Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2531
แพ็คกิ้ง เครดิต เงินพลังสูง เมื่อพ่อค้าถูกดัดหลังแบงก์ชาติกลัวเงินเฟ้อ             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

   
search resources

ธนาคารแห่งประเทศไทย
วิจิตร สุพินิจ
Loan




"เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่แบงก์ชาติปรับโครงสร้างใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตซึ่งเป็นสินเชื่อส่งออกดอกเบี้ยต่ำ หลังจากปล่อยให้พ่อค้าส่งออกขนาดยักษ์บางรายเสวยสุขจากเม็ดเงินราคาถูกนี้มานาน เรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อสถาบันที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นบริษัทส่งออก แบงก์พาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์-คลังและแม้แต่แบงก์ชาติ…แม้เรื่องนี้ในหลักการจะดูดีแต่รายละเอียดในการปฏิบัติดูจะมีจุดบกพร่องไม่น้อย"

แต่ไหนแต่ไรมา พ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรเป็นตัวจักรสำคัญในการส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลกในสัดส่วน 60-70% ของยอดการส่งออกทั้งหมดของไทย ยิ่งเมื่อประสานเข้ากับมาตรการส่งเสริมการส่งออกอย่างเข้มแข็งจากรัฐด้วยแล้ว พ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรก็ถูกปฏิบัติราวกับ "ลูกคนสุดท้อง" ที่ได้รับขุนเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพลีมัน ไม่ว่าจะเป็นการคืนเงินภาษี ยกเว้นภาษีการค้า อุดหนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกด้วยต้นทุนดอกเบี้ยต่ำมากๆ

กล่าวกันว่า การปฏิบัติเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดีของรัฐต่อพ่อค้าพืชผลส่งออกเช่นนี้ ทำให้พ่อค้าส่งออกบางรายสามารถสร้างตึกที่ทำการของตัวเองขนาด 200-300 ล้านบาทในย่านทำเลทองอย่างสีลมหรือสาธรใต้สบายๆ

จวบจนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานั้นแหละ ที่ดูเหมือนว่าบทบาทพ่อค้าพืชผลส่งออกดูจะอ่อนล้าลง เพราะปรากฏว่าผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเริ่มเป็นตัวนำในการส่งออกแทนพ่อค้าพืชผล

ปี '28 สินค้าพืชผลเกษตรมียอดส่งออกประมาณ 73,000 ล้านบาทเทียบกับ 95,000 ล้านบาทของยอดสินค้าอุตสาหกรรม ยิ่งปี '30 ด้วยแล้วยอดส่งออกของสินค้าอุตสาหกรรมถีบตัวออกห่างจากสินค้าเกษตรออกไปมากขึ้น จาก 188,000 ล้านบาทเทียบกับ 83,000 ล้านบาท

ยอดส่งออกห่างกันถึง 100,000 ล้านบาท!

ยิ่งเมื่อเทียบกับยอดส่งออกรวมแล้ว สัดส่วนยิ่งปรากฏเห็นชัดถึงความแตกต่างในทิศทางการส่งออก

ปี '28 สัดส่วนส่งออกสินค้าเกษตรคิดเป็น 37% ของยอดส่งออกรวม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 49% และเมื่อปี '30 ยอดส่งออกสินค้าเกษตรก็มีสัดส่วนส่งออกเมื่อเทียบกับยอดรวมลดลงเหลือ 28% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 63%

แสดงว่านับวันแนวโน้มทิศทางการส่งออกกระจุกตัวเข้าหาสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น ขณะที่สินค้าเกษตรเริ่มลดความสำคัญลงไป

แต่ภายใต้การปรับเปลี่ยนทิศทางการส่งออกนี้ ปรากฏว่าพ่อค้าส่งออกพืชผลเกษตรก็ยังคงได้รับการอุดหนุนทางการเงินและการคลังจากมาตรการของรัฐอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

ไม่ต้องดูอื่นไกล เอากันแค่การอุดหนุนทางการเงินจากแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติ!

