Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552
twitter: ยักษ์เล็กคว่ำยักษ์ใหญ่             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
www resources

Twitter, Inc. Homepage

   
search resources

Web Sites
Twitter, Inc.




ตอนที่ผมเล่น twitter ใหม่ๆ นั้น ผมเห็นมันเป็นของเล่นจริงๆ เพราะตอนนั้น twitter ก็เหมือนการหาเพื่อนกลุ่มใหม่ เพียงแต่เราจะมีกิจกรรมที่แตกต่างจากเว็บไซต์แนวโซเชียลเน็ตเวิร์คอื่นๆ ในแง่ที่เราจะบอกเพื่อนๆ ในกลุ่มของเราว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่นเดียวกับที่เราจะติดตามความเป็นไปของเพื่อนๆ ผ่านการบอกเล่าของเพื่อนด้วยเช่นกัน

จากหนทางปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับกลุ่มเพื่อนนี้กลายเป็นช่องทางในการนำ มาประยุกต์ใช้งานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการ โฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างกลุ่มเพื่อน ใหม่ผ่านเพื่อนในกลุ่มของเราในลักษณะเดียวกับ hi5 ที่สามารถเข้าไปดูว่า เพื่อนใน กลุ่มของเรากำลังติดตามชีวิตของใคร ถ้าสนใจก็เข้าไปติดตามต่อกันเป็นทอดๆ ได้

ดังนั้น twitter จึงไม่ใช่แค่ของเล่นในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ตอนนี้มันกำลังจะกลายเป็นอะไรมากมายที่เหล่าผู้ประกอบการในซิลิกอนวัลเลย์และอีกหลายล้านคนทั่วโลกเฝ้ามองอย่างไม่กะพริบตา พวกเขามองว่า twitter จะกลายเป็นกูเกิ้ลสองหรือเฟซบุ๊ก (Facebook) สอง หรือเป็นอะไรสักอย่างที่เป็นการผสมผสานของทั้งกูเกิ้ลและเฟซบุ๊กและกำลังจะไร้เทียมทานในอนาคตอันใกล้นี้

อาจกล่าวได้ว่า twitter เป็นบริการบล็อกขนาดจิ๋วเพราะจำกัดจำนวนตัวอักษรในการส่งแต่ละครั้ง ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางระบายอารมณ์ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางในการติดตามความเป็นไปในโลกนี้ได้อีกด้วย twitter ยังเป็นช่องทางที่ใช้ในการแสดงออกถึงประสบการณ์ร่วมในการทำกิจกรรมหรือใช้บริการสินค้าและบริการต่างๆ ได้ด้วยโดยเฉพาะการแสดงออกแบบเรียลไทม์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเพิ่งไปใช้บริการโรงแรมหรือร้านอาหารมาหยกๆ ความรู้สึก ณ เวลา นั้นสามารถแสดงออกเป็นข้อความสั้นๆ ผ่าน twitter ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ซึ่งเทคโนโลยีความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารในปัจจุบันก็ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเดินไปหาเครื่องคอมพิวเตอร์ในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่มาส่ง เพราะเราสามารถส่งข้อความสั้นๆ เหล่านั้นผ่านโทรศัพท์มือถือได้เลย

การที่เป็นบล็อกขนาดจิ๋วซึ่งมีข้อจำกัดของจำนวนตัวอักษรก็ทำให้การแสดงออกผ่าน twitter จะต้องใช้คำสั้นๆ ที่สื่อความหมาย

นอกจากนี้หลายคนยังใช้ twitter ในการพูดคุยประสบการณ์การใช้สินค้าแบรนด์ต่างๆ โดยเป็นความรู้สึก ณ ขณะเวลาที่ใช้ความรู้สึกโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการใช้สินค้านั้นๆ ที่สำคัญสินค้าแบรนด์ต่างๆ เหล่านั้นก็ต้องการรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้เช่นกัน และพวกเขาก็ต้องการตอบสนองความรู้สึกนั้นๆ ทันที รวมถึงการอรรถาธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นี่อาจเป็นช่องทางในการติดตามพฤติกรรมผู้บริโภค และใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งได้ด้วย

