เมื่อสามปีที่แล้ว โครงการผลิตเยื่อกระดาษมูลค่ากว่าสองพันล้านบาทแห่งนี้อยู่ในสภาพของลูกผีมากกว่าลูกคน
อันเนื่องมาจากการคาดคะเนสถานการณ์ที่ผิดพลาด ถ้าเป็นคนไข้ก็อยู่ในอาการเพียบหนักเข้าขั้นโคม่า
เหลือเพียงลมหายใจแผ่วๆ เท่านั้น แต่เจ้าลมหายใจแผ่วๆ นี่แหละที่บอกให้รู้ว่าโครงการนี้ยังไม่ตาย
ยังมีหวังที่จะฟื้นคืนขึ้นมาใหม่ แล้วความหวังก็ถูกสานให้กลายเป็นจริงเมื่อ
ฟินิกซ์ พัลพ์ พลิกชะตากรรมของตัวเองที่เคยทำท่าดิ่งสู่อวสานหวนกลับกลายเป็นความสำเร็จในการกอบกู้กิจการขึ้นมาได้
แถมยังมีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อ แต่เป็นเรื่องน่ารู้ว่า
เป็นไปได้อย่างไร
ฟินิกซ์ พัลพ์ ยังคงไปได้สวยในปีนี้ ผลการดำเนินงานที่ยังไม่ได้มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ
แต่เป็นที่รับรู้กันในวงในเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทและบอกต่อมายัง "ผู้จัดการ"
แสดงตัวเลขกำไรจากการดำเนินงาน อย่างคร่าวๆ ว่ามีอยู่ 300 กว่าล้านบาท (งวดบัญชีของฟินิกซ์
พัลพ์ สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายนของปี โดยเปลี่ยนจากที่เคยสิ้นสุดตอนปลายปีตั้งแต่ปี
2526 เป็นต้นมา)
"ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกสามสี่ปี เราล้างขาดทุนสะสนที่พอกพูนกันมาตั้งแต่ปี
2525 ได้หมดแน่" เจ้าหน้าที่บริหารผู้หนึ่งของฟินิกซ์ พัลพ์ แสดงความเชื่อมันต่ออนาคตของบริษัทออกมาอย่างนี้
ผลการขาดทุนสะสมจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2530 มีจำนวนเท่ากับ 962.2 ล้านบาท
จากที่เคยสูงถึง 1,159 ล้านบาท เมื่อเดือนกันยายน 2529
พอถึงปี 2530 ก็เริ่มมีกำไรเป็นครั้งแรกตั้งแต่เริ่มทำการผลิตเยื่อกระดาษเป็นเงิน
117.5 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2530 และสามเดือนสุดท้ายของปีเดียวกันก็ทำกำไรได้อีก
79.1 ล้านบาท ทำให้ยอดขาดทุนสะสมลดลงไปเกือบ 200 ล้านบาท
หักลบกับกำไรในปีนี้และที่คาดว่าจะได้ในปีต่อๆ ไป คำกล่าวข้างต้นของเจ้าหน้าที่บริหารผู้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ห่างไกลจากความเป็นไปได้แต่อย่างใด
หนี้สินทั้งหมดจำนวน 2,600 ล้านบาทซึ่งไม่เคยมีการชำระคืนเลย เมื่อกิจการเริ่มมีกำไรได้มีการทยอยชำระคืนเป็นบางส่วน
โดยเฉพาะหนี้ระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นของสถาบันการเงินต่างประเทศ ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่
แบ่งการชำระหนี้คืนเป็นงวดๆ เป็นระยะเวลา 8 ปีครึ่ง โดยเริ่มชำระคืนตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว
จนถึงปัจจุบันมีหนี้ระยะยาวเหลืออยู่ประมาณ 1,600 ล้านบาท
การยินยอมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้สิน ยืดเวลาชำระออกไปและลดดอกเบี้ยให้ของเจ้าหนี้นั้น
แสดงว่าทางเจ้าหนี้เองก็ยอมรับในผลประกอบการของลูกหนี้รายนี้ว่าดีขึ้น และเชื่อว่าจะหลุดพ้นไปจากความล้มเหลวที่ผ่านมาได้
"ฟินิกซ์ มาถึงจุดที่ทุกอย่างลงตัวพอดี เพราะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในระยะแรกได้สำเร็จตาเห็น " เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ
ฟินิกซ์ พัลพ์ อยู่ด้วย ให้ข้อสรุปอย่างรวบยอดถึงความสำเร็จของฟินิกซ์ พัลพ์
ฟินิกซ์ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์นั้น เกิดขึ้นภายหลังจากที่ได้ทำการสำรวจและศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตเยื่อกระดาษจากปอเป็นเวลานานถึงหนึ่งปีครึ่ง
ข้อสรุปของการศึกษาในครั้งนั้นทำให้ความหวังที่จะมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองไทย
เรืองรองแจ่มจรัสขึ้นในหัวสมองของหลายๆ คน
จากรายงานการศึกษาพบว่าความต้องการใช้เยื่อกระดาษภายในประเทศเพื่อผลิตกระดาษชนิดต่างๆ
นั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ปี 2520 จะมีความต้องการใช้เยื่อกระดาษที่มีความยาวของเส้นใยขนาดสั้น
120,000 ตันต่อปี ปี 2524 เพิ่มขึ้นเป็น 165,000 ตันต่อปี และสูงขึ้นถึง
224,000 ตันต่อปี ใน พ.ศ. 2528
แต่มีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในประเทศอยู่เพียงสองรายเท่านั้นคือ โรงงานกระดาษกาญจนบุรี
ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2478 มีกำลังผลิตวันละ 10 ตัน ใช้วัตถุดิบจากไม้ไผ่
ไม้รวกและไม้เบญจพรรณ อีกโรงหนึ่งคือ โรงงานกระดาษบางปะอินที่มีขึ้นในปี
พ.ศ. 2498 ผลิตเยื่อกระดาษจากฟางข้าวได้ปีละ 9,000 ตัน
แต่ทั้งสองแห่งก็ผลิตเพื่อป้อนเฉพาะโรงงานกระดาษของตนเองเท่านั้น ความต้องการส่วนที่เหลือจึงต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาทดแทน
ซึ่งราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของความต้องการในตลาดโลก
…เห็นกันชัดๆ ว่า ผลิตออกมาแล้วไม่ต้องกลัวจะขายไม่หมด!
