ในขณะที่หัวข้อการเจรจาระดับรัฐบาลระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ ยังหนีไม่พ้นปัญหาดุลการค้าระหว่างสองประเทศ
ปัญหาเทคโนโลยีก็กำลังทวีความสำคัญขึ้นเป็นประเด็นหลักบนโต๊ะเจรจา นักการทูตชั้นนำจากตะวันตกผู้หนึ่งกล่าวว่า
ในอนาคตการเจรจาทางการค้าของสองประเทศจะเกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น
ความจริงแล้วความขัดแย้งหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ มีปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นมูลฐาน
ไม่ว่าจะเป็นการแซงก์ชั่นสินค้าเครื่องไฟฟ้าจากญี่ปุ่นเพื่อตอบโต้กับการที่ญี่ปุ่นทุ่มไมโครชิบเข้าตลาดสหรัฐฯ
การที่โตชิบาขายเครื่องมือจักรกลให้กับรัสเซียซึ่งสหรัฐฯ หาว่าเป็นการขายที่ผิดกฎหมาย
การเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้กับเครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ
และความพยายามของทางการญี่ปุ่นที่จะจำกัดการแข่งขันจากต่างประเทศในสินค้าประเภทเครื่องโทรคมนาคม
"การกีดกัน" ที่เคยจำกัดอยู่แค่การกีดกันทางการค้าได้ขยายขอบเขตไปถึงเรื่องเทคโนโลยีด้วยทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นในทุกวันนี้ได้ก้าวพ้นจากความเป็น
"จอมก๊อปปี้" ไปสู่ความเป็นชาติที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา
จากรายงานที่รัฐบาลสหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนจัดทำตั้งแต่ปี 1984 ได้เตือนว่า
ญี่ปุ่นมีพัฒนาการที่อยู่ในระดับเดียวกันหรืออาจจะล้ำหน้าสหรัฐฯ ไปแล้วในอุตสาหกรรมแผงวงจรไฟฟ้า
ใยแก้ว (FIBER OPTICS), วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และวัสดุพิเศษจำพวกโพลิเมอร์
ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพก็กำลังก้าวตามสหรัฐฯ อย่างกระชั้นชิด ส่วนที่ยังล้าหลังสหรัฐฯ
อยู่มาก็คือ ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเป็นผลงานจากมันสมองของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์อเมริกัน
โดยที่ญี่ปุ่นนำงานวิจัยพื้นฐานของสหรัฐฯ ไปพัฒนาต่อเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าออกมาแข่งกับสหรัฐฯ
เจ้าหน้าที่ของสภาคองเกรสผู้หนึ่งซึ่งตั้งคำถามต่อกรณีนี้ว่า "ญี่ปุ่นกำลังหยิบฉวยเอาผลงานจากมันสมองเขาเราไปใช้ประโยชน์หรือเปล่า"
ซึ่งคำตอบก็คือใช่และญี่ปุ่นก็ทำได้ดีและทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายเสียด้วย
ปัญหาก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีของกันและกันอย่างเท่าเทียม
แทนที่สหรัฐฯ จะต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำแต่เพียงอย่างเดียว
บริษัทของสหรัฐฯ เองก็เริ่มตระหนักว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากสมองของตนนั้นเป็นอาวุธสำคัญที่จะแข่งขันด้านการค้ากับญี่ปุ่น
รวมทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวันและบราซิล ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า
บริษัทเหล่านี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเห็นว่าการลอกเลียนแบบของญี่ปุ่นเพียงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิดเท่านั้น
มาบัดนี้กำลังหันมาปกป้องความรู้ที่ตนได้มาด้วยความยากลำบากอย่างจริงจัง
ดังกรณีที่ได้เกิดขึ้นแล้วต่อไปนี้
กรณีระหว่าง CORNING GLASS กับ SUMITOMO ELECTRIC, CORNING GLASS กล่าวหาว่า
SUMITOMO ELECTRIC ขโมยสิทธิบัตรของตนที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตสายเคเบิ้ลใยแก้ว
