|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ถ้าฟันน้ำนมหลุดให้ขว้างขึ้นไปบนหลังคา เพื่อจะได้ให้ฟันใหม่งอกออกมาแทน" หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับฟันน้ำนมที่ผู้ใหญ่บอกกล่าวเมื่อครั้งวัยเด็ก
เด็กๆ หลายคนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงแล้วก็ทำตาม แต่บางคนก็คิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล
ฟันน้ำนมเมื่อในอดีตหากหลุดไปก็ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์แต่เมื่อเวลาล่วงเลย ผ่านหลายสิบปีวิทยาการเริ่มมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ฟันน้ำนมที่เคยมองว่าไม่มีประโยชน์และทิ้งไว้บนหลังคา
มาวันนี้ฟันน้ำนมกลายเป็นสเต็มเซลล์ (Stem Cell) หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่ปลูกถ่ายให้กลายเป็นเนื้อเยื่อหรืออวัยวะสำคัญของร่างกายเพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างๆ
เซลล์ต้นกำเนิดแบ่งออกเป็นหลายชนิดแต่มีเซลล์ชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นได้มากกว่า 200 ชนิด
ซึ่งเรียกเซลล์ต้นกำเนิดนี้ว่า มีเซนไคมัส (Mesenchymal)
มีเซนไคมัสมาจากแหล่งต่างๆ ของร่างกาย อาทิ ไขกระดูก เลือดจากสายสะดือ เนื้อเยื่อไขมันและฟันน้ำนม
จากผลการวิจัยอ้างว่าเซลล์ต้นกำเนิดสามารถรักษาโรคเกี่ยวกับเหงือกและฟัน โรคเพดานโหว่ โรคอัลไซเมอร์ อัมพฤกษ์ การบาดเจ็บของไขสันหลัง กล้ามเนื้อลีบ โรคข้อกระดูกและโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน
ด้วยผลงานที่อ้างอิงถึงการรักษาโรคจึงทำให้ นพ.กำพล ศรีวัฒนกุล มีความคิดที่จะนำผลงานจากหิ้งไปสู่ห้าง ด้วยการแปรเปลี่ยนงานวิจัยไปสู่ธุรกิจ บริษัทจึงมีแนวคิดจัดตั้งบริษัทเพื่อเป็นธนาคารรับฝากฟัน
จากประกายความคิดดังกล่าว นพ.กำพลเริ่มศึกษาประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่เกิดจากฟันน้ำนมและเริ่มเสาะหาข้อมูลจริงจนกระทั่งได้พบกับบริษัท ไบโออีเดน อิงค์ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการจัดเก็บสเต็มเซลล์จากฟันน้ำนมเป็นรายแรกของโลก
เขาเริ่มพูดคุยกับ ดร.เพชรินทร์ ศรีวัฒนกุล พี่สาวแท้ๆ อดีตนักวิจัยเพาะเลี้ยงเซลล์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และปัจจุบันยังเป็นที่ปรึกษาให้กับสถาบันดังกล่าว
แต่พี่สาวของเขาไม่เห็นด้วยที่จะเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์เพื่อนำไปรักษาคนไข้ เพราะในวงการแพทย์หมอจำนวนมากยังไม่ยอมรับวิธีการรักษาดังกล่าว
หลังจากได้คุยกับพี่สาวหลายครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นประโยชน์ของสเต็มเซลล์ที่จะมีต่อวงการแพทย์ในอนาคตและมีหมอหลายกลุ่มเริ่มยอมรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ทำให้ ดร.เพชรินทร์เริ่มมีความคิดเห็นคล้อยตามและตกลงใจร่วมทุนกับ นพ.กำพลในที่สุด
นพ.กำพลและ ดร.เพชรินทร์เดินทางไปเจรจาเพื่อขอซื้อแฟรนไชส์ทำธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในเอเชีย
หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นพ.กำพลริเริ่มจัดตั้งบริษัทไบโออีเดน เอเซีย จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจธนาคารจัดเก็บและแช่แข็งเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้จากฟันน้ำนมและฟันคุด
บริษัทเริ่มเปิดบริการอย่างเป็นทางการเดือนตุลาคม 2551 แต่เริ่มรับดูแลจัดเก็บฟันเมื่อเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา
โครงสร้างการบริหารงาน นพ.กำพล ทำหน้าที่เป็นประธานดูแลด้านนโยบายและการตลาด ส่วน ดร.เพชรินทร์เป็นผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการ (Laboratory Director)
บริษัทมีเป้าหมายใช้เงินลงทุนจำนวน 20 ล้านบาทและในช่วงเริ่มต้นบริษัทใช้เงินลงทุนจำนวน 10 ล้านบาทเป็นเงินที่เก็บจากน้ำพักน้ำแรงของเขาและพี่สาวส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินร่วมทุนจากกลุ่มทันตแพทย์ ส่วนอีก 10 ล้านบาทกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย
เงินกู้ไม่มีดอกเบี้ยเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินที่ผ่านการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
นพ.กำพลบอกกับ ผู้จัดการ 360 ํ แม้ว่าธุรกิจรับฝากฟันจะเป็นที่รู้จักและนิยมในต่างประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยจะต้องใช้เวลาก่อให้เกิดการยอมรับในกลุ่มบุคคลทั่วไปรวมไปถึงหน่วยงานแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย
เพราะธุรกิจที่ต้องอ้างอิงกับวงการแพทย์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความรู้อย่างมากเพื่อให้เกิดการยอมรับและนพ.กำพลก็เชื่อว่าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน
"การรักษาด้วยการฝังเข็มเมื่อ 20 ปีก่อนไม่มีใครเชื่อว่าจะรักษาโรคได้ แต่มาวันนี้ได้รับความนิยม ก็เหมือนเช่นการรักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกัน"
นพ.กำพลยอมรับว่าธุรกิจที่เขาทำนี้เป็นธุรกิจที่ผู้ลงทุนจะต้องไม่มีความโลภหวังผลกำไรในเวลา 2-3 ปี เป็นธุรกิจเสี่ยงสูงและเขาเชื่อว่าหากเขานำโครงการนี้ ไปเล่าให้กับสถาบันการเงินฟัง แน่นอนว่าไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยเงินกู้อย่างแน่นอน
แต่หลังจากได้รับการแนะนำจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้ธุรกิจดำเนินงานในรูปแบบเชิงนวัตกรรมผสมผสานกับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงทำให้บริษัทเริ่มต้นทำงานควบคู่ไปกับงานวิจัย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติให้ทุนสนับสนุน 1.2 ล้านบาทเพื่อศึกษาวิธีการจัดเก็บ จัดส่ง และพัฒนากระบวนการจัดเก็บแช่แข็งฟันให้อยู่นาน ขณะที่ สวทช. สนับสนุนด้านอุปกรณ์ นักวิจัย และให้เช่าสถานที่ราคาไม่แพงเพื่อจัดทำห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
สถานที่ดังกล่าวยังมีบทบาทในการจัดเก็บฟันน้ำนมและฟันคุด
การให้บริการจัดเก็บฟันคุดเป็นบริการใหม่ที่บริษัททำการวิจัยและคิดค้นขึ้นมาเอง โดยมี ดร.เพชรินทร์เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาซึ่งแตกต่างจากบริษัท ไบโออีเด็น อิงค์ที่จัดเก็บได้เพียงฟันน้ำนม
ความสามารถในการจัดเก็บฟันคุดทำให้บริษัท ไบโออีเดน อิงค์ ซื้อลิขสิทธิ์ดังกล่าวไปให้บริการในต่างประเทศ ทำให้ต้องจ่ายผลตอบแทนให้กับบริษัทไทยด้วย
ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์คืนกลับให้กับบริษัท ไบโออีเดน อิงค์เช่นเดียวกัน โดยบริษัทจะจ่ายให้ 3% จากรายได้เป็นระยะเวลา 5 ปี
เหตุผลที่บริษัทเลือกให้บริการรับฝากฟันน้ำนมและฟันคุดมากกว่ารับฝากเซลล์จากไขกระดูก เม็ดโลหิตหรือเลือด สายรกเพราะการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดจากฟันไม่เจ็บปวดสามารถปล่อยให้ฟันหลุดเองและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดเก็บจากเซลล์อื่นๆ
ในด้านการรักษาฟันน้ำนมสามารถพัฒนาเป็นเซลล์สมองและสเต็มเซลล์จากลูกหลานที่เกิดจากฟันน้ำนมยังสามารถให้กับพ่อแม่ปู่ย่าตายาย โดยไม่มีการปฏิเสธ เมื่อเปรียบเทียบกับการรับเซลล์จากบุคคลอื่นจะมีโอกาสที่เซลล์จะทำงานร่วมกันได้อยู่ในระดับที่มีความเป็นไปได้ประมาณ 1 ต่อ 5 หมื่น (1: 50000)
ในด้านการตลาดบริษัทชูแนวคิดการฝากฟันเป็นการจัดเก็บเพื่อตนเองและเพื่ออนาคต
ฟันน้ำนมมีทั้งหมด 20 ซี่ แต่ฟันที่มีประสิทธิภาพในการเก็บรักษาจะมีทั้งหมด 6 ซี่ ฟันหน้าล่างและบนแถวละ 6 ซี่
ฟันน้ำนมจะเกิดขึ้นกับเด็กในอายุระหว่าง 5-13 ปี ซึ่งไทยมีประชากรเด็กประมาณ 9 ล้านคน
ส่วนฟันคุดเป็นฟันที่สามารถจัดเก็บสเต็มเซลล์ได้เช่นเดียวกันและฟันคุดเกิดจากฟันกรามซี่สุดท้ายที่เกิดจากเด็กวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 17-21 ปี หากไม่เกิดในช่วงนี้จึงเรียกว่าฟันคุด
