|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

ความตื่นตัวในการพลิกฟื้นการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวระหว่างกันของ 3 ชาติ ในกรอบความร่วมมือ "โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจมาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)" ได้ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้งแล้วในเวลานี้
แถมยังมีแนวโน้มว่านับจากนี้ไปการท่องเที่ยวของ 3 ชาติ IMT-GT จะเป็นไปแบบคึกคักเอาเสียด้วย
เนื่องเพราะเป้าหมายไม่ได้อยู่แค่การบูมตลาดท่องเที่ยวระหว่างกันของ 3 ประเทศดังกล่าวเท่านั้น แต่กลับต้องการที่จะอาศัยเครือข่ายที่เชื่อมร้อยกันนี้เป็น "จุดขายใหม่" ให้กับตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
โดยเฉพาะเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตลาดในกลุ่มประเทศใน "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันตกเฉียงใต้" หรือ "อาเซียน" (Association of South East Asia Nation: ASEAN)
ทั้งนี้ พลุท่องเที่ยว IMT-GT ที่ว่านี้เพิ่งถูกจุดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเกิดขึ้นจากการที่ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนคร หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นำคณะเดินทางไปโรดโชว์ด้านการท่องเที่ยวยังเมืองท่องเที่ยวสำคัญๆ ในประเทศมาเลเซียระหว่างวันที่ 11-14 มีนาคม 2552
ทริปโรดโชว์เทศบาลนครหาดใหญ่นี้วางแผนให้ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน Matta Fair 2008 (Malaysia Association of Tour and Travel Agent: Matta) ที่มาเลเซียจัดขึ้น ณ Putra World Trade Center ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระหว่างวันที่ 13-15 มีนาคมที่ผ่านมา
การจัดงานเพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวของมาเลเซียครั้งนี้นับว่ายิ่งใหญ่พอสมควร เนื่องจากมีผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมออกบูธ เพื่อขายแพ็กเกจท่องเที่ยวล่วงหน้าถึง 900 บูธ มีการประเมินว่าเฉพาะในระหว่างงาน 3 วัน มีเงินสะพัดถึงประมาณ 500 ล้านบาททีเดียว
ในวันที่ 13 มีนาคมที่มีพิธีเปิดงาน Matta Fair 2008 อย่างเป็นทางการนั้น คณะของนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมด้วยวิวัฒน์ บุญยศักดิ์ ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย และบรูไน ได้ถือโอกาสเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของการท่องเที่ยวมาเลเซีย ณ The Legend Hotel ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์และเปิดขายการท่องเที่ยวของนครหาดใหญ่ไปในตัวด้วย
สำหรับฝ่ายมาเลเซียมีมาดามชอง ยอค ฮาร์ (Madam Chong Yoke Har) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดนานาชาติ ฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวมาเลเซียเป็นหัวหน้าคณะ
ในระหว่างอาหารกลางวันครั้งนั้นนอกจากความพยายามโน้มน้าวเพื่อเปิดเกมรุกตลาดการท่องเที่ยวระหว่างกันแล้ว ทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซียก็ยังพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างออกรสชาติ
โดยเฉพาะต่างฝ่ายต่างก็ยอมรับว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศ สหรัฐอเมริกา แล้วลุกลามไปในหลายประเทศของซีกโลกตะวันตกนั้น ได้สั่นคลอนเศรษฐกิจของทั้งไทยและมาเลเซีย ซึ่งผลสะเทือนที่ชัดเจนในด้านการท่องเที่ยวก็คือ เวลานี้ทั้ง 2 ประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวหดหายไปแล้วกว่า 20%
ในกรณีของตลาดท่องเที่ยวของเมืองหาดใหญ่นั้นถือว่าต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจาก มาเลเซียสูงถึงประมาณ 90% ขณะที่นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วไทย ก็นับว่าจำนวนไม่น้อยเช่นกันในแต่ละปี
