สยามเฆมี อาณาจักรธุรกิจที่ปิดตัวเองเงียบมาตลอด น้อยคนนักที่จะรู้ว่า พวกเขาเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่บุกเบิกอุตสาหกรรมเคมีพื้นฐานหลายชนิดอาทิกรดกำมะถัน
แคลเซียมคาร์บอเนต…เมื่อ 10 ปีก่อนบริษัทประสบมรสุมอย่างหนักจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
ถึงกับประกาศขายกิจการในราคา 80 ล้านบาท แต่ไม่มีคนซื้อ ในสถานการณ์อันหนักหน่วงนั้นอาจารย์ต่างๆ
ที่ใครว่าเก่งกลายเป็นที่พึ่งพิง เพราะตอนนั้นสถาบันการเงินทั้งหลายพากันหันหลังให้อย่างสิ้นเชิงเพราะมองว่าเจ๊งแน่ๆ
ในที่สุดเขาฮึดสู้ตามคำแนะนำของพระอาจารย์ กิจการดีวันดีคืน และ DIVERSIFY
ไปในธุรกิจหลายประเภท เช่น ท่าเรือ ปุ๋ย น้ำมันหล่อลื่น สารตัวทำละลาย ฯลฯ
ทุกวันนี้สยามเฆมีเป็นธุรกิจระดับพันล้านที่ผู้บริหารไม่ปฏิเสธว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์!?
สยามเฆมี ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อ 2502 โดยความคิดริเริ่มของดร. จ่าง รัตนะรัต
อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานผลิตกรดกำมะถันแบบ CONTACT แห่งแรกของประเทศไทยเกิดขึ้น
โดยสั่งเครื่องจักรของไต้หวัน ระยะแรกผลิตกำมะถันได้ 10 เมตริกตันต่อวัน
นับเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ทำการผลิตกำมะถันทดแทนการนำเข้า ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบสฤษดิ์
ที่ให้การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิพิเศษ (บีโอไอ)
ตั้งแต่ปี 2503 เป็นต้นมาบริษัทได้สร้างโรงงานผลิตไนตรัสออกไซด์ แคลเซียมคาร์บอเนต
อะลูมิเนียมซัลเฟต ปัจจุบันสามารถผลิตอะลูมิเนียมซัลเฟตได้ถึง 150 เมตริกตันต่อวัน
สยามเฆมี ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเคมีอีกหลายโรง เพราะในการผลิตเคมีภัณฑ์พลอยได้อย่างอื่นออกมาด้วย
ดังนั้นถ้าหากทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้ต้องทิ้งผลิตภัณฑ์พลอยได้ซึ่งอาจนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้เสียไป
ขณะที่ก่อตั้งบริษัทนั้น ดร. จ่างยังรับราชการเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์
เหตุนี้ดร. จ่างจึงเพียงบริหารในตำแหน่งประธานกรรมการเป็นคนให้นโยบายและตัดสินใจที่สำคัญๆ
และแม้เมื่อเกษียณในตำแหน่งปลัดฯ แล้วก็ตาม
ปี 2507 ก็ยังมีภารกิจอีกมากมายเช่นปี 2509-2512 เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเหล็กสยามในเครือของปูนซิเมนต์ไทย
(อ่านดร. จ่างนักวิทยาศาสตร์หัวละร้อยเดียว!!!) ดร. จ่างจึงเป็นประธานสยามเมฆีมาจนถึงปัจจุบัน
ผู้จัดการคนแรกคือวิรุฬ โชติกพณิช เป็นเพื่อนรักของดร. จ่าง เดิมทำธุรกิจค้าไม้ตอนหลังเลิกกิจการ
ดร. จ่างจึงชวนมาทำที่สยามเฆมี วิรุฬเป็นผู้บุกเบิกและดูแลการบริหารงานภายในเป็นผู้จัดการจนกระทั่งเกษียณในปี
2519 และคนที่เป็นจักรกลสำคัญอีกคนหนึ่งคือ ไพรัช วัฒนพาหุ หลานชายดร. จ่างซึ่งเพิ่งจบพาณิชยศาสตร์
จากธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นเสมียน ดูแลทั่วไปและคุมด้านการเงิน เป็นคนเดียวที่ทำงานแต่แรกเริ่มของบริษัทจนปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการสยามเฆมี
กิจการของสยามเฆมีถือหุ้นและดำเนินงานด้วยคนไทยทั้งสิ้น อันเป็นความตั้งใจของดร.
จ่างที่อยากให้เป็นธุรกิจของคนไทยแท้ๆ แต่อย่างไรก็ตามในปี 2516 ได้มีการร่วมทุนระหว่างสยามเฆมีกับบริษัทญี่ปุ่นสองบริษัทคือ
มัตสุโมโตะ และมิตซูบิชิโดยสยามเฆมีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 55% ทำการผลิตเคมีภัณฑ์ต่างๆ
ที่ใช้ในโรงงานสิ่งทอ และต่อมาภายหลังได้ผลิตน้ำมันหล่อลื่นอีกด้วย
"เป็นการร่วมทุนครั้งแรกและครั้งเดียวของเรา เพราะเราต้องการ KNOW
HOW จากเขา ซึ่งหลังจากนั้น 3 ปีบริษัทญี่ปุ่นทั้งสองมีความไว้วางใจ ได้ให้เกียรติถึงขนาดถอนคนของบริษัทออกไปหมด
ปล่อยให้ฝ่ายไทยดำเนินการเองทั้งสิ้น" ไพรัชเล่ากับ "ผู้จัดการ"
เมื่อพิจารณาโครงสร้างของผู้ถือหุ้นในสยามเฆมีจากแผนภาพที่ 1 จะพบว่ามีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น
13% นั่นเป็นเพราะสายสัมพันธ์ยาวนานของ ดร. จ่างกับกลุ่มบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจึงคุ้นเคยกับผู้ใหญ่ของสำนักงานทรัพย์สินฯ
ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของปูนซิเมนต์ไทย หม่อมทวีวงษ์ถวัลย์ศักดิ์ (ม.ร.ว.
