Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552
โรงเรียนทางเลือกบนสังคม (ใกล้) ไร้ทางรอด กับชายที่ชื่อ “อาจอง”             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
search resources

Education
โรงเรียนสัตยาไส
อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา




ท่ามกลางวิกฤติทางสังคมและวิกฤติโลกร้อน หลายสถานศึกษาอาจยังไม่ตระหนักว่าการศึกษาเป็นอีกแนวทางในการข้ามพ้นวิกฤติเหล่านี้ได้ ขณะเดียวกันอาจกลายเป็นเงื่อนไขให้วิกฤติยิ่งเลวร้ายขึ้น สำหรับ "สัตยาไส" ที่นี่พร้อมเป็นอีกทางเลือกสู่ทางรอดของสังคม

ขณะที่ทีวีมีข่าวนักเรียนหญิง ม.ต้น ตบกันเพื่อแย่งผู้ชาย และนักเรียนชาย ม.ปลายต่อยกันแค่ข้อหาถูกมองหน้า แต่ โรงเรียนแห่งนี้เด็กนักเรียนรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง และเพื่อนฝูงดูแลซึ่งกัน ขณะที่เด็กอนุบาลบางโรงเรียนเริ่มพูดจาหยาบคายมีกิริยาก้าวร้าว แต่ที่นี่เด็กทุกชั้นเรียนยกมือไหว้ผู้ใหญ่ทุกคนอย่างนอบน้อมแม้ไม่เคยรู้จัก

ขณะที่วัยรุ่นรอซื้อบัตรคอนเสิร์ตนักร้องเกาหลีตั้งแต่ตี 3 แต่ทุกคนที่โรงเรียน นี้ลุกขึ้นมาสวดมนต์นั่งสมาธิตั้งแต่ตี 5 ขณะที่เด็กสยามต่อแถวแย่งซื้อ iPhone 3G แต่นักเรียนที่นี่ไม่พกมือถือและเงินตามกฎโรงเรียน ขณะที่นักเรียน ม.ปลายกรุงเทพฯ ต้องติวเข้มเพื่อเตรียมเอ็นทรานซ์ เมื่อผิดหวังก็ฆ่าตัวตาย แต่เด็ก ม.6 ที่นี่เรียนไปเล่นไปอย่างมีความสุขแล้วเอ็นติดทุกคน

...ยังมีอีกหลายความดีงามที่หาได้จากสังคมนักเรียนที่นี่ แต่อาจหาได้ยากหรือหาไม่เจอในโรงเรียนและสังคมทั่วไป โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่

ด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงแง่มุมที่สวยงามของชีวิตเด็กนักเรียนที่นี่ เป็นส่วนสำคัญทำให้พ่อแม่และผู้ปกครองยุคใหม่ที่กำลังมองหาโรงเรียนทางเลือกให้ลูกหลานอันเป็นที่รัก อยากพาลูกหลานของตนเข้ามาเรียน ณ โรงเรียน "สัตยาไส" แห่งนี้

พ่อแม่ของ "ขวัญเนตร" เป็นอีกหนึ่งคู่ที่พยายามผลักไสเธอให้ห่างไกลจากศูนย์การค้าอันเป็นศูนย์กลางสังคมทุนนิยม และชีวิตไร้แก่นสารของวัยรุ่นกรุงเทพฯ ด้วยการพามาที่ จ.ลพบุรี เพื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 ณ โรงเรียนประจำที่แสงสีของแหล่งบันเทิงแทบจะหาได้ยาก

โรงเรียนสัตยาไส (ในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิสัตยาไส) ตั้งอยู่บนพื้นที่ร่วม 300 ไร่ใน ต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี โอบล้อมด้วยภูเขายายกะตาและมีแม่น้ำป่าสักไหลผ่าน เป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 ฝ่ายอนุบาลเป็นแบบไปกลับ รับเฉพาะเด็กที่มีภูมิลำเนาในลพบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้นราว 360 คน

