Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2531
กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน มือกระบี่ที่ไร้ดาบ             
โดย สมชัย วงศาภาคย์
 

 
Charts & Figures

การช่วยเหลือของกองทุนฟื้นฟูแก่ธนาคารพาณิชย์
การช่วยเหลือของกองทุนฟื้นฟูแก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์


   
www resources

โฮมเพจ กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันเงิน (FIDF)

   
search resources

กองทุนฟื้นฟูระบบสถาบันเงิน (FIDF)
Banking and Finance




ในสมัยที่สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีคลัง สมัยรัฐบาลเปรมยุคแรกๆ ความเน่าเฟะของแบงก์พาณิชน์บางแห่งได้ส่งกลิ่นเหม็นฟุ้งไปทั่วฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติแล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงในแบงก์ชาติหลายคนอดทนไม่ไหว พยายามที่จะเข็นเครื่องมือออกมาแก้ไขคือ "กฎหมายสถาบันประกันเงินฝาก" (ที่เคยผ่านความเห็นชอบจากครม.สมัยเปรม 1 มาแล้ว แต่แท้งเสียก่อนสภาผู้แทนจะเปิด) โดยเสนอให้นายสมหมาย ในฐานะร.ม.ต.คลัง พิจารณานำเสนอเข้าครม.อีกครั้งหนึ่ง

แต่สมหมายไม่เห็นด้วยเพราะถ้าเข็นร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก็เท่ากับยอมรับว่าในสมัยการบริหารเศรษฐกิจการเงินการคลังของตน มีแบงก์ล้มเกิดขึ้น ซึ่งสมหมายยอมรับไม่ได้ เหตุเพราะเท่ากับว่ามันเป็นการประจานผลงานการบริหารของตนไปในตัวด้วยนั่นเอง

ว่ากันว่าแม้พลเอกเปรมในขณะนั้นจะเห็นด้วยในหลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้และกำชับให้สมหมาย พยายามพิจารณาเน้นร่างกฎหมายนี้ออกมาโดยเร่งด่วนก็ตาม แต่ก็ไร้ผล!

กำลังภายในของสมหมายนั้นเป็นที่เลื่องลือว่า เยี่ยมยุทธ์ขนาด "เตียบ่อกี๊" ยังต้องชิดซ้ายหลีกทางให้

สมหมาย ฮุนตระกูล ประเมินแล้ว ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลเปรมไม่แข็งแกร่งเท่าไรนัก ขืนบีบให้ตนทำดังว่ามากๆ เข้า ตนจะชักไม้เด็ด ลาออกมันซะให้รู้แล้วรู้รอด รัฐบาลพลเอกเปรมก็จะพังครืนเท่านั้น

แรงหนุนสำคัญที่อยู่ข้างสมหมายในเรื่องนี้มีพลังมากไม่ใช่ใครอื่น กลุ่มสมาคมธนาคารไทยนั่นเอง นำทีมโดย ประจิตร ยศสุนทร นายกสมาคมฯ สมัยนั้น การวิ่งเต้นล็อบบี้ ให้สมหมายยับยั้งร่างกฎหมายฉบับนี้กล่าวกันว่า กลุ่มนายธนาคารเหล่านี้พยายามกันสุดเหวี่ยง และดูเหมือนว่าก็คุ้มค่าเหนื่อยจริงๆ

สมหมายหาทางออกให้พลเอกเปรมในเรื่องนี้ได้สวยโดยวิธีนำร่างกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากมาแยกออกกล่าวคือ นำกฎหมายแบงก์ชาติมายำใหม่โดยเพิ่มอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายกำกับ และตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์รวมตลอดจนถึงตรวจสอบคุณสมบัติของผู้บริหาร อีกประการหนึ่งเปิดช่องให้มีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินโดยเพิ่มมาตรานี้เข้าไปในกฎหมายแบงก์ชาติที่นำมายำใหม่นี้ควบคู่กันไปด้วย

เมื่อยำเสร็จแล้ว สมหมายก็นำเข้าครม.ล็อบบี้ร.ม.ต.ให้ทุกคนได้เข้าใจว่า ตัวร่างกฎหมายแบงก์ชาติฉบับปรับปรุงใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายและเนื้อหาสาระไม่แตกต่างจากร่างกฏหมายสถาบันประกันเงินฝากเท่าไรนัก

