Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552
โลกออนไลน์...ปฏิวัติวัฒนธรรมการตลาด             
โดย ดร.ภิเษก ชัยนิรันดร์
 


   
search resources

Web Sites
Marketing




กมลชนกตื่นขึ้นมาจากเตียงอันแสนสบายในเวลา 6 โมงเช้า โดยที่แสงแห่งวันใหม่เริ่มปรากฏขึ้นที่ริมขอบฟ้าเรื่อๆ ด้วยความที่บ้านของเธอกับที่ทำงานอยู่ใกล้กันมาก ทำให้เธอพอมีเวลาที่จะได้เปิดวิทยุเพื่อฟังเพลงจากสถานี เสียงเพลงดังเจื้อยแจ้วเข้ากับบรรยากาศยามรุ่งอรุณ พอสิ้นเสียงเพลงก็มีโฆษณามาคั่นกลาง จะเป็นโฆษณาอะไร ส่วนใหญ่กมลชนกก็ไม่ค่อยได้จดจำ อย่างมากก็อาจจะตั้งใจฟังกับโฆษณาที่น่าสนใจและดึงดูด แต่แน่ละ โฆษณาประเภทนั้น นานๆ ครั้งถึงจะมี

พอเธอฟังได้ประมาณครึ่งชั่วโมง กมลชนกก็เข้าไปอาบน้ำแต่งตัว เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็ขับรถไปยังสถานที่ทำงาน ถึงแม้ที่ทำงานอยู่ใกล้ๆ แต่ก็มีรถติดอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงระหว่างนั้นสายตาของเธอก็มองไปที่รถตุ๊กๆ ข้างหน้า แล้วก็ได้เห็นโฆษณาหลังรถปรากฏแก่สายตา ส่วนใหญ่เธอก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะอ่านหรือแม้อาจจะอ่าน ก็จดจำอะไรไม่ค่อยจะได้ กมลชนกเบนสายตามองไปด้านอื่นๆ ก็พบกับป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มากมายเต็มข้างทางไปหมด หลายๆ ป้ายพยายามใช้สีสันและคำพูดสั้นๆ ที่คิดว่าโดนใจผู้ได้พบเห็นแต่ความจริงแล้วกมลชนกแทบจะจำรายละเอียดอะไรไม่ได้ ก็เพราะมีสารต่างๆ มากมายเหลือเกินบนป้ายเหล่านั้น

เมื่อถึงที่ทำงานประมาณ 7 โมงครึ่ง ยังพอมีเวลา เธอเอาหนังสือฉบับใหม่เช้านี้มาอ่านเพื่ออัพเดทข่าวคราวความเคลื่อนไหวของวงการดาราว่าใครเป็นแฟนใครบ้าง แน่ละเธอมักจะตรงดิ่งไปยังหน้าที่ต้องการ และเปิดข้ามโฆษณาไปด้วยความไม่ใส่ใจ ต่อเมื่ออ่านข่าวดาราจบ เธอก็กวาดตามองลงมาด้านล่างก็พบเห็นโฆษณายาสีฟันยี่ห้อหนึ่งด้วยรูปที่สวยงามและแปลกตา ทำให้เธออดหยุดที่โฆษณานั้นสัก 2-3 นาทีไม่ได้ เธออ่านด้วยความสนใจ เมื่ออ่านเสร็จก็เปิดหนังสือพิมพ์ผ่านๆ ไม่ได้สนใจหน้าใดเป็นพิเศษอีก

จากนั้นเธอนั่งทำงานไปจนถึงเที่ยง เพื่อนๆ ชวนไปทานสุกี้ที่อยู่ข้างๆ ที่ทำงาน ขณะที่รับประทานอาหารอย่างเพลิดเพลิน เธอก็สังเกตเห็นว่ากระดาษรองถ้วยนั้น มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของผักชนิดต่างๆ ซึ่งน่าสนใจ แถมมีเนื้อความโฆษณาของร้านสุกี้ปรากฏอยู่ด้านมุมล่างขวา เมื่อทานเสร็จเธอจึงเก็บกระดาษใบนี้เพื่อนำไปอ่านต่อที่บ้าน

