Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2531








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2531
แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ใหญ่ต้องยั้ง ลมที่ต้องเปลี่ยนทิศ!?             
โดย ธนธรณ จันทรนิมิ
 

 
Charts & Figures

งบโฆษณาซึ่งนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด
ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาของบ้านจัดสรรตั้งแต่ปี 1983-1987


   
www resources

โฮมเพจ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ - แลนด์แอนด์เฮ้าส์

   
search resources

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.
Real Estate




หากการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คล้ายกับลูกคลื่นที่มีความผกผันอยู่ตลอดเวลา ในทุกๆ 5 ปีสถานการณ์อาจจะสร้างผู้เยี่ยมยุทธขึ้นมาสักหนึ่ง หรือสองราย ซึ่งปรากฏการณ์ในรอบขวบปีที่ผ่านมาและอาจเป็นต่อไปอีกที่พูดกันว่า "ยุคทองของ REAL ESTATE ได้หวนกลับมาอีกครั้ง" นั้น ถ้าจัดอันดับผู้เยี่ยมยุทธในบรรดานักธุรกิจพัฒนาที่ดินทั้งชนิดไว้เนื้อเชื่อใจได้และที่กำมะลอปอปั้นทั้งหลายเห็นทีจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบ 5 ปีมานี้จะมีใครไหนบ้างเกรียงไกรได้อย่าง "แลนด์ แอนด์ เฮาส์"

สามสิบกว่าโครงการกับมูลค่าการขายที่ไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ดี ยิ่งย้อนกลับไปมองยังจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ ย่อมกล่าวไว้ว่า 16-17 ปีของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มาได้ไกลเสียเหลือเกิน ไกลเสียจนต้องมีคำถามขึ้นมาใหม่ว่า

"แลนด์ แอนด์ เฮาส์ จะดำรงความใหญ่ที่คุยว่าดีที่สุดได้นานแค่ไหน" !?

ดูเหมือนว่าเงื้อมเงาความใหญ่ที่ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยงนี้ แลนด์ แอนด์ เฮาส์ เองได้ตระหนักถึงความน่ากลัวไม่น้อยเหมือนกัน "การที่บริษัทจะมียอดขายสูงสุด หรือมีเครือข่ายโครงการมากที่สุดนั้น มักจะทำให้ไม่ได้เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดหรือใหญ่ได้ไม่นาน" ความในใจของอนันต์ อัศวโภคินท็อปคีย์คนสำคัญที่ปุจฉาและวิสัชนาเสร็จสรรพบอกให้รู้ถึงภาระที่ต้องทบทวนการบ้านหนักกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา

กลุ่มบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮาส์สัมผัสกับธุรกิจ REAL ESTATE เป็นครั้งแรกกับโครงการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และศูนย์การค้าย่านวังบูรพาเมื่อปี พ.ศ. 2513 โดยใช้ชื่อว่าแลนด์ แอนด์ เฮาส์ คอนสตรัคชั่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือบริษัท พัฒนาที่ดิน จำกัด การกระโจนสู่วงการนี้ไล่หลังจากที่เพียงใจ หาญพาณิชย์ "หงส์เสียบปีก" ผู้นำของกลุ่มที่คงเป็นผู้หญิงคนเดียวที่มีสามีแล้วแต่สามารถรักษาสถานภาพความเป็น "นางสาว" ไปได้ตลอดกาลได้เข้ามาคลุกคลีในวงการซื้อขายที่ดินแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508

สายเงินอัดฉีดในระยะตั้งไข่ของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ เป็นเงินลงทุนสดๆ ที่ผลิดอกออกผลมาจากการค้าโรงรับจำนำของเพียงใจกับสามี "บุญทรง อัศวโภคิน" ผิดกับกลุ่มอื่นๆ ที่พึ่งใบบุญหล่อเลี้ยงจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ หนึ่ง- ความฉลาดหลักแหลมในเรื่องการเซ่งลี้ของผัวเมียคู่นี้เก่งฉกาจพอที่จะบันดาลกำลังทรัพย์เพื่อจุนเจือธุรกิจอื่นได้อย่างสบายๆ สอง-ความแคบในวงสังคม ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าในระยะแรกๆ ที่ทำการค้านอกจากพ่อค้าคนจีนที่ยอมเออออห่อหมกด้วยไม่กี่รายแล้วนั้น ผัวเมียคู่นี้แทบจะไม่ได้สังสรรค์กับนักธุรกิจหรือนายแบงก์คนไหนเลย