งานนี้สมหมายเล่นไม่ยาก ทั้งพลเอกเปรมและร.ม.ต.ทุกคนในคณะเห็นด้วยกับสมหมายเหตุผลหนึ่ง ก็เพราะต้องการประนีประนอมและในที่สุดก็ประกาศออกมาเป็นพระราชกำหนดใช้แทนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2528

ปัญหามีอยู่ว่าที่สมหมายบอกว่ากฎหมายแบงก์ชาติส่วนที่นำมายำใหม่นี้ มีเนื้อหาสาระและจุดมุ่งหมายที่ไม่แตกต่างจากตัวร่างกฎหมายสถาบันประกันเงินฝากนั้น ยังสงสัยอยู่ เหตุผลมี 2 ประการคือ

หนึ่ง - เฉพาะในส่วนมาตราจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯ แสดงถึงสถานภาพอย่างแจ่มชัดเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในแบงก์ชาติเท่านั้น ซึ่งต่างจากสถาบันประกันเงินฝากที่ตัวร่าง ก.ม. แสดงสถานภาพของสถาบันในความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อแบงก์ชาติ แม้นว่าจะอยู่ภายใต้กรอบนโยบายระดับกว้างของกระทรวงการคลังก็ตาม

สอง -ในส่วนของ "อำนาจ" แม้นกฎหมายที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะให้อำนาจใจการเป็น "มือปราบ" แก่ฝ่ายกำกับตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติมากขึ้นก็ตามทีแต่ความมีอิสระในการตัดสินใจดำเนินการของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบ เมื่อตรวจพบความเน่าเหม็นของธนาคารพาณิชย์ก็ยังสงสัยอยู่ว่าจะกล้าหาญเข้าแก้ไขก่อนที่มันจะลามปาม เหตุเพราะต้องดูทิศทางลมของผู้ว่าการฯ และร.ม.ต.คลังเสียก่อนว่ากำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมายใดเป็นหลัก "เข้าทำนองขืนไม่ดูตาไม้ตาเรือเสียก่อนประกาศมาตรการแก้ไขออกมาก็หน้าแตกเท่านั้น ถ้าผู้ใหญ่เบื้องบนไม่เล่นด้วย" ลักษณะเช่นนี้แสดงว่าในเบื้องลึกแม้นว่าอำนาจของฝ่ายตรวจสอบแบงก์ชาติจะมีมากขึ้น ไม่แตกต่างจากอำนาจของสถาบันประกันเงินฝากแต่ระดับ "ความรับผิดชอบ" ในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาการล้มละลาย ของแบงก์พาณิชย์ย่อมแตกต่างกัน แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ดียกตัวอย่างเปรียบเปรยให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "มันเหมือนกับคุณเป็นพ่อเป็นแม่คน เมื่อคุณรู้ว่าลูกคุณเจ็บป่วย คุณมีความกล้าหาญมากเท่ากับหมอไหม? ที่จะช่วยเยียวยาให้ลูกคุณหายเจ็บ…เรื่องระดับความรับผิดชอบในการแก้ปัญหาการล่มสลายของแบงก์พาณิชย์ที่ตรวจพบนี้ ก็เหมือนกันฝ่ายกำกับและตรวจสอบแบงก์ชาติซึ่งเป็นพ่อจะมีความกล้าหาญมาก เพียงพอเท่ากับสถาบันประกันเงินฝากหรือที่จะลงมือรักษาเยียวยาถึงขึ้นผ่าตัดลูกของตนเอง…"

ยกตัวอย่างเปรียบเปรยเช่นว่านี้ เมื่อนำมาวัดดูจากประวัติศาสตร์การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์บางแห่งดูก็มีส่วนถูกต้องไม่น้อย เช่น กรณีแบงก์เอเชียทรัสต์และนครหลวงไทย…

