Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2552
เลือกตั้งอินเดีย 2009             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Political and Government




การเลือกตั้งทั่วไปไม่ว่าครั้งใดล้วนมีความสำคัญและถือเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย กระนั้นการเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียที่จะเริ่มขึ้นกลางเดือนเมษายนนี้ มีปัจจัยบ่งชี้หลายประการว่าอาจพลิกให้เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมือง และที่แน่ๆ จะถือเป็นมหกรรมการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดในโลก

นับจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 เมื่อเทียบกับอดีตเมืองขึ้นของอังกฤษอื่นๆ โดยเฉพาะบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ปากีสถาน เนปาล พม่า อินเดียสามารถรักษาเอกราชและระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาไว้อย่างเหนียวแน่น ทั้งไม่เคยตกอยู่ใต้อำนาจเผด็จการหรือการปฏิวัติรัฐประหารใดๆ ในสายตาของโลกตะวันตก การที่อินเดียประเทศซึ่งหลากหลายทั้งในมิติทางศาสนา วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ มีขนาดประชากรเรือนพันล้าน สามารถประคับประคองรักษาระบอบประชาธิปไตยมาได้ถึงขวบปีที่ 62 และจัดให้มีการเลือกตั้งได้ทุกๆ ห้าปีนั้น ถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางการเมืองอันดับต้นๆ ของโลกสมัยใหม่

คนอินเดียเองก็เคยภาคภูมิใจและอวดโอ่ทุกครั้งที่มีโอกาส ว่าตนเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นแฟชั่นแม้ในหมู่คนอินเดียเองที่จะโยนความผิดในความล่าช้าล้าหลังของประเทศให้กับระบอบประชาธิปไตยที่ว่า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับจีน ยักษ์เศรษฐกิจตนเดียวในเอเชียที่อินเดียถือเป็นคู่แข่งคู่ค้าด้วยมิติของจำนวนประชากร ทุกวันนี้พอมีปัญหาอะไร ไม่ว่าการส่งออกชะงักงัน หุ้นตก จีดีพีร่วง น้ำมันแพง คนตกงาน คนก็มักพากันบ่นว่า "ปัญหาของอินเดียคือประชาธิปไตย ดูอย่างจีนสิ ลองตัดสินใจทำอะไรแล้ว ไม่มีอะไรหรือใครหน้าไหนขวางได้ เศรษฐกิจเขาถึงได้โตเร็วอย่างนั้น"

ผู้คนพากันบ่นว่าประชาธิปไตยโดยลืมไปว่า แท้ที่จริงระบอบซึ่งหนึ่งในเสาหลักทางอุดมการณ์คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้ เหมาะกับพื้นวิสัยของคนอินเดียที่สุดแล้ว เช่นที่อมาร์ตยา เซน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียเจ้าของรางวัลโนเบลกล่าวว่า "โดยพื้นแล้วเราเป็นชนช่างมีวิวาทะ"

หากใครเคยเดินถนนในอินเดีย บ่อยครั้งจะพบว่าหากมีอะไรเป็นประเด็นขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ผู้คนจะพากันแสดงความคิดเห็นเป็นคุ้งเป็นแคว คนที่ผ่านไปมาแม้ไม่เคยรู้จักมักจี่กันมาก่อน ก็สามารถเข้ามาร่วมวงน้ำหมากน้ำชาวิวาทะกันได้อย่างสนิทสนม ประเด็นทุ่มเถียงอาจยื้อเยื้อออกเป็นชั่วโมง และท้ายสุดก็อาจสลายวงกันไปโดยไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุป แม้กระทั่งในกรณีทะเลาะวิวาท คนอินเดียก็สามารถโต้เถียงด่าทอเป็นฟืนไฟได้เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่ลงเอยด้วยการลงไม้ลงมือหรือใช้อาวุธ คงด้วยพื้นนิสัยเช่นนี้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์จึงไม่สามารถครองเสียงข้างมาก ทั้งอินเดียคงไม่เชื่องเชื่อยอมอยู่ใต้ผู้นำเผด็จการไม่ว่าทหารหรือพลเรือน

