Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2531
"เชลล์" ในสงครามสีเขียว             
โดย นพ นรนารถ
 

   
related stories

กรณีศึกษา : อันเนื่องมาจากสวนป่าวนาธรของ "เชลล์" หยิกเล็กฤาเจ็บเนื้อเป็นธรรมดา

   
www resources

โฮมเพจ เชลล์แห่งประเทศไทย

   
search resources

เชลล์แห่งประเทศไทย, บจก.
Agriculture
Shell Oil Company




พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันความว่า "เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่างๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุกๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ดีเพราะการเกษตรของเราเจริญ"

ประเทศไทยในปี พ.ศ. ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ โฉมหน้าใหม่ของเรากำลังจะกลายเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่" ที่น่าจะเป็นบทพิสูจน์ "ความเชื่อมั่น" ของพระองค์ได้อย่างหนักแน่นและมั่นคง!!!

บ้านทุ่งโม่ง จ. พิจิตร ปี 2530…คนอย่างสวัสดิ์ พัด บุญมี บุญส่ง และซ้อน ต่างเชื่อเหลือเกินว่า ก่อนจะเซ็นสัญญายอมแพ้ต่อมัจจุราช ชาวนาชาวไร่อย่างพวกเขาจักต้องมีวันลืมตาอ้าปากได้แน่นอน…

และดูเหมือนฝันนั้นใกล้เป็นจริง เมื่อพวกเขาและเพื่อนร่วมหมู่บ้านได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนครบวงจรกับบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธ.ก.ส.)

บริษัทได้ให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเหมาะกับเกษตรว่า จะเข้ามาช่วยเหลือโอยอุ้มฐานะของแต่ละคนให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้ด้วยการจัดหาและอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือในการผลิต เมล็ดพันธุ์คุณภาพเยี่ยมอย่างพันธุ์สุวรรณ 2 ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 กระทั่งขั้นสุดท้ายของการเข้ามารับซื้อผลผลิตในราคาประกันสูงถึง กก. ละ 2.50 บาท

สิ่งที่ไม่นึกฝันมาก่อนเช่นนี้ช่วยแต้มแต่งรอยยิ้มเศร้าหมองบนใบหน้าเปื้อนเหงื่อของเกษตรกรบ้านทุ่งโม่งให้ดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ทุกคนหวาดหวังกันนักว่า "ต่อไปนี้คงจะได้จบสิ้นกันเสียทีสำหรับการขอดน้ำตากินอยู่กับความยากข้นแค้น"

บ้านทุ่งโม่ง ปี 2531

หนึ่งฤดูการผลิตที่ผ่านไปพร้อมกับการทุ่มเททำงานไร่อย่างหนัก สวัสดิ์กับพรรคพวก จึงได้บทสรุปที่สร้างความแปลกใจไปจากความเป็นจริงที่รับรู้ในครั้งแรกมากมาย อาทิเช่น

1. ความไม่เข้าใจถ่องแท้และไม่เคยชี้แจงจากโรงงานในเรื่องโควตารับซื้อว่ามีความต้องการมากน้อยแค่ไหนแต่ละช่วงเวลา ทุกคนจึงโหมผลผลิตออกมาพร้อมๆ กันจนเกินโควตากลายเป็นช่องว่างให้ถูกกดราคาอย่างไม่มีทางเลี่ยง

2. ความไม่ซื่อตรงของราคาประกันที่ผันแปรจาก กก. ละ 2.50 บาทเหลือเพียง กก. ละ .80 บาท โดยทางโรงงานให้เหตุผลว่าผลผลิตส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งๆ ที่เกษตรกรยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามวิธีการที่โรงงานแนะนำทุกประการ

ทุกคนมองเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นอุบายของการแสวงหาผลกำไรมากกว่า…

3. ความน่าสงสัยมากว่า การที่โรงงานเข้ามาส่งเสริมเป็น "ความหวังดี" หรือต้องการ "ผลักภาระ" บางด้านมาสู่เกษตรกรกันแน่ เพราะหากโรงงานต้องทำตามกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะต้องใช้งบลงทุนสูง การส่งเสริมการเกษตรกรให้เป็นผู้ป้อนผลผลิต จึงเป็นการตัดทอนรายจ่ายและลดความยุ่งยากชั้นหนึ่งซึ่งเกษตรกรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่าง ส่วนบริษัทก็เป็น "เสือนอนกิน" ที่ไม่ต้องอาทรร้อนใจให้มากนัก

ทุกคนคิด…และคิดหนักว่าพวกเขาดิ้นรนเพื่อหากระดูกมาแขวนคออีกชิ้นหนึ่งหรือเปล่า?? สมควรที่จะอยู่ร่วมในโครงการกันต่อไปดีหรือไม่??