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการทำเยื่อกระดาษออกมา ตามโครงการวัตถุดิบที่ใช้คือปอ
ซึ่งต้องการปอประมาณสองแสนตันป้อนโรงงานที่มีกำลังการผลิตปีละ 70,000 ตัน
จากการสำรวจพบว่า ขอนแก่นเป็นที่ๆ เหมาะสมที่สุดสำหรับการตั้งโรงงานเพราะมีพื้นที่ปลูกปอมากเพียงพอ
ถึงตรงนี้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบก็หมดไป เช่นเดียวกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรในการผลิตที่สามารถดึงเอาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้จากอินเดียและออสเตรียเข้ามาร่วมทุนได้
(รายละเอียดของความเป็นมาก่อนที่จะเป็น ฟินิกซ์ พัลพ์ ปรากฏอยู่โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว
ใน "ผู้จัดการ" ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม 2529)
การก่อสร้างโรงงานจึงได้เริ่มขึ้นเมื่อปี 2523 ที่นิคมพัฒนาตนเอง เขื่อนอุบลรัตน์
จังหวัดขอนแก่น ในเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ และเริ่มทำการผลิตได้ในเดือนธันวาคม
2524
เพียงชั่วระยะเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากเริ่มเดินเครื่อง โครงการที่เกิดขึ้นจากความคาดหวังอันงดงามก็ต้องประสบกับความขาดทุนถึง
240 ล้านบาท
คงจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับกิจการที่เพิ่งเริ่มต้นที่จะต้องขาดทุนไปก่อน
แม้ตัวเลขจะสูงเกินไปสักหน่อย แต่พอย่างเข้าปีที่สองและปีถัดๆ ไป ความธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาที่ส่ออาการผิดปกติของกิจการเพราะว่าภาระการขาดทุนก็ยังเกิดขึ้นได้ทุกๆ
ปี จนถึงปี 2528 ยอดขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานสูงถึง 718.8 ล้านบาท ยังไม่รวมตัวเลขการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อคราวปรับค่าเงินบาทอีก
292.2 ล้านบาท ในขณะที่มีทุนจดทะเบียนอยู่เพียง 552.5 ล้านบาท
มูลค่าหุ้นตามราคาพาร์ที่กำหนดไว้หุ้นละ 100 บาท ยกให้ฟรีๆ ก็ไม่มีใครเอาเพราะค่าตามบัญชีหายไปหมดแล้ว
แถมยังติดลบอยู่อีกหลายสตางค์เพราะขาดทุนกันท่วมหัว ขายโรงงานและทรัพย์สินเอาเงินมาใช้หนี้ก็ยังไม่คุ้ม
เพราะหนี้สินรวมมีอยู่ถึง 2,600 ล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์รวมถึง 458 ล้านบาท
เดือดเนื้อร้อนใจกว่าใครเพื่อนเห็นจะเป็นเจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งไทยและต่างด้าวเพราะสามปีผ่านไปแล้ว
ทั้งต้นทั้งดอกไม่เคยได้รับจากลูกหนี้รายนี้เลย และยังไม่มีวี่แววแม้แต่น้อยว่าจะได้คืนด้วยซ้ำไป!
ความผิดพลาดประการแรกของฟินิกซ์ พัลพ์ คือ ไม่สามารถทำการผลิตได้เต็มกำลังตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
70,000 ตันต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียง 55% ของกำลังการผลิตเต็มที่เท่านั้น
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใด ขนาดของกำลังการผลิตเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตต่อหน่วยโดยตรง
ต้นทุนต่อหน่วยนี้จะแปรผันไปตามระดับกำลังการผลิต จุดที่ต้นทุนต่อหน่วยต่ำที่สุดจะเกิดขึ้นที่ระดับกำลังการผลิตที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดของกำลังการผลิตหรือที่เรียกว่า
"ECONOMY OF SCALE"
ECONOMY OF SCALE ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษนั้นอยู่ที่ ขนาดของการผลิต
200 ตันต่อวัน!
