Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2531
การเงินของวาติกัน ข้างนอกสุกใส ข้างในกลวง             
 


   
search resources

United States
Financing




นานนับศตวรรษแล้วที่นครวาติกันได้สั่งสมบารมีเรื่อยมา ถ้าดูกันแต่ภายนอกก็ออกจะภูมิฐานสมฐานะสถาบันอันยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตำแหน่งผู้นำแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิกดูช่างเป็นสัญลักษณ์อันสง่างามอย่างที่หาที่เปรียบมิได้ทีเดียว เมื่อพินิจไปถึงวิหารเซนต์ปีเตอร์ที่วิจิตรตระการตาตลอดจนขุมทรัพย์งานศิลปะซึ่งไม่อาจประเมินค่าได้ในโลกปัจจุบันที่ถูกโน้มนำไปในทางวัตถุนิยมอย่างนี้ ศาสนจักรโรมันคาทอลิกทำหน้าที่เป็นหลักทางศีลธรรม บทบาทนี้มิได้เป็นที่ยอมรับเพียงเฉพาะในหมู่ผู้ศรัทธาเลื่อมใสจำนวน 840 ล้านคนในดินแดนหลากหลายไม่ว่าจะเป็นฮินดู มุสลิม หรือกระทั่งแผ่นดินคอมมิวนิสต์ หากยังส่งอิทธิพลกระทบไปถึงบรรดาผู้ที่ไม่ใช่ศาสนิกชนชาวคาทอลิกด้วย สันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจากนักบุญปีเตอร์มาเป็นลำดับที่ 263 และเป็นผู้ทรงความสามารถพิเศษได้ทรงเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสินทรัพย์ในศาสนจักรที่ปกครองอยู่อย่างแจ่มแจ้งราวกับกษัตริย์แห่งอาณาจักรทางโลกกระทำกัน

ภายหลังรอดพ้นจากการรุกรานของพวกอนารยชนฝ่าอุปสรรคขวากหนามนานาประการ ตลอดจนการแตกแยกกันเป็นบางครั้งบางคราวมาได้แล้ว ศาสนจักรแห่งองค์สันตะปาปากำลังเผชิญกับปัญหาของยุคสมัยปัจจุบัน นั่นคือภาวะความตึงเครียดทางการเงินอย่างรุนแรง รายจ่ายของนครวาติกันทวีขึ้นจนท่วมท้นรายรับ เงินที่นำมาใช้จ่ายชักจะพัวพันไปเบียดบังเงินบริจาคเพื่อการกุศล ซึ่งแต่ก่อนเคยกันไว้สำหรับคนยากจนโดยตรง เรื่องอื้อฉาวที่กล่าวขวัญกันทำให้ศาสนจักรโรมันคาทอลิกมัวหมองไปกลายเป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมาอุดหนุน จอห์น คาร์ดินัล ครอล แห่งฟิลาเดลเฟียผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฟื้นฐานะของนครวาติกันกล่าวว่ "เป็นวิกฤติการณ์จริงๆ เมื่อไรที่รายรับเกิดไม่พอกับรายจ่ายขึ้นมา มันก็ต้องมีปัญหาแน่ๆ อยู่แล้ว"

แม้จะดูภาคภูมิเพียงใดนครวาติกันก็ตกอยู่สภาพเกือบจะย่ำแย่ เมื่อปีก่อนทางสำนักสันตะปาปาซึ่งถือว่าป็นศูนย์กลางของฝ่ายบริหารแห่งศาสนจักร และเป็นหลักยึดเหนี่ยวทางใจของบรรดาศาสนิกชน มีรายได้ 57.3 ล้านดอลลาร์จากหลายแหล่งที่มา อาทิจากค่าธรรมเนียมในการประกอบศาสนพิธีรายได้จากสิ่งพิมพ์ จากโฆษณาที่ลงหนังสือพิมพ์ จากการขายม้วนเทปวิดีโอ รวมทั้งจากการลงทุนที่ให้ดอกผลคืนมา 18 ล้านดอลลาร์นครวาติกันคุมแหล่งเงินทุนได้น้อยกว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งในสหรัฐอเมริกาเสียอีก ถึงแม้จะใช้เงินลงทุนไปมากมายถึง 500 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตามสำนักสันตะปาปากลับใช้จ่ายสิ้นเปลืองเกือบเป็นสองเท่าของรายได้คือประมาณ 114 ล้านดอลลาร์ ราวครึ่งหนึ่งของเงินที่นำมาจ่ายเกินดุลไปก็คือ "เงินเศษของเซนต์ปีเตอร์" (PETER'S PENCE) ซึ่งหมายถึงเงินส่วนที่เรี่ยไรสะสมเพื่อถวายแด่องค์สันตะปาปาเป็นประจำทุกปี โดยรวบรวมจากวัดประจำตำบลทั่วโลก รวมทั้งเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาถวายโดยตรงต่อสันตะปาปาด้วย เมื่อก่อนนี้เงินเศษของเซนต์ปีเตอร์จะเอาไว้ใช้แต่ในกิจการการกุศลและงานเผยแพร่ศาสนาเท่านั้น แต่เพื่อดุลรายจ่ายทางวาติกันจึงนำเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ที่ยกยอดมาจากปี่ก่อนๆ ผสมผเสเป็นเงินงบประมาณสำรอง จากจำนวนเกือบ ล้านดอลลาร์ที่เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1984 เงินสำรองก้อนนี้ก็เกือบจะเกลี้ยงเสียแล้ว ศาสนจักรกลับนำเงินบริจาคที่มีจุดประสงค์เพื่อเป็นการกุศลแก่คนจนมาใช้เช่าเครื่องคอมพิวเตอร์และใช้จ่ายเป็นค่าจ้างแรงงานในการดำเนินกิจการศาสนาจักรเอง เจอรัลด์ เอมเม็ตต์ คาร์ดินัล คาร์เตอร์ แห่งโตรอนโตให้ความเห็นว่า "องค์สันตะปาปาไม่ควรจะต้องสิ้นเปลืองเงินส่วนพระองค์มารักษาดุลงบประมาณเลย"

การณ์กลับเลวร้ายลงไปอีกเมื่อแหล่งรายได้หลักที่สำนักสันตะปาปาใช้อุดรูรั่วทางการเงินอยู่ - คือเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ - ต้องประสบกับกระแสค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำเงินเรี่ยไรงวดที่สามที่รวบรวมกันตามประเพณีการจัดงานฉลองเซนต์ปีเตอร์ในเดือนมิถุนายนนั้นได้มาจากทางสหรัฐอเมริกา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แปรผันถูกลดทอนลงไปด้วยค่าเงินลีร์อิตาลีทำให้รายได้ส่วนนี้พลอยทรุดลงไปด้วยในช่วงปี 1985-1986 เงินรายได้ที่มาจากการเรี่ยไรและเงินบริจาคดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 28.6 ล้านดอลลาร์เป็น 32 ล้านดอลลาร์แต่พอใช้มาตรฐานเงินตราอิตาลีเข้าเทียบแล้วเงินก้อนนี้ก็กลับลดน้อยไปถึงเกือบๆ 10%