เมื่อถึงเวลา 5 โมงเย็น เธอเดินทางกลับบ้าน เวลาส่วนใหญ่ในช่วงยามเย็น นอกจากจะรดน้ำต้นไม้และเล่นกับสุนัขแล้ว การดูโทรทัศน์โดยเฉพาะละครหลังข่าวคือสิ่งที่เธอชื่นชอบ หลายๆ ครั้งยามเข้าได้เข้าเข็มเจ้าของรายการก็มักจะเล่นเอาล่อเอาเถิดกับคนดู ด้วยการคั่นด้วยโฆษณา ทำเอาเธอเสียอารมณ์พานจะเลิกซื้อสินค้า ที่กำลังโฆษณาอยู่นั้น เธอตัดสินใจเปลี่ยนช่องเพื่อไปดูรายการอื่นๆ แทน แล้วค่อยย้อนกลับมาดูละครต่อ เว้นเสียแต่ว่าโฆษณานั้นจะมีความน่าสนใจและมีไอเดียเด็ดๆ เมื่อละครจบเธอจึงอาบน้ำและเข้านอน

รายละเอียดของชีวิตประจำวันของกมลชนก ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน อีกครั้งจะพบกับสารทางการตลาด จำนวนที่ผ่านสายตาของเธอไป มันมากมายเสียจนกระทั่งว่ายากที่จะนับจำนวนสารเหล่านั้นในแต่ละวันได้ สินค้าและบริการเป็นพันเป็นหมื่นพยายามสื่อสารที่ต้องการให้กับกมลชนก บรรดาสินค้าและบริการเหล่านั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะสอดแทรก (Interruption) เข้ามาในชีวิตประจำวัน พยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ตนเองโดดเด่นออกมาจากสินค้าและบริการอื่นๆ ด้วยกลวิธีที่หลากหลาย การใช้ภาพ เสียง ข้อความต่างๆ รวมตลอดจนถึงการเลือกสื่อหรือทำเลที่คิดว่าจะเปิดโอกาสให้กมลชนกได้มีโอกาสได้รับสาร การแข่งขันเพื่อแย่งความสนใจจากกมลชนกรุนแรงมาก แต่สุดท้ายจะเหลือผู้ชนะเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกจดจำ

การออกแบบโฆษณา โจทย์ที่ได้รับของบรรดาครีเอทีฟต่างๆ ก็คือต้องพยายามทำให้เกิดแรงดึงดูดใจ (Enticement) ดึงความสนใจให้เกิดกับโฆษณานั้นให้ได้ ทุกๆ คนต้องกลั่นไอเดียออกมา เพียงเพื่อหวังว่า เมื่อทุ่มเงินใช้จ่ายในสื่อต่างๆ ด้วยมูลค่ามหาศาลเพื่อเข้าไปสอดแทรกรบกวน เข้าไปในจังหวะชีวิตของกมลชนกแล้ว จะทำให้เกิดความสนใจและยินดีที่จะยอมรับสารที่ส่งไปนั้น แล้วส่งผลให้สินค้าและบริการนั้นได้ถูกตระหนักรู้และจดจำ แต่เมื่อบรรดาครีเอทีฟล้วนคิดอย่างเดียวกันจะมีกี่มากน้อยที่จะประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้สารที่กมลชนกได้รับมีลักษณะที่เป็นการสื่อสารแบบมวลชน (Mass Communication) ซึ่งมีความต้องการให้ครอบคลุมผู้ได้รับสื่อเป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่า หลายๆ โฆษณาที่ผ่านสายตากมลชนกและถูกละเลยไปนั้น เป็นเพราะมันไม่เข้ากับความสนใจเฉพาะตัวของเธอ บรรดาสินค้าและบริการดังกล่าวโฆษณาแบบเหวี่ยงแห โดยหวังเพียงว่าน่าจะมีปลาบางตัวที่ถูกจับ ขณะที่ปลาอีกหลายๆ ตัวหนีรอดไปได้

