เมื่อพูดถึงเพชร ก็ต้องพูดถึง DE BEERS จาก ค.ศ.1930 มาถึงวันนี้ ถ้าเป็นคนก็ต้องถือว่าจวนเกษียณ
เพราะผ่านมรสุมชีวิตมาเกือบ 60 ปี ที่ครองความเป็นคาร์เทล (CARTEL) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการเพชร
ในขณะที่ความตกลงโภคภัณฑ์ (COMMODITY AGREEMENT) หรือคาร์เทลอื่นๆ "พัง"
ไปกับกระแสวิปริตของเศรษฐกิจโลก แต่ DE BEERS ก็ยังอยู่รอดมาได้อย่างพลิกความคาดหมายของใครๆ
หลายคนและยังสามารถโอบอุ้มเมืองเพชรทั้งหลายไว้ได้แม้ในยามตลาดเพชรฟุบ อย่างในช่วงล่าสุดคือ
ค.ศ. 1980-1984 สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นกลยุทธ์อันไร้เทียมทานของระบบบาร์เทลของ
DE BEERS ซึ่งเราจะคุยกันในรายละเอียดต่อไป แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันนี้
DE BEERS ซึ่งเราจะคุยกันในรายละเอียดต่อไป แต่ในขณะเดียวกันปัจจุบันนี้
DE BEERS ก็ต้องเผชิญกับกระแสการบอยคอต (BOY COTT) เพชรดิบจากอัฟริการใต้ในสหรัฐอเมริกาเพราะนโยบายการเหยียดผิว
(APARTHEID) ซึ่งนับเป็นตัวแปรใหม่ซึ่งจะพิสูจน์ว่า DE BEERS จะยังคงครองจ้าวยุทธจักรวงการค้าเพชร
ดังที่ SIR ERNEST OPPENHEIMER ตั้งใจไว้หรือเปล่า
ก่อนอื่น ขอแนะนำ DE BEERS สักเล็กน้อย เราจะข้ามลักษณะพิเศษของคาร์เทล
DE BEERS อันยากที่ใครจะเลี่ยนแบบไปเสียก่อน กระบวนการขายเพชรระดับโลก (รูปประกอบหมายเลย
1) เริ่มจากการที่ DE BEERS ทำสัญญาซื้อเพชรดิบจากเหมืองในออสเตรเลี่ย บอตสวานา
นามิเบีย อัฟริการใต้ซาอีร์และสหภาพโซเวียตรวมทั้งที่ซื้อในตลาดเปิด หลังจากนั้นก็ส่งเพชรดิบไปยังสาขาของ
DE BEERS ที่ลอนดอน ที่ลอนดอนนี่เอง DE BEERS จะคัดเพชรใส่กล่อประมูลขายที่เรียกกันว่า
SIGHTS ได้แก่ SIGHT HOLDERS กว่า 300 คน ที่เป็นผู้เจียระไนรายใหญ่ๆ ซึ่งจะขายต่อให้ผู้เจียระไนที่อันท์เวอร์ป
(ANTWERP) เทลาวีฟ (TEL AVIV) และบอมเบย์ (BOMBAY) และหลังจากนั้น จึงจะมาถึงมือผู้ซื้อเพชรเจียระไนเพื่อขายปลีกให้แก่ลูกค้าอีกทีหนึ่ง
แต่ไหนแต่ไรมา DE BEERS สร้างภาพพจน์ในสายตาชาวโลกว่า การผูกขาดของตนนั้น
คือ ความเป็นความตายของธุรกิจการค้าเพชร ในช่วง 50 ปีแรกคือการปี ค.ศ. 1930-1980
ใครๆ ก็เชื่อเช่นนั้นแต่พอมาถึงช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1980-1984 ตลาดเพชรเม็ดใหญ่ฟุบ
ราคาเพชรเกรด "D" (D COLOUR, ONE CARAT, BEST QUALITY) ซึ่งถือว่าดีที่สุดบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิใดๆ
ตกฮวบจาก 60,000 เหรียญสหรัฐฯ เหลือเพียงหมื่นเดียว ใครๆ เชื่อว่าอวสานของ
DE BEERS มาถึงแล้วแต่ปรากฏว่า ความคาดการณ์ของใครต่อใครผิดถนัด