เฉลิมลาภ ทวีวงษ์) อดีตผอ. สำนักงานทรัพย์สินฯ เคยมาเป็นกรรมการของสยามเฆมี
นอกจากนี้ยังมีคนจากปูนฯ อีกหลายคนเช่น ปัจจา สายาลักษณ์ อดีตผู้จัดการบริษัทค้าสากลซิเมนต์ไทย
ซึ่งเป็นคนที่ไปซื้อที่ร้อยกว่าไร่ย่านพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งยังเป็นป่ารกในตอนนั้น
ให้กับสยามเฆมี
ผู้ถือหุ้นในส่วนของเอกชนนั้นส่วนใหญ่เป็นเพื่อนฝูงในวงการราชการหรือญาติพี่น้องที่ดร.
จ่างชักชวนมา เช่นกำธร สถิรกุล อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา (พี่ชายของกำจร
สถิรกุล ผู้ว่าการธนาคารชาติ), ชายไหว แสงรุจิ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
โดยที่ช่วงแรกดร. จ่าง ถือหุ้นเพียง 5% จนปัจจุบันตระกูล "รัตนะรัต"
เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือ 18% โดยมีลูกชายคนเดียวของดร. จ่าง เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ชื่อ
จิระ รัตนะรัต
มรสุมครั้งใหญ่: สิ่งที่วิทยาศาสตร์ไม่ได้บอก
จิระ รัตนะรัต เรียนจบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์จากเยอรมนีเช่นเดียวกับพ่อ
เริ่มทำงานเป็นผู้จัดการโงงานตั้งแต่ปี 2512
จิระเป็นวิศวกรหนุ่มที่มีความทะเยอทะยาน อยากจะให้บริษัทมีความเจริญก้าวหน้าเหมือนกับบริษัทใหญ่ๆ
ที่ได้ไปเห็นมาระหว่างการศึกษาในต่างประเทศ จึงพยายามขยายงานโดยไม่หยุดยั้ง
จนถึงปี 2518 จิระขยายงานพร้อมกัน 4 โครงการใหญ่เป็นยอดการลงทุนรวมกว่า 100
ล้าน โดยคิดโครงการแบบวิทยาศาสตร์คือ ดูสถิติการนำเข้าของสินค้าที่ยังไม่ได้ผลิตในประเทศ
ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และไฟฟ้า ตลอดจนราคาที่จะขายได้ก็เห็นว่าโครงการเป็นไปได้น่าจะมีกำไรดี
แต่แล้วขณะที่กำลังเริ่มก่อสร้างโรงงาน สิ่งที่วิทยาศาสตร์บอกไม่ได้ล่วงหน้าก็เกิดขึ้น
คือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันประเทศอาหรับรวมหันกัน ลดการผลิตน้ำมันและขึ้นราคาทำให้ไฟฟ้าและน้ำมันขึ้นราคาไป
3-4 เท่า นักศึกษาและกรรมกรเรียกร้องค่างจ้าง ฯลฯ ทำให้ผู้บริหารหัวปั่นไปหมด
และที่ร้ายที่สุดคือเกิดคู่แข่งอย่างกะทันหัน!!!
"ก่อนไซ่ง่อนจะแตก กลุ่มเศรษฐีญวนที่ขนเงินเข้ามาเมืองไทย ความซวยคือมีคนไทยคนหนึ่งยุให้ญวนตั้งโรงงานแข่งกับผม
เหมือนกันเดี๊ยะเลย กรดกำมะถัน…สารส้ม อีกรายนั้นนายช่างของเราออกไปเนื่องจากเกิดความขัดแย้ง
ไปชักชวนนักการเมืองคนหนึ่ง บอกว่าทำแล้วจะรวยไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นราวๆ ปี
2519 ผมเป็นผู้จัดการใหญ่พอดี เครื่องร้อยตันเรามาถึงพอดี ที่จริงเราเก็งตลาดไม่ผิดที่มีความต้องการขนาดนั้น
เพียงแต่เราไม่ได้คิดว่าสองโรงนั้นจะโผล่มา ในขนาดใหญ่ด้วย โรงหนึ่ง 50 ตัน
อีกโรง 30 ตัน สองโรงก็แปดสิบตันเข้าไปแล้ว ใครจะไปทราบว่าไซ่ง่อนจะแตก และนายช่างจะล้างแค้นเรา
เป็นปัจจัยที่คาดเดาไม่ถึง (UNFORESEEN) นี่เพราะผมเชื่อ MARKETTING STUDY
100%" จิระเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้น
"หลังจากหม่อมคึกฤทธิ์ซึ่งเป็นนายกฯ ในปี 2518 เปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนทำให้เกิดการค้าขายกัน
จีนนั้นสามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่าเรา เพราะต้นทุนแรงงานถูก จีนส่งแคลเซียมคาร์บอเนต
อลูมินาไฮดอกไซน์ เข้ามาทุ่ม (DUMP) ตลาดทำให้เราย่ำแย่ไปพักใหญ่เลย"
ไพรัชให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ทางบริษัทซึ่งได้เริ่มก่อสร้างโรงงานไปบ้างแล้ว ไม่สามารถทำงานได้ตามที่คิดไว้!!!
