การจำเริญเติบโตของสังคมญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ได้กลายเป็น "สิ่งมหัศจรรย์"
ทางเศรษฐกิจในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วไป แต่สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องโชคหรือสิ่งนอกเหนือกฎเกณฑ์ที่ควรเป็นไป
ความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันนี้ ก็คือ การทำงานอย่างสอดประสานของ
"ระบบสถาบัน" ในสังคมที่มี "กลไกราชการ" เป็นตัวกำหนดผลักดัน
กระบวนการตัดสินใจในการผลักดันนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นถูกกำหนดโดยกลไกราชการเป็นด้านหลักในขณะนั้นรัฐสภาของญี่ปุ่นแทบไม่มีบทบาทอย่างใด
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสถาบันเอกชนอื่นๆ ร่วมด้วย รวมเป็น 6 องค์กรสำคัญ ได้แก่
หนึ่ง-กรมกองด้านอุตสาหกรรมในกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลโดยเฉพาะ "MITI"
(MINISTRY OF INTERNATIONAL TRADE AND INDUSTRY) สอง-กรมกองของ "MITI"
ที่ทำหน้าที่ประสานงานกรมกองข้างต้น สาม-กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ
(GYOKAI DANTAI) สี่-คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจ (DELIBERATION COUNCIL)
ประเภทต่างๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งกลางระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชน ห้า-กลุ่มนักบริหารธุรกิจเอกชนระดับสูง
(ZAIKAI) ซึ่งทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้กับบรรษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น หก-กลุ่มทุนธนาคารที่ป้อนเงินทุนให้กับอุตสาหกรรม
กลุ่มทั้ง 6 นี้จะเข้ามีส่วนในการผลักนโยบาย ปรับแต่งจนลงตัวในจำนวนนี้มีอยู่
3 องค์กรที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในระบบวางแผนเศรษฐกิจญี่ปุ่น นั่นคือ
หนึ่ง-กรมกองด้านอุตสาหกรรมและกรมกองประสานงานของ "MITI"
หน่วยงานงานแรกเป็นกรมกองที่ดูแลอุตสาหกรรมแต่ละประเภทมีอยู่ในกระทรวง
MITI ด้วยกัน 9 กรม ในจำนวนนี้มีกรมอุตสาหกรรมหนัก กรมอุตสาหกรรมเคมี กรมสิ่งทอและสินค้าเบ็ดเตล็ด
กรมถ่านหินและเหมืองแร่ และกรมสาธารณูปโภค ทั้ง 5 กรมนี้เป็นอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ในโครงสร้างอุตสาหกรรมญี่ปุ่นแห่งทศวรรษ
1950-1960
หน่วยงานที่สอง เป็นกรมประสานงานมีทั้งสิ้น 4 กรมคือ กรมการค้าระหว่างประเทศ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมวิสาหกิจและกรมป้องกันมลภาวะ
นอกจากนี้ในกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ เช่น กรมอุตสาหกรรมของกระทรวงเกษตร
ป่าไม้ และประมง กรมอุตสาหกรรมต่อเรือแห่งกระทรวงคมนาคม เป็นต้น
หน้าที่ของกรมกองเหล่านี้ทั้งหมดมี 4 ประการ คือ
หนึ่ง-ออกกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น กฎหมายอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
กฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักร เป็นต้น
สอง-ออกมาตรการด้านภาษี เช่น มาตรการพิเศษในการเก็บภาษีให้อภิสิทธิ์และผลประโยชน์แก่อุตสาหกรรมที่มุ่งส่งเสริม
การเปลี่ยนแปลงอัตรากำแพงภาษี นโยบายให้นำเข้าโดยเสรี นโยบายการลงทุนจากต่างประเทศโดยเสรี
สาม-อนุมัติการทำสัญญาเกี่ยวกับการซื้อเทคโนโลยีระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับบริษัทต่างชาติและการร่วมทุน
ตลอดจนการอนุมัติเป็นกรณีเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทด้วย เช่นอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า
สี่-จัดสรรเงินทุนจากสถาบันการเงินของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากธนาคารพัฒนาญี่ปุ่น
(JAPAN DEVELOPMENT BANK)