เมื่อเงินรายได้มีลักษณะไม่แน่นอนเช่นนี้การบริหารงบประมาณก็กลายเป็นเรื่องของโชคชะตาไป คาร์ดินัล คาร์เตอร์ บ่นว่า "ไม่มีทางจะรักษาประมาณให้สมดุลได้เลย"

เป็นวาระแรกในรอบศตวรรษที่องค์สันตะปาปาต้องแสวงหาแหล่งรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้นใหม่ สันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 มิใช่ผู้ละเลยปัญหา ท่านมีพระประสงค์จะขอให้บรรดาวัดประจำตำบลต่างๆ ทั่วโลกให้การอุดหนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับศาสนสถานในกลุ่มประเทศที่มั่งคั่งอย่างสหรัฐอเมริการ แคนาดา และเยอรมันตะวันตก

น่าแปลกที่นครวาติกันมาประสบภาวะตึงเครียดทางการเงินเอาเมื่อขณะที่ศาสนจักรโรมันคาทอลิกกำลังเฟื่องไปทั่วโลกอย่างนี้ หลังจากช่วงที่เคยเฟื่องไปทั่วโลกอย่างนี้หลังจากช่วงที่เคยเสื่อมไปในตอนปลายทศวรรษ 1960 จนถึงปลายทศวรรษ 1970 นั้นแล้ว จำนวนคริสตศาสนิกชนชาวโรมันคาทอลิกกลับเพิ่มขึ้นกว่า 7% ศาสนิกชนที่ทวีจำนวนขึ้นมีพอๆ กันทั้งในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยและยากจน แต่เพิ่มมากที่สุดในกลุ่มประเทศโลกที่สาม งานเผยแพร่ศาสนาอันแข็งขันและการออกเยี่ยมเยือนประชาชนในดินแดนต่างๆ ที่องค์สันตะปาปาทรงถือเป็นภารกิจประจำนั้น เอาชนะใจจนสามารถขยายวงผู้ถือศาสนาชาวคาทอลิกไปอย่างกว้างขวางในทวีปแอฟริกาและเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไนจีเรียและอินเดีย

การคลังของสำนักสันตะปาปามีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นจากจำนวนศาสนิกชนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในขณะที่ทางวาติกันเป็นฝ่ายวางรากฐานวินัยคำสอนและทรงอิทธิพลอย่างยิ่งต่สองสายงานหลักของศาสนจักรโรมันคาทอลิก คือนิกายย่อยต่างๆ และการปกครองคณะสงฆ์ซึ่งเป็นไปตามลำดับขั้น ทั้งสองสายงานนี้กลับพึ่งพาตัวเองได้ด้วยแหล่งรายได้ในท้องถิ่น แต่ละส่วนบริหารของนิกายย่อยตลอดจนแต่ละหน่วยการปกครองของสงฆ์ต่างก็เป็นองค์กรที่มีทรัพย์สินส่วนของตน ซึ่งทางสำนักสันตะปาปาไม่อาจเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยได้

ลำดับศักดิ์ของเหล่าสงฆ์ นางชี และบาทหลวงกำหนดขึ้นจากการปฏิบัติงานสอนศาสนา งานเผยแพร่ศาสนา และงานสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ตัวอย่างเช่น นิกายเยซูอิตซึ่งร่วมอยู่ในศาสนจักรโรมันคาทอลิกและผู้นำของนิกายได้รับการแต่งตั้งจากองค์สันตะปาปานิกายนี้มีสาขาใหญ่กว่า 80 แห่งทั่วโลกเมื่อแต่ละสาขานำเงินบริจาคไปลงทุนทางธุรกิจ หรือมีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมส่วนตัว เช่น โรงเรียนและบ้านพักฟื้น พระสงฆ์เยซูอิตจะจัดส่งเงินรายได้ไปยังสาขาใหญ่ เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการอบรมให้การศึกษาแก่พระเยซูอิตรุ่นเยาว์ต่อไปส่วนทางสาขาใหญ่ก็จะแบ่งเงินรายได้ส่วนหนึ่งส่งต่อไปยังฝ่ายบริหารชั้นสูง เพื่อใช้สนับสนุนการเผยแพร่ศาสนาในวงกว้างเมอร์ซิเออร์ลอเรนโซ อังตัวแนตต์ หัวหน้าฝ่ายบริหารแห่งพาตริมงต์ในสำนักสันตะปาปาชี้แจงว่า "คนทั่วไปมักเข้าใจไขว้เขวว่าทางสำนักมีรายรับมากมาย เพราะดูจากนิกายเยซูอิตบ้าง โดมินิกันบ้าง ที่จริงเงินนั่นไม่เกี่ยวอะไรกับเราสักนิด"

แต่ละแขวงการปกครองของศาสนจักรโรมันคาทอลิกจะดูแลหน่วยงานระดับตำบล เมื่อปีที่แล้วบรรดาแขวงการปกครองได้ช่วยปลดเปลื้องรายจ่ายของสังฆมณฑลแห่งนิวยอร์ก โดยมอบเงินอุดหนุนจำนวน 1.1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งได้จากเงินที่เรี่ยไรในโบสถ์ในช่วงฉลองยศคาร์นิวัลประจำปี ทางสังฆมณฑลยังได้เงินก้อนอย่างน้อยก็ 50 ล้านดอลลาร์จากการเรี่ยไรทั่วๆ ไป รวมทั้งผลกำไรค่อนข้างสูงที่ได้จากการลงทุนทางธุรกิจเป็นรายได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังมีแหล่งรายได้พิเศษอย่างคณะกรรมการกองทุนฆราวาสที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยรักษางบประมาณให้สมดุล (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากรายงานเกี่ยวกับแขวงการปกครองเล็กๆ ที่พยายามดิ้นรนเพื่อรักษาดุลรายรับรายจ่าย) ในบางประเทศทางรัฐบาลจะช่วยเก็บสะสมเงินก้อนให้แก่ศาสนจักรด้วย คริสตศาสนิกชนชาวคาทอลิกในเยอรมันตะวันตกจ่ายภาษีแก่ศาสนจักรอย่างเป็นทางการเป็นเงินถึง 8% ของภาษีเงินได้ในแต่ละปี ในปีที่ผ่านมานี้ "ศาสนภาษี" คิดเป็น 76% ของเงินได้จำนวน 517 ล้านดอลลาร์ที่สังฆมนฑลโคโลญจน์ได้รับ