ซึ่งเป็นการค้นพบที่เป็นหัวใจของการพัฒนาระบบโทรคมนาคมอเนกประสงค์ที่มีประสิทธิภาพสูง
SUMITOMO ELECTRIC ได้เพิ่มสารบางอย่างลงไปในใยแก้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำพาแสงศาลได้ตัดสินว่า
SUMITOMO ELECTRIC ผิดจริงโรงงานของ SUMITOMO ELECTRIC ที่ นอร์ธคาโรไลน่า
ต้องหยุดผลิตเส้นใยแบบที่ว่านี้
กรณีระหว่าง HONEY WELL กับ MINOLTA เมื่อ 5 ปีก่อน HONEY WELL ได้สาธิตระบบโฟกัสอัตโนมัติของตนแก่บริษัทผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปหลายแห่งของญี่ปุ่น
และได้รับอนุญาตให้บางบริษัทใช้ระบบนี้ของตนได้ MINOLTA ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล้องแบบ
35 มม. ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของญี่ปุ่น ได้ร่วมในการสาธิตครั้งนั้นด้วย
แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ระบบนี้ แต่แล้วกล้อง MAXXUM และ ALPHA ของ MINOLTA
กลับนำระบบนี้ไปใช้และกลายเป็นของ MINOLTA กลับนำระบบนี้ไปใช้และกลายเป็นกล้องที่ขายดีไปทั่วโลกภายในเวลาเพียงสองปีกอบกู้ฐานะที่ย่ำแย่ของบริษัทให้ฟื้นคืนมาได้
HONEYWELL ไม่ได้กล่าวหา MINOLTA ว่าขโมยเทคโนโลยีของตน แต่อ้างว่าสิทธิบัตรของตนนั้นครอบคลุมถึงแนวความคิดเกี่ยวกับระบบโฟกัสอัตโนมัติด้วย
MINOLTA ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องเสียก่อน กรณีนี้ยังไม่มีการชี้ขาด
กรณีระหว่าง IBM กับ FUJITSU เรื่องนี้เริ่มขึ้นในปี 1982 เมื่อ IBM กล่าวหา
FUJITSU ว่าลอกซอฟท์แวร์ของตนที่ใช้ควบคุมการทำงานของเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ของ
IBM การเจรจาขั้นต้นของทั้งฝ่ายล้มเหลว ทั้งสองฝ่ายจึงนำเรื่องไปให้คณะอนุญาโตตุลาการของสหรัฐฯ
ตัดสิน คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ FUJITSU สามารถใช้ OPERATING SYSTEM SOFTWARE
ของ IBM ได้เป็นเวลา 5 ถึง 10 ปีภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดและ IBM ได้เป็นเวลาถึง
5 ถึง 10 ปีภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดและ IBM มีสิทธิตรวจสอบซอฟท์แวร์ของ
FUJITSU เพื่อดูว่ามีการละเมิดข้อตกลงหรือไม่ คำชี้ขาดนี้ทำให้ IBM เสียเปรียบเพราะต้องเปิดเผยความลับทางการค้าของตนให้กับ
FUJITSU
การที่ญี่ปุ่นต้องอาศัยงานวิจัยขั้นพื้นฐานของนักวิจัยสหรัฐฯ ก็เพราะในวงการอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นขาดแคลนงานวิจัยลักษณะนี้
SUSUMUTONEGAWA นักวิจัยญี่ปุ่นที่ทำงานกับ MIT และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ปี
1987 ก็ได้พูดถึงจุดอ่อนของญี่ปุ่นในเรื่องนี้ เขากล่าวว่าแนวความคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นผลิตผลของชาติตะวันตก
วัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นอุปสรรคสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์เกิดจากลัทธิปัจเจกชนนิยม
ในสังคมญี่ปุ่นเองไม่ได้ให้คุณค่าแก่ความเป็นปัจเจกชน คนญี่ป่นเป็นเลิศในงานวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่มีหัวใจของความสำเร็จอยู่ที่การทำงานเป็นทีม
งานวิจัยพื้นฐานต้องใช้การลงทุนสูงและกินเวลานาน "ญี่ปุ่นใช้วิธีซื้อสิทธิบัตรมากกว่าการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง"
TONEGAWA กล่าว
"พวกเขาซื้อสิทธิบัตรมาแล้วปรับปรุงใหม่สังเคราะห์สิ่งใหม่ขึ้นแล้วก็ขายมันออกไปเพื่อนำเงินไปซื้อสิทธิบัตรตัวอื่นๆ
มาพัฒนาเพิ่มเติมอีก"
จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ปี 1986 ญี่ปุ่นจ่ายเงินค่าสิทธิบัตรและค่าธรรมเนียมแก่บริษัทของสหรัฐฯ
เป็นจำนวน 697 ล้านบาทเพิ่มจาก 549 ล้านเหรียญในปี 1984
จากรายงานของ NATIONAL SCIENCE FOUNDATION มีชาวญี่ปุ่นประมาณ 13,000 คนที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ
ในขณะที่จำนวยนักศึกษาอเมริกันในมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมีเพียง 800 คนเท่านั้น
ในปี 1985 มีชาวญี่ปุ่น 95 คนที่ได้รับปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์จากสถาบันของสหรัฐฯ
ที่ NATIONAL INSTITUTES OF HEALTH ในรัฐแมรี่แลนด์ นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นนักวิทยาศาตร์ต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุที่ทำงานอยู่ที่นี่คือมีจำนวนมากกว่า
300 คน เปรียบเทียบกับจำนวนนักวิจัยต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่ทำงานอยู่ที่
NATIONAL LABORATORY FOR HIGH EMERGY PHYSICS ของญี่ปุ่นมีประมาณ 35 คนเท่านั้น
บริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่นให้ทุนการศึกษาและการวิจัยในระดับศาสตาจารย์ที่ MIT
จำนวน 14 ทุน และกำลังหว่านเงินบริจาคไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ จากการสำรวจของ
NATIONAL SCIENCE FOUNDATION เงินช่วยเหลือเหล่านี้เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านเหรียญในปี
1983 เป็น 9 ล้านเหรียญในปี 1985
ในระบบการจ้างงานของญี่ปุ่น บริษัทจะรับสมัครพนักงงานตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่
แล้วทำการฝึกอบรมตามวิธีการของตนเอง นักวิจัยญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่ถูกส่งตัวไปที่สหรัฐฯ
จึงมีฐานะเป็นพนักงานของบริษัทไม่ใช่นักวิชาการ ทำให้บริษัทสหรัฐฯที่นักวิจัยพวกนี้ไปทำงานอยู่ด้วยกลัวว่าพวกนี้จะนำเอาเทคโนโลยีกลับไปญี่ปุ่นด้วยและใช้ในการผลิตสินค้าออกมาแข่งกับสินค้าของตน
ฝ่ายญี่ปุ่นเองคัดค้านความเห็นเช่นนี้ MICHIYUKI UENOHARA ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ
NEC ยืนยันว่า เขาไม่ได้ส่งคนพวกนี้ไปเพื่อเอาเทคโนโลยีกลับมา แต่เพื่อพัฒนาสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสริมสร้างทักษะในการแก้ปัญหาของคนพวกนี้
UENOHARA ซึ่งได้รับปริญญาเอกทางวิศวกรรมจากโอไฮโอ ทำงานอยู่ที่ BELL LABS
ของ AT&T นักวิทยาศาสตร์อเมริกันเองก็เห็นด้วยว่านักวิจัยญี่ปุ่นได้สร้างผลงานชั้นเลิศ
R.M. LATANISON ศาสตราจารย์ทางด้านสสารวิทยาของ MIT กล่าวว่านักวิจัยญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่กับเขานั้น
"ทำงานหนักและมีผลงานที่ดีเยี่ยม" สิ่งที่แตกต่างจากนักวิจัยที่มาจากประเทศกำลังพัฒนาคือ
นักวิจัยญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านภายหลังจบการศึกษาหรือทำงานเสร็จพร้อมทั้งนำเอาความรู้ใหม่ๆ
กลับไปด้วย
อีกวิธีหนึ่งในการหยิบฉวยเอาผลงานจากสมองของนักวิจัยอเมริกันไปใช้คือ ญี่ปุ่นออกเงินแล้วให้อเมริกันเป็นคนคิด
การลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา (RESEARCH AND DEVELOPMENT) ของบริษัทใหญ่ๆ ของญี่ปุ่น
เกือบ 50% เป็นการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐฯ ญี่ปุ่นมีความสนใจบริษัทเล็กๆ
ที่มีความคิดในการสร้างสิ่งใหม่ MARK RADTHE รองประธานของ VENTURE ECONOMICS
ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจในแมสซาซูเสท กล่าวว่า ในระหว่างปี 1980-1982