อันที่จริงปรากฏการณ์ที่เกษตรกรบ้านทุ่งโม่งได้สัมผัสนี้เป็นอีกเสี้ยวหนึ่งเพราะยังมีเกษตรกรอีกหลายพื้นที่ที่กำลังประสบชะตากรรมดังกล่าวนี้เช่นกัน ผู้รับทุกข์เหล่านั้นมีทั้งชาวไร่ยาสูบและชาวนาข้าวบาสมาติ รูปแบบอาจแตกต่างทว่าเนื้อหาความเจ็บปวดไม่ผิดเพี้ยนกันเลย

เกษตรกรเหล่านั้นสิ้นไร้ไม้ตอกหมดหนทางเลือกกันจริงๆ หรือ!?

ระบบฟาร์มทุนนิยม (CONTRACT FARMING) ที่ได้เกิดขึ้นและคงสัมพันธ์ต่อเนื่องไม่หยุดนิ่งนี้ ก็เป็นอีกเสี้ยวหนึ่งของความพยายามที่จะเนรมิตประเทศไทยให้กลายเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่" (NAC-NEWLYAGRO-INDUSTRIALIZED COUNTRY)

ซึ่งความเป็นไปได้เหล่านี้กำลังจะบอกกับตัวเองในอีกไม่ถึงทศวรรษนี้ว่า "นี่…นับเป็นทางออกที่ดีที่สุดของการไม่ต้องโกหกมดเท็จตัวเองอีกแล้วใช่ไหม? อนาคตของการพัฒนาประเทศสามารฝากฝังไว้กับการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างนอนตายตาหลับจริงๆ หรือ!?"

จากนิกส์ถึงแนกส์

เกษตรครบวงจร

"เสือที่ห้าแห่งเอเชีย" คำกล่าวที่ดูครั่นคร้ามนี้ฮิตที่สุดในรอบปี นัยของความพยายามที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ของรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ชุดที่ผ่านมาได้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์กันกว้างขวางทั้งภาคราชการและเอกชน มีไม่น้อยที่เห็น "ความเป็นไปได้" อยู่ไม่ไกลเกินไขว่คว้า แต่ก็มีอีกมากเช่นกันที่วิตกกังวลกันว่า "เราคงเป็นได้เพียงแค่เสือที่แสนเชื่องเท่านั้นเอง"

ประการสำคัญที่รองรับความเป็น "เสือแสนเชื่อง" ก็คือ การพินิจพิเคราะห์ถึงรายได้ต่อหัวของคนไทยเมื่อเปรียบเทียบกับเสืออีก 4 ตัวอย่าง ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน นั้นรายได้ต่อหัวของคนไทยยังอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำกว่าปกติ ขณะที่คนไทยมีรายได้โดยเฉลี่ย 800 เหรียญสหรัฐฯ เกาหลีใต้กลับมีรายได้สูงถึง 1,480 เหรียยสหรัฐฯ และสิงคโปร์ยิ่งสูงมากขึ้นไปอีก 3,830 เหรียญสหรัฐฯ

ช่องว่างของความมี…ความจนที่ยังห่างกันมากจนเกินอุปสรรคต่อการพัฒนา เมื่อประกอบเข้ากับ องค์ประกอบของความเป็น "นิกส์" ในทุกด้านแล้วส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นแล้วว่า โอกาสกับความเป็นไปได้ยังจะต้องซื้อเวลากันไปอีกยาวนานพอสมควร!!!

จากมูลเหตุข้างต้นจึงทำให้เกิดกระแสอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกันคือ การเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่ (NACs) หรือที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า นี่แหละคือนิกส์แบบไทยๆ ที่มีโอกาสเกิดและอยู่รอดได้อย่างหนักแน่นมั่นคงมากกว่า

ดร. วรภัทร โตธนะเกษม นักวิชาการนายธนาคารชื่อดัง บอกว่า "ข้อดีของ NACs คือสินค้าเกษตรขั้นปฐมจะมีตลาดอุตสาหกรรมรองรับตลอดเวลา ราคาสินค้าเกษตรขั้นปฐมจะมีเสถียรภาพและเป็นการแก้ไขปัญหาการจุกตัวอยู่ในเมืองของโรงงานอุตสาหกรรมได้ดี"

ที่จริงอีกนั้นแหละว่า อันข้อเสนอที่จะพัฒนาสินค้าเกษตรยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรหรือเกษตรแปรรูปนี้ได้มีการพูดคุยหารือกันมานับครั้งไม่ถ้วนในหลายรัฐบาล ทว่ายังไม่ได้มีการลงมือทำกันขึ้นมาจริงๆ จะมีเพียงภาคเอกชนไม่กี่รายเท่านั้นที่กล้าเสี่ยง ซึ่งถ้าพินิจดูถึงองค์ประกอบพื้นฐานในความเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยังมีพื้นที่เพาะปลูกเหลืออีกมากของเมืองไทยและผลผลิตอยู่ในขั้นมาตรฐานที่จะนำมาพัฒนา

นิกส์แบบไทยๆ ที่ว่านี้ก็เป็นเรื่องน่ารับฟังไม่น้อยเลย…

เกษตรกรรมไทย

กบในกะลา??

