|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"โฆสิต" เผยแบงก์กรุงเทพยังยืนเป้าหมายจีดีพีเดิม 0% ถึงติดลบ 2% เหตุยังไม่มีปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ย้ำชัดนโยบายดอกเบี้ยไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตาท่าทีทางการเมือง ชี้เกิดเหตุรุนแรงกระทบเศรษฐกิจแน่ ด้านเอ็มดีแบงก์กรุงไทยคาด กนง.ลดดอกเบี้ย 0.50% โชว์สินเชื่อไตรมาสแรกโตตามเป้าได้สินเชื่อรัฐหนุน
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ในขณะนี้ธนาคารกรุงเทพยังไม่มีการพิจารณาปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ลงแต่อย่างใด โดยยังคงมองอยู่ที่ 0% ถึงติดลบ 2 % เนื่องจากขณะนี้มองว่าปัจจัยที่ชี้วัดการขยายตัวของจีดีพียังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยในขณะนี้ธนาคารไม่ได้มีการกำหนดว่าจะต้องทบทวนจีดีพีทุกไตรมาสแต่การทบทวนนั้นจะทำตามปัจจัยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากกว่า
ทั้งนี้ เศรษฐกิจของประเทศไทยในปีนี้ในซีกของภาคธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวกันมากขึ้น และการขับเคลื่อนจะมาจากปัจจัยภายในประเทศมากกว่าปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีปัญหาค่อนข้างมาก
แต่ปัจจัยภายในประเทศที่จะเป็นแรงช่วยผลักดันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่าย
"การกระตุ้นให้คนใช้จ่ายในประเทศนั้นมันเป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังเป็นนโยบายที่ต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือก แม้ว่ามันจะได้ผลเพียงชั่วคราวก็ตาม แต่ในช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีแต่ไม่ได้ใช้มาตรการพวกนี้เพราะมันไม่เหมาะสมในช่วงเวลานั้น แต่ตอนนี้มันจำเป็นแม้จะรู้ว่าจะได้ผลไม่มากก็ตาม"
ส่วนเรื่องของดอกเบี้ยจะไปทางไหน นั้นที่ผ่านมาก็เห็นกันแล้วว่าการใช้นโนบายอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะในขณะนี้ทุกประเทศไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยจนเต็มเพดานไปหมดแล้ว ซึ่งในที่สุดของผลของนโยบายนี้ประเทศไทยก็คงจะเป็นเหมือนประเทศอื่น
ส่วนปัญหาในภาคการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่กดดันเศรษฐกิจ แต่จะทำให้แย่มากแค่ไหนก็ต้องดูในเรื่องของความขัดแย้งว่าจะมีความรุนแรงขนาดไหน ซึ่งหากรุนแรงมากก็ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน
นายโฆสิตกล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้มีการปรับค่าธรรมเนียมการให้บริการใด ๆ แต่ที่ผ่านมาก็มีบ้าง เพราะหน้าที่ของธนาคารคือการดูแลลูกค้าเงินฝาก ส่วนการเติบโตของสินเชื่อก็ยอมรับว่าติดลบ โดยธนาคารยังได้มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนสำนักธุรกิจให้เป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจกับลูกค้า เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ
ส่วนการทำธุรกิจเช่าซื้อ (ลีสซิ่ง) เพิ่มนั้น ธนาคารยืนยันว่าในขณะนี้ยังไม่มีความสนใจที่จะทำธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีความเร่งด่วน แต่สิ่งที่ธนาคารต้องการทำคือการเปลี่ยนแปลงยกระดับขีดความสามารถของธนาคารและการเป็นธนาคารท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 เมษายน ที่จะถึงนี้ว่าที่ประชุมน่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.50% ส่วนจะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายของปีนี้หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องติดตามและรอดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
**โชว์สินเชื่อไตรมาส 1 โตสวน ศก.**
ส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารไตรมาสแรกของปี ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารวางไว้ที่ระดับ 2% จากเป้าสินเชื่อทั้งปี 2552 ตั้งไว้ที่ 5-6% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมียอดการเติบโตสินเชื่อหดตัว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อธนาคารเนื่องมาจาก ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำ และยอดการขอสินเชื่อจะลดลงบ้าง
"สินเชื่อของธนาคารที่เติบโตขึ้นไตรมาสแรกนั้นมาจาก 3 ส่วน คือ ส่วนของสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตเฉลี่ย 10% เงินกู้ที่ธนาคารปล่อยไปเมื่อปลายปี 2551 แล้วมีลูกค้าได้ทยอยเบิกใช้เพิ่มขึ้น และสินเชื่อที่ปล่อยให้กับภาครัฐจากการที่ธนาคารสามารถเข้าไปประมูลโครงการต่างๆของภาครัฐได้ โดยขณะนี้ธนาคารมียอดสินเชื่อภาครัฐอยู่ในฐานประมาณ 10% ดังนั้น จึงทำให้สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโตได้ตามแผนที่ธนาคารวางไว้"นายอภิศักดิ์กล่าว
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารนั้น ขณะนี้ธนาคารยังสามารถรักษาสัดส่วนของหนี้หลังหักสำรอง ให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปี 2551 ที่มีอยู่ประมาณ 5% กว่าๆ โดยในส่วนของปริมาณหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารนั้น ถือว่าเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มขึ้นก็มาจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่เอ็นพีแอลทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ก็มองว่าเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็เชื่อว่าธนาคารเหล่านั้นจะสามารถจัดการได้
สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าที่มีปัญหาโดยการยืดหนี้นั้น ขณะนี้ธนาคารก็ยังดำเนินการตามวิธีดังกล่าวให้กับลูกค้าที่เข้ามาเจรจาอยู่ โดยส่วนใหญ่ระยะเวลาการยืดหนี้จะอยู่ในช่วง 2-3 ปี ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจน่าจะชะลอไปประมาณ 2-3 ปี ซึ่งแนวทางในการปรับโครงสร้างนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นรากรณีไป
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพบว่าลูกค้าในกลุ่มธุรกิจส่งออกมีลูกค้ามาคืนหนี้มากขึ้น เพราะลูกค้าไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา จึงทำให้ลูกค้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อ นอกจากนี้ในส่วนของสินเชื่อเพื่อการส่งออกก็ชะลอตัวลงด้วย แต่ธนาคารก็พยายามช่วยเหลือลูกค้าในการหาตลาดใหม่ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณการทำธุรกิจ
**ยันพร้อมปล่อยกู้การบินไทย**
อย่างไรก็ตามในส่วนของการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI นั้นทางธนาคารก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือตลอดเวลาแต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเจรจาอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวประกอบกับธนาคารยังไม่เห็นแผนการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยเลย ซึ่งหากพิจารณาแผนที่ออกมาแล้วมีความเป็นไปได้ธนาคารก็ยินดีปล่อยกู้
"มาตรฐานการปล่อยกู้ของธนาคารที่มีต่อบริษัทการบินไทยยืนยันว่าเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนซึ่งธนาคารต้องดูว่าเมื่อให้กู้ไปแล้วลูกค้าบริษัทนั้นมีวคามสามารถในการผ่อนชำระมากแค่ไหน" นายอภิศักดิ์กล่าว
|
|
|
|
|