7 กันยายน 2531 ธนาคารทหารไทยทำการปรับโครงสร้างการบริหารครั้งใหม่ล่าสุด
ทั้งที่ 2 เดือนก่อนหน้านั้นก็เพิ่งจะมีการปรับปรุงไปหยกๆ ว่ากันว่าการปรับครั้งล่าสุดทำให้โครงสร้างการบริหารพลิกผันไปจากเดิมอย่างมาก
เพราะเป็นการปรับเพื่อปูทางให้ ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ที่เข้ามาร่วมงานตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาผู้บริหาร
(EXECUTIVE ADVISER) ก้าวสู่กรรมการผู้จัดการใหญ่ในอนาคต การเข้ามาในทหารไทยของดร.
ศุภชัยครั้งนี้ถูกจับตามองจากหลายๆ ฝ่าย เพราะเท่ากับว่าธนาคารทหารไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมของผู้บริหารมืออาชีพได้ต้อนรับ
"คนนอก" เข้าร่วมงานอีกวาระหนึ่ง หลังจากที่เคยรับดร. ประยูร จินดาประดิษฐ์มาแล้ว
และคำถามก็คือ การเข้ามาของศุภชัยนี้ ทำไมโครงสร้างอำนาจในแบงก์จึงไม่แตกดับระส่ำระสาย?
ผังภูมิองค์งานธนาคารทหารไทย 7 กันยายน 2531 (ผังภูมิที่ 1) แสดงให้เห็นว่าดร.
ศุภชัยมีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งในธนาคาร โดยเป็นรองก็แต่ อนุตร์ อัศวานนท์
กรรมการผู้จัดการใหญ่เท่านั้น
ตามผังภูมิจะเห็นได้ว่าดร. ศุภชัยดำรงตำแหน่งกรรมการที่ปรึกษาผู้บริหาร
ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้ที่เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการธนาคาร และมีสิทธิ์มีเสียงตามตำแหน่งกรรมการโดยสมบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีอำนาจในการบริหารงานนอกเหนือไปจากการให้คำปรึกษา รวมทั้งยังมีหุ้นธนาคารอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับโอนมาให้อีกด้วย
ส่วนงานที่ดร. ศุภชัยรับผิดชอบก็คืองานส่วนใหญ่ที่เคยอยู่ในความดูแลของกรรมการผู้จัดการใหญ่
(ตามการปรับโครงสร้างเมื่อ 1 กรกฎาคม 2531, โปรดดูผังภูมิที่ 2) รวมทั้งมีการงโอนฝ่ายตรวจสอบและฝ่ายคอมพิวเตอร์มาจากสายงานในความรับผิดชอบของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้ดูแลควบคุมเพิ่มขึ้นอีกด้วย
(โปรดดูผังภูมิที่ 1)
ตำแหน่งสำคัญอีกตำแหน่งที่ดร. ศุภชัยเข้าไปนั่งเป็นประธานคือคณะอนุกรรมการสินเชื่อ
โดยมีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ทั้ง 4 คนเข้าร่วมเป็นกรรมการและผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อเป็นเลขาฯ
อนุกรรมการชุดนี้ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางในการปล่อยสินเชื่อ
วิเคราะห์สินเชื่อ รวมถึงการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่มากกว่าการอนุมัติในระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
และโดยส่วนตัวของดร. ศุภชัยเองนั้นก็มีอำนาจอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวนหนึ่งเหมือนกับผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ
แต่เป็นวงเงินที่มากกว่าผู้บริหารทุกคน ยกเว้นกรรมการผู้จัดการใหญ่
เป็นที่เห็นชัดว่างานของดร. ศุภชัยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการทำเรื่องนโยบายมากกว่าที่จะมาทำด้านปฏิบัติการ
(OPERATION) ซึ่งก็เป็นไปตามความถนัดและประสบการณ์ดังที่ดร. ศุภชัยกล่าวไว้เองว่า
"ผมคิดว่างานที่จะทำนั้นส่วนใหญ่จะเป็นงานนโยบาย งาน STRATEGY ผมคิดว่าต้องมีโอกาสที่จะช่วยบอร์ดกำหนดทิศทางด้วย"
บทบาทในแบงก์ของดร. ศุภชัยเช่นนี้สะท้อนชัดเจนว่าหลังหมดยุคอนุตร์ ศุภชัยนี่แหละคือ
กรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไป!
อย่างไรก็ดี ดร. ศุภชัยกล่าวถึงการเข้ามาดำรงตำแหน่งที่ธนาคารทหารไทยของตัวเองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ใคร
แม้จะได้รับตำแหน่งและการจัดสรรอำนาจหน้าที่มากมายก็ตาม…
เขาพูดว่า "ไม่ต้องเดือดร้อนใครหรอก เพราะแบงก์ทหารไทยในระยะ 2-3
ปีหลังนี้มีการเจริญเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นในสายงานที่แบ่งไว้เดิมนี่
ผมเชื่อว่ามี OVERLOAD อยู่ และที่ผมเข้ามานี่ไม่ได้แย่งงานใคร ส่วนใหญ่จะแย่งงานกรรมการผู้จัดการใหย่กับงานที่ไปฝากไว้ตามสายงานต่างๆ
ที่ควรจะมา REORGANIZE เสียใหม่ เพราะฉะนั้นเท่ากับเป็นการช่วยลด LOAD และทำให้งานแต่ละสายกระชับขึ้นมากกว่า"
แท้ที่จริงก็คือผังภูมิ 7 กันยายน 2531 เป็นผังภูมที่ดร. ศุภชัย และอนุตร์
อัศวานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมกันจัดสรรแบ่งปันมากับมือของคนทั้งสองนั่นเอง!
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปทั้งคนภายในธนาคารทหารไทย และคนภายนอก ว่าเมื่อ
4-5 ปีที่แล้วสมัยที่ศาสตราจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์ ยังดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารนั้น
ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารได้พากเพียรพยายามจีบ ดร. ศุภชัย ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยมาร่วมงานด้วย
ดร. ศุภชัยก็ใคร่ที่จะลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว เพราะมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกับผู้บังคับบัญชาในหลายๆ
เรื่อง และจะว่าไป ในวัยเพียง 30 กว่าปี บวกกับความฉลาดปราดเปรื่องรอบรู้ของตัวดร.