ดังนั้น เทศบาลนครหาดใหญ่จึงประกาศจุดขายต่อนักท่องเที่ยวมาเลเซียว่า หาดใหญ่คือประตูสู่ประเทศไทย เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งการคมนาคมขนส่ง การสื่อสารที่ทันสมัย มีโรงแรมที่พักและอาหารให้เลือกอย่างหลากหลาย หาดใหญ่ถือเป็นเมืองหลวงของภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนสำคัญที่เข้าร่วมอยูในโครงการ IMT-GT มาตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นแหล่งชอปปิ้งขึ้นชื่อ มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย และแหล่งท่องเที่ยวประเภทให้ความบันเทิงก็มากมาย
อีกทั้งนครหาดใหญ่ยังมีแผนพัฒนาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวในระดับสากลอีกด้วย โดยเฉพาะในห้วงเวลา 1-2 ปีนี้จะมีการทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทเพื่อสร้างจุดขายใหม่ คือโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้า (Cable Car) ในสวนสาธารณะของเทศบาลขึ้นเขาคอหงส์ เพื่อไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และชมวิวทิวทัศน์ รวมถึงสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์หรือหอดูดาว และโครงการนำสายไฟฟ้าลงดินเฟส 2 เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และทัศนียภาพของเมืองหาดใหญ่ เป็นต้น
นอกจากนี้สิ่งที่ฝ่ายไทยพยายามตอกย้ำให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียรับรู้ตลอด คือไทยยังจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย เพราะเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ค่าใช้จ่ายสำหรับท่องเที่ยวถูกกว่า ที่สำคัญสามารถให้ความบันเทิงและมีมิตรไมตรีมอบให้ตลอดเวลา
โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ 11-14 เมษายนที่กำลังจะถึงนี้ Hat Yai Midnight Songkran เป็นที่เดียวของประเทศไทยที่เล่นน้ำสงกรานต์ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน สร้างจุดขายที่โดดเด่นเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียได้เป็นอย่างดี ซึ่งปีนี้ได้นำปาร์ตี้โฟมมาเอาใจนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ร่วมด้วยกิจกรรมการแสดงคอนเสิร์ตจากศิลปินวงไทเทเนียม การประกวดนางสาวสงกรานต์ แต่ปีนี้พิเศษโดยจะมีการประกวดนางสาวสงกรานต์นานาชาติ เพื่อต้อนรับสาวนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย
ในเรื่องของการทำประชาสัมพันธ์ตลาดท่องเที่ยวของไทยในมาเลเซียในปีนี้ วิวัฒน์ชัย บุญยภักดิ์กล่าวว่า ททท.จะรุกประชาสัมพันธ์ในหลายรูปแบบ ส่วนที่เน้นเป็นพิเศษคือการใช้สื่อทั้งในและนอกรถไฟลอยฟ้ากลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งประเมิน ว่าชาวมาเลเซียจะได้เห็นสื่อนี้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน นอกจากนี้แล้วก็จะซื้อเวลาตาม คลื่นวิทยุ จัดรายการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยให้เป็นที่รู้จักผ่านการเล่นเกมถามตอบชิงรางวัล ซึ่งจะเป็นของที่ระลึกจากประเทศไทย
ส่วนตลาดท่องเที่ยวของมาเลเซียนั้นนักท่องเที่ยวจากไทยที่เข้าไปท่องเที่ยวในมาเลเซียมีปริมาณอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ แต่หากรวมเอาจำนวนแรงงานเข้าไปด้วยแล้ว ไทยจะตกไปอยู่อันดับที่ 3 โดยมีอินโดนีเซียขยับขึ้นมาแทน ที่เหลือตามด้วยนักท่องเที่ยวจากตลาดบรูไนและจีน