ความจริงที่แบงก์ทั้ง 2 แห่งนี้ ผู้บริหารบริหารกันอย่างเละเทะ แต่ละแบงก์ประสบปัญหาหนี้สูญหลายพันล้านบาทและขาดทุนจากการดำเนินงาน แต่ใช่เล่ห์เพทุบายตกแต่งบัญชีให้มีกำไรนั้น เป็นที่ล่วงรู้จากการเข้าตรวจสอบของฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ของแบงก์ชาติมาตั้งแต่ปี 2525 แล้ว ผู้ว่าการแบงก์ชาติสมัยนั้นคือนุกูล ประจวบเหมาะ ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของแบงก์ทั้ง 2 แห่งแก่ ร.ม.ต.คลัง สมหมาย ฮุนตระกูล ได้ทราบตลอดเวลา เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญที่กระทรวงการคลังจักต้องเร่งรัดให้มีการเข็นร่างก.ม.สถาบันประกันเงินฝากออกมาใช้โดยเร็ว เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์แก่ประชาชนและสกัดกั้นความแตกตื่นตระหนกของสาธารณชน

แต่เรื่องเหล่านี้ก็ถูกปกปิดไว้อย่างเงียบเชียบที่สุด…!! จนนุกูล ผู้ว่าแบงก์ชาติสมัยนั้นอดทนไม่ได้ต้องออกมาบีบบังคับโดยอาศัยอำนาจกฎหมายแบงก์ชาติมาตรา 25 ให้กลุ่มผู้ถือหุ้นแบงก์เอเชียทรัสต์ โอนหุ้นจำนวน 75% ให้แก่กระทรวงคลัง ถ้าไม่ยอมกันทางกระทรวงคลังก็จะเข้าควบคุม! (รายละเอียดเรื่องนี้ "ผู้จัดการ" ฉบับที่ 12 สิงหาคม 2527 ลงไว้ละเอียดแล้ว หาอ่านเพิ่มเติมได้) ซึ่งผลก็เป็นที่รู้กันว่า ทางจอห์นนี่ มา ผู้นำกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม ไม่ยอมและพยายามเตะถ่วงเวลากับแบงก์ชาติ จนผู้ว่านุกูลต้องใช้อำนาจกฎหมายเข้าควบคุมแบงก์ดังกล่าวและเรื่องนี้ก็ทะลักออกสู่ภายนอกจนได้ จนทำให้คนแตกตื่นกันด้วยที่มีแบงก์ล้มในเมืองไทย

เมื่อกระทรวงการคลัง โดยสมหมาย ฮุนตระกูล เข็น "กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงิน" ขึ้นมาแทน "สถาบันประกันเงินฝาก" ที่แท้งไปโดยฝีมือของตนนั้น ผู้ว่านุกูล ประจวบเหมาะก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น กำจร สถิรกุล เรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้เพียงปีเดียว การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์ก็เกิดขึ้นตามมาเป็นระลอกคลื่น จากเอเชียทรัสต์ มานครหลวง จากนครหลวงมามหานคร จากมหานคร มาเอเขียและกรุงเทพฯพาณิชย์การตามลำดับ ซึ่งแบงก์ 2 แห่งหลังนี้ ยังไม่ถึงกับกำลังเจ๊ง แต่ก็อยู่ในอาการที่ไม่ดี

การล่มสลายของแบงก์พาณิชย์เหล่านี้ส่วนใหญ่ทางแบงก์ชาติล่วงรู้มาก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น แต่ปกปิดไว้ จนเมื่อมีการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯขึ้นมานั่นแหละ ความเน่าเฟะต่างๆ ในแบงก์เหล่านี้จึงปูดออกมาให้สาธารณชนได้ทราบ แม้แต่ธนาคารกรุงไทยเองก็เถอะ ตัวเลขงบดุลปี 2529 ตกแต่งบัญชีไว้สวยหรูว่ามีกำไร 200 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ขาดทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท ก็ยังทำกันได้หน้าตาเฉย

จากกรกฎาคม 2528 ถึงธันวาคม 2530 (2 ปีเต็ม) กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินในสถานภาพเป็นแต่เพียงเครื่องมือของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ในการหยิบใช้เป็นกลไกในการผ่องถ่ายเงินของแผ่นดินแม้แต่บาทเดียว เพื่อไปสนับสนุนค้ำจุนกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ประกอบการสถานะของบริษัทการเงินและแบงก์ที่กำลังจะเจ๊ง

