|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“พาณิชย์”เผยเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ลดลง 0.2% ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 แต่ยืนยันไม่เกิดภาวะเงินฝืด
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 103.6 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2551 เป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 แต่เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2552 เพิ่มขึ้น 0.5% และเมื่อเทียบเฉลี่ย 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปีนี้กับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลง 0.3% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมี..ค. ที่หักสินค้าอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณ อยู่ที่ระดับ 102.8 เทียบกับเดือนก.พ.2552 ไม่เปลี่ยนแปลง แต่สูงขึ้น 1.5% เมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.2551 ส่วนเฉลี่ย 3 เดือนแรกปีนี้เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 1.7%
สาเหตุที่เงินเฟ้อลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นเพราะการลดลงของดัชนีหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 6.5% จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 23.2% ค่าโดยสารสาธารณะ 8.6% ค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำประปา 5.0% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 9.3% จากการเพิ่มขึ้นของข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์ 21.2% ผลไม้สด 16% อาหารบริโภคนอกบ้าน 7.9% อาหารบริโภคในบ้าน 8% เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่เงินเฟ้อเทียบกับเดือน ก.พ.2552 สูงขึ้น 0.5% เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 0.4% จากการเพิ่มขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 4.7% รวมถึงค่าใช้จ่ายและค่าบริการส่วนบุคคล (สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและดูแลบำรุงผิว ครีมนวดผม ใบมีดโกน และค่าแต่งผมสตรี) เพิ่ม 0.2% ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.7% จากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและปลากระป๋องเพิ่ม
นายศิริพลกล่าวว่า เงินเฟ้อติดลบถึง 3 เดือนติดต่อกัน คือ เดือนม.ค. ลบ 0.4% เดือนก.พ.ลบ 0.1% และเดือนมี.ค. 0.2% ยังไม่แสดงถึงภาวะเงินฝืด เพราะการเกิดเงินฝืดได้ เงินเฟ้อจะต้องลบอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนราคาสินค้าบางรายการแม้จะลดลง แต่มาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดจาก 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 47 เหรียญสหรัฐ ไม่ได้มาจากกำลังการผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ ยังต้องดูปัจจัยอื่นประกอบ เช่น ค่าครองชีพ รายได้ประชาชน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ยังยืนยันคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปีที่ 0-0.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35-36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
“บอกไม่ได้ว่าแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนต่อไปจะเป็นอย่างไร เพราะมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาก และมีความผันผวนมาก แต่ยอมรับว่า การออกเช็คช่วยชาติ น่าจะเป็นประโยชน์ ช่วยให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม” นายศิริพลกล่าว
นางวัชรี วิมุกตายน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ดัชนีหมวดอาหารเพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลของราคาสินค้าเกษตร ผักและผลไม้ แต่ราคาจะลดลงในไม่ช้า เพราะช่วงนี้อากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตออกมาน้อย แต่เมื่อเกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มราคาจะลดลงเองโดยอัตโนมัติ ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยับขึ้นลงตามต้นทุนวัตถุดิบโลก แต่สินค้าบางรายการเช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟันที่แพงขึ้น เป็นผลจากก่อนหน้านี้กระทรวฯ ขอความร่วมมือไม่ให้ขึ้นราคา แต่ขณะนี้ครบระยะเวลาขอความร่วมมือ หรือหมดช่วงโปรโมชั่นแล้ว แต่ราคายังอยู่ในเพดานที่กระทรวงกำหนด และไม่ได้ขึ้นเกินต้นทุน
|
|
|
|
|