ในปีหนึ่งๆ มีระลอกคลื่นการขอปิดตัวเองของโรงเรียนเอกชนอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา
เช่น ในปีการศึกษา 2528 ยุบกิจการ 46 แห่ง ปีการศึกษา 2529 ยุบกิจการ 34
แห่งและปีการศึกษา 2530 ยุบกิจการ 70 แห่ง
ถ้าเทียบกับจำนวนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 4,000 แห่ง อาจจะนับว่าน้อยมากแต่ถ้ามาดูสาเหตุของการปิดตัวเองอาจมีความนัยแฝงอยู่ที่น่าสนใจหลายประการ
บางเสียงประเมินว่า การปิดกิจการของโรงเรียนเอกชนเกิดขึ้นเพราะเสน่ห์เย้ายวนของราคาที่ดินที่พุ่งพรวด
ทำให้เจ้าของกิจการตัดสินใจขายที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่เสียดีกว่า
แต่ในความเป็นจริง การยุบกิจการโรงเรียนเอกชนก็คือปรากฏการณ์แจ่มชัดที่สุดของปัญหาในการดำเนินกิจการด้านนี้ที่สะสมมาเนิ่นนาน
อีกทั้งแม้แต่วิธีการมองปัญหาของผู้รับผิดชอบก็อยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ภายใต้กระแสยุบกิจการโรงเรียนเอกชน สิ่งที่ตามมาจนเกือบจะเป็นประเพณีทุกปีคือ
เสียงเรียกร้องขอขึ้นราคาค่าเล่าเรียนจากเจ้าของหรือผู้บริหารโรงเรียน
พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเคยกล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ขึ้นค่าเล่าเรียน
เพราะมองว่าการดำเนินกิจการโรงเรียนเอกชนก็เหมือนกับธุรกิจ ถ้ามีเงินมากคุณภาพก็จะดีตามไปด้วย
อีกทั้งถ้าขึ้นค่าเล่าเรียนแพงมากเกินไป ผู้ปกครองก็จะไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนเอง
หันมาพึ่งโรงเรียนรัฐบาลแทน
แต่สำหรับ ดร. รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) แล้ว
ความเห็นของเขาอาจจะมองไปในอีกแง่มุมหนึ่ง
"จริงๆ แล้ว ธุรกิจโรงเรียนเอกชนเหล่านี้ ถ้าคุณไปถามเขา เขาไม่เรียกธุรกิจหรือถือว่าตัวเองเป็นนักธุรกิจหรอก
เพราะเวลาเขาทำงานแล้ว ไม่ว่ายุคใด สมัยใดเขาไม่เคยคิดถึงกำไร ที่เขาทำกิจการนี่มาเพราะส่วนใหญ่เขาเรียนวิชาชีพครูกันมา
เขาก็อยากจะสอน อยากจะประกอบวิชาชีพตามที่เขาได้เรียนมา ที่เขาทำเพราะใจรัก"
ดร. รุ่งให้ความเห็นจากประสบการณ์ที่ตัวเองได้ไปพบปะกับผู้ประกอบกิจการด้านนี้
มีเรื่องเล่าว่า โรงเรียนบางแห่งบริหารไปบริหารมา จากนักเรียนพันคนเหลือร้อยกว่าคน
แต่ก็พยายามกัดฟันสู้ต่อ โดยการเข้าไปซื้อกิจการเปลี่ยนมือกันระหว่างพี่น้องเป็นเงินนับสิบล้านบาท
เพียงเพราะว่าอยากให้ชื่อของโรงเรียนคงอยู่ต่อไปเพราะเป็นโรงเรียนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพ่อแม่
หรือโรงเรียนที่เพิ่งเปิดใหม่ลงทุนถึง 14 ล้านบาท แต่วันเปิดมีนักเรียนแค่
50 คน แต่พวกเขาก็ลงทุนด้วยใจรัก และมั่นใจว่าพอจะถูไถไปได้
ดร. รุ่งให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นนักธุรกิจแท้ๆ เขาไม่มาลงทุนเปิดกิจการโรงเรียนอย่างแน่นอน
เพราะ หนึ่ง-กิจการโรงเรียนเป็นกิจการที่ทางธนาคารไม่ค่อยเต็มใจจะให้กู้เงินเพื่อลงทุนนัก
เพราะในอดีตเคยมีโรงเรียนที่ล้มกิจการแล้วทางธนาคารจะเข้าไปยึด พอเห็นเด็กตาดำๆ
ก็ยึดไม่ลง แถมถ้าไปยึดคงถูกด่าและเสียภาพพจน์เป็นแน่แท้ ดังนั้นเวลาที่เจ้าของกิจการโรงเรียนจะกู้ธนาคารก็ต้องเอาที่ดินอีกแปลงมาจำนอง
แม้ว่าที่ดินที่โรงเรียนตั้งอยู่และตัวอาคารจะมีมูลค่านับร้อยล้านบาทก็ตาม
สอง-ค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ทางโรงเรียนจะสามารถเก็บได้นั้น
ถูกกำหนดโดยทางรัฐอย่างเข็มงวดและอยู่ในอัตราค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่แท้จริง
เช่นในโรงเรียนอนุบาลรัฐกำหนดให้เก็บค่าเล่าเรียนได้ไม่เกินคนละ 2,300 บาทต่อปี
ทั้งที่ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ทางโรงเรียนอนุบาลของรัฐใช้อยู่คือประมาณ 4,000
บาท
"เรื่องการขึ้นราคาค่าเล่าเรียน มันเป็นเรื่องการเมือง มันก็เหมือนค่ารถเมล์
ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ค่าหน่วยกิตในมหาวิทยาลัย ที่มันไม่ใช่ราคาจริงของมัน
แต่คุณก็ต้องตรึงมันไว้เพราะมันเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐ" ดร. รุ่งกล่าว