การเป็นกลไกผ่องถ่ายเงินก็ทำกันอย่างนี้

วิธีแรก - เมื่อแบงก์ชาติใช้กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่ (ปี 2528) สั่งลดทุนสถาบันการเงินที่กำลังเจ๊งให้เหลือหุ้นละไม่น้อยกว่า 5 บาทแล้ว ทางแบงก์ชาติก็จะสั่งให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารสถาบันการเงินนั้นเพิ่มทุนจำนวนหนึ่งเพื่อสร้างสภาพคล่องให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และถ้าหากการเพิ่มทุนไม่สามารถขายหุ้นได้ครบ ทางกองทุนก็จะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในส่วนที่เหลือนี้ จากข้อมูลในตารางเฉพาะส่วนที่เป็นแบงก์มียอดจำนวนทั้งสิ้น 3,173.7 ล้านบาท และในส่วนที่เป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มียอดจำนวนทั้งสิ้น 735.9 ล้านบาท

รวมความแล้ว กองทุนฟื้นฟูได้เข้าไปช่วยเหลือโดยวิธีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนสถาบันการเงินที่กำลังจะเจ๊งไปแล้วทั้งสิ้น 3,909.6 ล้านบาท โดยที่ยังไม่รู้อนาคตเลยว่าเมื่อไหร่เงินช่วยเหลือส่วนดังกล่าวจะมีผลตอบแทนกลับคืนมา?

เฉพาะแบงก์กรุงไทยที่แน่ๆ เงินซื้อหุ้นของกองทุนจำนวน 1,496.7 ล้านบาท ที่ซื้อหุ้นแบงก์สยามก่อนหน้าที่กระทรวงการคลังกับผู้ว่าแบงก์ชาติจะมีคำสั่งให้รวมเข้ากับธ.กรุงไทยนั้น ได้ถูกโอนเปลี่ยนมือไปให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นแทนแล้วโดยที่กองทุนมีหุ้นถืออยู่ในธนาคารกรุงไทยเหลือเพียง 940 ล้านบาทเท่านั้น…อาจมีผู้แย้งว่ามีกองทุนฟื้นฟูไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไร จึงไม่จำเป็นต้องไปคำนึงถึงผลตอบแทนกลับคืนมากมายนัก!!

ซึ่งก็ถูกเพียงครึ่งเดียวสำหรับคำแย้งนี้…แต่อีกครึ่งหนึ่งนั้นต้องตระหนักว่าแหล่งที่มาของเงินทุนของกองทุนนั้นมาจากพรีเมี่ยม 0.1% ต่อปี ที่กองทุนฟื้นฟูที่อาศัยอำนาจของก.ม.แบงก์ชาติไปเก็บเอามาจากยอดเงินฝากของสถาบันการเงินที่ระดมมาได้จากประชาชนและสถาบันการเงินด้วยกัน "ปีที่แล้ว (2530) ธนาคารพาณิชย์นำเงินส่งเข้ากองทุนฯ เป็นจำนวน 981 ล้านบาทธนาคารชาตินำเงินสมทบทดลองจ่ายเข้ากองทุนฯ อีก 900 ล้านบาท รวมเงินกองทุนฯของกองทุนฯจำนวน 1,881 ล้านบาท" ศิริ การเจริญดี ผู้จัดการกองทุนฯกล่าว และค่าพรี่เมื่อม 0.1% จำนวนนี้แท้จริงแล้วมันก็คือเงินของประชาชนนั่นเอง และอีกประการหนึ่งเป็นต้นทุน OPPORTUNITY COST ที่แบงก์พาณิชย์ต้องสูญเสียไปจากการอำนวยสินเชื่อ เพราะต้องกันเงินจำนวนนั้นเข้ากองทุน ทำให้ปริมาณเงินเพื่อการปล่อยสินเชื่อลดน้อยลง "ส่วนที่ลดลงของปริมาณเงินที่จะปล่อยสินเชื่อนี้ แบงก์ก็ต้องคิดเป็นต้นทุนด้วย" แหล่งข่าวในแบงก์พาณิชย์ชั้นนำกล่าวเน้น