ในการทำตลาดบริษัทจะเน้นจัดเก็บฟันน้ำนม โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะต้องจัดเก็บฟันได้ 20-30 ซี่ต่อเดือน แต่เป้าหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงรวมทั้งปัญหาการเมือง
บริษัทตั้งเป้าหมายระยะยาวไว้ว่าจะต้องจัดเก็บฟันได้จำนวน 600 ซี่ ที่จะทำให้บริษัทถึงจุดคุ้มทุนโดยในปีแรกจะจัดเก็บจำนวน 300 ซี่
รายได้หลักของบริษัทคือค่าบริการจัดเก็บฟัน
ค่าบริการที่บริษัทกำหนดไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ชุดจัดเก็บฟันน้ำนมและฟันคุด และบริการคัดแยกและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดจำนวน 35,000 บาทต่อซี่ ค่าบริการจัดเก็บเซลล์ต้นกำเนิดระยะเวลา 1 ปี 5,000 บาท
ลูกค้าที่เลือกจัดเก็บระยาวตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี ค่าบริการ 70,000 บาทต่อซี่
อุปสรรคในการทำธุรกิจนี้คือไม่สามารถโฆษณาหรือไปสัญญาในเอกสารให้ความรู้ว่าสเต็มเซลล์สามารถรักษาอะไรได้เพราะจะเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค
ด้วยวิชาชีพที่เป็นแพทย์และอดีตรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วน ดร.เพชรินทร์เป็นนักวิจัยที่สถาบันโรคมะเร็งที่ทำงานเพาะเลี้ยงเซลล์มาระยะยาว ทำให้ นพ.กำพลเลือกเน้นที่จะให้ความรู้ด้วยการจัดอบรมและผู้ฟังสนใจก็จะแนะนำให้ติดต่อกับบริษัท รวมไปถึงการมีเว็บไซต์และเขียนหนังสือก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถเล่าประสบการณ์งานวิจัยได้
นพ.กำพลตระหนักอยู่เสมอว่าธุรกิจสเต็มเซลล์เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์เป็นเรื่องอ่อนไหวและไม่สามารถยอมรับได้ในระยะเวลาอันสั้น
หลักการทำการตลาดของบริษัทจะไม่หวือหวา เน้นสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจให้กับหมอรวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวงการแพทย์
อีกด้านหนึ่งเป็นการทำการตลาดให้รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยบริษัทเริ่มจากจับมือกับคลินิกทันตแพทย์ที่มีเชนกระจายไปทั่วเมือง อาทิ ทองหล่อ เด็นตัล บิลดิ้ง สีลม เด็นตัลบิลดิ้ง และศูนย์ทันตกรรมพญาไท
ตามเป้าหมายจะต้องมีคลินิคทันตแพทย์ที่มีสาขารวมกันประมาณ 100 แห่ง ซึ่งขณะนี้ร่วมมือกันแล้ว 20-30 แห่ง แผนการทำการตลาดของ นพ.กำพล ไม่ได้ให้บริการเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่บริษัทได้รับสิทธิจากบริษัท ไบโออีเดน อิงค์ ให้สามารถบริการลูกค้าในกลุ่มเอเชียได้ ส่วนบริษัท ไบโออีเดน อิงค์จะดูแลตลาดในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนประเทศ อังกฤษจะดูแลลูกค้าในกลุ่มยุโรป
การทำตลาดในต่างประเทศ บริษัทจะใช้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อให้ลูกค้ายอมรับ แม้ นพ.กำพล ตระหนักดีว่าความสามารถของคนไทยไม่ด้อยกว่าทั้งสองประเทศที่กล่าวก็ตาม
การทำการตลาดในต่างประเทศบริษัทมองว่าประเทศในเอเชียมีความกล้าที่จะรักษาโรคภัยด้วยสเต็มเซลล์ อาทิ ไทย จีน อินเดีย บริษัทจึงมีแนวคิดที่จะให้บริการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการรักษา
นพ.กำพลคาดการณ์ไว้ว่าจะร่วมมือกับพันธมิตรโรงพยาบาลในประเทศได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า
ธุรกิจรับฝากฟันเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจสเต็มเซลล์ นพ.กำพลเชื่อว่าต้องรอคอยอย่างอดทนจึงจะประสบความสำเร็จในระยะยาว
เขายอมรับว่าความสำเร็จในธุรกิจนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเขาอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันเขามีอายุ 60 ปีและ ดร.เพชรินทร์มีอายุ 65 ปี
ความสำเร็จผลิดอกออกผลตกทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน แต่เขาคาดหวังไว้ลึกๆ ในใจก็คือความภูมิใจที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและวงศ์ตระกูล
|
|
|
|
|