|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธนาคารกสิกรไทยใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการจัดหาสำนักงานใหม่แห่งที่ 3 เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานและสำนักงานใหม่แห่งนี้ยังเป็น Green Building ที่กสิกรไทยบอกว่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ธนาคารเลือกก่อตั้งสำนักงานใหม่แห่งที่ 3 อยู่ในบริเวณพื้นที่เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ
ชื่อของอาคารแต่ละแห่งกำหนดไปตามชื่อถนน เหมือนอาคารสำนักงานใหญ่อีก 2 แห่งที่อยู่บนถนนพหลโยธินและถนน ราษฎร์บูรณะที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา
เป็นเรื่องจริงเมื่อธนาคารกสิกรไทยจะก่อตั้งสำนักงานใหม่ทุกครั้งจะคิดถึงเรื่องฮวงจุ้ยเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆ ส่วนหนึ่งเพราะบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเชื่อว่าฮวงจุ้ยดีย่อมทำให้ธนาคารมั่งคั่ง
โดยเฉพาะอาคารราษฎร์บูรณะได้ปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยอยู่หลายรอบไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่ทั้งในอาคารและนอกอาคาร
แม้กระทั่งห้องทำงานของบัณฑูรก็ไม่เว้นจะต้องปรับเช่นเดียวกัน
สำนักงานใหญ่บนถนนพหลโยธินและถนนราษฎร์บูรณะ เป็นตึกที่ธนาคารกสิกรสร้างขึ้นใหม่ แต่สำนักงานใหญ่ถนนแจ้งวัฒนะ ธนาคารเลือกซื้อตึกเก่าปรับปรุง ให้เป็นตึกใหม่
แม้จะเป็นตึกเก่าที่นำมาปรับปรุงใหม่แต่เมื่อซินแสเข้ามาดูสถานที่แล้วแทบ ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงฮวงจุ้ย
ธีรนันท์ ศรีหงส์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยบอกว่าซินแสให้ความเห็นว่าเป็นตึกที่ฮวงจุ้ยดีอยู่แล้วและหันหน้าไปทางทิศเหนือ
แต่หลักใหญ่ในการปรับฮวงจุ้ยของอาคารแจ้งวัฒนะจะเลือกให้ผู้บริหารทำงานบนชั้น 8 ซึ่งเป็นเลขมงคล
ส่วนตัวอาคารติดกระจกโดยรอบมีช้างหยกวางไว้ใกล้กระจกเพราะเชื่อว่าเป็น การสลายพลังที่จะเข้ามา
รวมทั้งวางเหรียญเงินเหรียญทองไว้ตามจุดต่างๆ ที่เป็นส่วนไหลเวียนเข้าออกของเงิน
การปรับฮวงจุ้ยเพียงเล็กน้อยทำให้ตึกแจ้งวัฒนะเป็นอาคารที่มีการปรับฮวงจุ้ยน้อยที่สุดเท่าที่เคยทำมา
ธนาคารเลือกวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันเปิดตัวอาคารอย่างเป็นทางการ มีการตั้งศาลติดตั้งครุฑหน้าอาคารและทำบุญเลี้ยงพระ
ก่อนที่ธนาคารจะซื้ออาคารดังกล่าว อาคารนี้เคยเป็นตึกเก่าร้างมากว่า 10 ปีหลังจากประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 มีอาคารเก่าอีกหลายหลังที่ตั้ง อยู่บริเวณเดียวกัน แต่ธนาคารกสิกรไทยตัดสินใจซื้อตึกเก่าและปรับปรุงใหม่ทั้งหมด
ตึกที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของธนาคารยังเป็นอาคารเก่าที่ไม่ได้รับการปรับปรุงจนถึงวันนี้
ตึกที่อยู่ด้านหน้าของธนาคารกสิกร ไทยเป็นตึกที่ธนาคารนครหลวงไทยเป็นเจ้าหนี้ ส่วนตึกที่อยู่ด้านหลังมีธนาคารกรุงเทพเป็นเจ้าหนี้