ที่นี้ก็มาถึงคำถามที่ว่า DE BEERS สามารถกำหัวใจของการคุมตลาดไว้อย่างเหนียวแน่ได้อย่างไร
กลยุทธ์ในการคุมการผลิต การค้าและอุปสงค์ (DEMAND) เพชรของ DE BEERS สลับซับซ้อนแค่ไหน
การฟื้นตัวที่น่าพิศวงเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982 ตอนนั้น ใครๆ คาดกันว่า เงินสดที่
DE BEERS มีอยู่ประมาณ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯนั้น ไม่พอที่จะพยุงตลาดเพชร
(อันที่จริงแล้ว ก็ไม่พอ DE BEERS จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจำนวนมหาศาลเบ็ดเสร็จแล้วจนถึงปี
ค.ศ. 1984 สูงถึง 900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ความอยู่รอดของคาร์เทล DE BEERS
ยังถูกคุกคามโดยซาอีร์ซึ่งเป็นผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ที่สุดในโลก (ส่วนมากเป็นเพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรม)
ซึ่งต้องการลดอิทธิพลของระบบคาร์เทล นอกจากนี้เหมือง ARGYLE ของออสเตรเลียวางแผนขยายการผลิตซึ่งจะทำให้ปริมาณผลผลิตเพชรที่ปากเหมืองของโลกสูงขึ้นถึง
40% ต่อปี (ออสเตรเลียเองก็ต้องการขายเพชรนอกระบบคาร์เทล) ซึ่งหมายความว่าเป็นครั้งแรกที่
DE BEERS ต้องพบศึกหนักรอบด้านนับแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี ค.ศ. 1930
เพื่อสู้ศึกหนักคราวนี้ DE BEERS วางหมากกลยุทธ์อย่างแยบคายทันที กล่าวโดยสั้นๆ
ก็คือ ทำอย่างไรที่จะสามารถพยุงตลาดเพชรโดยไม่ต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงเกินไป
ทำอย่างไรที่จะดึงซาอีร์ให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบคาร์เทล และทำอย่างไรจะสามารถเก็บกว้านซื้อเพชรที่ดีที่สุดของ
ARGYLE มาไว้ในครอบครอง
คำตอบก็คือ DE BEERS อาศัยระบบคาร์เทลของตนในการคุมตลาดเพชรตั้งแต่ขั้นแรกคือ
การคุมการผลิต การค้าจนกระทั่งไปถึงการคุมอุปสงค์เพชร
การคุมการผลิต
องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการคุมตลาดคือ ป้องกันมิให้ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งค้าขายนอกระบบได้อย่างสะดวก
DE BEERS ใช้วิธีที่ค่อนข้างจะแพงสักหน่อยแต่ไม่ถึงกับล้มละลายกล่าวคือ ในเวลาที่เพชรราคาตก
DE BEERS ยอมจ่ายเงินซื้อเพชรราคาสูงกว่าที่อื่นๆ ให้แก่ผู้ผลิตดังนั้นผู้ผลิตเหล่านี้จึงไม่มีแรงจูงใจให้คิดไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจาก
DE BEERS นาย GARY RALFE ผู้อำนวยการ CENTRAL SELLING ORGANIZATION (CSO)
ถึงกับยืนยันว่า ความสามารถของ DE BEERS ในการคุมตลาดไว้นั้นเห็นได้ชัดเจนที่สุดยามตลาดอยู่ในภาวะวิกฤติประเทศซาอีร์นั้นหวนกลับเข้ามาสู่ระบบคาร์เทลทันทีที่เพชรราคาตกต่ำ