แต่เครื่องจักรของฟินิกซ์ พัลพ์ ทำได้เพียงครึ่งหนึ่งคือ 100 ตันต่อวันเท่านั้น
ในขณะที่ต้องเดินเครื่องเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง มีค่าใช้จ่ายในการผลิตเหมือนกับการผลิตให้ได้
200 ตันต่อวันทุกอย่าง แต่ผลผลิตที่ได้เหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ต้นทุนเยื่อกระดาษต่อตันของ
ฟินิกซ์ พัลพ์จึงสูงเอามากๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"เครื่องจักรของเขาส่วนใหญ่จะเป็นของเก่าที่บริษัทผู้จำหน่ายเอามาย้อมแมวขายให้กับฟินิกซ์"
นี่คือเสียงร่ำลือจากนักวิชาการและผู้รู้ในอุตสาหกรรมนี้
เฉลิม มัญชะสิงห์ ผู้จัดการอาวุโสของสำนักงานฟินิกซ์ พัลพ์ ที่ขอนแก่นปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า
ไม่เป็นความจริง "เรายืนยันว่าเครื่องจักรของเราเป็นเครื่องใหม่เอี่ยม
ทันสมัยที่สุดในเอเชียอาคเนย์ตอนนี้"
ปัญหาในด้านกำลังการผลิตของเครื่องจักรนั้นเกิดจากการทำงานที่ไม่สอดคล้องต่อเนื่องกันของส่วนต่างๆ
"เครื่องจักรทั้งหมดมาจากหลายประเทศด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นของออสเตรีย
นอกนั้นเป็นของฟินแลนด์ เยอรมนี ของอินเดียนั้นเป็นส่วนน้อย แล้วก็เอาประกอบเข้าด้วยกัน
จึงมีปัญหาในช่วงแรกๆ ว่า เครื่องจักรมันยังไม่ MATCH กันได้ลงตัว ต้องมีการปรับกันใหม่"
เฉลิม ชี้แจงกับ "ผู้จัดการ"
ความบกพร่องอีกจุดหนึ่งของกระบวนการผลิตก็คือ เครื่องจักรอบเยื่อกระดาษ
(DRYER) สำหรับอบเยื่อให้แห้งด้วยไอน้ำก่อนที่จะส่งเข้าเครื่องตัดทำงานได้ต่ำกว่าที่คาดหมาย
ทำให้การผลิตต้องสะดุดลงเป็นช่วงๆ
ฟินิกซ์ พัลพ์ มีสัญญาค้ำประกันประสิทธิภาพของเครื่องจักรไว้กับผู้จำหน่ายสองรายคือ
เฟิสท์ อัลพีเน่ เอ.จี ของออสเตรียซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษชั้นนำของโลก
กับบัลลาร์เปอร์ อินดัสตรีส์ ของอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของฟินิกซ์
พัลพ์ เองทั้งสองรายต้องรับผิดชอบในการปรับปรุงเครื่องจักรให้ผลิตได้เต็มกำลังการผลิตโดยทางฟินิกซ์
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ
"เขาก็ทำให้เราตามสัญญา และมีการติดตั้ง DRYERS เพิ่มขึ้นอีกหลายตัว"
ปัญหาขัดข้องทางกระบวนการผลิตได้รับการแก้ไขจนสามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่ในทุกๆ
ส่วนของเครื่องจักรเมื่อเดือนกรกฎาคม 2526 แต่กว่าจะถึงตรงนี้ ค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบและพลังงาน
สำหรับการผลิตที่ได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนทำให้ต้นทุนผลิตสูงเกินไปก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทตกอยู่ในภาวะขาดทุนอีกปีหนึ่ง
ความผิดพลาดประการที่สองคือ การคาดการณ์ผิดในเรื่องวัตถุดิบที่จะมาป้อนโรงงานฟินิกซ์
พัลพ์ ตั้งใจที่จะใช้ปอแก้วเป็นวัตถุดิบในการผลิตเยื่อกระดาษ เพราะคุณภาพดีกว่าการใช้วัตถุดิบชนิดอื่น
และเมื่อทำการสำรวจปริมาณปอที่ปลูกกันอยู่ในภาคอีสานแล้วพบว่ามีปริมาณมากพอเพียงต่อการผลิต
ปริมาณปอแก้วที่ต้องการคือ ปีละสองแสนตัน!
แต่กว่าที่จะตัดสินใจลงทุน หาผู้ร่วมทุน หาเทคโนโลยีในการผลิตและลงมือก่อสร้างโรงงาน
ภาวการณ์ทางด้านวัตถุดิบก็เปลี่ยนไปมากแล้ว
พฤติกรรมทางการผลิตของเกษตรกรไทยในเรื่องของการเลือกประเภทของพืชผลที่จะปลูกขึ้นอยู่กับราคาของพืชผลชนิดนั้นๆ
ว่าราคาดีหรือไม่ ปลูกไปแล้วมีคนซื้อหรือเปล่า จึงเป็นสิ่งที่หาความแน่นอนได้ยาก…นี่คือปัญหาส่วนหนึ่ง
ก่อนหน้าและระหว่างที่ฟินิกซ์ พัลพ์ ลงมือก่อสร้างโรงงาน พื้นที่ปลูกปอได้ลดลงไปมากแล้ว
สาเหตุก็เพราะโรงงานกระสอบปิดตัวเองไปหลายแห่ง ความต้องการปอจึงลดน้อยลง
เมื่อปลูกไปแล้ว ขายไม่ได้ ราคาก็ตก ชาวไร่ก็ต้องหันไปหาพืชผลตัวอื่นคือ
มันสำปะหลัง ซึ่งมีราคาค่อนข้างดี เป็นสินค้าส่งออกในอันดับต้นๆ ของประเทศไทย
พื้นที่ปลูกในขอนแก่นและจังหวัดรอบๆ จึงถูกแทนที่ด้วยไร่มันสำปะหลัง!
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ปอนั้นเป็นพืชตามฤดูกาลที่ปลูกและเก็บเกี่ยวได้ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น
ฟินิกซ์ พัลพ์ขาดทุนตั้งแต่ปีแรกจนเงินทุนหมุนเวียนที่จะมารับซื้อปอไม่มีต้องให้ผู้ขายรอถึง
45 วันจึงค่อยมารับเช็ค รับไปแล้วก็ยังไม่แน่ว่าเช็คนั้นจะเด้งหรือไม่?