ศุภชัยย่อมหวังที่จะมีชีวิตการทำงานที่รุ่งโรจน์มากกว่าจมปลักอยู่กับหน่วยงานที่ทำอย่างไรๆ
ลูกหม้อก้นกุฏิก็ไม่ได้กินตำแหน่งท้อป แมเนจเม้นท์สักที
ทั้งนี้ตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นตำแหน่งที่มักจะมีการเมืองเข้ามาแทรกตลอดมา
ในบรรดาผู้ว่าการฯ รวม 12 คนที่ผ่านมานั้น มีถึง 5 คนที่ลาออกและถูกปลดออกจากตำแหน่ง
เหตุเพราะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงกับกระทรวงการคลังในเรื่องความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับดร. ศุภชัยการลาออกจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะในใจนั้นไม่เคยคิดทำงานอย่างอื่นที่ไม่ใช่ราชการ
แต่ประจวบเหมาะกับที่ว่านอกจากธนาคารทหารไทยจะส่งคนมาทาบทามแล้ว ยังมีพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งส่งคนมาติดต่อให้ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย
หากดร. ศุภชัยเลือกธนาคารทหารไทย ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องเข้าไปอยู่ในอันดับ
3 หรือ 4 ของธนาคาร ด้วยตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
เมื่อพิจารณาเบ็ดเสร็จสะระตะแล้ว ปรากฏว่าดร. ศุภชัยเลือกเขียนทางเดินชีวิตบนถนนการเมือง
และเขาก็วาดสีสันของเส้นทางชีวิตการทำงานได้อย่างเยี่ยมยอด เมื่อเลือกตั้งครั้งเดียวก็ชนะและได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นับว่าเขาโชคดีที่การตัดสินใจทางการเมืองเพียงครั้งเดียวที่บรรลุจุดสุดยอด!
กระนั้นชีวิตการเมืองของดร. ศุภชัยก็สั้นมากตามอายุรัฐบาล เมื่อไม่ได้รับเลือกตั้งในสมัยต่อมาและพลาดจากตำแหน่งทางการเมืองที่ปรารถนา
ดร. ศุภชัยจึงหันมาพิจารณาตำแหน่งในธนาคารทหารไทยที่ยังรอคอยต้อนรับอยู่ตลอดมา
"คุณชวลิต (บิ๊กจิ๋ว) และคุณอนุตร์ ยอมรับในข้อเสนอและเงื่อนไขของผม"
ศุภชัยกล่าวที่มาของการเข้ามาเป็นกรรมการและสต๊าฟในแบงก์
ข้อเสนอและเงื่อนไขของศุภชัยคืออะไร? หนึ่ง-เขาต้องการเป็นกรรมการในบอร์ดใหญ่เพื่อมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางก้าวเดินของแบงก์
สอง-เขาจะอยู่กับแบงก์ไม่น้อยกว่า 4 ปี และเป้าหมายสูงสุดคือ กรรมการผู้จัดการใหญ่หลังอนุตร์เกษียณ
ศุภชัยเข้ามาทำงานในธนาคารทหารไทยครั้งนี้มีเงื่อนไขทางภาวะวิสัยที่ดีเอามากๆ
หากจะเทียบกับเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ประการแรกช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ธนาคารทหารไทยกำลังมีปัญหาลึกๆ
ในเรื่องขาดแคลนผู้บริหารระดับสูง ทั้งนี้มือดีๆ ที่มีอยู่ก็ยังมีบารมีและอาวุโสไม่มากพอ
ประการต่อมาธนาคารทหารไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวของการเติบโตชนิดรั้งไม่อยู่
การจะรักษาอันดับและก้าวไปข้างหน้าได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับผู้บริหารเป็นสำคัญ
สถานการณ์เช่นนี้จึงเท่ากับเปิดโอกาสให้ดร. ศุภชัยได้แสดงฝีไม้ลายมือได้เต็มที่
ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่การปรับผังภูมิโครงสร้างการบริหารงานกันใหม่อีกครั้งก็เพื่อรองรับดร.
ศุภชัยโดยตรง ตำแหน่งงาน อำนาจตามสายงาน กำลังคน การถือหุ้น และอื่นๆ ที่ปรากฏก็ล้วนแต่กลั่นกรองออกมาจากการเจรจาต่อรองของดร.
ศุภชัยกับผู้บริหารชั้นสูงนั่นเอง
หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าถ้าดร. ศุภชัยถึงกับสามารถมีส่วนกำหนดผังภูมิการบริหารในส่วนข้างบนได้เช่นนี้
ก็เท่ากับมีเงื่อนไขต่อรองสูงทีเดียว ถ้าเช่นนั้นทำไมดร. ศุภชัยจึงไม่เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ที่ว่างอยู่ตั้งแต่ครั้งที่อนุตร์ละตำแหน่งนี้เพื่อขึ้นไปสู่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่มีความหมายเป็นนัยว่าผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนี้ก็คือผู้ที่จ่อหัวคิวกรรมการผู้จัดการใหญ่คนต่อไปนั่นเอง
แต่คำตอบง่ายๆ ทว่าชัดเจนที่สุดที่ "ผู้จัดการ" ได้ฟังมาก็คือการอยู่ในตำแหน่งกรรมการรองฯ
นั้น "ไม่มีประโยชน์อะไร มันเป็นงานบริหารประจำวันที่น่าเบื่อหน่าย
อีกอย่างหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้ควบคุมดูแลสายงานอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง
แต่ก็จะได้ดูแลในทางอ้อมอยู่แล้ว ในฐานะที่ผมเป็นกรรมการธนาคารและกรรมการบริหารด้วยผู้หนึ่ง"
ดร. ศุภชัยกล่าวถึงเหตุผลที่เขาไม่สนใจตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
อย่างไรก็ดีประเด็นที่สำคัญกว่าในอีกแง่มุมมองหนึ่งก็คือการเข้ามาสวมตำแหน่งกรรมการรองฯ
ออกจะเป็นการ "โจ่งแจ้ง" มากเกินไปในการเหยียบหัวคนขึ้นไป ซึ่งส่งผลสะเทือนต่อการบริหารและขวัญของผู้ใหญ่บางคนในแบงก์
ทางเลี่ยงที่ออกมาเป็นกรรมการที่ปรึกษาผู้บริหารดูสวยกว่า และถึงอย่างไรก็ได้รับผิดชอบสายงานด้านนโยบายทั้งหมดที่ตัวเองคาดหมายแล้ว
แม้จะอยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างอำนาจที่บรรดาเหล่าขุนทหารกำกับอยู่ในแบงก์ก็ตาม
แต่เรื่องศักดิ์ศรีและเกียรติยศแล้ว มันห้ามกันไม่ได้ที่จะปล่อยให้มันเกาะกุมอยู่ในจิตสำนึกของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อ
อย่างอนุชาติ ชัยประภา!
