|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
มองไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัวศก. ปัจจัย 'ใน-นอก'กดดันต่อเนื่อง เสื้อแดงก่อหวอดซ้ำเติมวิกฤต ด้าน ลงทุน-ท่องเที่ยวได้รับผลกระทบลากยาว ส่วนแรงงานจ่อตกงานสูงถึง 1.5 ล้านคน ขณะที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้า ฟันธง เศรษฐกิจไทยอาจติดลบ 5-6% ชี้ภาคส่งออกต้องรอคู่ค้าฟื้นตัวคาดไตรมาส 4 สัญญาณจะดีขึ้น
หลังจากที่ธนาคารโลกประจำประเทศไทยออกมาระบุว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะขยายตัวติดลบที่ 2.7 % เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2% จากที่คาดการณ์กันก่อนหน้านี้ และในละแวกเอเชียตะวันออกไทยคือประเทศที่ติดลบมากที่สุดและเป็นครั้งแรกรอบ 11 ปี ไม่เพียงเท่านี้หากสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่คลี่คลายและปัญหาเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นเชื่อว่าปลายปีไทยอาจจะติดลบสูงถึง 4.9 %
นอกจากนี้วิกฤตภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุน ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นกลับมาคงเป็นงานหนักของรัฐบาลที่ต้องเร่งขับเคลื่อนให้มากกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขับเคลื่อนผ่านนโยบายเพื่อ เร่งฟื้นความเชื่อมั่นภายในให้เร็วที่สุด
ยืนยัน GDP ติดลบแน่นอน
'สมชัย จิตสุชน'ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับ 'ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์' ว่าเศรษฐกิจไทยลุ่มๆดอนๆตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจากปัจจัยภายในคือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยืดเยื้อกว่า 192 วันและปิดสนามบินทั้ง 2 แห่งทำให้นักลงทุน และการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทำให้ยอดการส่งออกลดลงอย่างมากและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และการส่งออกยังถือเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอดในช่วงที่ผ่านมาเมื่อภาคการส่งออกลดลงโอกาสที่ไทยจะฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ยังเป็นไปได้ยากมาก
นอกจากนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์อาทิ เช็คช่วยชาติ การรับประกันราคาสินค้าการเกษตร ยังใช้เงินจำนวนมากในการขับเคลื่อนนโยบายแต่ยังไม่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากนักทำให้หลายฝ่ายเริ่มทำใจได้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยติดลบแน่นอน และปี2552 อย่างดีที่สุดคือไม่ติดลบเท่านั้น
'ลงทุน-ท่องเที่ยว' ฟื้นยาก.!
ผอ.ฝ่ายวิจัยทีดีอาร์ไอยังระบุอีกว่าจากการประชุมจี 20 ที่ผ่านไปที่มีข้อตกลงร่วมกันคือให้ทุกประเทศสมาชิกกระตุ้นเศรษฐกิจภายในพร้อมๆกัน หากทำได้จริงภายหลังไตรมาส 3 เศรษฐกิจโลกอาจจะเริ่มฟื้นตัวซึ่งไทยอาจจะได้อานิสงค์บ้างจากภาคการส่งออกในช่วงนั้น
ขณะที่ปัจจัยภายในต้องดูว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจะยืดเยื้อและยาวนานแค่ไหนเพราะหากยังชุมนมไม่เลิกและมีการชุมนุมอยู่อย่างนี้โอกาสที่การลงทุนและการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวคงเป็นไปได้ยาก
'การชุมนุมไม่ว่าสีเสื้อใดย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยทั้งนั้น ครั้งนี้ต้องประเมินว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงจะยืดเยื้อและรุนแรงหรือไม่ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงคือภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนที่ได้รับผลกระทบไปแล้วเพราะคนเหล่านี้จะไม่เข้ามาในประเทศในช่วงที่มีความวุ่นวายทางการเมือง' ดร.สมชัย กล่าวยืนยัน
ชี้ 'เสื้อแดง'ชุมนุมซ้ำเติมวิกฤตศก.