"นาตาลี" สาวน้อยวัยไม่ถึง 6 ขวบ ดีลูกครึ่งไทย-แอฟริกันเป็นอีกคนที่คุณแม่พามาเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่โรงเรียนสัตยาไส เหมือนกับเพื่อนร่วมชั้นตัวน้อยอีกราว 30 ชีวิตที่มาจากทุกสารทิศของประเทศ ซึ่งต่าง ก็ต้องพลัดพรากจากอกพ่อแม่มาและต้องทิ้งบ้านเกิดมาอยู่เรือนนอนในโรงเรียนประจำแห่งนี้ด้วยหลากหลายเหตุผล

บ้างก็ส่งมาเพื่อบำบัดอาการสมาธิสั้น บ้างก็ต้องการแก้นิสัยก้าวร้าวของลูก บ้างก็ส่งมาเพราะลูกมีแววเป็นเด็กมีปัญหาเอาแต่ใจ บ้างก็ส่งมาเพราะปัญหาทางการเงินเนื่องจากทราบว่าที่นี่ให้เรียนฟรี เสียแค่ค่าชุดนักเรียนและค่ากินอยู่เทอมละเพียง 1 หมื่นบาท

แต่เหนือเหตุผลอื่นใดผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนแห่งนี้เชื่ออย่างแน่วแน่ว่าพ่อแม่ทุกคนที่ยอมส่งลูกมา ที่นี่ก็เพราะอยากเห็นลูกเป็นคนดี เพราะโรงเรียนนี้มีระบบการคัดเลือกนักเรียนถึง 2 รอบ โดยทั้งสองรอบเป็นการสอบเช็กทัศนคติของพ่อแม่ผู้ปกครอง

"เด็กเราไม่วัดอะไรมากเพราะถือ ว่าเราสร้างเขาได้ ก่อนอื่นเราจะเช็กว่าถ้าพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง คงไม่รับ เพราะไม่ตรงกับวิสัยทัศน์ของเรา" เลขา นุการของผู้บริหารโรงเรียนเล่าให้ฟังว่า งานนี้ผู้บริหารสูงสุดลงมาออกข้อสอบและตรวจด้วยตัวเอง

ปีที่ผ่านมาผู้สมัครเรียนกว่า 180 คน คัดเหลือเพียง 50 คน โดยการให้พ่อแม่มานั่งสอบข้อเขียน ในรอบสองทั้งพ่อแม่และเด็กต้องมาเข้าค่ายร่วมกันที่โรงเรียน โดยจะได้มาใช้ชีวิตเหมือนกับกิจวัตรประจำวันของเด็ก เพื่อสังเกตว่าเด็กจะอยู่ได้ไหมและผู้ปกครองก็ได้ตัดสินใจว่ายังจะส่งลูกมาอยู่ไหม พร้อมสอบสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกผู้ปกครอง ที่จะช่วยโรงเรียนสร้างเด็กดีและช่วย ฝึกสมาธิให้ลูกได้เวลาที่ต้องกลับไปอยู่บ้าน รอบนี้จะคัดเด็กเหลือเพียง 30 คนที่จะได้เข้าเรียนชั้น ป.1 ที่นี่

ด้วยความเชื่อที่ว่าเด็กเก่งจะสร้างให้เป็นเด็กดีนั้นยากกว่าการสร้างเด็กดีให้เป็นคนเก่ง เพราะเมื่อเด็กดีแล้วก็จะเก่งเอง "อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา" ในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนสัตยาไสจึงมุ่งจัดการเรียนรู้ของที่นี่โดยเน้นพัฒนาด้านคุณธรรมนำความรู้

โดยได้แรงบันดาลใจมาจาก "สัตยา ไสบาบา" นักบุญและนักการศึกษาแห่งอินเดีย อดีตอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของอินเดียและเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนประถมและมัธยมหลายแห่ง ซึ่งท่านเป็นผู้นำความคิดและการสอนธรรมะที่มุ่งสอนให้มีความรักความเมตตา รับใช้เพื่อนมนุษย์และอยู่กับธรรมชาติ