ธนาคารซื้อตึกเก่าหลังนี้มาด้วยราคา 700 ล้านบาทและใช้งบประมาณตกแต่งปรับปรุงทั้งภายในและภายนอกเป็นจำนวนเงินประมาณ 3,000 ล้านบาททำให้ธนาคารประหยัดกว่าการสร้างตึกใหม่ 300 ล้านบาท
ธนาคารได้เปรียบเทียบการนำตึกเก่ามาปรับปรุงใหม่ทำให้ไม่ต้องลงทุนวัสดุใหม่ทั้งหมด พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นอย่าง เป็นรูปธรรมที่ทำให้ลดค่าใช้จ่ายโดยรวม
อาคารที่สร้างแล้วอยู่ในชุมชนที่มีระบบสาธารณูปโภคทำให้ประหยัดทรัพยากรหลายด้าน อาทิ เสาเข็ม 3,700 ต้น คอนกรีต 34,000 cu.m เหล็ก 6,850 ล้านกิโลกรัม และไม้แบบ 200,000 ตารางเมตร
อาคารแจ้งวัฒนะเป็นอาคารที่ธนาคารกำหนดแนวคิดให้เป็นต้นแบบอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตรฐานโลก หรือที่ธนาคารกสิกรไทยเรียกว่า "อาคารแจ้งวัฒนะ สถาปัตยกรรมสีเขียว" หรือ Green Building
อาคารแจ้งวัฒนะออกแบบและก่อสร้างโดยยึดมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นระบบการวัดระดับความเป็นอาคารสีเขียวขององค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการสนับสนุนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดในเรื่องการออกแบบที่ยั่งยืนของประเทศสหรัฐอเมริกา U.S. Green Building Council (USGBC)
การออกแบบและก่อสร้างใช้มาตรฐาน TEEN (Thailand Energy & Environment Assessment Method) ประหยัดพลังงานเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาคารมีทั้งหมด 11 ชั้นจากเดิมมี 10 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 66,000 ตารางเมตร
ชั้น 9-10 และชั้น 11 จะเดินทะลุหากันได้โดยมีบันไดเชื่อมอยู่ตรงกลางตึก เจ้าหน้าที่กสิกรบอกว่าทั้ง 3 ชั้น เรียกว่าใจบ้าน เป็นส่วนที่รับแสงเข้ามาภายในอาคารช่วยประหยัดพลังงาน
ส่วนชั้น 3-5 และชั้น 6 สามารถเดินทะลุได้เช่นเดียวกันโดยไม่ต้องใช้ลิฟต์ แต่อาคารแห่งนี้จะไม่มีชั้น 4 ซึ่งเป็นตัวเลข ที่คนจีนเชื่อกันว่าไม่เป็นมงคล
กระจกรอบตัวอาคารเป็น Insulated Laminate ไม่สะท้อนแสงและเป็นฉนวนใยแก้วกันความร้อน
การออกแบบและวัสดุกันความร้อน ทำให้แต่ละชั้นสามารถเดินหากันได้ทำให้ประหยัดไฟฟ้าได้ 30%
ส่วนน้ำที่ใช้ในอาคารแห่งนี้จะนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ทำให้ประหยัดน้ำได้ 50%
ความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นอาคารสีเขียวทำให้ธนาคารมีเป้าหมายมาตรฐานรางวัลระดับ Gold และอยู่ระหว่างยื่นเรื่องให้คณะกรรมการจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาตรวจสอบอาคาร
สำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 อาคารแจ้งวัฒนะมีเป้าหมายเพื่อเป็นหน่วยงานสนับสนุนการทำงานและเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง
ส่วนอาคารราษฎร์บูรณะ ผู้บริหารจะนั่งเป็นหลักเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายทิศทางธุรกิจ นอกจากนี้มีสายงานด้านธุรกิจบุคคล ฝ่ายบุคคลและฝ่ายไอทีบางส่วน
