|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เดือนกุมภาพันธ์ 2552 นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกต่างประหลาดใจไปตามๆ กัน เมื่อรัฐสภาสหรัฐฯ ให้ความเห็นชอบและประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลงนามบังคับใช้กฎหมายที่มีมาตรการเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้สินค้าอเมริกันหรือ Buy American
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ กระตุ้นตลาดหลักทรัพย์และกระตุ้นอัตราการจ้างงานให้ดีขึ้น โดยสถิติในเดือนกุมภาพันธ์ชี้ชัดว่าอัตราการว่างงานของคนสหรัฐฯ สูงถึงร้อยละ 8.1 นับว่าสูงที่สุดในรอบ 25 ปี
ช่วงเดือนมีนาคมระหว่างที่ผมเดินทางไปที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเศรษฐกิจอเมริกันนั้นถดถอยอย่างหนักจริงๆ ห้างร้านหลายแห่งที่เคยคึกคักกลับกลายเป็นแทบจะไม่มีผู้คน เรียกได้ว่าคนขายมากกว่าคนซื้อ ส่วนร้าน ขายเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ที่ผมเคยใช้บริการอย่าง Circuit City ประกาศล้มละลาย เหลือทิ้งไว้แค่ป้ายชื่อกับอาคารเปล่าๆ นอกจากนี้โฆษณาเกี่ยวกับการซื้อรถ ผ่อนบ้านก็พยายามแข่งกันชูจุดขายอย่างเช่น ดอกเบี้ย 0% หรือมีโปรแกรม ช่วยผ่อนระหว่างที่ตกงาน เป็นต้น
นโยบาย Buy American ไม่เพียงเป็นเรื่อง น่าแปลกใจหรือน่าตกใจสำหรับชาวโลก เพราะแม้แต่ คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยก็แสดงความเห็นว่า "นโยบาย Buy American นั้นเป็นนโยบายที่ไม่เป็นอเมริกันเอาเสียเลย (Un-American)" กล่าวคือ แต่ไหนแต่ไรมาสหรัฐอเมริกาถือเป็นลูกพี่ใหญ่ที่ผลักดันให้ประเทศต่างๆ ยึดถือและเดินตามแนวทางปรัชญาเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเหมือนกับตัวเอง ถ้าหากกล่าวเป็นภาษาวัยรุ่นหน่อยก็อาจกล่าวได้ว่า สหรัฐอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ส่งเสริมการค้าเสรีในระดับ "ตัวพ่อ" นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้การประกาศมาตรการ Buy American ซึ่งอุดมไปด้วยกลิ่นอายของลัทธิกีดกันทางการค้า (Protectionism) จึงก่อให้เกิดทั้งความฉงน ความประหลาดใจ และความสับสนให้กับชาวโลกไม่น้อย
อุตสาหกรรมเหล็กโลกกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการ Buy American เนื่องจากรัฐบาลอเมริกันต้องการที่จะควบคุมการนำเข้าเหล็ก โดยหวังกีดกันสินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและวัสดุก่อสร้างจากต่างประเทศไม่ให้ส่งเข้าไปขายในสหรัฐฯ ทว่า เมื่อนโยบายดังกล่าวถูกประเทศ/ภูมิภาคเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นท้วงติง สหรัฐฯ ก็ยอมรับและเปลี่ยน ถ้อยคำในกฎหมายให้สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นสามารถหลุดรอดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือที่ในศัพท์เศรษฐศาสตร์และการค้ารู้จักกันดีว่า Non Tariff Barrier (NTB) ไปได้
แน่นอนว่านโยบาย Buy American ย่อมมิได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเหล็กและประเทศที่ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงคนไทยและการส่งออกสินค้าไทยบางประเภทไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ทั้งนี้หลังจากความตื่นตระหนกเกี่ยวกับ "ลัทธิกีดกันการค้า" ที่ถูกจุดขึ้นโดยมาตรการ Buy American ยังไม่สร่างซาดี กลางเดือนมีนาคม 2552 กระแสความตระหนกต่อลัทธิกีดกันทางการค้าอีกระลอกก็ถูกจุดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 กระทรวงพาณิชย์จีน ได้ออกแถลงการณ์กรณีที่บริษัทโคคา-โคลาเสนอซื้อกิจการบริษัทน้ำผลไม้ฮุ่ยหยวน