คงไม่มีใครแม้แต่จะคิดสักนิดว่าวันนี้ ประยูร คงคาทองจะมาอยู่กับแบงก์กรุงเทพ
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวคราวว่าหลังจากพักผ่อนระยะหนึ่งแล้ว เขาอาจจะบินไปอยู่กับภรรยาและลูกชาย
2 คนที่กำลังเรียนอยู่ในสหรัฐฯ
สำหรับในวงการแบงก์แล้วคนที่รู้จักประยูรคงมีไม่มากนัก แต่ในวงการน้ำมันทุกคนยอมรับว่าประยูรเป็น
"เต้ย" คนหนึ่ง
ประยูรขณะนี้อายุ 56 ปีเกิดในกรุงเทพฯ จบการศึกษาจากอัสสัมชัญกรุงเทพฯ
แล้วไปศึกษาต่อด้านการค้าต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน นครซีแอตเติล
ประยูรเข้าทำงานครั้งแรกกับบริษัท GETZ BROTHER AND COMPANY ในสหรัฐฯ เป็นเวลา
11 ปี หลังจากนั้นมาอยู่เอสโซ่ตั้งแต่ปี 2510 เริ่มด้วยตำแหน่งผู้จัดการดูแลปั๊มของเอสโซ่ทั่วประเทศ
"ท่านเป็นคนริเริ่มศูนย์บริการเอสโซ่ที่จัดตั้งขึ้นโดยบริษัทจัดตั้งขึ้นเองเป็นครั้งแรกแตกต่างจากปกติที่ลูกค้าตั้งขึ้น
เพื่อแนะนำถึงการให้บริการที่ถูกต้อง แล้วภายหลังก็ยกให้ลูกค้าทำต่อ"
คนของเอสโซ่บอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของประยูร
ต่อมาประยูรก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนและประเมินผล ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ผู้จัดการฝ่ายขายปลีกและขายส่งย้ายไปดูงานที่สำนักงานใหญ่สหรัฐฯ
เป็นเวลา 18 เดือนกลับมาเมืองไทยเข้ารับตำแหน่งรองผู้จัดการฝ่ายการตลาดจนในปี
2525 จึงเลื่อนขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดกระทั่งเกษียณเมื่อปีที่แล้ว
ประยูรนั้นจริงๆ จะต้องเกษียณอายุปี 2529 แต่เพราะความที่เป็นมือดีทางการตลาดระดับรองๆ
ลงไปยังโตขึ้นมาไม่ทัน เอสโซ่จึงต่ออายุการทำงานให้ประยูรอีก 1 ปี โดยให้ประยูรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงประเสริฐ
วงศ์วานิช ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายที่ขึ้นรั้งตำแหน่งแทนประยูรช่วงหนึ่งก่อน
"ความจริงคุณประยูรก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คุณประเสริฐอย่างที่เป็นข่าวเพราะคุณประเสิรฐแกเข้ามารับงานนี้ตอนครึ่งปีหลังนี้เอง"
แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
เมื่อเร็วๆ นี้ประยูรเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่แบงก์กรุงเทพโดยได้รับมอบหมายจาก
ชาตรี โสภณพนิช ให้ศึกษาแผนขยายงานด้านการตลาดของธนาคาร
ซึ่งเป็นหน้าที่ใหม่ในวงการใหม่ที่ใครต่อใครต่างประหลาดใจมากๆ
และเบื้องหลังเรื่องนี้คงต้องพูดถึงเพื่อนซี้ปึ้กของชาตรีที่ชื่อว่า สว่าง
เลาหทัย สักเล็กน้อย
สว่าง เลาหทัย กับศรีกรุงวัฒนาหันมาสนใจด้านน้ำมันพอสมควรแล้ว โดยขายน้ำมันเครื่องยี่ห้อ
DUCKHAMS จากอังกฤษมาสามปีกว่าก่อนหน้านี้ แต่ยอดขายก็ยังไม่ฉลุยเท่าไหร่เพราะเสือสิงห์ลุยตลาดกันเพียบ
นอกจากนี้สว่างยังขอใบอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันจากกระทรวงพาณิชย์อยู่ ซึ่งเรื่องก็คาราคาซังมานานแต่ก็ยังไม่มีทีท่าจะลงเอยเสียที
สำหรับชาตรีเองก็ยังมีเรื่องน้ำมันอีสานที่ถูกถอนใบอนุญาตนำเข้าน้ำมัน
และยื่นอุทธรณ์กันอยู่ในขณะนี้ที่มีร่วมเสริมกิจเป็นเจ้าหนี้อยู่ด้วยส่วนหนึ่ง
น้ำมันอีสานเป็นบริษัทรายย่อยรายแรกที่เริ่มค้าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ได้รับใบอนุญาตค้าน้ำมันในปี
2527 เพียงแค่สิ้นปี 2528 บริษัทนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทรายย่อยด้วยกันถึง
2.36%
แน่นอนชาตรีและสว่างก็คงจะมองลู่ทางทางด้านนี้บ้างไม่มากก็น้อย เพราะตลาดน้ำมันในบ้านเราหากคิดเป็นมูลค่ารรวมๆ
กันแล้ว จะมีมูลค่าถึงเกือบแสนล้านบาทต่อปี โดยมีดีเซลหมุนเร็วเป็นตลาดที่ใหญ่มากเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำมันทั้งหมด
หลายคนกล่าวถึงเส้นทางที่แตกต่างกันของ TYCOON ที่มีมากหน้าหลายตาในสังคมธุรกิจไทยในวันนี้
อาจจะจริงอยู่ที่พวกเขาประสบความสำเร็จบนพื้นฐานการสร้างสรรค์งานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
มีบ้างบางคนกล่าวว่าพวกเขาต้องมี "อาวุธ" ที่ใช้ฟันฝ่าอุปสรรคขวากหนามขึ้นสู่ชั้นแนวหน้าที่ไม่พ้นไปจากเงินตรา
อำนาจและโอกาสที่สามารถฉกฉวยได้
เส้นทางที่ได้รับการยอมรับทุกยุคทุกสมัยของ TYCOON แต่ละคนที่จะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง…คงไม่มี
แต่ช่องทางการลงทุนที่เป็นแนวทางสำคัญในยุคสมัยปัจจุบัน คงไม่พ้นไปจากการลงทุนเกี่ยวกับที่ดิน
(REAL ESTATE) การเงิน (FINANCE) เทคโนโลยี (TECHNOLOGY) และพลังงาน (ENERGY)
ซึ่งมองตามสภาพในปัจจุบันแล้วสิ่งที่ชาตรีขาด ก็คือ ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านพลังงานนั่นเอง
คนในวงการน้ำมันบอก "ผู้จัดการ" ว่า ประยูรเคยเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของเอสโซ่
และเคยให้ความเห็นไม่ค่อยพอใจบริษัทน้ำมันรายย่อยในบางเรื่องนัก ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ประยูรจะหันมาจับเรื่องน้ำมันกับกลุ่มอื่นอีก
ยังมีเวลาอย่างน้อยสองเดือนที่การศึกษาแผนขยายงานด้านการตลาดของประยูรจะแล้วเสร็จ
ยังมีเวลาอีกนานที่ประยูรจะพิสูจน์ให้คนรอบข้างเห็นว่ามาร์เก็ตติ้งด้านอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างเขา
สามารถทำด้านบริการของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ดีไม่แพ้กัน
และยังมีเวลาอีกนานเช่นกันสำหรับประยูร ที่เขาจะให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำแก่ชาตรีในสิ่งที่เขาช่ำชองจัดเจน?