คลังโหมใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ "ประดิษฐ์" เผยอังคารหน้าคลังเสนอ ครม.ขอกู้อีก 9.4 หมื่นล้าน ชดเชยรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยกว่ารายจ่าย ขณะที่ "พฤฒิชัย" ชง ครม. แพ็คเก็จเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 52 ผ่อนคลายระเบียบพัสดุ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างคล่องตัวขึ้น ผ่อนผันผู้รับเหมาเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าได้ 15% เผยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา มียอดเบิกจ่าย 8.27 แสนล้าน สูงกว่าเป้าหมายแค่ 1.05% ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนมีการเบิกจ่ายต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 3.83%
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า สัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอกู้เงินอีกจำนวน 94,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ที่จัดเก็บได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้เต็มเพดานการกู้เงินของรัฐบาลในปีงบประมาณ 52 ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยการอัดฉีดวงเงินงบประมาณกว่า 1,560,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า โดยขณะนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแหล่งเงินกู้ คาดจะได้ข้อสรุปในเดือนพ.ค.นี้
"เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศขณะนี้ จะไม่ส่งผลต่อการพิจารณาปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต่างประเทศเพื่อใช้สำหรับลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลครั้งนี้" นายประดิษฐ์ กล่าวและว่า สำหรับภาพรวมการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังไม่เป็นปัญหา เพราะในปีงบประมาณ 52 ยังมีกรอบเพดานการกู้ได้อีก
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณว่า ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 20 มีนาคม 2552 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายไปแล้ว 827,384 ล้านบาท หรือร้อยละ 45.09 ของวงเงินงบประมาณ (1,835,000 ล้านบาท) สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.25 และสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.05 เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ จำนวน 704,806 ล้านบาท หรือร้อยละ 47.60 ซึ่งสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน แต่สำหรับรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 122,578 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.60 ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 3.83
สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี พ.ศ. 2552 ได้เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 27.57 ของวงเงินงบประมาณ (116,700 ล้านบาท) ได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปีโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรภาครัฐ เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท และโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน เบิกจ่ายแล้วร้อยละ 73.46 64.14 และ 53.01 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ตามลำดับ
ในส่วนของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายลงทุนสูง แต่มีผลการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าในปีก่อนนั้น เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าว ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้ต้องปรับราคาให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง จึงมีหลายหน่วยงานไม่สามารถลงนามในสัญญาได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ได้แก่ เมืองพัทยา การเคหะแห่งชาติ กรมทางหลวงชนบท สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และกรมทางหลวง
นายพฤฒิชัยกล่าวอีกว่า เป้าหมายของรัฐบาลในปัจจุบันก็เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการสร้างงานและลดปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จึงได้ตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการเพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีอัตราการเบิกจ่ายต่ำ ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายงานข้อมูล รวมทั้งจัดส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมการ
ทั้่งนี้ จากการติดตามผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในภาพรวม ปรากฏว่าผลจากการมีคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภาพรวมสูงกว่าช่วงเดือนตุลาคม 2551 – มกราคม 2552 ถึงร้อยละ 7.1 โดยการเบิกจ่ายล่าสุดช่วง เดือนกุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2552 เบิกจ่ายได้เกินเป้าหมายตลอด 6 สัปดาห์ โดยเฉลี่ยร้อยละ 1.4 ต่อสัปดาห์ ขณะที่ก่อนหน้านี้ เดือนตุลาคม 2551 – สิ้นเดือนมกราคม 2552 มีการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย เฉลี่ยร้อยละ 5.66 ต่อสัปดาห์ หน่วยงานที่มีผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนต่ำสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย เมืองพัทยา การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และกรมราชทัณฑ์ โดยมีอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนร้อยละ 0.00 0.00 0.01 1.05 และ 1.50 ตามลำดับ
พร้อมกันนี้ เตรียมเสนอมาตรการที่จะส่งผลต่อการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายระเบียบพัสดุ เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงานในการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความคล่องตัวขึ้น มาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาวะวิกฤตและสภาพคล่องของผู้รับเหมางาน โดยผู้รับเหมาสามารถเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าได้ร้อยละ 15 มาตรการให้ทุกส่วนราชการเร่งดำเนินการฝึกอบรมสัมมนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2552 และมาตรการที่ให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดที่มีอัตราการเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายเร่งรัดเบิกจ่ายให้มากขึ้น
"นอกจากมาตรการที่จะเสนอให้ ครม. พิจารณาแล้ว เพื่อให้ทุกหน่วยงานทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับผลการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ ทางกรมบัญชีกลางได้เผยแพร่การจัดลำดับผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เป็นรายสัปดาห์ทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง www.cgd.go.th เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวดเร็วขึ้น"นายพฤฒิชัยกล่าว
|