ในผังภูมิ 7 กันยายน 2531 ยังมีตำแหน่งบริหารระดับสูงอีกตำแหน่งหนึ่งที่มีความสำคัญทั้งในแง่ของตำแหน่งและบุคลากรที่ดำรงตำแหน่ง
นั่นคืออนุชาติ ชัยประภา ซึ่งร่วมงานกับธนาคารทหารไทยมาตั้งแต่ก่อนที่ธนาคารจะเปิดทำการ
และเพิ่งเลื่อนขึ้นรับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อต้นปี 2530
อนุชาติรับผิดชอบสายงานที่อยู่ในความควบคุมของผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่
1 และ 2 รวมทั้งดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สิน กับงานสำคัญที่ได้รับมอบหมายอีกชิ้นหนึ่งคือดูแลงานก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของธนาคารที่ข้างสวนจัตุจักร
สายงานส่วนใหญ่ที่อนุชาติดูแลจะเป็นสายงานประเภทที่เรียกว่างานโอเปอเรชั่นหรืองานที่เจ้าตัวเรียกว่างานธุรการ
คือผ่านงานมาแล้วแทบจะทุกฝ่ายทุกแผนกในธนาคาร รู้เรื่องกฎระเบียบการปฏิบัติงานต่างๆ
ของธนาคารทั้งหมด บทบาทหน้าที่ของอนุชาติอาจเทียบเคียงได้กับดำรง กฤษณามระ
กรรมการผู้อำนวยการธนาคารกรุงเทพ คืออยู่ในตำแหน่งที่หลายคนเรียกว่า "แม่บ้าน"
ของธนาคารนั่นเอง
แต่อนุชาติยังไม่อาจเทียบเคียงกับดำรงได้อย่างสนิทนัก ทั้งนี้เพราะดำรงเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพด้วยและมีศักดิ์ศรีที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากรรมการผู้จัดการธนาคารชาตรี
โสภณพนิชเลย ส่วนอนุชาตินั้นยังไม่ได้เป็นกรรมการธนาคาร และมีศักดิ์ศรีบารมีห่างจากอนุตร์อีกมาก
อนุชาติเข้าทำงานที่ธนาคารทหารไทยครั้งแรกในตำแหน่งเลขาผู้จัดการใหญ่คือโชติ
คุณะเกษม โดยผ่านความสัมพันธ์ทางพ่อคือข้าหลวงชวน ชัยประภา ที่รู้จักสนิทสนมกับโชติเป็นอย่างดี
ความสัมพันธ์ในรุ่นพ่อได้ถ่ายทอดลงมาถึงรุ่นลูกด้วย อนุชาติทำหน้าที่เป็นเลขาต่อเนื่องมาในสมัยสุขุม
นวพันธ์ แล้วย้ายมาอยู่กองบัญชี ก่อนที่จะสับเปลี่ยนตำแหน่งต่างๆ ไปทั่วแบงก์
ความสัมพันธ์เป็นอันดีกับผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ทำให้อนุชาติมีหน้าที่ซึ่งต่างไปจากพนักงานแบงก์ทั่วไป
กอปรกับเป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลจำนวนมากที่สุดผู้หนึ่ง อนุชาติจึงได้เข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการธนาคารทั้งที่ไม่ได้เป็นกรรมการแต่อย่างใด
อนุชาติรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการธนาคาร บันทึกการประชุมและเขียนรายงานการประชุมนับแต่เปิดแบงก์เรื่อยมา
น่าประหลาดใจมากที่เขาไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการด้วยสักคน ทั้งที่ทำหน้าที่เสมือนเลขาฯ
มาเป็นเวลาถึง 30 ปีเต็มแล้ว
มูลเหตุที่อนุชาติไม่ได้รับแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการ และดูเหมือนตัวเขาเองก็ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเป็นด้วยเลยนั้น
เนื่องมาจากว่าธนาคารทหารไทยมีโครงสร้างกรรมการที่ต่างไปจากธนาคารอื่นๆ คือมีการระบุสัดส่วนกรรมการที่เป็นทหารและพลเรือนไว้อย่างชัดเจน
แม้โครงสร้างนี้จะเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งอนุชาติก็รู้ดีและเคยมีผู้ดำริแก้ไข
แต่มันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา ทั้งนี้เพราะการปรับให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นรายบุคคลเข้ามานั่งเป็นกรรมการด้วยนั้น
สอบถามกันไปก็ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นรายนั้นเข้าไปร่วมในคณะกรรมการอยู่แล้ว ซึ่งก็คืออนุชาตินั่นเอง
จำนวนหุ้นธนาคารทหารไทยที่อนุชาติเก็บสะสมมาแต่ต้นจนปัจจุบันมีอยู่รวม
60,000 กว่าหุ้นหรือคิดเป็น 0.41% จัดอยู่ในอันดับผู้ถือหุ้นมากที่สุดเป็นรายที่
18 แต่เป็นผู้ถือหุ้นรายบุคคลมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งก็เท่ากับว่าอนุชาติจะได้รับเงินปันผลคิดเฉลี่ยในแต่ละเดือนเป็นเลขหกหลักขึ้นไป
ในวัย 56 ปีของอนุชาติทุกวันนี้ เขาสามารถกล่าวแก่ "ผู้จัดการ"
อย่างเบิกบานว่า "ผมสบายน่ะมันสบายเสียแล้ว ตอนนี้ผมมุไปเพื่ออะไร ไม่มีแล้ว
ผมไปเรื่อยของผมนี่ ผมสบายที่สุดแล้วในเวลานี้"
แน่นอนอนุชาติบรรลุจุดสุดยอดในฐานะแล้ว…แต่เกียรติยศหละ เขายังไปไม่ถึง
เหตุนี้ "ผู้จัดการ" จึงต้องพิจารณาคำพูดประโยคนี้ของอนุชาติอย่างลึกซึ้ง
ทั้งนี้เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไปแล้ว บุคคลที่ร่วมหัวจมท้ายกอดคอทำงานกับธนาคารมาตั้งแต่ก่อนจะเปิดทำการจนบัดนี้มีตำแหน่งที่เหลืออีกไม่กี่ก้าวก็จะขึ้นสู่ท้อป
แมเนจเม้นท์แล้วนั้น ไฉนจึงจะละความทะเยอทะยานใฝ่ฝันลงได้ง่ายๆ ทั้งที่ยังมีเวลาการทำงานเหลืออยู่อีกเป็นนาน