เราบอกกับตัวเองเสมอว่า เกษตรกรรมเป็นอาชีพพื้นฐานของสังคมไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนา เราสลักเสลาความสำคัญของมันลงไปเป็นลำดับแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับ

แต่เราไม่อาจแสดงความดีใจออกมาได้เต็มที่เช่นกัน…มันเป็นเพราะอะไรกัน!?

นักวิชาการผู้ไม่เคยปลาบปลื้มกับตัวเลขจอมปลอมที่พุ่งอวดอัตราการเติบโตแบบคนด้อยพัฒนาของสภาพัฒน์ฯ ท่าหนึ่งบอกว่า "นับเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่ามิได้เลยกับการหลอกตัวเองว่า เราได้ประสบผลสำเร็จกับการพัฒนาภาคเกษตรกรรมมาทุกแผนพัฒนาฯ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเรามิได้ผิดอะไรกับกบในกะลา"

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของแผนพัฒนาฉบับที่ 1-2 ซึ่งพยายามปูพื้นฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะนี้ แม้ว่าอาจจะแปรผลผลิตการเกษตรจากที่เคยใช้บริโภคภายในให้สามารถส่งออกได้บางส่วนก็หาใช่จะเป็นความสำเร็จแท้จริง

กระทั่งถึงช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ซึ่งหลงใหลกันว่าเป็น "ยุคทองของการพัฒนาการเกษตร" หากพิเคราะห์กันอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะพบกับความโศกสลดอยู่อย่างหนึ่งว่า "แม้ว่าตลาดส่งออกจะขยายตัวโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.5 แต่นั่นก็เป็นการขยายตัวเพื่อการ "ฆ่าตัวเอง" ในระยะถัดมา"

ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะว่า ความที่มัวหลงละเมอเพ้อพกกับตัวเลขส่งออกจนไม่เหลียวกลับไปดูการผลิตที่พบว่าพืชหลัก 6 ชนิดเช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยาสูบ ข้าวโพด ยางพารา ว่าได้เพิ่มปริมาณจนมากเกินความต้องการทางตลาด ซึ่งเมื่อสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 นี้พบว่า

ข้าวได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 56 ล้านไร่ ผลผลิต 16 ล้านตันข้าวเปลือก

ยางพาราได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 9 ล้านไร่ ผลผลิต 4 แสนตัน

ข้าวโพดได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 8 ล้านไร่ ผลผลิต 2.9 ล้านตัน

มันสำปะหลังได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 5.3 ล้านไร่ ผลผลิต 12 ล้านตัน

อ้อยได้ขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 2.9 แสนไร่ ผลผลิต 4 หมื่นตัน

การโหมเพาะปลูกพืชผลต่างๆ เหล่านี้อย่างมากมายกลายเป็นดาบสองคมที่เชือดตัวเอง เมื่อเริ่มแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ซึ่งเป็นระยะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกแปรปรวน กอปรกับช่วงปลายของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3 ได้เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อ การปรับอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวพันด้วยอีกทางหนึ่ง ดังนั้นเมื่อความไม่สมดุลของพื้นที่ผลิตกับภาวะตลาดเกิดขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากแนวนโยบายของรัฐฯ ที่วางมาตรการรุก-รับอย่างไม่สมเหตุสมผล ในแผนพัฒนาฯ 3 จึงเป็นเหตุให้ พืชหลักบางตัวเริ่มง่อนแง่นจนกลายเป็นปัญหาที่พ่วงโยงไปทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโดยตรงหรือทางการเมือง

ตัวเกษตรกรเองแทบไม่ต้องพูดกัน แต่ละคนแบกรับภาระหนี้สินจนหลังอาน!!

อาการช้ำในที่ยังเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ใส่ใจที่จะเรียนรู้และหาหนทางแก้ไขอย่างมีกฎเกณฑ์ยิ่งตอกย้ำความเจ็บปวดให้เกษตรกรมากขึ้นในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ซึ่งพูดตามประสาชาวบ้านก็บอกกันว่า "เหี่ยวเต็มแก่" กันเสียแล้ว

การขยายตัวของสาขาเกษตรฯ ในระยะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 นั้นพบว่า อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.8/ปี และหนำซ้ำราคาส่งออกพืชผลก็ทรุดดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือ ข้าวและน้ำตาลที่ความต้องการของตลาดโลกทรงตัว แต่การผลิตของเรากลับไปยอมหยุดราคาจึงมีแต่ทรุดหนักจนยากจะแก้ไข

ดังนั้นช่วงของแผนพัฒนาฯ ฉบับนี้ภาพที่ได้พบเห็นบ่อยๆ ก็คือ การชุมนุมประท้วงของเกษตรกรกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่โอดครวญกันว่า "จะตายอยู่แล้วเพราะผลผลิตล้นตลาด" ขณะที่รัฐฯ เองก็เหมือนสุนัขจนตรอกที่ไม่รู้จะสู้กับปัญหาอย่างไรดี เนื่องจากภาวะตลาดโลกไม่เอื้ออำนวยเป็นอุปสรรคสำคัญ

เกษตรกรรม-กรรมของเกษตรกรจึงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า "ใครจะรับผิดชอบ"??