"ส่วนใหญ่พ่อค้าคนจีนที่เคยมีสัมพันธ์แต่เริ่มต้นปัจจุบันก็ยังเหมือนเดิม ซึ่งส่วนมากจะมีหุ้นอยู่ในโรงแรมแมนดารินที่เป็นธุรกิจอีกแห่งหนึ่งของผัวเมียคู่นี้ พ่อค้าเหล่านั้นบางปีอาจไม่ได้เงินปันผลแต่ก็ไม่ว่าอะไรเพราะรู้นิสัยผัวเมียคู่นี้กันดี" พ่อค้าคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

แต่ถ้าจะพูดถึงการเข้ามามีบทบาทในธุรกิจที่ดินอย่างแท้จริงของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ น่าจะนับเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2516 ที่ทำโครงการบ้านจัดสรรศรีรับสุข บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต (ใกล้มหาวิทยาลัยหอการค้า) โครงการนี้มีทั้งหมด 250 ยูนิตแบ่งเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว บ้านเดี่ยว 2 ชั้น และทาวน์เฮาส์

ปีแรกที่แทบกระอักเลือดและเป็นปีแรกที่เนื้อชินของกลุ่มนี้เปล่งรัศมี เนื่องจากภาวการณ์ในปีนั้นที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์น้ำมันยังผลให้กำลังซื้อด้านต่างๆ ของผู้บริโภคตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย ซึ่งธุรกิจบ้านจัดสรรเป็นอีกตัวหนึ่งที่โดนหางเลขเสียย่ำแย่ โครงการไหนที่ไม่มีสัมพันธ์แนบแน่นกับแบงก์แล้วล่ะก็มีโอกาสปิดตัวเองอย่างไม่ยากเย็น

น่าทึ่งที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ซึ่งไม่มีข้อต่อกับแบงก์กมากนักกลับฝ่ามรสุมนี้ไปได้ ทั้งนี้เพราะพลิกผันกลยุทธ์ทางการตลาดได้ทันท่วงที โดยเน้นการขายบ้านเข้าหากลุ่มเป็าหมายระดับกลางเป็นหลักซึ่งราคาบ้านเฉลี่ยแล้วหลังละไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากมธุรสวาจาของเพียงใจกับลูกชายสุดสวาท "อนันต์ อัศวโภคิน" ที่เจาะทะลุกลุ่มลูกค้าที่เป็นพนักงานการบินไทยได้อย่างสนิทแนบ

จากความสำเร็จของ "บ้านศรีรับสุข" ก็เป็นบรรทัดฐานขยายตัวไปยังโครงการที่ 3 และ 4 คือโครงการ "บ้านธนินทร" และ "บ้านประชาชื่น" ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน และเพียงระยะเวลา 7 ปี แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ก็ขยายโครงการไปได้ถึง 13 โครงการ (ช่วงปี 2516-24) โดยเน้นที่กลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลาง (รายได้ 6,000-12,000 บาท /เดือน) เป็นสำคัญ แต่ละโครงการที่ลงทุนประสบผลสำเร็จอยู่ในขั้นน่าพอใจ

ที่สำคัญคือช่วงที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ขยายตัวอย่างครึกโครมกลับเป็นห้วงเวลาที่ธุรกิจบ้านจัดสรรทั้งระบบตกอยู่ในภาวะอาการสามวันดี สี่วันไข้มาโดยตลอด กระทั่งมือพัฒนาเก่าๆ ที่ว่าแน่หลายรายนั้นกว่าจะพ้นพงหนามมาได้ก็ถูกคมหนามเกี่ยวเลือดตกยางออกระบมไปตามๆ กัน

