|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
คำสั่งประหารชีวิต "สัมพันธ์ประกันภัย" เมื่อ 23 มี.ค.2552 หลังยืดเยื้อ ต่อลมหายใจมายาวนานร่วม 2 ปี กำลังกลายเป็นบทเรียนสอนผู้บริโภค ก่อนซื้อประกันภัยรถยนต์ ควรตรวจสอบ เช็กข้อมูลธุรกิจนั้นๆ ผ่านสื่อทุกช่องทาง รวมถึงเว็บไซต์ คปภ. ที่ประจานเงินกองทุนติดลบ
ต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่เป็นนัยบอกถึงสภาพคล่องทางการเงินหมดหน้าตัก การประวิงเวลาจ่ายสินไหมทดแทนผู้เอาประกัน อู่บอกปัดไม่รับรถเข้าซ่อม ทั้งหมดคือ หน้าฉาก "ผู้ร้าย" ในคราบ "แกะดำ" อุตสาหกรรมประกันภัย คนในแวดวงบอกวิธีจับสัญญาณไม่ชอบมาพากล เริ่มต้นที่การเปิดเกมแข่งขันชิงลูกค้า หั่นเบี้ยราคาถูก เพิ่มคอมมิชชั่นตัวแทน จากนั้นก็จะนำเงิน
ไปลงทุนผิดประเภท ส่วนใหญ่ผู้บริหารมักไซฟ่อนนำเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง จนกลายเป็นต้นตอ บทบันทึกประวัติศาสตร์ด้านมืด ประกันวินาศภัย ในรอบหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา...
หาก รัตนโกสินทร์ประกันภัย เดินเข้าหลักประหารเป็นรายแรก ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นต้นมา พาณิชย์การประกันภัย ก็คือรายถัดมาที่ถูกพิพากษาโทษถึงขั้นปลิดชีวิต ไปก่อนนี้ไม่นาน....
โดยมี สัมพันธ์ประกันภัย เป็นรายล่าสุด ที่เพิ่งถูกลงโทษถึงขั้น "ปิดกิจการ" จากการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ผ่าน คปภ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตัวแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ภายหลัง "สัมพันธ์ฯ" ถูกกักตัวในแดนประหาร เพราะถูกคำสั่งให้หยุดขายมาตั้งแต่ 16 ก.ค.2550 จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 23 มี.ค.2552 รวมเวลากว่า 1 ปี 8 เดือน แบบไร้วี่แววนายทุนใหม่เข้ามาเพิ่มทุนล้างหนี้ ทั้งที่มีข่าวปล่อยอยู่เป็นระลอก จากนายทุนแดนอาหรับ และเศรษฐีน้ำมันจากอเมริกัน แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ข่าวโคมลอย...
ความผิดนั้น มีหลายกระทง ทั้งเงินกองทุนติดลบ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีหนี้สินร่วม 748 ล้านบาท มีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายผู้ร้องเรียนร่วม 16,585 ราย คิดเป็นเงิน 701 ล้านบาท
หนักกว่านั้น และทำท่าว่าเรื่องราวจะยังไม่จบลงง่ายๆ ก็คือ คปภ.ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ดำเนินการสอบสวนข้อหาความผิด ประวิงค่าสินไหมทดแทน ลงทุนผิดประเภท ผู้บริหารทุจริต ฐานยักยอก และส่งรายงานเป็นเท็จ
เพียงเท่านี้ ผู้คนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้เอาประกันภัย อู่ เจ้าหนี้ส่วนอื่นๆ พนักงานบริษัท ก็ตกกะไดพลอยโจนตามไปด้วยแบบไม่รู้เหนือ รู้ใต้...
