ในมันสมองของ ดร. เสนาะ อูนากูล เลขาธิการสภาพัฒน์และประธานสภาทีดีอาร์ไอ
ไม่ทราบมีรอยยับย่นกี่ร่องรอย แต่ฐานะบทบาทและศักยภาพของเขาเป็นที่เลื่องลือ
(ทั้งที่เชื่อในฝีมือและที่วิพากษ์วิจารณ์) "ผู้จัดการ" มีโอกาสสัมภาษณ์อย่างเต็มที่ถึง
2 ชั่วโมงเต็ม บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จึงเปิดเผยให้เห็นถึง "โลกของนักวางแผน"
อย่าง ดร. เสนาะ อย่างแจ่มชัดที่สุด
การสร้างทีดีอาร์ไอ
ก็คิดว่าน่าจะมีสถาบันที่รวบรวมนักวิชาการที่มีประสบการณ์และความสามารถเฉพาะที่เรียกว่า
การวิจัยด้านนโยบายเพื่อที่จะได้สนับสนุนการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศและในเรื่องการวางแผนพัฒนาประเทศคือในระหว่างที่วางแผน
5 อยู่นี่มองเห็นค่อนข้างชัดว่าระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราเปลี่ยนแปลงไปมาก
ไล่มาตั้งแต่แผนหนึ่งยิ่งเห็นชัดขึ้นในแผน 5 ว่าเปลี่ยนแปลงเร็วมากแล้วก็มีความละเอียดอ่อนมากขึ้นทุกที
มีสิ่งสัมพันธ์ซึ่งกันและกันมากขึ้นทุกที จนกระทั่งมีความรู้สึกว่าเราจำเป็นที่จะต้องมีระบบข้อมูลที่ไม่ใช่ว่าจะทำแผนที่กำหนดนโยบายแต่ละทีก็ต้องไปเริ่มหากันใหม่
พอหาเสร็จไปถึงขั้นทำนโยบายก็คงจะหมดแรงแล้ว ส่วนที่เป็นสาระด้านนโยบายจริงๆ
ก็อาจจะน้อย เพราะต้องไปใช้เวลากับระบบข้อมูลมากมายเหลือเกิน เพื่อเป็นการประหยัดเวลาให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ด้วยนักวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญพิเศษด้านนั้น
เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็ต้องมาแยกแยะวิเคราะห์วิจัยออกมาให้ ผู้ใช้คือรัฐบาลได้สามารถเลือกใช้ได้เพราะมีทั้งข้อมูลและทางเลือกต่างๆ
ซึ่งแยกได้เป็นสองประเภท คือ ประเภทที่หนึ่ง ต้องการคำตอบเร็วๆ รวบรวมข้อมูลเหมือนกัน
แยกแยะประเภทเหมือนกัน หาทางออกเหมือนกัน แต่สามารถทำได้โดยไม่มีข้อมูลครบก็ทำได้
หรือจะสามารถตั้งประเด็นในระดับจะตัดสินเบื้องต้น ซึ่งหน่วยราชการต่างๆ หรือสภาพัฒน์ก็สามารถทำได้
แต่ว่ามันมีหลายเรื่องที่เป็นเรื่องโครงสร้างซึ่งจำเป็นจะต้องเจาะลึกลงไป
เพราะมันเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมต้องหาข้อมูลหลายด้านต้องมีกลุ่มคนที่มาศึกษาวิเคราะห์วิจัยจึงจะเสนอผลได้
ก็เลยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสถาบันขึ้น ได้ไปเยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จด้านการพัฒนามาก่อน
อย่างเกาหลีเขามีสถาบันหนึ่งเรียกว่าเคดีไอกับคณะกรรมาธิการวางแผนเศรษฐกิจเขาทำงานประสานกันดี
กระทรวงการวางแผนของเขาก็มีรัฐมนตรีว่าการและเป็นรองนายกฯ ด้วย โมเดลของเกาหลีเป็นโมเดลที่น่าสนใจมาก
เจ้าหน้าที่ในกระทรวงก็มีหน้าที่ที่สำคัญมากที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาล
ต้องได้รับความต้องการจากรัฐบาลว่ามีปัญหาอะไรที่ต้องการคำตอบ เมื่อได้คำถามมาเขาก็เอาไปป้อนกับหน่วยงานต่างๆ
เขาก็มีเป็นสถาบันอิสระ ที่รัฐออกกฎหมายพิเศษ มีเงินเป็นจำนวนมากมาสนับสนุนให้เป็นสถาบันเคดีไอขึ้นมา
สถาบันนี้ก็ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก สามารถดึงดูดนักวิชาการที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศ
ไปทำงานอยู่ต่างประเทศในองค์การระหว่างประเทศกลับเข้ามาทำงานร่วมกัน หลายๆ
ประเทศก็สนใจขณะนี้ไต้หวันก็ตั้ง "ชุนหัว" อินสติติวขึ้นมาแล้ว
ในอาเซียนก็สนใจพวกที่ทำงานวางแผนจะรู้ว่าสถาบันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้จึงทำให้คิดจะสร้างทีดีอาร์ไอขึ้นจะเห็นได้ว่าทีแรกเราไม่ได้ใช้ชื่อทีดีอาร์ไอ
เพราะดูจะไปใกล้กับเคดีไอมากไปหน่อยซึ่งก็ยังไม่สำคัญเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีตัวอาร์อยู่ด้วยก็จะเป็นสถาบันแอคชั่นที่เน้นด้านการปฏิบัติ
แต่นี่เราจะเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์วิจัยเท่านั้นจึงเติมตัวอาร์เข้าไปจึงเป็นทีดีอาร์ไอ
สภาพัฒน์กับทีดีอาร์ไอ
สภาพพัฒน์เป็นกองหน้าที่มีสต๊าฟใกล้ชิดกับรัฐบาลและเป็นข้าราชการรับผิดชอบการวางแผนพัฒนาประเทศ
วิเคราะห์โครงการ หรือเสนอนโยบายในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยตรง ส่วนทีดีอาร์ไอเรียกได้ว่าเป็น
BACK ROOM สนับสนุนข้อมูลในระยะยาว แต่จะไปเรียกเขาว่าเป็น BACK ROOM ก็คงไม่ได้
เพราะเขาเป็นมูลนิธิอิสระ แต่โดยที่มีการจัดตั้งขึ้นมาก็อยากให้เป็นประโยชน์กับราชการด้วย
แนวนโยบายของทีดีอาร์ไอจึงเป็นไปในทางเพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศ ในช่วงแผน
5 แผน 6 นี่ไม่ทัน ในช่วงแผน 7 คงใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น
สองสถาบันนี้เป็นอิสระจากกัน ผมเป็นประธานสภาสถาบัน ส่วน ดร. ไพจิตรก็เป็นประธานสถาบัน
การบริหารผมก็ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องก็ดูแต่เพียงด้านนโยบายและทิศทางเท่านั้น
สภาพัฒน์อาจใช้บริการของทีดีอาร์ไอได้แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละเรื่อง ทีดีอาร์ไอเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่จะสนองความต้องการของสภาพัฒน์ได้
ไม่ใช่ว่ามาสนองได้หมด เพราะสภาพัฒน์นี่ความต้องการข้อมูลต่างๆ ก็ดี กิจกรรมที่จะตอบรัฐบาลมันมีมากเหลือเกิน
แล้วส่วนมากอาจจะต้องเร็วด้วย ต้องไปทำงานกับหน่วยงานของรัฐบาลด้วยกันหรือว่าทำงานกับหน่วยงานด้านวิชาการซึ่งเขามีความชำนาญเฉพาะ
เพราะฉะนั้นของเรามันไม่เหมือนอย่างเกาหลี อย่างของเขานี่เคดีไอกับกระทรวงวางแผนต้องไปด้วยกันเลย
อย่างวางแผนของเกาหลีนี่เกือบจะมอบให้เคดีไอไปเลย แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น
การวางแผนยังต้องเป็นหน้าที่ของสภาพัฒน์อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนการวางแผนอาจมีบางส่วนที่ต้องมอบให้กับทีดีอาร์ไอ
เราคงไปหวังเป็นอย่างเคดีไอไม่ได้เพราะสิ่งนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล เพราะทีดีอาร์ไอก็ก่อตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดหนึ่งสมัยหนึ่งในชุดต่อๆ
ไปก็คงแล้วแต่ว่าท่านจะคิดอย่างไร ผมคงตอบไม่ได้ แต่ว่าถ้าดูวัฒนาการกันไปข้างหน้า
ความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนระบบข้อมูลการวิเคราะห์วิจัยเรื่องของ
RESEARCH DEVELOPMENT มันจะต้องมีมากขึ้น แต่ของเราคงต้องเป็นลักษณะค่อยๆ
เป็นค่อยๆ ไปมากกว่า ถ้าไปถึงจุดๆ หนึ่งพิสูจน์ผลงานมีว่ามีประโยชน์ ทางฝ่ายรัฐบาลมีกำลังพอที่จะดูแลได้นอกเหนือไปจากงานเฉพาะหน้ามากขึ้นก็อาจมีการพิจารณาไปในแนวอื่นก็ได้