ศูนย์รับซื้อปอที่เคยมีอยู่ถึง 40 แห่งทั่วภาคอีสาน ก็เลยเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวที่ตัวโรงงาน
เพราะคนปลูกและคนขายไม่อาจทนฝากปากท้องของตนไว้กับความไม่แน่นอนของฟินิกซ์
พัลพ์ ได้
เครื่องจักรที่ได้รับการแก้ไขจนผลิตได้เต็มประสิทธิภาพต้องมาเจอปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอที่จะป้อนให้เต็มกำลังการผลิต
จนถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2528 จากเป้าหมายการผลิต 70,000 ตันต่อปี ฟินิกซ์
พัลพ์สามารถผลิตเยื่อกระดาษออกมาได้เพียง 58,000 ตันต่อปีเท่านั้น
ฟินิกซ์ พัลพ์ต้องหันไปหาวัตถุดิบทดแทนอย่างอื่น คือ ปอสาและไม้นุ่น ซึ่งมีราคาสูงกว่าปอแก้ว
ซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาทางเทคนิคขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะเครื่องจักรเป็นเครื่องที่ใช้กับปอเท่านั้น
เมื่อเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบชนิดอื่นทกให้เกิดการสูญเสียในการผลิตมาก
ความผิดพลาดประการที่สามคือ ฟินิกซ์ พัลพ์ มีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายทางด้านกระแสไฟฟ้า
น้ำมันและสารเคมีที่ใช้ในการทำเยื่อกระดาษ กับค่าใช้จ่ายทางด้านเงินเดือนค่าจ้าง
ค่ากระแสไฟฟ้าตกเดือนละห้าล้านบาท เพราะแม้จะไม่ได้ผลิตเต็มกำลัง แต่พลังงานที่ใช้ต้องใส่เข้าไปเต็มที่
และต้องเดินเครื่องยี่สิบสี่ชั่วโมง นอกเหนือไปจากการใช้ไฟฟ้าตามบ้านพักคนงาน
ซึ่งเฉลิมเปิดเผยว่า "เราใช้กันเต็มที่ บ้านพักเปิดไฟกันทั้งวันทั้งคืน"
ค่าใช้จ่ายในการจัดหาน้ำมัน และสารเคมีก็สูงด้วย "การเงินเราไม่ค่อยดี
ขลุกขลักมาก คนที่มาค้าขายกับคนที่มีการเงินขลุกขลัก มันก็ต้องโก่งราคา ต้องบวกดอกเบี้ยเผื่อไว้
เราต้องซื้อของแพง"
ส่วนเรื่องการรั่วไหลหรือการฉ้อฉลของคนข้างในโดยเฉพาะการรับซื้อวัตถุดิบ
เฉลิมปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าไม่มี ทุกอย่างเป็นไปโดยถูกต้อง
ค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือน โดยเฉพาะเงินเดือน "แขก" เป็นอีกตัวหนึ่งที่เป็นภาระหนักของฟินิกซ์
พัลพ์
บัลลาเปอร์ อินดัสตรีส์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนรายหนึ่งนั้น รับผิดชอบในด้านเทคนิคการผลิต
เพราะเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการผลิตเยื่อกระดาษ บัลลาเปอร์เอาคนเข้ามาไม่เฉพาะวิศวกรและช่างเทคนิคเท่านั้น
พนักงานในระดับโฟร์แมนและคนงานธรรมดาก็เป็นคนอินเดียด้วย "รวมๆ กันแล้วหลายร้อยคน
ทั้งโรงงานมีแขกเดินเต็มไปหมด" แหล่งข่าวที่ติดตามการทำงานของฟินิกซ์
พัลพ์ ในระยะแรกๆ กล่าว
ค่าจ้างแรงงานคนอินเดียนั้น แม้จะต่ำแต่พอมาทำงานที่เมืองไทย กลับมีการตั้งอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าความเป็นจริงมาก
พวกที่เรียกกันว่า "ผู้เชี่ยวชาญ" นั้นกินเงินเดือนตั้งแต่หมื่นกว่าบาทถึงสามสี่หมื่นบาท
เช่าโรงแรมอยู่ในตัวจังหวัด "อยู่กันเป็นปีๆ" ค่าเช่าไม่ต้องพูดถึงว่ามันจะมากแค่ไหน"
แหล่งข่าวรายเดิมเปิดเผย
ที่กล่าวมานี้ เป็นความผิดพลาดในการบริหารงาน ที่แก้ไขได้ไม่ยากนัก
แต่…ความผิดพลาดที่สำคัญที่สุดคือ คาดการณ์ราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกผิด
สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานคณะกรรมการของฟินิกซ์ พัลพ์ และเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยวิ่งเต้นให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาได้เคยพูดเอาไว้ว่า
โครงการนี้ตอนแรกมีอนาคตมาก เพราะราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกคือ 650 ดอลลาร์ต่อตัน
แต่พอเริ่มสร้างโรงงานราคากลับตกลงมาเรื่อยๆ เพราะมีการขยายโรงงานและตั้งโรงงานเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นมากทั่วโลก
ในช่วงที่ราคาน้ำมันยังถูกอยู่
พอราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นสูงจาก 12 เหรียญต่อบาร์เรลเป็นถึง 30 เหรียญต่อบาร์เรล
เกิดภาวะเศรษฐกิจไม่ดีขึ้น SUPPLY เยื่อกระดาษล้นเกินความต้องการ ทำให้เกิดการทุ่มตลาดขนานใหญ่เพื่อระบายสินค้า
เยื่อกระดาษจากฟินแลนด์ที่เคยมีราคาเฉลี่ยต่อตันเมื่อ ปี 2523 อยู่ที่ระดับ
558.75 เหรียญ มาถึงปี 2524 เหลือเพียง 480 เหรียญ ปี 2525 ที่ฟินิกซ์ พัลพ์
เริ่มการผลิตตกลงไปอยู่ที่ 353.75 และในไตรมาสแรกของปี 2526 ราคาเหลืออยู่เพียง
340 เหรียญเท่านั้น
ถ้าลองหยุดราคาอยู่ที่ 340 เหรียญเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น คือ
23 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ ราคาเยื่อกระดาษจากต่างประเทศเท่ากับ 7,820 บาทเท่านั้น
ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของฟินิกซ์ พัลพ์อยู่ระหว่าง 13,000-14,000 บาทต่อตันโดยประมาณ
ไม่มีทางที่จะไปแข่งกับเยื่อกระดาษนำเข้านอกเสียจากว่าจะลดราคาลงมาในอัตราระหว่าง
8,500-10,000 บาทต่อตันเท่านั้น
…ผลขาดทุนมหาศาลเกิดขึ้นทันตาเห็นก็ตรงจุดนี้แหละ!