ที่กล่าวมาข้างต้นคือแนวทางการโฆษณาบนสื่อเดิม (Traditional Advertising) ซึ่งหมายความรวมถึงโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นการสื่อสารแบบข้างเดียว (One-Way Communication) ที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับสารได้โต้ตอบและพยายามยัดเยียดสารการตลาดเข้าไปในสมองของผู้บริโภค ด้วยวิธีที่คิดว่าแยบยลแต่ส่วนใหญ่กลับไม่เป็นไปดังหวัง

เดวิท เมียแมน สกอตต์ สรุปในหนังสือของเขา The New Rules of Marketing and PR เกี่ยวกับกฎเกณฑ์เก่าๆ ของการตลาดในอดีต กล่าวคือ

- การตลาดมีเพียงความหมายของ การโฆษณาและการสร้างแบรนด์

- การโฆษณานั้นจะต้องดึงดูดใจมวลชน ไม่สนใจความแตกต่างในเรื่องของความสนใจของแต่ละปัจเจกชน

- การโฆษณานั้นต้องการเข้าไปสอดแทรกรบกวนผู้รับสารเพียงเพื่อหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะสนใจในสารที่ตั้งใจสื่อ

- การโฆษณานั้นมีลักษณะของการสื่อสารทางเดียวจากบริษัทไปสู่ผู้บริโภค

- ครีเอทีฟคือกลไกสำคัญในการขับดันให้โฆษณานั้นเกิดความสำเร็จ

เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมการตลาดออนไลน์
ช่อม่วงคือสาวทันสมัยที่นิยมจมอยู่กับโลกออนไลน์และเหมือนเช่นคนอื่นๆ เธอมักจะเข้าไปใช้อินเทอร์เน็ต โดยเปิดไปที่เว็บไซต์ที่เป็นเครื่องมือค้นหาชื่อดังอย่าง www.google.com จากนั้นเธอก็พิมพ์หัวข้อที่สนใจเข้าไปในช่องค้นหา (Search) จากผลลัพธ์ที่ได้ เธอพยายามอ่านรายละเอียดสั้นๆ แล้วเข้าไปในแต่ละเว็บไซต์เพื่อสำรวจว่ามีเนื้อหาที่ต้องการตรงกับความสนใจของเธอหรือไม่ (Browse) หากเว็บไซต์ใดที่ไม่ต้องตรงใจ เธอย่อมมีอิสระ ในการที่จะปิด แล้วตรวจสอบต่อไปว่าเว็บไซต์ที่ต้องการนั้นคือเว็บไซต์ใด

สมมุติว่าช่อม่วงเข้าไปยังเว็บไซต์ขายหนังสือชื่อดังอย่าง www.amazon.com พฤติกรรมก็ไม่ต่างจากการเข้าไปใช้ www.google.com นั้นก็คือ ช่อม่วงจะเข้าไปหาหนังสือที่ต้องการจากช่องค้นหา โดยการพิมพ์คำหลักลงไป เช่น ช่อม่วงต้องการหนังสือเกี่ยวกับการวิ่ง จึงพิมพ์คำว่า running ก็จะได้รายชื่อหนังสือที่เกี่ยวข้องจำนวน 770 รายการ จากนั้นเธอ ก็ทำการสำรวจรายละเอียดของหนังสือแต่ละเล่มว่าเล่มไหนที่โดนใจเธอมากที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลจำนวนมากที่ทาง www.amazon.com ได้สร้างระบบเอาไว้ไม่ว่าจะเป็น