ญี่ปุ่นใช้เงิน 2-3 ล้านเหรียญลงทุนกับบริษัทเหล่านี้จนถึงปี 1986 ตัวเลขการลงทุนนี้เพิ่มขึ้นเป็น
200 ล้านเหรียญต่อปี ในความเห็นของ RADTHE บริษัทพวกนี้เป็นบริษัทเกิดใหม่ที่ขาดแคลนเงินทุนการลงทุนของญี่ปุ่นจะทำให้พวกนี้เข้าไปแข่งขันในตลาดแถบเอเชียได้
แต่ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็จะได้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยไม่ต้องใช้เวลามากนักเป็นการตอบแทน
ความก้าวหน้าของญี่ปุ่นสามารถวัดได้จากจำนวนสิทธิบัตรของญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ
ในปี 1986 สำนักงานสิทธิบัตรของสหรัฐฯ ได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรของญี่ปุ่นจำนวน
14,000 สิทธิบัตร เทียบกับสิทธิบัตรของสหรัฐฯ เอง 38,000 สิทธิบัตร และเชื่อกันว่า
มีชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนที่ได้จดทะเบียนสิทธิบัตรเกี่ยวกับ SUPERCONDUCTIVITY
ในบ้านของตัวเอง ซึ่งบริษัทของสหรัฐฯหาว่าการกระทำเช่นนี้เป็นความพยายามที่จะยึดครองตลาด
SUPERCONDUCTER ไว้ในมือของญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว RISABURO NEGU นักวางแผนทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐานของ
MITI กล่าวว่าอาจจะเป็นการป้องกันตัวเองของญี่ปุ่นในกรณีที่ใครบางคนในสหรัฐฯ
อาจจะอ้างสิทธิในสิทธิบัตรพื้นฐานเพื่อกันผู้อื่นออกไป เหมือนที่ CORNING
ได้ทำในเรื่อง FIBER OPTICS แต่ GERHARD PARHER ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเทคโนโลยีของ
INTEL ซึ่งเป็นผู้ผลิต CHIP ในแคลิฟอร์เนียมีความเห็นว่า สิทธิบัตรของญี่ปุ่นจะส่งผลในอนาคตเมื่อสิทธิบัตรของสหรัฐฯ
หมดอายุลง แต่สิทธิบัตรที่ใหม่กว่าของญี่ปุ่นยังมีผลบังคับอยู่ สหรัฐฯ จะต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าธรรมเนียมให้ญี่ปุ่นในอัตราที่สูงขึ้น
ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นได้ก้าวมาถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ
อีกต่อไป อาจจะเป็นเพราะว่าญี่ปุ่นได้สิ่งที่ดีที่สุดไปไว้ในมือของตนแล้วก็ได้
GENYA CHIBA ผู้อำนวยการของ JAPAN'S EXPLORATORY RESEARCH FOR ADVANCED TECHNOLOGY
PROGRAM โอ่ว่า "เมื่อญี่ปุ่นมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นก็เป็นการยากที่จะหาเทคโนโลยีที่ดีกว่าจากที่อื่นได้"
เพื่อเป็นการส่งเสริมงานวิจัยพื้นฐานรัฐบาลญี่ปุ่นได้อัดฉีดเงินให้กับห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่
และกระตุ้นให้บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย BUN-ICHI OGUCHI ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ
FUJITSU กล่าวว่า FUJITSU ได้ใช้เงิน 1 ใน 3 ของงบประมาณการวิจัยไปในงานที่เกี่ยวกับการวิจัยขั้นพื้นฐาน
ตั้งแต่ปี 1985 NIPPON TELEGRAPH & TELEPHONE ยักษ์ใหญ่ทางด้านโทรคมนาคมได้เพิ่มจำนวนห้องทดลองจากเดิม
4 แห่งเป็น 11 แห่ง
ย้อนกลับไปที่คำถามของเจ้าหน้าที่สภาคองเกรสถึงความเป็นไปได้ ที่จะมีการแลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีของกันและกันอย่างเสมอภาค
ย่อมเป็นสิ่งแสดงถึงความกังวลว่า สหรัฐฯจะมีโอกาสใช้วิทยาการความรู้ใหม่ๆ
ของญี่ปุ่นได้หรือไม่ และก็เป็นการยอมรับต่อความเป็นคู่แข่งใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะใช้เทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นคิดค้นขึ้น เหตุผลหนึ่งก็คือ