ความเข้มแข็งทางการเงินของแขวงการปกครองตลอดจนเหล่านิกายย่อยดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องเกื้อหนุนศาสนจักรโรมันคาทอลิกแต่อย่างใดเลย นอกจากส่วนที่เป็นเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ เมื่อต้นสมัยของพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 พระองค์เริ่มตระหนักแล้วว่านครวาติกันจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้น จึงตกเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวิสามัญซึ่งประกอบด้วยคาร์ดินัล 15 รูปที่ทรงแต่งตั้งไว้ตั้งแต่ปี 1981 ในคณะกรรมการชุดนี้มีคาร์ดินัลสัญชาติอเมริกัน 2 รูป ได้แก่ คาร์ดินัล ครอลและ จอห์น เจ.คาร์ดินับ โอ'คอนเนอร์ แห่งนิวยอร์ก กับ คาร์ดินัล โอ'คอนเนอร์ แห่งนิวยอร์ก กับ คาร์ดินัล คาร์เตอร์ และเจม คาร์ดินัล ซิน พระราชาคณะผู้เป็นที่เลื่อมใสกันในกรุงมนิลาด้วย

การดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้คืบหน้าไปช้ามาก ในขณะเดียวกันที่ทางวาติกันก็จำต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน เนื่องเพราะบทบาทที่เข้าไปพัวพันกับการล้มละลายของบังโก เอมโบรเซียโนของอิตาลี ในปี ค.ศ. 1982 ทำให้ภาพพจน์ทางการเงินของวาติกันมีเงื่อนงำที่ออกจะลึกลับ กีเซปเป้ คาร์ดินัล คาปริโอ หัวหน้าฝ่ายงานงบประมาณของวาติกันให้ทรรศนะว่า "ภาพพจน์ของศาสนจักรโรมันคาทอลิกกำลังแย่เต็มที"

ส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาพพจน์ในแง่ลบก็คือปัญหาการปกปิดสภาพการคลังของทางวาติกันเองด้วย คาร์ดินัล คาร์เตอร์ แถลงว่า "พวกเราใช้เวลาผลักดันอยู่ถึง 5 ปีเพื่อให้เปิดเผยตัวเลขในบัญชีได้มากกว่านี้"

ความคืบหน้าเพิ่งปรากฎในปีนี้เองเมื่อทางวาติกันยอมเปิดเผยบัญชีการเงินแก่ศาสนจักรรอบนอกเป็นครั้งแรก เมื่อเดือนมีนาคมและอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ทางคณะกรรมการมีจดหมายถึงบิชอปผู้ดูแลแขวงการปกครอง 3,000 รูป รวมทั้งผู้นำนิยายย่อยทั่วโลก มีใจความขอร้องให้อุดหนุนด้วยจำนวนเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ที่สูงขึ้นในจดหมายแถลงถึงสภาวะการคลังของสำนักสันตะปาปาไว้ด้วย คาร์ดินัล ครอล คาดคะเนว่า "ถ้าหากเราต้องอุทธรณ์ไป เชื่อได้ว่าต้องถูกขอให้อธิบายเหตุผล"

การขอเงินเพิ่มเงินบริจาคในส่วนของเงินเศษเซนต์ปีเตอร์เป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น หลังจากการประชุมทุกรอบครึ่งปีผ่านไป 7 ปีแล้ว ทางคณะกรรมการก็ยังใคร่ครวญหาทางแก้ปัญหาในระยะยาวอยู่องค์สันตะปาปาเริ่มจะเหลืออด ถึงแม้ว่าพระองค์มิได้มีหน้าที่ต้องรับภาระแก้ปัญหางบประมาณของนครวาติกันก็ตาม ภาระนี้เป็นของ อากอสติโน คาซาโรลี เลขานุการประจำสำนักซึ่งถือเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารอยู่แล้ว แต่พระสันตะปาปาก็ติดตามการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้เรื่อยมาและดำริว่าพวกเขาออกจะเอื่อยเฉื่อยไปหน่อย

เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมในเดือนมีนาคมแล้ว คณะกรรมการคาร์ดินัลร่วมรับประทานอาหารกับองค์สันตะปาปา คาร์ดินัล คาร์เตอร์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเปิดเผยว่า "พระองค์พยายามเร่งเร้าให้เราขวนขวายหาทางแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลให้ได้เสียที" พระสันตะปาปาเริ่มแสดงบทบาทใหม่ที่นอกเหนือไปจากสถานภาพอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ในศาสนจักรแห่งนี้แล้ว ด้วยการเสนอทรรศนะที่แจ่มชัดในปัญหาทางการเงินออกมา

นครวาติกันประกอบขึ้นด้วยสายงานฝ่ายบริหาร 2 ส่วนคือ ฝ่ายนครรัฐและฝ่ายสำนักสันตะปาปา นครรัฐวาติกันซึ่งมีเนื้อที่ 108.7 เอเคอร์ ตั้งอยู่ในวงแวดล้อมของอาณาจักรเขตกรุงโรมเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนน้อยที่หลงเหลือจากศาสนจักรสันตะปาปาซึ่งเคยทรงอำนาจสูงส่งในอดีต ฝ่ายนครรัฐนี้มีเสถียรภาพทางการเงินอย่างยิ่ง ฝ่ายบริหารดำเนินการปกครองตัวเองในฐานะรัฐเอกราชที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกฝ่ายนครรัฐยังมีหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์วาติกันที่มีกองทหารสวิสจำนวน 200 คนเป็นกำลังรักษาการณ์อยู่ด้วย

ในปีที่แล้วฝ่ายนครรัฐมีรายได้ถึง 64 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ใช้จ่ายไปเพียง 6 ล้านดอลลาร์เท่านั้น งบประมาณส่วนที่เหลือก็จะเก็บสำรองเอาไว้จ่ายเป็นเงินก้อนแก่เจ้าหน้าที่ที่เกษียณอายุไป บรรดานักท่องเที่ยวก็เป็นส่วนที่ทำรายได้จำนวนไม่น้อย นักท่องเที่ยวจำนวน 1.8 ล้านคนทำให้ฝ่ายนครรัฐมีรายได้ถึง 9 ล้านดอลลาร์ จากค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์และการซื้อหาแสตมป์กับเหรียญที่ระลึกกลับไปฝ่ายนครรัฐมีความคล่องตัวในการเจรจาทางธุรกิจค่อนข้างสูง อย่างเช่นการรับอภินันทนาการจากบริษัทโทรทัศน์นิปปอนของญี่ปุ่นที่ช่วยบูรณะเพดานโบสถ์ซีสตินซึ่งมีภาพเฟรสโกฝีมือ ไมเคิล แองเจโล ประดับอยู่โดยให้เอกสิทธิ์ในการถ่ายภาพยนตร์ในบริเวณนี้แก่ทางบริษัทไปจนถึงปี ค.ศ. 1995

