอถึง 6 โรงจาก 9 โรงที่เสนอไปซึ่งมีโรงงานกรดกำมะถัน โรงงานกรดเกลือ โรงงานคลอรีน โรงงานปูนขาวและคาร์บอนไดออกไซด์ โรงงานโซเดียมซัลเฟต โรงงานโซเดียมคาร์บอเนต โรงงานแอมโมเนียคาร์บอเนต โรงงานแก้วและโรงงานกลั่นไม้

ดร. จ่างเป็นคนสนใจติดตามความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของชาติต่างๆ อยู่เสมอ แม้จะมีอคติในเรื่องความนิยมชมชอบบางประเทศเป็นพิเศษแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการยอมรับความก้าวหน้าใหม่ๆ และเป็นคนคิดการละเอียดลออรอบคอบ เช่นการเขียนรายงานในฐานะนักเคมีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ถึงการวิเคราะห์ปืนในกรณีสวรรคตของ ร. 8 หรือเหตุผลที่ไม่ยอมรับตำแหน่งปลัดกระทรวงเมื่อได้รับแต่งตั้งครั้งแรกที่ว่า ขณะนั้นมีอธิบดีกรมสำคัญในกระทรวงอุตสาหกรรม 2 กรม ซึ่งเป็นผู้ที่มีรากแก้วหยั่งลึกในกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นคนมีพรรคพวกมาก ซึ่งถ้าดร. จ่างยอมรับเป็นปลัดกระทรวงก็จะต้องมีเรื่องทะเลาะด้วยแน่นอน โดยที่เป็นคนบ้านนอกไม่มีพรรคพวก เมื่อทะเลาะกันก็คงต้องเสียเปรียบมาก

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในชีวิตราชการเป็นอย่างมาก แต่ความฝันในชีวิตของดร. จ่างคือ "อยากใช้ความรู้ในวิชาเคมีที่ได้ร่ำเรียนมาตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์เคมีขึ้นใช้เองในประเทศ จะได้ไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ" และกิจการแรกของดร. จ่าง คือคิดทำน้ำมันใส่ผม น้ำยาดัดผม ไปฝากขายแถวเจริญกรุงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลิกใหม่ๆ โดย "นั่งยองๆ กับพื้นโรงรถ ตักโน่นตวงนี่ ผสมกันไปผสมกันมา" แล้วบรรจุใส่ขวดสวย ติดฉลากรูปหน้าด้านข้างของผู้หญิงที่มีผมเป็นลอนสยายไปข้างหลัง ซึ่งทำอยู่ถึง 2 ปี

ต่อมาจึงตั้งโรงงานผลิตแอมโมเนียโดยร่วมทุนกับเพื่อนๆ เช่น ดร. ประจวบ บุนนาค นายประจวบ ภิรมย์ภักดี นายวิทย์ ภิรมย์ภักดี ซึ่งทำกำไรถึง 3,000 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเลิกไปเมื่อ พ.ศ. 2493 เพราะเมื่อสงครามเลิก ก็สามารถสั่งของนอกเข้ามาขายได้ในราคาถูกกว่ามาก

พ.ศ. 2496 จดทะเบียนบริษัทผลิตภัณฑ์อากาศ โดยมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท เพื่อผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ป้อนโรงงานผลิตเบียร์ของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่และโรงงานน้ำอัดลมของยูเนี่ยนโซดา ซึ่งดร. จ่างเล่าว่า "เมื่อตั้งโรงงานผลิตแอมโมเนียและผลิตภัณฑ์อากาศนั้น ผลประโยชน์ที่ได้รับก็เท่าๆ กับผู้ถือหุ้นจำนวนน้อยๆ คนหนึ่ง ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนจากความคิด การออกแบบและการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดในระยะตั้งต้น ฉะนั้นในตอนแรกจะได้รับส่วนแบ่งจากเงินปันผลไม่คุ้มกับที่ลงแรงและความคิด เพราะมีเงินลงทุนได้นิดหน่อยเท่านั้น" แต่สิ่งที่ดร. จ่างไม่ได้คิดถึงด้วยก็คือ เมื่อตั้งบริษัทสยามเฆมีขึ้นมานั้น ดร. จ่างต้องการถือหุ้น 5% แต่ไม่มีเงินพอ ก็มีผู้ยินดีให้กู้จนพอกับความต้องการ

ดร. จ่างแต่งงานกับนางสาวระเบียบ วิชัยดิษฐ์ เมื่อ พ.ศ. 2476 ที่ประเทศเยอรมัน มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน โดยมี จิระ รัตนะรัตเป็นบุตรชายผู้สืบสกุลและกิจการทั้งหมดเพียงผู้เดียว ลูกสาวคนโต จารุนี สูตะบุตร เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาหลักสูตรกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาฯ ลูกสาวคนรองจากจิระคือ ดร. จริยา บรอกเคลแมน ศาสตราจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คนสุดท้องคือ จารุวรรณ วนาสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เจ วอลเตอร์ ธอมสัน จำกัด

ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังผู้คิดสูตรอร่อยของแม่โขง "ยอมสุราดีของไทย" คือ ดร. จ่าง รัตนะรัต ด้วยคนหนึ่ง และที่มีส่วนคิดสูตรน้ำโซดาตราสิงห์ที่ช่วยปรุงเหล้าให้ได้รสยิ่งขึ้นก็คือ ดร. จ่าง รัตนะรัต อีกเช่นกัน โดยได้รับจักรยานหนึ่งคันเป็นของขวัญตอบแทนจากพระยาภิรมย์ภักดีในการมีส่วนคิดสูตรน้ำโซดาซึ่งผสมได้กับเหล้าทุกยี่ห้อนี้สำเร็จ

เมื่อมีคนถามถึงเรื่องนี้ขึ้นมาว่า แล้วดร. จ่างไม่สนใจในธุรกิจสาขานี้บ้างเลยด้วยหรืออย่างไร? จิระ รัตนะรัต ก็จะตอบให้อย่างชัดถ้อยชัดคำทันทีว่า "การคิดสูตรส่วนผสมแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสารเคมีเป็นเรื่องที่ง่ายมากสำหรับพ่อ แต่พ่อมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่าความเป็นพ่อค้ามากนัก เพราะไม่รู้จะเอาความสามารถนี้ไปค้าขายอย่างไร"

และนั่นทำให้คุณหญิงระเบียบภรรยาคู่ชีวิตเรียกดร. จ่างอย่างล้อๆ ว่า "นักวิทยาศาสตร์หัวละร้อยเดียว"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us