รายได้ทางอื่นที่ทางโรงเรียนพอจะหามาได้คือ ค่ารถรับส่ง ค่าอาหาร ค่าอุปกรณ์
ค่าขายเครื่องแบบ ซึ่งก็ไม่ใช่รายได้ที่มากพอจะไปอุดค่าใช้จ่ายด้านอื่นได้
และทางรัฐเองก็ควบคุมการจัดเก็บรายได้เหล่านี้และกำหนดอัตราต่างๆ อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
จากการวิจัยของ สช. ในปี 2523 พบว่า โรงเรียนเอกชนสายสามัญมีรายได้เหลือจ่ายหรือกำไรเพียงปีละประมาณ
3,5000 บาทเท่านั้น ซึ่งแทบจะไม่ต้องคิดไปปรับปรุงหรือพัฒนากิจการอะไรเลย
รายได้เสริมที่สำคัญของโรงเรียนเอกชนคือ การอุดหนุนจากรัฐ และที่สำคัญอีกประการคือ
การบริจาคและการอุดหนุนจากภาคเอกชน เช่น สมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมศิษย์เก่า
สถาบันศาสนา แต่ส่วนใหญ่โรงเรียนที่จะได้รับการอุดหนุนรายได้เหล่านี้มักเป็นโรงเรียนเอกชนขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่ามีมาตรฐานการศึกษาดีเยี่ยม
"โรงเรียนที่ดำเนินกิจการทุกวันนี้ มันมีหลายแห่งที่มันไปไม่รอด มันมีปัญหาเนื่องจากมันถูกควบคุมมากจนเกินไปและมีปัญหาเรื่องการบริหารด้วย
เมื่อมีคนมาเสนอซื้อที่ดิน เสนอสร้างคอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า และให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก
เขาก็เลยต้องจำใจขาย แต่คนที่ตัดสินใจขายมักเป็นคนในรุ่นที่สองหรือสามของตระกูลที่ได้รับมรดกตกทอดมา"
ดร. รุ่งให้เหตุผล
นอกจากนี้ปัญหาการบริหารงานโรงเรียนที่ขาดประสิทธิภาพก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่สำคัญมาก โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กมีเด็กนักเรียนไม่เกิน 400 คน มักบริหารแบบธุรกิจครอบครัว
ไม่มีการวางแผนที่ชัดเจน ขาดการบริหารด้านการเงิน ไม่มีการบริหารงานบุคคลโดยเฉพาะครูที่รับมา
ก็มักไปจ้างครูในอัตราเงินเดือนต่ำ ขาดความเข้าใจที่ว่า ครูคือทรัพยากรที่สำคัญและสำคัญอย่างไร
อีกประการหนึ่งคือ ปัญหา ACADEMIC MANAGEMENT หรือการบริหารงานวิชาการ
ที่ผู้บริหารมักไม่เข้าใจถึงเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างแท้จริง จัดตารางสอน
อย่างไรจึงจะเหมาะและสามารถพัฒนาเด็กไปได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกลมกลืนกับการจัดการด้านต่างๆ
"ผู้เปิดกิจการโรงเรียนใหม่ๆ มักจะคิดว่า ทำกิจการนี้ง่าย เปิดขึ้นมามีเด็กเรียนก็พอแล้ว
และมักไม่ลงมาบริหารเอง จ้างคนอื่นมาบริหารซึ่งบางทีก็ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง"
ผู้รู้อีกท่านในวงการศึกษาเล่าให้ฟัง
ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างกับโรงเรียนของคาทอลิกหรือโปรตัสแตนท์ที่มีประวัติยาวนาน
มีระบบการจัดการ มีการวางแผน ส่งคนไปศึกษา ดูงาน อบรมและมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
ทำให้โรงเรียนเอกชนเหล่านี้เติบกล้าขาแข็ง ผิดจากกโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก
จนเห็นได้ชัดถึงช่องว่างและความสามารถในการบริหารโรงเรียน
ช่องว่างตรงนี้เองที่ สช. พยายามเข้าไปอุด โดยการจัดโครงการฝึกอบรมผู้บริหาร
โรงเรียนเอกชน เป็นการอบรมเจ้าของ ผู้จัดการ และครูใหญ่ อบรมตั้งแต่เรื่องการบริหารงานวิชาการแนวคิดในการบริหาร
ความรู้ทางพฤติกรรมศาสตร์ บริหารศาสตร์ พัฒนาศึกษาศาสตร์และกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถภาพทางกาย
เป็นต้น
"เรามีการจัดอบรม สัมมนา เราเชิญผู้บริหารโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จมาแลกเปลี่ยนกันตลอดปี
ก็เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก ปีงบประมาณนี้ก็จะจัดอบรมผู้บริหารอีก
32 รุ่น แต่ละรุ่นมีผู้สนใจเข้าอบรมมากๆ" ดร. รุ่งกล่าวทิ้งท้ายอย่างมีอนาคต
เฉกเช่นธุรกิจอื่นๆ การเริ่มต้นด้วยใจรักและอยู่ด้วยความหวังย่อมเท่ากับประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง
แต่อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือคือเรื่องการบริหารซึ่งออกจะสาหัสสากรรจ์เสียกว่าแต่ก็ต้องไขว่คว้าหามันมาให้ได้
เพราะอย่างไรเสีย อนาคตของโรงเรียนเอกชนก็คืออนาคตของเด็กตาดำๆ จำนวนไม่ใช่น้อยทีเดียว
!