ฝ่ายสำนักสันตะปาปากลับมีปัญหาทางการเงินที่ยุ่งเหยิง ฝ่ายนี้มิได้ดูแลเพียงเฉพาะวัดวาอารามโดยทั่วไป แต่ยังดูแลเรื่องการเดินทางขององค์สันตะปาปา ดูแลคณะเผยแพร่ศาสนา 116 คณะทั่วโลก ทั้งยังดำเนินงานของสถานีวิทยุวาติกัน และหนังสือพิมพ์ของทางสำนักที่ใช้ชื่อว่า "ออสเซอร์วาดอร์โรมาโน" อีกด้วย งานเหล่านี้มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานมากมาย ประกอบด้วยคณะกรรมการ 40 คน รวมทั้งเหล่าฆราวาสจำนวนมาก มีคณะเลขานุการ คณะที่ปรึกษา ตลอดจนแผนกงานยิบย่อย บรรดางานที่ปฏิบัติกันนี้ก็ล้วยทำรายได้ให้แก่ฝ่ายศาสนจักรน้อยมาก จนไม่เพียงพอจะใช้ไปเกื้อหนุนเล่าผู้ยากไร้เพื่อเป็นการกุศลได้ตามที่ทางสำนักประสงค์

สภาที่ปรึกษาในสมัยพระสันตะปาปาจอห์น ที่ 23 เสนอให้ปรับปรุงสำนักสันตะปาปาให้มีบทบาทที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น ทางสภาลงมติให้ขยายขีดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนจักรโรมันคาทอลิกกับศาสนาหรือลัทธิความเชื่ออื่นๆ พร้อมทั้งขยายบทบาทในหมู่ฆราวาสทั่วไปด้วย เพื่อดำเนินตามนโยบายของสภาที่ปรึกษาซึ่งเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1962 สำนักสันตะปาปาจัดหน่วยงานเพิ่มเติมขึ้นอีกถึง 10 แผนก และตั้งกองเลขาธิการสำหรับดำเนินความสัมพันธ์กับศาสนิกชนในศาสนาอื่นโดยเฉพาะ กับยังมีแผนกที่รับปรึกษาปัญหาทางครอบครัวซึ่งช่วยเสริมบทบาทของศาสนจักรในหมู่ศาสนิกชนอีกด้วย

ในช่วงปี 1981-1986 รายจ่ายของสำนักสันตะปาปาเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองที่สุดได้แก่ ค่าจ้างแรงงานซึ่งขณะนี้คิดเป็น 57% ของยอดค่าใช้จ่ายรวมระหว่างทศวรรษ 1960-1970 แรงงานที่ไร้สหภาพในสำนักนี้ยังได้รับค่าแรงต่ำและประสบภาวะขัดสนในการครองชีพ ผู้ปฏิบัติงานฝ่ายสงฆ์มีรายได้ต่ำกว่าพวกลูกจ้างที่เป็นฆราวาส อย่างเช่นแม่ชีที่ทำงานในตำแหน่งนักวิจัยจะได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของฆราวาสที่ปฏิบัติงานอย่างเดียวกัน ผู้ปฏิบัติงานจำนวน 2,300 คนของฝ่ายสำนักสันตะปาปาเป็นสงฆ์ถึง 1,700 คน ส่วนผู้ปฏิบัติงานส่วนมากของฝ่ายนครรัฐกลับเป็นฆราวาส

เมื่อปี 1980 คนงานฝ่ายฆราวาสขู่จะนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และแสดงความเห็นใจต่อบรรดาผู้ร่วมงานฝ่ายสงฆ์ที่ได้รับค่าแรงต่ำมาก ทางผู้จ้างงานเองก็เข้าข้างฝ่ายคนงานเช่นกัน พระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ผู้เคยสนับสนุนสหภาพแรงงานโซลิดาริตี้ในโปแลนด์อย่างแข็งขัน ทรงมีดำรัสในการพบปะกับตัวแทนคนงานว่า พระองค์ยินดีที่จะให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานวาติกันขึ้น และแม้ว่าจะใช้ชื่อว่าสมาคมแรงงานฆราวาสวาติกัน แต่สมาคมนี้ก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ทั้งฝ่ายสำนักสันตะปาปาและฝ่ายนครรัฐ

สหภาพแรงงานที่ตั้งขึ้นสามารถแก้ไขปัญหาค่าจ้างงานต่ำได้ด้วยดี อัตราค่าแรงในสำนักสันตะปาปา รวมถึงเงินบำนาญเพิ่มขึ้นจาก 40 ล้านดอลลาร์ในปี 1984 เป็น 56 ล้านดอลลาร์ในปีนี้เอง ตามข้อสัญญาที่ตกลงกันใน ค.ศ. 1980 แล้วผู้ปฏิบัติงานฝ่ายสงฆ์จะได้รับค่าจ้างแรงงานในอัตราเดียวกันกับฝ่ายฆราวาส ถึงแม้สงฆ์บางส่วนจะต้องจ่ายคืนให้แก่นิกายต้นสังกัดเพื่อเป็นค่าตอบแทนสำหรับที่พักและอาหารก็ตาม คนงานของนครวาติกันได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเท่าๆ กับคนงานทั่วไปในอิตาลี ซึ่งอัตราต่ำสุดของรายได้คิดเฉลี่ยเป็นรายปีเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 ดอลลาร์วิศวกรประจำสถานีวิทยุวาติกันที่เคยได้เพียง 5,580 ดอลลาร์ต่อปีใน ค.ศ. 1979 ได้ปรับขึ้นเป็น 17,900 ดอลลาร์แล้วในขณะนี้

ส่วนผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของทางวาติกันก็ยังคงมิได้คำนึงถึงค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญ คาร์ดินัลบางรูปมีรายได้เพียงปีละ 20,000 ดอลลาร์ พระเยซูอิตระดับบริหารในสถานีวิทยุวาติกันยังสมัครใจจะรับค่าแรงในอัตราเดียวกับนักการทั่วไป คือราว 11,000 ต่อปี แต่ฐานะของเหล่าคาร์ดินัลก็ดูภูมิฐานพอควร เพราะมีที่พักโอ่อ่าที่เช่าได้ในราคาถูก