โครงการที่ยังไม่เสร็จคือ โครงการผลิตกรดกำมะถันขนาดใหญ่ โรงงานยังสร้างไม่เสร็จ
ขณะนั้นเครื่องจักรจากโปแลนด์เข้ามาถึงแล้ว ดร. จ่างในฐานะประธานบริษัทสั่งห้ามไม่ให้เปิดหีบ
โดยหวังว่าอาจจะมีทางขายเครื่องจักรนี้ไปยังประเทศที่สาม ถ้าจะก่อสร้างให้เสร็จต้องใช้เงินอีก
30 ล้านบาท ธนาคารให้กู้ 5 ล้าน นอกจากนี้ยังต้องผ่อนใช้ค่าเครื่องจักรอีก
40 ล้าน
ในช่วงดังกล่าวจิระ ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่ ทั้งๆ ที่เสียงรับรองในกลุ่มคณะกรรมการไม่เป็นเอกฉันท์
แต่ดร. จ่างมีความเชื่อมันในลูกชายคนนี้ และเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะได้แสดงฝีมือแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ส่วนแม่ (คุณหญิงระเบียบ) บอกว่า "เมื่อแกเป็นคนก่อ แกก็ต้องสานต่อให้จบ"
ทางธนาคารแนะนำวิธีแก้ปัญหาไว้สามทางคือ หนึ่ง-เพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 20
ล้านบาท สอง-ตัดที่ขายครึ่งหนึ่งให้เหลือ 50 ไร่ สาม-ขอยืดเวลาผ่อนเครื่องจักรให้ยาวออกไปอีก
5 ปี และขอระยะเวลาปลอดหนี้ด้วย
เมื่อมีการซาวเสียงจากผู้ถือหุ้นในการเพิ่มทุน ปรากฏว่าคนเห็นด้วยเพียงครึ่งกว่า
คืออาจจะได้เงินมาเพียง 10 กว่าล้านเท่านั้น และต้องใช้เวลาพอสมควร
ส่วนการตัดที่ขายได้เสนอไปยังสว่างเลาหะทัย เพื่อนบ้านอยู่ติดกันที่กำลังรุ่งเรืองในขณะนั้น
คำตอบที่ได้รับคือสว่างสนใจจะลงทุนด้วย 30 ล้านและขอถือหุ้น 50% มากกว่าซื้อที่
ดร. จ่างตอบไปว่าถ้าอยากได้ก็จะขายให้หมดเลย คิดราคา 80 ล้านบาท แต่ทางโน้นไม่ยอมรับทั้งๆ
ที่มีความสามารถที่จะจ่ายเงิน 80 ล้านบาทได้อย่างสบาย จิระบอกว่ามาทราบเหตุผลภายหลังว่า
"เจ้าที่ไม่ต้องการมีเจ้าของใหม่"
ทางเลือกที่สามเนื่องจากเครื่องจักรที่ส่งมาแล้วแม้จะยังไม่เปิดหีบก็ไม่สามารถขายต่อไปยังประเทศที่สามได้
จิระได้เดินทางไปพบพ่อค้าโปแลนด์ เล่าถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงทั้งหมด พร้อมกับขอให้ช่วยเหลือ
ซึ่งถ้าช่วยคราวนี้จะไม่ลืมตลอดไป และเมื่อจะขยายกันต่อไปในภายหลังก็จะซื้อของบริษัทอีก
ปรากฏว่าการเจรจาคราวนี้เป็นผล
สรุปแล้วขณะนั้นบริษัทมีหนี้สินทั้งสิ้น 120 ล้าน แต่หาเงินสดได้เพียง
20 ล้าน จิระนั้นหมดปัญญาไม่รู้จะแก้ไขด้วยวิธีใด เพราะแบงก์ไม่ยอมช่วยเหลือเนื่องจากเห็นว่า
กิจการคงไปไม่รอดแน่นอน จิระกลัดกลุ้มอย่างหนักเกิดภาวะกินไม่ได้นอนไม่หลับ
"หลับตาก็นึกถึงหนี้ร้อยกว่าล้าน เอาที่ไหนให้เขา เอาที่ไหน" จิระกล่าวถึงความรู้สึกอับจนในครั้งนั้น
และนี่อาจจะทำให้จิระเริ่มมีผมขาวประปรายทั้งที่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์
คุณหญิงระเบียบ ผู้แม่ซึ่งมีความเชื่อเรื่องดวงชะตา และไม่สามารถทนดูลูกมีความทุกข์ได้
เธอจึงพาจิระไปหาอาจารย์และหมอดูต่างๆ ทุกท่านก็ปลอบว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปเองภายในไม่กี่ปีก็จะใช้หนี้หมด
และจะมีฐานะดีกว่าเดิมเสียอีก
"อาจารย์วัดบางสะแกใน ดูที่แล้วบอกว่าห้ามขาย เพราะเจ้าของที่อยู่ในเรือ
(ศาลรูปเรือที่อยู่หน้าโรงงาน) มาอัดผม วันหนึ่งอาจารย์จากบางสะแกมาฉันท์เพลตอนตั้งศาล
ท่านบอกว่าอีกนิดหน่อยจะดีใจเย็นๆ ไว้ ผมโพล่งไปเลย ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นเจ๊งแน่ๆ
เฮ้ย ไอ้เรานี่นิสัยไม่เปลี่ยนเลยนะ ใจร้อนเหมือนเดิม จับผีเอาพระเอา ให้ไปรบตรงนี้ก็ไปซะถึงโน่น
คอยดูซิวะ ใช้หนี้เขาหมดแล้วจะดีกว่าเดิมอีก พูดเสร็จพระก็สะดุ้งสุดตัวชี้ไปที่ว่างเปล่า
เฮ้อ ฉันเปล่านะไม่ได้พูด คนที่นั่งกินหมากอยู่ตรงนั้นพูด คือเจ้าที่อัดผมซึ่งเป็นลูกน้องเก่าเขา
ชาติก่อนเขาอาจจะให้ไปตีปักษ์ใต้ ดันเลยไปอีกไกลโข นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไม่ขายที่ตรงนั้น
ผมตั้งศาลสู้ตายเลย" จิระเล่าถึงไสยศาสตร์ที่เขาประสบมา
ทุกคนให้กำลังใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้บอกว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไร
จิระยังคงหมกมุ่นอยู่กับเครื่องจักรที่สั่งเข้ามาแล้ว แต่ไม่สามารถติดตั้งให้ทำงานได้ทั้งหมด
และเนื่องจากมีคู่แข่งมากขึ้นทำให้สินค้าไม่สามารถทำเต็มกำลังการผลิตได้
บางช่วงผลิตได้ 40 ตัน บางช่วงก็ต้องหยุดไป
จิระมีเพื่อนชาวสิงคโปร์ชื่อ TOM LOW รู้จักกันเพราะเขาขายกำมะถันให้นอกจากจะเรียนจบด้านบริหารธุรกิจ
ยังมีความสามารถพิเศษนั่งวิปัสสนาแล้วเห็นอนาคตข้างหน้า "ผมเองมีความรู้สึกแปลกใจที่จิระไม่สามารถชำระเงินค่ากำมะถันได้
เริ่มรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทนี้ ผมไปเดินดูบริเวณโรงงานแล้วผมเห็นว่า
วิธีแก้ไขก็คือหยุดคิดเรื่องเครื่องจักรผลิตสินค้าชั่วคราว และหันเหไปทางการค้าแบบให้บริการ
ผมเห็นว่า บริษัทมีที่ติดแม่น้ำกว้างพอที่จะสร้างท่าเรือรับเรือใหญ่ได้ ถ้ามีเรือก็ควรจะมีคลังสินค้า
และถังเก็บของเหลว รับจ้างบรรจุหีบห่อ เก็บค่าเช่า ฯลฯ เหมือนที่สิงคโปร์ทำอยู่เวลานี้"
ทอม ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของจิระเล่าถึงทัศนะดังกล่าวในครั้งนั้นกับ
"ผู้จัดการ"
จิระคิดแต่เรื่องเครื่องจักร ไม่ได้คิดถึงการสร้างท่าเรือ ซึ่งจะเป็นธุรกิจบริการ
แต่ก็สนใจอย่างมากต่อข้อเสนอของทอม
จิระนำความคิดนี้ไปปรึกษาพ่อและกรรมการ ปรากฏว่า ไม่มีใครเห็นด้วยเท่าไร
ถามจิระว่า ปีหนึ่งจะมีเรือมาจอดกี่ลำ และตอนนั้นท่าเรือแหลมฉบังก็จะเกิดขึ้นแล้วสร้างไปก็เสียเปล่า
และเรื่องใหญ่คือ ปัญหาเก่ายังแก้ไม่ตก จะเอาเงินที่ไหนมาสร้างท่าเรือ?