อาคารพหลโยธินเป็นฝ่ายปฏิบัติการ มีฝ่ายอนุมัติสินเชื่อ ฝ่ายบริหารจัดการความสัมพันธ์ลูกค้าและฝ่ายบริหารเครดิต เป็นกลุ่มทำงานที่เหมาะสมอยู่ใจกลางเมือง เพราะมีรถไฟฟ้า
ธีรนันท์บอกว่าการก่อตั้งอาคารสำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 เป็นแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ต้องการมีระบบสำรองรองรับการทำงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินกับอาคารพหลโยธินหรืออาคารราษฎร์บูรณะ
ตามหลักภูมิศาสตร์ที่เลือกตั้งสำนักงานบนถนนแจ้งวัฒนะเพราะอาคารอยู่ห่างจากอาคารพหลโยธิน 20 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากสำนักงานราษฎร์บูรณะ 45 กิโลเมตร
ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลทำให้สามารถ ขนย้ายพนักงานและระบบการทำงานได้ในเวลา 20 นาที
อาคารแจ้งวัฒนะมีพนักงานทำงาน 2,500 คน ประกอบด้วยหน่วยงานหลายฝ่าย ศูนย์คอมพิวเตอร์ทำหน้าที่เป็นศูนย์คอมพิวเตอร์สำรอง ฝ่ายปฏิบัติการผลิตภัณฑ์เครดิตผู้บริโภค ฝ่ายปฏิบัติการเงินสดและการชำระเงิน และบริษัท โพรเกรส กันภัย จำกัด และฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ (call center)
อาคารแห่งนี้ยังรับหน้าที่รับ-ฝากเงิน รวมถึงเป็นศูนย์ทดลองใช้บริการเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ทดลองการประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนส์ (VDO Conference) หรือการประชุมเห็นหน้าโดยผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทำให้พนักงานประหยัดเวลาในการเดินทาง
หากมองในมุมของยุทธศาสตร์การให้บริการรับฝาก-ถอนเงิน ธนาคารกสิกรสามารถให้บริการลูกค้าในเมืองทองธานีที่มีที่พักอาศัยจำนวนมาก แม้จะมีตึกร้างอยู่บ้างก็ตามแต่ก็มีชุมชนขนาดใหญ่ที่อยู่โดยรอบเมืองทองธานี
ธนาคารกสิกรไทยก็ไม่ปฏิเสธว่าส่วนหนึ่งเพื่อรองรับบริการลูกค้ากลุ่มข้าราชการที่กำลังผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดบน ถนนแจ้งวัฒนะที่จะเริ่มมาทำงานในเร็วๆ นี้
ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเป็นอีกราย หนึ่งที่มองเห็นยุทธศาสตร์นี้เช่นเดียวกันได้เข้าไปยึดภูมิศาสตร์บนถนนแจ้งวัฒนะที่อยู่ตรงกันข้ามกับกระทรวงยุติธรรมพร้อม เปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
แม้ธนาคารประเมินว่าลูกค้าส่วน ใหญ่ที่ใช้บริการเป็นลูกค้าทั่วไปที่มีรายได้ ไม่สูงมาก เป็นกลุ่มที่ต้องการใช้บริการโอน เงินไปต่างจังหวัด ทำให้อาคารแจ้งวัฒนะ ติดตั้งระบบเอทีเอ็ม ฝาก ถอน โอนเงินไว้นอกอาคาร คาดหวังจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียม
เป้าหมายของธนาคารกสิกรไทยจะชูภาพลักษณ์อาคารแจ้งวัฒนะให้เป็นสถาปัตยกรรมสีเขียวแต่การเลือกถนนแจ้งวัฒนะเป็นสำนักงานใหญ่แห่งที่ 3 ก็ได้รับประโยชน์ทางด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย
การมองข้ามช็อตของธนาคารกสิกรไทยน่าจะทำให้อาคารแจ้งวัฒนะได้ทั้งเงิน ได้ทั้งกล่องในคราวเดียวกัน
|
|
|
|
|