"เมื่อ 27 ปีก่อนผมไปทัศนศึกษาที่อินเดียได้เจอท่าน ไม่รู้จักกันมาก่อน ท่านมองผมแล้วบอกว่าในชีวิตที่เหลือ ขอให้หันมาสนใจการศึกษาของเด็กได้ไหม ผมบอกว่าใช่แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมต้องทำ เพราะโลกทุกวันนี้มีปัญหามากมายวิธีจะแก้ปัญหา เหล่านี้ต้องเริ่มที่เด็ก ต้องเปลี่ยนรากฐานของสังคม เมื่อสร้างเด็กดี สังคมก็จะดีขึ้น โดยจะเปลี่ยนเด็กก็ต้องเปลี่ยนที่ระบบการศึกษา"

เป้าหมายของโรงเรียนสัตยาไสไม่มี คำว่า "วิชาการ" "ความรู้" หรืออะไรตามขนบของโรงเรียนชื่อดังที่มักแข่งกันในแง่ความเป็นเลิศทางวิชาการ มีเพียงปลายทางของการศึกษาที่ระบุว่า คืออุปนิสัยที่ดีงาม อันหมายถึงการเป็นคนดี มีคุณธรรม มีมารยาทดี เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น และทำประโยชน์เพื่อสังคม

"ถ้าเราเก่ง มีความสามารถ แต่นิสัยแย่มาก ก็ถือว่าเป็นคนไร้การศึกษา" ดร.อาจอง กล่าว

สำหรับปรัชญาของโรงเรียน หรือก็คือ "หัวใจ" ในอุปนิสัยที่ดีงาม คือสิ่งที่ทั้งครูและนักเรียนชาวสัตยาไสเรียกกันว่า "คุณค่าความเป็นมนุษย์" ประกอบด้วยคุณธรรมพื้นฐาน 5 ประการ อันได้แก่ ความรักและเมตตา ความจริง ความประพฤติชอบ ความสงบสุข และอหิงสา (การไม่เบียดเบียนกัน)

...ไม่เพียงเป็นปรัชญาคุณค่าความเป็นมนุษย์ ยังเป็นวิชาเรียนแรกของทุกวันในทุกระดับชั้น และยังเป็นเนื้อหาที่ต้องบูรณาการเข้าไปอยู่ในทุกวิชาหรือกลุ่มสาระ

ท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงเช่นปัจจุบัน ดร.อาจองเชื่อว่า ในที่สุดจะมีเหตุการณ์ที่สร้างปัญหาให้กับสังคมอย่างมาก ปัญหาเหล่านี้จะกลายเป็นบทเรียนที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้และปรับปรุงเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น

...ก็เหมือนกับคนเราที่พอมีปัญหาหนักใจทุกข์ใจมากในที่สุดก็จะหาทางหนีปัญหาเหล่านี้ด้วยการปรับปรุงตัวเอง

"ผมตอนเป็นเด็กเกเรมาก เรียน หนังสือก็ไม่เก่ง สอบได้ที่สุดท้ายตลอด พอ ไปอยู่ต่างประเทศก็ยังไปชกต่อยเกเร แต่พออายุ 15 ปี ผมตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเลยตัดสินใจจะฝึกนั่งสมาธิ แค่เพียงเดือนเดียวจิตใจสงบ ไม่ต่อยตีกับคนอื่น พอฝึก เป็นปีทุกวัน คราวนี้สอบได้ที่หนึ่งของโรงเรียนในทุกวิชา ก็ทำให้ผมคิดว่าเมื่อตัวเองเปลี่ยนได้ทำไมไม่ทำให้คนอื่นเปลี่ยนบ้าง"

จึงไม่น่าแปลกใจที่กิจวัตรวันหนึ่งๆ ของเด็กนักเรียนทุกชั้นปีของที่นี่จะมีกิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิอยู่บ่อยครั้ง นับตั้งแต่เริ่ม เปิดตาจนปิดตา ทั้งนี้เพราะ ดร.อาจองเชื่อว่าการนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมเป็นเครื่องเหนี่ยวนำความดีที่จะช่วยยกระดับคุณค่าความเป็นมนุษย์ในเด็กได้...เหมือนกับที่ตนเองผ่านมาแล้วค่อนชีวิต