ตามปกติการตั้งวงเงินอุดหนุนการส่งออกด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่เรียกว่าแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติจะอยู่ในสัดส่วนเมื่อเทียบกับปริมาณเงินไม่มากนักอยู่ระหว่าง 20-40%

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่อะไรอื่น เพราะแบงก์ชาติต้องควบคุมไม่ให้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตซึ่งถือว่าเป็นเงินพลังสูงไปทำลายเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านเงินเฟ้อ

ขณะเดียวกันแบงก์ชาติก็ไม่ต้องการให้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไปเป็นอุปสรรคขัดขวางการเติบโตส่งออก

พูดง่ายๆ แบงก์ชาติยืนอยู่ตรงกลางในการควบคุมเงินเฟ้อและส่งเสริมการส่งออก

เท่าที่ผ่านมาอย่างน้อย 30 ปี ต้องยอมรับความจริงกันว่าการส่งออกของไทยเราพึ่งพิงฐานสินค้าเกษตรไม่กี่ตัว เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นสำคัญ เป็นตัวนำในการส่งออก

ดังนั้นวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิต ส่วนใหญ่เกือบ 70% จึงกระจุกตัวอยู่ที่พ่อค้าส่งออกพืชผลหลักที่ว่านี้เป็นผู้ใช้ แล้วมันช่างเผอิญเสียจริงๆ ที่โครงสร้างกลุ่มบริษัทพ่อค้าพืชเกษตรที่ปรากฏรายชื่ออยู่นับ 40 บริษัทที่เป็นรายใหญ่ๆ โดยแท้จริงๆ แล้วกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มไม่เกิน 10 บริษัทเท่านั้น ที่เหลือเป็นบริษัทในเครือที่แตกลูกแตกหลานกันออกไปทั้งสิ้น

แม้ในปัจจุบันที่โครงสร้างการส่งออกเริ่มเปลี่ยนไปที่สินค้าอุตสาหกรรมเป็นตัวนำ แต่พ่อค้าส่งออกพืชผลรายใหญ่ๆ ที่ว่าก็ยังคงเป็นกลุ่มที่กระจุกตัวการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิต เป็นส่วนใหญ่อยู่

ตัวเลข ณ 28 ก.ค. 2531 ของแบงก์ชาติได้แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่า ยอดคงค้างรวมของวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตมีจำนวน 23,812 ล้านบาท ปรากฏว่ากลุ่มบริษัทพืชผลส่งออกรายใหญ่ 40 แห่ง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นของกลุ่มพ่อค้าพืชผลไม่เกิน 10 กลุ่มบริษัท ใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไปแล้วเกือบ 7,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 31% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรม 32 แห่งที่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกกลับมียอดวงเงินใช้สินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตเพียง 6,000 ล้านบาทเท่านั้น (ดูตารางยอดรับซื้อตั๋วฯ ประกอบ) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตมีพฤติกรรมที่สวนทางกับโครงสร้างการส่งออกที่แปรเปลี่ยนไป มองในประเด็นนี้ก็เท่ากับว่าการจัดสรรวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิต ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรทางการเงินของแบงก์ชาติ ผิดรูปไปจากข้อเท็จจริงของการพัฒนาการผลิตและการส่งออกของระบบเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันก็ดึงให้การจัดสรรทรัพยากรของแบงก์พาณิชย์ผิดรูป หรือสวนทางกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามไปด้วยเพราะแบงก์พาณิชย์เป็นตัวปล่อยเงินแพ็คกิ้ง เครดิตให้แก่พ่อค้าโดยตรงก่อนนำตั๋วเงินหรือ L/C มาขายลดให้แก่แบงก์ชาติ โดยกินส่วนต่าง 2% ของดอกเบี้ยอีกต่อหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตามต่อทิศทางการใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตในลักษณะเช่นที่ว่านี้ ทางกลุ่มพ่อค้าพืชผลคือสภาหอการค้าไทยก็พยายามชี้แจงต่อทางแบงก์ชาติให้คล้อยตามว่า "การจัดสรรวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตแก่ผู้ส่งออกพืชผลมีผลต่อการช่วยเพิ่มอำนาจซื้อผลผลิตการเกษตรแก่เกษตรกร ให้มีราคาสูงตามความต้องการของตลาดโลกที่พ่อค้าส่งออกเป็นผู้ส่งออกไป" ซึ่งก็หมายถึงว่าทางแบงก์ชาติไม่ควรปรับทิศทางการใช้/จัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกและการผลิตที่เป็นอยู่จริงด้วยจะมีผลกระทบต่อราคาพืชผลของเกษตรกร

แต่ดูเหมือนว่า ข้อชี้แจงของพ่อค้าส่งออกนี้ แบงก์ชาติไม่เชื่อว่าจะเป็นเหตุและเป็นผลกันจริง!

วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลสายงานกิจการธนาคารในประเทศของแบงก์ชาติได้กล่าวโต้แก่ "ผู้จัดการ" ว่า ราคาพืชผลเกษตรกรไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่ำจากวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติ แต่แท้จริงแล้วขึ้นอยู่กับอุปสงค์-อุปทานในตลาดโลกและความสามารถในการระบายข้าวสู่ตลาดของพ่อค้า ซึ่งในจุดนี้เมื่อมองย้อนหลังไป 2 ปีที่ผ่านมา การระบายข้าวสู่ตลาดของพ่อค้าก็อยู่ในจำนวน 3.5-4.0 ล้านตันมาโดยตลอด "ในฤดูการผลิตและตลาดปีใหม่นี้การระบายข้าวสู่ตลาดโลกคงไม่น้อยกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งไม่น้อยกว่าปีที่แล้วแน่นอน" สมบุญ ผไทฉันท์ ผู้จัดการสมาคมพ่อค้าข้าวส่งออกแห่งประเทศไทยกล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ"

นักเศรษฐศาสตร์บางคนอย่าง ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า จากประสบการณ์ในการวิจัยพบว่ามาตรการอุดหนุนด้วยแพ็คกิ้ง เครดิตแก่พ่อค้าส่งออกข้าง ไม่มีส่วนสัมพันธ์กับการยกระดับราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรเลย และถ้าหากว่าการจัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตเพื่อหวังว่าจะมีส่วนยกระดับราคาข้าวเปลือกแล้ว ก็ต้องถือว่าล้มเหลว และถ้ามองในแง่เศรษฐศาสตร์ (COST-BENEFIT) ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ "สมควรยกเลิกไปเลยจะดีกว่า"

จุดนี้ได้รับการสนับสนุนเชิงประนีประนอมจาก ศุภชัย พานิชภักดิ์ กรรมการที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ทหารไทย ที่กล่าวว่า การยกเลิกแพ็คกิ้ง เครดิตเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป ระบบการส่งออกปรับตัวไม่ทัน ทางที่ควรเป็นแบงก์ชาติต้องปรับโครงสร้างการจัดสรรแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการส่งออกและการผลิตที่เป็นจริง "เพราะพ่อค้าพืชผลส่งออกถูก SPOIL จากมาตรการอุดหนุนแพ็คกิ้ง เครดิตมานานแล้ว"

แนวคิดปรับโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตว่าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเห็นดีด้วยมาตลอด และข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้มีการตระเตรียมด้านแนวคิดและระเบียบการจัดระบบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตมาไม่น้อยกว่า 4 ปีมาแล้ว

ชนวนที่จุดระเบิดแนวคิดให้แบงก์ชาติทบทวนระบบการให้สินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนที่ธนาคารโลกได้เสนอรายงานการ "ปรับปรุงระบบการเงิน" แก่ผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติยุค นุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการ

ในรายงานฉบับนั้นเน้นว่าระบบและกลไกทางการเงินที่แบงก์ชาติจัดสรรและควบคุมสินเชื่อแก่ระบบธุรกิจต่างๆ โดยผ่านธนาคารพาณิชย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการพัฒนากลไกใหม่ๆ ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ DLC (DOSMESTIC LETTER OF CREDIT) เป็นเครื่องมืออำนวยสินเชื่อแก่ธุรกิจส่งออก

ตรงนี้เมื่อหันมาดูข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างที่ธนาคารโลกเขาพูดจริงๆ เพราะจากข้อมูลของแบงก์ชาติปรากฏว่า ช่วงระหว่างปี 2525-27 ไม่มีพ่อค้าส่งออกรายใดใช้ DLC เลย เพิ่งจะรู้จักใช้กันก็เมื่อ 3 ปีก่อนเท่านั้น แต่ยังมีจำนวนน้อยเพียง 700-800 ล้านบาท/ปี หรืออีกนัยหนึ่งมีสัดส่วนเพียง 2-3% ของยอดรวมสินเชื่อของแบงก์ชาติเท่านั้น และถ้าเทียบกับยอดรวมสินเชื่อรับช่วงซื้อลดตั๋วส่งออกก็มีสัดส่วนเพียง 4-5%/ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างปี 2526-27 ซึ่งอยู่ในระยะใกล้เคียงกับที่ธนาคารโลกได้เสนอรายงานชิ้นนี้แก่แบงก์ชาติ ฐานะดุลงบประมาณของรัฐบาลกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากปัญหาการขาดดุลงบประมาณมากถึง 20,000-30,000 ล้านบาท ทางกระทรวงการคลังก็มาขอกู้จากแบงก์ชาติไปอุดงบขาดดุลเกือบ 10,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันทางแบงก์พาณิชย์ก็มาขอกู้จากแบงก์ชาติเพื่อไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ภาคธุรกิจส่งออกทั้งในรูปของเงินแพ็คกิ้ง เครดิต และหน้าต่างเงินกู้ (LOAN WINDOW) อีกจำนวน 20,000 กว่าล้านบาท