ดังนั้นในช่วงที่เพชรราคาตก ปัญหาของ DE BEERS มิได้อยู่ที่ว่า บรรดาผู้ผลิตจะพากันหนีไปทำการซื้อขายนอกระบบคาร์เทล
แต่อยู่ที่ว่า จะหาเงินจำนวนมหาศาลไว้ให้เพียงพอในการดึงผู้ผลิตเหล่านี้ไว้ในคาร์เทลต่อไปได้อย่างไร
อันที่จริงแล้ว การให้ราคาสูงในขณะที่ตลาดอยู่ในภาวะวิกฤติย่อมก่อให้เกิดปัญหาอุปทานส่วนเกิน
(EXCESS SUPPLY) ทั้งอาจทำให้ผู้ซื้อล้มละลายได้ดังเช่น สภาดีบุกระหว่างประเทศ
แต่ DE BEERS มีวิธีหลีกเลี่ยงชะตากรรมดังกล่าว โดยอาศัยการใช้โควตาอย่างฉลาดกล่าวคือ
ในปีหนึ่งๆ ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ จะต้องเซ็นสัญญาขายเพชรจำนวนหนึ่งให้ DE BEERS
ดังนั้น เวลาตลาดอ่อนตัวและการขายตกลง โควตาเหล่านี้จะลดลงโดยปริยายเท่ากับเป็นการผ่อนภาระในการปรับตัวของตลาดไปที่เหมือง
และเท่ากับว่า DE BEERS สามารถคุมสต๊อกและประหยัดเงินไปได้มากมายจากการที่จะต้องซื้อเพชรโดยให้ราคาสูงเพื่อพยุงตลาด
เมื่อใช้ไม้อ่อนข้างต้นแล้ว DE BEERS ก็ใช้ไม้แข็งควบคู่ไปด้วย ไม้แข็งที่ว่าคือ
DE BEERS สามารถเพิ่มปริมาณเพชรเกรดใดๆ ในตลาดก็ได้ เพชรจากเหมืองเพชรแต่ละแห่งนั้นเป็นลักษณะเฉพาะของเหมืองนั้นๆ
ดังนั้น สมมติว่าเหมืองที่ผลิตเพชรขนาดกลางแอบไปค้าขายนอกระบบ DE BEERS ก็สามารถอัดฉีดเพชรลักษณะเดียวกันเข้าสู่ตลาด
ดังนั้น ผู้ผลิตส่วนใหญ่จำต้องยืนหยัดอยู่ข้าง DE BEERS ต่อไป
ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งของ - DE BEERS คือเหมืองของ DE BEERS เป็นเหมืองเพชรคุณภาพดีราคาถูกแห่งหนึ่งของโลกทีเดียว
ทำนองเดียวกับบ่อน้ำมันของซาอุดิอาระเบียที่คอยพยุงตลาดในยามวิกฤติ DE BEERS
ร่วมกับรัฐบาลของบอตสวานาเป็นเจ้าของเหมือง JWANENG ซึ่งกล่าวได้ว่า ดีที่สุดในโลก
เหมือง JWANENG ผลิตเพชรทุกประเภท ตั้งแต่เม็ดใหญ่มูลค่ามหาศาล จนกระทั่งเม็ดเล็กๆ
ทว่าน้ำงาม เหมืองดังกล่าวได้เริ่มทำการผลิตอย่างเต็มที่เมื่อเร็วๆ นี้ และคาดว่า
จะมีอายุประมาณ 100 ปี การดำเนินงานของ DE BEERS ในบอตสวานานับว่าได้กำไรดีแม้กระทั่งในช่วงที่ตลาดตกต่ำเมื่อเร็วๆ
นี้ บอตสวานามีรายได้จากการส่งออกเพชรเพิ่มขึ้นจาก 238 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปี ค.ศ. 1984 อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า DE BEERS ไม่ได้ปนเพชรของตนในบอตสวานากับเพชรจากอัฟริกาใต้
นอกจากนี้ เหมืองของ DE BEERS เองก็เป็น SWING PRODUCER ในยามตลาดฟุบเมื่อคราวที่ตลาดอ่อนตัวครั้งล่าสุด
DE BEERS ปิดเหมือง 2 แห่ง หยุดการผลิตทั้งหมดและสต๊อกเพชรที่เหมือง DE BEERS