twitter นั้นจะมีส่วนที่เรียกว่า search.twitter.com ซึ่ง twitter ซื้อ Summize ซึ่งเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นอีกตัวหนึ่งไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้วและความสามารถของ Summize มาใช้ในส่วนค้นหาของพวกเขา โดยส่วนค้นหาของ twitter นี้จะช่วยให้สามารถตามติดพฤติกรรมและความนึกคิดของผู้บริโภคได้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใช้งานทั่วไปก็สามารถค้นหาข่าวสารความเป็นไปในช่องค้นหานี้ได้เช่นกัน

twitter เริ่มเห็นช่องทางทำมาหากิน โดยพวกเขาพยายามสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ จากช่องทางที่เปิดเพิ่มเติมขึ้นมา ก่อนหน้านี้พวกเขาอาศัยรายได้ส่วนหนึ่งจากผู้ใช้ที่มีแอคเคาน์พิเศษรวมถึงกลุ่มที่ต้องการใช้งานฟังก์ชันพิเศษๆ แต่ตอนนี้ twitter พยายามที่จะรวบรวมฐานสมาชิกให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ก่อน ปัจจุบันมีสมาชิกที่ลงทะเบียนถึงหกล้านรายทั่วโลก รวมถึงการรวบรวมความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ ให้มากที่สุดเช่นกัน โดยข้อมูลเหล่านี้ ถือว่ามีมูลค่ามหาศาลมากและตอนนี้ดูเหมือน twitter จะเป็นผู้ครอบครองข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านี้เพียงรายเดียว ซึ่งกูเกิ้ลรวมทั้งคู่แข่งอีกหลายๆ เจ้ายังไม่สามารถทำได้

ที่ผ่านมากูเกิ้ลได้แสดงให้เห็นมาตลอดว่า พวกเขาสามารถทำเงินจากเสิร์ชเอ็นจิ้นได้ โดย 40 เปอร์เซ็นต์ของโฆษณาออนไลน์ในทุกวันนี้จะทุ่มลงไปกับการโฆษณาผ่านเสิร์ชเอ็นจิ้นทั้งสิ้น นั่นหมายความว่า twitter กำลังเปิดพรมแดนการต่อสู้ครั้งใหม่ในโลกออนไลน์

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ twitter จะต้องพิจารณาก็คือไม่ใช่แค่โฆษณาเท่านั้นที่สามารถทำเงินได้บนอินเทอร์เน็ต แต่สำหรับข้อมูลที่พวกเขาครอบครองอยู่นี้ พวกเขาต้องพยายามหาเครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นให้มากที่สุด นั่นก็เป็นสิ่งที่เหล่าสินค้าแบรนด์ต่างๆ กำลังรอคอย

Scout Labs และหน่วยงานวิจัยอีกหลายๆ แห่งกำลังพยายามทำสิ่งนี้เช่นกัน พวกเขามองว่าบนอินเทอร์เน็ตนั้นเต็มไปด้วยการพูดคุยมากมายตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แน่นอนว่าในบรรดาการพูดคุยเหล่านั้นจะต้องมีบ้างที่พวกเขาพูดถึงสินค้าแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง แล้วทำอย่างไรเราถึงจะรับรู้จึงสิ่งที่พวกเขาพูดคุยกันอยู่แล้วพวกเขาพูดอะไรกันบ้าง

Scout Labs สร้างแอพพลิเคชั่นบนเว็บซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อทำให้เราสามารถติดตามสิ่งที่พวกเราพูดคุยกันบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เพื่อช่วยให้เราสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเรา รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าด้วย Scout Labs เน้นการเก็บข้อมูลทั้งด้านบวกและลบที่พูดถึงแบรนด์ต่างๆ ในรูปของบล็อก, วิดีโอ และภาพ

พวกเขาจะกำหนดหัวข้อขึ้นมาว่าจะเก็บมาจากแบรนด์ไหนบ้าง เช่น อาจจะเป็นสิ่งของ เช่น โค้ก, บุคคลอย่างฮิลลารี คลินตัน หรือสโลแกนอย่าง 'Just Do It' เป็นต้น จากนั้นนำหัวข้อนั้นย้อนไปค้นหาย้อนหลังในแต่ละช่วงเวลาที่กำหนด

