ตลาดค้าเงินตราในกรุงเทพฯ เปิดฉากรับปีใหม่ 2531 ด้วยภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นเป็นประวัติการณ์
ในรอบ 3 ปี เมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์คือแข็งขึ้นถึง 7.5% นับตั้งแต่แบงก์ชาติได้ประกาศค่าเสมอภาคเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐฯ
ในระดับ 27 บาทต่อดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน 2527 เป็นต้นมา
ค่าเงินบาทในวันที่ 4 มกราคม 2531 อยู่ที่ 24.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งตัวที่สุดเกินความคาดหมายของนักค้าเงินที่หลายคนคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า
25 บาทต่อดอลลาร์ ด้วยมีความเชื่อว่าทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติต้องมีการปรับน้ำหนักของค่าดอลลาร์ในตะกร้าขึ้นไปไม่น้อยกว่า
25% เพื่อพยุงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งตัวต่ำกว่า 25 บาท ที่พ่อค้าผู้ส่งออกสินค้าได้คาดหมายว่าถ้าทุนรักษาระดับฯ
ปล่อยให้เงินบาทแข็งตัวต่ำกว่า 25 บาทแล้วจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในเดือนมกราคมอย่างมาก
แต่แล้วความหวั่นเกรงก็เป็นความจริงจนได้ เมื่อดอลลาร์ในตลาดเงินทั่วโลก
"รูดมหาราช" ลงมาในระดับ 120.20 เยน และ 1.58 มาร์คเยอรมันในตอนเปิดตลาดเทศกาลปีใหม่
ส่งผลกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งตัวต่ำกว่า 25 บาท ในวันที่ 4 มกราคม และอ่อนตัวดีดกลับขึ้นมาอยู่ที่
25.20 บาท ในวันที่ 5 มกราคา
นักวิเคราะห์ทางเทคนิคในตลาดหุ้นกรุงเทพฯ ได้ให้ความเห็นว่า การตกต่ำของค่าดอลลาร์ช่วงต่อปลายธันวาคมและต้นมกราคมถึง
10 สตางค์ เมื่อเทียบกับค่าเงินบาท เป็นผลจากปัจจัยด้านเทคนิคที่นักค้าเงินในตลาดทั่วโลก
ต่างไม่แน่ใจในตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤศจิกายนที่จะประกาศเป็นทางการในวันที่
15 มกราคมนี้ว่าจะต่ำกว่า 15 พันล้านเหรียญจริง และอีกประการหนึ่งมีความเป็นไปได้อย่างมากที่นักค้าเงิน
ได้เทขายดอลลาร์ออกมามากด้วยตัวเลขระดับราคาขอค่าดอลลาร์เมื่อเทียบกับเยนและมาร์ค
อ่อนตัวลงต่ำกว่าราคาระดับ STOP-LOSS ที่โปรแกรมไว้ในคอมพิวเตอร์
การทรุดต่ำของดอลลาร์และการแข็งตัวของค่าเงินบาทที่ช่วงห่างของค่าเงินบาทที่ช่วงห่างของค่าเงิน
(SPREAD) ผันผวนในระดับ 10 สตางค์/วัน ส่งผลให้การเจรจาทางการค้าส่งออกหยุดชะงักลงทันทีช่วงสัปดาห์แรกของหลังเทศกาลขึ้นปีใหม่
"การเจรจาการค้าหยุดทันทีตลอดช่วงสัปดาห์แรกของปีใหม่ (4-8 มกราคม)
ซึ่งคาดว่าทั้งระบบตกราวๆ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ" แหล่งข่าวบริษัทการค้าต่างประเทศชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกล่าว
ผู้ซื้อในต่างประเทศระมัดระวังในอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์มาก เมื่อยังไม่แน่ใจในค่าดอลลาร์ว่าจะตกลงไปในราคาเท่าไรแน่จึงชะลอการตัดสินใจซื้อ
ส่วนผู้ส่งออกที่ขายสินค้าไปแล้วล่วงหน้าช่วงก่อนเทศกาลคริศต์มาส (24 ธ.ค.'30)