รวมความแล้วในช่วงปีนั้นแบงก์ชาติปล่อยเงินสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 30,000 ล้านบาท เทียบกับฐานเงินแล้วมีสัดส่วนสูงถึง 40% ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขณะนั้นแทบจะไม่มีการเติบโตเลย

สภาพเงื่อนไขเวลานั้น มันเสี่ยงต่อการควบคุมเงินเฟ้อสูงอย่างมาก!

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ถ้าเงินเฟ้อสูงขณะที่ระบบเศรษฐกิจตกต่ำ อะไรจะเกิดขึ้น?

คำตอบก็คือ ระบบเศรษฐกิจการเงินทั้งระบบต้องพังทลายแน่นอน!!

และจุดนี้เอง คือที่มาของการปรับระบบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเงินไทยเมื่อวันที่ 14-15 กันยายน ที่เพิ่งผ่านพ้นมานี้เอง…หลังจากผ่านการศึกษาตระเตรียมทั้งด้านแนวคิดและการจัดระเบียบใหม่ที่หนากว่า 200 หน้ามาเป็นเวลานานถึง 4 ปี!!!

เช้าวันที่ 14 กันยายน มีการประชุมคณะผู้บริหารระดับสูงแบงก์ชาติเพื่อพิจารณาร่างระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่ที่ วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้ศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ 5 ประเด็น คือ หนึ่ง-กำหนดวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไว้ 40,000 ล้านบาท โดยแบ่งสรรสู่ภาคส่งออกและคลังสินค้าสาธารณะจำนวน 38,000 ล้านบาท และจำนวน 2,000 ล้านบาทสู่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมขนาดย่อมในนอกเขตปริมณฑล กทม. สอง-กำหนดให้แบงก์พาณิชย์จัดสรรวงเงินสินเชื่อซื้อลดตั๋วส่งออกและคลังสินค้าฯ ในจำนวนสมทบที่ เท่ากับ วงเงินของแบงก์ชาติ สาม-กำหนดเพดานดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตทั้งในส่วนวงเงินที่แบงก์ชาติจัดสรรให้และแบงก์พาณิชย์สมทบรวมกันไม่เกิน 10% ต่อปี สี่-กำหนดส่วนต่างดอกเบี้ยรับที่แบงก์พาณิชย์จัดสรรสมทบให้แก่อุตสาหกรรมขนาดย่อมในนอกเขตกทม. ไว้ไม่เกิน 1% และ สุดท้าย-กำหนดให้การจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตนี้แก่ภาคส่งออกเฉพาะขั้นตอนก่อนส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อ (PRE-SHIPMENT EXPORT FINANCING) เท่านั้น ไม่รวมถึงขั้นตอนหลังส่งมอบสินค้า (POST-SHIPMENT EXPORT FINANCING) แต่อย่างใด

รวมความแล้ววงเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้เป็นต้นไป จะมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 80,000 ล้านบาทจากการหมุนรอบการค้า 3 รอบต่อปีก็จะมีวงเงินรวมแพ็คกิ้ง เครดิตที่แท้จริง 240,000 ล้านบาท

เป็นของแบงก์ชาติจริงๆ เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับฐานเงิน (MONETARY BASE) ก็จะอยู่ในสัดส่วนระหว่าง 40-50% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย!

เรื่องนี้ผู้บริหารแบงก์ชาติวางแผนไว้ว่าจะประกาศเป็นทางการแก่สื่อมวลชนบ่ายวันรุ่งขึ้น 15 กันยายน!!