ด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (ส.อ.ท.) 'สันติ วลาสศักดานนท์'ประธานส.อ.ท.ระบุว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงได้ส่งผลกระทบซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเพราะทั้งภาคการส่งออก ภาคท่องเที่ยว และภาคการลงทุนยังไม่มีสัญญาณจะฟื้นตัวและหากการชุมนุมยืดเยื้อยิ่งจะกระทบอย่างกว้างขวางมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตามในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมยืดเยื้อยาวนานในช่วงนั้นวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่หนักหนาขนาดนี้ภาคการส่งออกยังไปได้เศรษฐกิจโลกก็ยังไม่เลวร้ายเท่านี้ แต่หลังจากนั้น 3 เดือนที่ผ่านมาภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างหนักยอดออเดอร์สั่งของลดลงเพราะประเทศคู่ค้าของไทยต่างต้องรัดเข็มขัดเพื่อรับมือวิกฤตเช่นกันทำให้การส่งออกของไทยยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวในเร็วๆนี้
ส่วนภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาตั้งแต่การปิดสนามบินในช่วงปลายปีที่ผ่านมาทำให้การท่องเที่ยวในปีนี้อาจจะซบเซาแบบลากยาวกว่าเดิมเพราะเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองไม่สงบนักท่องเที่ยวก็ยังไม่มาท่องเที่ยวในประเทศ
'การชุมนุมของเสื้อแดงในกทม.ภาพรวมก็ดูเรียบร้อยดีไม่มีความรุนแรง แต่ภาพที่กลุ่มเสื้อแดงอีกกลุ่มไล่ทำร้ายนายกรัฐมนตรีที่พัทยา ทำให้นักธุรกิจต่างชาติสอบถามเข้ามาจำนวนมาก เขาไม่สบายใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ดูรุนแรงน่ากลัว'ประธานส.อ.ท.ระบุ
หวั่นเศรษฐกิจติดลบ 5-6%
ส่วน'ดร.ธนวรรษน์ พลวิชัย' ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า หากเกิดความรุนแรงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเราประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะติดลบ 5-6 % และหากสถานการณ์ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆของภาครัฐน่าจะเร่งส่งสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาส 4 ประกอบกับงบประมาณในปี 2553 ก็จะออกมารวมถึงเงินกู้ 1.56 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะขออนุมัติผ่านครม.อีกน่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ภายในไตรมาส 4 หรือไตรมาส 1 ปีหน้า
หวั่นตกงานทะลัก 1.5 ล้านคน
ขณะที่สถานการณ์ด้านแรงงานผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับปัญหาออเดอร์ลดลงเกือบ 100 % และส่อเค้าต้องเลิกจ้างพนักงานถึง 700,000 คนใน 8 เดือนข้างหน้า ปัจจุบันมีคนว่างงานประมาณ 8 แสนคนซึ่งเมื่อถึงปลายปีอาจจะมีคนว่างงานสูงถึง 1.5 ล้านคน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดสภาพคล่องและการส่งออกที่ลดลง
ประธานส.อ.ท.ได้ประเมินวิกฤตเศรษฐกิจของไทยอีกว่า หลังไตรมาส 3 สัญญาณเศรษฐกิจอาจจะเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 เพราะการส่งออกที่อาจจะมีแนวโน้มที่ดีจากเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่าจะเริ่มฟื้นตัว และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายของรัฐบาลต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้น่าจะเริ่มส่งผล เมื่อปัจจัยภายในเริ่มที่สัญญาณที่ดี และปัจจัยภายนอกเศรษฐกิจโลกเริ่มมีความหวังปลายปีอาจจะได้เห็นการเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวได้
เผยแผนกระตุ้นศก.รอบ 2
ขณะที่ สถาพร กวิตานนท์ ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระบุว่า การจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจรอบสองของรัฐบาลนี้จะมุ่งลงไปยังภาคธุรกิจแต่ละสาขาเลยว่ามีอะไรบ้างที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแล โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีผลต่อการจ้างแรงงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคการส่งออกที่ไทยผูกติดกับคู่ค้าอย่างมมหาอำนาจในยุโรปและสหรัฐฯเมื่อมหาอำนาจเหล่านี้มีปัญหาก็ทำให้การส่งออกเราสะดุดตามไปด้วย
นอกจากนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวก็เป็นอีกหนึ่งที่มีการจ้างงานจำนวนมากในอดีตที่ผ่านมาซึ่งต้องเข้าไปช่วยเหลือการขาดสภาพคล่องของเอกชนเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็หามาตรการรองรับคนตกงานในอนาคตรวมถึงบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษาในปีนี้ด้วย
'ทั้ง 2 กลุ่มคือส่งออก ท่องเที่ยว คือแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ' สถาพร ระบุและย้ำว่ายังต้องเข้าไปกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศโดยเพิ่มเงินให้ประชาชนซึ่งทุกประเทศที่เห็นว่ากำลังซื้อภายในประเทศลดลง รัฐบาลก็ต้องใส่เงินลงไปเพื่อให้ประชาชนมีเงินไปจับจ่ายซื้อของเพื่อทำให้เกิดการจ้างงานตามมา
เร่งเบิกจ่ายงบฯ - ทำ PR ประเทศ
ประธานที่ปรึกษานายกฯระบุอีกว่าการขับเคลื่อนผ่านงบประมาณก็เป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งรัฐบาลต้องเร่งให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางปี 1.167 แสนล้านบาท พร้อมเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ (เมกกะโปรเจกต์) รวมถึงต้องสร้างภาพลักษณ์ของประเทศให้ดูดีขึ้นในสายตาชาวโลกโดยได้เสนอให้รัฐบาลใช้งบจำนวน10ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
ดังนั้นหากประเมินสภาพเศรษฐกิจในประเทศในขณะนี้ จากสถานการณ์ทางการเมือง กับสภาวะเศรษฐกิจโลก ล้วนไม่มีมุมบวกที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ อย่างเร็วที่สุดทุกสำนักต่างฟันธงว่าหลังไตรมาส 3 และไตรมาส 4 คือสัญญาณน่าจะเป็นบวก แต่ถึงที่สุดแล้วสถานการณ์ทางการเมืองภายในกลับมีผลต่อความดำรงอยู่ของรัฐบาลมากกว่า ว่าจะอยู่รอดในการแก้ปัญหาได้ยาวนานแค่ไหน..?
|
|
|
|
|