ซึ่งช่วงเวลานั้นค่าดอลลาร์ตกระหว่าง 25.20-25.10 บาท พวกที่ไม่ได้รับผลกระทบคือ
พวกผู้ส่งออกที่ทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้าไว้กับแบงก์ ซึ่งเสียค่าธรรมเนียมขายดอลลาร์ล่วงหน้าประมาณ
2-3 สตางค์/ดอลลาร์/เดือน
ผู้ส่งออกชั้นนำบางคนได้วิเคราะห์ให้ฟังว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่สถานการณ์ดอลลาร์ตกต่ำและเงินบาทแข็งตัวในลักษณะผันผวนนี้
ผู้ส่งออกที่ต้องประสบกับการขาดทุนทางบัญชี (BOOK-LOSS) น่าจะเป็นพวกผู้ส่งออกรายเล็กๆ
ที่อำนาจต่อรองทางการค้าเสียเปรียบ และหวังจะตีคืนกำไรจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน
โดยไม่ยอมลงทุนทำประกันขายดอลลาร์ล่วงหน้ากับแบงก์
แต่อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมแบบ "เสี่ยงภัย" ในอัตราแลกเปลี่ยนจากการค้าส่งออกนี้มิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่กับกลุ่มผู้ส่งออกรายเล็กๆ
เท่านั้น จริงๆ แล้ว ผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ ที่ทำธุรกิจส่งออกพืชผลเกษตร ก็นิยมทำกันมากด้วย
และทำกันมานานแล้ว
ผู้ส่งออกพืชผลเช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง แถวทรงวาด อยู่ในวงการมานาน
การค้าแบบเก็งกำไรราคาสินค้าเกษตรเป็นพฤติกรรมที่รู้ๆ กันอยู่ว่าพวกนี้มีความชำนาญและมีอำนาจต่อรองกับผู้ค้าส่งภายในประเทศแต่ที่ท้าทายกว่ามีโอกาสทำกำไรได้สูงจากการส่งออกแต่ละงวดๆ
ก็อยู่ที่การเก็งกำไรจากค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์กับเงินบาท เพราะการเจรจาราคาขายส่งออกใช้ราคา
SPOT เป็นเกณฑ์ดังนั้นเมื่อได้รับ EXPORT BILL มา ก็จะเล่นเกม "เสี่ยงภัย"
เงินตราทันที
"การค้าส่งออกพวกนี้ แต่ละครั้ง มันเกิน 10 ล้านเหรียญทั้งนั้น ปริมาณมันมากพอจะจูงใจให้พวกเขาเล่นเกมเสี่ยงภัยเงินตราถ้าแม่น
ก็กำไรเละเลย" มานพ นาคทัต กรรมการผู้อำนวยการบริษัทอโศก อินเตอร์เนชั่นแนลซึ่งเป็นบริษัทการค้าต่างประเทศชั้นนำของไทยเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
สิงหะ นิกรพันธุ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายบริหารเงิน (TREASURY) ธนาคารนครธน
ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า เท่าที่สังเกต พ่อค้าพืชผลเหล่านี้จะทำ
FIX FORWARD CONTACT ในรูปดอลลาร์กับแบงก์ไว้ส่วนหนึ่งประมาณ 50% ของมูลค่าส่งออกอีก
50% จะ "เสี่ยงภัย" เอาเป็นไปได้ว่าช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้วที่ค่าเงินบาทแข็งขันขึ้นประมาณ
43 สตางค์ เมื่อเทียบกับดอลลาร์ผู้ส่งออกพวกนี้ จะขาดทุนจากเก็งกำไร อัตราแลกเปลี่ยน
สมบูรณ์ ชินสวนานนท์ผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินธนาคารกสิกรไทย เคยกล่าวว่าเดือนสิงหาคมทั้งเดือน
ผู้ส่งออกขายดอลลาร์ล่วงหน้าแก่แบงก์น้อยกว่าปกติจากเดือนละเฉลี่ย 20-30
ล้านเหรียญสหรัฐฯเหลือเพียง 10 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า มีการเก็งกำไรจากค่าดอลลาร์ของผู้ส่งออกเดือนนั้นประมาณ
10-20 ล้านเหรียญ!
เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว (2530) ค่าดอลลาร์โดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทตกประมาณ
25.50 บาท ซึ่งน่าจะเป็นระดับต่ำสุดแล้วเพราะเมื่อเทียบกับพฤศจิกายนของปี
2527 ค่าดอลลาร์เทียบกับค่าเงินบาทอ่อนตัวอี 1.7% ตลอด 4 เดือน
ด้วยเหตุนี้ ตลอดเดือนธันวาคม แหล่งข่าวในแบงก์กสิกรไทยได้กล่าวว่า ผู้ส่งออกที่ถือดอลลาร์อยู่ในรูป
EXPORT BILL ก็เทขายออกมามากกว่าปกติประมาณ 50 ล้านเหรียญ
นั่นหมายความว่า การถือเก็งกำไรดอลลาร์ไว้เมื่อเดือนสิงหาคมประมาณ 10-20
ล้านเหรียญ แล้วมาเทขายออกเดือนธันวาคม มีความเป็นไปได้ว่าการเก็งกำไรช่วงดังกล่าวน่าจะมีผลทำให้ผู้เก็งกำไรขาดทุนประมาณ
4.3-8.6 ล้านบาท
นี่เฉพาะเพียงแค่ผู้ส่งออกที่เก็งกำไรเอาไว้กับแบงก์เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ซึ่งถ้าหากนับรวมเอาทั้งระบบแล้ว (30 ธนาคาร) น่าจะสูงกว่านี้ประมาณ 100
เท่าหรือตกประมาณระหว่าง 400-800 ล้านบาท!
ตัวเลขขาดทุนจากการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์กับบาทของผู้ส่งออกในระบบประมาณ
400-800 ล้านบาทนี้ดูอาจจะไม่มาก แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการสูญเสียรายได้ของผู้ส่งออกที่ไม่น่าจะเสีย
เพียงแต่ผู้ส่งออก ไม่ทำตัวเป็นนักเสี่ยงภัยมากนัก ในภาวการณ์ที่ดอลลาร์กับบาทยังไม่มีทิศทางของค่าแลกเปลี่ยนที่แน่นอน
แหล่งข่าวค้าเงินตราต่างประเทศของแบงก์พาณิชย์ชั้นนำให้ข้อสังเกตว่า ผู้ส่งออกไม่สมควรจะเข้าไป
"เสี่ยงภัย" เก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเลยด้วยไม่มีความสันทัดจัดเจน
วิธีการที่สร้างแนวคุ้มครองการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา น่าจะหันไปใช้วิธีการทำประกันความเสี่ยงล่วงหน้ากับแบงก์ให้หมด
เพราะแม้แต่แบงก์เองตอนนี้ก็ใช้นโยบายอนุรักษนิยมในการบริหารเงินตราในตะกร้าของตน
โดยมุ่งวิธี SQUARE POSITION เป็นหลัก มากกว่าจะเข้าไป TAKE POSITION เหตุผลง่ายๆ
ก็เพราะ นักค้าเงินยังไม่มีใครสามารถมั่นใจได้เลยว่า ดอลลาร์จะตก (ขีดสุด)
อยู่ระดับอัตราเท่าไร ถึงแม้ว่าธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ 6-7
จะเข้ามาแทรกแซงเป็นระยะๆ ก็ตาม นั่นก็มีผลตรึงราคาค่าดอลลาร์ไว้เพียงช่วงสั้นๆ
เท่านั้น
ดังนั้น อย่างเสี่ยงดีกว่าเพราะถ้าเก็งพลาด นั่นหมายถึงกระเป๋าฉีก อย่างไม่ต้องสงสัย!!