เงินส่วนที่เป็นบำนาญกลับเป็นภาระรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ทางวาติกันไม่มีเงินกองทุนสำหรับบำนาญ ต่างจากแขวงการปกครองสงฆ์และนิกายย่อยหลายแห่งที่ตั้งกองทุนเพื่อจัดสรรเงินปันผลให้บำนาญโดยพิจารณาตามอัตราเงินเดือนและตำแหน่งหน้าที่เป็นรายๆ ไป ส่วนทางวาติกันกลับจ่ายเงินเป็นบำนาญโดยใช้อัตรา 5% ของรายได้รวม ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สมดุลเลย เมื่อปีที่แล้ววาติกันต้องจ่ายเงินบำนาญเกือบ 9 ล้านดอลลาร์สำหรับคนงานที่เกษียณไปถึง 900 คน แต่เก็บเงินหักสะสมได้เพียง 1.5 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

เมื่อเดือนตุลาคม คณะกรรมการคาร์ดินัลทั้ง 15 รูปมีมติจะจัดตั้งเงินกองทุนบำนาญ แต่ต้องเลิกล้มความคิดไปเพราะต้องใช้เงินจำนวนมากเหลือเกิน ต้องเปลืองเงินทุนถึง 127 ล้านดอลลาร์เพื่อจะเก็บดอกผลและเงินปันผลให้พอกับการแก้ไขดุลค่าใช้จ่ายเป็นบำนาญได้ น่าประหลาดที่ทางสหภาพแรงงานวาติกันไม่รู้ว่าทางวาติกันไม่มีเงินกองทุนบำนาญ ประธานสหภาพ คือ มาเรียโน เคอรุลโล ชี้แจงว่า "เราได้สอบถามเรื่องนี้ไปแต่ทางวาติกันก็ไม่ได้ให้คำตอบ"

หนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุวาติกันมีรายจ่ายเกินรายรับมากมาย เพราะทั้งสองกิจการไม่ได้ดำเนินการตามหลักธุรกิจเอาเสียเลย หนังสือพิมพ์ซึ่งจำหน่ายเพียงฉบับละ 70 เซนต์มีโฆษณาลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นลูกค้าทั่วไปจะหาซื้อเอาตามร้านขายสินค้าที่เกี่ยวกับศาสนา ปัจจุบันนี้ได้ปรับปรุงจากรูปแบบอันล้าสมัยโดยเริ่มออกฉบับภาษาอิตาเลี่ยนเป็นรายวัน และฉบับภาษาต่างประเทศเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งส่งไปตามหน่วยเผยแพร่ศาสนาและสมาชิกที่บอกรับทั่วโลก โดยจ่ายค่าไปรษณีย์ราคาแพงลิบลิ่ว

สถานีวิทยุวาติกันไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการค้าแต่อย่างใด แต่ก็มีรายได้บ้างจากการจำหน่ายม้วนเทปสุนทรพจน์ขององค์สันตะปาปา สถานีวิทยุวาติกันมีกำลังส่งคลื่นสั้นและคลื่นขนาดกลางซึ่งออกอากาศถึง 34 ภาษาไปยังสหภาพโซเวียต โปแลนด์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอื่นๆ กว่า 150 ประเทศรายการวิทยุที่สำคัญได้แก่รายการด้านศาสนารายการอ่านคำสวดภาษาละตินขององค์สันตะปาปาจัดเป็นรายการเด่นประจำเดือน

ด้วยคุณลักษณะที่ยอมรับกันทั่วโลกของพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ทำให้กิจกรรมของสถานีวิทยุวาติกันเฟื่องฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทศวรรษ 1970 รายการออกอากาศภาคภาษาอังกฤษที่ชื่อ สัปดาห์วาติกัน ไม่ได้มีเนื้อหามากไปกว่าการถ่ายทอดสุนทรพจน์ของสันตะปาปาจากภาษาอิตาเลียนมาเป็นภาษาอังกฤษเท่าไหร่เลย ปัจจุบันรายการนี้กลับมีเอกลักษณ์โดดเด่นโดยการจัดสัมภาษณ์อาคันตุกะที่มีชื่อเสียงขององค์สันตะปาปาตัวอย่างอาคันตุกะประจำเดือนตุลาคมได้แก่นักร้องสาว ไลซ่า มิเนลลี่ และ โฮเซ่ นโปเลียนดวร์ตเต้ ประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์ ยิ่งกว่านั้นทางวิทยุวาติกันยังขยายหน่วยงานใหม่ซึ่งประกอบด้วยผู้ปฏิบัติงานที่เป็นนักหนังสือพิมพ์จำนวน 50 คนจาก 20 สัญชาติ หน่วยงานนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1980 ทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารข้อมูลจากทุกมุมโลก เพื่อรายงานข่าวคราวในวงการศาสนาตลอดจนสำรวจปฏิกิริยาต่อสุนทรพจน์ขององค์สันตะปาปาการปรับปรุงรายการใหม่ๆ รวมทั้งการใช้เครื่องไม้เครื่องมือส่งสัญญาณที่ทันสมัยทำให้ค่าใช้จ่ายของทางสถานีเพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านดอลลาร์ในปี 1980 เป็นประมาณ 17 ล้านดอลลาร์ในปี 1987

ค่าใช้จ่ายในการออกเยี่ยมเยียนประชาชนของพระสันตปาปา ซึ่งทรงมีกำหนดประมาณปีละ 3-4 ครั้งเป็นเงินถึง 800,000 ดอลลาร์นอกจากที่ใช้ในวงงบประมาณส่วนนี้ แล้วค่าใช้จ่ายในการเดินทางดังกล่าวยังไปเบียดบังเงินถวายในส่วนของสำนักสันตะปาปาอีกด้วย อย่างเช่นการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนซึ่งมีกำหนด 10 วัน ทางวาติกันต้องจ่ายค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินชั้น 1 สำหรับคณะผู้ติดตามจำนวน 12 คนขององค์สันตะปาปา ส่วนทางศาสนจักรและราษฎรอเมริกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นแขวงการปกครองสงฆ์จัดเตรียมงบประมาณไว้ใช้ในการนี้ 20 ล้านดอลลาร์ ทางฝ่ายรัฐบาลให้เงินอุดหนุน 6 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านบริการพิเศษและการอารักขาคุ้มครอง การเดินทางเที่ยวนี้เป็นเหตุให้แขวงการปกครองสงฆ์ที่เกี่ยวข้องบางแห่งมีหนี้ค้างชำระจำนวนมาก แขวงการปกครองที่มอนเตอร์เรย์ แคลิฟอร์เนีย เป็นหนี้ถึง 600,000 ดอลลาร์ ทางแขวงถึงกับต้องเลหลังสิ่งที่ซื้อมาใช้จัดงานพิธีเพื่อชำระหนี้รวมถึงไม้ที่ใช้ประกอบเป็นยกพื้นสำหรับองค์สันตะปาปาใช้ในพิธีมิสซาด้วย