พอคุณหญิงระเบียบรู้เรื่องเข้าก็ชวนจิระไปหาพ่อหลวงสงฆ์ ที่จังหวัดชุมพร
ต้องไปพบตอนก่อนท่านเข้านอน เมื่อถามเรื่องท่าเรือที่บริษัทว่าจะทำดีหรือไม่
โดยใช้เงินสด 2-3 ล้านบาท "พ่อหลวงสงฆ์ไม่ตอบ ท่านพูดเรื่องอื่นต่อไป
แต่แล้วพอเรากำลังเผลอ ท่านก็โพล่งขึ้นมาเองว่า อย่าว่าแต่ 2-3 ล้านบาทเลย
กี่ร้อยล้านบาทก็ทำได้ขอให้ทำ จะดีมาก"
ฝ่ายอาจารย์ทั้งไทยและสิงคโปร์มีความเห็นสอดคล้องกัน จิระจึงมีกำลังใจมากขึ้น!
จิระจึงเสนอเรื่องนี้ต่อกรรมการอีกครั้งโดยบอกว่าอยากจะทำง่ายๆ คือใช้หมุด
2 หมุด หัวท้ายให้ผูกเรือและมีถนนรูปตัว T ให้รถบรรทุกถอยหลังไปรับสินค้าได้ซึ่งเหมาะสมกับเรือที่จะมาส่งวัตถุที่บริษัทต้องใช้เอง
ซึ่งจะทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายกว่าไปใช้ท่าเรืออื่น นอกจากนั้นยังไม่ต้องพะวักพะวนว่าจะมีเรือคนอื่นมาจอดหรือไม่
เงิน 2 ล้านจิระต้องเป็นผู้ไปหามาเอง เพราะธนาคารไม่ให้กู้อยู่แล้ว
คุณหญิงระเบียบผู้แม่นั้นพยายามวิ่งเต้นหาเงินมาช่วย โดยไปหยิบยืมเงินจากคุณอมรและคุณหญิงระเบียบ
ภูมิรัตน ซึ่งนับถือกันเสมือนญาติ ขายที่ดินในซอยสุขุมวิท 49 ได้พอดี
หลังจากสร้างท่าเรือเสร็จสิ่งที่อาจารย์ทั้งหลายทายไว้ก็เริ่มเป็นจริง!?
ฟ้าใสหลังมรสุม
รายได้แรกซึ่งเป็นกอบเป็นกำมากคือ มีคนมาเช่าที่กลางแจ้งเพื่อกองไม้ที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซีย
และมาเลเซียโดยทางเรือ เนื่องจากตอนนั้นรัฐบาลไทยมีกฎหมายห้ามตัดไม้ ไม้จากสองประเทศนี้จึงทะลักเข้าไทยเป็นอันมาก
ประกอบกับสยามเฆมีมีที่ถึง 117 ไร่ ธุรกิจการบริการให้เช่าที่จึงตามมาอีกมาก
นอกจากไม้แล้วมีคนมาเช่าที่พักวางสินค้าอีกหลายชนิด บริษัทตัดสินใจสร้าง
TANKYARD ขึ้นมาเพื่อให้เช่าบรรจุสารเคมี, เชื้อเพลิง, น้ำมันหล่อลื่น ฯลฯ
การหันเหไปสู่อุตสาหกรรมบริการซึ่งเริ่มต้นอย่างคึกคัก ทำให้บริษัทเริ่มมีเงินหมุนเวียนดีขึ้น
เริ่มใช้หนี้ได้บางส่วน จิระจึงเริ่มคิดถึงการก่อสร้างโรงงานที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จสมบูรณ์และขยายตัวไปในธุรกิจอื่นซึ่งยังจำเป็นต้องใช้เงินกู้อีกเป็นจำนวนมาก
"ตอนแรกผมจะกู้ไทยพาณิชย์ แต่ฝ่ายวิเคราะห์โครงการของธนาคารแทงเรื่องไปถึงธารินทร์
(นิมมานเหมินท์) บอกสยามเฆมีเจ๊งแน่ ไม่มีประโยชน์ที่จะให้เงินไปฟื้นตัว
ก็ต้องขอบคุณทิสโก้ที่เป็นรายแรกที่ปล่อยแบบคลีนโลนเลย จำนวน 10 ล้านบาท
คุณสุวรรณภา สุวรรณประทีป (ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์)
ไปดูโรงงานเอง ตอนหลังไทยพาณิชย์ก็ใจอ่อนให้มา 5 ล้าน ตามด้วยอีกหลายแบงก์และประเสริฐ
ตั้งตรงศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัทศรีกรุงวัฒนา) ได้ขายกำมะถันโดยผ่อนระยะยาว
นับว่าช่วยได้มากทีเดียว"
โรงงานผลิตกรดกำมะถันขนาด 100 ตันต่อปีจึงเสร็จสมบูรณ์ แม้ว่าจะไม่สามารถใช้เต็มกำลังการผลิตเพราะเกินความต้องการของตลาด
เนื่องจากมีคู่แข่งเกิดขึ้นหลายราย
ปัญหาคือกรดกำมะถันที่เกินกำลังการผลิตอีกมากนี่จะเอาไปทำอะไร? ปุ๋ยคือคำตอบเพราะกรดกำมะถันทำปฏิกริยากับฟอสเฟสเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการผลิตปุ๋ย
จิระในฐานะที่เรียนมาทางด้านวิทยาศาสตร์ เขาทำการผสมปุ๋ยออกมาหลายสูตรซึ่งไม่เหมือนกับที่มีขายในท้องตลาด
(จนถูกกล่าวหาว่าเป็นปุ๋ยปลอม) ภายใต้ตรา "สามพญานาค"
ปุ๋ยตราสามพญานาค ประสบปัญหาทางการตลาดเป็นอันมาก เพราะเป็นยี่ห้อใหม่
เกษตรกรซึ่งถ้าชอบยี่ห้อไหนก็มักจะใช้แต่ยี่ห้อนั้น และร้านค้าก็จะขายแต่ยี่ห้อที่ติดตลาด
"ลูกค้าที่การเงินแน่นอนไม่ยอมขายตราของเรา เราจึงต้องไปหาลูกค้าซึ่งเป็นมือสมัครเล่น
พวกนี้ทำเราแสบมากตั้งใจโกงเลย บางรายขายแล้วหนีไปเลย (ในจำนวนนี้มีบางส่วนที่ใช้นามสกุลที่มีชื่อเสียง)
บ้างก็ไม่จ่ายเงินเพราะบอกว่าขายให้เกษตรกรแล้วเก็บไม่ได้ เสียหายไป 10 กว่าล้าน
และเป็นคดีความกันมาจนบัดนี้เกือบ 10 ปีบางรายก็ยังตามตัวไม่พบเลย"