เรื่อยมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่เริ่มจะมองเห็นต้นตอปัญหาว่า การพัฒนาการเกษตรของบ้านเรา ที่อยู่ในอาการเตี้ยอุ้มค่อมเหงา รัฐบาลกับเกษตรกรนั้น จะยึดแบบแผนทำกันแบบดั้งเดิมไม่ได้อีกแล้ว จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาเป็นสินค้าแปรรูปให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมการกระจายตลาดให้กว้างขึ้น จากมูลเหตุนี้เองทำให้ธุรกิจภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทกันมากขึ้น

และก็เป็นที่คาดหวังกันว่า มิติใหม่นี้จำนำพาความสดใสมาสู่ภาคเกษตรกรรมอย่างแน่นอน!!

แต่นั่นก็เป็นเรื่องของความหวัง ขณะที่การปฏิบัติเป็นจริงกำลังรอการพิสูจน์…

ก่อนจะว่าเรื่องของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (ฉบับปัจจุบัน) หากมองย้อนเส้นทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมไทยที่ผ่านมาซึ่งล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอดนั้น จะเห็นว่าเกิดจากหลายสาเหตุ บางสาเหตุที่จะพูดถึงนี้กำลังจะเป็นดัชชีชี้นโยบายการตัดสินใจของรัฐบาล…

ความล้มเหลวของภาคเกษตรกรรมไทยที่มองเห็นได้คงเป็นเรื่องปัจจุบัน

หนึ่ง-ความไม่เจนจบเรื่องการตลาดของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ไม่มีการมุ่งแสวงหาหรือกระจายขอบเขตตลาดส่งออกให้มากขึ้นกว่าเดิม ตลาดหลักสินค้าไทยที่เห็นมีเพียง ยุโรป อเมริกา การที่มีตลาดหลักน้อยแห่งทำให้คู่ซื้อสามารถต่อรองราคารับซื้อได้โดยที่เราหมดสิ้นลูกล่อลูกชน และยังต้องคอยตามเอาใจไม่ให้ตลาดยกเลิกสินค้าจากเราด้วย

สอง-เรื่องของผลผลิตไม่ได้มาตรฐานประเด็นนี้เป็นเรื่องที่เริ่มจะมีการพูดกันมากขึ้นเพราะมองเห็นว่าหน่วยงานรัฐฯ ที่รับผิดชอบและส่งเสริมการเกษตรจะต้องทำหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 ที่จะมีการปรับโฉมแบบยกเครื่องปฏิวัตินั้นได้มีการพูดคุยกันบ้างแล้ว ที่จะเค้นเอาเทคนิควิทยาการใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาผลผลิตแต่ยังไม่อาจหาบทสรุปได้

สาม-ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม เพราะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีฟุ่มเฟือยทำให้ขาดการบำรุงรักษาจนถึงจุดที่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ลดน้อยลงตามลำดับ ความเสื่อมโทรมนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยาที่กำลังถกเถียงกันหน้าดำคร่ำเคร่ง

แต่คำตอบทุกอย่างอาจจะยังเหมือนเดิม…

"ผู้จัดการ" ก็คาดไม่ออกเหมือนกันว่า สถานการณ์ในอนาคตจะเป็นไปอย่างไร? เพราะมีเกษตรกรจำนวนมากที่เริ่มไม่เห็นความชอบมาพากลของการเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าว

เกษตรฯ แผน 6

แนกส์หรือน๊อคส์

เราไม่อาจปฏิเสธกันได้เลยว่า ตลอดระยะเวลาของแผนพัฒนาฯ ทั้ง 5 ฉบับที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมของเราเหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง ความที่ไปอิงกับตลาดโลกมากเกินพอดีนั้นไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย ผลพวงที่คาดว่าจะตกถึงมือเกษตรกรเลยหล่นหายไปเสียกลางทางทั้งสิ้น

"เรากำลังจะก้าวไปสู่ความหวังใหม่ ภาคเกษตรกรรมควรได้รับการสนับสนุนให้กลายเป็นอุตสาหกรรมกันมากขึ้น" นี่เป็นสาระสำคัญตอนหนึ่งในการประชุมร่วมภาครัฐบาลกับเอกชนเมื่อปลายปี 2529 ที่ได้มีการเสนอแนะจากเอกชนว่า ควรมีการกำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเป็นรูปเป็นร่าง

