“พิชัย “ เปิดแผนฟื้นฟูธุรกิจการบินไทยเร่งด่วน เสนอคมนาคมและคลัง ฟุ้งปี 52 ผ่านวิกฤติมีกำไรสุทธิ 6,000-7,000 ล้านบาท ตั้งเป้าปรับแผนเพิ่มคุณภาพรายได้ เน้นขายตั๋วผ่านเวป ลดค่าใช้จ่าย ไม่ขั้นเงินเดือน งดโบนัส ลดสวัสดิการบอร์ด หั่นตั๋วฟรีเหลือ 7 ใบต่อปี ลดเบี้ยประชุมลด 25% ปรับวิธีกำหนดค่าตั๋วตามภาวะต้นทุนน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน เริ่มวางแผนระยะ 2 อีก 3 เดือนเสร็จ วางกรอบซื้อเครื่องบินใหม่ ลดวงเงินกู้เหลือ 20,000 ล้าน เสริมสภาพคล่อง มั่นใจแบงก์ปล่อยกู้ ปลุกพนักงานเข้าใจ-ร่วมมือ
นายพิชัย ชุณหวชิร กรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูธุรกิจบริษัท เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ได้จัดส่งแผนฟื้นฟู เสนอกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2552 โดยแผนฟื้นฟูฯ แบ่งเป็น 2 ระยะเร่งด่วนปี 2552 นั้น หากดำเนินการได้ จะทำให้ผลประกอบการในปี 2552 บริษัทจะมีกำไรก่อนหักภาษี (Ebitda) 33,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ประมาณ 6,000-7,000ล้านบาท โดยจะเริ่มเห็นผลในไตรมาสที่ 1
แผนฟื้นฟูฯ ระยะเร่งด่วนประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1. รักษารายได้และเพิ่มคุณภาพรายได้ ทั้งราคาและผลิตภัณฑ์ภายใต้ฝูงบินที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นมีการปรับปรุงการขายโดยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านเวปไซด์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 3% ให้ได้ 5-8% ภายในปีนี้ 2. ควบคุมค่าใช้จ่ายและการลงทุน โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายในปี 2552 เป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือ 10% จากค่าใช้จ่ายทั่วไปไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านน้ำมัน ที่มีอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งการลดค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพนักงานทั้ง 26,000 – 27,000 คน เช่น การงดโบนัส ไม่ปรับขึ้นเงินเดือน การลดผลประโยชน์ตอบแทนของกรรมการจากเดิมที่ได้บัตรโดยสารปีละ 15 ใบเหลือเพียง 7 ใบ ลดเบี้ยประชุมลง 25% ผู้บริหารลดค่ารถประจำตำแหน่งจาก 70,000 –75,000 บาท ต่อเดือนเหลือ 30,000-35,000 บาทต่อเดือน
นายพิชัยกล่าวว่า ต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามภาวะตลาดโลกนั้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลประกอบการ ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการและกำหนดให้สอดคล้องและทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งช่วงที่ราคาน้ำมัน 140 เหรียญต่อบารเรลน้ำมันอากาศยานจะอยู่ที่ 160 เหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนในราคาตั๋วถึง 55 % ดังนั้นถ้าบริษัทปรับตัวไม่ทันรายได้ก็จะหายไปกว่า หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้จะชะลอการลงทุนที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนและไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การจัดซื้อเครื่องบินใหม่ แต่เครื่องบินแอร์บัส 330-300 จำนวน 8 ลำจะรับมอบตามกำหนดไม่เปลี่ยน คือในปี 2552 จำนวน 6 ลำ ปี 2553 อีก 2 ลำ โดยเลื่อนการชำระค่างวดไปเป็นพร้อมกับการรับมอบจากเดิมที่ต้องชำระก่อนรับมอบ ซึ่งปี 2552 ต้องชำระรวม 1.5 หมื่นล้านบาท ส่วนเครื่องบิน แอร์บัส 321 อาจจะต้องมีการทบทวนแผน
อย่างไรก็ตามขณะนี้หนี้สินรวมเพิ่มขึ้นจาก 130,000 ล้านบาท เป็น 150,000 ล้านบาท ซึ่งหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดในปีนี้ ประมาณ 15,000 ล้านบาทจะเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอรีไฟแนนซ์ออกไป และจะมีการ กู้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาทเพื่อนำมาสำรองเสริมสภาพคล่องทางการเงินจากก่อนหน้านี้ที่จะต้องกู้เสริมสภาพคล่องถึง 35,000 ล้านบาท จึงถือว่าสถานการณ์บริษัทเริ่มดีขึ้นและมีแผนฟื้นฟูฯที่ชัดเจน ดังนั้นจึงมั่นใจว่า สถาบันการเงินจะเชื่อมั่นและไม่มีปัญหาในการกู้