บริษัทน้ำผลไม้เจ้าใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ด้วยเม็ดเงินสูงถึงเกือบ 83,000 ล้านบาท (17,920 ล้านเหรียญฮ่องกง) ซึ่งข้อเสนอซื้อดังกล่าวนับว่าเป็นการซื้อกิจการบริษัทจีนที่มีมูลค่ามากที่สุดโดยบริษัทต่างชาติ โดยทางการจีนระบุว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ขัดต่อกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของจีน (Anti-Monopoly Law) ซึ่งประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2551 และจะนำมาซึ่ง "ผลกระทบเชิงลบต่อการแข่งขัน" ในประเทศจีน
"ถ้าบริษัทโคคา-โคลาสามารถซื้อกิจการบริษัท ฮุ่ยหยวนได้จริงจะทำให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มรายเล็กๆ ของจีนประสบความยากลำบากในการแข่งขันและในที่สุดจะนำไปสู่การขึ้นราคาในอนาคต" แถลงการณ์ของ กระทรวงพาณิชย์จีนระบุ
ข่าวคราวความสนใจในการซื้อกิจการ "ฮุ่ยหยวน" แบรนด์น้ำผลไม้ 100% เจ้าใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ซึ่งกินสัดส่วนของตลาดมากถึงร้อยละ 32.6 โดยโคคา-โคลา บริษัทน้ำอัดลมเจ้าใหญ่ที่สุดของโลก ปรากฏขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2551 ช่วงปลายของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่ง โดยจากกระแสชาตินิยมที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในหมู่ชาวจีนระหว่างมหกรรมโอลิมปิก ก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านการซื้อกิจการดังกล่าวเป็นวงกว้าง กระแสการต่อต้านดังกล่าวถูกปั่นขึ้นสูงถึงขนาดที่มีคนกล่าวหา จู ซินหลี่ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทฮุ่ยหยวนว่า "ขายตัวให้ต่างชาติ" และ "ผู้ทอดทิ้งแบรนด์ของชาติ" เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ในหมู่ชาวจีน นักธุรกิจและสื่อมวลชนจีนเองก็มีผู้ที่ยึดหลักเหตุผลเพื่อที่จะวิเคราะห์สถานการณ์ให้หลุดพ้นจากกรอบของลัทธิชาตินิยมเช่นกัน โดยหนังสือพิมพ์หลายฉบับของจีนต่างตีพิมพ์บทวิเคราะห์ระบุว่า แม้การขายกิจการฮุ่ยหยวนให้กับต่างชาติจะเป็นการทำให้แบรนด์จีนตกไปอยู่ในเงื้อมมือของต่างชาติ และอาจจะเป็นการทำลาย "แบรนด์จีน" ก็จริง ทว่าชาวจีนเองก็ต้องแยกแยะประเด็นทางธุรกิจออกจาก การปกป้องผลประโยชน์ของชาติให้ชัดเจนด้วย
อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ชิงเหนียนสือเป้าฉบับวันที่ 5 กันยายน 2551 ในหน้า A5 ได้ตีพิมพ์บทวิเคราะห์ว่า "ใครกันแน่ที่ทอดทิ้งฮุ่ยหยวน?" โดยเนื้อหาบทความดังกล่าวระบุว่า "แท้จริงแล้วหากชาวจีน 8 ใน 10 คน เลือกฮุ่ยหยวนเป็นทางเลือกแรกในการดื่มเครื่องดื่ม ฮุ่ยหยวนคงกลายเป็นเครื่องดื่มอันดับหนึ่งของโลกไปแล้วและไม่จำเป็นต้องขายกิจการให้กับโคคา-โคลา แถมฮุ่ยหยวนยังอาจจะสามารถซื้อกิจการโคคา-โคลาได้อีกด้วย"
นอกจากนี้บทวิเคราะห์ในชิงเหนียนสือเป้าฉบับดังกล่าวยังตีพิมพ์ภาพการ์ตูนวัยรุ่นชาวจีนที่ออก มาเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกัน "ปกป้องฮุ่ยหยวน" แต่ขณะเดียวกันในมือตัวเองกลับถือขวดโคคา-โคลา ส่วนเท้าก็สวมรองเท้ายี่ห้อไนกี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่ จู ซินหลี่ ที่ทอดทิ้งฮุ่ยหยวนหรอก แต่เป็นคนจีนนั่นแหละที่ "พูดอย่างทำอย่าง"
ในส่วนของบทวิเคราะห์ทางธุรกิจ หลังมีความชัดเจนว่าการซื้อกิจการฮุ่ยหยวนล้มเหลวอันเนื่องมาจากแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนและกระแสต่อต้านในสังคมจีนซึ่งยังเป็นกระแสสูง นักวิชาการจีนจำนวนหนึ่งก็ออกมาชี้ว่ารัฐบาลจีนอ่อนไหวเกินไปกับเรื่องนี้ และข้ออ้างของกระทรวงพาณิชย์ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะตลาดน้ำผลไม้ในจีนนั้นแข่งขันกันสูงมากและการควบรวมกิจการดังกล่าวก็ไม่เห็นว่าจะทำให้โคคา-โคลาสามารถผูกขาดตลาดได้แต่อย่างใด