จิระเล่าถึงอุปสรรคในครั้งนั้น
บทเรียนอันเกิดจากความอ่อนหัดในฐานะผู้ใหม่ต่อวงการ ทำให้สยามเฆมีรู้ซึ้งถึงลักษณะเฉพาะของการค้าปุ๋ย
ซึ่งทำให้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีในการออกตลาดใหม่
นั่นคือการนำปุ๋ยไปขายให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งธนาคารมีกลไกที่ไปจำหน่ายและเก็บเงินจากชาวนาเอง
อันนี้เนื่องจากปุ๋ยที่ออกสู่ตลาดในช่วงแรกแม้จะเก็บเงินไม่ค่อยได้ แต่มีการวางขายทั่วไปและชาวนา-ชาวไร่ได้นำไปใช้แล้วพอสมควร
ซึ่งแม้จะเก็บเงินไม่ค่อยได้ แต่ก็ถือเป็นการโฆษณาสินค้าทางอ้อมซึ่งเมื่อ
ธ.ก.ส. ไปสำรวจตลาดก็เห็นมีวางขาย ซึ่งนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะขายเฉพาะยี่ห้อที่มีผู้นิยมใช้
จึงจะยอมรับเป็นยี่ห้อหนึ่งที่ไปขายชาวนา
เป็นการแก้ไขปัญหาการเก็บเงินตกไปและภายหลังลูกค้าดีๆ ก็ยอมสั่งปุ๋ยไปขายเพราะว่าตรานี้เริ่มติดตลาด
ปัจจุบันสยามเฆมีเป็นผู้ค้าปุ๋ยที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากกลุ่มศรีกรุงวัฒนาของสว่าง
เลาหทัย
น้ำมันหล่อลื่นเป็นสินค้าที่ทำรายได้จำนวนมากแก่สยามเฆมี เริ่มจากการให้เช่า
TANK YARD สำหรับบรรจุ แล้วบางช่วงถังบรรจุว่าง จิระจึงเกิดความคิดว่าน้ำมันเครื่องเราก็น่าจะผลิตเองได้
ในที่สุดก็ประมูลส่งน้ำมันเครื่องให้การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย
นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทของคนไทยสามารถทำน้ำมันเครื่องส่งให้ปตท. ซึ่งเป็นที่ฮือฮามากเพราะสยามเฆมีเสนอขายในราคาที่ต่ำกว่ามากจากที่เขาเคยขายกันในราคา
21 บาท สยามเฆมีเสนอไปราคาเพียง 15 บาท
"สยามเฆมีเราต้นทุนถูก ค่าโนว์ฮาวเราก็ไม่ต้องเสีย ตอนนั้นเงินเดือนผมยังไม่ถึงหมื่นเลย
อะไรที่ทำเองได้เราทำเองหมด" จิระกล่าว
ตอนนั้นบริษัทฝรั่งวิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับคุณภาพ ในสมัยนั้นทองฉัตร
หงศ์ลดารมภ์ ผู้ว่าปตท. ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยจิระนั้นได้ให้ความเห็นว่า
ให้เอาน้ำมันหล่อลื่นที่มาจากสยามเฆมีเข้าแล็บของปตท. ก่อนจะนำออกสู่ตลาด
และมีการทำ PERFORMENT TEST ซึ่งผลที่ออกมาทุกครั้งก็ได้มาตรฐานมาตลอด และสยามเฆมีก็ชนะการประมูลเป็นส่วนมาก
โดยที่ผู้ใช้รถยนต์ก็คงไม่รู้ว่าได้ใช้น้ำมันหล่อลื่นของสยามเฆมีไปเท่าไหร่แล้ว
"เรื่องนี้คนไทยถูกฝังหัวมานานว่าต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คนไทยทำไม่ได้
และฝรั่งก็พูดมาตลอดว่าคนไทยทำไม่ได้ คนไทยด้วยกันเองก็เชื่อแบบนั้น คราวนี้ส่วนหนึ่งเพราะคุณทองฉัตร
ผู้ว่าปตท. ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่เขยผม ทำตัวเป็นกลางที่บอกว่าถ้าผ่านการทดสอบก็โอเค
ตรงนี้ช่วยในแง่ของโอกาสไม่ใช่ว่าถ้าเป็นของคนไทยแล้วใช้ไม่ได้" จิระเล่าถึงปัจจัยการพิจารณาในขณะนั้น
ขณะเดียวกันสยามเฆมีได้ออกน้ำมันเครื่องยี่ห้อ "สามพญานาค" เหมือนชื่อของปุ๋ยเคมี
ปรากฏว่าขายไม่ออก แม้แต่พนักงานที่ผสมน้ำมันเครื่องของสยามเฆมียังไม่ยอมใช้เลย
เพราะกลัวว่ารถยนต์ของตัวเองจะพังจึงต้องเปลี่ยนชื่อยี่ห้อเป็น MAXIMA ชื่อยี่ห้อเป็นภาษาอังกฤษ
ซึ่งทำให้ขายได้มากขึ้นและติดตลาดพอสมควรในตอนนี้
โครงการใหญ่ในอนาคต
"โซลเว้นท์" คือสารตัวทำละลายซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น
เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสี, รับเบอร์โซลเว้นท์ซึ่งใช้ในการผสมกาว ฯลฯ
ไทยต้องนำเข้าโซลเว้นท์เกือบทั้งหมดจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยมีเอ็กซอนเคมีของกลุ่มเอสโซ่ครองตลาดมากที่สุดกว่า
60% เชลล์ 30% และโมบิล 10% ของตลาดโซลเว้นท์ทั้งหมด ในการนำเข้าโซลเว้นท์แต่ละชนิดอยู่ในระดับราคา
30-40 กว่าเหรียญ ขณะที่ไทยส่งออกคอนเดนเสท (วัตถุดิบที่นำไปแยกเป็นโซลเว้นท์ชนิดต่างๆ)