แต่ปรากฏว่า เช้าวันที่ 14 กันยายน ที่ประชุมคือ กำจร สถิรกุล ผู้ว่าฯ ได้ขอให้วิจิตรนำร่างไปปรับปรุงใหม่ในส่วนแพ็คกิ้ง เครดิต สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อม จากเดิมที่กำหนดไว้ 1,000 ล้านบาทให้เพิ่มเป็น 2,000 ล้านบาท และส่วนต่างดอกเบี้ยรับของแบงก์พาณิชย์จาก 2% ให้เหลือ 1% (ฐานดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตของแบงก์ชาติ คือ 5%)

ข้อท้วงติงให้ปรับปรุงของกำจรนี้ทำให้คณะผู้ทำงานต้องฉุกละหุกกันมากในการตระเตรียมเอกสารร่างฯ เพื่อนำเสนอที่ประชุมกรรมการแบงก์ชาติเช้าวันที่ 15 กันยายนให้ทัน

เช้าวันที่ 15 กันยายน ที่ประชุมกรรมการแบงก์ชาติมีมติผ่านร่างระเบียบใหม่นี้กันง่ายดาย

และในที่สุดบ่ายวันที่ 15 กันยายน แบงก์ชาติก็แถลงข่าวเรื่องนี้แก่สื่อมวลชนหลังจากเตรียมเอกสารไว้เผยแพร่แก่แบงก์พาณิชย์ทุกสาขาของแบงก์ชาติทุกแห่ง กรรมการของแบงก์ชาติทุกคน รวมถึงเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติระเบียบการรับช่วงซื้อลดตั๋วส่งออกของแบงก์ชาติทุกคน

"เจ้าหน้าที่เราทำงานกันหนักมากในการโรเนียวร่างระเบียบใหม่นี้ถึงเกือบ 300,000 หน้า ในช่วงเวลา 24 ช.ม." วิจิตรกล่าวอย่างติดตลกกับ "ผู้จัดการ"

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ ทำไมแบงก์ชาติจึงเริ่มใช้ระเบียบใหม่ในเวลานี้?

คำตอบก็คือ เวลานี้การส่งออกกำลังขยายตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงตามมาด้วย เห็นได้ชัดด้านอัตราดอกเบี้ยในตลาดกำลังปรับตัวสูงขึ้น

"การปรับลดวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตลงครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งปรับดอกเบี้ยจาก 7% เพิ่มขึ้นไม่เกิน 10% จึงลงตัวพอเหมาะกับเหตุการณ์พอดี" ศุภชัย พานิชภักดิ์ จากแบงก์ทหารไทยให้ข้อสังเกต

วิจิตร สุพินิจ ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ต้องออกระเบียบใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตเวลานี้ก็เพราะ ทราบมาตลอดว่ามีพ่อค้าพืชผลส่งออกหลายรายพยายามใช้วงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตไปใช้ประโยชน์สร้างสต็อกลม ขึ้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการใช้สินเชื่อนี้ "แบงก์ชาติมียอดปรับพวกพ่อค้าที่ สต็อคลม สินค้าเกษตรสูงถึงจำนวน 1,200 ล้านบาทแล้ว" จึงต้องการให้แบงก์พาณิชย์และพ่อค้าส่งออกหันมามีวินัยในการใช้เงินแพ็คกิ้ง เครดิตนี้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของแบงก์พาณิชย์เองระเบียบใหม่ฯ นี้ต้องสมทบเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตนี้ในสัดส่วนวงเงินที่เท่ากับของแบงก์ชาติด้วย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษถึงปัญหาการฉกฉวยการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์นี้

"เพราะแบงก์ชาติจะเพิ่มค่าปรับแบงก์พาณิชย์จาก 2% เป็น 5% ถ้าตรวจพบว่าแบงก์พาณิชย์เลินเล่อปล่อยสินเชื่อแก่พ่อค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์" วิจิตรกล่าว

จุดนี้ก็เท่ากับว่าแบงก์ชาติได้ดึงให้แบงก์พาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมรับความเสี่ยงในสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตด้วย!

ซึ่งแต่เดิมแบงก์พาณิชย์แทบจะไม่ได้ร่วมกับความเสี่ยงเลย เพราะเพียงเป็นคนกลางกินส่วนต่างดอกเบี้ย 2% จากการเอาตั๋วส่งออกพ่อค้าไปขาดลดให้แบงก์ชาติเท่านั้น

แต่ในครั้งนี้แบงก์พาณิชย์ไม่เพียงต้องรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อเองด้วยแล้วยังต้องเสี่ยงต่อการถูกปรับด้วย!