ในบ่ายวันหนึ่งที่นั่งคุยกับ "ผู้จัดการ" อนุชาติกล่าววิจารณ์ตนเองไว้อย่างน่าฟังว่า
"ถ้าถามเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมจะเป็น (หมายถึงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่)
แต่ตอนนี้ชักไม่แน่ใจ เพราะผมคิดว่าตัวเองนี่ล้าไปเยอะ"
เขากล่าวถึงตัวเองพร้อมกับที่กล่าววิจารณ์ทิศทางของแบงก์ว่า "แบงก์ในยุคนี้กับเมื่อยุค
10 ปีที่แล้วนั้นต่างกัน ตรงที่ต่างกันก็คือแบงก์นี่มันขึ้นมาถึงอีกจุดหนึ่ง
แต่ก่อนนี้ผมมองว่าแบงก์ทหารไทยทำโดเมสติค แต่เดี๋ยวนี้แบงก์ทุกแบงก์ กำไรจะไปอยู่ที่อินเตอร์เนชั่นแนล
แบงกิ้ง"
ทิศทางที่มุ่งไปสู่อินเตอร์เนชั่นแนลแบงกิ้งนับเป็นเป้าหมายอันหนึ่งในการขยายตัวของธนาคารทหารไทย
ส่วนหนึ่งดังจะเห็นจากธนาคารได้ก่อตั้งและเข้าเป็นผู้ถือหุ้นส่วนข้างมากที่สุดในบริษัท
ทีเอ็มบีไฟแนนซ์ (ฮ่องกง) จำกัด เมื่อต้นปี 2530 และธนาคารกำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะเปิดสาขาในต่างประเทศ
โดยเฉพาะแถบฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ด้วย นอกจากนี้ยังกำลังมุ่งตระเตรียมกำลังคนในธุรกิจ
PROJECT FINANCE เพื่อหารายได้จาก FEE-BASE อีกด้วย
ในเมื่อทิศทางที่ธนาคารกำลังมุ่งไปสู่นี้เป็นสิ่งที่อนุชาติไม่คุ้นเคยมาก่อนตลอดระยะ
30 กว่าปีของการทำงานในทหารไทย นี่ก็นับเป็นข้ออ่อนที่สำคัญที่ตัวเขาได้ตระหนักเป็นอย่างดี
เขากล่าวว่า "เราไม่ได้เตรียมตัวมาต่างหาก และข้อสำคัญถ้าเผื่อเราให้ตรงนั้นกับคนที่พร้อมกว่าก็คงจะดี
แล้วเราอยู่ช่วยนี่ เขาไม่พะวักพะวงในโดเมสติค แล้วเขาจะไปได้เร็ว"
อย่างไรก็ดีข้ออ่อนนี้ไม่ได้มีความสำคัญแต่อย่างใด เพราะหากแบงก์สามารถหาผู้มีฝีมือมาบริหารดูแลกิจการต่างประเทศได้
ปัญหานี้ก็จะไม่เป็นข้ออ่อนสำหรับอนุชาติเลย ตรงกันข้ามอนุชาติกลับมีความเหมาะสมหลายประการที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งท้อป
แมเนจเม้นท์
เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารตั้งแต่ก่อนเปิดทำการ เรียกได้ว่าเป็นลูกหม้อธนาคารมีความสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
รุ่นแล้วรุ่นเล่า รู้งานโอเปอเรชั่น การดำเนินงานทุกแง่มุมของธนาคาร และที่สำคัญเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่มีส่วนในความสำเร็จของการเติบโตของธนาคารในสมัยที่ศาสตราจารย์ประยูร
จินดาประดิษฐ์ เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ (2524-2530)
ทั้งนี้อนุชาติคือผู้ที่ติดต่อประสานให้สุขุม นวพันธ์ได้พบกับประยูร และเจรจาติดต่อขอให้เข้ามาร่วมงานกับธนาคารเป็นครั้งที่สอง
จากจุดนี้เอง ศาสตราจารย์ประยูรก็แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์โดยผลักดันให้ธนาคารมีอัตราการเติบโตชนิดที่เรียกว่าเป็นการก้าวกระโดดทีเดียว
จึงนับได้ว่าอนุชาติเป็นผู้ที่ทำคุณความดีอย่างสำคัญผู้หนึ่งให้แก่ธนาคาร
จนเมื่อศาสตราจารย์ประยูรเกษียณก็ได้กล่าวความข้อนี้ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแก่พนักงาน
สำหรับคนที่ทะเยอทะยานและยังมีเวลาเหลืออยู่อย่างอนุชาตินั้น ทำไมเขาจึงไม่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการธนาคาร
แต่ตรงกันข้ามผู้ที่ได้รับความสนใจ ถูกตื๊อถูกจีบจากธนาคารกลับกลายเป็นคนนอก
ซึ่งอาจกล่าวได้ว่ายังไม่เคยผ่านงานธนาคารพาณิชย์มาเลย หนำซ้ำยังทำงานเป็นข้าราชการมาตลอด
ไม่มีประสบการณ์ระดับนายธนาคารอย่างทีอนุชาติมี
ว่ากันว่าในวงในของสำนักงานใหญ่ธนาคารทหารไทยที่หัวมุมถนนพญาไท ซึ่งมีรวมทั้งสิ้น
15 ชั้น และมีลิฟท์ใช้โดยสารขึ้นลงรวม 5 ตัวนั้น พนักงานธนาคารจะไม่ได้เห็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่โดยสารลิฟท์ตัวเดียวกัน
เรียกว่าหากมีคนหนึ่งอยู่ในลิฟท์นั้น อีกคนหนึ่งก็จะไม่เข้าไปในลิฟท์นั้นทีเดียว
นอกจากนี้กรรมการผู้จัดการใหญ่เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนะที่มีต่อลูกน้องเป็นอย่างดี
อนุตร์กล่าวว่า "ผมคิดว่าลูกหม้อก็คงจะมีโอกาส (หมายถึงก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร-ผู้จัดการ)
ถ้าหากตัวเองมีการพัฒนาสามารถที่จะรับภาระของธนาคารได้ แต่ถ้าถามผม ผมคิดว่าการทำธนาคารจำเป็นจะต้องใช้มืออาชีพจริงๆ
เรื่องวิชาการก็สำคัญเช่นกัน"
สิ่งที่อนุตร์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ "ความมีฝีมือ" ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่นั้น
เขาก็ได้แต่งตั้งให้สมชาติ อินทรทูต ผู้จัดการฝ่ายสาขาขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นคนที่
3 ทั้งนี้เพราะสมชาติสามารถพิสูจน์ให้อนุตร์เห็นได้ว่าเขาเป็น "คนมีฝีมือ"
