สคิบเผยหวังได้ส่วนแบ่งวงเงินปล่อยกู้รัฐวิสาหกิจ 10%หรือประมาณ 2 หมื่นล้าน ยันรับได้แม้มีมาร์จิ้นแค่ 1% เหตุความเสี่ยงต่ำ ขณะที่การปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจอื่นยังซบเซา ส่วนแนวทางการปล่อยสินเชื่อปีนี้ยังเน้นรายย่อย หลัง 2 เดือนแรกของปียังมีการเติบโตได้ดี
นางจรี วุฒิสันติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCIB เปิดเผยถึงกรณีการยื่นประมูลเป็นผู้ปล่อยกู้ร่วมให้กับรัฐวิสาหกิจในวงเงินรวม 2 แสนล้านบาทว่า ทางธนาคารได้เข้าร่วมยื่นซองประมูลในการปล่อยกู้ดังกล่าวในวงเงิน 10%ของวงเงินปล่อยกู้ทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างการผลการพิจารณาจากทางสำนักบริหารหนี้(สบน.) ซึ่งจะต้องนำข้อเสนอจากทุกสถาบันการเงินมาทบทวนรายละเอียดร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปและรายละเอียดที่ถูกต้องกับหลักเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หลังจากนั้น จึงจะนำข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณาว่าคัดเลือกในขั้นสุดท้าย โดยจะดูที่การเสนอราคาหรือดอกเบี้ยของธนาคารแห่งใดต่ำสุดเป็นหลัก
"การปล่อยกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจดังกล่าวถือเป็นโอกาสที่ดีในช่วงภาวะเช่นนี้ ซึ่งธนาคารเองก็ได้ยื่นไปแล้ว แต่ยังไม่ทราบผล เนื่องจากคงจะมีหลายสถาบันการเงินยื่นไปเช่นกัน แต่เรามองว่าในกรณีนี้แม้จะได้มาร์จิ้นแค่ 1% ก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย อีกทั้ง ยังเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐด้วย ซึ่งราคาที่่เสนอประมูลไปนั้น ก็จะขึ้นอยู่ต้นทุนเงินทุนของแต่ละธนาคาร และได้วงเงินมาเท่าไหร่ก็คงต้องรอผลการพิจารณาของสบน.ต่อไป"
สำหรับสินเชื่อของธนาคารในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายังมีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ จากการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยเป็นเป็นหลัก รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะสินเชื่อเคหะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากตัวเลขในปี 2551 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท จาก 3,000 ล้านบาท ในปี 2550 และในปี 2552 ยังน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"สินเชื่อทุกตัวโตขึ้นหมด แต่ที่นิ่งไปเป็นสินเชื่อรายใหญ่ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ในปีนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้น ขณะที่ลูกค้าขนาดใหญ่ก็คงจะไม่ขยายกิจการ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ส่วนผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี)ติดลบ แต่เชื่อว่าเป็นแนวโน้มที่เกิดทั้งระบบ ไม่ใช่แค่ธนาคารนครหลวงไทยเพียงรายเดียวแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง"
ก่อนหน้านี้ นางจรีได้กล่าวว่า ทางธนาคารมีนโยบายที่จะทยอยปรับลดสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่ภาครัฐบาลลงให้เหลือในระดับประมาณ 15% จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ซึ่งว่าเป็นระดับที่เหมาะสม เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวได้มาร์จิ้นในระดับที่ต่ำเพียง 1% เมื่อเทียบกับสินเชื่อที่ปล่อยให้กับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีมาร์จิ้นอยู่ที่ระดับ 2.5-3.5% และการปล่อยให้กับสินเชื่อเอกชนทั่วไปมีมาร์จิ้นอยูที่ระดับ 3-4%
อย่างไรก็ตาม การประมูลสินเชื่อโครงการภาครัฐในแต่ละครั้ง ธนาคารก็สามารถเก็บส่วนแบ่งทางการตลาด หรือ มาร์เก็ตแชร์ได้ประมาณ 10% หรือประมาณ 18,000 ล้านบาทของพอร์ตสินเชื่อรัฐบาลที่ 180,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อยข้างต่ำ เฉพาะนั้นในปีนี้ธนาคารจะยังคงตั้งเป้าขยายสินเชื่อเอกชนทั่วไปให้มากกว่าการปล่อยให้กับภาครัฐบาล
"ปีนี้แบงก์จะเข้าไปประมูลโครงการรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ โดยการเน้นโครงการที่เป็นความร่วมมือ ซึ่งมีภาครัฐเป็นผู้ค้ำประกันมากกว่าเป็นโครงการของภาครัฐโดยตรง แต่ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนโครงการรัฐที่บริหารจัดการหรือได้รับการสัมปทานผ่านบริษัทเอกชน เราก็พร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อเพราะมีมาร์จิ้นที่ดีกว่า" นางจรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี2552 ธนาคารได้ตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อรายใหญ่อยู่ที่ 2-4% หรือประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท จากยอดการอนุมัติทั้งหมดที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ที่ 40,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2551 ที่ได้มีการอนุมัติ 60,000 ล้านบาท จากยอดคงค้างสินเชื่อรายใหญ่ที่ 108,000 ล้านบาท สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ของสินเชื่อรายใหญ่มีอยู่ประมาณกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นโรงงานน้ำตาลประมาณ 4,500 ล้านบาท และที่เหลือเป็นโรงงานขนาดใหญ่อีก 3 โรงงานนั้น ในปีนี้ธนาคารได้ตั้งเป้าลด NPL ลงจากการเข้าไปแก้หนี้เสียให้กับลูกค้ารายเก่า และพยายามควบคุมและดูแลกลุ่มลูกค้ารายใหม่เพื่อป้องกันการเกิด NPL ขึ้นในอนาคต
ก่อนหน้านี้ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้กำหนดให้แต่ละธนาคารนำเสนอวงเงินปล่อยกู้พร้อมเงื่อนไขปรากฏว่ามีสถาบันการเงินที่ตอบรับการปล่อยเงินกู้กลับมา 8 แห่ง ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)
|