อาการขมีขมันดังกล่าวจึงทำให้ทุกคนดูกระหยิ่มยิ้มย่องกันอย่างมากกับความสำเร็จที่คาดหมายกันว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรแท้จริง

ที่สุดสาระสำคัญของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 จึงคลอดออกมาท่ามกลางความสวยหรูในหลากหลายประเด็นอาทิเช่น

1. จะมุ่งเน้นการกระจายการผลิตในระดับไร่นา ซึ่งหมายถึงการแนะนำให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกพืชหลายชนิดที่ตลาดต้องการเพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ที่ราคาพืชหาความแน่นอนไม่ค่อยได้

2. เน้นการนำวิทยาการการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นนี้ถือเป็น "หัวใจ" สำคัญของการจุดพลุนำประเทศไปสู่ความเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่" โดยแท้จริง

3. เน้นการสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านนี้ให้มากขึ้น เพราะมีการท้วงติงอย่างมากในเรื่องของการให้การส่งเสริมภาคเกษตรกรรมที่รัฐฯ ยังไม่ใส่ใจจริงจังจนเป็นผลให้การพัฒนาด้านนี้อืดอาด ดังนั้นการประชุมร่วมเมื่อปลายปี 2529 จึงเสนอแนะประเด็นนี้เป็นพิเศษ

พูดกันตรงๆ เลยว่า ถ้าจะเลี้ยงก็ต้องเลี้ยงกันจริงๆ ไม่ใช่เลี้ยงทิ้งเลี้ยงขว้างเป็นลูกเมียน้อยที่ไม่เคยสนใจแล้วจะให้ภาคเกษตรกรรมมีทิศทางที่สดใสในอนาคตได้อย่างไรกัน??

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการเข้ามามีส่วนรับผิดชอบในเรื่องของการพัฒนาภาคเกษตรกรรม รูปแบบที่เจริญโภคภัณฑ์นำมาใช้ก็คือ "การทำการเกษตรแบบครบวงจร" ซึ่งเป็นวิธีการสมัยใหม่ของระบบการเกษตรแผนใหม่แบบทุนนิยม

การเกษตรครบวงจรหรือที่บางคนพยายามเรียกมันว่า "แนกส์" นี้ แม้ว่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของเกษตรกรที่อาจกลายเป็นเพียงแรงงานว่าจ้างผลิตในพื้นที่ของตนเอง หรือเป็นลูกจ้างมากกว่าเป็นนายอย่างที่เคยทำๆ มา ทว่าเมื่อคิดสรุปกันออกมาแล้วว่าเกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนคุ้มค่า

นิกส์แบบไทยๆ ก็เลยผุดขึ้นราวดอกเห็ด การเกิดขึ้นนี้หลีกไม่พ้นกระแสความน่าฉงนกันว่า "หนทางข้างหน้ามันจะเป็นแนกส์หรือน๊อคส์กันแน่"

เกษตรครบวงจร

เกษตรกรช้ำหรือยิ้ม??

การดำเนินธุรกิจการเกษตรครบวงจรก็คือ การผลิตเพื่อขายที่จะต้องผลิตตามความต้องการของตลาดไม่ใช่เราขายตามที่เราผลิตซึ่งวิธีการนี้จะมีกลุ่มหรือบริษัทไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่กระทำได้

รูปแบบการผลิตนี้นอกจากบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ที่นำมาใช้จนประสบผลสำเร็จไปหลายโครงการ ก็ยังมีโครงการส่งเสริมปลูกข้าวบาเล่ย์ ของเบียร์สิงห์ ในพื้นที่ จ. เชียงราย การส่งเสริมปลูกข้าวบาสมาติของบริษัทข้าวไชยพร บริษัทเอเชียอุตสาหกรรมโรงสีข้าว และบริษัทโรงสีข้าวเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ และบริษัทสยามมติ ซึ่งแบ่งพื้นที่ส่งเสริมของแต่ละบริษัทดังนี้

บริษัทสยามมติ ส่งเสริมในพื้นที่ จ. ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย

บริษัทข้าวไชยพร ส่งเสริมในพื้นที่ จ. ศรีสะเกษ

บริษัทโรงสีข้าวเชียงใหม่ไชยวิวัฒน์ ส่งเสริมในพื้นที่เชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน

บริษัทเอเชียอุตสาหกรรมโรงสีข้าว ส่งเสริมในพื้นที่ จ. ปทุมธานี ลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ชัยนาท สระบุรี นครนายก สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

การส่งเสริมปลูกข้าวบาสมาติครบวงจรอันเป็นรูปแบบหนึ่งของ "แนกส์" ทางบริษัทเอกชนจะให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ดังนี้คือ

