|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เส้นทางรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่เริ่มเปิดวิ่งอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมีนาคม ถือเป็นปรากฏการณ์ที่จุดประกายความน่าสนใจลงทุนของ สปป.ลาว ให้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจมองข้าม
แม้แดดยามสายที่ส่องตรงมายังสถานีรถไฟท่านาแล้งในวันนั้นจะร้อนจนทำให้อากาศบริเวณสถานีอบอ้าว แต่ทิวแถวของนักเรียน-นักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม ไปจนถึงอุดมศึกษากว่า 300 คน ที่ยืนถือธงชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว สลับกับธงชาติไทยอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็มิได้แสดงท่าทีเหนื่อยล้าออกมาให้เห็นแต่อย่างใด
เหล่าเด็กชายหญิงเหล่านี้กำลังใจจดใจจ่อรอการมาถึงของขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ วิ่งระหว่างหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่มีกำหนดออกจากสถานีรถไฟหนองคาย ในเวลาประมาณ 10.30 น. โดยใช้เวลาในการวิ่งข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกประมาณ 15 นาที เพื่อมาถึงสถานี ท่านาแล้ง
นอกจากจะเป็นขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์เพื่อเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายแรกของ สปป.ลาวแล้ว ภายในขบวนรถเที่ยวนี้ ยังมีโบกี้ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีเสด็จมาพร้อมกับรถไฟขบวนนี้ด้วย
เด็กเหล่านี้ล้วนตื่นเต้นที่จะได้มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพฯ อย่างใกล้ชิดที่จะทรงมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟสายประวัติศาสตร์เส้นนี้
ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่คนใน สปป.ลาว รอคอยมานานแสนนาน...
ทางรถไฟเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกที่ จ.หนองคาย โดยพระราชพิธีเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการได้จัดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2537
ภายหลังการเปิดใช้สะพาน การ ก่อสร้างทางรถไฟส่วนขยายจากบริเวณสะพานมายังสถานีรถไฟหนองคาย และไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง มีความคืบหน้า ช้ามาก จนเพิ่งจะสร้างเสร็จและมีพิธีเชื่อม รางระหว่างกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ก่อนเริ่มต้นการทดลองวิ่ง
มองในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในพระราชพิธีเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2537 พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเสด็จไปเป็นองค์ประธานร่วมกับหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศ แห่ง สปป. ลาว (ในขณะนั้น) ถือเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเปิดหน้าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศในบริบทใหม่ จากที่เคยระแวงซึ่งกันและกันในช่วงสงครามอินโดจีน กลายเป็นมิตรประเทศคู้ค้าและหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
พระราชพิธีเปิดสะพานจัดขึ้นบริเวณกึ่งกลางสะพาน ซึ่งถือเป็นเขตแดนร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ
มองในมิติเศรษฐกิจ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ถือปฐมบทที่ทำให้นโยบายในการปรับยุทธศาสตร์ประเทศของ สปป.ลาว จากประเทศที่ไม่มี ทางออกสู่ทะเล (Land Lock) ไปสู่ประเทศ ที่เป็นจุดเชื่อมต่อ (Land Link) เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น
เพราะหลังจากได้มีการเปิดใช้สะพานดังกล่าวเป็นต้นมา ภายใน สปป. ลาวได้มีการก่อสร้างโครงข่ายคมนาคมทางบกที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งแนวเหนือ-ใต้และตะวันออก-ตะวันตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสะพานมิตรภาพแห่งแรกที่หนองคาย ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว แห่งที่ 2 ที่จังหวัดมุกดาหาร เชื่อมกับแขวงสะหวันนะเขต ในอีก 10 กว่าปีต่อมา
มีการเปิดเส้นทางหมายเลข 9 เชื่อมระหว่างมุกดาหาร-สะหวันนะเขต และเมืองเว้ของเวียดนาม
มีการเปิดใช้เส้นทางสาย R3a ที่เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ไปจนถึงเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ต่อขึ้นไปถึงเมืองโม่หานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีเส้นทางอย่างดีวิ่งขึ้นไปถึงเมืองคุนหมิง มลฑลหยุนหนัน
รวมถึงมีการประกาศโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 และ 4 ที่ จ.นครพนม และ จ.เชียงราย
ฯลฯ
แต่หากมองในมิติของความเชื่อ การเกิดขึ้นของสะพานมิตรภาพและเส้นทางรถไฟเส้นนี้ถือเป็นการล้างคำสาปที่คนลาวเชื่อและยึดถือมาตลอดกว่าพันปีลงไปได้อย่างสิ้นเชิง