สภาพัฒน์ถ้าหากได้สร้างคนที่มีความรู้ด้านการทำวิจัยระยะยาวได้มากขึ้น
ก็จะสามารถบริหารงานได้ และการจะติดต่อคนของทีดีอาร์ไอก็เป็นเรื่องที่คุมกันได้
อย่าใช้คำว่า "คุม" เลยมันไม่เหมาะสม เป็นการที่จะร่วมมือกันในสิ่งที่ร่วมกันได้
หรือกับสถาบันอื่นๆ ก็ทำได้มากขึ้นเพราะในฐานะผู้บริหารโครงการสามารถที่จะแจกงาน
หรือหลีกงาน คือเป็นผู้นำในเรื่องของแนวความคิด การใช้ประสบการณ์หรือข้อมูลซึ่งคนอื่นไม่มีเนื่องจากอยู่ใกล้ชิดเป็นสต๊าฟของรัฐบาลเข้ามาทำให้งานนั้นดีขึ้น
ดังนั้นเราจำเป็นต้องสร้างคนเป็นคนรุ่นใหม่ ต่อไปคนของสภาพัฒน์จะมีคนที่จบปริญญาเอกมาเป็นจำนวนมาก
แต่ละคนก็เรียนมาเฉพาะด้าน ไม่ใช่รู้ไปหมดเหมือนรุ่นเก่าๆ เดี๋ยวนี้รุ่นพวกเราก็ถือว่าต้องผ่านไปทั้งนั้น
ต้องสร้างคนรุ่นใหม่ให้รับงานต่อไป
ทิศทางการพัฒนา
การประชุมปลายปีของทีดีอาร์ไอปีนี้กำหนดหัวข้อว่า INCOME DISTRIBUTION
LONGTERM GROWTH PROSPECT OF THAI ECONOMY ซึ่งแสดงว่าทีดีอาร์ไอต้องการจะเจาะลงไปว่า
GROWTH ของเราในอัตราสูงยังจะไปได้อีกจนกระทั่งเราขึ้นไปได้อีกระดับเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงกันอยู่อีกทางด้านหนึ่งที่เรียกว่า SOFT SECTOR เรื่องการกระจายรายได้
เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเทคโนโลยี สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้น
เพราะผมพูดหลายครั้งแล้วว่าตอนนี้เรื่อง EXPORT ก็ดี เรื่อง INVESTMENT ก็ดี
เรื่อง TOURISM ซึ่งเคยใช้เวลามากตอนนี้ไม่ต้องไปยุ่งกับเขาแล้วเพราะเขากำลังขยายตัว
แต่ว่าเราต้องหันมาสนใจกับสิ่งที่เป็นปัญหาพื้นฐานของบ้านเมืองเรา ถ้าเราขยายตัวสูงขึ้นเราจะขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ขณะเดียวกันผลประโยชน์ของการพัฒนาอย่างนี้ทำอย่างไรจึงจะกระจายให้มันทั่วถึงมากขึ้น
ทำอย่างไรไม่ให้การขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่ไปทำลายคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของคนไทยด้วยกันเอง
การสัมมนาอันนี้มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ CONCEPT ของเรื่อง
INCOM DISTRIBUTION ให้มันถูกต้องในประเทศไทย เพราะว่าบางทีพูดกันไปโดยไม่มีข้อมูลไม่มีกรอบทางทฤษฎีมองแล้วมันจะเป็นภาพตัด
แต่ถ้ามองเป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต มันจะช่วยให้เรามองเห็นความเป็นจริงได้ดีขึ้น
เช่นจะเห็นได้จากประวัติการพัฒนาของทุกประเทศเป็นยังไง ตอนที่เริ่มพัฒนาอย่างรวดเร็วจะเกิดการกระจายรายได้มันอาจทรุดตัวลงระยะหนึ่ง
แต่ถ้าพัฒนาไปจนสำเร็จแล้ว การกระจายรายได้จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ทีนี้ของเราต้องพยายามดูว่าเราจะทำให้ส่วนนี้สั้นเข้ามาได้อย่างไร
อย่างนี้เป็นต้น อีกทางหนึ่งในเรื่องการวางแผนพัฒนาประเทศโดยไม่ใช้ ECONOMIC
MODEL อย่างแต่ก่อน แต่จะใช้ SOCIOECONOMIC MODEL เป็นหลัก หมายความว่าใช้เรื่องของ
"คน" และสังคมเป็นหลัก ซึ่งอันนี้จะเป็นการริเริ่มของประเทศพัฒนาประเทศแรกเท่าที่ดูยังไม่มีใครทำ
โดยเฉพาะดูจากโครงสร้างของประชากรของเรามีลักษณะพิเศษ สามารถลดอัตราการเพิ่มของประชากรใน