1. บริษัทจะเป็นผู้จัดการหาเมล็ดพันธุ์ข้าวบาสมาติ รวมทั้งปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช มาขายให้สมาชิกตามราคาที่บริษัทกำหนด

2. บริษัทเป็นผู้ประสานและจัดหาแหล่งทุนให้สมาชิกโครงการได้กู้ยืม โดยให้คิดดอกเบี้ยกับสมาชิกประมาณร้อยละ 2-3/ปี

3. บริษัทจัดหาผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำและทำสัญญาซื้อขายผลผลิตตามราคาประกัน 3.80-4.50 บาท โดยที่เกษตรกรหรือสมาชิกจะขายให้กับผู้ซื้อรายอื่นไม่ได้เด็ดขาด

จากการศึกษาของประหยัด จตุพรพิทักษ์กุล เกี่ยวกับการปลูกข้าวบาสมาติของชาวนาในเขต อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ ที่ละทิ้งการปลูกข้าวพื้นเมืองหันมาปลูกข้าวบาสมาติแทนนั้นพบว่า ผลผลิต/รายได้ 46.7 ถัง/ไร่ คิดเป็นเงิน 1,879 บาท ขณะที่การลงทุนใช้เงินประมาณ 1,862 บาท

หักลบกันทุกอย่างแล้วเกษตรกรจะเหลือเงินสุทธิเพียง 35 บาท/ไร่ ซึ่งถ้าไม่นับรวมค่าเช่าที่ดินและค่าดูแลรักษาแล้วจะมีรายได้เฉลี่ย 789 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่สูงมากนัก และที่น่าสนใจมากก็คือ ตามคำโฆษณาของบริษัทบอกว่าการปลูกจะให้ผลผลิตสูงถึง 60-80 ถัง/ไร่ ทว่าเมื่อลงมือจริงๆ กลับเหลือเพียง 46.7 ถัง/ไร่

และเมื่อหันกลับมาดูผลประโยชน์ที่ได้รับของบริษัทจะพบความแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน เพราะบริษัทขายข้าวสารบาสมาติได้เฉลี่ย กก. ละ 18 บาท ซึ่งถ้าคิดข้าวเปลือกบาสมาติ 1 ถัง สีเป็นข้าวสารได้ 7 กก. นั่นหมายความว่า บริษัทรับซื้อข้าวเปลือกในราคาถังละ 40.59 บาท แต่จะขายเป็นข้าวสารได้ถึง 126 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วบริษัทยังเหลือกำไรสุทธิถึง 85.41 บาท/1 ถังข้าวเปลือก ซึ่งเทียบกันไม่ได้เลยกับเกษตรกรที่เหลือสุทธิแค่ 0.80 บาท

"ขายแบบนี้ขายแบบเฮาเป็นคนง่าว (โง่) รอแต่ว่าเขาประกาศว่าได้เท่าใด ราคาเท่าใด บ่ใดอู้บ่ได้ถามอะหยังสักอย่าง ประกันราคาไว้ 38-45 บาท แต่ซื้อของเฮาเพียง 40 บาท น้ำหนักก็หาย ชั่งบ้านได้ 3,800 กก. ชั่งที่บริษัทเหลือแค่ 3,600 กก."

"ตามหลักการที่เขามาอู้ฟังแล้วดี แต่พอทำเข้าแต้ๆ กลับบ่เข้าท่า เขาส่งเสริมแบบครบวงจร พอเอาไปขายอื้อเขาๆ ก็หักแบบครบวงจร ทั้งความจื่น สิ่งเจือปน เอาครบวงจรจริงๆ"

"ระบบการซื้อ-ขายแบบนี้บ่ดี บริษัทบังคับให้เฮาซื้อปุ๋ย ยา และต้องเอาขายให้เขาปีนี้ราคาประกันก็บ่มีความหมาย เพราะข้าวอื่นราคาแพงกว่า" เหล่านี้เป็นความคิดเห็นของเกษตรกรที่อยู่ในโครงการส่งเสริมปลูกข้าวบาสมาติ

เพราะเป็นแบบนี้กระมังเขาเลยเรียกขานกันว่า "นี่…มันส่งเสริมให้เกษตรครบวงจนกันง่ายขึ้น"

แนกส์ก็เลยกลายเป็นหมัดน๊อคที่เกษตรกรโดนเข้าไปเต็มเบ้าแบบไม่มีทางปฏิเสธ!?

ปลูกป่ายูคาลิปตัส

ได้ไม่คุ้มเสีย!?