"การเพิกถอนใบอนุญาต โอกาสที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเฉลี่ยมีเพียงประมาณ 20% เท่านั้น เพราะต้องผ่านขั้นตอนการบังคับคดี ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน กว่าจะได้รับเงิน"
จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. เปรยถึงเหตุผลการปล่อยให้ สัมพันธ์ฯ มีท่อออกซิเจนต่อลมหายใจมานานเกือบ 2 ปี ระหว่างรอเงินจากนายทุนหน้าใหม่ จะส่งผลกระทบกับลูกค้า หากต้องเพิกถอนใบอนุญาตสัมพันธ์ฯ ในช่วงนั้นนั่นเอง
อย่างไรก็ดี หลังหมดหนทางยื้อชีวิต การปิดกิจการสัมพันธ์ฯ ครั้งนี้ จึงเลือกจะใช้ทรัพย์สินบริษัทชดใช้เงินให้เจ้าหนี้ ลูกค้า หากไม่เพียงพอ ก็จะมาจบลงที่เงินจากกองทุนประกันวินาศภัยที่จะเก็บจากบริษัทประกันวินาศภัยในอัตรา 0.1% ของเบี้ยประกันภัยรับตรง นับจากเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งเป็นเงินงวดแรก
สัมพันธ์ฯ จึงเป็นรายเดียวที่ทางการเลือกที่จะยุติการประกอบกิจการประกันภัยแบบไม่มีเงื่อนไข ขณะที่เพื่อนร่วมชะตากรรมหลายราย รอดไปได้อย่างหวุดหวิด และบางรายก็กำลังอยู่ระหว่างเจรจาหาผู้ร่วมทุนใหม่ก่อนหน้าที่ คปภ. จะลงดาบบั่นคอสัมพันธ์ฯ
สำหรับเพื่อนร่วมบนบอร์ด ประจานผ่านเว็บไซต์ของ คปภ. ทั้งธนสินประกันภัย และแอ๊ดวาน อินชัวรันส์ ที่มีการตั้งข้อหาเดียวกันคือ เงินกองทุนติดลบ กลับรอดตัวไปได้หวุดหวิด
รายแรก มีกลุ่มนายทุนจากสหกรณ์เครดิต ยูเนียน คลองจั่น เข้าเทกโอเวอร์แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ยูเนียน อินเตอร์ประกันภัย รายหลัง ถูกเทกโอเวอร์โดยกองทุนจากญี่ปุ่น แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น APF II หรือเอ.ที.เอฟ. อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ ล่าสุดรายหลังก็เพิ่งหลุดจากการประจานผ่านเว็บบอร์ด คปภ. เร็วๆ นี้เอง
ขณะที่ ฟินันซ่า ประกันชีวิต ก็กำลังอยู่ระหว่างรอเจรจาผู้ร่วมทุนรายใหม่จากยุโรป...
ทั้งหมดมีโทษฐานเงินกองทุนขาด ต้องหาเงินมาเพิ่มทุน ล้างหนี้ จากนายทุนรายใหม่ จนเงินกองทุนเพียงพอนั่นแหละ จึงจะเดินหน้าต่อไปได้ เงื่อนไขนี้เองที่ทำให้นายทุนทั้งหลายต้องม้วนเสื่อกลับบ้านแทบไม่ทัน
โดยเฉพาะในรายสัมพันธ์ประกันภัย หากสืบสาวลงลึกเรื่อยๆ จะพบว่า ปัญหาหมักหมมมีมากเกินกว่าจะเยียวยา แถมยังมีปัญหาซ่อนเร้น ปกปิดเกี่ยวกับเส้นทางเดินของเงิน เพราะการบริหารงานผิดพลาดของกลุ่มผู้บริหาร
อย่างไรก็ตาม กรณีของ "แกะดำ" อย่างสัมพันธ์ประกันภัย นอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้เกี่ยวข้อง สร้างรอยมลทินเป็นตราบาปให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย
แต่ในด้านมืด ก็มีบทเรียนเป็นกระจกเงาสะท้อนให้ผู้บริโภคต้องหัดสังเกต และเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของธุรกิจ ผ่านสื่อหลายด้าน ก่อนจะตัดสินใจซื้อประกันภัย โดยเฉพาะประกันรถยนต์
สำหรับผู้บริโภค ใครก็ตามที่ต้องการต่ออายุการทำประกันภัยรถยนต์ คนในแวดวงประกันภัยได้แนะนำให้ใส่ใจ ค้นคว้า หาข้อมูลง่ายๆ ผ่านทางเว็บไซต์ คปภ.