ขณะที่หนังสือพิมพ์เป่ยจิงซังเป้า (Beijing Business Today) ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2552 ตีพิมพ์ บทวิเคราะห์ระบุว่า ความล้มเหลวของดีลดังกล่าว แม้ดูเหมือนจะเป็นชัยชนะของชาวจีน แต่ผู้ที่เจ็บช้ำที่สุดกลับไม่ใช่บริษัทโคคา-โคลา แต่เป็นชาวจีนเองโดยเฉพาะผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ของฮุ่ยหยวนที่ชื่อ "จู ซินหลี่"
เป่ยจิงซังเป้าระบุว่าในส่วนของโคคา-โคลา ความล้มเหลวในการซื้อบริษัทจีนไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไรมากนักในระยะสั้น เนื่องจากในภาวะที่วิกฤติโลกอยู่ในสภาพสาหัสเช่นนี้ การถือเงินสดไว้ในมือย่อมเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด ในทางกลับกันบริษัทฮุ่ยหยวนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและบรรดาผู้ถือหุ้นที่ต้องเจ็บตัวหนักเพราะหลังดีลล้ม ราคาหุ้นของฮุ่ยหยวน ลดลงถึงร้อยละ 40 เหลือเพียง 4.8 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น จากที่เคยพุ่งขึ้นไปสูงที่สุดถึง 11.28 เหรียญฮ่องกงต่อหุ้น
นอกจากนี้ในมุมมองของการบริหารย่อมเกิดคำถามที่ว่า จู ซินหลี่จะทำอย่างไรต่อไปกับ "ฮุ่ยหยวน" ดี? บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า การที่เขายินยอมขายกิจการย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มไม่มั่นใจว่าตนเองและครอบครัวจะผลักดันฮุ่ยหยวนให้ก้าวไปได้ไกลขนาดไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจที่ตึงตัวเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการประกาศขายกิจการล้มเหลวเขาจึงเหลือหนทางเพียง 3 ประการคือ หนึ่ง กัดฟันสู้ต่อไป สอง ปล่อยไปตามยถากรรมและสุดท้ายคือ การขายกิจการให้กับบริษัทในประเทศแทน
อีกด้านหนึ่ง ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนข้ามชาติ กรณีโคคา-โคลาและฮุ่ยหยวนนั้น เป็นเรื่องระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนไม่น้อย เพราะความล้มเหลวของการซื้อ-ขายกิจการดังกล่าวในภาวะที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอยนั้นยิ่งกระตุ้นให้ผู้คนขาดความเชื่อมั่นในระบบการค้าเสรีและลดความเชื่อถือปรัชญาเศรษฐกิจ ที่เป็นกระแสหลักของโลกอยู่ ณ เวลานี้ว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
เป็นที่น่าสังเกตว่า "แนวคิดชาตินิยม" มักถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอยู่เสมอๆ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ไม่ว่าจะในช่วงการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อราว 80 ปีก่อนหรือเมื่อเร็วๆ นี้ คือวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 โศกนาฏกรรม 9/11 ในปี 2544 รวมไปถึงวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ณ เวลานี้ด้วย
ที่สำคัญ ผมคิดว่ารัฐบาลไทยและคนไทยน่าจะได้บทเรียนอะไรหลายอย่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ไม่ว่าจะเป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจการลงทุนและการค้า รวมไปถึงการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาดด้วย ทั้งๆ ที่ระบบเศรษฐกิจของบ้านเรานั้นเป็นทุนนิยมก่อนจีนตั้งนาน แต่การต่อต้านการผูกขาดกลับยังตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลังอย่างยิ่ง
|
|
|
|
|