ฟินิกซ์ พัลพ์ ต้องวิ่งเต้นให้ทางการใช้มาตรการทางด้านภาษีคุ้มครอง โดยกระทรวงการคลังขึ้นอากรขาเข้าเยื่อกระดาษจากเดิม
1% เป็น 10% และทางบีโอไอยังช่วยผลักดันให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (SURCHARGE)
ในอัตรา 20% ของราคานำเข้า C.I.F. ตั้งแต่ปี 2525
ถึงอย่างนั้นก็ยังเอาไว้ไม่อยู่ เพราะราคาตลาดโลกไม่ได้หยุดอยู่แค่ 340
เหรียญเท่านั้น ยังคงลดลงไปต่ำกว่า 300 เหรียญจนถึง 240 เหรียญก็ยังเคย ในขณะที่ต้นทุนการผลิตของฟินิกซ์
พัลพ์ ก็สูงกว่าปกติอยู่แล้ว
ยอดขาดทุนสะสมเมื่อสิ้นงวดบัญชีปี 2528 เท่ากับ 959.7 ล้านบาท ไม่มีใครมองเห็นว่าจะกอบกู้ฟินิกซ์
พัลพ์ ขึ้นมาได้อย่างไร กลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษรายใหญ่ๆ ในประเทศ ที่มีข่าวว่าจะซื้อกิจการเอาเข้าจริงก็ต้องถอยกันเป็นแถวเมื่อเห็นยอดขาดทุนและภาระหนี้สิน
ฟินิกซ์ พัลพ์ เหมือนถูกพิพากษาล่วงหน้าให้ตายไปแล้วครึ่งตัว!
แต่แล้วสถานการณ์ก็พลิกกลับ ในปี 2529 เมื่อราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกที่ตำต่ำมานานเริ่มกระเตื้องขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สอง
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น โรงงานกระดาษในประเทศต่างๆ มีการขยายตัวอย่างมากทำให้กลุ่มผู้ผลิตเยื่อกระดาษขยายกำลังการผลิต
กลุ่มผู้ผลิตเยื่อกระดาษซึ่งเพลิดเพลินกับการทุ่มสินค้าในสต็อกออกสู่ตลาดขยายกำลังการผลิตไม่ทันกับความต้องการ
ราคาเยื่อกระดาษที่เคยตกต่ำน้อยกว่า 300 เหรียญต่อตัน ก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงเกือบ 700 เหรียญต่อตันเมื่อสิ้นปี 2530 และเกือบจะถึง 800 เหรียญต่อตันในขณะนี้แล้ว
ทำให้ฟินิกซ์ พัลพ์สามารถปรับราคาเยื่อกระดาษของตนให้สูงขึ้นได้และไม่จำเป็นต้องอาศัยการคุ้มครองจาก
SURCHARGE ซึ่งหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2529 อีกต่อไป
ปี 2530 ราคาเยื่อกระดาษภายในประเทศ 14,000 บาทต่อตัน และขึ้นมาอีก 14.3%
ในปีนี้ เป็น 16,000 บาทต่อตัน
ราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลก ซึ่งเคยเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ฟินิกซ์ พัลพ์ อยู่ในอาการย่ำแย่มาแล้ว
ก็กลับกลายมาเป็นตัวที่พลิกชะตากรรมที่เลวร้ายให้ดีขึ้น ว่าไปแล้วก็เป็นโชคดีโดยบังเอิญ
ที่สิ่งซึ่งครั้งหนึ่งเคยให้โทษ แปรเปลี่ยนมาเป็นสิ่งที่เป็นคุณ.