เหตุที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ พอที่จะฝืนยิ้มออกมาได้อาจเป็นเพราะ หนึ่ง - ส่วนใหญ่ของโครงการจะสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองมากกว่าที่จะไปหยิบยืมที่ดินที่อยู่ในจำนองของแบงก์มาพัฒนาซึ่งต้องเพิ่มงบลงทุนเข้าไปอีก เพียงใจในระยะนั้นก็เริ่มเป็นเศรษฐีนีที่ดินคนหนึ่งแล้ว ค่าที่ทำโรงรับจำนำมาเสียนานทำให้มองทะลุว่าที่ไหนจะดีและราคาจะขึ้น

สอง - เงินลงทุนเป็นเงินเก็บของครอบครัวเสียมากกว่าที่จะไปกู้ยืมแบงก์มาค้ำจุน สาม- ความกล้าได้กล้าเสียของการนำเอาการตลาดสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างถึงลูกถึงคนมากที่สุด คนที่มีบทบาทสูงมากในเรื่องนี้คือ "อนันต์ อัศวโภคิน"

"แลนด์ แอนด์ เฮาส์ อาจจะไม่ได้กำไรมากนักแต่ก็พอทรงตัวอยู่ได้ รวมถึงที่เป็นอยู่ในเวลานี้ด้วย แต่สิ่งที่ได้มามากที่สุดในทางอ้อมก็คือเครดิตที่ดีขึ้นๆ ในสายตาของแบงก์และลูกค้า" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ปีพ.ศ. 2525 เป็นปีที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ต้องจดจำเพราะเป็นปีที่ทุกโครงการซึ่งแม้ว่าจะแยกบริษัทกันรับผิดชอบทว่าทุกโครงการเหล่านั้นต่างใช้ชื่อร่วมกันว่า "หนึ่งในโครงการ แลนด์ แอนด์ เฮาส์" จนเป็นที่ชินชาของคนทั่วๆ ไป และกลายเป็นจุดขายอย่างดีมิติใหม่นี้เริ่มใช้กับโครงการบ้านนันทวันที่เชียงใหม่

"บ้านนันทวัน" ยังเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เพียงใจและอนันต์สามารถคุยได้อย่างไม่กระดากปากเพราะค่าที่โครงการนี้ หนึ่ง-เป็นการล้างอาถรรพณ์ "ที่ดินซวย" ในความรู้สึกของคนเชียงใหม่ให้กลายเป็นที่ดินทอง สอง-เป็นความกล้าที่จะบุกเบิกบ้านจัดสรรราคาแพงขึ้นตามหัวเมือง สาม-เป็นการจุดพลุยุทธศาสตร์ การตลาดแนวใหม่สำหรับบ้านจัดสรรที่ต้องแหกม่าน ความเงียบเฉยมาเป็นการโฆษณาเชือดเฉือน เพื่อจุดประกายความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นแนวทางที่โครงการอื่นๆ ดำเนินตามในลำดับต่อมา

คนเชียงใหม่บางคนบอกว่า แม้ว่าแม่ลูกคู่นี้ไม่ถึงขั้นเสพดีหมี หัวใจมังกร แต่ก็เสี่ยงเหลือทนที่กล้าเอาชื่อเสียงซึ่งสั่งสมมานานเข้าแลกในโครงการบ้านนันทวัน และยังเสี่ยงต่อการควักเนื้อขาดทุนอีกหลายสิบล้านบาท เพราะตลาดผู้ซื้อในช่วงนั้นยังมองไม่เห็นหนทางสดใสเอาเสียเลย

เดิมทีที่ดิน 17 ไร่ของ "บ้านนันทวัน" นั้นเจ้าของเดิมที่นำเอาที่ไปจำนองกับแบงก์กสิกรไทยมีแผนที่จะทำเป็น "โรงแรมนันทวัน" ซึ่งได้ลงมือไปแล้วบางส่วน แต่ทำไปทำมาติดขัดเรื่องความสูงและความแข็งของเนื้อดินจนต้องพับฐาน เพียงใจที่ได้ชื่อว่าเป็น "นักล่าที่ดิน" ตัวยงอยู่แล้วขึ้นไปเห็นว่าเป็นทำเลเหมาะแก่การทำเป็นบ้านพักอาศัยเลยขอเซ้งลี้ต่อจากแบงก์กสิกรไทย