ก็เตรียมจะเปิดเหมืองที่ KOFFIEFONTEIN อีกครั้ง
ข้อที่น่าสังเกตคือ DE BEERS ดำเนินงานด้วยความแยบคาย เห็นได้ชัดจากกรณีเพชรจากรัสเซียสามารถตกไปถึงมือผู้เจียระไนผ่านระบบของ
DE BEERS โดยที่รัสเซียไม่เสียหน้าหรือเสี่ยงต่อการถูกตราหน้าว่า ค้าขายกับอัฟริกาใต้
คาดกันว่าสักวันหนึ่ง จีนเองก็คงต้องมาร่วมในคาร์เทลด้วย ซึ่งในขณะนี้ DE
BEERS ก็ได้ไปตั้งสาขาขึ้นแล้วในจีนเพื่อช่วยจีนแสวงหาแหล่งเพชรใหม่อยู่แล้ว
การคุมการค้าเพชร
ถัดจากขั้นการผลิต DE BEERS คุมการค้าเพชรดิบ (ROUGH DIAMOND) โดยทำตัวเป็นผู้จัดการมูลภัณฑ์กันชน
(BUFFER STORK MANAGER) คือใช้การซื้อและขายเพชรคุมตลาด และยังอาศัย EXTERNAL
BUYING OFFICES ของตนในต่างประเทศโดยเฉพาะในคินชาเซ่ (KINSHASA) และ อันท์เวอร์ป
(ANTWERP) ซึ่งคอยดักซื้อเพชรจากเหมืองนอกข่ายของ DE BEERS ยกตัวอย่างซาอีร์อีกสักครั้ง
ในชั้นนี้ เพชรที่ผลิตในซาอีร์เกือบทั้งหมดจะถูกกว้านซื้อโดยพ่อค้าอิสระราว
15 คนในคินชาซ่า (มีแต่เพชรที่เหมืองมิบา (MIBA) เท่านั้นที่ทำสัญญากับ DE
BEERS) ดังนั้น EXTERNAL BUYING OFFICES ของ DE BEERS ในคินชาซ่า จะต้องแข่งขันกับพ่อค้าอิสระเหล่านี้
ในช่วงที่ตลาดอ่อนตัว EXTERNAL BUYING OFFICES ของ DE BEERS จะกว้านซื้อเพชรที่ล้นตลาดโดยให้ราคาดีกว่าพ่อค้าอิสระดังที่ได้กล่าวไปแล้วในเรื่องการคุมการผลิต
ส่วนในเวลาที่เพชรราคาดีสำนักงานเหล่านี้ก็สามารถซื้อเพชรตามราคาที่ตนเห็นว่าเหมาะสม
EXTERNAL BUYING OFFICE ของ DE BEERS ในคินชาซ่า จะต้องดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่บริษัทตั้งไว้อย่างเข้มงวดคือ
ห้ามจ่ายสูงเกินราคาซื้อทางการ (OFFICIAL BUYING PRICE) ที่ DE BEERS ตั้งไว้
และไม่ปล่อยให้ตัวเองถูกใช้เป็นหมากในเกมซื้อขายโดยพ่อค้าอิสระ วิธีการของ
DE BEERS คือ พ่อค้าของ DE BEERS จะเสนอราคาให้แก่พ่อค้าอิสระ และถ้าตกลงกันไม่ได้
ธุรกิจก็จบลงแค่นั้น หรือหากพ่อค้าอิสระพยายามจะขายเพชรทุ่มตลาดซึ่งกำลังฟุบในอันท์เวอร์ป
มาตรการขั้นต่อไปก็คือ EXTERNAL BUYING OFFICE ของ DE BEERS ในอันท์เวอร์ป
จะกว้านซื้อเพชรทั้งหมดเสียเอง
นายหน้าคนต่อไปคือ ผู้เจียระไนเพชรทั้งหลายจะถูก DE BEERS ต้อนเข้ามาอยู่ในระบบ
เพชรที่ DE BEERS ขายนั้นมีมากกว่า 3,000 ชนิด แต่ผู้เจียระไนไม่มีสิทธิ์เลือกซื้อเพชรแต่อย่างใด
ทุกๆ ปีจะมีการเปิดประมูลซื้อเพชรดิบเป็นกล่องๆ ที่เรียกว่า SIGHTS ประมาณ
10 ครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นลอนดอน โยฮันเนสเบอร์ก คิมเบอร์ลี่ หรือ ลูเซิน