ตีห้าครึ่งของทุกวันขณะที่เด็กกรุงเทพฯ บ้านไกลบางบ้านอาจกำลังกระวีกระวาดแต่งตัวและเตรียมอาหารไปทาน บนรถ เด็กนักเรียนบางคนอาจยังคงหลับใหลไม่อยากตื่น แต่เป็นเวลาที่เด็กนักเรียนที่สัตยาไสทุกคนทยอยเข้าห้องพระเพื่อสวดมนต์

หลังจากนั้นได้เวลานิทานคุณธรรมเรื่องแรกของวันเล่าโดยผู้บริหารสูงสุดของโรงเรียนทั้งพากย์ไทยและอังกฤษ มีทั้งเรื่องที่ดัดแปลงมาและแต่งขึ้นใหม่ แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน บทสรุปสุดท้ายก็กลับเข้าสู่คุณธรรม 5 ประการแห่งคุณค่าความเป็นมนุษย์ และความสำคัญของการปฏิบัติสมาธิและฝึกฝนจิตใจ

ไม่เพียงห้องพระ ก่อนอาหารทุกมื้อ นักเรียนทุกคนต้องสวดขอบคุณผู้มีพระคุณ ตลอดจนขอบคุณธรรมชาติ และให้คำปฏิญาณว่าจะทานอาหารนี้แต่ละมื้อเพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่และช่วยเหลือคนอื่น ด้วยความรัก เสียสละ และอ่อนน้อม ถ่อมตน

ก่อนเริ่มเรียนทุกครั้ง นักเรียนก็ยังต้องนั่งสมาธิ เพื่อเรียกสติให้มาจดจ่อกับการเรียน

ดร.อาจองยืนยันจากประสบการณ์ตรงที่เห็นผลจากลูกศิษย์ที่สอนทั้งหมดว่า สมาธิช่วยทำให้ความจำดีขึ้นและเข้าใจ เรื่องที่เรียนได้เร็วขึ้น และนี่เป็นเหตุให้นักเรียนของที่นี่มักได้รางวัลในการแข่งขันกับต่างโรงเรียน รวมถึงการเอ็นทรานซ์

"จริงๆ ถ้าเรามีสมาธิจดจ่อกับการเรียนก็พออยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาที่ติวเพิ่มให้เสียเงิน เพราะเนื้อหาที่ติวก็เป็นสิ่งที่เรียนในห้องเรียน" เป็นคำกล่าวของตัวแทนนักเรียน ม.6 ที่สอบติดมหาวิทยาลัยระบบสอบตรงแล้ว

มีนักเรียนชั้น ม.6 จบจากที่นี่ไปแล้ว ทั้งหมด 5 รุ่น สอบติดมหาวิทยาลัยทั้ง 100% ทุกรุ่น แต่มีศิษย์เก่าที่เริ่มต้นทำงานเป็นรุ่นแรกในปีนี้ มีบางคนเป็นวิศวกรการบิน บางคนเป็นครูบางคนจบแพทย์แผนจีนจากมหาวิทยาลัยหัวเฉียว คณะที่บางคนกำลังเรียนอยู่สถาปัตยกรรมปี 5 เป็นต้น

"ครั้งหนึ่งเคยมียุวทูตมาพูดคุยกับนักเรียน ม.6 ของที่นี่ในหัวข้อเรื่อง "จะเรียนให้เก่งได้อย่างไร" แต่คุยไปได้แค่ 1 ชั่วโมงเขาก็ไปนั่งร้องไห้แล้วบอกว่า กว่าที่เขาจะเป็นที่ 1 ของประเทศได้ต้องติวเข้มมากมาย และเครียดจนเคยคิดฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่นี่ไม่ต้องเครียดแต่ก็เข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนกัน" ดร.อาจองเล่าสู่กันฟังก่อนจะกล่าวโทษระบบการศึกษาของไทย

"ความผิดพลาดของระบบการศึกษา ปัจจุบันคือเน้นให้เด็กเก่ง ทำให้เด็กเกิดความเห็นแก่ตัวและเกิดความเครียด เมื่อเด็กเครียดมากคุณค่าความเป็นมนุษย์ก็ไม่สมบูรณ์ แต่ที่จริงเราควรเน้นให้เด็กดีก่อน เพราะเด็กดีแล้วความเก่งจะมาเองและเด็กดี จะคิดถึงคนอื่นก่อนตัวเองเสมอทำให้โลกนี้น่าอยู่ไม่วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้"