วิธีที่สอง - สถาบันการเงินที่กำลังเจ๊ง ฐานะการดำเนินงานมีหนี้สูญมากกว่าเงินกองทุนการฟื้นฟูให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกเหนือจากเสริมสร้างสภาพคล่องโดยวิธีการเพิ่มทุนดังในวิธีการแรกแล้ว กองทุนฯก็จะพิจารณาให้การช่วยเหลือในรูปเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1% /ปี หรือไม่คิดดอกเบี้ยเลยก็ได้ เพื่อให้สถาบันการเงินมีรายได้ที่แน่น่อนเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐในตลาดกับอัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมกองทุนฯ

วิธีการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ SOFT LOAN เป็นอย่างนี้!!

ขั้นตอนแรก - เนื่องจากกองทุนมีเงินกองทุนไม่มากพอกับความต้องการกู้ยืมกองทุนจะหาเงินมาให้สถาบันการเงินกู้ยืมไปได้ ต้องหยิบยืมเงินทดรองจากแบงก์ชาติ "เฉพาะปีที่แล้วนี้ หยิบยืมมาแล้วประมาณ 4,000 ล้านบาท" กองทุนฯแถลงแก่ "ผู้จัดการ"

ขั้นตอนสอง - กองทุนนำยอดเงินกู้ยืมโอนเข้าบัญชีสถาบันการเงินที่ขอกู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย 1% (หรือไม่คิดแล้วแต่กรณี) ต่อปี และสถาบันการเงินนั้นต้องนำเงินที่กู้ยืมทั้งหมดดังกล่าวไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในอัตราดอกเบี้ย 7-8% แล้วนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้

รวมความแล้ววิธีการให้ SOFT LOAN ของกองทุนแก่สถาบันการเงิน ที่กำลังจะเจ๊งวิธีนี้ จะทำให้สถาบันการเงินมีรายได้แน่นอน (FIX INCOME) เพิ่มขึ้น 6-7% ต่อปี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมกับตลาดของพันธบัตร

จากการตรวจสอบของ "ผู้จัดการ" พบว่า ณ สิ้นธันวาคมปีที่แล้ว (2530) กองทุนฟื้นฟูให้ SOFT LOAN แก่แบงก์พาณิชย์บางแห่ง (ดูตารางประกอบ) ไปแล้ว 14,100 ล้านบาท เพิ่มรายได้ที่แน่นอนแก่แบงก์พาณิชย์ถึงปีละ 916.5 ล้านบาท หรือถ้านับเทอมอายุการกู้ยืม 5 ปีแล้วก็ตกประมาณ 4,582.5 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อรวมเบ็ดเสร็จแล้ว กองทุนฟื้นฟูให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันการเงินบางแห่งเพื่อสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 18,009.6 ล้านบาท!…เงินของประชาชนและแผ่นดินทั้งนั้น ที่นำไปช่วยต่อ "ลมหายใจ" แก่เจ้าของกิจการสถาบันการเงินแห่งนั้นๆ

เงินที่กองทุนฯ ทุ่มลงไปจำนวน 18,009.6 ล้านบาทนี้ มีประเด็นคำถามที่น่าพิจารณาอยู่ประเด็นหนึ่งคือ โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมามีแค่ไหน? ด้วยเหตุที่เงินจำนวนดังกล่าวเป็นของประชาชนและแผ่นดิน…

แหล่งข่าวที่ทราบเรื่องนี้ดีให้ความเห็นว่าต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเด็น คือ หนึ่ง - ส่วนที่กองทุนฯซื้อกิจการจำนวน 3,909.6 ล้านบาท อาจมีโอกาสได้ผลตอบแทนกลับคืนประมาณไม่เกิน 25% ในรูปการขายหุ้นคืนแก่นักลงทุนที่สนใจหรือแม้แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมก็ตาม เมื่อกิจการดังกล่าวเริ่มดีขึ้นและราคาหุ้นสูงกว่าราคาทุนในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามกว่าโอกาสในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามกว่าโอกาสนั้นจะมาถึงก็คงกินเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไป

"ดูงายๆ ในส่วนของแบงก์มหานครและนครหลวงไทยกว่าจะแก้ปัญหาหนี้สงสัยจะสูญจำนวนประมาณ 12,500 ล้านบาทลงไปได้ก็คงต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี" แหล่งข่าวกล่าว