- บทวิจารณ์จากบรรณาธิการ
- รายละเอียดของสินค้า
- หน้าตัวอย่างของหนังสือบางหน้า
- แนะนำหนังสือที่ลูกค้าได้ซื้อหลังจากการเข้ามายังหน้านี้แล้ว
- บทวิจารณ์จากลูกค้า
- ข้อมูลอื่นๆ

จากรายละเอียดดังกล่าวช่อม่วงสามารถพิจารณารายละเอียดของหนังสือได้ทุกมุมมอง ยิ่งกว่าไปที่ร้านหนังสือเองเสียอีก เธอสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างอิสระโดยปราศจากอิทธิพลของสื่อแบบเดิมๆ เข้ามากระตุ้นกดดันให้ซื้อ นอกจากนี้จุดเด่นอีกประการของ www.amazon.com ก็คือ การแนะนำหนังสืออื่นๆ ที่ลูกค้าที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มักจะซื้อ เป็นการนำผลจากการสำรวจพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละรายมารวบรวมและใช้ในเชิงการตลาดได้อย่างน่าทึ่ง

จะเห็นได้ว่าช่อม่วงมีอำนาจในการควบคุมข้อมูลได้และสามารถพิจารณาจนกระทั่งพึงพอใจแล้วค่อยตัดสินใจซื้อ เป็นตัวอย่างความสำคัญของข้อมูล ซึ่งไม่ใช่ว่าเว็บไซต์อื่นๆ จะทำลอกเลียนแบบได้ง่าย เท่าที่ผมสำรวจยังไม่พบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซใดของไทยที่ทำได้อย่างที่www.amazon.com ทำเลย

ยกตัวอย่างอีกกรณีของการให้ข้อมูล เพื่อตัดสินใจซื้อ สมมุติว่าสมพรต้องการจะสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิต แทนที่จะอาศัยตัวแทนขายที่คะยั้นคะยอให้ซื้อ ซึ่งนอกจากจะได้รับข้อมูลจากผู้ให้บริการเพียงรายเดียวแล้ว ยังอาจจะตัดสินใจซื้อเพียงเพราะแก้รำคาญทำให้ไม่สมประโยชน์ ที่ได้รับอย่างแท้จริง สมพรจึงเข้าไปที่ www.google.com จากนั้นค้นหาด้วยคำว่า บัตรเครดิต จากผลที่ได้สมพรจึงเข้าไปที่ www.silkspan.com ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนรายหนึ่ง

เมื่อเข้าไปก็พบว่ามีรายละเอียดของบัตรเครดิตถึง 5 ราย และแต่ละรายก็มีบัตรเครดิตต่างประเภทกันไป สมพรพิจารณาในข้อมูลเงินเดือนขั้นต่ำ จุดเด่นของสินค้าและโปรโมชั่นที่ได้รับ หากข้อมูลไม่เพียงพอหรือต้องการเปรียบเทียบกับบัตรเครดิตรายอื่นๆ ก็สามารถกลับมาค้นที่ www.google.com ได้ เมื่อเปรียบเทียบจนพึงพอใจแล้ว ก็สามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าจะใช้บริการบัตรเครดิตของรายใด

ตรงจุดนี้จะเห็นว่าสมพรเกิดความสนใจแต่แรกแล้วว่าอยากใช้บัตรเครดิต แต่ต้องการข้อมูลในการตัดสินใจ จึงใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการค้นหา ไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของสื่อต่างๆ ในเชิงการเข้ามารบกวนเหมือนอย่างเคย

กูรูอย่างเดวิท เมียแมน สกอตต์ สรุปว่า "การตลาดบนเว็บไซต์นั้นไม่ใช่เรื่องการนำเสนอแบนเนอร์ที่ถูกออกแบบให้ลวงผู้คนด้วยสีสันหรือภาพเคลื่อนไหว แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าใจในเรื่องของคำสำคัญและวลี เพื่อใช้ขับดันคนเข้ามายังเว็บไซต์ จากนั้นจึงอาศัยเนื้อหาข้อมูลเติมเต็มเข้าไปเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ"