ทว่าการพูดคุยระหว่างมื้อกลางวันของทั้งฝ่ายไทยและมาเลเซีย ส่วนที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่ทั้ง 2 ฝ่าย แสดงความคิดเห็นต้องตรงกันว่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ควรจะตื่นตัวเพื่อพลิกฟื้นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างกันขึ้นมาใหม่ ทั้งในด้านแหล่งท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อเส้นทางบินซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะมาดามชอง ยอค ฮาร์ ถึงกับเอ่ยปากว่า เวลานี้มาเลเซียตื่นตัวในเรื่องของตลาดท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศอาเซียนมาก จึงอยากให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวระหว่างมาเลเซีย ไทยและอินโดนีเซียเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศต้องร่วมปรึกษาหารือกันใกล้ชิดในเรื่องนี้
การยอมรับถึงการตื่นตัวของมาเลเซียที่จะเจาะตลาดท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นไปพร้อมๆ กับข่าวคราวว่า ภายในปี 2552 นี้มาเลเซียได้ทุ่มงบประมาณด้านการทำตลาดท่องเที่ยวถึงราว 3 หมื่นล้านบาท โดยจะเน้นใช้สื่อในระดับโลกเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ อาทิ BBC และ CNN เป็นต้น ยังคงยึดกลยุทธ์ตอกย้ำในคอนเซ็ปต์ที่ว่าการได้มาท่องเที่ยวมาเลเซีย เท่ากับได้เที่ยวทั่วเอเชีย หรือ Truly Asia อย่างแท้จริง
โดยประมาณ 30% ของงบประมาณดังกล่าวหรือราว 3 พันล้านบาท มาเลเซียจะนำไปใช้ในกระบวนการประชาสัมพันธ์และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต
ทั้งนี้ แนวความคิดให้มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว ก็คือ กระบวนคิดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรอบความร่วมมือโครงการ IMT-GT ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2536 แล้วนั่นเอง
ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของ 3 ชาติภายใต้กรอบโครงการ IMT-GT เคยบูมติดต่อกันอยู่หลายปีก่อนที่จะชะลอ แล้วก็ถูกลืมไปหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งระบาดไปในหลายประเทศ
เป็นที่น่าสังเกตว่า กระแสเสียงให้มีการฟื้นความร่วมมือด้วยการท่องเที่ยวในกรอบ โครงการ IMT-GT ขึ้นมาใหม่ แล้วต้องการใช้เป็นสะพานเชื่อมไปสู่จุดขายใหม่ยังตลาดอาเซียนนั้น ตามมาติดๆ กับการที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อปลายกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นมีนาคมที่เพิ่งผ่านมา
อีกทั้งช่วงก่อนหน้านั้นไม่นานอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำชุดนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาร่วม 3 ชาติภายใต้โครงการ IMT-GT โดยถึงกับประกาศในช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ไปเยือนประเทศอินโดนีเซียไว้อย่างชัดแจ้งแล้วด้วย
อาจจะเป็นเพราะความร่วมมือในโครงการ IMT-GT เกิดขึ้นจากการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ 2 บุคคลแกนหลักของพรรคในตอนนั้นคือ ชวน หลีกภัย ช่วงนั้นนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตอนนั้นมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชื่อสุรินทร์ พิศสุวรรณ
แม้เวลานี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนมือมาอยู่ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนหนุ่มแต่ชวน หลีกภัยก็ยังมีตำแหน่งเป็นถึงประธานที่ปรึกษาพรรคและแม้สุรินทร์ พิศสุวรรณจะหลุดวงโคจรจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว แต่กลับได้นั่งในเก้าอี้สำคัญเป็นถึงเลขาธิการอาเซียน
และถ้ามองยังฟากฝั่งของมาเลเซีย ก็ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีของมาเลเซียคนปัจจุบันคือ อับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ใน อดีตก็เคยเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลโครงการ IMT-GT ของฝ่ายมาเลเซียโดยเฉพาะมาแล้ว
นี่กระมังที่จะเป็นเหมือนแรงหนุนส่งให้ความคิดที่จะพลิกฟื้นความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกรอบ "IMT-GT" เชื่อมต่อไปเป็นจุดขายของ "อาเซียน" น่าจะมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับแต่นี้ต่อไป
|
|
 |
|
|