คนลาวมีความเชื่อมาตลอดว่าการที่ สปป.ลาว เป็นประเทศที่ยากจนติดต่อกันมาหลายปีนั้น นอกจากโดยสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลแล้ว ยังเป็นผลมาจากการที่ประเทศต้องคำสาปที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในยุคที่พระยาศรีโคตรบูร ผู้ครองนครในบริเวณตอนกลางของลาวถูกลอบปลงพระชนม์
ตามตำนานของลาวก่อนที่พระยาศรีโคตรบูรจะเสด็จสวรรคต ความโกรธแค้นที่ถูกลอบปลงพระชนม์ จึงได้สาปแช่งเอาไว้ว่า "ขอให้ดินแดนสองฝั่งโขง ไม่ได้พบกับความเจริญอย่างถึงที่สุด และถึงจะเจริญก็เพียงแค่ช่วงช้างพับหู-งูแลบลิ้น" เท่านั้น
แต่ในคำสาปดังกล่าวจะมี 3 สิ่งที่สามารถแก้หรือล้างคำสาปนี้ออกไปได้
3 สิ่งนั้นคือ "หินฟูน้ำ-พญางูใหญ่เข้ามา-ช้างเผือกเข้ามา"
ภายหลังจากเปิดใช้สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาวแห่งแรก เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้มีความพยายามตีความว่าคำสาปที่ลาวได้ประสบมาตลอดนั้นกำลังจะหมดสิ้นลงแล้ว เพราะการบังเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ 3 อย่าง
"หินฟูน้ำ" ถูกตีความว่าหมายถึงสะพาน เป็นการเปรียบถึงการที่หินซึ่งอยู่ใต้น้ำ ได้ฟูลอยขึ้นมาอยู่เหนือน้ำ
"ช้างเผือก" ถูกบางคนตีความว่าหมายถึง "ฝรั่ง" หรือชาวตะวันตกที่เดินทางเข้าไปยัง สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก ภายหลังจากที่ สปป.ลาว มีนโยบายเปิดกว้างเพื่อรับการลงทุนจากต่างประเทศและมีโครงการลงทุนของประเทศต่างๆหลายโครงการเกิดขึ้น
แต่หลายคนก็ตีความในความหมาย ที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น!!!
ส่วน "พญางูใหญ่" คือปรากฏการณ์ สุดท้ายที่เพิ่งบังเกิดขึ้น ทุกคนตีความตรงกันว่าหมายถึงขบวนรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้ง ที่เพิ่งเปิดใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา
เมื่อสิ่งที่สามารถล้างคำสาปเมื่อกว่า 1 พันปีก่อนได้ปรากฏขึ้นโดยครบถ้วน พร้อมเพรียงกันแล้ว ทำให้คนลาวเกิดความเชื่ออย่างปิติยินดีว่า จากนี้ไปผืนแผ่นดินลาวได้หลุดพ้นจากคำสาป และจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ
แม้การมองเฉพาะมิติความเชื่อข้างต้นจะไม่ตรงกับหลักทางวิทยาศาสตร์ แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้บ่งบอกสัญญาณบางอย่างว่าผืนแผ่นดินที่เงียบสงบแห่งนี้กำลังมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นทุกขณะ
สปป.ลาวเริ่มส่งออกพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่จำนวนมาก และมีการวางแผนที่จะก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกให้ครบ 144 แห่ง
ทรัพยากรของลาวโดยเฉพาะแร่โลหะ เช่น ทองคำ ทองแดง และเหล็ก เริ่มมีการผลิตและสามารถส่งออกได้แล้ว ในจังหวะเดียวกับราคาสินแร่โลหะทั้งหลาย ในตลาดโลกมีราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
มีการลงทุนภาคบริการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในลักษณะเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (อ่าน "เซินเจิ้นลาว บนสามเหลี่ยมทองคำ" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนมีนาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ปีหน้า สปป.ลาวมีแผนจะเปิดการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่ง สปป. ลาวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
ปีที่แล้ว สปป.ลาวได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และปลายปีนี้ สปป.ลาวก็จะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
ฯลฯ
เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจมองข้ามได้...
10.45 น. อุณหภูมิบริเวณสถานีรถไฟท่านาแล้ง ยังคงเพิ่มสูงขึ้นแต่สีหน้าของทุกคนที่อยู่ในบริเวณสถานียังไม่ย่อท้อ
ทันทีที่ขบวนรถไฟมาถึงทิวแถวธงชาติของทั้ง 2 ประเทศ ถูกชูขึ้นพร้อมโบกสะบัดแสดงการต้อนรับ
เมื่อขบวนรถไฟหยุดลง บุนยัง วอละจิต รองประธานประเทศแห่ง สปป. ลาว ยืนรอรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อยู่ที่ชานชาลา พร้อมนำเสด็จไปยังห้องรับรอง ก่อนเริ่มต้นพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟอย่างเป็นทางการ ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ
จบจากพระราชพิธีเปิดเดินรถไฟสายหนองคาย-ท่านาแล้งในวันที่ 5 มีนาคมแล้ว สมเด็จพระเทพฯ ยังได้ประทับอยู่ในนครเวียงจันทน์ 1 คืน ก่อนที่วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จเป็นองค์ประธาน ในพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 ที่จัดขึ้นในเวลาต่อเนื่องกันในแขวงคำม่วนกับจังหวัดนครพนม
|
|
|
|
|