15 ปี จาก 3.3 ลงมาเหลือ 1.5 ซึ่งน้อยประเทศที่มีอย่างนี้ และผลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเพิ่มประชากรมันมีมากเหลือเกินต่อในเรื่องการใช้ที่ดิน
การเกษตร เรื่องชนบท เรื่องของเมือง ร้อยแปดมาจากการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว
ถ้าเราไม่ดูให้ดี ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นต่อไปก็ได้อย่างเช่นกรณีที่
5-10 ปีที่แล้ว เรามีปัญหาเรื่องเด็กมากเหลือเกิน เรามีปัญหาต้องสร้างโรงเรียนอย่างมากมาย
ต้องเพิ่มจำนวนครูอย่างมโหฬารเลย เด็กเข้าประถมกันมาก ตอนนี้เข้าโรงเรียนมัธยมเริ่มน้อยแล้ว
ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยขณะนี้คือเราต้องพัฒนามัธยมให้ดีขึ้น
แต่เราก็ต้องดูว่าจำนวนประชากรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจะได้ไม่พัฒนาเกินตัว
การที่เราลงทุนในเรื่องฝึกหัดครูเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็มีปัญหาเรื่องว่างงาน
ก็เลยต้องหาทางปรับดูให้เป็นมหาวิทยาลัยกันหมดแล้วก็มีปัญหาไปอีกแบบ นี่ผมยกตัวอย่างง่ายๆ
ผลของการเพิ่มประชากร การเคลื่อนย้ายประชากร โครงสร้างของอายุ ความต้องการของคนไม่เหมือนกัน
เด็กก็ต้องการอย่างหนึ่ง พอระยะนี้ปัญหาใหญ่ที่เริ่มออกมาสู่ตลาดแรงงานก็เกิดปัญหาการว่างงาน
ตอนนี้เราพัฒนาอุตสาหกรรมกันใหญ่ ปัญหาการว่างงานก็เริ่มลดลงแล้ว อีก 5 ปีข้างหน้าอาจเป็นว่าเราไม่มีแรงงานพอ
เราจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมของเราให้ทันเพื่อว่าเราจะยืนบนขาตัวเองได้
ต้องมีเทคโนโลยีของเรา เราสามารถแข่งขันกับประเทศที่ตามจี้หลังเรามา สิ่งต่างๆ
เหล่านี้มาจากปัญหาเรื่องคนทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นโมเดลที่ทีดีอาร์ไอคิดทำอยู่นั้น เป็นโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทย
ถ้าจะมีการวางแผนพัฒนาฉบับที่ 7 ต่อไป โมเดลอย่างนั้นน่าจะเป็นโมเดลที่เราเริ่มใช้สำหรับแผน
7 เพราะว่าจะเป็นเรื่องที่ตอบสนองความรู้สึกของคนในเวลานี้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวเร็วจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่
แต่คนทั่วไปดีขึ้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้นถ้าเราจับในเรื่องของคนเป็นหลัก เราก็จะได้คำตอบต่อปัญหานี้มากขึ้นๆ
ส่วนปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ทีดีอาร์ไอเขาก็ไปทางด้านทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก
เรื่องคุณภาพชีวิตก็อยู่ในนี้อยู่ด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าเรามี VISION
ที่ไกลพอมองภาพที่มันไกลเราก็จะเตรียมตัวเตรียมใจปรับตัวรับกับปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น
หน้าที่ของทีดีอาร์ไอส่วนหนึ่งก็คือต้องให้ความรู้อันนี้กับทางฝ่ายที่วางแผนหรือทำนโยบายต่อไปข้างหน้า
เพื่อว่าเราอาจจะมีเวลาพอได้ปรับตัวปรับใจก่อให้เกิดความเข้าใจภายในประเทศของเรา
ไม่เช่นนั้นเราก็จะตกอยู่ใน CRISIS MANAGEMENT เป็นลักษณะที่เรียกว่า LONGTERM
PERSPECTIVE ช่วยให้เตรียมปรับตัวปรับใจไม่ใช่คนเดียว แต่ของคนทั้งประเทศให้รับกับสถานการณ์ต่างๆ
มองในแง่ของ VISION แล้วทีดีอาร์ไอจะต้องทำ