แม้ว่าสมชาติจะเข้ามาทำงานในแบงก์ได้ 10 กว่าปี แต่เขาได้รับการเลื่อนขั้นตำแหน่งอย่างรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ
ในวัยเดียวกัน ถึงขนาดที่ว่าโกวิท จิระธันห์ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้รับการต่ออายุให้เกษียณช้าลงอีก
1 ปีเพื่อรอให้ผู้จัดการฝ่ายสาขาในเวลานั้นมีประสบการณ์มากขึ้นอีกหน่อยก่อนที่จะมาสวมตำแหน่งนี้
กรณีของสมชาติสะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดว่าเขาไต่เต้าได้รวดเร็วเป็นเพราะฝีมือของตัวเอง
และการสนับสนุนจากอนุตร์ แต่กับอนุชาตินั้น ว่ากันว่าฝีมือของท่านรองฯ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากอนุตร์
อีกทั้งในแง่ของบารมีความสามารถก็ยังมีไม่มากพอ ดังนั้นเมื่ออนุตร์ละจากตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการใหญ่
เขาจึงยังไม่ยอมแต่งตั้งใครขึ้นมาครองตำแหน่งนี้ หรือนัยหนึ่งก็คือยังไม่เห็นใครที่มีความสามารถและบารมีสูงมากพอนั่นเอง
แต่กับดร. ศุภชัย ผู้ซึ่งมีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ยอมรับทั่วไปแล้วนั้น
อนุตร์ไม่ได้อิดเอื้อนที่จะมอบตำแหน่งกรรมการและแบ่งสรรอำนาจต่างๆ ให้เลยในทันทีที่มีการเจรจาร่วมงานกัน
เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอีราสมัส ประเทศเนเธอร์แลนด์ผู้นี้
แม้จะไม่ได้จบวิชาการเงินการคลังโดยตรง แต่ทว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างดี
นอกเหนือจากประสบการณ์อันอุดมจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลานานถึง 12 ปีเต็มแล้ว
การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังยังเปิดโอกาสให้ดร. ศุภชัยใช้ความรู้ความสามารถบริหารงานการคลังของประเทศได้อย่างเต็มที่
กับทั้งเป็นการเพิ่มพูนบารมีของเขาให้โดดเด่นเอามากๆ ด้วย
เมื่อหยิบภาพของคนทั้งสองขึ้นมาเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่าดร. ศุภชัยมีความ
"เหนือ" กว่าอนุชาติอย่างที่ "ผู้จัดการ" ไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดให้มาไปกว่านี้เป็นการเปลืองกระดาษเสียเปล่า
แต่ "ผู้จัดการ" ขอชี้แจงว่าทัศนะเช่นนี้เป็นการขัดแย้งกับความเห็นของคนวงในธนาคารทหารไทย
จากการพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงบางคนทำให้ "ผู้จัดการ" ได้รับทราบทัศนะของพวกเขาว่าจริงๆ
แล้วนั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องข้อเด่นของผู้บังคับบัญชามากกว่าที่จะเอ่ยถึงเรื่องข้อด้อย
และเนื่องจากน้อยคนจะมีคุณสมบัติพร้อมในทุกๆ ด้าน ดังนั้นการที่ผู้บริหารแต่ละคนมีข้อเด่นต่างๆ
กันไปตามสายงานที่รับผิดชอบและข้อด้อยของแต่ละคนไม่สร้างปัญหาแก่ส่วนรวมแล้ว
พวกเขาก็สามารถสร้างทีมเวิร์คที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาได้
อรรคเดช พีชผล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายวางแผนและพัฒนาซึ่งเข้ามาร่วมงานกับทหารไทยเกือบ
13 ปีแล้วนั้นกล่าวถึงผู้บังคับบัญชาของเขาว่า "สไตล์การทำงานของอาจารย์ยูรนั้น
ท่านก็มีลักษณะครูบาอาจารย์รอบรู้กว้างขวาง บริหารงานในลักษณะแผ่พระคุณให้
ส่วนคุณอนุตร์ถือว่าเป็นลูกหม้อในงานธนาคาร เป็นมืออาชีพมาแต่ต้น กว้างขวางในหมู่นักธุรกิจพ่อค้า
ทางดร. ศุภชัย ดูจากประวัติด้านการศึกษา ความรู้ แบคกราวน์ การที่ท่านเลือกตั้งครั้งเดียวเป็นรัฐมนตรีนี่ไม่ต้องพูดอะไรมาก
ฉะนั้นท่านมีภูมิทางด้านแบงก์ชาติ กระทรวงการคลังมา นี่คงเป็นจุดเด่นขึ้นมา
ส่วนคุณอนุชาตินั้นมีงานทางด้านโอเปอเรชั่นเป็นจุดเด่นสำคัญ ทั้งสี่ท่านก็เก่งทั้งนั้น
ทุกคนมีจุดเด่น แต่จะให้เด่นทุกด้านคงไม่ได้"
ส่วนดร. ทรง ลำไย อดีตคณบดีวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ (เอแบค) ซึ่งละการสอนและหันมาเอาดีในทางแบงเกอร์
ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยคนที่ 4 และมีอาวุโสน้อยที่สุดในหมู่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร
ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจอันทำให้เห็นเสมือนประหนึ่งว่าไม่ได้เกิดความขัดแย้งเรื่องจ่อหัวคิวตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
เพราะผู้บริหารแต่ละคนถูกจัดวางบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว
การที่ผู้บริหารระดับสูงมีข้อเด่นกันคนละด้าน เมื่อมารวมกันแล้วจึงทำให้เกิดระบบการบริหารงานที่สมบูรณ์
ถึงขนาดที่เป็น "คอมบิเนชั่นที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา"
ดร. ทนงกล่าวโต้กระแสข่าวที่ถูกกล่าวถึงด้วยทฤษฎีการจัดการสมัยใหม่
เขาพยายามชี้ให้เห็นว่าในสมัยก่อนสไตล์การทำงานของศาสตราจารย์ประยูร จินดาประดิษฐ์
อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่กับอนุตร์ อัศวานนท์สมัยที่เป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ว่าไม่ใช่ลักษณะ
CO-PRESIDENT แต่เป็นแบบทีมเวิร์คมากกว่าโดยมีอนุชาติ ชัยประภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วมด้วยอีกคนหนึ่ง
ดร. ทนงขยายข้อเด่นของทีมเวิร์คชุดเดิมว่า "ผมมองอดีตการเติบโตสมัยอาจารย์ประยูร
มันโต ด้วยผู้บริหาร 3 คนคือมีอาจารย์ประยูรในฐานะนักวิชาการ ฐานะศิษย์เก่าแบงก์ชาติ
รู้กฎระเบียบธนาคารพาณิชย์ดีมาก เป็นผู้ตรวจการธนาคารพาณิชย์มาก่อน มีประสบการณ์แบงก์
ประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์ มีเมตตา มีคุณธรรม และความเป็นผู้นำของธนาคาร
สร้างธนาคารให้เป็นที่รู้จักและสร้างแนวคิดที่ว่าผมเป็นแค่ลูกจ้างมืออาชีพ
ลงได้ขึ้นได้ นั่นคือสิ่งที่ท่านตั้งหลักการของการบริหารไว้
คนที่สอง กรรมการรองผู้จัดการ อยู่มานานตั้งแต่แบงก์เปิดได้ปีสองปี เป็นมืออาชีพ
ผมมองว่าท่านมีเซนส์ของความเป็นนักธุรกิจ เป็นคนที่พยายามมาก ดูที่ประวัติการศึกษาท่านไม่ได้จบด็อกเตอร์แต่ท่านมีเซนส์ของนักธุรกิจ
ฉะนั้นท่านเป็นมือสองที่บุกเบิกธุรกิจแทน รับมอบหมายจากอาจารย์ประยูรขยายงานทุกๆ
ด้านที่อาจารย์ประยูรต้องการให้เกิดขึ้น นี่คือมือที่บุกธุรกิจ
เรามีมือที่สามคือคุณอนุชาติ ชัยประภา ท่านเป็นผู้ที่ผมมองว่าเป็นแม่บ้าน
คุณสมบัติท่านเป็นผู้ที่อยู่กับแบงก์ตั้งแต่เมื่อแบงก์เริ่มต้น ท่านรู้หมดว่าแบงก์นี่อะไรอยู่ที่ไหน
ท่านจะมองเห็นปัญหา เห็นข้อดี ข้อเสียอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่คนมองแต่บุกมองแต่ข้อดี
ท่านก็จะมองว่าแล้วมีข้อเสียอะไรจะต้องแก้ไขทั้งภายในภายนอก ทั้งกฎระเบียบทั้งสัญญาทุกอย่าง
นี่คือสมบัติล้ำค่าขององค์กร"
เมื่อศาสตราจารย์ประยูรลาออกจากธนาคาร ขอเป็นเพียงกรรมการที่ปรึกษา ก็เท่ากับว่าขาดมือสำคัญอันดับหนึ่งไป
แต่ดร. ทนงกลับมองว่าเมื่อได้ดร. ศุภชัยเข้ามา คอมบิเนชั่นเดิมก็ก่อตัวขึ้นใหม่อีก
"เมื่ออาจารย์ประยูรออกไป เอาละในฐานะศิษย์เก่า และในฐานะนักวิชาการ
ผมไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการธนาคารคิดถึงคอมบิเนชั่นนี้หรือเปล่า การที่มีคุณอนุตร์
คุณอนุชาติ และดร. ศุภชัย คอมบิเนชั่นมันก็เกิดอีก
คนหนึ่งเซนส์ทางธุรกิจ มองอะไรไกลในแง่ของทางธุรกิจ คนหนึ่งก็ทางวิชาการและศิษย์เก่าแบงก์ชาติ
อีกคนหนึ่งก็แม่บ้าน ฉะนั้นคอมบิเนชั่นนี่ก็ยังอยู่ได้
ผมคิดว่านี่คือจุดที่ทางกรรมการธนาคารมองคือ เรามีจุดโหว่ทางด้านวิชาการ
และทางด้านบุคคลที่สังคมภายนอกจะยอมรับและการเป็นศิษย์เก่าของธนาคารชาติ
คือคล้ายเป็นตัวแทนของอาจารย์ประยูรในแง่ที่จะช่วยสร้างให้เกิดคอมบิเนชั่นอย่างเก่านี้มาแบงก์นี้จะแข็งเมื่อคอมบิเนชั่นอยู่"
ส่วนปัญหาที่ว่าถ้าเกิดขาดมือบริหารคนใดคนหนึ่งไปอีกจะทำอย่างไร ดร. ทนงตอบอย่างน่ารักว่า
"ผมไม่รู้" แน่นอนว่าดร. ทนงคงไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะเรื่องทั้งหมดอยู่ที่กรรมการธนาคารที่มีหน้าที่สอดส่ายสายตา
ควานหาผู้บริหารมืออาชีพเข้ามานั่งแป้นในธนาคารต่อๆ ไป
ทำไมทัศนะของคนภายนอก (ธนาคารกับคนภายในธนาคาร) จึงดูแตกต่างกันมากมายนัก
ขณะที่คนภายนอกมองว่าการเชิญดร. ศุภชัยเข้ามาร่วมงานในฐานะตำแหน่งที่สูงส่งเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารภายในแบงก์
ต่อทิศทางการเติบโตของแบงก์ และที่สำคัญต่อคนแบงก์เองที่น่าจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อถูก
"คนนอก" ก้าวข้ามหน้าข้ามตามาอยู่ในระดับที่สูงกว่า
ส่วนทัศนะของภายในนั้นกลับมองว่าเป็นเรื่องดีอย่างยิ่งที่แบงก์จะได้คนดีมีฝีมือมาร่วมบริหารงาน
โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่แบงก์จะต้องรักษาอัตราการเติบโตที่ก้าวพรวดพราดขึ้นมาสู่อันดับ
5 ของธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ
ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งเปิดเผยว่าที่แท้ก็เป็นฝีมือของกรรมการธนาคารที่คอยสอดส่องมองหาคนดีมีฝีมือเข้ามาร่วมบริหารงานธนาคาร
เขากล่าวว่า "พวกกรรมการธนาคารจะคอยมองดู ซึ่งพวกเขามองอะไรระยะยาวมาก
ต้องการสร้างคนดีมีฝีมือขึ้นมาเรื่อยๆ คนข้างในก็มีฝีมือ แต่ทำอย่างไรให้ได้คนข้างนอกเข้ามาอีก
คนที่คอนทริบิวท์ให้ธนาคารได้…แบงก์นี้เป็นแบงก์ที่ทุกคนมองคนข้างนอกตลอดเวลาว่าใครดีที่จะมาอยู่แบงก์นี้
มีใครที่จะเพิ่มได้อีก"
สมชาติ อินทรทูต, อรรคเดช พีชผล, สุทัย อุนนานนท์ (ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสฝ่ายการต่างประเทศ
ซึ่งเพิ่งเข้าร่วมงานกับธนาคารทหารไทยได้ 2 ปีกว่า), ดร. ทะนง ลำไย และล่าสุดดร.