เมื่อ "ผู้จัดการ" ถามต่อไปว่า แล้วกรุงไทยล่ะ! โอกาสที่กองทุนจะขายหุ้นที่เหลือ 940 ล้านบาทออกไปจะมีไหม? แหล่งข่าวให้ความเห็นด้วยเสียงหัวเราะว่า "ลืมมันเสีย"

ก็ชัดเจนดี…เพราะกรุงไทยเองกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ให้ความช่วยเหลือในปริมาณสัดส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินอื่นๆ ถึง 8,436.7 ล้านบาท และคงจะต้องช่วยต่อไปในอนาคตในส่วนที่กรุงไทยจะต้องเพิ่มทุนอีก 1,250 ล้านบาทในปีนี้ โดยที่กองทุนฯ ไม่มีสิทธิ์ในหุ้นส่วนที่เพิ่มทุนนี้เพราะต้องโอนกรรมสิทธิ์ไปให้กระทรวงการคลังแทน เพราะกระทรวงการคลังไม่มีเงินพอที่จะมาซื้อหุ้น แต่ก็ยังต้องการดำรงสิทธิ์ในการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 75% ของเงินทุนทั้งหมด

ขณะเดียวกันเมื่อได้พิจารณาหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารฯในส่วนที่ปล่อยไปให้แก่ลูกหนี้รายใหญ่ 3 รายคือ สุระ จันทร์ศรีชวาลา พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ และสว่าง เลาหทัย อีกจำนวนรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 12,000 ล้านบาทนั้น ก็แทบจะล้มประดาตายอยู่แล้ว เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับฐานะเงินกองทุน (CAPITAL FUNDS) ของธนาคารประมาณ 5,000 ล้านบาท

ที่ว่าหนี้สินจำนวนนี้ทำให้กรุงไทยแทบจะล้มประดาตายนั้นก็เพราะหนี้สินจำนวน 12,000 ล้านบาทนี้ ผู้บริหารกรุงไทยเล่นปล่อยไปโดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและไม่คิดดอกเบี้ยเลย! อย่างนี้แล้วจะไม่ให้กรุงไทยขาดทุนได้อย่างไรไหว ก็ถูกแล้วที่ปลัดพนัส สิมะเสถียร ประธานบอร์ดกรุงไทยต้องยอมรับอย่างหน้าชื่นอกตรมว่า "กรุงไทยขาดทุนวันละ 1 ล้านบาท" แม้ว่าจะพูดออกมาเพื่อเล่นจิตวิทยากับทางแบงก์ชาติให้ปล่อย SOFT LOAN ออกมาจำนวน 6,000 ล้านบาทก็ช่างเถอะ!

แม้ปัจจุบันผู้บริหารกรุงไทยจะเรียกลูกหนี้ (บรรดาศักดิ์) ทั้ง 3 รายมาทำสัญญาปรับปรุงแก้ไขสภาพหนี้กันใหม่แล้วก็ตาม แต่หลักทรัพย์ของลูกหนี้ที่เพิ่งจะนำมาค้ำประกันมูลหนี้ของตนนั้นก็ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นหลักทรัพย์ที่สะอาดสดใสไร้มลทินจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีหลักทรัพย์ของสุระ จันทร์ศรีชวาลา (รายละเอียดส่วนนี้อ่านได้จาก "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ฉบับ 7-13 ธันวาคม ซึ่งลงไว้อย่างละเอียดแล้ว)

ด้วยเหตุนี้ ฐานะของแบงก์กรุงไทยจริงๆ ในอนาคต แม้นว่าจะได้เงินช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูไปแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจสรุปได้ลงไปตอนนี้ว่า จะดีขึ้น และมั่นคงขึ้นเพราะสิ่งแรกสุดที่กรุงไทยจะต้องรีบกระทำคือการตั้งสำรองหนี้สูญอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท

"ดูแนวโน้มความเป็นไปได้โดยการแก้ปัญหาหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 12,000 ล้านบาทของลูกหนี้ (บรรดาศักดิ์) 3 รายนี้คงสำเร็จลงได้ยาก เชื่อว่าการตั้งสำรองหนี้สูญของแบงก์คงต้องสูงกว่า 3,000 ล้านบาทแน่ แต่จะเป็นเท่าไรนั้นต้องตรวจสอบกันให้แน่ชัดอีกระยะหนึ่ง" แหล่งข่าวแสดงความเห็น

ก็อยากจะเชื่อตามความเห็นของแหล่งข่าวนี้เหมือนกัน เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการบริหารของคณะผู้บริหารแบงก์นี้ซึ่งว่ากันว่า ไม่แตกต่างอะไรกับพวกข้าราชการในทบวง กระทรวง กรมต่างๆ กล่าวคือ อืดอาด เชื่องช้า หวงอำนาจ ลูบหน้าปะจมูก ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการบริหารในระบบราชการไทยที่มีมาช้านาน

"โธ่คุณเพียงแค่สมุห์บัญชีสาขาในต่างจังหวัดจะออกนอกเขตพื้นที่หน่อยเดียวยังต้องเสนอขออนุญาตเป็นลำดับขั้นถึงระดับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เลย คิดดูกว่าท่านผู้ช่วยฯจะเซ็นอนุมัติลงไป สมุห์บัญชีคนนั้นไม่เดินทางไปและกลับมาเรียบร้อยแล้วหรือ?" แหล่งข่าวเล่า…ถึงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในประสิทธิภาพระบบการบริหารของแบงก์กรุงไทยให้ฟัง

ประเด็นที่สอง - ส่วนที่กองทุนฯให้กู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ SOFT LOAN จำนวน 14,100 ล้านบาท ทางกองทุนฯได้ผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปดอกเบี้ยจ่ายของสถาบันการเงินที่ต้องจ่ายปีละครั้งอย่างแน่นอนไม่มีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามสำหรับประเด็นนี้ก็มีส่วนร่วมเป็นกรรมการในบอร์ด 1 ของสถาบันการเงินแห่งนั้นตามเงื่อนไขในการช่วยเหลือของกองทุนฯด้วย ยกตัวอย่างกรณีศิริ การเจริญดี ก็ได้รับแต่งตั้งจากคุณผู้ว่ากำจรฯให้เป็นกรรมการของบอร์ด 1 แบงก์กรุงไทย ซึ่งแม้นว่าโอกาสที่จะเข้าไปตรวจสอบฐานะการดำเนินงานของแบงก์จะมีมากขึ้นแต่ก็คงทำอะไรไม่ได้มาก

"ผมกล้าประกันเลย คุณศิริ ทำอะไรไม่ได้มาก และจะรู้ว่าผู้บริหารทำอะไรลงไปก็ต่อเมื่อได้รับรายงานเท่านั้น" อดีตคนโตแบงก์สยามให้ความเห็นมันเหมือนกับว่าโดยเนื้อแท้แล้ว สถานภาพของกองทุนฟื้นฟูฯเป็นมือกระบี่ที่ไร้ดาบเท่านั้น ไฉนเลยจะมีเพลงยุทธ์ที่เข้าต่อกรกับเหล่าบรรดามือกระบี่คนอื่นที่เต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บได้ตลอดรอดฝั่ง

"กองทุนฟื้นฟูฯมันมีแต่พระคุณ ไม่มีพระเดชหรอก" แหล่งข่าวเล่าให้ฟังเพื่อย้ำถึงสถานภาพที่แท้จริงของกองทุนฟื้นฟูฯที่ไร้อำนาจและสิทธิ์อันชอบธรรมในการเข้าไปตรวจสอบฐานะที่แท้จริงของสถาบันการเงิน ชนิดที่เรียกว่าจะมีโอกาสได้เข้าไปตรวจสอบในฐานะเป็น "มือปราบ" ของแบงก์ชาติก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯก่อน และเข้าไปเพียงในฐานะผู้ติดสอยห้อยตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินหรือแบงก์พาณิชย์ของแบงก์ชาติเท่านั้น

ถึงตรงนี้อยากจะถามไปยังกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติด้วยเสียงอันดังว่าจะต้องทุ่มเงินเข้าไปอีกกี่พันล้าน และสมควรจะติด "ดาบ" ให้กองทุนฟื้นฟูเขา หรือยัง?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us