งานวิจัยพื้นฐานส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ นั้น กระทำโดยมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานของรัฐบาล
ผลงานวิจัยจึงเป็นของสาธารณชน แต่ในญี่ปุ่นงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นของบริษัทเอกชนผลงานจึงเป็นสมบัติส่วนตัวของบริษัทเหล่านั้น
AARON GELLLMAN ประธานของบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจแห่งหนึ่งแสดงความเห็นว่าเป็นความบกพร่องของสหรัฐฯ
เองด้วยที่ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขขอใช้เทคโนโลยีที่ญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีที่ซื้อไปจากสหรัฐฯในครั้งแรก
"เราทนงตัวและเชื่อว่าไม่มีใครจะปรับปรุงเทคโนโลยีของเราได้" GALLMAN
กล่าว
นักวิทยาศาสตร์และบริษัทของสหรัฐฯ เองก็เป็นฝ่ายที่ปล่อยให้โอกาสที่จะใช้ความรู้ของญี่ปุ่นเทคโนโลยีของญี่ปุ่นหลุดลอยไป
"ปัญหาของเราคือการขาดความกระตือรือร้น" เป็นความเห็นของ MARTIN
ANDERSON นักวิเคราะห์ของ MAC GROUP บริษัทที่ปรึกษาใน MASSACHUSETTS เขาบ่นว่าเอกสาราทางเทคนิคของญี่ปุ่นที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมีน้อยเกินไป
และนักวิทยาศาสตร์อเมริกันก็ไม่ค่อยเดินทางไปต่างประเทศด้วย ANDERSON กล่าวว่า
"คุณจำเป็นต้องออกไปพบเห็นสิ่งใหม่ๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อที่จะได้เกิดความคิดใหม่ๆ
ขึ้น"
จากการสำรวจของ NATIONAL SCIENCE FOUNDATION มีบริษัทญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่จำนวนประมาณครึ่งหนึ่ง
ที่ยินดีจะรับนักวิทยาศาสตร์อเมริกันเข้าทำงานในห้องทดลองของตนมากกว่าที่ทาง
NATIONAL SCIENCE FOUNDATION คาดไว้เสียอีก แต่มีผู้ที่สมัครไปน้อยมาก สาเหตุก็คือปัญหาด้านภาษาและความเชื่อว่าไม่มีสิ่งที่จะให้เรียนรู้มากนักในญี่ปุ่น
RICHARD J.SAMUELS ผู้อำนวยการของ MIT-JAPAN SCIENCE AND TECHNOLOGY PROGRAM
พูดถึงเพื่อนร่วมชาติของตนว่า "คนอเมริกันกลายเป็นคนที่ค่อนข้างคับแคบ
พวกเขาไม่อ่านนิตยสารต่างประเทศ และไม่รู้ภาษาต่างประเทศสักภาษาเดียว"
MIT และมหาวิทยาลัยอีกเพียงไม่กี่แห่งได้เริ่มโครงการภาษาญี่ปุ่นสำหรับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร
มีการแปลสิ่งตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่นและใส่เข้าไปในระบบฐานข้อมูลของสหรัฐฯมากขึ้น
ญี่ปุ่นกำลังพยายามปรับบทบาทของตัวเองในฐานะผู้นำใหม่ทางวิทยาศาสตร์ "เรายอมรับว่าชาวต่างชาติยังไม่มีโอกาสมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านวิทยาศาสตร์ของเรา"
CHIBA กล่าว แต่เขาเชื่อว่า กำลังมีความคิดเห็นพ้องต้องกันว่ารัฐบาลและห้องทดลองของบริษัทเพราะ
"เรายังไม่เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นที่ที่นักวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ จะได้พิสูจน์ตัวเอง"
ในขณะที่ญี่ปุ่นกำลังเปิดตัวเองให้มากขึ้น บริษัทของสหรัฐก็กำลังปกป้องเทคโนโลยีของตนมากขึ้นโดยให้ความสนใจและติดตามการละเมิดสิทธิบัตรอย่างจริงจัง
รวมทั้งมีความระมัดระวังมากขึ้นในการร่วมกิจการและการอนุญาตให้บริษัทต่างชาติใช้เทคโนโลยีของตน
WHILLIAM NORRIS ประธานกิตติมศักดิ์ของ CONTROL DATA เตือนว่าการแลกเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีอย่างทัดเทียมกันต้องอาศัยความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายและความอดทน
เขากล่าวว่า "อาจจะต้องใช้เวลาถึง 10 ปีที่เราจะไปถึงจุดที่ต้องการ
ขอให้เราหันหน้ามาหามันและลงมือทำ ก่อนที่ทุกอย่างจะอยู่เหนือการควบคุม"