"บ้านนันทวัน" วาง CONCEPT ไว้ที่ความเป็นบ้านแห่งที่สองของคนรวยจากกรุงเทพฯ และเมืองอื่นที่ชื่นชอบธรรมชาติเมืองเหนือ เป็นบ้านพักตากอากาศที่มีแบบสวยงาม ราคาก็สูงถึงหลักล้านนับเป็นการเข้าหากลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงเป็นครั้งแรกของกลุ่มนี้

กล่าวกันว่ายอดจองบ้านทำให้สามารถปิดโครงการได้ก่อนกำหนด และก่อนวันเปิดตัวเพียงวันเดียว เพียงใจต้องไล่ล่าซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าอย่างทันควัน" ปกติก็เป็นคนชอบเล่นเพชรอยู่แล้ว เมื่อยอดายไปได้สวยเกินคาดคิดทั้งเนื้อทั้งตัวเลยแพรวพราวอย่าบอกใครเชียว" คนในวงการท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง

ด้วยสายตามองที่ดินดุจนกอินทรียมองเห็นเหยื่อของเพียงใจที่ทำให้ "บ้านนันทวัน" ขายได้แบบสบายๆ แล้วนั้น แรงกระตุ้นอีกทางหนึ่งต้องยอมรัาบว่าเกิดจากการเล่นเกมการตลาดแบบสมัยใหม่ของอนันต์ด้วย เพราะโครงการนี้โหมการขายด้วยการโฆษณาทางทีวี.อย่างหนักหน่วง เพียงโครงการเดียวหมดงบกว่าล้านบาท!!

"หมู่บ้านเสรีหรือเสนานิเวศน์ที่เคยโฆษณาอย่างมากนั้น ถ้าเทียบอัตราส่วนความถี่กับนันทวันแล้วห่างไกลกันมาก และจุดที่นันทวันฉีกออกไปเห็นจะเป็นตรงที่ไม่ได้เน้นถึงความสะดวกและปลอดภัยเช่นหมู่บ้านอื่น แต่วางจุกหนักที่เน้นให้เห็นถึงความสวยงามของบ้านและธรรมชาติที่ร่มรื่น ร่มเย็น หนังที่ทำก็ทำกันในช่วงฤดูหนาวกินเวลาหลายวันแต่ผลออกมาคุ้มเพราะคนเห็นแล้วอยากซื้อเป็นเจ้าของ" คนในวงการโฆษณาบอกเล่า

แบบบ้านและธรรมชาติรื่นรมย์นี้เองกลายเป็น SELLING POINT ของกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย ดังจะเห็นว่าทุกโครงการในระยะหลังจะเน้นแบบบ้านเป็นที่หนึ่ง จนหมู่บ้านบางแห่งลอกเลียนแบบให้เป็นคดีขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาแล้วหลายราย

เพียงใจกับลูกชายเหมือนไม่ครั่นคร้ามความเป็นเมืองปราบเซียนของเชียงใหม่เท่าไรนัก หลังจากปิดโครงการบ้านนันทวันไม่ทันข้ามปี ก็บรรเลงต่อกับโครงการ "บ้านอิงดอย" ทันที เอกลักษณ์ของบ้านอิงดอยยังคงผูกพันกับความสวยงามของแบบบ้านและภูมิประเทศ

ว่าไปแล้วที่ดิน 60 ไร่ของบ้านอิงดอยนี้ทอดผ่านมาถึงมือเพียงใจแบบได้ฟรีจริงๆ เพราะราคาที่ซื้อมากับราคาที่ขายออกไปในวันนี้ประมาณกันคร่าวๆ ว่า แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ฟันกำไรเฉพาะที่เกือบสองเท่าตัว และที่ดินบริเวณนี้เดิมทีก็ไม่มีใครต้องการเนื่องจากดูตามตำราฮวงจุ้ยของคนจีนบอกว่า "ดูยังไงๆ ก็ไม่เหมาะสร้างบ้าน" คนที่เป็นเจ้าของเก่าอย่างบริษัท บ้านและที่ดิน จำกัดในกลุ่มพีเอสเอ.ที่ดำริจะทำบ้านจัดสรรขายก็ยังไม่กล้า แต่ประเด็นนี้อาจมีเหตุผลแย้งได้ว่า โดยตัวของพีเอสเอ.เองแล้วช่วงนั้นก็ย่ำแย่แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว

"แกดูที่ไม่นานนักก็ตัดสินใจและให้ลูกชายวางแผนทำอิงดอยทันที ที่จริงที่ดินแถบนี้มีมุมมองเห็นดอยสุเทพจะอยู่ในความทรงจำไปอีกนานแกทำได้จริงๆ" นักเล่นที่ดินของเชียงใหม่คนหนึ่งกล่าว

คาบเกี่ยวของปี 2525-26 ชื่อของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ถูกปลุกให้คึกคักจากบ้านนันทวันและบ้านอิงดอยยังไม่เพียงพอ อีกโครงการหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ขจรขจายมากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ โครงการบ้านพฤกษชาติที่บางกะปิ โครงการนี้เดิมทีเป็นของแบงก์กสิกรไทยแต่ทำได้ไม่ดีนักจึงโอนมาให้แลนด์ แอนด์ เฮาส์ สางต่อกรณีนี้เป็นเคสหนึ่งของความสำเร็จที่พูดถึงกันมากในวงการที่ดินไม่รู้จบ

จากปี 2527 ไล่เรื่อยจนถึงปี 2530 เครือข่ายแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ก็ปักหลักตีธงไปทั่วทั้งกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ในเชียงใหม่มิทันที่บ้านอิงดอยจะปิดโครงการกลุ่มนี้ก็ขยายตัวอย่างลำพองฮึกเหิมกับโครงการบ้านนันทนา เพียงแต่ว่าครั้งนี้เบี่ยงเบนเข้าหากลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางที่เป็นคนท้องถิ่นมากขึ้น

"ผมเชื่อว่าเขาไม่หยุดเพียงแค่นี้ เชียงใหม่อาจถือเป็นสมรภูมิหลักอีกแห่งของเขาเพราะขณะนี้เพียงใจก็ขึ้นมากว้านซื้อที่ดินแถวสันกำแพงไปเก็บเอาไว้แล้วถึง 300 กว่าไร่ ที่แถบแม่โจ้อีก 60 กว่าไร่ คาดว่าแกคงลงบ้านจัดสรรในระดับเดียวกับบ้านนันทนาที่ขายไม่เกิน 800,000 บาท" แหล่งข่าวกล่าว

ในกรุงเทพฯ ปีที่แล้วจัดเป็นปีของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ จริง ๆเพราะปีเดียวขยับโครงการใหม่ถึง 5 โครงการในลักษณะ "ป่าล้อมเมือง" คือมีทั้งในย่านบางนา-ตราด ปิ่นเกล้า นนทบุรี รามอินทรา และแว่วว่า ยังลักไก่ที่จะซื้อที่ดินแถบรัตนาธิเบศร์กับรังสิตเข้ามาเสริมในโครกการใหม่ๆ อีกด้วยความแรงที่ยั้งไม่หยุดอาจเป็นเพราะว่า "ปีที่ผ่านมาแบงก์ไทยพาณิชย์ลงมาสนับสนุนอย่างจริงจังอีกแรงหนึ่งด้วย"

เป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วที่แบงก์ใหญ่ๆ ต้องลงมาคลุกเคล้าในธุรกิจ REAL ESTATE อย่างมีเนื้อมีหนังมากขึ้น ขณะที่แบงก์กรุงเทพเปิดโอกาสให้บงล.ร่วมเสริมกิจและบริษัทเรียลเอสเตท เซ็นเตอร์ลุยเรื่องที่ดินอย่างเต็มตัว แบงก์ไทยพาณิชย์เองก็หวังว่าบริษัท สยามพาณิชย์พัฒนาอุตสาหกรรมจำกัด ที่เป็นบริาทร่วมลงทุนกับกลุ่ม แลนด์ แอนด์ เฮาส์ เป็นตัวปะทะ และพุ่งชนอย่างมีศักดิ์ศรี

การต่อสู้ในยกที่หนึ่งกำลังจะเริ่ม!?

พยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ กรรมการผู้จัดการวิศวกรหนุ่มที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มนี้บอกด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมว่า "ปีนี้นอกเหนือไปจากการทำบ้านจัดสรรให้ดีที่สุดแล้ว ยังจะเป็นปีเริ่มต้นของกลุ่มที่จะจับงานด้านนิคมอุตสาหกรรมและคอนโดมิเนียม"

แน่นอนว่าความฝันที่ต้องทำให้เป็นจริงนี้ย่อมเป็นงานชิ้นโบว์แดงของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ และแบงก์ไทยพาณิชย์ "เราพร้อมเดินหน้าแล้วเรื่องการดูที่ดินและการจัดการเป็นของเรา ส่วนเรื่องเงินทองไทยพาณิชย์ก็ไม่อั้น" พยนต์กล่าวสั้นๆ

ตรงจุดนี้ต่างหากเล่าที่ท้าทายความเป็นนักลงทุนใหม่ (NEW COMER) ของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ และแบงก์ไทยพาณิชย์ที่ว่า บนเส้นทางที่วาดหวังพวกเขาพร้อมที่จะเป็น "หญ้าแกร่งท่ามกลางลมแรง" ได้ไหม เพราะการขยายตัวของสองตลาดนี้ไม่ว่าใครต่างจ้องจะฉกฉวย

การหักมุมเข้าสู่โครงการก่อสร้างตึกสูงเช่นคอนโดมิเนียมของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ นั้นด้านหนึ่งเพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดที่คาดว่าจะเฟื่องฟูในอนาคตอันใกล้ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่เสี่ยงเข้ามาอาจเป็นการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นด้วยว่า แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ไม่ใช่เก่งเพียงงานในพื้นราบเช่นบ้านจัดสรรเท่านั้น

ตึกสูงเป็นตราบาปที่คั่งค้างในหัวใจของกลุ่มนี้มานานแล้วหรือ!?

พลิกปูมกลับไปในราวปี 2525 ซึ่งเป็นปีที่ใช้ชื่อร่วม "หนึ่งในโครงการแลนด์ แอนด์ เฮาส์" ปีนั้นกลุ่มนี้ได้ออกตัวที่จะสร้าง "เดอะธัมรินทร์" เป็นคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยสูง 20 ชั้นใกล้ๆ กับเขตพระราชฐานวังสวนจิตรลดา โครงการนี้ได้มีการ TEST ตลาดและวางแปลนหมดเงินไปหลายสิบล้านบาทแล้ว รวมทั้งได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้แล้วด้วย ทว่าสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นคือมีคำสั่งให้ระงับโครงการนี้พร้อมกับมีกฏหมายออกมาว่า อาคารที่จะสร้างติดเขตพระราชฐานเช่นพระราชวังต้องมีความสูงไม่เกิน 12 เมตร

เดอะธันรินทร์ ล้มคว่ำคะมำหงายด้วยเหตุผลนี้ ก่อนที่จะเปลี่ยนโครงการนั้นมาเป็น "สุโขทัยแมนชั่น" ในปัจจุบัน และดูเหมือนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ไม่อยากเก็บมาคิดอีกเลย

นอกจากโครงการเดอะธัมรินทร์ ก็ยังมีอีก 2 โครงการที่แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ออกตัวแล้วไม่อาจสร้างได้ก็คือโครงการหัวลำโพงที่จะสร้างเป็นคอนโดมิเนียมสูง 28 ชั้น กับพาราเมาท์เซ็นเตอร์ที่จะเป็นคอนโดมิเนียมสูง 28 ชั้นเช่นกัน (สองโครงการนี้วางรากไว้ในปี 2528)

"ไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้เพราะผู้เชี่ยวชาญเรื่องตึกสูงของเราก็มีพร้อม มันติดขัดปัญหาเดียวคือเรื่องลูกค้า ความต้องการในช่วงนั้นยังมีไม่มากพอเราเห็นว่าเสียเงินน้อยดีกว่าที่จะสร้างขึ้นมาแล้วปล่อยให้เป็นอนุสาวรีย์ แต่ปีนี้บอกก็ได้ว่าสองโครงการนี้จะถูกนำมาพิจารณาอีกครั้ง" พยนต์บอกกับ "ผู้จัดการ"