ส่วนแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินการในระยะต่อไปประกอบด้วย 1.การจัดทำยุทธศาสตร์เครือข่ายการบินและฝูงบิน ในระยะ 10 ปี ซึ่งเดิมจะมีการจัดเส้นทางและตารางบิน 2 ครั้ง/ปี แต่สามารถยืดหยุ่นได้หากมีตัวแปรต่าง ๆ มากระทบ รวมทั้งจะต้องมีการจัดหาเครื่องบินที่ใหม่ ๆ ที่จะต้องเหลือแบบเครื่องบินจาก 10 แบบเหลือเพียง 4-5 แบบ ส่วนการจัดหาจะเป็นเมื่อไรนั้นขึ้นกับผู้บริหารทั้งบอร์ด และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ที่จะเข้ามาบริหารงานในอนาคต 2. การปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างต้นทุน 3. พัฒนาองค์กร บุคลากรและวัฒนธรรม 4. การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 5.การปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว ทั้งนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการเสนอทางเลือกไว้หลายแนวทาง เช่นการเพิ่มทุน การจัดหาแหล่งเงินกู้แห่งอื่น รวมทั้งการลดหนี้สินต่อทุนที่ในที่สุดจะต้องให้เหลือ 1 ต่อ 1ให้ได้
“เชื่อว่าหากดำเนินการตามแผนแล้วการบินไทยจะมีรายได้ 33,000 ล้านบาทและหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น อาจจะได้ถึง38,000ล้านบาท และคาดว่าหนีสินต่อทุนที่ปัจจุบันค่อนข้างสูงกว่า 3 ต่อ 1 ให้เหลือ 3 ต้น ๆ ต่อ 1 เพราะพบว่าผลการดำเนินงานในเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมามีผลประกอบการดี ส่วนจะมีการเออร์ลี่รีไทร์พนักงานหรือไม่นั้นต้องสำรวจความต้องการของพนักงานก่อน และในความตั้งใจคาดว่าในอนาคตน่าจะลดลงเหลืออยู่ที่1.5เท่า “นายพิชัยกล่าว
นายพิชัยกล่าวว่า การจัดหาเครื่องบินใหม่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องดำเนินการเพราะเครื่องบินใหม่จะตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการกำหนดแผนจัดซื้อเครื่องบินทั้งขนาดและจำนวนที่เหมาะสมนั้น จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์เครื่องข่ายการบินโดยดูความต้องการของตลาด ดูผู้โดยสารที่ใช้บริการว่ามาจากใดบ้าง มีพฤติกรรมการบินอย่างไร เพื่อนำมาวิเคราะห์ต่อไปเมื่อมีความชัดเจนก็ต้องบริหารจัดการเพื่อจัดเตรียมเรื่องนักบิน อะไหล่ การซ่อมบำรุง ให้สอดคล้องกับฝูงบิน ซึ่งแผนระยะ 2 จะกำหนดทิศทางไว้ถึง 10 ปี ว่าบริษัทควรมีฝูงบินอย่างไร นอกจากนี้แผนระยะ 2 ยังจะมีการกำหนดถึงแนวทางการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ แนวทางการเพิ่มทุน โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการจัดทำรายละเอียดแผนระยะ 2 อีกประมาณ 3 เดือน
“แผนทั้งหมดจะสำเร็จหรือไม่ ปัจจัยสำคัญขึ้นกับพนักงานทุกคนที่ต้องเข้าใจและตั้งใจช่วยกันแก้ไข ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการแผนฯ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานหลายครั้ง โดยเน้นการพัฒนาวัฒนธรรมบุคลากร และต้องทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ต้องพัฒนาข้อมูลและการจัดการข้อมูลด้วย ซึ่งเชื่อว่าพนักงานทุกคนเข้าใจเพราะมองเห็นปัญหาที่จะเกิดในอนาคตหากไม่มีการปรับปรุงอะไรที่สำคัญ ประเทศไทยมีศักยภาพของพื้นที่ ที่เหมาะกับการเป็นที่พักผ่อน โดยจากผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปีที่เข้ามาประเทศไทย จำนวน 70% แวะพักที่ไทย ส่วนอีก 30% ใช้เป็นจุดต่อไปยังประเทศอื่น ซึ่งแตกต่างจากสิงคโปร์ที่ผู้โดยสารกว่า 90% ใช้เป็นจุดต่อไปยังที่อื่น”นายพิชัยกล่าว
นอกจากนี้คณะกรรมการบริหารได้มีการตั้งคณะทำงานชุดต่าง ๆ 6 ชุด เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนให้การดำเนินง่นตจรมแผนฟื้นฟูธุรกิจของปริษัท บรรลุวัตถุประสงค์และสัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายประกอบด้วย 1.คณะทำงานวางแผนการเงิน 2.คณะทำงานพิจารณาเครือข่ายการบินและฝูงบิน 3.คณะทำงานปรับปรุงรายได้ 4.คณะทำงานลดค่าใช้จ่าย 5.คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 6.คณะทำงานสนับสนุนการบริหารจัดการแผนฟื้นฟูธุรกิจ
|