พูดถึงการสนับสนุนการลงทุนทำธุรกิจภาคเอกชนของภาครัฐบาลที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรน่าจะเป็น "การส่งเสริมการปลูกป่าไม้โตเร็วประเภทยูคาลิปตัส" ถึงกับที่กรมป่าไม้ได้จัดตั้งหน่วยงาน "สำนักงานส่งสเริมการปลูกป่าเอกชน" ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวก

และไม่ว่ายูคาลิปตัสจะโดนกระแสคัดค้านหนักเพียงใด ในมุมกลับกันพื้นที่เพาะปลูกก็เพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกๆ ปี จนปัจจุบันเฉียดฉิว 40% ของการปลูกป่าทดแทนที่กรมป่าไม้ตั้งเอาไว้อยู่รอมมะร่อเต็มทน

การเดินหมากส่งเสริมการปลูกป่ายูคาลิปตัส "คามาดูเลนซิส" ต้องยอมรับว่าสอดประสานรับกันอย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐบาลและเอกชนนักลงทุน โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อย่างหนักหน่วงเพื่อทำลายแนวคิดคัดค้านการทำลายระบบนิเวศวิทยาให้หมดสิ้นไป

โครงการปลูกป่ายูคาลิปตัสที่เป็นที่คึกโครมกันมากเห็นจะเป็นโครงการของบริษัทเชลล์ในพื้นที่สัมปทานขุนซ่อง จ. จันทบุรี ที่ยื่นขอสัมปทานถึง 3 แสนไร่ ทว่าเรื่องยังไม่แล้วเสร็จเพราะได้รับเสียงคัดค้านหนักจากชาวบ้านที่นั่น นอกนั้นก็มีโครงการของบริษัทสุ่นหัวเซ้ง (เกษตรรุ่งเรืองพืชผล) เจ้าพ่อวงการค้าข้าว โครงการของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย โครงการของเครือสหวิริยา และรายล่าสุดที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญก็คือ โครงการของเบอร์ล่ากรุ๊ปมหาเศรษฐีชาวอินเดีย ทีจะลงทุนเป็นแสนๆ ไร่เช่นเดียวกัน

แนวทางปลูกป่าเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะยูคาลิปตัสที่มีเป้าหมายสูงสุดกับการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษที่คาดหมายกันว่า ปริมาณความต้องการจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% เรื่องนี้กล่าวในเชิงธุรกิจแล้วนับเป็นการลงทุนที่น่าสนใจไม่น้อย และยิ่งมองด้วยความเป็นธรรมระดับหนึ่ง ถึงการเข้ามาลงทุนของบริษัทใหญ่ๆ นั้นน่าที่จะเชื่อได้ว่าะต้องมีการนำเอาเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เข้ามาจัดการ อันเป็นการสนองรับกับแนวทางพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมบูรณ์แบบก็ยิ่งเพิ่มความสนใจมากเป็นพิเศษ

"ต้องเข้าใจกันบ้างว่าที่ผ่านมาการปลูกไม้โตเร็วของบ้านเราล้มเหลวเป็นเพราะเราไม่มีการจัดการที่ถูกหลักวิธี จึงทำให้ผลผลิตไม่ได้มาตรฐานพอที่จะนำไปพัฒนาหรือแปรรูป ผิดกับสมัยนี้ที่ผู้ลงทุนมองว่านี่มันเป็นหัวใจดังนั้นย่อมต้องมีการคิดค้นเพื่อที่จะเพิ่มพูนและพัฒนาผลผลิตไม่หยุดนิ่ง จุดนี้น่าที่จะเป็นผลพลอยได้ของเกษตรกรกันด้วย โดยเฉพาะเกษตรกรที่สมัครใจจะเข้าร่วมโครงการกับบริษัท ปัญหาเรื่องตลาดไม่มีอะไรเป็นที่น่าหนักใจ" ผู้รับผิดชอบโครงการของบริษัทหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

วิเคราะห์กัน ณ จุดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ฟังกันขึ้น…เพราะความเป็นจริงอย่างหนึ่งของการผลิตภาคเกษตรกรรมบ้านเราที่ผ่านมานั้นก็คือ ความไม่สันทัดและเข้าใจลึกซึ้งถึงเทคนิคการผลิตที่จะช่วยให้ผลผลิตได้มาตรฐาน จุดอ่อนนี้เลยกลายเป็น "ปมเงื่อน" ที่ทำให้เข้าใจกันไปว่า "ไม่ว่าจะเป็นไม้โตเร็วประเภทใด-เกษตรกรผู้ปลูกย่อมมีแต่ทางเสียหนทางเดียว"