แน่นอนว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ แบงก์พาณิชย์ต้องคัดเลือกลูกค้าอย่างระมัดระวังมากขึ้น ในขณะที่ตลาดแข่งขันกำลังดุเดือดเข้มข้น

ภาวะเช่นนี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า แล้วระเบียบใหม่แพ็คกิ้ง เครดิตจะแก้ปัญหาการกระจุกตัวการใช้ที่จำกัดอยู่เฉพาะพ่อค้าระดับยักษ์ใหญ่ (หน้าเดิม) ได้หรือไม่?

วิจิตร สุพินิจ จากแบงก์ชาติกล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การจะหวังให้กลไกตลาดของแบงก์พาณิชย์เป็นตัวจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตกระจายออกไปสู่พ่อค้าขนาดกลางหรือผู้ส่งออก/ผู้ผลิตหน้าใหม่ๆ คง ยาก เพราะแบงก์พาณิชย์คงไม่กล้าเสี่ยงกับลูกค้าหน้าใหม่ๆ มากเท่ากับลูกค้าเก่าที่ติดต่อใช้บริการกันมานาน (ดูตารางกระจุกตัวการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตของพ่อค้ายักษ์ใหญ่ประกอบ) ศุภชัย พานิชภักดิ์ จากแบงก์ทหารไทยกล่าวถึงเหตุผลนี้เพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่า

"แบงก์พาณิชย์ต้องเอาลูกค้ารายใหญ่ที่มีวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจำนวนสูงไว้ก่อนรายย่อย เพราะประหยัดต้นทุนกว่า สมมุติถ้าคุณเปิด L/C มา 100 ล้านบาท แบงก์ก็เสียต้นทุนดำเนินงานเท่ากับ L/C 10 ล้านบาท แล้วเรื่องอะไรที่แบงก์จะเอารายย่อยที่เปิดมาแค่ 10 ล้านบาท"

หลักฐานที่สนับสนุนคำกล่าวนี้ดูได้จากแบงก์พาณิชย์คิดดอกเบี้ยจากตั๋วส่งออกของพ่อค้าระดับยักษ์ใหญ่เช่นกลุ่ม มินิแบร์ ไทย ที่ผลิตตลับลูกปืนส่งออกและเป็นลูกค้าของแบงก์กรุงเทพ

จากหลักฐาน ณ วันที่ 30 มีนาคม 2531 แบงก์กรุงเทพปล่อยสินเชื่อส่งออกแก่กลุ่มมินิแบร์ไปทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยเพียง 6-7% เท่านั้น ขณะที่ดอกเบี้ยตลาดลูกค้าชั้นดีทั่วไปตกประมาณ 12%…

กลุ่ม เกษตรรุ่งเรืองพืชผล ก็เช่นกัน กลุ่มนี้เป็นยักษ์ใหญ่ส่งออกพืชผลพวกข้าวและมันสำปะหลัง และเป็นลูกค้าชั้นดีของแบงก์กรุงเทพ จากหลักฐาน "ผู้จัดการ" ตรวจพบว่า ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2530 กลุ่มนี้กู้ยืมจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งในสิงคโปร์วงเงิน 125 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยเพียง 7.53% เท่านั้น ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มนี้ได้ใช้วงเงินสินเชื่อส่งออกจากแบงก์กรุงเทพจำนวน 1,218 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ยเพียง 7% เท่านั้น…

จากตัวอย่าง 2 ตัวอย่างนี้ได้ข้อสรุปว่ากลไกตลาดของแบงก์พาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อส่งออกมุ่งเน้นบริษัทลูกค้ายักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ แม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็ตาม เพราะแบงก์เชื่อมั่นว่ากลุ่มลูกค้ายักษ์ใหญ่เหล่านี้เป็นลูกค้าชั้นดีที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะเดียวกันแม้ดอกเบี้ยที่แบงก์คิดจะต่ำมาก แต่วงเงินที่ใช้ก็สูงมากพอที่จะช่วยให้แบงก์สามารถประหยัดต้นทุนจากขนาด (ECONOMY OF SCALE) ได้มากกว่าลูกค้ารายย่อยๆ