ศุภชัย พานิชภักดิ์ จึงล้วนแต่เป็นคนนอกที่อยู่ในสายตาของกรรมการธนาคารมาก่อนทั้งสิ้น
กรรมการธนาคารก็คือที่ประชุมของผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารนั่นเอง โดยที่ทหารไทยมีโครงสร้างกรรมการที่ต่างไปจากที่อื่นคือจะมีกรรมการที่มาจากฝ่ายทหารรวม
13 คนและมาจากพลเรือน 2 คน
กรรมการธนาคารชุดแรกๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารและการกำหนดทิศทางของธนาคารแต่อย่างใด
จนมาในสมัยกรรมการชุดหลังๆ นับแต่เมื่อพลเอกจิตติ นาวีเสถียร เข้านั่งเป็นประธานในราวปี
2523 เรื่อยมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของกรรมการธนาคารเสียใหม่
โดยตัวประธานเองได้มานั่งทำงานที่ธนาคารแทบทุกวันเพื่อพิจารณาคำขออนุมัติต่างๆ
จากผู้จัดการใหญ่
หลังจากพลเอกจิตติเสียชีวิตในปี 2525 พลเอกประยุทธ จารุมณีก็เข้ามารับช่วงงานต่อ
รวมทั้งสืบทอดวัฒนธรรมการทำงานของพลเอกจิตติไว้ด้วย นอกจากนี้พลเอกประยุทะยังได้แสดงบทบาทที่สำคัญคือการออกเยี่ยมเยียนพนักงานสาขาเพื่อลดช่องว่างระหว่างพนักงานธนาคารและผู้บริหารระดับต่างๆ
กับทั้งยังเป็นตัวเชื่อมประสานระหว่าง กลุ่มนายธนาคารมืออาชีพที่ต้องการขยายฐานธนาคารกับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ
ทหารซึ่งอาจเกรงว่าการขยายฐานอาจกระทบกระเทือนอำนาจของกลุ่มตน (โปรดดูรายละเอียดเรื่อง
"ธนาคารทหารไทย : ยุคเติบใหญ่อย่างก้าวร้าว" ใน "ผู้จัดการ"
ปีที่ 3 ฉบับที่ 25 กันยายน-ตุลาคม 2528)
นับได้ว่าการเปลี่ยนแปลงบทบาทของกรรมการธนาคารดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของธนาคารไม่น้อย
และย่อมเป็นการแน่นอนว่าผู้ที่ขึ้นสู่ท้อป แมเนจเม้นท์หรือตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้นั้นต้องเป็นคนที่ผ่านการเห็นชอบจากกรรมการธนาคารแล้ว
กล่าวให้ชัดๆ ก็คือเป็นบุคคลที่กรรมการธนาคารเลือกสรรขึ้นมาแล้ว และการกำหนดของกรรมการธนาคารนี้จะไม่ทำให้พนักงานในหน่วยงานระดับล่างรวนหรือกระทบกระเทือนเป็นอันขาด
เหตุผลที่ฟังดูไม่ง่ายนักก็คือธนาคารทหารไทยมีวัฒนธรรมการบริหารที่พิเศษเฉพาะอย่างหนึ่ง
คือเรื่องความมีวินัยและการทำงานเป็นทีมเวิร์ค…และจุดนี้กระมังที่การเข้ามาของศุภชัยจึงไม่เกิดปัญหาการปะทะกันอย่างเปิดเผยและรุนแรงกับผู้อยู่ก่อน
ดร. ศุภชัยก็กล่าวชื่นชมคุฯสมบัติข้อนี้ของธนาคารว่า "แบงก์นี้มีวินัยดีมากด้วยความที่เป็นระบบทหารเป็นระบบที่มีวินัยดีมาก
ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าสำหรับสถาบันการเงินนั้นจำเป็น วินัยกับความซื่อสัตย์นี่อาจจะจำเป็นกว่าความรู้ความสามารถด้วยซ้ำ
ทั้งสามอย่างนี้ต้องประกอบกัน…อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรของที่นี่ไม่หลวมเหมือนอย่างที่อื่น
ค่อนข้างแน่นหนา คือทุกอย่างชัดเจนหมด"
ความแข็งแกร่งในจุดนี้ ได้รับการเสริมขึ้นอีกจาก ดร. ทะนง ที่เน้นว่า "แบงก์นี้เป็นแบงก์เปิดเป็นแบงก์ของมืออาชีพ
ทุกคนอาศัยชีวิตอยู่กับแบงก์ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่แต่เป็นลูกจ้างมืออาชีพ
ฉะนั้นเวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรก็แล้วแต่สำหรับธนาคาร องค์กรระดับล่างลงมาเขาจะเป็นองค์กรที่มีลักษณะเป็นทีมเวิร์คค่อนข้างจะแข็ง
เขาจะให้เวลาผู้ที่มาใหม่ และถ้าผู้นั้นสามารถทำงานให้องค์กรได้เขาก็จะยอมรับ
ซึ่งโอกาสที่จะสร้างปฏิกิริยาแบบคัดค้านเดินขบวนอะไรนี่ ผมไม่เคยรู้สึกเลย
ผมเข้ามาอยู่ในแบงก์นี้ไม่เคยรู้สึกเลย และดร. ศุภชัยก็ไม่รู้สึก"
ดร. ทนงอ้างว่าในวันที่ธนาคารเลี้ยงต้อนรับดร. ศุภชัยนั้น ดร. ศุภชัยพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า
"ถ้าผมรู้ว่าแบงก์ทหารไทยต้อนรับผมอย่างนี้นะ ผมคงจะมาตั้งแต่เมื่อ
5 ปีที่แล้ว" ทั้งนี้เพราะ "แบงก์นี้เป็นแบงก์ที่ทุกคนรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองและมันมีทีมเวิร์ค"
นั่นเอง
ดังนั้นหลังจากที่มีเสียงบ่นๆ ว่า "อึดอัด" เล็ดลอดออกมาจากระดับสูงของธนาคารในช่วงสัปดาห์แรกๆ
ที่ดร. ศุภชัยเข้าไปร่วมงานด้วยนั้น ในไม่กี่สัปดาห์ให้หลังก็กลับมีเสียงพูดอย่างโล่งใจว่า
"ไม่มีอะไร มันก็มีความสงสัยเท่านั้นเอง ผ่านไปเดือนหนึ่ง โอ้โฮ มันนิ่มนวลเป็นบ้าเลย"
ความมีวินัยและการทำงานเป็นทีมเวิร์คของธนาคารทหารไทยจัดเป็นวัฒนธรรมองค์กรเฉพาะที่แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ
และนี่คือเหตุผลต่อปัญหาที่ว่าทำไมหน่วยงานระดับรองลงไป จึงไม่ระส่ำระสายเหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งที่มีผู้ใหญ่บางคนแสดงความไม่พอใจการรับดร.
อำนวย วีรวรรณ เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งบริหารระดับสูง "คุณดำรงเคยซึมไปพักใหญ่เชียวแหละตอนนั้น"
คนในแบงก์ย้อนอดีตให้ฟัง
อย่างไรก็ดีการเข้าร่วมงานของ ดร. อำนวยในเวลานั้นก็ต่างจากดร. ศุภชัยครั้งนี้ด้วย
กล่าวคือเมือมีความไม่พอใจของผู้ใหญ่บางคนปะทุขึ้นนั้น ดร. อำนวยได้รับตำแหน่งที่ปรึกษาซึ่งมีอำนาจจำกัดจำเขี่ยมากขณะที่ดร.