คำกล่าวข้างต้นของ ดร.อาจองน่าจะยืนยันได้เป็นอย่างดีด้วยอาชีพในฝันของเด็ก ม.6 หลายคนที่จะทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม เช่น นักจิตวิทยาในคุกหญิง ทนายความเพื่อคนยากไร้ เป็นต้น ตลอดจนคำพูดทิ้งท้ายของเด็ก ม.6 ที่จะจบในปีนี้กล่าวว่า

"สิ่งที่โรงเรียนสั่งสอนทั้งวิชาการ โดยเฉพาะคุณธรรมทำให้เราคิดถึงผู้อื่นก่อน เพราะเราทุกคนถูกปลูกฝังให้คิดว่าความดีคืออะไร คือสิ่งที่ทำแล้วไม่เดือดร้อน ทั้งตัวเองและคนอื่น และสิ่งที่เป็นผลดีต่อตัวเองและคนอื่น เราเรียนรู้ที่จะทำความดีทุกวัน เราเป็นผลิตผลขั้นสุดท้ายแล้วที่จะออกไปโลกภายนอก เราเชื่อว่าเราจะเป็นจุดเล็กๆ ที่จะทำให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น"

มาถึงวันนี้ เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความดีงามของเด็กนักเรียนโรงเรียนนี้ยังกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บรรดาคณาจารย์จากทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้หลัก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาต่างก็พากันแวะเวียนมาเยี่ยมชมดูงาน ณ โรงเรียนแห่งนี้บ่อยๆ ...บ่อยจนต้องมีกฎว่าที่นี่จะรับแขกไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และจำนวนแขกไม่เกิน 2,000 คนต่อเดือน

ดร.อาจองเคยกล่าวกับบรรดาแขกผู้เยี่ยมชมโรงเรียนถึงกุญแจสำคัญ 2 ดอกในการเปลี่ยนแปลงเด็กนักเรียน นอกจากการฝึกสมาธิ กุญแจที่สำคัญอีกดอกนั่นก็คือ ครูที่ดี

"เราอยากให้เด็กเป็นอย่างไรครูก็ต้องเป็นอย่างนั้น เราจะสร้างคนดีครูก็ต้องเป็นคนดีก่อนถึงจะสามารถพูดจากใจไปสู่ใจของเด็กได้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การพูดจากปากไปสู่สมองจะไม่ทำให้เด็กเปลี่ยนแปลง คุณสมบัติที่สำคัญของครู คือต้องมีความรักความเมตตา"

การคัดเลือกครูของโรงเรียนนี้ใช้เวลาถึง 3 วัน ในรูปแบบการเข้าค่าย วันแรกจะเป็นการอธิบายวิธีการเรียนการสอน ที่เน้นคุณธรรม เพื่อกรองผู้สมัครที่มีอุดมการณ์ตรงกัน วันแรกผ่านไปผู้สมัครมักจะเหลือเพียงครึ่งเดียว วันที่สองเป็นการอธิบายถึงความเสียสละของครูในโรงเรียนประจำ ที่ต้องอยู่กับนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมงหรือทำงานตลอดเวลา จบวันนี้ผู้สมัครจะเหลือเพียงครึ่งของที่มีอยู่ วันสุดท้ายผู้สมัครจะได้เล่นกับเด็ก เพื่อให้เด็กทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกครู โดย ดร.อาจองจะทำหน้าที่คอยสังเกตว่าเด็กเล่นกับครูคนไหนนั่นก็คือครูที่ดีของพวกเขา

ไม่เพียงมีอุดมการณ์แรงกล้า ครูจำนวน 50 คนของที่นี่ยังมีวุฒิการศึกษาที่ดี โดย 5 คนจบถึงปริญญาเอกกว่า 20 คนจบปริญญาโท และมีอีกหลายคนที่ ดร.อาจองจะให้ทุนเรียนต่อและฝึกฝนให้ค้นพบศักยภาพของแต่ละคน