อย่างไรก็ตามต่อปัญหาการแก้ไขการกระจุกตัวการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตนี้ แบงก์ชาติมีความเชื่อว่าทางออกการแก้ปัญหานี้ที่กลไกอัตโนมัติของแบงก์ชาติเองที่ระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่นี้จะช่วยให้แบงก์ชาติสามารถประหยัดเม็ดเงินได้จำนวนเกือบ 8,000 ล้านบาท (ดูตารางการกระจายเงินสินเชื่อฯ แก่ผู้ส่งออกประกอบ) ซึ่งวงเงินจำนวนนี้แบงก์ชาติสามารถนำไปกระจายสู่ผู้ส่งออกขนาดย่อมและธุรกิจส่งออกอุตสาหกรรมต่างๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาไม่ค่อยได้รับการอุดหนุนสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตนี้มากนัก เช่น สิ่งทอ ซึ่งปีที่แล้วนี้สินค้าตัวนี้ส่งออกสูงถึง 48,000 ล้านบาท แต่ได้รับสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิตเพียง 4,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% เท่านั้น ขณะที่ข้าวส่งออก 20,000 ล้านบาท แต่ได้แพ็คกิ้ง เครดิตสูงถึง 15,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 90% ของยอดส่งออก

"ปีที่แล้วแบงก์พาณิชย์ทั้งระบบปล่อยสินเชื่อส่งออกประมาณ 87,000 ล้านบาท เป็นวงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตจากแบงก์ชาติประมาณ 21% เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ส่งออก 4 ใน 5 ที่ไม่ได้รับแพ็คกิ้ง เครดิตจากแบงก์ชาติเลย" วิจิตร สุพินิจ จากแบงก์ชาติกล่าวแบบยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ถึงความไม่เป็นธรรมในการกระจายวงเงินสินเชื่อแพ็คกิ้ง เครดิต

เงิน 8,000 ล้านบาทที่แบงก์ชาติประหยัดได้จากผลของการปรับระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่นี้บวกกับเงินสมทบเพิ่มเติมอีก 8,000 ล้านบาทของแบงก์พาณิชย์รวมเป็น 16,000 ล้านบาท วิจิตรกล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ" ว่า จะจัดสรรไปสู่กลุ่มผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าส่งออกจำนวนสูงๆ เช่น อัญมณี สิ่งทอ มากขึ้น

แหล่งข่าวจากแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่งได้ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ต่อประเด็นนี้ว่า กลไกอัตโนมัติในการจัดสรรเงินแพ็คกิ้ง เครดิตสู่ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณีอาจล้มเหลวลงได้เพราะ หนึ่ง-ถ้าหากว่าการส่งออกสินค้าเกษตรเติบโตขึ้นอย่างฮวบฮาบ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรก็จะดึงเงินแพ็คกิ้ง เครดิตนี้ไปใช้เสียเอง และ สอง-เมื่อกระแสการส่งออกเป็นอย่างที่ว่าแบงก์ชาตและแบงก์พาณิชย์ก็จะเหลือเงินที่สงวนไว้ให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมน้อยลง

ข้อสังเกตนี้เป็นไปได้สูงมากเมื่อพิจารณาลงไปที่ขนาดของธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณี ซึ่งแม้มีจำนวนมากรายแต่ก็มีขนาดเล็กการส่งออกแต่ละครั้ง (SHIPMENT) มีวงเงินไม่สูงเมื่อเทียบกับพืชผลเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง

ดังนั้น ธุรกิจอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณีเมื่อเทียบกับธุรกิจส่งออกพืชผลหลักจึงมีความเสี่ยงและต้นทุนบริหารสินเชื่อที่แบงก์ฯ แบกรับสูงกว่า โอกาสการใช้แพ็คกิ้ง เครดิตจึงมีไม่มากนัก

นอกจากนี้เมื่อหันมาพิจารณาความเสี่ยงในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเช่นสิ่งทอและอัญมณี ในอนาคตมีแนวโน้มยุ่งยากมากขึ้นจากกรณีการถูกตอบโต้ด้วยมาตรการ COUNTER VAILING DUTIES (C.V.D.) จากประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ ที่หยิบยกเหตุดอกเบี้ยต่ำที่แบงก์ชาติให้การอุดหนุนแพ็คกิ้ง เครดิตมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งในจุดนี้เท่ากับเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมประเภทนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก

"จริงๆ แล้ว ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอัญมณี ต้นทุนดอกเบี้ยมีสัดส่วนเพียง 2.6% ของต้นทุนรวมเท่านั้น น้อยมากเลย เราเชื่อว่าการอุดหนุนด้วยแพ็คกิ้ง เครดิตดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 10% นี้ ไม่น่าจะมีผลให้ประเทศคู่ค้าใช้เป็นเหตุอ้างใช้ C.V.D. มาเล่นงานผู้ส่งออกเรา ตรงข้ามเรากลับเชื่อว่าดอกเบี้ยแพ็คกิ้ง เครดิตที่ขยับขึ้นจาก 7% เป็น 10% น่าจะมีส่วนหันเหความสนใจประเทศคู่ค้าที่จะหยิบเหตุนี้มาอ้างเล่นงานด้วยซ้ำไป" วิจิตร สุพินิจ จากแบงก์ชาติกล่าวโต้แย้ง

แต่ไม่ว่าเรื่องนี้จะลงเอยกันอย่างไรในข้อเท็จจริง!

ก็ปรากฏว่าทางกลุ่มพ่อค้าพืชผลส่งออกขนาดใหญ่ก็ออกมาโวยวายกันแล้ว โดยยกเหตุผลว่าระเบียบแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่นี้จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและราคาพืชผลของเกษตรกร

"ต้นทุนดอกเบี้ยของพ่อค้าต้องสูงขึ้นแน่นอนไม่น้อยกว่า 2%" คนในสมาคมพ่อค้าข้าวโพดและพืชพันธุ์ไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

และแน่นอนว่าต้นทุนส่วนนี้ผู้ส่งออกก็จะต้องผลักไปให้เกษตรกรเป็นผู้แบกรับภาระแทน

"พ่อค้าก็คงจะให้ความร่วมมือกับแบงก์ชาติเท่าที่จะทำได้" ประยูร เถลิงศรี ผู้อำนวยการบริหารสภาหอการค้าไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ต่อข้อความที่ว่า ถ้าหากข้อท้วงติงของผู้ส่งออกไม่เป็นผล ซึ่งคำกล่าวของประยูรเช่นนี้ก็หมายความว่า พ่อค้าฯ ต้องเอาตัวรอดไว้ก่อนเพื่อรักษาผลกำไร!

การออกมาโวยวายของพ่อค้าพืชผลดูเหมือนมีเสียงขานรับอย่างหนักแน่นจาก รมต. พาณิชย์ สุบิน ปิ่นขยัน หลังจากได้พูดคุยในปัญหานี้กับพ่อค้าส่งออกที่เข้าพบเมื่อวันที่ 23 กันยายนนี้

แต่ กำจร สถิรกุล จากแบงก์ชาติก็ฉลาดพอที่จะหาแนวร่วมกับทางกระทรวงการคลังให้สนับสนุนตน และดูเหมือนทางกระทรวงการคลังจะเห็นดีด้วยกับกำจร

เรื่องนี้ก็เลยลงเอยแบบกระทรวงพาณิชย์กับคลังขัดแย้งกัน!

และอนาคตของระเบียบแพ็คกิ้ง เครดิตใหม่นี้ก็คงต้องอยู่ที่ท่าทีของเจ้ากระทรวงทั้ง 2 ว่าจะออกมาในรูปใด!

ถ้าประนีประนอมกันได้ ก็หมายถึงสถานภาพอันอิสระในการดำเนินงานของแบงก์ชาติต้องถูกแทรกแซง

ปัญหาก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้น กำจรจะกล้าท้าทายการแทรกแซงนั้นหรือไม่? เพื่อรักษาเจตนารมณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันอิสระอย่างแบงก์ชาติ เพราะเรื่องการปรับระเบียบโครงสร้างแพ็คกิ้ง เครดิตเป็นเพียงมาตรการทางการเงิน ไม่ใช่นโยบายทางการเงินที่จำต้องได้รับการเห็นชอบจากระทรวงคลังก่อนดำเนินงาน

เรื่องนี้ก็เลยต้องลงเอยกันที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าฤทธิ์เดชของพ่อค้า (พืชผล) ส่งออกที่เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับเจ้ากระทรวงพาณิชย์จะทำลายประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ในอิสรภาพดำเนินงานของแบงก์ชาติได้หรือไม่?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us