แต่ละเรื่องของแบรนด์นั้นๆ จะถูกจัดเป็นกลุ่มโดยแสดงในรูปของ Dashboard เราสามารถดูได้ว่า ในแต่ละบล็อก, วิดีโอ หรือภาพต่างๆ ในเว็บไซต์ทั่วโลกพูดถึงอย่างไรบ้างกับสินค้าแบรนด์นั้นๆ นอกจาก นี้ยังดูด้วยว่าความคิดเห็นต่างๆ นั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงเวลาอย่างไรบ้าง Scout Labs สามารถวิเคราะห์ถึงว่าแต่ละบล็อก, วิดีโอ หรือภาพต่างๆ ที่พูดถึงแบรนด์นั้นๆ พูดถึงในแง่ดี, ร้าย หรือกลางๆ นำไปสู่การให้ค่าแต่ละบล็อกว่าจะส่งผลต่อแบรนด์มากน้อยเพียงใดด้วย โดยส่วนหนึ่งใน Dashboard ของ Scout Labs อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลจาก twitter

ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ว่าข้อความที่แสดงความเห็นกันใน twitter เป็นบวก, ลบ หรือกลางๆ ได้ ที่สำคัญนี่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ด้วย มูลค่าของข้อมูลเหล่านั้นจะมหาศาลเพียงใด

ก่อนหน้านี้การวิเคราะห์แบรนด์ต่างๆ นี้มักจะเป็นในลักษณะใช้แรงงานคนมากกว่า โดยเหล่าที่ปรึกษาต่างๆ จะอาศัยการเก็บข้อมูลข่าวสารเรื่องราว อ่านเอาข้อมูลและนำข้อมูลมารวบรวมและวิเคราะห์ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลามากพอสมควร ต้องติดตามข้อมูลเรียลไทม์เป็นระยะเวลายาวนานเพื่อเอามาวิเคราะห์หลังจากนั้นอีกหลายเดือน ที่สำคัญมีต้นทุน ในการดำเนินการสูงมาก Scout Labs รวมถึงระบบอื่นในลักษณะเดียวกันกำลังจะมาทำให้เราทำงานง่ายขึ้น เร็วขึ้น และต้นทุนต่ำลง อย่างไรก็ตาม ความยากก็ยังอยู่ที่เราจะวิเคราะห์มันออกมาได้อย่างไรให้เที่ยงตรงที่สุด

ปัจจุบันมีคู่แข่งในตลาดวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เช่น Umbria, Buzzlogic และ Nielsen BuzzMetrics เป็นต้น ซึ่งตลาดนี้คงต้องแข่งขันกันอีกนาน และเราก็กำลังรอคอยผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศออกมา

ความเคลื่อนไหวแบบมาแรงแซงทางโค้งของ twitter ส่งผลให้เฟซบุ๊กจำเป็น ต้องเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในเว็บไซต์ของพวกเขาซึ่งเปรียบเสมือนการต้อนรับน้องใหม่อย่าง twitter อย่างเป็นทางการ

ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเฟซบุ๊ก ประกาศการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในเว็บไซต์ของพวกเขาตั้งแต่โฮมเพจ, หน้าโปรไฟล์ข้อมูลรวมถึง activity ต่างๆ ว่ากัน ว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการเข้ามาสู่วงการอย่างเป็นทางการของ twitter ในฐานะที่เป็นระบบกระจายข้อความแบบเรียลไทม์ (a real-time message broadcasting system) ซึ่งเฟซบุ๊กวิเคราะห์ว่า twitter กำลังเติบโตมากกว่าการเป็นแค่การติดต่อในวงเพื่อนๆ เท่านั้น และส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างแท้จริง

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเฟซบุ๊ก ได้แก่ การทำให้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างแฟนๆ ของเหล่าดารานักร้อง รวมถึงสินค้าแบรนด์ต่างๆ ด้วย ซึ่ง twitter ทำตัวเป็นช่องทางการติดต่อที่สำคัญในลักษณะนี้ โดยอาศัยความสามารถที่ทำให้เหล่าแฟนๆ อัพเดตข้อมูลเรื่องที่พวกเขา สนใจนั้นได้แบบทันท่วงที หรือแบบเรียล ไทม์มาก่อน