เพชรในแต่ละกล่องอาจจะตรงหรือไม่ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ (SIGHT HOLDERS)
ผู้ซื้อจะต้องซื้อทั้งกล่องหรือไม่ก็ไม่เอาทั้งกล่อง โดยที่ไม่มีสิทธิ์เลือกเพชรในกล่อง
และไม่มีการต่อรองราคา (กล่องหนึ่งตกประมาณ 1 ล้าน - 25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
ถ้ามีพ่อค้าแอบไปหาซื้อนอกระบบ SIGHTHOLDERS คนที่ไปขายให้กับพ่อค้าคนหนึ่งจะถูก
DE BEERS ลงโทษอย่างเจ็บแสบ คือจะพบเพชรปลอมเม็ดหรือสองเม็ดในกล่องในการประมูลครั้งต่อไป
ซึ่งเท่ากับว่าสูญเงินไปเปล่าๆ ครั้งละ 50,000 เหรียญสหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย
การขายเพชรแบบเหมากลอ่งช่วยให้มีเพชรสนองความต้องการของตลาดในยามขาดแคลน
และที่สำคัญพอๆ กันคือ ทำให้ปริมาณเพชรชนิดต่างๆ มีความสมดุลกันในช่วงที่ตลาดเพชรฟุบโดยเฉพาะเพชรเม็ดใหญ่
ในระหว่าง ค.ศ. 1980-1984 DE BEERS ยุติการบรรจุเพชรเม็ดใหญ่หายากซื้อเวลาซื้อขายปีก
ช่วยให้เพชรเม็ดใหญ่สามารถหวนมาปรากฎโฉมหน้าในตลาดอีกครั้งหนึ่งในขณะนี้
ในขณะเดียวกัน DE BEERS ก็สะสมเพชรในสต๊อกเอาไว้เรื่อยๆ ทั้งที่ตนผลิตเองและที่ซื้อจากภายนอก
โดยไม่มีการลดราคาที่จ่ายให้แก่เหมืองเลย (อาจจะมีลดแบบไม่เป็นทางการ)
หลักเกณฑ์ในการคัดเพชรใส่กล่องนั้นต้องอาศัยความรู้เรื่องขอบข่ายการซื้อขายเพชรอย่างถ่องแท้
อิทธิพลของ DE BEERS เกิดจากการที่ DE BEERS สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้เจียระไนกำลังพยายามกักตุนเพชรชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่หรือไม่
โดยอาศัยการตรวจสอบบัญชีเพชร (DIAMOND AUDIT) DE BEERS จะตรวจบัญชีซื้อขายของลูกค้าของตนอย่างรวดเร็วและไม่บอกให้รู้ตัวล่วงหน้าที่เรียกว่า
SPOT CHECK DE BEERS จะบันทึกกำลังในการเจียระไนด้วยวิธีนี้ DE BEERS อ้างว่าปริมาณเพชรกว่า
80% เข้าสู่ตลาดโดยผ่านวิธีตรวจสอบดังกล่าว
สิ่งสำคัญประการสุดท้ายในการคุมตลาดเพขรของ DE BEERS คือ การควบคุมอุปสงค์
(DEMAND) เพชร โดยการโหมโฆษณาซึ่งเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพื่อดึงดูดชักชวนให้ลูกค้าซื้อเพชรประเภทที่ DE BEERS ต้องการจะขาย สมมติว่า
DE BEERS ต้องการขายเพชรราคา 200 ปอนด์ โฆษณาก็จะมุ่งไปที่ชายหนุ่มระดับชนชั้นกลางของอังกฤษที่พยายามใช้เพชรเป็นใบเบิกทางไปสู่หัวใจสาวหาก
DE BEERS จะขายเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดน้ำงามที่สุด ซึ่งจะเป็นตัวทำเงินให้ธุรกิจอย่างจริงจัง
DE BEERS ก็จะวาดภาพนักธุรกิจหนุ่ม บุคลิกสมาร์ท ในวอลสตรีทตกอยู่ในอ้อมกอดอันรัดรึงของนางแบบสาวสวยเพราะว่าเขาเพิ่งซื้อตุ้มหูเพชรคู่ที่แพงที่สุดให้เธอเป็นของกำนัล