ในราคาเพียง 14-15 เหรียญต่อบาร์เรล
โครงการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากจิระเห็นว่าอุตสาหกรรมสีและเคมีขยายตัวมาก
(ดูตัวเลขแนวโน้มความต้องการของโซลเว้นท์ในตารางที่ 2) ช่องว่างทางตลาดยังมีอีกมาก
และการที่ไทยต้องส่งออกคอนเดนเสทประมาณ 20,000 บาร์เรลต่อวัน ถ้าเอาคอนเดนเสทมาผลิตโซลเว้นท์จะเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบและทดแทนการนำเข้าด้วย
สยามโซลเว้นท์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อต้นปี 2531 เพื่อผลิตโซลเว้นท์โดยเฉพาะด้วยทุนจดทะเบียน
20 ล้าน (ต่อมาได้เพิ่มทุนเป็น 35 ล้าน) โดยได้สร้างหอกลั่นขนาด 500 บาร์เรลต่อวัน
สร้างเสร็จประมาณ 2 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นขนาดเล็กก่อนแล้วค่อยๆ โตตามแบบฉบับการเติบโตของสยามเฆมีซึ่งมีแผนการจะลงทุนเพิ่มอีก
350 ล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตเป็น 3 แสนตันต่อปี โดยจะใช้คอนเดนเสทประมาณ
10,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเป็นโครงการที่ใหญ่ในอนาคตของกลุ่มสยามเฆมี
ขณะเดียวกันเอ็กซอนเคมีซึ่งกุมตลาดส่วนใหญ่ ยื่นโครงการขอส่งเสริมจากบีโอไอเป็นครั้งที่
3 ในเดือนมิถุนายน 2531 (ถูกระงับไป 2 ครั้ง เนื่องจากเป็นบริษัทต่างชาติ
และอัตราการเก็บภาษีจากโซลเว้นท์ยังไม่แน่ชัด ถ้าผลิตในประเทศอาจจะไม่คุ้มปัจจุบันยังไม่เริ่มการก่อสร้าง)
ด้วยเงินทุนประมาณ 200 ล้านบาท แหล่งข่าวจากเอ็กซอนเคมีให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
ว่า
"ไม่ทราบความคืบหน้าของสยามโซลเว้นท์เท่าไหร่ แต่ทราบว่าขนาดที่ทำเล็กมาก
และดูกรรมวิธีแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะได้คุณภาพตามที่ต้องการ และต้องดูด้วยว่า
มีเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านนี้ขนาดไหน แต่วิธีการที่เราใช้ เป็นเทคโนโลยีสูง
การที่เขาเข้าตลาดด้านนี้ คงได้ตลาดบางส่วนไป ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคจะรับได้แค่ไหน
เขามีสิทธิที่จะทำ และถ้าจะขยายกำลังการผลิตก็ต้องคิดหนักว่าจะสำเร็จหรือไม่
เพราะโซลเว้นท์มีตลาดหลายส่วนและแยกย่อยออกไปตามดีมานด์ของแต่ละชนิด บางชนิดอาจจะไม่ซีเรียสเรื่องคุณภาพมาก
แต่เมื่อมีการผลิตขนาดใหญ่ ส่วนหนึ่งต้องส่งออกนั้นเน้นคุณภาพมาก ขณะที่ตามโครงการของเอ็กซอนเคมีได้ตั้งเป้าส่งออกประมาณ
40%"
"ที่ผ่านมาต่างชาติอ้างเสมอว่าคนไทยเทคโนโลยีไม่ถึง จริงๆ แล้วโรงกลั่นง่ายกว่าทำกรดกำมะถันซึ่งต้องใช้แก๊สที่เกิดจากกำมะถันมารวมกับออกซิเจน
โรงกลั่นเพียงแต่แยกสารด้วยความร้อนเฉยๆ ไม่มีปฏิกิริยาเคมีแต่อย่างใด เหมือนพวกต้มเหล้าเถื่อนในป่านั่นเปรียบได้การกลั่นน้ำมันหรือโซลเว้นท์
(โรงกลั่นนี้สามารถเอามากลั่นน้ำมันได้ เหมือนหม้อข้าวที่สามารถเอามาต้มแกงได้)
ความยากมันอยู่ตรงที่ความสามารถที่จะทำให้แยกสารได้ชัดเจน (CLEAR) เราทำได้ค่อนข้างเคลียร์
โครงการหมื่นบาร์เรลจะทำให้มัน CLEAR กว่านี้ โดยจะตั้งที่เกาะสีชัง แล้วส่งออกด้วย"
จิระชี้แจง
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ การตีความการผลิตโซลเว้นท์ว่าเป็น "โรงกลั่น"
หรือโรงงานทั่วไป ซึ่งจะทำให้อัตราการเก็บภาษีแตกต่างกันมาก (บริษัทบางจากปิโตรเลียม
ซึ่งได้ผลิตโซลเว้นท์ไปบ้างแล้วถูกเรียกเก็บภาษีแบบเทียบเคียงในอัตราเดียวกับเบนซิน
ซึ่งเมื่อนำออกตลาดในเมืองไทยไม่สามารถที่จะขายในราคาต่ำได้) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อยุติ
หากเราดูฐานที่สนับสนุนสยามโซลเว้นท์ประกอบไปด้วย ก็ไม่อาจจะดูเบากลุ่มนี้ได้
เพราะนอกจากสยามเฆมีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 41% ยังธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอีกประมาณ
10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญ
และได้เร่งรัดโครงการนี้อยู่ว่าไปถึงไหนแล้ว
