|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โจรใต้ซุ่มยิงชุดคุ้มครองครู คนร้ายยิงชาวบ้าน ผู้ก่อการร้ายลอบวางระเบิดทหารชุดลาดตระเวน บางช่วงเวลาความเลวร้ายของสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังถูกซ้ำเติมด้วยข่าวเล็กๆ ที่ว่าเหล่ากาชาดในจังหวัดเหล่านั้นประสบปัญหาขาดแคลนเลือด...
ทุกวันถุงเลือดสีแดงข้นทุกหมู่โลหิตไม่ต่ำกว่า 60 ยูนิตจะถูกลำเลียงขึ้นเครื่องบิน รถไฟ และรถประจำทาง เพื่อมุ่งหน้าสู่หน่วยบริการโลหิตที่หาดใหญ่ จากนั้นเลือดส่วนหนึ่งถูกส่งต่อไปยังจุดหมายในพื้นที่ความไม่สงบของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ไม่ว่าปลายทางของของเหลวสีแดงจะเป็นทหาร ตำรวจ ผู้ก่อการร้าย ชาวไทยพุทธ หรือคนไทยมุสลิม แต่เป้าหมายเดียวกันของผู้บริจาคเลือดเหล่านั้นก็เพื่อต่อลมหายใจให้ผู้รับเลือด
"พรเพชร" หนุ่มตาบอดเดินจูงมือกับเพื่อนร่วมชะตากรรมอีก 3 คน เข้ามานั่งรอตรวจความสมบูรณ์ของร่างกาย หลังจากมีเจ้าหน้าที่ ช่วยจัดการลงทะเบียนผู้บริจาคเลือดให้เรียบร้อย
โดยปกติวันไหนที่พรเพชรหยุดขายล็อตเตอรี่ วันนั้นจะเป็นวันพักผ่อนของเขา แต่วันนี้พวกเขายอมเสียเวลาและเสียเงินเดินทางมาบริจาคเลือด เพราะเชื่อว่าไม่มีบุญไหนจะยิ่งใหญ่เท่าการให้ชีวิต ด้วยการบริจาคเลือด ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของปีแต่เป็นครั้งที่ 26 ของ ชีวิตเขา
ทันทีที่ปลายเข็มทะลุแขนเข้าสู่เส้นเลือด เลือดของพรเพชรก็ไหลเอื่อยผ่านสายยางไปนอนกองอยู่ในถุงพลาสติกใสขนาด 450 ซีซี จนเต็มถุง ส่วนเลือดที่ปลายสายยางถูกแยกใส่หลอดใสทั้ง 4 หลอด ก่อนที่ถุงเลือดและหลอดเลือดทั้ง 4 แท่งจะแยกย้ายจากเจ้าของเลือดไปคนละทิศทาง...
ปกติบรรยากาศของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติในเดือนมีนาคมก็เหมือนกับวันทั่วไปที่ไม่มีกิจกรรมพิเศษเนื่องในวาระโอกาสสำคัญใด ภาพผู้คนที่นั่งรอบริจาคเลือดตามจุดต่างๆ และทยอยเข้ามาจึงดูบางตาเป็นปกติ...ผิดกับอีกมุมหนึ่งของศูนย์บริการแห่งนี้
นับแต่เปิดดำเนินการ 8.30 น.ของทุกวัน ณ บริเวณชั้น G ของศูนย์บริการโลหิตฯ สภากาชาดไทย ถ.อังรีดูนังต์ เต็มไปด้วยรถพยาบาลและบุรุษพยาบาลจากโรงพยาบาลกว่า 100 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงเพื่อมารอรับเลือดหน้าห้องจ่าย
กว่า 20 ยูนิตที่บางโรงพยาบาลรัฐยื่นขอไว้อาจหมายถึง 4 ถุงเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วยตกเลือด อีก 1-2 ถุงสำหรับผู้ป่วยธารัสซีเมียตัวน้อยที่จำเป็นต้องได้รับเลือดทุกเดือนตลอดชีวิต ส่วนคนไข้ผ่าตัดหัวใจต้องเตรียมเลือดไว้เกือบ 10 ถุง กรณีถูกทำร้ายร่างกายขั้นรุนแรง อาจใช้เลือดมากถึง 8 ถุง ไหนยังจะต้องเตรียมเลือดสำรองไว้กรณีอุบัติเหตุทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
ความคาดหวังของทุกคนตรงนั้นคงอยากได้เลือดกลับไปในจำนวนที่ใกล้เคียงกับตัวเลขในใบสั่งของโรงพยาบาลมากที่สุด แต่ทว่าดูเหมือนทุกคนจะได้น้อยกว่าจำนวนตามใบสั่ง
"มียอดขอใช้เลือดมาที่เราประมาณ 2-3,000 ยูนิตต่อวัน แต่เรามีเลือดจ่ายได้ประมาณ 1,500 ยูนิตต่อวัน ขณะที่บางวัน ก็ไม่ถึงจำนวนนี้ด้วยซ้ำ การจ่ายเลือดของเราจึงไม่พออยู่ตลอด" ธีระ วิทยาวิวัฒน์ กล่าวในฐานะหัวหน้าหน่วยจ่ายโลหิต
หลังรถพยาบาลทยอยกลับกันบ้างแล้ว ภายในห้องจ่ายเลือดดูเงียบเหงา ถุงเลือดในตู้เย็นแช่เม็ดเลือดแดงร่อยหรอ ขณะที่บางหมู่เลือดมีชั้นวางที่ว่างเปล่า ส่วนสต๊อกในคลังเลือดใหญ่ก็ดูบางตา จะมีก็เพียงจำนวนถุงในตะกร้าเลือดฉุกเฉินที่ยังพอให้อุ่นใจได้เล็กน้อย
เกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกประเทศทั่วโลกควรมีเลือด สำรองไว้ร้อยละ 3% ของประชากรทั้งหมด ในแต่ละพื้นที่หมายความว่าประเทศไทยต้องจัดหาเลือดให้ได้ปีละราว 1.95 ล้านยูนิต แต่จากปีงบประมาณที่ผ่านมาของศูนย์บริการโลหิตฯ ยอดรับบริจาคมีเพียง 1.8 ล้านยูนิต
สำหรับศูนย์บริการโลหิตฯ ซึ่งรองรับประชากรทั้งหมดในกรุงเทพฯ สามารถหาเลือดได้กว่า 5 แสนยูนิตในปีที่แล้ว แม้จะมากกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ 3 แสนยูนิต แต่ก็ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการใช้เลือดที่ขอเข้ามายังศูนย์บริการแห่งนี้
นอกจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ คำขอใช้เลือดยังมาจากจังหวัดใกล้เคียงและจังหวัดไกลปืนเที่ยงทั่วประเทศ แม้จะรับบริจาคได้เองแต่ก็มักไม่ค่อยเพียงพอกับความต้องการใช้ของโรงพยาบาลในพื้นที่โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีเหตุการณ์ ให้ต้องใช้เลือดประจำ