หาก DE BEERS คิดจะระบายเพชรวงไปให้หมด DE BEERS ก็จะทำแหวนครบรอบแต่งงานฝังเพชรซีกโฆษณา
ก็จะอยู่ในรูปที่ว่าแหวนฝังเพชรแถวเป็นสัญลักษณ์แทนคำขอเธอแต่งงานครั้งแล้วครั้งเล่าของคู่รักของเธอ
เท่าที่พูดมาทั้งหมดนั้น มิได้หมายความว่าการดำเนินงานของ DE BEERS ดำเนินไปโดยราบรื่น
ปราศจากอุปสรรคหรือข้อเสียอื่นๆ ข้อเสียข้อแรกก็คือ แม้ว่าโฆษณาจะมีบทบาทมากในการสร้างอุปสงค์
(DEMAND) เพชร แต่โฆษณาเป็นเพียงตัวแปรตัวหนึ่ง ซึ่งยังต้องอิงกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา นอกจากนี้การโหมอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี
สาเหตุก็คือ ในสายตาของเราๆ ท่านๆ เพชรเป็นอัญมณีที่มีคุณค่าและควรมีไว้ในครอบครองเพื่อชื่นชม
มิใช่เพราะหวังในการลงทุน ดังนั้น DE BEERS จงไม่ควรที่จะต้องถงกับไหว้วอนหรืออ้อนวอนทางอ้อมให้คนซื้อเพชร
นอกจากนี้ DE BEERS ยังผิดพลาดในเรื่องของเวลาที่จะแทรกแซงตลาด พ่อค้าเพชรทั้งหลายคงจำได้ดีถึงช่วงปี
ค.ศ. 1950 ที่ราคาเพชรพุ่งพรวดเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ตลาดเพชรจวนจะล้มอยู่แล้ว
ช่วงที่ราคาเพชรสูงนี้แหละสร้างปัญหา ตามปกติเมื่อ DE BEERS เห็นว่าเพชรชนิดใดล้มตลาด
ก็จะหยุดขายเพชรชนิดนั้น แต่เวลาอาจจะต้องผ่านไปหลายเดือนทีเดียวกว่าจะมีผลต่อตลาดเพชรเจียระไน
นอกจากนี้อิทธิพลของ DE BEERS ที่มีต่อลูกค้าในวงการเพชรดิบมากกว่าลูกค้าในวงการเพชรเจียระไนอย่างเทียบกันไม่ได้ปัญหาก็คือบรรดาผู้เจียระไนเพชรสามารถรวมตัวกันได้ดีขึ้นทุกที
ต่อรองเก่ง ทำให้ DE BEERS ประสบความลำบากในการรักษาราคาที่ตนตั้งไว้กว่าจะไปถึงผู้ซื้อปลายทาง
กลุ่มพ่อค้าญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเมื่อตอนที่ DE BEERS ขึ้นราคาเพชรในปี
ค.ศ. 1986 พ่อค้าญี่ปุ่นรวมหัวกันซื้อน้อยลงทันที
รัสเซียก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้ตลาดเพชรปั่นป่วนได้ เพชรดิบของรัสเซียนั้นไม่เป็นปัญหา
เนื่องจากผ่านระบบของ DE BEERS อยู่แล้ว แต่การที่รัสเซียส่งออกเพชรเจียระไนคุณภาพดีเยี่ยมด้วยตนเองนั้นเป็นปัญหา
บรรดาพ่อค้าเพชรเกรงว่าเพชรจากรัสเซียราคาถูกอาจทะลักเข้าตลาดอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
แต่ในขณะนี้รัสเซียยังไม่ได้ส่งออกเพชรเจียระไนเป็นกอบเป็นกำ แต่รัสเซียยังไม่ได้ขึ้นราคาเพชรของตนเท่ากับ
DE BEERS ด้วยเหตุนี้ DE BEERS จึงกังวลกับ TOP END เช่นนี้มากกว่า BOTTOM
END เพราะช่วงที่จะทำกำไรให้แท้จริงคือช่วง TOP END นี้เอง
แต่ปัญหาที่หนักอก DE BEERS ที่สุดตอนนี้คือการลงโทษแอฟริกาใต้ทางเศรษฐกิจกรณีการเหยียดผิว