ศุภชัยในธนาคารทหารไทยปัจจุบันมีอำนาจตามสายงานที่ควบคุมอย่างบริบูรณ์และมีในทันทีที่ประกาศแต่งตั้ง
อย่างไรก็ดียังมีปมประเด็นอีกอันหนึ่งที่ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมความเห็นของคนภายในกับคนภายนอกจึงแตกต่างกัน
นั่นคือข้อที่ว่าธนาคารทหารไทยคุ้นเคยกับการบริหารงานด้วยมืออาชีพจากภายนอกพอควร
ในบรรดาผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทยนั้น ทุกคนล้วนแต่เป็นคนนอกทั้งสิ้นหรือนัยหนึ่งคือไม่ได้ไต่เต้าขึ้นมาจากพนักงานธนาคาร
ไม่เว้นแม้แต่อนุตร์ อัศวานนท์ กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบันที่เข้ามาร่วมงานกับธนาคารหลังจากเปิดดำเนินการได้
2 ปีในตำแหน่งหัวหน้ากองการค้าและตลาด
ความจริงข้อนี้ทำให้ "ผู้จัดการ" หวนนึกถึงคำพูดของรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นลูกหม้ออย่างแท้จริงของธนาคารที่กล่าวว่า
"ผมถึงบอกหลายๆ คนมาแล้ว ไม่เคยมีผู้จัดการใหญ่ของแบงก์คนไหนที่ไต่ขึ้นมาจากพนักงาน"
จึงอาจกล่าวได้ว่าธนาคารทหารไทยนับเป็นแหล่งของผู้บริหารมืออาชีพจริงๆ
ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารอื่นๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย
ยิ่งทำให้เห็นคุณลักษณะเด่นข้อนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทยนั้น แม้จะเป็นธนาคารใหญ่ติดอันดับโลก แต่ทว่ายังมีระบบการตัดสินใจและการบริหารที่เป็นกึ่งระบบครอบครัว
ทั้งนี้แทบจะเป็นการปิดป้ายไว้ได้เลยว่า ท้อป แมเนจเม้นท์ของธนาคารจะต้องเป็นคนในตระกูลโสภณพนิชและล่ำซำเท่านั้น
แม้ธนาคารทั้งสองจะมีผู้บริหารมืออาชีพมากมายเพียงใด แต่พวกเขาย่อมรู้ดีว่าตำแหน่งสูงสุดในชีวิตธนาคาร
หากพวกเขาปรารถนาจะอยู่จนเกษียณอายุ เป็นได้ก็เพียงกรรมการเท่านั้น
การที่ธนาคารทหารไทยได้ดร. ศุภชัยเข้ามาร่วมงานด้วยนั้นนับเป็นฝีมือการคัดสรรที่อยู่ในขั้นใช้ได้ทีเดียวของกรรมการธนาคารเพราะในเบื้องต้นนี้ก็พอจะเห็นเป็นเลาๆ
แล้วว่าโฉมหน้าธนาคารภายใต้การบริหารของดร. ศุภชัยจะมีหน้าตาอย่างไร?
ธนาคารทหารไทยจะมีศักราชใหม่ด้วยการมุ่งสู่กิจการด้านต่างประเทศเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ดร. ศุภชัยเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ทิศทางการเติบโตของแบงก์ต้องมุ่งไปในทางเดียวกับทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ"
หรือกล่าวให้ชัดลงไปอีกก็คือ ธนาคารต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องการค้าต่างประเทศ
เรื่อง TRADE FINANCE ที่ปัจจุบันยังทำน้อยอยู่ โครงการด้านโครงสร้างที่สำคัญๆ
รวมทั้งธุรกิจที่โยงกับเรื่องอุตสาหกรรมการเกษตรด้วย
กลยุทธ์ดั้งเดิมของธนาคารที่ว่าไม่เสี่ยงมากและก็ไม่ได้เอามากนั้นคงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ดร. ศุภชัยกล่าวและขยายความว่า "ต่อไปนี้เราต้องวางตัวของเรากับแนวโน้มให้ได้
ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ธนาคารของเรามีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ธนาคารทุกแห่งต้องรับความเสี่ยงอยู่แล้ว
แต่มันเป็นความเสี่ยงที่เราคำนวณได้" เขาพูดถึงมิติที่สำคัญในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายของแบงก์ในอนาคตใกล้
"ผู้จัดการ" ฟัง
อย่างไรก็ดี กว่าจะได้เห็นโฉมหน้าใหม่ของธนาคารทหารไทยภายใต้การบริหารของดร.
ศุภชัยนั้นก็คงต้องทอดระยะเวลาไปอีกสักพักหนึ่ง แต่จะนานสักเพียงใด ยังไม่มีใครสามารถรู้ได้และหากมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้ดร.
ศุภชัยต้องออกจากธนาคารไป อะไรจะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ดร. ศุภชัยอาจจะไปลงสมัครรับเลือกตั้งในคราวหน้าอีกก็เป็นได้ และในเมื่ออนุตร์
อัศวานนท์ ก็จะถึงกำหนดเกษียณอายุลงในปี 2532 ถึงจะต่ออายุอีก 1 ปีก็ยังเป็นเวลาที่ไม่มากพอที่จะหาคนสืบทอดตำแหน่งแทนได้
เมื่อถึงเวลานั้นธนาคารทหารไทยจะตกอยู่ในภาวะไร้ผู้นำหรือไม่
คำตอบคือเป็นไปได้ เพราะแม้ในทีมเวิร์คระดับสูงของธนาคารจะยังมี "แม่บ้าน"
เหลืออีก 1 คนที่มีอายุการทำงานเหลืออยู่ 4 ปี แต่หากรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้นี้ขึ้นดำรงตำแหน่ง
โฉมหน้าของธนาคารต้องหันเหไปในอีกทางหนึ่ง
ด้วยความสามารถและประสบการณ์เฉพาะตัวของอนุชาติที่คลุกคลีอยู่กับงานธนาคารในประเทศตลอดมาทำให้เขาจำเป็นต้องมีมาร์เก็ตติ้ง
อาร์มส์หลายคน โดยเฉพาะในด้านของกิจการต่างประเทศ และยังต้องหาผู้มีความสามารถที่จะมาสวมบทบาทบางด้านของตำแหน่งบริหารที่อนุชาติไม่คุ้นเคยมาก่อนด้วย
ส่วนมือบริหารในระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ คนที่ 1 และ 2 ก็จะเกษียณไล่เลี่ยกันในช่วง
3-4 ปีข้างหน้า คนอื่นๆ แม้จะมีความสามารถมากแต่ยังจะต้องใช้เวลาสะสมบารมีอีกนาน
อย่างไรก็ตามหากจะมองกันในอนาคตช่วงใกล้ๆ นี่แล้ว คงต้องถึงว่าดร. ศุภชัยเป็นทางเลือกใหม่ของธนาคาร
จริงๆ แล้วแม้กรรมการธนาคารจะพยายามสอดส่องหาคนดีมีฝีมือเข้ามาร่วมงานซึ่งด้านหนึ่งก็นับเป็นฝีมือของกรรมการฯ
ที่ล้านแต่คัดเอาผู้มีวิทยายุทธ์แกร่งกล้าเข้ามาเป็นพวกได้มากมาย ทำให้หลายคนพูดว่าธนาคารทหารไทยเป็นแหล่งของนักบริหารมืออาชีพ
แต่อีกด้านก็เป็นการสะท้อนความล้มเหลวของธนาคารในการที่จะผลิตคนที่มีความสามารถโดดเด่นได้ด้วยตนเอง