เมื่ออุปทานน้อยกว่าอุปสงค์หลายครั้งธีระต้องจ่ายเลือดโดยอาศัย "ธรรมะจัดสรร" บนหลักความจำเป็นเร่งด่วน ถ้าเป็นคนไข้ฉุกเฉินที่ต้องการเลือดด่วนก็อาจจะได้รับไปก่อน ในจำนวนที่จำเป็นต้องใช้ ส่วนคนไข้ที่พอรอได้ก็อาจให้เลือดบางส่วนไปประทังไว้ก่อนที่จะรับส่วนที่ขาดไปในวันรุ่ง หรือถ้ากรณีผ่าตัดไหนเลื่อนออกไปได้ก็อาจเลื่อนไปก่อน
สำหรับโรงพยาบาลเด็กหรือสถาบันเด็กแห่งชาติ เขามักจ่ายให้ไปทั้ง 100% ตามที่ขอมา เพราะถือว่าเด็กยังมีความต้านทานต่อโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่
ทว่าบางกรณีคนไข้บางคนอาจไม่สามารถรอไหว เหมือนกับ "แอน" สาวน้อยวัยทำงานเสาหลักของครอบครัวที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร ขณะนอนรอรับบริจาคเลือดที่มีกรุ๊ปตรงกันอยู่ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง
"บางครั้งเราไม่รู้จะหาเลือดที่ไหนมาให้ทันเพราะชีวิตต้องรักษาด้วยชีวิต คนเรา เวลาป่วยที่ต้องใช้เลือดก็ต้องให้เลือดเข้าไป ยังไม่มีสารอะไรที่สามารถทดแทนได้ดีเท่า" น้ำเสียงธีระอ่อนลง
อย่างน้อยก็มีสิ่งน่ายินดีที่ทุกวันนี้ศูนย์บริการโลหิตฯ สามารถปั่นแยกเลือดที่สมบูรณ์ 1 ถุง เป็นส่วนประกอบต่างๆ ได้ถึง 4 ถุง คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และน้ำเหลือง (พลาสมา) ซึ่งแยกสารประกอบได้อีกตัว หมายความว่าเลือดจากผู้ให้เพียง 1 ถุง สามารถ ต่อชีวิตผู้รับได้มากถึง 4 คน เพื่อที่เลือดทุกหยดจะถูกใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดให้สมกับทุกหยาดความตั้งใจดีของผู้บริจาค
พรเพชรเดินทางออกจากศูนย์บริการโลหิตฯ ไปแล้ว แต่การเดินทางของถุงเลือดและหลอดเลือดของเขาเพิ่งเริ่มต้น ถุงเลือดถูกส่งไปยังฝ่ายพลาสมาและแปรรูป โลหิตเพื่อแยกส่วนประกอบเลือดเตรียมไว้ขณะที่หลอดเลือดทั้ง 4 หลอดถูกส่งไปห้องแล็บต่างๆ เพื่อตรวจกรุ๊ปเลือดและตรวจหาความผิดปกติ ซึ่งกระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 2 วัน
หากตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิสและ HIV ในเลือดแม้เพียงหลอดใดหลอดหนึ่ง ถุงเลือดที่มีบาร์โค้ดเดียวกันนี้จะถูกนำไปทำลายทิ้งทันทีและภายใน 2 สัปดาห์ ศูนย์บริการโลหิตฯ ก็จะแจ้งเจ้าของเลือดให้มาตรวจซ้ำเพื่อป้องกันการผิดพลาด
ตรงกันข้าม เมื่อแน่ใจว่าเลือดปลอดภัย ส่วนประกอบเลือดทั้งหมดจะส่งไปห้องจ่ายเพื่อรอจัดส่งไปตามโรงพยาบาล โดยปกติเม็ดเลือดแดงเก็บได้เต็มที่ 42 วัน แต่ดูเหมือนเลือดของพรเพชรก็คงค้างในคลังเลือดเพียงคืนเดียว แล้วถูกส่งต่อไปช่วย ชีวิตผู้ป่วยอย่างเร่งรีบไม่ต่างจากเลือดคนอื่น เพราะความต้องการเลือดมีสูงกว่ายอดบริจาค โดยเฉพาะช่วงก่อนเทศกาลหยุดยาวเช่นนี้