นอกจากนี้เฟซบุ๊กยังเพิ่มความเร็วและความถี่ของการอัพเดตข้อมูลข่าวสารที่ส่งไปยังหน้า Personal ของแต่ละคนด้วย ก่อนหน้านี้ในส่วนนี้เฟซบุ๊กจะอัพเดตทุกๆ สิบนาที ซึ่งเป็นเวลาที่ช้าเกินกว่าความต้องการของคนใช้งานทั่วไป เฟซบุ๊กจึงนำเสนอการอัพเดตแบบเรียลไทม์ รวมทั้งระบบการติดตามความเคลื่อนไหวของสมาชิกรายอื่น ซึ่งถือเป็นการเลียนแบบฟังก์ชันของ twitter อย่างแท้จริง

ก่อนหน้านี้ twitter ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเฟซบุ๊กที่พวกเขาต้องการจะเข้าครอบครอง โดยพวกเขาเคยได้รับข้อเสนอจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่พวกเขาก็ปฏิเสธไป ในเมื่อเฟซบุ๊กซื้อ twitter ไม่ได้ พวกเขาก็หันมาสู้แทน โดย Live Feed เป็นอีกฟังก์ชันหนึ่งที่เฟซบุ๊กหวังว่าจะมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของ twitter ได้

เช่นเดียวกับที่กูเกิ้ลก็ต้องการจะครอบครอง twitter เช่นกัน โดยสิ่งที่กูเกิ้ลต้องการจาก twitter ก็คือการเป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นแบบเรียลไทม์นั่นเอง ถึงวันนี้กูเกิ้ลช่วยทำให้คำถามเกี่ยวกับการค้นหาสิ่งต่างๆ เป็นภาพที่เห็นชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กูเกิ้ลทำได้เพียงแค่ค้นหาสิ่งที่ได้ทำเป็นรูปหน้าเว็บเพจเรียบร้อยแล้วเท่านั้น โดยกูเกิ้ลจะอาศัยเทคโนโลยีของตนในการเก็บข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ในฐานข้อมูลของพวกเขา แต่ถ้าเราต้องการหาข้อมูลในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นล่ะ นั่นคือเรากำลังจะก้าวไปสู่การค้นหาแบบเรียลไทม์ ซึ่ง twitter ก็เป็นคำตอบของเรื่องนี้ twitter กำลังจะตอบคำถามที่ว่า "คุณกำลังทำอะไรอยู่" ได้

เรื่องของ twitter เรื่องของเสิร์ชเอ็นจิ้นแบบเรียลไทม์และเรื่องของการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคกำลังเป็นประเด็นที่พูดคุยกันอย่างออกรส โดยเฉพาะ การมองหาโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ

นี่อาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งในโลกอินเทอร์เน็ต

อ้อ...อย่าลืมติดตามชีวิตของผมได้ที่ http://twitter.com/ikkechai นะครับ

อ่านเพิ่มเติม :
1. Manjoo, F. (2009), 'What is the Heck is twitter?: It's not a Google killer, and it's not a facebook killer, http://www.slate.com/id/2213036/

2. Arrington, M. (2009), It's time to start thinking of twitter as a search engine,' http://www.techcrunch.com/2009/03/05/its-time-to-start-thinking-of-twitter-as-a-search-engine/

3. Arrington, M. (2008), 'Confirmed: twitter acquires Summize search engine,' http://www.techcrunch.com/2008/07/15/confirmed-twitter-summize-search-engine/

4. Hendrickson, M. (2009), 'Scout Labs Brand Tracker Now Generally Available,' http://www.techcrunch.com/2009/02/18/scout-labs-brand-tracker-now-generally-available/

5. Scout Labs, http://www.scoutlabs.com/

6. Umbria, http://www.umbrialistens.com/

7. Buzzlogic, http://www.buzzlogic.com/

8. Nielsen BuzzMetrics, http://www.nielsen-online.com/

9. Schonfeld, E. (2009), 'facebook's Response to twitter,' http://www.techcrunch.com/2009/03/04/facebooks-response-to-twitter/

10. Battelle, J. (2009), 'Twitter=YouTube,' http://battellemedia.com/archives/004832.php

11. Battelle, J. (2008), 'From Static to Realtime Search,' http://battellemedia.com/archives/004738.php

12. O'Brien, C. (2009), 'O'Brien: How Twitter could be a threat to Google,' http://www.mercurynews.com/opinion/ci_11776452?nclick_check=1&forced=true

13. twitter, http://twitter.com/

14. Facebook, http://www.facebook.com/   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us