นอกจากสมาธิซึ่งเป็นตัวตนด้านศาสนาและเป็นทางรอดพ้นวิกฤติทางสังคมตามความเชื่อของ ดร.อาจอง ยังมีตัวตนอีกด้านของผู้บริหารโรงเรียนผู้นี้ นั่นก็คือตัวตนทางด้านนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสนใจและห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมโลกอย่างมาก

"เพราะว่าตัวเร่งมันกำลังเกิดขึ้น เราไม่เคยมีแผ่นดินไหวที่รุนแรงจนทำให้เกิดคลื่นสึนามิมานานทีเดียว แต่ตอนหลังมีตั้งหลายครั้ง พอมันเกิดขึ้นเปลือกโลกก็ขยับก็ทำให้เกิดความกดดันอีกจุดหนึ่งแล้ว ก็ขยับตามกันไปเรื่อยๆ จนรอบโลก ซึ่งอันนี้เป็นภัยอันตราย แต่ถ้าพวกเราช่วยเหลือกันตั้งแต่แรกภัยเหล่านี้ก็จะลดน้อยลง อยู่ที่ความร่วมมือของมนุษย์"

ปัจจุบันโรงเรียนสัตยาไสพยายามใช้พลังงานทดแทนและทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน ทั้งการปลูกปาล์ม และมันสำปะหลังเพื่อทำไบโอดีเซล เปลี่ยนขยะของทั้งเทศบาลลำนารายณ์ให้กลายเป็นแก๊สสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้า ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนผลิตแก๊สมีเทนจากของเสียของมนุษย์ ฯลฯ

ขณะที่อาหารมังสวิรัติไม่เพียงเพื่อลดการเบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่น แต่ยังช่วยลดการผลิตแก๊สมีเทนได้ด้วย โดยข้าวและพืชผักเกือบทั้งหมดได้มาจากแปลงเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งอาหารแต่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงปฏิบัติของ นักเรียน

ภายในปีนี้ ดร.อาจองเชื่อว่าโรงเรียนสัตยาไสจะสามารถพึ่งพาตัวเอง 100% ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งเรื่องอาหารและพลังงานที่ใช้ในโรงเรียน อีกทั้งยังจะมีผลิตผลและพลังงานเหลือไปขายหารายได้เข้าโรงเรียนได้อีกด้วย

"จริงๆ โลกของเรามีอาหารเหลือ เฟือ มีอะไรทุกอย่างเหลือเฟือจนไม่ต้องแย่งกัน แต่ต้องไม่ใช่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจ แบบนายทุนแบบทุกวันนี้ ต้องเปลี่ยนมาเป็นเศรษฐกิจของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เหมือนเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง"

แต่หากทุกคนยังไม่เริ่มเปลี่ยนผู้หยั่งรู้โลกคนนี้ก็ได้ทิ้งท้ายด้วยคำทำนายที่น่าหดหู่เอาไว้ ดังนี้...อีก 10 ปีข้างหน้า แม่น้ำโขงจะแห้งสนิท มนุษย์เราจะเริ่มทะเลาะกัน จนอาจเกิดสงครามแย่งชิงน้ำกันในโลกใบนี้ มีเพียงทางเดียวที่จะป้อง กันไม่ให้เกิดขึ้นนั่นก็คือต้องปลูกฝังคุณธรรม โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำ

ดร.อาจองย้ำว่ามีเพียงเงื่อนไขเดียว ที่จะทำให้มนุษย์ก้าวพ้นวิกฤติเหล่านี้ไปได้ นั่นก็คือความรักความเมตตา...ซึ่งระบบการศึกษาต้องมีส่วนในการปลูกฝังคุณธรรมนี้ให้กับเด็ก

"เราไม่ได้บอกว่าแนวทางของที่นี่ดีที่สุด แต่เราเชื่อมั่นว่า สังคมจะดีถ้าเป้าหมายการศึกษาของเราคือสร้างให้เด็กเป็นคนดีมากกว่าเป็นคนเก่ง" ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไสสรุปด้วยน้ำเสียงสงบเย็น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us