ถ้าดูเบื้องหลังการก่อตั้งสยามโซลเว้นท์ให้ลึกซึ้งไปอีก จะพบว่าจิระ รัตนะรัตนั้นแต่งงานกับคุณหญิงทองทิพ
ลูกสาวของตระกูลหงศ์ลดารมภ์ ซึ่งโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ที่อยู่ในแวดวง "หงศ์ลดารมภ์"
ที่คลุกคลีกับเรื่องพลังงานไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์
อดีตผู้ว่าการปตท. และกรรมการผู้จัดการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
ดร. พรพรหม หงศ์ลดารมภ์ แห่งบริษัทสองพลอยที่ริเริ่มเปิดตลาดก๊าซโซฮอลล์
และแม้แต่คุณหญิงทองทิพ ก็เป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
คุณหญิงทองทิพ ซึ่งเป็นผู้เชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างหงศ์ลดารมภ์กับรัตนะรัต
เรียนจบปริญญาโทวิศวกรรมเคมี จากนิวซีแลนด์ (เรียนมหาวิทยาลัยเดียวกับประชัย
เลี่ยวไพรัตน์แห่งกลุ่มทีพีไอ) กลับมาเป็นเลขานุการของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
เกือบสิบปีก่อนจะมาเป็น ผอ. สถาบันปิโตรเลียมในปัจจุบัน
และจากสายสัมพันธ์ดังกล่าวนำไปสู่ "โครงการท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชัง"
ซึ่งตระกูลหงศ์ลดารมภ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินท้ายเกาะกว่า 1,000 ไร่
โครงการนี้จึงมีพื้นฐานมาจากความต้องการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ โดยเห็นว่าที่นี่เหมาะสมสำหรับการทำเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่
และยังสามารถเป็นแหล่งซึ่งสยามเฆมีจะขยายฐานการผลิตบางส่วนมาได้ ตลอดจนเริ่มธุรกิจบริการสถานที่พักตากอากาศ
และหากจะทำให้เต็มโครงการทั้งหมดที่วาดไว้จะต้องใช้เงินเกือบ 3 พันล้านบาท
ซึ่งโครงการนี้จะเป็นตัวชี้ว่าสยามเฆมีจะก้าวทะยานได้ไกลเพียงใดในโลกธุรกิจ
(อ่านล้อมกรอบ "โครงการท่าเรือน้ำลึกเกาะสีชัง "สิงคโปร์เล็กๆ"
เพ้อฝันจริงหรือ!?")
เยอรมันสไตล์ ผสม ไสยศาสตร์
ดร. จ่างกับจิระแตกต่างกันตรงที่ ดร. จ่างมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่า
ขณะที่จิระมีความเป็นพ่อค้ามากกว่า แต่โดยพื้นฐานพ่อลูกคู่นี้เหมือนกันตรงที่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาของเยอรมัน
ซึ่งมีลักษณะเด่นอยู่หลายประการ กล่าวคือ
การมองการณ์ไกลประเภทที่คิดไปข้างหน้า 10-20 ปี, การทำงานแบบมีหลักมีเกณฑ์สามารถกุมสภาพข้อมูลให้ได้มากที่สุด,
การทำงานหนักและรู้จักคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตัวเอง
"เยอรมันในสมัยก่อนสงครามโลกเป็นประเทศที่ก้าวล้ำพันธมิตรไปอย่างน้อย
10 ปี สร้างจรวดได้ก่อน เครื่องบินไอพ่นได้ก่อน แต่เป็นคนใจร้อน โผงผางชอบคิดโน้นคิดนี่
และจะต้องให้เสร็จได้เร็ว คนเยอรมันทำงานเหมือนเป็นงานอดิเรก คือไม่ได้คิดว่ากำลังทำงาน
แต่อยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นความภูมิใจในชีวิต แล้วโอกาสพลาดก็เยอะตรงนี้มีส่วนล้างสมองผมมาก
อยู่ที่นั่น 10 ปี กลับบ้านครั้งเดียว" จิระเล่าถึงสิ่งที่หล่อหลอมความคิดของเขา
และยอมรับว่าบางครั้งเขาพลาดเพราะความใจร้อนอยากให้กิจการโตเร็วเกินไป
ในยุคสมัยของดร. จ่างเป็นการเริ่มต้นผลิตสารเคมี ซึ่งต่อมาขยายตัวไปในหลายผลิตภัณฑ์
ส่วนจิระเป็นคนหนุ่มที่ไม่หยุดนิ่งมีความคิดจะทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา ในยุคสมัยของเขา
ได้มีการ DIVERSIFY ไปในหลายธุรกิจ กระทั่งบัดนี้มีบริษัทในเครือทั้งหมด
7 บริษัท (ดูสรุปผลการดำเนินงานของธุรกิจในเครือสยามเฆมี) และจุดที่เด่นที่สุดน่าจะอยู่ตรงที่ความสามารถในการบริหารต้นทุนสินค้าให้ต่ำกว่าคู่แข่งทั่วไป
"ผมเริ่มต้นทำเครื่องผสมปุ๋ยที่มีราคาเพียง 1-2 หมื่นบาท เครื่องผสมน้ำมันเครื่องใช้เงินเพียง
7.5 หมื่นบาท และเพราะเครื่องนี้มันถูก จึงสามารถเสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่งที่เข้าประมูลกับปตท.