การกล่าวเช่นนั้นอาจจะเป็นการให้ร้ายหรือมองโลกของการลงทุนที่เลวร้ายจนเกินไป…

ปัญหาลักษณะนี้คงไม่แตกต่างอะไรไปกับเรื่องราวของเกษตรกรบ้านทุ่งโม่ง จ. พิจิตร ที่ได้กล่าวอ้างข้างต้น ซึ่งขณะนี้เกษตรกรที่นั่นกำลังชั่งใจว่า "พวกเขาควรจะร่วมโครงการเกษตรครบวงจรกับบริษัทต่อไปดีหรือไม่" โดยมีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่เห็นว่า "แม้จะพบความเป็นจริงที่คลาดเคลื่อนไป ก็น่าจะลองดูกันอีกเพราะในหลายส่วนที่ได้รับมานั้นมีผลต่อการพัฒนาการผลิตวิถีเดิมที่เคยทำมากันอยู่ไม่น้อย ซึ่งถ้าหากมีการควบคุมให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ก็น่าที่จะมองเห็นหนทางที่มีอนาคตแจ่มใสกันได้บ้าง"

ฉันใดก็ฉันนั้น การปลูกไม้โตเร็วที่เคยส่งเสริมกันมาไม่ว่าจะเป็น ไม้สน ไม้เทพา จนมาถึงยูคาลิปตัสที่เกรงกันว่าจะเป็นปัญหาใหญ่โต ปัญหานี้หากมีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามวิธีการอาจจะทำให้ที่หวาดหวั่นกันนั้นย่อมคลายความตึงเครียดลงได้

ประเด็นสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็น "ประเทศอุตสาหกรรมการเกษตรสมัยใหม่" อย่างได้ผลนั้น มันก็อยู่ที่ว่า "เราจำเป็นต้องเปิดใจกว้างรับเอาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เข้ามาใช้และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์"

เงินมันก็น่าจะเป็นเงินที่งอกเงยไม่หยุดหย่อน!!!

ทว่าแนวทางส่งเสริมปลูกยูคาลิปตัสที่เกิดเสียงคัดค้านมากคงเป็นเรื่องที่ว่าไม้ชนิดนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยา ด้วยเหตุผลที่ว่ารากยูคาลิปตัสที่ชอนไชลงไปในดินจะเป็นตัวที่แย่งชิงอาหารและน้ำของไม้อื่น ตลอดจนผลต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงเนื้อดิน อีกทั้งใบยูคาลิปตัสก็เชื่อกันว่ามีสารพิษที่เป็นตัวทำลายมลภาวะแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

การคัดค้านนี้หนักหน่วงมากในระยะปี 2529-2530 กอปรกับอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสของบางบริษัท (บริษัทเชลล์) มีความต้องการที่จะขอสัมปทานป่าไม้ในบางพื้นที่ด้วยการให้เหตุผลว่า บริเวณที่ต้องการนั้นเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งประเด็นนี้นักอนุรักษ์ธรรมชาติบอกว่า ที่จริงแล้วป่าเสื่อมโทรมหลายแหล่งของเมืองไทยยังเป็นป่าสมบูรณ์

การที่จะมาเอาป่าสมบูรณ์ไปเป็นป่าเสื่อมโทรมเพื่อลงทุนทำธุรกิจแบบยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัวคือ หนึ่ง-ได้ตัดไม้จากป่าเดิมขายเป็นผลผลิตล่วงหน้า สอง-ได้พื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัสมาแบบไม่ต้องเหนื่อยแรง-ความต้องการนี้จึงไม่อาจเห็นดีเห็นงามกันไปได้

ไม่เพียงแต่บริษัทเชลล์ที่โดนคัดค้าน ยังมีอีกหลายพื้นที่ของหลายบริษัทที่คาดหมายกันว่า อาจได้รับการคัดค้านในไม่ช้านี้เช่นกัน

ปัญหาอย่างนี้มันต้องเคลียร์กันออกมาให้ชัดว่า ที่นั้นๆ จะต้องเป็นป่าเสื่อมโทรมจริงๆ จึงจะให้สัมปทานไปปลูกยูคาลิปตัสกันได้ เพราะถ้ายังมีอะไรคลุมเครือนอกจากจะมีข้อบาดหมางที่เสียเวลาแล้ว ยังจะกลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของกลุ่มคนบางกลุ่มที่มุ่งแสวงหากำไรถ่ายเดียว โดยไม่คำนึงผลเสียต่อประเทศและภาระหนักอึ้งของนักลงทุนที่ยังไม่รู้ชะตากรรม

เรื่องราวของเชลล์ในภาคถัดไปน่าจะให้คำตอบในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี…

ถึงขั้นนี้แล้วก็ต้องยอมรับกันว่า หนทางของการเป็น NACs นั้นมีผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไม่น้อย ทั้งในแง่ความรุดหน้าทางวิทยาการ การพัฒนาและแปรรูปผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ซึ่งถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกระทำกันอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มุ่งกอบโกยผลประโยชน์โดยไร้ความเป็นธรรม

ทางเลือกนี้ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ไม่น่าผิดหวัง!!!

และคงจบสิ้นกันได้สำหรับการจมปลักตัวเองอยู่กับอาณาจักรแห่งความล้าหลังที่ต้องถึงเวลาขุดรากถอนโคน!!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us