"ฟินิกซ์ ดีขึ้นเพราะราคาตลาดโลกและก็เพราะความพยายามแก้ไขปัญหาในจุดต่างๆ
ได้เป็นผลสำเร็จ" ผู้สันทัดกรณีซึ่งไม่ได้อยู่ในวงการกระดาษแต่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องก็ด้วยในฐานะเจ้าหนี้
แสดงความเห็นต่อทัศนะที่ว่า ฟินิกซ์ พัลพ์ ไม่ได้ดีขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงภายในแต่อย่างใด
การเปลี่ยนแปลงในข้อแรกคือ การแก้ไขปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน โดยการเปลี่ยนจากปอแก้วมาใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบหลักในช่วงปลายปี
พ.ศ. 2528 ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงไปได้ส่วนหนึ่งเพราะราคาไม้ไผ่ถูกกว่าปอ
20% และมีปริมาณมากกว่าปอเพราะมีอยู่ทั่วประเทศและมีทั้งปี
ในระยะแรกๆ ฟินิกซ์ พัลพ์รับซื้อไม้ไผ่จากจังหวัดขอนแก่นและพื้นที่ใกล้เคียงแล้วค่อยๆ
ขยายขอบเขตการรับซื้อออกไปเพราะไม้ไผ่ที่ได้มานั้นเป็นไม้ไผ่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่
เมื่อใช้ไปก็ค่อยๆ หมดลง
"ตอนนี้ไม่ไผ่ที่เรารับซื้อมาจากอีสานตอนบน เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์
ปราจีนบุรีและกาญจนบุรี" เฉลิมเปิดเผย
อัตรารับซื้อในขณะนี้คือ 700 บาทต่อตันซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ดีมาก และพอชั่งน้ำหนักเสร็จ
ขนลงจากรถบรรทุกก็รับเป็นเงินสดได้ในทันที รถบรรทุกทั้งสิบล้อ หกล้อ จนกระทั่งรถอีแต๋นจากทุกสารทิศ
จึงวิ่งเข้าสู่โรงงานฟินิกซ์ พัลพ์ ที่อำเภอน้ำพองทั้งวันทั้งคืน เพื่อนำไม้ไผ่ไปขายให้
"ทุกวันนี้เรารับซื้อวันละประมาณสองพันตัน" ประเสริฐพร คัณธวนิช
ผู้จัดการทั่วไปของฟินิกซ์ พัลพ์ กล่าว "ตอนนี้เรามีปัญหาว่ามีวัตถุดิบมากจนต้องขยายพื้นที่กองให้เพียงพอ"
นอกจากไม้ไผ่แล้ว ฟินิกซ์ พัลพ์ ยังคงใช้ปอและยูคาลิปตัสเป็นวัตถุด้วย
ราคารับซื้อปอคือไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตัน แล้วแต่ภาวะตลาดปอและความต้องการของโรงงาน
ชำระเงินให้ชาวไร่หลังจากมาส่งปอให้สามวัน ส่วนยูคาลิปตัสรับซื้อในราคาตันละ
500 บาท เพราะมีน้ำหนักมากทำให้หนักตาชั่ง
ปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงจึงตกไป แต่สิ่งที่จะตามมาก็คือ ในระยะยาวแล้วจะต้องหาหลักประกันที่จะมีวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง
"เรากำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปอและไม้ไผ่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว"
ประเสริฐพรเปิดเผย
ฟินิกซ์ พัลพ์ มีชาวไร่ปอที่มาจดทะเบียนกับทางโรงงานอยู่ประมาณ 500 รายในขณะนี้
ทางโรงงานเป็นผู้แจกเมล็ดพันธุ์ให้ และประกันราคารับซื้อไม่ต่ำกว่า 1,000
บาทต่อตัน
สำหรับไม้ไผ่ ฟินิกซ์ พัลพ์ ร่วมมือกับทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรส่งเสริมการปลูกไผ่
โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้คัดเลือกเกษตรกรและให้การสนับสนุนทางด้านสินเชื่อ ส่วนฟินิกซ์
พัลพ์สนับสนุนในเรื่องพันธุ์และวิทยาการ และรับซื้อในราคาประกัน
"เราเริ่มเมื่อปีที่แล้ว ห้าพันไร่ ปีนี้ได้อีกสองพันไร่"
อีกโครงการหนึ่งคือโครงการอีสานเขียว เป็นโครงการปลูกไผ่หนึ่งแสนไร่ในพื้นที่รอบอาณาบริเวณโรงงาน
รัศมีไม่เกิน 100 กิโลเมตร ซึ่งได้เริ่มไปแล้วในปีนี้สองหมื่นไร่
ระยะเวลาสำหรับการปลูกไผ่จนโตพอที่จะใช้เป็นวัตถุดิบได้คือสามปี
ในระยะแรกๆ ที่เปลี่ยนจากปอมาใช้ไม้ไผ่มาใช้ปอนั้นยังคงมีปัญหาด้านเทคนิคการผลิต
เพราะเครื่องจักรเป็นเครื่องจักรสำหรับทำเยื่อกระดาษจากปอเพียงอย่างเดียว
ทำให้เกิดการสูญเสียทางด้านวัตถุดิบมาก
แต่หลังจากใช้เวลาในการปรับเครื่องจักรอยู่พักใหญ่ๆ ทุกอย่างก็เรียบร้อย
ฟินิกซ์ พัลพ์ สามารถใช้ทั้งไม้ไผ่ ปอ และยูคาลิปตัสทำเยื่อกระดาษได้
เมื่อวัตถุดิบมีอย่างเพียงพอ ความขัดข้องทางเทคนิคหมดไป กำลังการผลิตก็สามารถทำได้เต็มที่
70,000 ตันต่อปี ในปี 2529 เพิ่มขึ้นเป็น 92,000 และ 94,000 ตันในปี 2530
และ 2531 ตามลำดับ
"เราไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมมาก เพียงแต่เร่งอัตราการผลิตให้เร็วขึ้นเท่านั้น"