ทุกปี โกดังผมสร้างตารางเมตรละ 2,000 บาทขณะที่คนอื่นทำ 3,000 บาท ทำท่าเรือให้เรือเป็นหมื่นตันจอดได้ด้วยเงิน
2 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นเพราะผมคิดแบบเอง ไม่รู้ก็ไปปรึกษาผู้รู้ทั้งหลาย
ไม่เคยไปจ้างฝรั่งราคาแพงๆ เหมือนที่อื่น คุมเองแทบทุกอย่าง เหนื่อยแทบขาดใจก็ยอม
อยากจะพิสูจน์ให้รู้ว่าคนไทยมีฝีมือเหมือนกัน สมัยผมอยู่เยอรมันจนขณะนี้ผมขมขื่นกับความรู้สึกที่ฝรั่งมักมองไทยว่า
ผู้ชายเป็นพวกค้าเฮโรอีน ผู้หญิงก็เป็นโสเภณี"
แต่นับเนื่องจากประสบวิกฤติการณ์อย่างหนักทำให้เห็นข้อจำกัดของวิทยาศาสตร์และความรู้สมัยใหม่
จิระเริ่มเชื่อไสยศาสตร์หลังจากปรากฏการณ์หลายๆ ครั้งที่คำแนะนำจากพระอาจารย์ทั้งหลายเป็นผล
นั่นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อชีวิตเขาและสยามเฆมีอย่างมาก ไม่ว่าใครจะว่าเขางมงาย
แต่ถ้าสิ่งนั้นเคยช่วยเขามาเขายอมรับและที่ยอมเอาเรื่องไสยศาสตร์มาเปิดเผย
เพราะอยากจะขอบคุณ
กระบวนการตัดสินใจในการทำธุรกิจของจิระหลังจากมรสุมครั้งนั้นจะมี 3 ปัจจัยเสมอ
1) ตัวเขาอยากทำหรือเปล่า 2) การศึกษาความเป็นไปได้ทางการตลาด 3) พระอาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาเขาเห็นด้วยหรือไม่
โดยที่ให้คะแนนทั้ง 3 ปัจจัยเท่าๆ กัน ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งไม่เห็นด้วยเขาจะยังไม่ทำ
จนกระทั่งครบทั้งสามปัจจัย
จะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านไสยศาสตร์เป็นด้านที่เพิ่มขึ้นมากันเหนียวไว้อีกชั้นหนึ่งโดยที่ไม่ละทิ้งหลักการทั่วไปใน
2 ข้อแรก
ตัวอย่างของการใช้เรื่องไสยศาสตร์ซึ่งสำหรับจิระแล้วมันคือวิทยาศาสตร์ที่เรายังอธิบายไม่ได้
เป็นบางสิ่งบางอย่างซึ่งถูกโปรแกรมไว้แล้ว เช่นปริมาณการสั่งปุ๋ยปีที่แล้วกับปีนี้
โดยดูจากปฏิทินโหราศาสตร์ 100 ปี
ปี 2531 "เกณฑ์ฝน ฝนตก 500 ห่าตกในจักรวาล 200 ห่าตกนอกฟ้า ป่าหิมพานต์
150 ห่า ตกในมนุษย์โลก 50 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว ฝนกลางปีอุดม เกณฑ์น้ำชื่อวาโย
น้ำพอประมาณ เกณฑ์ธัญญาหารชื่อลาภะ ข้าวกล้าในนาภูมินา จะได้ผล 10 ส่วน เสีย
1 ส่วน ธัญญาหาร ผลาหาญบริบูรณ์"
จากคำทำนายพยากรณ์ได้ว่าปีนี้ข้าวปลาจะดี ซึ่งจะต้องใช้ปุ๋ยมากกว่าปีที่แล้วซึ่งฝนแล้ง
ประกอบกับการพิจารณาปัจจัยรอบด้าน "ผมเงี่ยหูฟังตลอดเวลาว่าปุ๋ยจะขาดหรือไม่
จีนแดงซื้อเท่าไหร่ น้ำมันจะขึ้นราคาหรือลงราคา ฟังจากทอมบ้าง จากญี่ปุ่นบ้าง
อาศัยทุกแฟกเตอร์ พอลงตัวผัวะ ไปเซ็นสัญญาเลย แสนห้าหมื่นตัน 750 ล้านบาท
เอาเข้าจริงขายไปสองแสนกว่าตันมันบูมมาก คือถ้าเราไม่สั่งจองก่อนปุ๋ยจำนวนนี้อาจจะไปอยู่ที่จีนแดงหรือประเทศอื่น"
ตำรานี้เขาใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการดำเนินกิจการ เป็นคัมภีร์สุริยมาตร์ของไทย
ซึ่งบังเอิญคนเขียนตำรานี้ได้นำสูตรการคำนวณของ DR. CHRUMP ชาวเยอรมัน
จิระมีที่ปรึกษาทางด้านไสยศาสตร์ 3 คน เป็นคนไทย 2 คน (ไม่ขอเปิดเผยนาม)
คนหนึ่ง เคยเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในงานพิธีการต่างๆ เช่นตั้งศาลพระภูมิ เป็นผู้แนะนำให้จิระประพฤติปฏิบัติธรรมในช่วงวิกฤตการณ์
เป็นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ อีกคนเคยเป็นเซลล์ขายน้ำมันให้สยามเฆมีเก่งทางด้านดวงชะตามาก
ทั้งสองคนขณะนี้ช่วยขายปุ๋ยด้วย ที่ปรึกษาอีกคนเป็นชาวสิงคโปร์ เป็นเพื่อนกับจิระมานาน
แต่เพิ่งจะมาร่วมงานกันจริงๆ เมื่อไม่นานมานี้ มาจับโปรเจคหนึ่งของสยามเฆมี
ซึ่งจะลงทุนที่สิงคโปร์ ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ผู้ร่วมงานของสยามเฆมีแทบทั้งหมดเป็นมืออาชีพที่ถูกเลือกเฟ้นมาโดยระบบความสามารถ
และมีการจัดองค์กรแบบแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน ตามแบบการบริหารสมัยใหม่ (โปรดดู
ORGANIZATION CHART) ซึ่งหลังจากที่จิระเกษียณ (ปัจจุบัน 49 ปี) มืออาชีพเหล่านี้จะขึ้นมาบริหารแทนเขา
ความสำเร็จและความล้มเหลวของสยามเฆมีนั้น จริงๆ แล้วมีอยู่หลายปัจจัย แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อหรือให้น้ำหนักอะไรมากกว่ากัน
มืออาชีพในสยามเฆมีมีทั้งเชื่อและไม่เชื่อเรื่องไสยศาสตร์ในระดับที่แตกต่างกันไป
ช่องว่างสำหรับความรับรู้ตรงนี้จะยังไม่มีปัญหาตราบเท่าที่สูตรผสมระหว่างการบริหารสมัยใหม่กับเรื่องไสยศาสตร์ยังลงตัวอยู่
อนาคตของสยามเฆมีจะไปได้ไกลหรือไม่ภายใต้ความเชื่อดังกล่าว เป็นสิ่งที่จะต้องเฝ้าดูต่อไป…