สอง-กลุ่มสมาคมอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เช่น สหพันะเหล็กแห่งญี่ปุ่น สมาคมอุตสาหกรรมรถยนต์
สมาคมอุตสาหกรรมต่อเรือ ฯลฯ กลุ่มเหล่านี้ทำตนเป็นผู้ชักจูงและโน้มน้าวให้กรมกองด้านอุตสาหกรรมต่างๆ
ดำเนินนโยบายให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มของตนมากที่สุด
สาม-คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบขึ้นมาจากผู้มีประสบการณ์ในวงการต่างๆ
เช่น ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตัวแทนจากกลุ่มเอกชนขนาดใหญ่ ตัวแทนจากสหภาพแรงงาน
นักวิชาการตัวแทนจากกลุ่มผู้บริโภค ฯลฯ เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความต้องการของกลุ่มตนเพื่อการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม
ในขั้นตอนของการวางแผนเศรษฐกิจ องค์กรเหล่านี้จะเข้าร่วมโดยผ่าน "กลไกรัฐ"
เป็นขั้นตอนดังนี้ คือ ขั้นแรก รัฐบาลจะมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณาปัญหาเศรษฐกิจรับไปดำเนินการสร้างแผน
ขั้นที่สอง คณะกรรมการนี้จะดำเนินการจัดตั้งอนุกรรมการทำหน้าที่รวบรวมประเด็นปัญหา
และนำเสนอนโยบายภายใต้การประสานงานของคณะกรรมการ ขั้นที่สาม นำเสนอนโยบายต่อรัฐบาลให้ตัดสินใจบังคับใช้ต่อไป
การผ่านขั้นตอนจากกลไกรัฐไปสู่ความร่วมมือกับภาคเอกชนนั้น สะท้อนลักษณะพิเศษของการวางแผนเศรษฐกิจญี่ปุ่นตรงที่มุ่งให้กลุ่มฝ่ายต่างๆ
เข้ามามีส่วนร่วมในการประสานประโยชน์และสร้างความเห็นพ้อง (CONSENSUS) ให้เกิดขึ้นแก่คนทั้งประเทศ
แผนเศรษฐกิจที่ได้มาถือว่าเป็น "สัญญาประชาคม" ที่ภาครัฐบาลต้องถือเป็นพันธะที่จะต้องดำเนินการให้บรรลุ
ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ถือแผนนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการตัดสินใจดำเนินธุรกิจในระยะยาวของตน
หลังจากที่สังคมญี่ปุ่นผ่านยุคทองไปแล้ว หลังทศวรรษ 1970 และ 1980 เป็นช่วงที่ปัญหาทางสังคมอันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจกำลังรุมเร้าอย่างหนัก
ในรายงานของคณะกรรมการพิจารณาปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมได้เสนอว่า
"นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประเทศของเราได้ผลักดันเศรษฐกิจภายใต้การนำของวิสาหกิจเอกชนที่ยึดหลักเศรษฐกิจตลาดมาโดยตลอด
วิสาหกิจเอกชนที่เปี่ยมไปด้วยพลังชีวิตและมีความกระตือรือร้นในการไล่กวดประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว
ในปัจจุบันได้บรรลุเป้าหมายของตนในส่วนที่เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศด้านอุตสาหกรรมแล้ว…
แต่ในขณะเดียวกันผลของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ทำให้สังคมของเราต้องเผชิญกับปัญหาเมือง
ที่ดิน ที่อยู่อาศัย มลภาวะ ความจำกัดด้านพลังงานทรัพยากรธรรมชาติและแรงงาน
เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อนและเป็นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไขด้วยมาตรการแบบ
CATCH UP เหมือนอย่างสมัยก่อน…แนวมองระยะยาวเกี่ยวกับโครงสร้างอุตสาหกรรมจึงอยู่ที่การเสนอแนวมองอันหนึ่งให้แก่พวกเราว่า
อุตสาหกรรมของประเทศเราควรจะทำอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการของสังคมและความต้องการของประชาชนได้"
ด้วยแนวมองอันนี้ทำให้ "MITI" ขยับตัวปรับกลไกโดยลดทอนบทบาทของกรมกองด้านอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ
ลงบ้าง และเพิ่มบทบาทให้กรมกองด้านประสานงานมากขึ้น เพื่อเข้าให้ถึงการดำเนินการต่อปัญหายิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันการปรับตัวเหล่านี้ ก็ควบคู่กันไปกับการปรับบทบาทของพรรคการเมืองในระบบรัฐบาลญี่ปุ่นให้มีโอกาสกำหนดนโยบายด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น
โดยเฉพาะบทบาทของ ส.ส.