ประเสริฐพร อธิบายความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิต
พร้อมๆ กับการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบและการผลิต ฟินิกซ์ พัลพ์ ก็พยายามตัดค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างเงินเดือนลงไป
โดยการบีบให้ทางบัลลาเปอร์ ลดพนักงานชาวอินเดียลงจนเหลือช่างเทคนิคในปัจจุบันเพียง
20 คนในขณะนี้ และให้เข้ามาพักในบ้านพักของโรงงาน แทนที่จะไปเช่าโรงแรมซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
ฟินิกซ์ พัลพ์ ได้รับการช่วยเหลือและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการผลิตและการจัดการจากบัลลาเปอร์
ผ่านทางอีกบริษัทหนึ่งในเครือเดียวกันคือ ทาปาร์ คอนซัลแตนท์ แอนด์ เซอร์วิส
มีสัญญากันเป็นเวลา 8 ปี
พนักงานที่เคยมีอยู่ในตอนแรก 1,000 กว่าคน ตอนนี้ลดเหลือเพียง 700 คนเท่านั้น
เพราะงานในบางส่วนทางโรงงานจ้างบริษัท CONTRACTOR เข้ามาทำให้แทน
เช่น การขนวัตถุดิบ รักษาความสะอาดและการรักษาความปลอดภัย ทำให้ลดพนักงานลงไปได้มาก
ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งที่ลดลงไปคือค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนประมาณ 20%
ของต้นทุนการผลิตรวม การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคยอมลดค่าไฟฟ้าให้ในส่วนของการผลิตเพื่อส่งออกที่มีอยู่ประมาณ
20-25% และทางโรงงานได้ตั้งสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าขึ้นใช้เองด้วย
"ที่เคยจ่ายเดือนละห้าล้าน ตอนนี้เหลือแค่สองล้านเท่านั้นเอง"
เฉลิมเปิดเผย
เมื่อสามารถเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่จนเกินกำลังการผลิตตามเป้าหมายเดิม
และลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงไปได้ ต้นทุนต่อหน่วยก็ลดต่ำลง จากที่เคยอยู่ในระดับ
13,000-14,000 บาทต่อตัน เหลือราวๆ 12,000 บาทต่อตัน สวนทางกับราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกที่มีแนวโน้มพุ่งขึ้นสูงอยู่เรื่อยๆ
…เยื่อกระดาษของฟินิกซ์ พัลพ์ จึงขายดิบขายดี ออกจากเครื่องก็ขนขึ้นรถส่งไปให้ลูกค้าเลย!
"สองปีมานี้ รถวิ่งกันทุกวัน บางช่วงไม่มีรถเลย" โชเฟอร์รถสิบล้อที่บรรทุกเยื่อกระดาษไปส่งให้โรงงานกระดาษแถวนครปฐมกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
ฟินิกซ์ พัลพ์นั้นครอบครองตลาดภายในประเทศอยู่ประมาณ 75% ของจำนวนโรงงานกระดาษประมาณ
30 แห่งในประเทศ ที่เหลือเป็นของบริษัทเยื่อกระดาษสยามในเครือซิเมนต์ไทย
ซึ่งมีกำลังการผลิตเพียง 24,000 ตันเท่านั้น และผลิตป้อนให้กับโรงงานกระดาษในเครือเป็นส่วนใหญ่
ในปีหน้า เยื่อกระดาษสยามจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 33,000 ตันต่อปี
เรียกว่า ฟินิกซ์ พัลพ์ เป็นเจ้าตลาดเยื่อกระดาษของเมืองไทยแต่เพียงผู้เดียว
มีส่วนกำหนดราคาขายเองได้ ถึงแม้ว่าเยื่อกระดาษจะเป็นสินค้าราคาควบคุมที่การขึ้นราคาแต่ละครั้งต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายใน
แต่ภาวะราคาตลาดโลก ที่สูงกว่าในประเทศมากทำให้การปรับราคาไม่ใช่เรื่องยากเย็น!
ปัจจุบัน ฟินิกซ์ พัลพ์ ใช้วิธีการขายแบบทำสัญญาล่วงหน้าหนึ่งปีกับลูกค้า
ผู้ซื้อต้องแจ้งปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษทั้งปีโดยที่ทางฟินิกซ์ พัลพ์
จะยืนราคาขาย 16,000 บาทตันต่อตลอดปี
แม้จะเป็นราคาที่โรงงานกระดาษหลายรายบ่นว่าสูงเกินไป เพราะราคาปีที่แล้วแค่
14,000 บาทต่อตัน!
"วิธีนี้ทำให้เราสามารถวางแผนการผลิต การหาวัตถุดิบได้แน่นอน และไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้มาก"
ผู้บริหารรายหนึ่งเปิดเผย
แม้จะเป็นราคาที่โรงงานกระดาษหลายรายบ่นว่าสูงเกินไป เพราะขึ้นจากปีที่แล้ว
2,000 บาท/ตัน แต่ในภาวะที่ผู้ซื้อไม่สามารถหันไปพึ่งเยื่อกระดาษจากต่างประเทศได้ก็ต้องยอมรับในราคานี้
"เราต้องดูราคาตลาดโลกด้วย ที่เราขึ้นราคาในปีนี้ เพราะสถานการณ์ด้านราคามันสูงขึ้น"
ผู้บริหารคนเดิมกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เหลืออีก 20-25% ของปริมาณการผลิต ฟินิกซ์ พัลพ์ ส่งไปขายต่างประเทศ ตลาดหลักๆ
คือ ไต้หวันและญี่ปุ่น!