ด้วยวัฒนธรรมแบบค้นหา (Search) และสำรวจ (Browse) ทำให้ www.google.com กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลัง ด้วยบริการ Google Adword และ Google Adsense ที่จะมีคำโฆษณาที่เป็นตัวหนังสือแสดงให้เห็นตามคำค้นที่ใช้ (Google Adword) และตามลักษณะของเนื้อหาของเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง (Google Adsense) นอกจากนี้ทาง www.google.com ยังก้าวไปไกลกว่านั้น คือการพัฒนาระบบโฆษณาออนไลน์แบบใหม่ที่อิงกับความสนใจของผู้ท่องเว็บเป็นหลัก (Interest-Based Advertising) โดยอาศัยประวัติการใช้งานเว็บไซต์และการค้นหาข้อมูล จากนั้นนำโฆษณาที่ตรงกับความสนใจมาเสนอ ไม่ขึ้นอยู่กับคำหลักที่ใช้ค้นหาในขณะนั้นแต่ประการใด

หลักการสำคัญคือว่า เมื่อผู้บริโภคมีความสนใจไม่ว่าจากคำค้นหาหรือประวัติการใช้ในอดีต โฆษณาที่แสดงนั้นย่อมมีโอกาสในการถูกคลิกมากกว่าโฆษณาแบบแบนเนอร์ที่ยังลอกไอเดียของสื่อเดิมๆ มาใช้กับโลกออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยวัฒนธรรมของการใช้สื่อที่แตกต่างกัน

การตลาดยุค Web 2.0
พฤติกรรมของสื่อการตลาดที่แตกต่างกันระหว่างแบบเดิมกับแบบออนไลน์ ทำให้บรรดาผู้ที่เคยชินกับสื่อแบบเก่าๆ ต้องทำการปรับตัว การสื่อสารแบบทางเดียวเป็นเรื่องที่ล้าสมัย ขณะที่การเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ และสามารถโต้ตอบแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทกับลูกค้าและลูกค้าด้วยกัน เองกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

กล่าวในส่วนบริษัทกับลูกค้า บริษัทสามารถใช้ประโยชน์ของการเป็นสื่อที่สามารถโต้ตอบกันมาประยุกต์ให้เกิดกิจกรรมขึ้น โดยผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วม (Engagement) ในการสร้างเนื้อหา (Content) ของเว็บไซต์ขึ้นมา อย่างกรณีของครีมบำรุงผิวการ์นิเย่ ไลท์ ไนท์ครีม จัดทำเว็บไซต์ร่วมกับทาง www.sanook.com เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สินค้าและบริการเข้ามาร่วมโพสต์ภาพประทับใจจำนวน 3 รูป พร้อมเขียนเล่ากลเม็ดเคล็ดลับในการบำรุงผิวแล้วเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมรายอื่นๆ ทำการโหวต โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับบัตรรับประทานอาหารพร้อมดื่มด่ำความงดงามยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ที่ Red Sky, Centara Grand Hotel, Central World

การใช้เกมก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งทางการตลาดออนไลน์ที่เป็นที่นิยม อย่างกรณีของอิจิบังราเมนเปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าร่วมเล่นเกมเพื่อชิงรางวัลเครื่องคอมพิวเตอร์ Acer และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย แม้ว่าวิธีการนี้ไม่เน้นการขายโดยตรง แต่การเปิดให้ลูกค้ามีส่วนร่วมนั้นทำให้เกิดความตระหนักถึงตราสินค้า (Brand Awareness) และสร้างประสบการณ์ให้เกิดขึ้นกับตัวผลิตภัณฑ์

แน่ละ วิธีการทั้งของการ์นิเย่ไลท์ ไนท์ครีมและอิจิบังราเมนนั้น สื่อเดิมๆ ไม่มีความสามารถที่จะทำได้เช่นนี้