เรื่องเดียวกันนี้แหล่งข่าวในวงการหลายท่านบอกว่า "แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ไปพลาดเรื่องที่ไม่ได้มีการคำนวณอย่างละเอียดละออ อย่างโครงการหัวลำโพงนั้นเขาไม่ได้ตอกเสาเข็มเอาไว้เมื่อจะมาตอกทีหลังก็กลัวว่าจะเกิดความสั่นสะเทือน มันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เขาพลาดอย่างไม่น่าเชื่อและก็กลายเป็นรอยแผลฝังใจมาโดยตลอด"

จริงๆ แล้วแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ไม่เล่นตึกสูงเพราะปัญหาเรื่องลูกค้าหรือเป็นเพราะความรู้ท่วมหัวแต่ไปพลาดพลั้งเรื่องง่ายๆ กันแน่!!??

ความสำเร็จของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ มาจากยุทธศาสตร์ทางการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญลูกล่อลูกชนทางการตลาดของกลุ่มนี้ทั้งหนักหน่วง รุ่นแรง และจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน เอาเสียจริงๆ เพราะ หนึ่ง-นับแต่มีวิวัฒนาการด้านที่อยู่อาศัย นอกจากเสนานิเวศน์ บ้านนี้มีปัญหาที่ทุ่มงบโฆษณาอย่างมากแล้วนั้นยังมิอาจเทียบเคียงงบโฆษณาของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ได้เลย แม้แต่คนของแลนด์ แอนด์ เฮาส์เองยังยอมรับว่าบ้านที่ขายออกเป็นผลมาจากงานโฆษณาเป็นหลัก

สอง-การขยายตัวของโครงการที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ถึงจะดูเป็นเรื่องที่น่าหวั่นหวาด ทว่ามีผลทางด้านโฆษณาและการตลาดที่สามารถปูพรมได้ทั่วถึงและปลุกชื่อแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ให้เป็นที่รับรู้อย่างไม่สร่างซา

สาม-ความสวยงามของตัวบ้านและการตกแต่งที่เป็นเลิศ ทุกโครงการสิ่งแรกที่จะทำก็คือการสร้างบ้านตัวอย่างที่มีการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์อย่างดี เคยมีคนพูดกันว่าราคาบ้าน 400,000-500,000 บาท แต่ใช้เฟอร์นิเจอร์ราคาใกล้เคียงกัน จุดนี้ทำให้ดูสวยไปหมดเมื่อลูกค้าไปเห็นเลยเกิดความต้องการ

"ตัวบ้านเขาสวยแต่องค์ประกอบใช้สอยภายในค่อนข้างจำกัด ลูกค้าเมื่อเข้าไปอยู่แล้วถึงได้รู้ซึ่งปัญหานี้มีมาก" ลูกค้าคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ความเข้มแข็งที่นำเอาการตลาดสมัยใหม่เข้ามาใช้ในธุรกิจบ้านจัดสรรของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ นั้นว่าไปแล้วก็เหมือนกับดาบสองคม เพราะความฉาบฉวยที่ออกมาในลักษณะแขวนหัวแพะ แต่ขายเนื้ออย่างอื่นบางทีมิอาจล่อลวงผุ้ซื้อให้เกิดความสนใจได้มากอีกแล้ว ซึ่งปัญหานี้กลุ่มบริหารของแลนด์ แอนด์ เฮาส์ เองก็เข้าใจถึงกำหนดว่า ปีนี้จะเป็นปีคุณภาพแท้จริงเสียที คือ หนึ่ง-คุณภาพสินค้า สอง-คุณภาพบริการ และสาม-คุณภาพเวลา

"วันนี้ช่างดูมืดมน แต่พรุ่งนี้พระอาทิตย์ย่อมต้องขึ้นใหม่ โอกาสแก้ไขให้ดีขึ้ยังมีอยู่เช่นกัน" อนันต์ อัศวโภคิน มักบอกกับทีมงานของเขาด้วยคำพูดประโยคนี้อยู่เสมอๆ แน่ล่ะ วันนี้โอกาสทำให้ดีที่สุดทั้งของเขาและแลนด์ แอนด์ เฮาส์ ได้มาถึงแล้ว!?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us