สัญญาณการฟื้นตัวของฟินิกซ์ พัลพ์ ปรากฏให้เห็นเมื่อปี 2529 การดำเนินงานที่เคยขาดทุนถึง
200 กว่าล้านบาทต่อปีก่อนหน้านี้ เมื่อสิ้นเดือนกันยายนของปี 2529 ขาดทุนเพียง
7.9 ล้านบาทเท่านั้น
ภาระหนี้สินที่สร้างความอึดอัดให้กับทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เพราะไม่เคยมีการชำระทั้งต้นและดอกเบี้ยก็เริ่มผ่อนคลายลง
เมื่อทั้งสองฝ่ายทำการเจรจาปรับโครงสร้างและเวลาชำระหนี้เสียใหม่
ฟินิกซ์ พัลพ์ มีหนี้กับธนาคารในประเทศสามแห่งคือ ธนาคารกรุงเทพ ไทยพาณิชย์และกสิกรไทย
เป็นหนี้ระยะสั้นในรูปของเงินทุนหมุนเวียน 300 ล้านบาท ผ่านทางสมาคมธนาคารไทยเมื่อปี
2526 สำหรับเป็นเงินทุนในการรับซื้อวัตถุดิบ
หนี้สินระยะยาวมีอยู่ 2,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ต่างประเทศในสกุลชิลลิ่ง
ออสเตรียจำนวน 575 ล้านชิลลิ่งออสเตรีย และ 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับเงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรอีก
40 ล้านรูปีอินเดีย
ธนาคารต่างประเทศที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่คือ ยูโรเปียนเอเชียนของเยอรมนี
(ด๊อยซ์แบงก์) ในปัจจุบัน ธนาคากรินด์เลย์ของออสเตรีย และสเตทแบงก์ออฟอินเดีย
ส่วนสถาบันการเงินในประเทศคือ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้กู้ในระยะยาวเป็นเงิน
50 ล้านบาท
หนี้สินส่วนใหญ่ถึงกำหนดชำระคืนงวดแรกตั้งแต่ปี 2528 และกลางปี 2529 แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ
ฟินิกซ์ พัลพ์ซึ่งลำพังเงินที่จะมาซื้อวัตถุดิบในขณะนั้นยังหาไม่ได้อยู่แล้ว
จะมีปัญญาไปหาเงินที่ไหนมาชำระหนี้ กระทั่งดอกเบี้ยก็ยังไม่ได้สง เฉพาะดอกเบี้ยค้างชำระมีประมาณเกือบ
500 ล้านบาท
ปลายปี 2529 และต้นปี 2530 ทางฟินิกซ์ พัลพ์ ได้เริ่มเจรจากับทางเจ้าหนี้ใหม่เพื่อขอยืดเวลาชำระหนี้และขอลดดอกเบี้ย
หนี้ที่เป็นสกุลชิลลิ่งออสเตรียกำหนดชำระคืนเป็น 17 งดเท่าๆ กันทุกครึ่งปี
เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530
หนี้เงินสกุลดอลลาร์กำหนดชำระคืนเป็น 34 งวดเท่าๆ กันทุกไตรมาส เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม
2530
ส่วนหนี้ที่เป็นเงินรูปีอินเดียนั้น แท้ที่จริงแล้วเจ้าหนี้คือ บัลลาเปอร์
ที่เป็นผู้ถือหุ้นด้วย ได้มีการเจรจาให้แปลงหนี้ส่วนนี้เป็นทุนได้สำเร็จ
ทำให้ฟินิกซ์ พัลพ์ มีเงินทุนเพิ่มขึ้นอีก 91 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนเพิ่มจาก
552 ล้านเป็น 643 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยใหม่คือ 1% เหนือ LIBOR!
สำหรับเงินทุนหมุนเวียน 300 ล้านบาทได้มีการชำระคืนไป 200 ล้านบาทเมื่อเดือนสิงหาคม
2530 ส่วนอีก 50 ล้านบาทของ IFCT ได้ตกลงชำระคืนเป็น 16 งวดไม่เท่ากันทุกครึ่งปี
เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2530 ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 11%
ถึงวันนี้ฟินิกซ์ พัลพ์ ชำระหนี้สินส่วนนี้ไปได้ราวๆ 600 ล้านบาทแล้ว ยังเหลืออีก
1,600 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาทางด้านสถานการณ์ตลาดโลก อีก 7-8 ปีข้างหน้าภาระหนี้สินก็คงจะหมดไป
"เรามีนโยบายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เป็นบริษัทมหาชน"
เจ้าหนี้ที่บริหารผู้หนึ่งของฟินิกซ์ พัลพ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงอนาคตของบริษัท "แต่คงต้องรอไปอีกปีหนึ่งก่อน เพื่อทำกำไรให้ได้สามปีติดต่อกัน"
ราคาหุ้นนอกตลาดของฟินิกซ์ พัลพ์ ในขณะนี้ถึงแม้ว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีในตอนนี้จะยังติดลบอยู่เพราะยอดขาดทุนสะสมยังไม่หมด
แต่ราคานอกตลาดที่มีการเสนอซื้อในขณะนี้ขึ้นไปถึง 115 บาทแล้ว แสดงถึงความเชื่อมั่นในอนาคตของบริษัทแห่งนี้
ปัญหาอยู่ที่ว่า ในอนาคตถ้าราคาเยื่อกระดาษโลกตกต่ำลงเหมือนเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว
ฟินิกซ์ พัลพ์ จะอยู่ในอาการย่ำแย่เหมือนเดิมหรือไม่
"ผมว่าเขาคงไปได้ เพราะขณะนี้ปัญหาทุกอย่าง SETTLE DOWN แล้ว ตอนที่ราคากระดาษตกต่ำ
(ปี '25-28) เขาเพิ่งจะเริ่มเดินยังไม่พร้อมที่จะรับกับแรงกระแทกจากภายนอก"
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ให้ความเห็น
จะหาคำตอบให้แน่ชัดคงจะไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง ที่แน่นอนก็คือการพลิกฐานะของฟินิกซ์
พัลพ์ ในครั้งนี้เป็นเรื่องของเก่งบวกกับเฮง เก่งเพราะว่าสามารถแก้ไขปัญหาภายในด้านการบริหารได้ตกไปหมด
และเฮงก็เพราะสถานการณ์ทางด้านตลาดราคาตลาดโลกเอื้ออำนวย