อินเดียยังคงเลือกเป็นประชาธิปไตย และเดินเข้าคูหาเลือกตั้งทุกๆ ห้าปี แม้รู้ทั้งรู้ว่านักการเมืองน้ำดีที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และหน้าที่กำลังเป็นของหายากและใกล้สูญพันธุ์ คำเปรียบเปรย ส.ส.ที่ฉ้อฉลว่าเป็นอาชญากรในคราบนักการเมืองกำลังกลายเป็นจริงจนน่าตกใจ เพราะทุกวันนี้ ส.ส ไม่ได้ซื้อเสียงประชาชนเพื่อเข้าไปขายตัวในสภาฯ หรือหากินกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเท่านั้น ในรอบห้าปีที่ผ่านมา อินเดียมี ส.ส.ที่ถูกจับในข้อหาใช้อภิสิทธิ์ความเป็น ส.ส.ค้าแรงงานเถื่อนด้วยหนังสือเดินทางปลอม และมี ส.ส.รวม 120 คนที่มีประวัติอาชญากรรม นับจากต้องหาในคดีฆาตกรรม ข่มขืน ลักพาตัว ขู่กรรโชก และฉ้อโกง รวมกันถึง 333 คดี

ครั้นพูดถึงความขันแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดปี 2008 ที่ผ่านมา สภาล่างหรือ 'โลกสภา' ของอินเดียมีนัดประชุมกันเพียงแค่ 32 วัน ซึ่งถือว่าต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่วนความพร้อมเพรียงในการเข้าประชุมก็น่าสะท้อนใจ อย่างคราวที่มีการประชุมอภิปรายปัญหาเกษตรกรฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหาหนี้สินและราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ พบว่า จำนวน ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุมด้วยซ้ำ

เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ ก.ก.ต.ของอินเดียได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงรายละเอียดของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ที่จะมีขึ้น โดยกำหนดวันเลือกตั้งออกเป็น 5 เฟส เฟสแรกในวันที่ 16 เมษายน จะมีการเลือก ส.ส. 124 ที่นั่ง เฟสที่สอง วันที่ 23 เมษายน เลือก ส.ส. 141 ที่นั่ง เฟสที่สาม วันที่ 30 เมษายน เลือก ส.ส. 107 ที่นั่ง เฟสที่สี่ วันที่ 7 พฤษภาคม เลือก ส.ส. 85 ที่นั่ง และเฟสที่ห้า วันที่ 13 พฤษภาคม เลือก ส.ส. 86 ที่นั่ง โดยแต่ละรัฐจะแบ่งการเลือกตั้ง เป็นกี่เฟสนั้นขึ้นกับขนาดประชากรและพื้นที่ อาทิ รัฐขนาดเล็กอย่างอัสสัม มานีปูร์ โอริสสา จะเลือกกัน 2 เฟส รัฐขนาดกลางอย่างเบงกอลตะวันตกและมหาราชตระ เลือกกัน 3 เฟส พิหาร 4 เฟส ส่วนอุตรประเทศ และจัมมูแคชเมียร์จะเลือกกัน 5 เฟส เพราะอุตรประเทศเป็นรัฐขนาดใหญ่ ส่วนจัมมูแคชเมียร์ซึ่งรวมถึงลาดักแม้จะมีประชากรน้อย แต่ล่อแหลมในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและความห่างไกลของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง

ส่วนการนับคะแนนจะเริ่มโดยพร้อมเพรียงกันในวันที่ 16 พฤษภาคม และสรุปผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน

สำหรับคนไทยที่เคยชินกับการเข้าคูหาตอนเช้า และรู้ผลการเลือกตั้งกันเที่ยงคืน คงอดถามไม่ได้ว่าทำไมการเลือกตั้งของอินเดียถึงทำกันข้ามเดือน ดูเป็นงานช้างเสียยิ่งกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คำตอบก็คือจำนวนผู้มีสิทธิใช้เสียง ซึ่งในครั้งนี้จะมีถึง 714 ล้านคน นัยหนึ่งเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วราว 48 ล้านคน ตลอดการเลือกตั้งจะมีหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 828,000 หน่วย ใช้เจ้าหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งราว 4 ล้านคน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 2.1 ล้านคน

ปัจจัยหนึ่งที่การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเปลี่ยนขั้วการเมืองของอินเดียอย่างสำคัญคือ อายุของผู้มีสิทธิใช้เสียงเลือกตั้งที่ลดลงเป็นประวัติการณ์ นั่นคือผู้มีสิทธิฯ อายุระหว่าง 18-35 ปี มีจำนวนถึง 170 ล้านคน หรือร้อยละ 24 เกือบหนึ่งในสี่ของผู้มีสิทธิทั้งหมด นั่นเป็นเหตุให้บรรดาพรรค ต่างๆ พากันสรรหาขุนพลคนรุ่นใหม่กันเป็นระวิง เพื่อหวังดึงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิวัยละอ่อน และต่างรู้ดีว่าเสียงทุกเสียงมีความสำคัญยิ่ง เพราะในการเลือกตั้งครั้งก่อนพรรคใหญ่อย่างบีเจพีและคองเกรส ก็ชิงดำกันด้วยคะแนนเสียงที่ต่างกันแค่ 0.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อีกปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องปรับกลยุทธ์การหาเสียงกันขนานใหญ่ คือฐานเสียงของคนเมืองที่ตี ตื้นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุว่าในการเลือกตั้งครั้งก่อนตัวเลขที่ใช้เป็นฐานคำนวณสัดส่วน ส.ส.มาจากสำมะโนประชากรปี 1971 ที่ประชากรภาคเมืองเมื่อเทียบกับภาคชนบทมีอัตราส่วนเป็น 22:100 แต่ครั้งนี้ใช้ตัวเลขจากสำมะโนประชากรปี 2001 ซึ่งตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา เขตเมืองและปริมณฑลขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีผลให้อัตราส่วนเปลี่ยนเป็น 38:100 อันหมายถึงเสียงของภาคเมืองที่จะดังฟังชัดขึ้น

ตัวอย่างเช่น เขตเมืองบังกะลอร์จะมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นจาก 3 เป็น 4 ที่นั่ง เขตปริมณฑลของมุมไบจะมี ส.ส.เพิ่มอีก 2 ที่นั่ง เมืองไฮเดอราบัดและปริมณฑลจะได้เลือก ส.ส. 4 ที่นั่งจากเดิม 2 ที่นั่ง เป็นต้น

ฉะนั้นพรรคการเมืองที่เคยยึดภาคชนบทเป็นฐานเสียงหลักก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป เพราะการเมืองของอินเดียยังคงเป็นเรื่องของรัฐบาล ผสมและการหาสมการพรรคแนวร่วมที่ลงตัว เมื่อจำนวนที่นั่งระหว่างสองนัครา-เมืองและชนบทเขยิบใกล้เข้ามา ทั้งสัดส่วนของผู้มีสิทธิรุ่นใหม่ก็เพิ่มมากขึ้น บางทีเก้าอี้ ส.ส.จากเขตเลือกตั้งใหม่ๆ ในภาคเมืองนี้เองจะเป็นตัวตัดสินว่าตลอดห้าปีข้างหน้าใครจะได้ร่วมรัฐบาล หรือหลุดไปเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน

ดังนั้น ทุกคะแนนเสียงที่ได้ และทุกที่นั่ง ส.ส. ที่ได้รับเลือกจึงสำคัญยิ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us