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการตลาดยุค Web 2.0 ก็คือลูกค้าเป็นผู้สร้าง ข้อมูลของสินค้าและบริการนั้นขึ้นมาเองเพื่อให้ลูกค้ารายอื่นๆ ได้มีโอกาสอ่าน

อาจจะอยู่ในรูปของการวิจารณ์สินค้าและบริการนั้นในตัวเว็บไซต์ผู้จัดจำหน่ายนั่นเองตามที่กล่าวมาแล้วในตัวอย่างของ www.amazon.com หรืออาจจะอยู่ในรูปของกระทู้ถามตอบ อย่าง www.torakhong.org ซึ่งเปิดเสรีให้ผู้ที่มีปัญหาเข้ามาตั้งกระทู้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเป็นสาธารณะ แน่นอน ข้อมูลดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้ที่ได้เข้ามาอ่าน และกระเทือนไปถึงความอยู่รอดของบริษัทผู้ผลิตหากถูกวิจารณ์ในเชิงลบ ซึ่งบริษัทจะต้องปรับตัวเพื่อรับฟังปัญหาและแก้ไขให้ทันท่วงที เนื่องจาก ข้อมูลร้ายๆ สามารถกระจายไปยังคนอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งอยู่บนโลกออนไลน์ อานุภาพของปากต่อปาก (Word of Mouth) ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้การกำเนิดของบล็อกต่างๆ ที่ใครใคร่เขียนก็ได้เขียน ก็เป็นสื่อการตลาดที่เสริมอีกแรง บล็อกเกอร์คนใดที่เขียนเรื่องราวเป็นที่ชื่นชอบ ก็จะเกิดแฟนคลับที่คอยติดตามและพลอยมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าและบริการตามไปด้วย จนทำให้เอเยนซี่โฆษณามองเห็นโอกาสที่จะเข้าเสนอให้บรรดาบล็อกเกอร์เหล่านี้เชียร์สินค้าและบริการที่เป็นลูกค้าของตน ซึ่งนั่นเหมือนดาบสองคมที่อาจจะมีคนแห่ตามซื้อ แต่ก็เป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของบล็อกเกอร์รายนั้นๆ ลง จนกระทั่งพูดอะไรออกไปก็ไม่มีใครเชื่อ

อีกทั้งบรรดาเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายสังคม (Social Networking) ต่างๆ อย่างกรณี www.facebook.com, www.hi5.com, wwww.myspace.com บรรดาผู้เขียนจะมีเพื่อนๆ เข้ามาร่วมในการพูดคุย นอกจากเรื่องราวในชีวิตส่วนตัวและอื่นๆ แล้วยังมีการเขียนบอกเล่าถึงการใช้ชีวิต เช่น เพลงที่ฟัง เสื้อผ้าที่ชื่นชอบ กระเป๋าสุดโปรด รองเท้าสุดฮิบ เป็นต้น หลายๆ คนก็อาศัยข้อมูลที่ได้ดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่ถือว่าจะต้องปรับตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายสังคมที่เจาะลึกไปถึงการเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่าง www.fashionspace.com เป็นต้น

วัฒนธรรมทางการตลาดที่ถูกปฏิวัติทำให้ต้องมีการปรับกรอบแนวคิดให้แตกต่างไปจากเดิมอย่างมากมาย หากมองบริบทการโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยน จากแต่เดิมที่เป็นแบนเนอร์ที่ไร้ประสิทธิภาพมาเป็นการตลาดยุค Web 2.0 ตามที่กล่าวมาแล้ว และหัวใจหลักที่สำคัญคือ เนื้อหาหรือข้อมูลข่าวสารที่ เว็บไซต์มอบให้เพื่อให้เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อ

"ซึ่งหากคนที่ไม่เข้าใจการตลาดแบบใหม่ ยังหลงติดกับดักการตลาดแบบเดิมๆ อยู่ล่ะก็ นั่นก็หมายความว่าโอกาสของความสำเร็จย่อมลดน้อยลง"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us