เช่นให้เลือกดูว่ารายใดเริ่มเห็นสัญญาณอันตราย และมีเค้าว่าจะไปไม่รอด จากข่าวสารที่ปล่อยผ่านหน้าสื่อในแต่ละวัน อาทิ เงินกองทุนขาด ถูกปรับรายวัน ประจาน ขาดสภาพคล่อง ประวิงจ่ายสินไหม ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่มีพอร์ตประกันภัยรถยนต์สัดส่วนมากกว่า นอน มอเตอร์
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องการร้องเรียนผ่านมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ที่มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับ ประกันภัยพัวพันอยู่ด้วย ไม่นานมานี้ สัมพันธ์ประกันภัยก็ติดอันดับ บริษัทที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งลูกค้า อู่ และร้านค้าที่เกี่ยวข้อง
ผู้คร่ำหวอดในแวดวงประกันภัย ชี้ให้เห็นต้นตอที่มาของ เส้นทางการปิดตัวของ สัมพันธ์ประกันภัย ส่วนสำคัญมาจาก รูปแบบการทำตลาดแบบมันนี่เกม โดยการช่วงชิงเบี้ย ขยายฐานลูกค้า ด้วยการตัดราคาเบี้ยให้ต่ำกว่าคู่แข่ง
หรือแม้แต่ยอมจ่ายคอมมิชชั่นตัวแทนอย่างงดงาม เพื่อให้ทำหน้าที่แย่งชิงเบี้ยมาอยู่ที่บริษัทให้มากที่สุด รวมถึงไม่เกี่ยงว่า ลูกค้าที่รับประกันภัยเข้ามาจะมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ดังนั้นรถยนต์ที่รับเข้ามาจึงมีอัตราการเสียหายค่อนข้างสูง เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ก็จะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยราคาแพง
จากนั้น บริษัทขนาดเล็ก ก็จะมีเบี้ยเบ่งบาน เฟื่องฟู ในชั่วเวลาเพียงไม่กี่ปี แซงหน้าบริษัทขนาดใหญ่ จนทำเอาตื่นตะลึงไปตามๆ กัน ทำให้ใครต่อใครเห็นเบี้ยต่างก็ตาลุกวาว อยากร่วมธุรกิจด้วยแทบทั้งนั้น ไม่ว่าตัวแทน โบรกเกอร์ อู่ หรือร้านค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การทำตลาดลักษณะนี้ บริษัทนั้นๆ จะดูดเบี้ยจากลูกค้าไม่เลือกหน้า ก่อนจะนำเงินไปลงทุนในทุกช่องทางที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยที่ลูกค้าหรือแม้แต่ทางการก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะตลาดหุ้น และการนำเงินไปลงทุนอื่นที่ไม่สามารถแกะรอยได้
เพราะหวังกันว่า เบี้ยที่รับเข้ามามากมาย โดยไม่จำกัดความเสี่ยงแม้แต่น้อย จะทำให้ผลประกอบการบริษัทขาดทุนจากการรับประกันภัย
อย่างแน่นอน แต่ก็ยังมั่นใจว่า เบี้ยที่กวาดเข้ามามากมายก่ายกอง จะนำไปลงทุนให้มีรายได้และทำกำไรจากการลงทุนเพื่อชดเชยกัน
จนกลายเป็นสูตรของบริษัทหลายแห่งที่เลือกจะนำเอาวิธีนี้มาใช้บริหารธุรกิจให้ได้กำไร จนกระทั่งเลยเถิด ในที่สุดก็เจ๊ง บริษัทหมุนเงินไม่ทัน ทำให้ไม่มีเงินจ่ายอู่ ไม่สามารถจ่ายสินไหมทดแทนให้ลูกค้าได้ โดยเฉพาะบางรายถูกบริษัทบีบให้ต้องควักจ่ายไปก่อน แล้วมาเบิกบริษัทในภายหลัง
และแล้วก็พิสูจน์ให้เห็นว่า รูปแบบธุรกิจลักษณะนี้ไม่ยั่งยืน แถมเปิดช่องให้ผู้บริหารบริษัทยักยอก ปกปิก ซ่อนเร้นข้อมูล ได้ตามอำเภอใจ
บทเรียนจากกรณีสัมพันธ์ประกันภัย จึงกลายเป็นแกะดำ สร้างรอยมลทินให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย เป็นการลดทอนความเชื่อมั่นในตัวบริษัทประกันภัย โดยที่หลายฝ่ายก็ไม่อาจปฏิเสธผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นตามหลังได้
ทั้งที่มีหลายบริษัทพยายามจะแข่งขันให้บริการลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจ เพื่อฟื้นศรัทธาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยอยู่อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีข่าวบริษัทใดล้มละลายหรือถูกทางการสั่งปิดกิจการ ก็มักจะมีผู้เกี่ยวข้องเดือดร้อน รวมถึงทางการ หรือ คปภ. ที่ต้องมารับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของรถมากกว่ากรณีอื่นๆ...
สำหรับลูกค้าเจ้าของรถยนต์ ก่อนซื้อประกันภัยรถยนต์บริษัทไหนเจ้าของรถยนต์จึงต้องสำรวจตรวจตราบริษัทนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะสายเกินไป ไม่อย่างนั้นก็อาจจะเสียทั้งเงิน และแย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ เสียความรู้สึก
|
|
 |
|
|