เพราะเพชรจากแอฟริกาใต้จะรวมอยู่ในรายการสินค้าที่สหรัฐฯ จะลงโทษแอฟริกาใต้ด้วย
หากแอฟริกาใต้ไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการเหยียดผิว ซึ่งหมายความว่า DE BEERS
จะถูกกระทบถึง 2 ทางคือ ขั้นแรก เพชรจากแอฟริกาใต้จะไม่สามารถนำมาขายในสหรัฐฯได้
เพราะคนอเมริกันจะต้องการหลักฐานแหล่งผลิตของเพชร และหากเกิดสงสัยว่าเพชรจากแอฟริกาใต้เข้ามาสหรัฐฯ
ผ่านประเทศที่สามเพชรทั้งหมดจะถูกกักไว้เพื่อตรวจสอบแหล่งกำเนิดก่อน ขั้นที่
2 และเป็นขั้นที่สำคัญกว่าขั้นแรกคือ คนอเมริกันอาจจะเลิกซื้อเพชรเนื่องจากคนส่วนมากเข้าใจกันอย่างผิดๆ
ว่าเพชรส่วนใหญ่ของโลกมาจากแอฟริกาใต้ (ดูรูปประกอบหมายเลย 2)
DE BEERS จะแก้ปัญหานี้อย่างไร
หลายๆ คนเสนอว่า อาจจะพยายามอ้างว่า เป็นธุรกิจระหว่างประเทศ หากสหรัฐฯ
ดำเนินการดังที่คาดไว้ จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเพชรทั่วโลก รวมถึงผู้เจียระไนอันท์เวอร์ป
เทลาวิฟและบอมย์บางคนก็เสนอว่า ให้แก้ภาพพจน์ในสายตาชาวโลกว่า DE BEERS มีเอี่ยวใกล้ชิดกับแอฟริกาใต้โดยย้ายบริษัทแม่มาไว้เสียที่ลอนดอน
และย้ายสาขาไปแอฟริการใต้ แต่วิธีนี้คงทำได้ลำบาก เพราะ DE BEERS เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
พ่อค้าอเมริกันที่ดังๆ เช่น นาย MICHAEL RAPAPORT แห่ง DIAMOND REGISTER
เสนอให้สหรัฐอเมริกาเปิดซื้อขายเพชรโดยตรงกับ BLACK AFRICA (ซึ่งได้แก่เขตตะวันตกและกลางค่อนไปทางใต้ของแอฟริกา
ยกเว้นภาคเหนือซึ่งเป็นชนชาติอาหรับ แอฟริกาใต้ และนามิเบีย) ซึ่งย่อมจะรวมถึงบอตสวานาที่
DE BEERS ร่วมกับรัฐบาลบอตสวานาเป็นเจ้าของกิจการเหมืองที่ JWANENG
หากจะกล่าวโดยสรุป ความสำเร็จของ DE BEERS นับว่ายากยิ่งที่ใครจะเลียนแบบ
หากจะเทียบกับคาร์เทลน้ำมันอย่างโอเปคก็หมายความว่า ถ้าซาอุดิอาระเบียจะเอาอย่าง
DE BEERS ก็จะต้องทำสัญญาซื้อน้ำมันส่วนใหญ่ของโลก โดยจ่ายราคาอย่างงามแต่จะใช้โควตาในสัญญาควบคุมทันทีที่ตลาดอ่อนตัว
นอกจากนี้ซาอุดิอาระเบียคงจะต้องสะสมน้ำมันจำนวนมหาศาล เวลาขายน้ำมันดิบก็ต้องขายทีละมากๆ
คละกันไปหลายชนิด และห้ามผู้กลั่นน้ำมันต่อรองราคาหรือเลือกซื้อชนิดใดชนิดหนึ่ง
โฆษณาก็ต้องสร้างค่านิยมให้คนติด สิ่งเหล่านี้มิใช่ของง่ายเลย เอกภาพของ
DE BEERS คือความสามารถที่จะยืนหยดอยู่ได้ในวงการเพชรยามตลาดอ่อนตัว แต่ในภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังประณามและทำสงครามเศรษฐกิจกับแอฟริกาใต้นั้น
เอกภาพในลักษณะดังกล่าวถูกท้าทายด้วยตัวแปรใหม่ซึ่งอาจจะทำให้เอกภาพในการคุมตลาดของ
DE BEERS นำไปสู่ความหายนะก็ได้