ที่จริงนครวาติกันก็อาจแก้ปัญหาการเงินพวกนี้ได้สบาย ถ้าหากยอมเลือกที่จะขายงานศิลปะล้ำค่าบางชิ้นจากจำนวนกว่า 18,000 ที่มีอยู่ไปเสียบ้าง แต่ทางฝ่ายบริหารก็ไม่เคยมีความคิดจะหาทางออกแบบนี้เลยสักนิดคาร์ดินัล คาปริโอ ฝ่ายบริหารงบประมาณของวาติกันมีความเห็นแน่วแน่ว่า "สมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นของมวลมนุษยชาติ" ตามบัญชีทรัพย์สินแล้วขุมทรัพย์งานศิลปะมูลค่านับพันล้านดอลลาร์ถูกตีราคาเอาไว้เพียง 1 ลีร์เท่านั้นเอง

เมื่อศตวรรษที่ 19 ทางสำนักสันตะปาปาได้ลาภลอยก้อนโต เนื่องจากแต่เดิมศาสนจักรโรมันคาทอลิกเคยครองอำนาจเหนือกรุงโรมตลอดจนเมืองใหญ่ในภาคใต้ของอิตาลี แต่ใน ค.ศ. 1870 อิตาลีบุกรุกโรมและเข้าควบคุมศาสนจักร โดยถือองค์สันตะปาปาเสมือนนักโทษแห่งวาติกัน ต่อมาจึงเปิดการเจรจาตกลงเป็นไมตรีกันในปี 1929 จอมเผด็จการเบนนิโต มุสโสสินี ลงนามร่วมกับสันตะปาปาปิอุล ที่ 11 ในข้อตกลงแลทเธอแรน รัฐบาลอิตาลียอมรับอธิปไตยของวาติกันและยินดีจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายที่เข้ายึดครองศาสนจักรให้แก่นครรัฐวาติกันเป็นเงิน 92 ล้านดอลลาร์

เงินก้อนนี้ถูกนำไปใช้ก่อสร้างอาคารสถานที่และซื้อทองคำ ซื้อพันธบัตร เงินลงทุนจำนวนครึ่งหนึ่งของ 500 ล้านดอลลาร์ทำรายได้คืนมาน้อยมาก เงินประมาณ 100 ล้านดอลลาร์จมอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคารและการซื้อทองแท่งสะสมไว้ ทองคำที่ซื้อไว้เมื่อทศวรรษ 1930 ในราคาเฉลี่ยตกออนซ์ละ 35 ดอลลาร์นั้น มีมูลค่ารวมถึง 100 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ด้วยราคาเฉลี่ยออนซ์ละ 450 ดอลลาร์ ทองแท่งที่เก็บสะสมไว้ที่เฟเดอรัล รีเซอร์ฟ ในนิวยอร์กมิได้ขายออกไปเลยแม้แต่แท่งเดียว

ถ้าหากเทียบตามมาตรฐานราคาในตลาดทั่วไปแล้ว ทรัพย์สินของฝ่ายสำนักสันตะปาปาก็มีมูลค่าสูงพอดูทีเดียว ทางสำนักเป็นเจ้าของอาคารกว่า 30 หลังในกรุงโรมและอีกหลายแห่งในอิตาลี อาคารหลายหลังปัจจุบันตกอยู่ในทำเลชั้นเลิศ แต่อาคารเหล่านี้กลับให้ถือเช่าในอัตราที่ต่ำเหลือเกิน หรือไม่เช่นนั้นก็เอาไว้ใช้เป็นศาสนสถาน เมอซิเออร์ อังตัวแนตต์ ชี้แจงว่า "เราไม่อาจจะให้เช่าสำหรับเอาไปทำโรงแรมได้หรอก" อาคารทั้งหมดระบุมูลค่าไว้ในบัญชีเป็นเงินพียง 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นแค่เศษเสี้ยวของราคาตามจริงในปัจจุบัน ส่วนที่ไม่มีรายการในบัญชีทรัพย์สินได้แก่สถานทูตวาติกันในต่างประเทศ รวมทั้งทรัพย์ที่มิได้เป็นแหล่งรายได้แต่อย่างไรเลย เช่น โรงพยาบาลเด็ก แบมบิโน เยซู ในกรุงโรม และสถาบันอาเคเดอเมีย ใกล้วิหารพาเธนอน ซึ่งใช้เป็นสถาบันฝึกฝนนักการทูตของนครวาติกัน

อพาร์ทเมนท์จำนวน 1,700 หน่วยของวาติกันใช้เป็นที่พักของบรรดาเจ้าหน้าที่วาติกันเป็นหลัก เหล่าคนงานทั้งฆราวาสและสงฆ์จะเช่าที่พักในบริเวณจตุรัสเซนต์ปีเตอร์ได้ในอัตราเดือนละ 150 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าเช่าทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ฆราวาสและสงฆ์ส่วนหนึ่งพักอาศัยในบริเวณสำนักงานเลยโดยไม่เสียค่าเช่า เหล่าฆราวาสพักในชั้น 1-3 ที่ตึกสำนักงานซานคาลิสโต ในย่านทราสเวียร์ ซึ่งค่าเช่าทั่วไปออกจะแพง ส่วนฝ่ายสงฆ์พักอยู่ที่ชั้น 4 และ 5 เหล่าคาร์ดินัลและสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่เสียค่าเช่าต่ำกว่าเดือนละ 200 ดอลลาร์ สำหรับห้องพักในอพาร์ทเมนท์ขนาด 3,000 ตารางฟุตอันหรูหรา ซึ่งคิดกันในอัตราเดือนละ 2,000 ดอลลาร์ในตลาดทั่วไป

เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราค่าเช่าต่ำขนาดนี้ก็เพราะทางวาติกันถือปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมค่าเช่า ซึ่งโดยทั่วไปมักจะละเลยกันไป เจ้าหน้าที่ศาสนจักรคนหนึ่งมั่นใจว่า "เราคงเป็นองค์กรเดียวที่ถือปฏิบัติอยู่อย่างเคร่งครัด" รายได้จากอาคารทั้งหมดดังกล่าวทางสำนักสันตะปาปารวบรวมได้ปีละ 4.6 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิเพียง 2.7 ล้านดอลลาร์เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสถานที่แล้ว