"เรากลัวมากเลยช่วงวันหยุดยาวทั้งปีใหม่และสงกรานต์ มีปัญหาทุกปีเพราะคนมาบริจาคน้อย คนไปเที่ยวกันหมด ไม่ค่อยมีคนนึกถึงผู้ป่วย ไหนจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ ก็ต้องใช้เลือดมาก ที่เราจะทำได้ก็คือต้องเร่งสต๊อกไว้ก่อนหน้า" แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ พิกุลสด แสดงความเป็นห่วงในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ
จากเป้ายอดบริจาคในปี 2551 ที่ศูนย์บริการโลหิตฯ ตั้งไว้เดือนละ 45,000 ยูนิตเป็นอย่างต่ำ แต่นับจากเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา ยอดบริจาคเฉลี่ยเดือน ละไม่ถึง 39,000 ยูนิตด้วยซ้ำ ในขณะที่เดือนแห่งวันพ่อและวันแม่ยอดบริจาคทะลุขึ้นไป เหยียบ 46,000 ยูนิต
แม้แนวโน้มของจำนวนเลือดบริจาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ดูเหมือนไม่เคยเพียงพอกับความต้องการใช้เลือดที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และจากประสบการณ์กว่า 4 ปีในห้องจ่ายเลือด ธีระพบว่าทุกปีช่วงหลังปีใหม่จนถึงสงกรานต์เรียกได้ว่า เป็นช่วงวิกฤติเลือดของศูนย์บริการโลหิตฯ ก็ว่าได้
หลังจากที่สต๊อกเลือดเนืองแน่นเนื่องจากมีผู้บริจาคจำนวนมากรอมาเสียเลือด เป็นการทำดีถวายในหลวงในวันที่ 5 ธันวาคม ก่อนจะลดลงอย่างมาก เพราะผู้บริจาคส่วนใหญ่เริ่มคิดถึงแต่เรื่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ สต๊อกเลือดถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วเพื่อให้เลือดผู้ประสบอุบัติเหตุ
ขณะที่หลังปีใหม่ร่างกายหลายคนอาจยังไม่สมบูรณ์พอจะบริจาค เทศกาลท่องเที่ยวช่วงตรุษจีนก็มาถึง จากนั้นก็เข้าสู่ฤดูการสอบไล่และปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา ทำให้จำนวนเลือดของหน่วยรับบริจาคตามโรงเรียนหายไป ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่มากถึง 25% ของเลือดทั้งหมดทีเดียว
ประกอบกับปีนี้บริษัทและโรงงานปิดตัวลงไปหลายแห่งทำให้จำนวนเลือดจากหน่วยบริจาคตามบริษัทและโรงงานลดลงไปด้วย
พอถึงเดือนเมษายนผู้บริจาคส่วนใหญ่ก็กลับมาวางแผนการท่องเที่ยวอีกครั้ง กว่าที่จิตใจและร่างกายจะพร้อมกลับมาบริจาคเลือดได้ก็อาจจะเป็นเดือนถัดไป หรือเดือนถัดๆ ไป
"อย่าคิดว่าวันหยุดคงไม่มีใครต้องการเลือด ความต้องการเลือดไม่มีวันหยุด ในเมื่อมีคนป่วยทุกวัน โรงพยาบาลก็เต็มทุกวัน การใช้เลือดก็ย่อมต้องมีทุกวัน ดังนั้นคนให้ก็ควรต้องมีทุกวัน ถ้าทุกคนหยุดให้ไปสักวัน เลือดในสต๊อกของเราจะหมดไปทันที" แพทย์หญิงสร้อยสอางค์ทิ้งท้าย
ทั้งผู้อำนวยการศูนย์ฯ และหัวหน้าหน่วยจ่ายโลหิตย้ำตรงกันว่า การบริจาคเลือดเป็นหน้าที่ที่ทุกคนควรช่วยเหลือกันและดูแลกัน ขณะเดียวกันก็นับเป็นความดี ที่ยิ่งใหญ่อาจทำใจยากสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่กลัวเข็มและกลัวเลือด แต่ก็คงไม่ยากเกินความตั้งใจดี
...เหมือนกับพรเพชรและเพื่อนผู้พิการทางสายตาที่ต่างก็เอาชนะความกลัวด้วยความดีกันมาได้แล้ว
|
|
|
|
|