เมื่อปีก่อนทางวาติกันมีรายได้ประมาณ 15 ล้านดอลลาร์จากเงินที่ลงทุนซื้อหุ้นและพันธบัตรจำนวนกว่า 150 ล้านดอลลาร์ และจากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร การบริหารการเงินเริ่มเคร่งครัดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต่อของศตวรรษ เมื่อสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ทรงซ่อนเอาทรัพย์ส่วนหนึ่ง คือพวกเหรียญทองคำไว้ใต้แท่นที่นอน ทางวาติกันจึงตังคณะกรรมการบริหารเงินทุนประจำสำนักสันตะปาปา (ADMINISTRATION OF THE PATRIMONY OF THE HOLY SEE-APSA) ขึ้นมาเป็นตัวแทนควบคุมธุรกิจด้านการลงทุนของนครวาติกัน เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ของ APSA ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 26 คนนั้นเป็นฆราวาสที่มีฝีมือทางด้านนี้โดยเฉพาะ

ผู้จัดการของ APSA คือ เบเนเดทโตอาร์ฌองเตียรี อดีตนักวิจัยตลาดแห่ง COMMON MARKET'S BANQUE EUROPEENE D'INVESTISSMET ในกรุงบรัสเซลส์ เขาเป็นนักสะสมศิลปะสมัยศตวรรษที่ 16 ใช้ห้องทำงานที่ตกแต่งอย่างโอ่อ่าด้วยพื้นหินอ่อน

อาร์ฌองเตียรีกับทีมงานนักธุรกิจอีก 4 คนของเขา ใเงิทุนซื้อพันธบัตรของรัฐบาลอเมริกันและอิตาลี ตลอดจนพันธบัตรอื่นที่รัฐบาลเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วยเป็นจำนวนประมาณ 100 ล้านดอลลาร์อีก 50 ล้านดอลลาร์ก็ซื้อหุ้นกระจายไปในกิจการเกือบ 100 แห่ง รวมทั้งหุ้นมูลค่าสูงของอิตาลี อย่างบริษัทผลิตรถยนต์เฟี้ยต และบริษัทเจเนอรัลประกันภัย หุ้นส่วนใหญ่ที่วาติกันถืออยู่นั้นสืบทอดมากว่า 30 ปีแล้ว ทางวาติกันมีนโยบายเลี่ยงการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในทศวรรษ 1960 ทางสำนักเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ อิมโมบิเลีย โรมา ซึ่งเป็นเจ้าของโรงแรมวอเตอร์เกตในกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้ผลิตอ่างอาบน้ำ วาติกันตกที่นั่งลำบากอย่างที่อาร์ฌองเตียรีอธิบายว่า "ทุกคราวที่ทางบริษัทต้องการหลักทรัพย์เพื่อแก้ปัญาการขาดทุน หรือว่าพวกคนงานขู่จะนัดหยุดงาน องค์สันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 6 ก็ได้แต่จ่ายเงินให้ไป เพื่อไม่ให้เสียภาพพจน์ต่อสาธารณชน"

แผนการลงทุนที่ยึดอยู่ตามนโยบายนี้ช่วยให้วาติกันขาดทุนไปเพียง 3 ล้านดอลลาร์เมื่อเกิดภาวะตลาดหุ้นปั่นป่วนทั่วโลกในเดือนตุลาคม

วาติกันยังคงยึดถือนโยบาย APSA ที่อาศัยดอกผลจากการลงทุนเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1960 จนกระทั่งนโยบายนี้เริ่มเข้าไปเกี่ยวกันกับรายได้ส่วนที่เป็นเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ด้วย ประมาณปี 1981 การขาดดุลงบประมาณก็ชักกระทบกระเทือนถึงการลงทุน ทางวาติกันจึงต้องยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินส่วนสำรองที่สะสมไว้ตั้งแต่ปีก่อนๆ ระหว่างนั้นการขาดดุลก็ชักสูงขึ้นเรื่อยๆ

ในเมื่อต้นศตวรรษ 1980 องค์สันตะปาปาก็ไม่อาจพึ่งแหล่งเงินได้อื่นในได้อีก ต้องอาศัยสถาบันศาสนกิจ (INSTITUTE FOR RELIGIOUS WORKS) ซึ่งรู้จักแพร่หลายในนาม ธนาคารวาติกัน (VATICANBANK) ธนาคารนี้ขึ้นตรงต่อพระสันตะปาปาไม่ใช่ต่อสำนักสันตะปาปา และดำเนินกิจการอย่างเงียบเชียบเสียจนคณะกรรมการคาร์ดินัลไม่อาจรู้ได้เลยว่า มันทำรายได้แก่องค์สันตะปาปาปีละเท่าใด แต่ก็คงลดน้อยลงกว่าเมื่อก่อนนี้มากทีเดียว เนื่องจากธนาคารต้องใช้หลักทรัพย์จำนวนมากจำนวนมากของตนจ่ายชำระหนี้เพราะเข้าไปมีส่วนพัวพันกับการล้มละลายของ บังโก เอมโบรเซียโน ในปี 1982 ช่วง ค.ศ. 1984-1985 ทางธนาคารถึงกับต้องงดจ่ายเงินปันผลแก่พระสันตะปาปา ปัจจุบันว่ากันว่าธนาคารแห่งนี้มีรายได้เพียง 3-4 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเศษของรายได้ที่เคยรับในศตวรรษ 1970

สถาบันนี้มีสถานะค่อนข้างจะศักดิ์สิทธิ์บริการรับฝากและให้กู้เงินแก่บรรดานิกายย่อย และคนงานของวาติกันทั่วไป ธนาคารจะให้พวกแขวงการปกครองสงฆ์และนิกายย่อยทั่วโลกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมโรงเรียนและโบสถ์ทั้งยังมีรายได้จากการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารอื่นๆ อีกด้วย ถึงแม้จะมีชื่อเสียงแพร่หลาย แต่การดำเนินงานกลับเร้นลับน่าประหลาด เก็บตัวอยู่ในหอคอยแบบสมัยกลางที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นห้องขังนักโทษไม่มีสาขาใดๆ ไม่มีมือบริหารระดับ MBA และมีเจ้หน้าที่ประจำเพียง 13 คนเท่านั้น

บุคคลที่กุมนโยบายของธนาคารก็คืออาร์คบิชอป พอล มาร์คินคัสคบคนผิดไปในช่วงต้นทศวรรษ 1970 เมื่อมาร์คินคัสเริ่มต้นติดต่อธุรกิจกับ โรแบร์โต คาลวี ประธานของบังโก เอมโบรเซียโน ในมิลาน ธนาคารซื้อหุ้นในบังโก เอมโบรเซียโนเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียว

บังโก เอมโบรเซียโน สาขาลักแซมเบอร์กดำเนินกิจการบริษัทน้ำมัน 10 แห่งในปานามา ช่วงปลายทศวรรษ 1970 บริษัทเหล่านี้เป็นของธนาคารวาติกันแต่เพียงในนามเท่านั้น แต่ทางธนาคารเป็นเจ้าของจริงหรือไม่ยังไม่ประจักษ์ เพราะคาลวีเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด แรกสุดเขากู้เงินมาจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์ซึ่ง 600 ล้านในจำนวนนั้นกู้ยืมจากธนาคารคต่างประเทศ 120 แห่งคาลวีนำเงินกู้มาใช้ในกิจการบริษัทน้ำมันที่เอาไปยักย้ายถ่ายเทกับหุ้นของบังโก้ เอมโบรเซียโน เพื่อพยุงราคาหุ้นให้สูงขึ้น รวมทั้งใช้ซื้อหุ้นกำไรงามในบริษัทอื่นๆ ด้วยเมื่อตลาดหุ้นประสบหายนะ เงิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ก็แทบจะหายวับไปทั้งหมด

อาศัยความใกล้ชิดกับผู้กุมนโยบายคาลวีขอร้องให้ธนาคารวาติกันช่วยเหลือเขาโดยแสดงหลักฐานยืนยันว่า ทางธนาคารเป็นผู้สนับสนุนบริษัทน้ำมันในปานามาทั้ง 10 แห่ง มาร์คินคัสอ้างว่าธนาคารเพิ่งจะรู้เบาะแสเรื่องเงินกู้ก็ตอนนั้นเอง ทางวาติกันตกลงใจจะให้คาลวีแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วงภายใน 1 ปี จึงทำให้ "จดหมายของผู้อุปถัมภ์" ระบุว่าธนาคารเป็นผู้ดูแลบริษัทดังกล่าวเอง และเพื่อเป็นการตอบแทน คาลวีก็ออกหนังสือรับรองว่า หนี้สินจำนวน 1.3 พันล้านดอลลาร์เป็นของ บังโก เอมโบรเซียโนไม่ใช่ของธนาคารวาติกันแต่อย่างใด

คาลวีผู้ถูกสถานการณ์กดดัน ฆ่าตัวตายโดยการแขวนคอใต้สะพานในปี 1982 การตายของเขาจะเป็นการฆ่าตัวตายเองหรือถูกฆาตกรรมก็ยังเป็นปริศนา มรณกรรมของคาลวีเป็นชนวนให้บังโก เอมโบรเซียโนล้มละลายทันที่ ทางธนาคารเจ้าหนี้ก็เรียกร้องให้ธนาคารวาติกันชดใช้หนี้สิน โดยอาศัย "จดหมายของผู้อุปถัมภ์" เป็นหลักฐานและถึงกับขู่ว่าจะฟ้องร้องเอากับนครวาติกันธนาคารวาติกันถูกรัฐบาลอิตาลีบีบคั้นจนต้องยอมจ่ายเป็นเงินจำนวน 224 ล้านดอลลาร์เรื่องนี้สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนเมื่อศาลสูงแห่งอิตาลีแถลงว่า การจับกุมมาร์คินคัสเมื่อเป็นโมฆะ ตามหลักการที่ว่าอิตาลีไม่มีอำนาจตัดสินคดีในเขตนครรัฐวาติกัน

เมื่อข่าวฉาวโฉ่ค่อยจางไป ประกอบกับการยอมเปิดเผยตัวเลขการคลังของทางวาติกันอาจถือเป็นโอกาสปรับปรุงระบบการเงินการคลังของสำนักสันตะปาปา ปีนี้รายได้จากเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์น่าจะได้ถึง 40 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าปีก่อน 25% คณะกรรมการคาร์ดินัลมีความเห็นว่า ควรจะเปลี่ยนชื่อจากเงินเศษของเซนต์ปีเตอร์ซึ่งใช้กันมานานนับศตวรรษ ทั้งเป็นชื่อที่สื่อความหมายถึงเงินจำนวนเล็กน้อยสำหรับถวายพระสันตะปาปา คณะกรรมการเห็นพ้องต้องกันว่าการใช้ชื่อเดิมดูจะไม่เหมาะนักเมื่อทางนครวาติกันกำลังต้องการเงินบริจาคก้อนใหญ่ แต่ชื่อที่เสนอกันก็ไม่เฉียบชวนประทับใจเท่าไรนัก อย่าง "แต่พระบิดา" "เงินอุดหนุนองค์สันตะปาปา" , "เงินกุศลถวายองค์พระสันตะปาปา"

ไม่ว่าตกลงใจใช้ชื่อใดก็ตาม ลำพังแหล่งเงินได้ส่วนนี้คงไม่เพียงพอจะรักษาดุลงบประมาณ สำหรับระยะยาวแล้วทางคณะกรรมการคาดว่าต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมอีกราวปีละ 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีลักษณะต่างจากรายได้ส่วนพระองค์ของพระสันตะปาปา เพราะเงินรายได้ส่วนนี้จะถูกกันไว้ต่างหากเพื่อเป็นค่าใช้สอยของทางวาติกันไม่เกี่ยวกับเงินที่ถวายเป็นกำนัลแก่สันตะปาปาและรายได้จากธนาคารวาติกัน เนื่องจากจุดประสงค์ที่แท้ของเงินเหล่านี้ก็คือ เพื่อการกุศล

คณะกรรมการคาร์ดินัลมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องแหล่งที่มาของเงินซึ่งจะเป็นรายได้เพิ่มเติมนี้ ครอลและโอ'คอนเนอร์เห็นว่า ศาสนสถานทั่วไปควรจะรวบรวมเงินจากบรรดาศาสนิกชนคาทอลิกที่มั่งคั่งเพื่อตั้งเป็นกองทุนที่จัดส่งผลประโยชน์รายปีเข้ามาอุดหนุน แต่ฝ่ายของคาร์ดินัล คาร์เตอร์แย้งว่า "เป็นการให้อำนาจแก่ศาสนสถานมากไป แล้วก็มุ่งเฉพาะพวกเศรษฐีจำนวนน้อย เราไม่อยากให้ศาสนสถานถูกพวกผู้ดีชั้นสูงมาครอบงำ"

ในยามที่นครวาตกันกำลังแบมือขอความช่วยเหลือด้านการเงินอย่างนี้ศาสนิกชนชาวคาทอลิกทั่วโลกย่อมฉงนว่า สถาบันอันทรงเกียรติภูมิซึ่งมีฐานะเป็นศูนย์กลางแห่งศาสนจักรแห่งนี้ประสบภาวะตกต่ำรุนแรงไปได้อย่างไรกัน แต่หลังจากกระจ่างในข่าวอื้อฉาว และเห็นภาพลวงตาที่มั่งคั่งหรูหรานั้นตามที่เป็นจริงในที่สุด สุดแต่คณะคาร์ดินัลจะชี้นำไปอย่างไร ศาสนิกชนผู้เลื่อมใสย่อมดำเนินตาม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us